Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


นักวิจัยท่านหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่า มีความเคลื่อนไหวของพระภิกษุในประเทศพุทธเถรวาทสามแห่ง ที่นำการต่อต้านมุสลิมเหมือนกัน คือในศรีลังกา, พม่า และไทย เฉพาะในพม่าและไทยนั้นมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันด้วย เพราะมีพระทางเหนือพากันเดินทางไปพบปะพระวีรสุในพม่า ในขณะที่พระวีรสุเองก็ได้รับนิมนต์จากองค์กรทางศาสนาของไทยให้เดินทางเข้ามา และได้รับถวายรางวัลอะไรสักอย่างจากองค์กรพุทธของไทย

นักวิจัยท่านนั้นพยายามมองการต่อต้านมุสลิมของพระสงฆ์พุทธในสามประเทศนี้เป็นเหมือน ความเคลื่อนไหวทางศาสนาที่มีลักษณะข้ามชาติ แต่นักวิชาการท่านอื่นไม่เห็นด้วย อย่างน้อยก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่เห็นได้ชัดเจนนักว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน อย่างน้อยเท่าที่ปรากฏในข่าว พระสงฆ์ในแต่ละประเทศต่างอ้างว่าเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์เฉพาะในท้องถิ่นของตนเอง

ความเป็นชาวพุทธกลายเป็นส่วนสำคัญของอัตลักษณ์คนไทย, คนพม่า และคนสิงหล เมื่อทั้งสามสังคมก้าวเข้าสู่สมัยใหม่นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ฉะนั้น การที่ชาวพุทธในสามสังคมนั้น เอาส่วนสำคัญของอัตลักษณ์ของตนไปเที่ยวต่อต้านศาสนาอื่น จึงไม่น่าแปลกใจอะไรนัก

แต่ที่ผมออกจะแปลกใจก็คือ ทำไมศาสนาอื่นที่ชาวพุทธในสามสังคมนี้ต่อต้านจึงต้องเป็นอิสลาม

ถ้าดูจากสัดส่วนประชากรมุสลิมเปรียบเทียบกับประชากรพุทธในสามสังคมดังกล่าว ก็จะพบว่ามีสัดส่วนที่น้อยมาก อันที่จริงแม้มีการทำสำมะโนประชากรในสามสังคมมาแล้ว แต่ตัวเลขประชากรมุสลิมก็ไม่สู้จะชัดนัก ในประเทศไทยว่ากันว่ามีต่ำกว่า 5% แต่ในความเป็นจริงอาจสูงกว่านั้น แต่ก็ไม่ได้สูงมากไปอีกสักกี่เปอร์เซ็นต์

ในพม่าประมาณ 4% เท่ากันกับประชากรคริสต์ แต่ฝ่ายหลังกระจุกตัวในพื้นที่ (กะฉิ่น, ฉิ่น, คะยาห์, บางส่วนของกะเหรี่ยง) ในขณะที่มุสลิมกระจายไปในหมู่ประชากร โดยเฉพาะเขตเมืองเพราะมุสลิมในพม่าเป็นพ่อค้ารายย่อยมาก

ในศรีลังกา มุสลิมอาจมีมากหน่อย คือเป็นชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่เป็นที่สองรองลงมาจากชนเชื้อสายทมิฬซึ่งนับถือศาสนาฮินดู แต่มุสลิมก็กระจายอยู่ทั่วประเทศ และเท่าที่ผ่านมาในการต่อรองเพื่อเข้าถึงทรัพยากร มุสลิมในศรีลังกาเลือกยืนอยู่ฝ่ายเดียวกับชาวสิงหลซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่

ที่น่าประหลาดอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ความเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านมุสลิมในสามสังคมดังกล่าว ไม่ได้ดำเนินไปเพื่อเปลี่ยนศาสนาชาวมุสลิมให้เป็นพุทธ อันที่จริงพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และศรีลังกาในอดีต เคยมีพลังในการเผยแพร่คำสอนอย่างสูงมากทีเดียว จะผ่านพระภิกษุสงฆ์ที่ขยายสำนักของตนออกไปเป็นเครือข่ายกว้างขวาง หรือผ่านพระเจ้าแผ่นดินเช่นพระเจ้าบุเรงนองก็ตาม

แต่ความเคลื่อนไหวของพระสงฆ์ในครั้งนี้ไม่ได้มุ่งจะเผยแพร่พระธรรมคำสอน ซึ่งทำได้สองวิธี คือทำให้เขา “กลับ” ใจ หรือใช้กำลังบังคับ แต่พระสงฆ์ที่ต่อต้านมุสลิมก็ไม่ได้ทำหรือเรียกร้องให้ทำอะไรในสองอย่างนี้ แต่เป็นการต่อต้านเชิงตอบโต้ เช่น หากมีพระสงฆ์ในสามจังหวัดภาคใต้ถูกฆ่า ก็ให้เผามัสยิดเสียหนึ่งแห่งอะไรทำนองนี้

เรื่องนี้จะเห็นลักษณะก้าวร้าวของพระภิกษุสงฆ์ได้ชัดขึ้น เมื่อย้อนรำลึกถึงในรอบร้อยปีที่ผ่านมา มีความพยายามของพระสงฆ์บ้าง ผู้ปกครองบ้างที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโลก โดยเฉพาะโลกตะวันตก ต่างส่งเงินไปอุดหนุนสมาคมบาลีปกรณ์ในอังกฤษ และสมาคมมหาโพธิ์ในลังกา มีการจัดองค์กรเผยแพร่พุทธศาสนา รวมทั้งเข้าร่วมในองค์กรพุทธศาสนานานาชาติ มีความพยายามที่จะตั้งวัดในต่างประเทศ หาทุนแปลหรือพิมพ์งานเขียนของพระภิกษุสิงหล, พม่าและไทยเป็นภาษาอังกฤษ

ดังนั้น ความเคลื่อนไหวต่อต้านมุสลิมในสามสังคมจึงไม่เกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนา แต่กลับเป็นการปลุกระดมให้ชาวพุทธป้องกันตนเองจากภัยคุกคามของมุสลิม ซึ่งมองไม่เห็นว่ามุสลิมจะเป็นภัยคุกคามแก่ชาวพุทธในสามสังคมนั้นได้อย่างไร

ว่าเฉพาะในสังคมไทย ผมรู้สึกโดยตรวจสอบข้อมูลไม่พอว่าสำนึกต่อต้านมุสลิมเป็นสำนึกค่อนข้างใหม่ เมื่อสมัยที่ผมยังเรียนหนังสืออยู่ ครูอาจารย์ที่สอนพุทธศาสนา มักจะอ้างความเหนือกว่าของพระธรรมคำสอนเมื่อเปรียบเทียบกับศาสนาที่มีพระเจ้า คำนี้ในสมัยที่ผมเรียนนั้นส่อไปทางคริสต์ศาสนามากกว่าอิสลาม เพราะเมื่อครูอาจารย์ท่านยกตัวอย่าง ท่านก็มักยกเอาคำสอนในคริสต์ศาสนามาแสดงให้เห็นว่าด้อยกว่าพุทธศาสนาอย่างไร

ท่านพุทธทาสภิกขุ, พ.อ.ปิ่น มุทุกัณฑ์ และนักปราชญ์ชาวพุทธไทยอีกหลายคน เขียนหนังสือ “ตอบโต้” บาทหลวง นับเป็นการสืบทอดประเพณีของนักคิดชาวพุทธไทยมาตั้งแต่สมัย ร.4 คือยกพระพุทธศาสนาขึ้นเหนือกว่าศาสนาของฝรั่ง ไม่เกี่ยวอะไรกับอิสลามทั้งสิ้น

ทำไมพระสงฆ์ศรีลังกา, พม่า, ไทย ในตอนนี้จึงหันมาต่อต้านมุสลิม? ผมก็ตอบไม่ได้หรอกครับ นอกจากยอมรับว่าส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะกระแสโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะที่มาจากตะวันตกซึ่งค่อนข้างระแวงสงสัยมุสลิมเป็นพิเศษ

ผมขอเล่าอะไรนอกเรื่องตรงนี้นิดหนึ่ง หลายเดือนมาแล้วเมื่อผมเขียนบทความเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวรังเกียจมุสลิมของพระสงฆ์และองค์กรศาสนาพุทธในภาคเหนือ ผมได้รับความกรุณาจากคุณ Anthony Lovenheim Irwin ได้เขียนบทความทักท้วงผมลงในประชาไทภาษาอังกฤษ โดยชี้ให้เห็นว่ากระแสโลกาภิวัตน์มีส่วนอย่างมากในความเคลื่อนไหวต่อต้านมุสลิมของพระสงฆ์ในภาคเหนือ ท่านยกให้ดูว่าหนังสือต่อต้านอิสลามในภาษาอังกฤษที่ถูกแปลโดยตรงหรือโดยอ้อมในภาษาไทยและพม่า และแพร่หลายในหมู่พระสงฆ์คือ Slavery, Terrorism, and Islam ของนาย Peter Hammond

แม้ผมยังไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคุณ Irwin แต่ผมได้ประโยชน์จากบทความของท่านอย่างมาก

ผมคิดว่าส่วนหนึ่งของการที่พระสงฆ์ในสามสังคมนั้นหันมาต่อต้านมุสลิม อาจเป็นผลมาจากโลกาภิวัตน์ คือความคิดระดับโลกที่ไหลบ่าเข้าสู่สามสังคมนั้น แต่ผมคิดว่าโลกาภิวัตน์อธิบายไม่ได้ทั้งหมด ที่สำคัญกว่าและละเลยไม่ได้เลยคือเงื่อนไขภายในสังคมนั้นเอง พระสงฆ์ในสามสังคมนั้นกำลังเผชิญกับอะไร ทำไมจึงกลายเป็นนักต่อต้านมุสลิม การเป็นนักต่อต้านมุสลิมให้ผลตอบแทนอย่างไรแก่พระสงฆ์เหล่านั้น แตกต่างจากการต่อต้านคริสต์หรือฮินดูอย่างไร

น่าสังเกตนะครับว่า ความเคลื่อนไหวต่อต้านมุสลิมของพระสงฆ์ในสามสังคมนั้น ไม่ได้เชื่อมโยงภัยคุกคามของมุสลิมเข้ากับการเคลื่อนไหวสากลของมุสลิมเลย เช่นแทบไม่มีใครพูดถึงไอเอส ศัตรูของหลวงพ่อคือมุสลิมภายในทั้งนั้น ซึ่งล้วนเป็นคนส่วนน้อยมากๆ ของสังคมตนเอง และไม่อาจเป็นภัยคุกคามด้านศาสนาได้แต่อย่างไร แม้ในบางประเทศเช่นไทย อาจคุกคามทางการเมืองได้บ้าง เพราะมีการกระจุกตัวในพื้นที่บางแห่ง

ดังนั้น ผมจึงอยากสรุปว่า แรงผลักดันสำคัญที่ทำให้พระสงฆ์ในสามสังคมเคลื่อนไหวต่อต้านมุสลิม น่าจะมาจากปัญหาภายในขององค์กรคณะสงฆ์เอง ผมอยากชี้ให้ชัดลงไปด้วยซ้ำว่าปัญหาภายในดังกล่าวคือปัญหาอัตลักษณ์ เพราะคณะสงฆ์ในสามสังคมนั้นกำลังเผชิญกับเงื่อนไขใหม่ในทางเศรษฐกิจ, การเมืองและสังคมอย่างหนักหน่วง จนกระทั่งคณะสงฆ์ดูจะมีนัยยะสัมพันธ์ (relevant) กับสังคมน้อยลง

ผมขอพูดถึงประเทศไทยก่อน เพราะเรารู้เรื่องดีที่สุด แม้หลายวัดกลายเป็นสำนักวิปัสสนาที่มีชื่อเสียง ต้อนรับคนชั้นกลางจากในเมืองไปปฏิบัติธรรมได้ทีละหลายร้อยคน จนวัดมีรายได้จำนวนมาก แต่ถามว่านี่คือคำตอบของคณะสงฆ์ไทยในการเผชิญกับสังคมที่กำลังกลายเป็นสังคมสมัยใหม่กระนั้นหรือ ผมคิดว่าคณะสงฆ์ไทยคงปฏิเสธ (เช่นไม่มีหลักสูตรฝึกพระให้ทำหน้าที่อย่างนั้นเลย) ถึงอย่างไรชุมชนท้องถิ่นย่อมมีความสำคัญแก่วัด หรือในทางกลับกันวัด (และพระสงฆ์) ต้องตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนท้องถิ่นด้วย ไม่ใช่คนชั้นกลางในเมืองซึ่งมีจำนวนน้อยเพียงอย่างเดียว

พระคือใคร และทำหน้าที่อะไรแก่สังคมปัจจุบัน เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ หรือเป็นคำถามที่ต่างคนต่างตอบ แต่ไม่ว่าจะตอบอย่างไร ก็ไม่มีทางตรงกับอุดมคติที่เคยมีมาแต่โบราณ

ผมคิดว่าความพยายามจะให้คณะสงฆ์มีนัยยะสัมพันธ์กับปัญหาของผู้คนในสังคมปัจจุบัน ทำให้พระภิกษุจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเป็นแนวหน้าต่อต้านมุสลิม ความรังเกียจมุสลิมเป็นอคติทั้งระดับสากลและระดับชาติ อย่างไรเสียก็มีผู้สนับสนุนจำนวนหนึ่งแน่นอน


ในพม่าและศรีลังกา ก็มีสถานการณ์บางอย่างคล้ายๆ อย่างนี้เหมือนกัน

ใน ค.ศ.1980 รัฐบาลทหารเนวินได้ตั้งคณะกรรมาธิการสังฆมหานายกแห่งรัฐขึ้น ประกอบด้วยพระชั้นผู้ใหญ่ที่ทหารเลือกไปกำกับควบคุมคณะสงฆ์พม่า “สังฆมหานายก” ยังดำรงอยู่สืบมาจนถึงปัจจุบัน แต่เนื่องจากพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ในคณะกรรมาธิการล้วนยอมตัวเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลทหาร จึงไม่ได้รับความเชื่อฟังจากพระสงฆ์อื่นๆ เช่น พระสงฆ์ก็มีบทบาทในการต่อต้านรัฐบาลเมื่อ 1988 เช่นกัน คณะสงฆ์โดยรวมของพม่า ยังได้รับความนับถือศรัทธาจากประชาชนทั่วไปอยู่มาก อีกทั้งยังมีบทบาททางด้านการศึกษาและสาธารณสุขซึ่งรัฐละเลยทอดทิ้งตลอดมาด้วย แต่พระและวัดมักทำงานกับเครือข่ายในท้องถิ่น มากกว่าทำงานระดับชาติ และเช่นเดียวกับเมืองไทย พระ “ดัง” ที่ได้รับความนิยมนับถือกว้างขวางทั่วไป ก็เป็นเพราะตัวท่านเองมากกว่าเพราะคณะสงฆ์

และเช่นเดียวกับในเมืองไทย พระวีรสุซึ่งนำการต่อต้านมุสลิม ไม่ใช่พระ “ชั้นผู้ใหญ่” แต่ก็ประสบความสำเร็จมากเพราะได้รับการสนับสนุนทั้งจากประชาชนและพระด้วยกันอย่างกว้างขวาง จนอาจเรียกได้ว่าเป็นระดับชาติทีเดียว

ผู้สื่อข่าวฝรั่งคนหนึ่งซึ่งทำงานในพม่ามากว่า 10 ปี บอกผมว่า ในพม่าเขาเชื่อกันว่าพระวีรสุได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ เพื่อทำให้รัฐบาลพลเรือนเอนแอลดีตกอยู่ในฐานะยุ่งยากทางการเมือง จะจริงหรือเท็จอย่างไรไม่ทราบ แต่ถึงจริงก็อธิบายความกระตือรือร้นที่ชาวพุทธพม่าคล้อยตามพระวีรสุไม่ได้ ความรังเกียจมุสลิม (โดยเฉพาะชาวโรฮิงยา) มีมาก่อนในสังคม และพระสงฆ์จะมีนัยะสัมพันธ์ (relevance) ในสังคมได้ ก็ต้องเลือกประเด็นที่จะได้รับการตอบรับจากสังคมเป็นธรรมดา

พระสงฆ์ในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณเป็นอัตลักษณ์เก่า ด้วยปัจจัยหลายๆ ประการ พระสงฆ์ในปัจจุบันเลือกจะเป็นผู้ตามทางจิตวิญญาณมากกว่า


ในศรีลังกา เมื่อทมิฬฮินดูไม่เป็นภัยคุกคามต่อไปอีกแล้ว พระสงฆ์ก็เลือกมุสลิมมาเป็นศัตรูต่อไป มีอะไรบางอย่างคล้ายๆ กันในหมู่คณะสงฆ์ของสามสังคม นั่นคือศัตรูช่วยทำให้คณะสงฆ์มีบทบาทเด่นชัดขึ้นในสังคมปัจจุบัน จนกลายเป็นผู้นำในการต่อต้านสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้

คณะสงฆ์ในศรีลังกาแบ่งออกเป็นหลายนิกาย มีการปกครองแยกจากกันอย่างเด็ดขาด อีกทั้งมีส่วนในการแข่งขันกันเป็นผู้นำอยู่ตลอดมา การสร้างศัตรูร่วมจึงทำให้เกิดความสามัคคีและให้พลังที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวของคณะสงฆ์ด้วย

หากเชื่อว่า ความเคลื่อนไหวต่อต้านมุสลิมในหมู่พระสงฆ์ของสามสังคมนี้ เป็นการหยิบฉวยเอาประเด็นที่หวังจะได้การสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ก็ไม่น่าจะมีอายุยืนนานนัก พร้อมจะเปลี่ยนไปสู่ประเด็นอื่นที่ถูกใจสังคมมากกว่า

ผมอยากจะคาดเดาว่าเป็นอย่างนั้น เพราะเอาเข้าจริงทั้งศาสนาอิสลามและมุสลิมในสามสังคมนั้น ไม่มีทางที่จะเป็นภัยคุกคามทางศาสนาหรือเศรษฐกิจ, การเมือง และสังคมของสามประเทศนั้นได้เลย

0000


เผยแพร่ครั้งแรกใน:  มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 กันยายน 2559

ที่มา:  matichonweekly.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net