'สิทธิที่จะรู้' ในรัฐธรรมนูญใหม่ น่าเป็นห่วง ...

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ภาพจาก okfn (CC BY 2.0)

    
รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ที่เพิ่งผ่านการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559  มีประเด็นเกี่ยวกับ “สิทธิพลเมืองว่าด้วยเรื่องข้อมูล” ที่ต้องใส่ใจให้ความสำคัญ แต่ดูเหมือนจะยังไม่มีใครกล่าวถึงกันมากนัก

แนวคิดเกี่ยวกับ "สิทธิที่จะรู้" หมายถึง สิทธิของประชาชนที่จะรู้หรือเข้าถึงข้อมูลในความครอบครองของรัฐ ภายใต้หลักการที่ว่า ข้อมูลของรัฐเป็นสิ่งที่ต้อง "เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น" และ "รัฐรู้อะไร ประชาชนรู้อย่างนั้น” ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้นับว่ามีพัฒนาการมาอย่างยาวนานพอสมควรสำหรับสังคมไทย รวมทั้งประเด็นสิทธิใน “ความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล”

“สิทธิรับรู้ข้อมูลราชการ” และ “สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองในข้อมูลส่วนบุคคล” ได้รับการรับรองอย่างจริงจังในประเทศนี้โดยการเกิดขึ้นของ “พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540” เมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน ทั้งยังได้รับการยืนยันรับรองโดยรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งปรากฏอยู่ในส่วนสำคัญ 2 เรื่อง คือ ประเด็นสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะในมาตรา 58 และมาตรา 59 และเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับสิทธิความเป็นส่วนตัวในเชิงข้อมูล ในมาตรา 34

ในประเด็นสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารนั้น รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 58 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

และมาตรา 59 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผล จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่กฎหมายบัญญัติ”

รัฐธรรมนูญ 2540 เดินทางมาสิ้นสุดโดยการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 และประเทศก็มีรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2550

ต่อมา รัฐธรรมนูญ 2550  กำหนดสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารปรากฏอยู่ใน หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ 10 ว่าด้วยสิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน ซึ่งเขียนไว้ว่า

มาตรา 56 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชนหรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น หรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 57 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

การวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ”

รัฐธรรมนูญ 2550 ประสบชะตากรรมเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 2540 โดยมีจุดจบด้วยการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 และวันนี้ประเทศไทยกำลังจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล่าสุด

ล่าสุด ในรัฐธรรมนูญที่เพิ่งผ่านการลงประชามติไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ก็มีการระบุสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารเอาไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยเขียนว่า

“มาตรา 41 บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ

(1) ได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ....”

และปรากฏในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ  ซึ่งเขียนไว้ว่า

“มาตรา 59 รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก”

จึงจะให้เห็นได้ว่า หลักการรับรองสิทธิพลเมืองในการรับรู้เข้าถึงข้อมูลราชการยังคงอยู่ แต่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของวิธีการเขียน เพราะจากเดิมในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เขียนว่า สิทธิรับรู้ข้อมูลเป็น “สิทธิ” ของพลเมือง โดยเขียนว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูล” ในฉบับใหม่นี้เขียนเพิ่มว่าเป็นสิทธิของชุมชนด้วย และมาเขียนเพิ่มให้เป็น “หน้าที่” ของรัฐที่จะ “ต้องเปิดเผยและต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล”

ฟังดูเหมือนจะชัดเจนที่กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องเปิดเผย แต่การกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการ อาจทำให้หน่วยงานของรัฐตีความกันตรงๆ ตื้นๆ ว่าถ้าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงหรือเป็นความลับของทางราชการก็ไม่ใช่หน้าที่ที่ต้องเปิดเผย

ว่าแล้วก็ตีตราเอกสารที่ไม่ต้องการเปิดเผยต่อสาธารณะว่าเป็นเอกสารเกี่ยวกับ “ความมั่นคง” หรือ “เอกสารลับ” เสียทั้งหมด เมื่อมีคนมาใช้สิทธิขอข้อมูล หน่วยงานก็จะอ้างกันอย่างแคบและ(มัก)ง่ายว่ากฎหมายข้อมูลข่าวสารขัดรัฐธรรมนูญ

ลงท้ายด้วยการโยนให้ศาลหรือองค์กรที่มีอำนาจตีความกรณีการขัดกันของกฎหมาย ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการหาข้อยุติกันอีกยืดยาว แต่สิ่งที่อาจเกิดในระยะสั้นเช่นนี้ จะเป็นการเปิดทางให้หน่วยงานรัฐปฏิเสธการใช้สิทธิเข้าถึงข้อมูลของพลเมืองด้วยลูกไม้ง่ายๆ อุบายตื้นๆ นั่นเอง

นี่คือบันทึกด้วยความเป็นห่วงต่อ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ และที่สำคัญกว่านั้นคือ เป็นห่วง “สิทธิที่จะรู้” ของปวงชนชาวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท