Skip to main content
sharethis
ในโอกาสวันการรู้หนังสือสากล (International Literacy Day) โครงการส่งเสริมการเรียนการสอนด้วยภาษาถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับรางวัล King Sejong Literacy Prize จากองค์การยูเนสโกในปีนี้ 
 
 
 
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมาเนื่องในโอกาสวันการรู้หนังสือสากล (International Literacy Day) โครงการส่งเสริมการเรียนการสอนด้วยภาษาถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับรางวัล King Sejong Literacy Prize จากองค์การยูเนสโกในปีนี้ 
 
โครงการวิจัยปฏิบัติ “การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาท้องถิ่นและภาษาไทยเป็นสื่อ: กรณีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา (ภาษาไทย-ภาษามาลายูถิ่น) ในโรงเรียนเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2549 โดย สถาบันวิจัยด้านภาษาและวัฒนธรรมเอเชียมหาวิทยาลัยมหิดลสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ภายใต้การสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยและพันธมิตรมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลการเรียนของนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่พูดภาษามาลายูถิ่นทั้งนี้ การศึกษาจากทั่วโลกรวมถึงจากยูเนสโกและยูนิเซฟ ชี้ว่าเด็กๆ จะมีผลการเรียนที่ดีขึ้นมากหากพวกเขาได้เรียนโดยใช้ภาษาถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงชั้นปฐมวัย
 
นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าการสอนด้วยภาษาถิ่น จะทำให้เด็กเรียนได้ดีขึ้นและมีพื้นฐานที่ดีในเรื่องการอ่านเขียนและการคำนวณ เราพบว่าเด็กในจังหวัดชายแดนใต้มีผลการเรียนที่อยู่ในกลุ่มเกณฑ์ที่ต่ำที่สุดของประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กๆ หลายคนมีความยากลำบากในการปรับตัวและทำความเข้าใจเมื่อเรียนเป็นภาษาไทย เราจึงริเริ่มโครงการนี้เพื่อแก้ประเด็นดังกล่าว”
 
ในส่วนของรางวัล องค์การยูเนสโกได้ระบุว่า คณะกรรมการตัดสิน “ชื่นชมกับแนวทางของโครงการที่เป็นนวัตกรรม … และความสำเร็จของโครงการในการทำให้ผลการเรียนของเด็กนักเรียนที่พูดมาลายูในโรงเรียนประถมทางภาคใต้ของไทยดีขึ้นอย่างยั่งยืน”
 
ศ.ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ขึ้นรับมอบรางวัลที่กรุงปารีสเมื่อวานนี้ กล่าวว่าโครงการนี้ใช้ภาษามลายูถิ่นเป็นภาษาหลักในการเรียนการสอนชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่1แล้วจึงค่อยๆนำภาษาไทยและภาษาอังกฤษมาใช้ในระดับที่สูงขึ้น
 
“โครงการนี้ได้แสดงให้เห็นว่าการเรียนการสอนแบบทวิภาษานั้นสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ และยังช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่เด็กๆ เราหวังว่าโครงการนี้จะเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยที่มีการใช้ภาษาถิ่นขณะนี้เรากำลังร่วมมือกับยูนิเซฟและพันธมิตรอื่นๆ ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากโครงการนี้สำหรับการสนับสนุนนโยบายภาษาแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนการสอนด้วยภาษาถิ่นในประเทศไทยต่อไป”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net