Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


ช่วงสองเดือนแรกของการเปิดภาคเรียนของมหา'ลัยไทย มักจะมีข่าวนักศึกษาปี 1 บาดเจ็บ เข้าโรงพยาบาล หรือบางทีถึงขั้นเสียชีวิตทุกๆปี และแน่นอน ปัญหาเหล่านี้เกิดจากกิจกรรมการรับน้องที่รุนแรงของบรรดารุ่นพี่

คำถามคือ ปัญหาที่รุนแรงแบบนี้ ทำไมถึงยังมีอยู่คู่กับมหา'ลัยไทยทั้งๆที่ มหา'ลัยไทย ก็เต็มไปด้วย อาจารย์ นักวิชาการ ที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งที่มีดีกรี ถึง ดอกเตอร์จากต่างประเทศ ทั้งผู้ที่มีตำแหน่งวิชาการถึงขั้น ศาสตราจารย์ คำถามต่อมาคือ ปัญหาที่สะสมมานานขนาดนี้ บรรดาผู้บริหาร อาจารย์มหา'ลัย มัวทำอะไรกันอยู่

แน่นอนว่า ในสังคมอาจารย์มหา'ลัยไทยเอง ก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับระบบวิธีการรับน้องที่รุนแรงแบบนี้ อาจารย์บางท่านจบจากต่างประเทศมา มีแนวคิดก้าวหน้าแต่บางทีก็เจอแรงกดดัน จากการเมืองภายใน โดยเฉพาะจากอาจารย์บางท่านที่เป็นศิษย์เก่า ที่เป็นพวกอนุรักษ์นิยม ต้องการรักษา “ประเพณี” เดิมๆนี้ไว้ อาจารย์บางท่านมีภาระ ทั้งงานสอนงานวิจัยในแต่ละวันมากพอแล้วจนแทบไม่มีเวลามาใส่ใจดูแลกิจกรรมนักศึกษา อาจารย์บางท่าน ถูกครอบงำด้วยประโยคที่ว่า “กิจการนักศึกษาก็ควรเป็นเรื่องของนักศึกษา” ก็เลยเลือกที่จะไม่เข้ามายุ่ง

ซึ่งเมื่อเรามีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว คำถามคือ บทบาทของอาจารย์มหา'ลัย ต่อปัญหาการรับน้องที่รุนแรงนี้ ควรจะเป็นเช่นไร อย่างแรกเลยคือ ต้องยอมรับก่อนว่ามีปัญหา ซึ่งข้อแรกก็ค่อนข้างเกิดขึ้นยากแล้วในสังคมไทยที่มีค่านิยมในการซุกปัญหาไว้ใต้พรม ผู้บริหารมหา'ลัย ผู้บริหารคณะ และอาจารย์ต่างๆ ต้องยอมรับก่อนว่า มีปัญหาเกิดขึ้นในองค์กรตัวเองหรือไม่

ผู้เขียนเองเคยมีประสบการณ์สมัยเป็นนักศิกษา ตอนนั้นผู้เขียนพยายามเดินแคมเปญรณรงค์ต่อต้าน “การว้ากน้อง” ซึ่งเมื่อผู้เขียนเข้าพบอาจารย์ผู้บริหารคณะฯ เพื่อขออนุญาตจัดงานสัมมานาเรื่องการว้ากน้อง ผลคืออาจารย์ท่านนั้นไม่อนุญาตให้ใช้ห้องประชุมที่คณะฯ ด้วยเหตุผลคือ การจัดงานดังกล่าวเหมือนเป็นการยอมรับว่าคณะฯ มีปัญหาการว้ากน้อง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คณะฯ อนุญาตแต่เป็นสิ่งที่นักศึกษาทำกันเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ระดับอาจารย์มหา'ลัยควรมีวัฒนธรรมการทำงานที่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นก่อน

เมื่อยอมรับถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ขั้นต่อไปคือการเรียนรู้ปัญหา ซึ่งการรับน้อง การว้ากน้อง ไม่ใช่กิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยทันทีทันใด แต่เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากการวางแผน วางระบบมาเป็นอย่างดี ซึ่งแต่ละมหา'ลัย แต่ละคณะก็จะมีรูปแบบแตกต่างกันไปบ้าง แต่โดยโครงสร้างของระบบจะคล้ายๆ กัน นั่นคือ จะมีการแบ่งแยกหน้าที่ ความรับผิดชอบกันชัดเจน กิจกรรมส่วนใหญ่จะถูกวางแผนตรงมาจาก สโมสรนักศึกษาของแต่ละคณะฯ แล้วแยกความรับผิดชอบไปตามกลุ่มต่างๆ เช่นกลุ่มของ “พี่ว้าก” หรือ “พี่วินัย” หรือ “รุ่นพี่ปกครอง” ตามแต่จะเรียก กลุ่มของ “พี่เชียร์” ที่ดูแลเรื่องการสอนน้องร้องเพลง หรือ “ห้องเชียร์” บางคณะฯ ก็จะมีกลุ่มย่อยไปอีกเช่น ชมรมกีฬา กลุ่มสาวประเภทสอง กลุ่มเชียร์ลีดเดอร์ ฯลฯ แต่ละกลุ่มก็จะแบ่งการทำงานระหว่างนักศึกษาชั้นปีต่างๆ เช่น นศ ปี4 อาจจะเป็นประธานแต่ละกลุ่ม นศ ปี3 อาจจะเป็นรอง เพื่อที่จะเรียนรู้และนำไปใช้ต่อในปีต่อไป

จากนั้น เราต้องเข้าไปดูทีละกิจกรรมของแต่ละกลุ่ม ว่าปัญหาการว้ากน้อง การใช้ความรุนแรงในการรับน้อง เกิดขึ้นที่ใดบ้าง ซึ่งหลักๆ เลยคือห้องเชียร์ เราจำเป็นต้องเข้าใจกลไกวิธีการทำงานของห้องเชียร์ เช่นบางคณะฯ จะให้ รุ่นพี่ ปี 3-4 แสดงบทบาทเป็น พี่ว้าก หรือพี่ปกครอง มีหน้าที่คือ ทำให้ รุ่นน้องเข้าห้องเชียร์ให้ครบ ทำตามกฏ ต่างๆ ที่พวกเค้าตั้งขึ้นมา โดยมีข้ออ้างเรื่องความสามัคคี ความเป็นรุ่นมาใช้สร้างความชอบธรรม ส่วนรุ่นพี่ ปี 2 จะทำหน้าที่เป็น พี่เชียร์ หรือ พี่ใจดี ที่คอยดูแล เอาใจใส่รุ่นน้องปี 1

จุดสำคัญ นอกเหนือจากการว้าก ของพี่ปกครองแล้ว ยังมีการแสดงละคร การกดดันทางจิตใจด้วย โดยเฉพาะ ช่วงท้ายๆก่อนจะปิดห้องเชียร์ จะมีการ “ไซโคครั้งสุดท้าย” ซึ่งเป็นการที่ ปี 3-4 เล่นละคร มาด่า มาทำโทษปี 2 ให้ปี 1 ดู แล้วอ้างว่าที่ ปี 1 ไม่รักกัน ไม่สามัคคีกันมากพอ เพราะ ปี 2 ดูแลไม่ดี ดังนั้น ปี 3-4 จะไม่รับ ปี 1 เป็นน้อง และจะลงโทษ ปี 2 เพราะสอนน้องไม่ได้เรื่อง ซึ่งการ “ไซโค” ตรงนี้ เด็กแต่ละคนจะได้รับความกดดันทางจิตใจถึงขีดสุด ซึ่งแต่ละคนมีความอดทนต่อสิ่งเหล่านี้ต่างกัน บางคนอาจมีอาการชัก ไฮเปอร์ บางคนอาจจะลุกขึ้นมาต่อยรุ่นพี่ บางคนระบายออกมาโดยการต่อยกำแพง ต่อยต้นไม้ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่มีรุ่นพี่คนใดสามารถรับผิดชอบได้ ซึ่งรูปแบบค่านิยม พฤติกรรมเหล่านี้ นอกจากห้องเชียร์แล้ว ในบางคณะฯ บางสถาบัน อาจจะเกิดขึ้นในกิจกรรมอื่นๆด้วย เช่น การรับน้องชมรมกีฬาหรือชมรมอื่นๆ การรับน้องกระเทย การรับน้องหลีด การรับน้องจังหวัด(รุ่นพี่รุ่นน้องที่มาจากจังหวัดเดียวกัน) การรับน้องหอ(รุ่นพี่รุ่นน้องที่อยู่หอในมหา'ลัยเดียวกัน) ฯลฯ

เมื่อทราบกลไก และโครงสร้างปัญหาที่เกิดขึ้น คำถามคือ อาจารย์มหา'ลัยควรจะมีบทบาทต่อการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ในหลายๆมหา'ลัย ในหลายๆคณะฯ ใช้วิธีบังคับใช้กฏมหา'ลัย และกฏหมาย ซึ่งเป็นการบังคับนักศึกษาผู้รับผิดชอบในการทำกิจกรรม ว่าถ้ามีการทำกิจกรรมที่ละเมิดกฏมหา'ลัยและกฏหมาย กิจกรรมนั้นก็จะถูกสั่งปิด ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ดี แต่บางครั้งไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ กล่าวคือ ในบางสถาบัน หลังจากบังคับใช้กฏเกณฑ์ต่างๆแล้ว แต่ถ้านักศึกษายังมีค่านิยมและแนวคิดเหมือนเดิมอยู่ ผลก็คือ นักศึกษาเหล่านี้ก็จะแอบพารุ่นน้องไปทำกิจกรรมรับน้องลับๆ นอกสถานที่ ซึ่งแน่นอน เมื่อออกไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ ไม่อยู่ในสายตา ไม่มีใครดูแล ความรุนแรงและปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะรุนแรงกว่าเดิม

วิธีการที่ดีกว่า ในการแก้ไขปัญหาการรับน้องนี้ คือการแก้ที่ค่านิยมและวิธีคิดของนักศึกษา ซึ่งแน่นอนว่าการใช้วิธีนี้ ต้องอาศัยบทบาทของอาจารย์มหา'ลัยเข้าช่วย สิ่งหนึ่งที่ผู้อ่านอาจจะเคยสงสัยกันบ้างคือ ทำไมการรับน้องที่รุนแรงถึงอยู่คู่กับมหา'ลัยไทยมาเป็นระยะเวลานาน ไม่มีนักศึกษาที่ทนไม่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้บ้างเลยหรอ คำตอบคือ ทุกๆปีมีนักศึกษาพยายามลุกขึ้นมาต่อสู้ แต่พลังของนักศึกษาเหล่านี้ไม่เข้มแข็งพอ เหตุผลหนึ่งคือ นักศึกษาปี 1 เหล่านี้ พึ่งเข้ามาใข้ชีวิตอยู่ในมหา'ลัยใหม่ เค้าเหล่านี้ไม่รู้เลยว่าการรับน้องการว้ากน้องที่เกิดขึ้น มีใครเห็นด้วยไม่เห็นด้วยบ้าง ซึ่งในบางสถาบันที่การว้ากน้องเกิดจากการร่วมมือทำกิจกรรมของทุกชั้นปี และยิ่งมีอาจารย์ที่ปรึกษาด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ นศ ปี1 คิดว่ากิจกรรมทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ทำให้ นศ ปี1 ไม่กล้าที่จะลุกขึ้นสู้ ประกอบกับอาจารย์ท่านอื่นๆเลือกที่จะอยู่เฉยๆเงียบๆทำงานสอนงานวิจัยของตนไปโดยที่ไม่ได้เข้ามายุ่งกับกิจกรรม นศ ยิ่งทำให้ นศ ปี1 คิดว่าอาจารย์เหล่านั่นอาจจะเห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการรับน้อง ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจและสำคัญมาก

วิธีการนึงที่สามารถแก้ไขปัญหาการว้ากน้องได้ดีทีเดียวคือ จะทำอย่างไร ให้นักศึกษาผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการว้ากน้องรวมตัวกันได้ และมีพลังที่จะมาต่อสู้ทางความคิดกับ นศ. ที่เป็นพวกอนุรักษ์นิยม ที่ต้องการรักษาประเพณีการว้ากน้องไว้ ซึ่งตรงนี้เอง บทบาทของอาจารย์มหา'ลัยสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ อาจารย์มหา'ลัยสามารถเข้ามาช่วยกระตุ้นวิธีคิดของนักศึกษา สร้างค่านิยมวัฒนธรรม ในการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น สร้างบรรยากาศของเสรีภาพในการแสดงออก ในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะทำให้ นักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับการว้ากน้องกล้าที่จะออกมาแสดงตัว กล้าที่จะออกมาเคลื่อนไหว รวมกลุ่ม กลายเป็นพลังที่เข้มแข็งในที่สุด

อาจารย์สามารถสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ได้ ผ่านทางการเรียนการสอนในห้องเรียน การจัดสัมมนา หรือเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เวทีดีเบตให้เกิดขึ้นในมหา'ลัยของตน ซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกนี่แหละ คือสิ่งที่ นักศึกษาที่ทำกิจกรรมว้ากน้อง กลัวที่สุด เพราะอะไร เพราะกิจกรรมที่ใช้แนวคิดอำนาจนิยมของรุ่นพี่ อำนาจเผด็จการของพี่ว้าก ย่อมไปด้วยกันไม่ได้กับสังคมที่มีเสรีภาพในการแสดงออก และการเคารพความเป็นมนุษย์ด้วยความเท่าเทียมกัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเผด็จการในการรับน้องในมหา'ลัยไทย หรือเผด็จการในระดับประเทศ ก็ล้วนแล้วแต่กลัวเสรีภาพในการแสดงออกทั้งสิ้น

การที่อาจารย์มหา'ลัยสามารถวางบทบาทสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศแห่งเสรีภาพและความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นในมหา'ลัย จะเกื้อหนุนให้พลังของนักศึกษาหัวก้าวหน้าเข้มแข็งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการปะทะทางความคิดระหว่าง แนวคิดเสรีนิยม กับ แนวคิดอนุรักษ์นิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตรงนี้ ผู้บริหารมหา'ลัย คณะฯ และอาจารย์ ควรผลักดันให้ความขัดแย้งทางความคิดนี้ ไปสู่การตั้งพรรคการเมืองของแต่ละกลุ่ม และเอาความขัดแย้งทางความคิดนี้ ให้ไปต่อสู้ในสนามการเลือกตั้งนายกสโมสรนักศึกษา ทั้งในระดับมหา'ลัย และระดับคณะฯ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือการได้แก้ไขปัญหาการรับน้องด้วยความรุนแรง และเป็นการสอนนักศึกษาให้รู้จักใช้หลักประชาธิปไตยในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดด้วย

ซึ่งผลการเลือกตั้ง ไม่ว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยม หรือฝ่ายเสรีนิยมจะเป็นผู้ชนะ แต่สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นคือ ผู้ที่แพ้การเลือกตั้ง ก็จะกลายเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายตรวจสอบการทำงานของผู้ชนะการเลือกตั้งนั่นเอง และทุกฝ่ายก็จะต้องทำกิจกรรมภายใต้กฏหมาย หรือกฏมหา'ลัย ซึ่งตรงนี้จะเป็นการลดภาระการดูแลของอาจารย์ด้วย เพราะนักศึกษาจะตรวจสอบการทำงานกันเอง และที่สำคัญเป็นการจำลองระบบการปกครองของประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตยด้วย 

ซึ่งสิ่งที่ผู้เขียนเสนอมาเหล่านี้ ย่อมสร้างอนาคตของชาติที่เข้าใจระบบประชาธิปไตยมากขึ้น เข้าใจความสำคัญของสิทธิเสรีภาพ ซึ่งย่อมดีกว่าการมี อนาคตของชาติที่ เคยชินกับการใช้อำนาจรุ่นพี่กดขี่ ว้าก ใช้อำนาจกับรุ่นน้อง อย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้

0000

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:  ดร.ณพล หงสกุลวสุ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net