ยูนิเซฟเผยมีเด็ก 28 ล้านคนต้องย้ายถิ่นหนีภัยจากความรุนแรงและความขัดแย้ง

ที่มาภาพ unicef.org

7 ก.ย. 2559 องค์การยูนิเซฟระบุวันนี้ว่า มีเด็กเกือบ 50 ล้านคนทั่วโลกต้องถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐาน ในจำนวนนี้มีเด็กถึง 28 ล้านคนต้องย้ายถิ่นหนีภัยจากเหตุการณ์ความรุนแรงและความขัดแย้ง ในขณะที่เด็กอีกหลายล้านคนโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีและปลอดภัยกว่า ซึ่งเด็กๆ เหล่านี้ต้องเผชิญความเสี่ยงและอันตรายต่างๆ เช่น เสี่ยงต่ออุบัติเหตุและการจมน้ำตายระหว่างเดินทางข้ามทะเล เสี่ยงต่อการขาดน้ำและสารอาหาร ตลอดจนเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ การถูกลักพาตัว การถูกข่มขืนและแม้แต่การถูกฆาตกรรม อีกทั้งเด็กๆ ยังมักเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติและการเหยียดชาติพันธุ์ระหว่างการหนีภัยและในประเทศปลายทาง

รายงานฉบับล่าสุดของยูนิเซฟ ที่มีชื่อว่า การย้ายถิ่นฐาน: วิกฤตการณ์ของเด็กผู้อพยพและลี้ภัย (Uprooted: The Growing Crisis for Migrant and Refugee Children)  ซึ่งได้เผยแพร่วันนี้ ได้แสดงให้เห็นภาพชีวิตและสถานการณ์ที่น่าวิตกของเด็กและครอบครัวหลายล้านคน ผลกระทบของความขัดแย้งอย่างรุนแรงที่พวกเขาต้องเผชิญในประเทศของตนได้ผลักดันให้ผู้อพยพจำนวนมากยอมเสี่ยงภัยและอันตรายต่างๆ เพื่ออพยพออกจากถิ่นเดิม

“ภาพของเด็กบางคน เช่น ร่างเล็ก ๆ ของอัยลาน เคอร์ดีที่นอนเสียชีวิตอยู่บนชายหาดหลังเรืออพยพจม หรือใบหน้าของออมราน ดัคนีชที่ปกคลุมไปด้วยฝุ่นกับเลือดในขณะที่เขานั่งเหม่ออยู่ในรถพยาบาลหลังบ้านถูกระเบิดทำลายจนพังยับเยิน เป็นภาพที่ทำให้คนทั้งโลกตกตะลึง ภาพแต่ละภาพ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหญิงหรือเด็กชาย เป็นตัวแทนของเด็กอีกหลายล้านคนทั่วโลกที่กำลังตกอยู่ในอันตราย ความเห็นอกเห็นใจที่เรามีแก่พวกเขา ควรจะส่งไปพร้อมๆ กับความช่วยเหลือที่เราต้องมีให้แก่เด็กทุกคนที่กำลังประสบภัยด้วย” แอนโทนี เลค ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การยูนิเซฟ กล่าว

ข้อมูลจากรายงานฉบับนี้ แสดงให้เห็นว่า:

·      มีเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ต้องอพยพย้ายถิ่นจากบ้านเกิด ทั้งนี้เมื่อดูสัดส่วนประชากรเด็กโลก พบว่า ประชากรหนึ่งในสามของโลกคือเด็ก แต่ถ้าดูจำนวนผู้อพยพย้ายถิ่นทั้งหมด ครึ่งหนึ่งเป็นเด็ก นอกจากนี้ ยังพบว่า ในพ.ศ.  2558 ร้อยละ 45 ของเด็กผู้อพยพภายใต้ความดูแลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) มาจากประเทศซีเรียและอัฟกานิสถาน

·      มีเด็ก 28 ล้านคนต้องอพยพหนีภัยจากความขัดแย้งและความรุนแรง ทั้งที่อยู่ภายในประเทศหรือต้องหนีข้ามแดน ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย 10 ล้านคน และ 1 ล้านคนกำลังขอลี้ภัยอยู่แต่ยังไม่ได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัย นอกจากนี้มีเด็กอีกประมาณ 17 ล้านคนที่ต้องพลัดถิ่นฐานแต่ยังคงอยู่ภายในประเทศ ซึ่งเด็ก ๆ ทั้งหมดนี้กำลังต้องการความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน

·      มีเด็กอพยพข้ามชายแดนโดยลำพังมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยใน พ.ศ. 2558 มีเด็กที่เดินทางโดยไม่มีผู้ปกครองกว่า 100,000 คนที่ยื่นขอลี้ภัยใน 78 ประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปี พ.ศ. 2557  โดยเด็กๆ เหล่านี้มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกละเมิด การถูกแสวงประโยชน์ และการถูกค้ามนุษย์

·      มีเด็กอีกประมาณ 20 ล้านคนที่ต้องอพยพย้ายถิ่นด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น หนีความยากจน หรือ ความรุนแรงจากกลุ่มมิจฉาชีพ เด็กเหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกทำร้ายและถูกควบคุมตัวเนื่องจากไม่มีเอกสารรับรองการเกิด ไม่มีสถานะทางกฏหมาย นอกจากนี้ ยังไม่มีการติดตามชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างเป็นระบบ ทำให้เด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสและถูกทิ้งไว้เบื้องหลั

ในทวีปเอเชีย รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า:

·      เด็กผู้อพยพเกือบ 12 ล้านคนอาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 39 ของผู้อพยพเด็กทั่วโลก

·      เอเชียเป็นทวีปที่มีเด็กผู้อพยพอาศัยอยู่มากที่สุดในโลก ทว่าสัดส่วนของเด็กผู้อพยพจากทวีปเอเชียที่อพยพไปยังต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก คือ มีเพียง 1 ในเด็กชาวเอเชีย 110 คนเท่านั้น ที่อาศัยอยู่นอกประเทศบ้านเกิดของตน

·      5 ประเทศและดินแดนที่มีผู้อพยพมาอาศัยอยู่มากที่สุดในโลก (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) ต่างก็อยู่ในทวีปเอเชียทั้งหมด

·      ประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นที่อยู่ของเด็กผู้อพยพจำนวนมากที่สุดในเอเชีย และเป็นอันดับที่สองของโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ

รายงานระบุว่า เด็กๆ ที่อพยพออกจากทวีปเอเชียทางทะเลต้องเผชิญกับการเดินทางที่อันตรายมากที่สุดในโลก การเดินทางในอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันไปยังทวีปยุโรปได้รับการประเมินว่ามีอันตรายแก่ชีวิตมากกว่าเส้นทางเมดิเตอร์เรเนียนถึง 3 เท่า แม้ว่าจะมีผู้ที่พยายามอพยพน้อยกว่า ในปีพ.ศ. 2557 เป็นที่คาดกันว่ามีผู้คนกว่า 58,000 คน พยายามใช้เส้นทางที่ยากและเสี่ยงอันตราย โดยมากเป็นการอพยพจากเมียนมาร์และบังกลาเทศไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียตะวันตกเฉียงใต้

รายงานยังระบุต่อไปว่า การย้ายถิ่นฐานที่เป็นไปอย่างปลอดภัยและเป็นระบบ สามารถสร้างโอกาสที่ดีในชีวิตให้แก่เด็กและชุมชนใหม่ที่พวกเขาย้ายไปอาศัยอยู่ได้ จากการวิเคราะห์ผลกระทบของการย้ายถิ่นฐานในประเทศรายได้สูงพบว่า ผู้ย้ายถิ่นฐานจ่ายภาษีและค่าใช้จ่ายทางสังคมมากกว่าที่พวกเขาได้รับเสียอีก นอกจากนี้ ยังช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งมีทักษะและไม่มีทักษะได้เป็นอย่างดี และมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเจ้าภาพเติบโตขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง เด็ก ๆ ที่ย้ายถิ่นฐานมักไม่ได้รับสิ่งที่จำเป็นสำหรับพวกเขา เช่น การศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งจูงใจในการย้ายถิ่นฐานของเด็ก ๆ และครอบครัวจำนวนมาก เด็กผู้อพยพมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ไปโรงเรียนมากกว่าเด็กปรกติถึงห้าเท่า และหากพวกเขาได้ไปโรงเรียน ก็มักจะถูกแบ่งแยก ไม่ได้รับความยุติธรรมและถูกรังแก

นอกจากนี้ ข้อจำกัดทางกฏหมายยังทำให้เด็กผู้อพยพย้ายถิ่นฐานไม่ได้รับการบริการที่เท่าเทียมกับเด็กคนอื่นๆ ในประเทศ อีกทั้งอาจยังต้องถูกรังเกียจจากประชากรของประเทศนั้นๆ และนำไปสู่การทำร้ายร่างกายกันได้ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2558 รายงานจากทางการระบุว่ามีเหตุโจมตีค่ายผู้อพยพในเยอรมนีถึง 850 คดี

“หากเราไม่สามารถมอบโอกาสทางการศึกษาและการมีวัยเด็กที่มีคุณภาพให้แก่เด็กผู้อพยพเหล่านั้นได้ เราจะต้องสูญเสียอีกเท่าไรในอนาคต? พวกเขาจะทำประโยชน์ให้สังคมได้อย่างไร? หากพวกเขาทำไม่ได้ นอกจากอนาคตของพวกเขาเองจะมืดมนแล้ว สังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ก็จะพลอยแย่ลงไปด้วย” ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การยูนิเซฟ กล่าว

ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้ได้ระบุมาตราการ 6 ข้อเพื่อปกป้องและช่วยเหลือเด็กที่ต้องอพยพและย้ายถิ่นฐาน ดังนี้:

·      ปกป้องเด็กผู้อพยพและย้ายถิ่นฐานจากการถูกแสวงประโยชน์และความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่เดินทางลำพังโดยไม่มีผู้ปกครอง

·      ยกเลิกการควบคุมตัวเด็กที่อพยพหรือที่กำลังขอสถานะผู้ลี้ภัย โดยหาทางเลือกอื่น ๆ ที่เหมาะสม

·      ให้เด็กและครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องคุ้มครองเด็ก และให้สถานะทางกฏหมายแก่เด็ก

·      ให้โอกาสเด็ก ๆ ผู้อพยพและย้ายถิ่นฐานทุกคนได้เรียนหนังสือ และเข้าถึงการบริการทางสาธารณสุขและบริการอื่น ๆ ที่มีคุณภาพ

·      ผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่น

·      ส่งเสริมให้เกิดการยุติการเกลียดชังชาวต่างชาติ การแบ่งแยก และการรังเกียจเดียดฉันท์

ดาวน์โหลดรายงานพร้อมภาพและวิดีโอ ได้ที่ http://weshare.unicef.org/Package/2AMZIFQP5K8

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท