Skip to main content
sharethis

รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการเว็บไซต์ Deep South Watch นำเสนอในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า กว่า 12 ปีที่ผ่านมาของความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐไทยได้สร้างถ้อยคำขึ้นมาจำนวนมาก เพื่อซ่อนเร้นความต้องการทางการเมืองของขบวนการปลดปล่อยสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ปาตานี โดยมีจุดประสงค์ไม่ให้ต่างชาติแทรกแซง ในขณะที่ฝ่ายขบวนการก็สร้างสรรค์ถ้อยคำที่ท้าทายเรื่องเล่ากระแสหลัก ที่คนไทยไม่เคยได้ยินมาก่อน 

รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการเว็บไซต์ Deep South Watch นำเสนอในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการเว็บไซต์ Deep South Watch สอบป้องกันวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2559 โดยมี ศ.ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา มี ศ. ดร. เกษียร เตชะพีระ เป็นประธานในการสอบ และมีรศ.ดร.ฉันทนา หวันแก้ว เป็นกรรมการภายนอก อนึ่ง ชื่อภาษาอังกฤษของวิทยานิพนธ์คือ Politics of Words in Pa(t)tani: Constructing “Peace” in Ethnopolotical Conflict รอมฎอนเผยด้วยว่า มีแผนจะตีพิมพ์วิทยานิพนธ์ฉบับนี้กับสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเผยแพร่ให้งานวิจัยของเขาเข้าถึงบุคคลทั่วไปเร็วๆ นี้

 

ทำไมถึงมีถ้อยคำเกี่ยวกับความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้ของไทย หรือ ปาตานี เต็มไปหมด 

ลักษณะพื้นฐานของความขัดแย้งชาติพันธ์การเมือง มันมีถ้อยคำบางอย่างที่คนเห็นต่างกัน โดยเฉพาะคำที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางการเมืองของดินแดน และผู้คน 

เวลาเราพิจารณาความขัดแย้งที่เกี่ยวกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเอง มันมักเกี่ยวข้องกับสามอย่างคือ 1. คำที่ให้ความหมายกับผู้คน ว่าพวกเขาคือใคร เป็นอะไร 2.ดินแดน อยู่ตรงไหน มีพรมแดนตรงไหน ครอบคลุมถึงไหน และเรียกดินแดนนี้ว่าอะไร 3. ผลสะเทิอน (demonstration effect) ผลที่ตามมาจากการเห็นแบบอย่าง เช่น หากดินแดนนี้ได้เอกราช ที่อื่นๆ ก็จะตั้งคำถาม และเห็นเป็นแบบอย่าง เป็นแรงบันดาลใจให้กับขบวนการในที่อื่นๆ 

เหตุผลที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเองที่ฝ่ายขบวนการมักอ้างและจะขัดกับแนวคิดแบบบูรณภาพแห่งดินแดน (territorry integration) ของรัฐเดี่ยวหรือแนวคิดว่าประเทศเป็นหนึ่งเดียวและแบ่งแยกไม่ได้ที่รัฐอ้างอิงถึง ทั้งสองหลักการนี้ต่างฝ่ายให้เหตุผลด้วยเรื่องราวในอดีตที่ต่างสำนวนกัน อย่าง อ.ธงชัย วินิจกูล เรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์อันตราย และพบว่าความขัดแย้งลักษณะเช่นนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักมีลักษณะร่วมแบบนี้ นั่นคือ มีประวัติศาสตร์ของชาติแบบทางการชุดหนึ่ง ซึ่งมักเป็นประวัติศาสตร์ที่รวมศูนย์ไปที่ศูนย์กลาง พูดถึงความเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ มีศัตรูร่วมกัน ซึ่งแตกต่างและไปบดบังประวัติศาสตร์ในสำนวนของชนกลุ่มน้อยและยังพยายามกดไว้ด้วย การพยายามไปกดนี้กลับทำให้ประวัติศาสตร์หรือเรื่องเล่าของชนกลุ่มน้อยยิ่งทรงพลังต่อผู้คน ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าเรามีที่มา มีตัวตนอีกแบบ ซึ่งต่างไปจากแบบที่ส่วนกลางบอก ยิ่งกลายเป็นมีพลังในการเคลื่อนคนในทางการเมือง หรือที่ไปไกลกว่านั้นคือมันมีส่วนทำให้การต่อสู้โดยใช้กำลังมีน้ำหนัก  

อ.ธงชัย เสนอว่า เมื่อมีประวัติศาสตร์หรือเรื่องเล่าที่ขัดกันเช่นนี้ ทางออกคือ ควรจะต้อง “แบ” หรือเปิดให้รับรู้เรื่องเล่าของทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่พยายามกดทับ หรือปิดบังไว้ เป็นการทำให้ประวัติศาสตร์ชาตินิยมของคนกลุ่มน้อยออกจากที่ลับ ลดความขึงขังและลึกลับของมัน แน่นอนวิธีนี้อาจรบกวนเรื่องเล่าประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่ว่า เพื่อลดความอันตราย การแบนั้นมีประโยชน์ตรงที่ให้คนเลือกเองว่า จะเชื่ออันไหน 

สำหรับพื้นที่ที่ผมศึกษา ที่คนมักเรียกกันติดปากว่า “สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” คำๆ นี้ที่จริงแล้วเป็นคำทางการซึ่งเพิ่งถูกใช้ไม่นานนัก คำเรียกขานดินแดนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเสมอมา ตั้งแต่เรียกว่า “มณฑลปัตตานี” ในช่วงรัชกาลที่ห้า ซึ่ง “ปัตตานี” ถือกำเนิดขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรกและสืบต่อเป็น “จังหวัดปัตตานี” เมื่อครั้งสถาปนาเป็นจังหวัดต่างๆ ตามมา บางยุคพื้นที่กลุ่มจังหวัดแถวนั้นก็เรียกเป็น “สี่จังหวัดภาคใต้” (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล) ในเวลาต่อมาก็ใช้คำว่า “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งกินพื้นที่รวมห้าจังหวัด (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา สตูล) โดยที่ข้อเท็จจริงก็คือปัตตานีนั้นไม่ได้อยู่ติดกับชายแดนแต่อย่างใด บางครั้งคำๆ นี้ก็หมายรวมเพียงสี่จังหวัดชายแดน (รวมเฉพาะสตูล) และในปัจจุบันคำที่เป็นทางการก็คือ “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งหากอิงตามกรอบกฎหมาย (พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้) ก็จะกินพื้นที่รวม 5 จังหวัด แต่ในแง่ปฏิบัติการเชิงความมั่นคงในปัจจุบัน พื้นที่ “จชต.” นั้นจะจำกัดอยู่ที่ 3 จังหวัดและอีก 4 อำเภอของสงขลาเท่านั้น จะเห็นได้ว่าความหมายของพื้นที่ก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

แต่ในมุมของขบวนการ พวกเขาใช้คำว่า “ปาตานี” ในภาษามลายูเพื่อหมายถึงอาณาบริเวณดังกล่าวนี้ และใช้คำว่า “ฟาฏอนี” ในภาษาอาหรับ ซึ่งมีนัยทางการเมืองวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปกล่าวคือเป็นหน่วยทางการเมืองที่เป็นเอกเทศ มีเรื่องราวที่มาและความเป็นตัวของตัวเอง ที่ไม่ขึ้นต่อศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ 

ปัญหาของถ้อยคำนั้นจะเห็นได้ชัดเจนจากความเห็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทยกับฝ่าย “มาราปาตานี” ในการตกลงกันเกี่ยวกับร่างกรอบกติกาการพูดคุย (Terms of Refference, TOR) ที่กัวลาลัมเปอร์ นอกจากประเด็นสำคัญอื่นๆ แล้ว เรื่องของถ้อยคำอย่าง “ปาตานี” นั้นเป็นปัญหามาก เพราะในขณะที่ฝ่ายทางการไทยต้องการให้เรียกขานดินแดนนี้ด้วยคำทางการอย่าง “จังหวัดชายแดนภาคใต้” แต่มาราปาตานียืนยันในถ้อยคำ “ปาตานี” เรื่องนี้ยังสัมพันธ์กับการเรียกขาน “ฝ่ายบี” (Party B) หรือฝ่ายขบวนการบนโต๊ะพูดคุย เพราะทางการไทยนั้นพอใจที่จะใช้คำเรียกตามที่ระบุเอาไว้ในเอกสารนโยบายของฝ่ายตน อย่าง “กลุ่มผู้มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ” (People With Different Views From The State มีชื่อย่อเป็น PDVS) แต่มาราปาตานีต้องการให้เรียกขานพวกเขาด้วยชื่อองค์กรอย่างเป็นทางการเป็น Patani Consultative Council (PCC)

ที่จริงแล้ว เรื่องชื่อเรียกขานนั้นไม่ได้จริงจังเฉพาะบนโต๊ะพูดคุยเท่านั้น แม้แต่การทำงานในสนามก็พบว่าเจ้าหน้าที่บางคนนั้นยอมรับ “ปาตานี” ได้ลำบากอย่างยิ่ง แม้ว่าจะเป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงก็ตาม นายทหารบางคนบอกกับผมว่า เมื่อต้องรายงานสถานการณ์ความคืบหน้าในเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติสุข เขาจงใจเขียนชื่อองค์กรผิดเป็น “มาราปัตตานี” เพราะสำหรับเขา การยอมใช้ชื่อ “ปาตานี” นั้นเท่ากับยอมรับการแบ่งแยกดินแดนไปโดยปริยาย แม้ว่ารายงานที่ว่านั้นจะส่งให้นายอ่านเท่านั้นก็ตาม

สำหรับถ้อยคำเกี่ยวกับผู้คนก็มีอยู่หลายอย่าง แต่โดยมากแล้วจะเห็นความตึงเครียดที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางการเมืองที่ผูกไว้กับความเป็นชาติพันธุ์ และในระยะหลังก็พบว่ามีบางแง่มุมที่สัมพันธ์กับความเป็นดินแดนข้างต้น เช่น การเรียกขานคนไทยมุสลิมที่ต่างไปจากคนมลายูมุสลิม รัฐไทยนั้นดูเหมือนจะยอมรับความต่างทางศาสนาได้มากกว่าจะอนุญาตให้ลักษณะทางชาติพันธุ์นั้นโดดเด่นแตกต่างไปจากความเป็นไทย ด้วยเหตุนี้การเป็นพลเมืองไทยที่นับถือศาสนาอิสลามนั้นดูจะสร้างปัญหาให้น้อยกว่าการยอมรับการดำรงอยู่ของมลายู แต่ด้วยเหตุนี้นี่เองที่ทำให้การสร้างความตระหนักว่าตนเองเป็นคนมลายูนั้นยังคงทรงพลังอยู่เสมอ ในขณะที่การพยายามจะสร้างตัวตนในฐานะที่เป็น “คนปาตานี” ก็เพิ่งจะปรากฎขึ้นไม่นานนัก ซึ่งแน่นอนว่ามันได้รบกวนสิ่งที่รัฐไทยพยายามจะให้ความหมายต่อผู้คนและดินแดนแถบนี้ไม่น้อยทีเดียว  

อีกถ้อยคำหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงมากคือ คำเรียกขานตัวกลุ่มเคลื่อนไหวที่ติดอาวุธหรือบรรดาขบวนการต่อสู้นั่นเอง ในช่วงปีแรกๆ ของความรุนแรงรอบใหม่หากเราเริ่มนับจริงจังในปี 2547 เป็นต้นมา ในช่วงรัฐบาลทักษิณนั้น ทางการไทยตีโจทย์ความรุนแรงที่ปะทุขึ้นมาอย่างสับสนมาก การประเมินสถานการณ์ก็วางอยู่บนกรอบคิดของการก่อการร้ายสากล และตีความว่าการก่อเหตุในพื้นที่ชายแดนใต้นั้นมีความสัมพันธ์กับองค์กรก่อการร้าย ถ้อยคำเกี่ยวกับการก่อการร้ายปรากฎในเอกสารนโยบายในยุคนั้นอย่างชัดเจน 

ต่อมา เมื่อข้อมูลเริ่มปรากฎชัดมากขึ้น ทางการไทยเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่นั้นเป็นการปรับตัวและพัฒนาการของขบวนการติดอาวุธที่มุ่งหวังบ่อนทำลายอำนาจรัฐและแยกดินแดนที่เป็นปัญหานี้ให้เป็นรัฐอิสระ โดยมีลักษณะที่เป็นท้องถิ่นมากกว่าจะเป็นเรื่องของขบวนการสากล กรอบคิดหลักที่มีอิทธิพลในช่วงนั้นก็คือการรับมือกับการก่อความไม่สงบ (Insurgency) ด้วยการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ (Counterinsurgency, COIN) ถ้อยคำทางการในการเรียกขานฝ่ายตรงกันข้ามก็กลายมาเป็น “ผู้ก่อความไม่สงบ” อย่างคงเส้นคงวามากยิ่งขึ้น 

หลังการรัฐประหารในปี 2549 การประเมินในฝ่ายทางการไทยก็ค่อนข้างมีฉันทามติภายในหน่วยงามความมั่นคงต่างๆ ว่า กองกำลังติดอาวุธที่ก่อเหตุในพื้นที่ดังกล่าวนี้ที่จริงแล้วมุ่งหวังการแบ่งแยกดินแดน แต่หลังจากนั้นไม่นานมุมมองการวิเคราะห์จากกรอบการเมืองและกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งผลักดันจากผู้เชี่ยวชาญในกระทรวงต่างประเทศให้ความเห็นว่าควรต้องระมัดระวังในการเรียกขานสถานการณ์และตัวแสดงในฝ่ายตรงกันข้าม เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นสุ่มเสี่ยงที่จะถูกยกระดับให้กลายไปเป็นประเด็นระหว่างประเทศได้ ผลที่ตามมาอาจนำไปสู่สิ่งที่ทางการไทยไม่พึงปรารถนา นั้นก็คือการแทรกแซงจากประชาคมระหว่างประเทศ 

ราวปี 2552 นี่เอง ที่แวดวงหน่วยงานยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทยประเมินว่าถ้อยคำที่เรียกขานสถานการณ์นั้นอาจสร้างความยุ่งยากตามมา ทั้งการใช้คำว่า “การก่อการร้าย” ก็อาจดึงดูดมหาอำนาจของโลกและคู่ขัดแย้งอย่างขบวนการก่อการร้ายสากลให้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ในขณะที่การยอมรับว่าเป็นสถานการณ์ “การก่อความไม่สงบ” ก็จะให้ความหมายฝ่ายตรงกันข้ามว่าเป็น “กลุ่มก่อความไม่สงบ” ที่อาจทำให้ความหมายของสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเข้าข่าย “การขัดกันทางอาวุธ” (Armed Conflict) ตามกรอบคิดของกฎหมายระหวางประเทศ ซึ่งในด้านหนึ่งก็จะเป็นการยกระดับฝ่ายตรงกันข้ามให้มีสถานะทางการเมืองในฐานะที่เป็น “ฝ่ายในความขัดแย้ง” (Parties to Conflict) 

ข้อเสนอที่มีน้ำหนักของกระทรวงการต่างประเทศและต่อมาได้กลายมาเป็นหมุดหมายกำกับทิศทางของทางการไทยมาเป็นเวลาหลายปีต่อจากนั้นก็คือพึงหลีกเลี่ยงการยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าฝ่ายตรงข้ามนั้นมีลักษณะเป็นองค์กรที่มีการจัดตั้ง มีโครงสร้างและสายบังคับบัญชาที่ชัดเจนแน่นอน รวมทั้งมีระเบียบวินัยในการใช้กำลังและขีดความสามารถในการเคลื่อนพลต่อกรกับกองกำลังของรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ ทางการไทยจึงลำบากใจที่จะยืนยันหรือยอมรับการดำรงอยู่ของ “บีอาร์เอ็น” นับแต่นั้นเป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้สะท้อนอย่างชัดเจนเมื่อมีการเปลี่ยนถ้อยคำเรียกขานกลุ่มติดอาวุธฝ่ายตรงกันข้ามรัฐในปลายปี 2552 จาก “ผู้ก่อความไม่สงบ” ไปเป็น “ผู้ก่อเหตุรุนแรง” โดยมีถ้อยคำทางการในภาษาอังกฤษว่า “Perpetrator of Violence” ด้วยถ้อยคำเหล่านี้ นัยทางการเมืองของปฏิบัติการทางทหารของบีอาร์เอ็นจึงถูกบดบังและลดทอนลงไป

การคิดสร้างสรรค์ถ้อยคำพวกนี้คิดใคร่ครวญมาเป็นอย่างดี เป้าประสงค์นั้นไม่ได้มีเพื่อการสะกดถ้อยคำให้ถูกต้องเพียงเท่านั้น แต่ยังต้องการสะกดความหมายเพื่อสกัดเงื่อนไขไม่ให้สถานการณ์ที่รัฐไทยกำลังเผชิญอยู่นั้นเปิดทางให้กับการแทรกแซงจากต่างชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็เสริมเหตุผลในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ดังกล่าวไปด้วยในเวลาเดียวกัน เรื่องที่ดูจะย้อนแย้งนิดหน่อยก็คือทั้งรัฐไทยและขบวนการบีอาร์เอ็นดูจะสมประโยชน์ในเชิงวิธีการก็คือการปกปิดตัวตนของฝ่ายหลังเอาไว้ เหตุผลของทางการไทยนั้นก็เป็นอย่างที่ว่าไป แต่สำหรับบีอาร์เอ็น การปิดลับถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการดำรงการต่อสู้ของพวกเขาเอาไว้

แต่จุดเปลี่ยนก็มีขึ้นหลังจากที่มี “การพูดคุยเพื่อสันติภาพ” ที่เป็นที่รับรู้ของสาธารณะ พลวัตของถ้อยคำเกี่ยวกับการหาทางออกของความขัดแย้งนั้นก็น่าสนใจ การเปลี่ยนแปลงในการกำหนดถ้อยคำนั้นสัมพันธ์กับความพยายามจะกำหนดสถานการณ์การเข้าใจกลุ่มติดอาวุธของรัฐบาลไทย อย่างในยุคยิ่งลักษณ์และก่อนหน้านั้น เอกสารนโยบายของทางการไทยเรียกขานว่ากระบวนการหาทางออกดังกล่าวว่าการพูดคุยเพื่อ “สันติภาพ” แต่พอมายุคประยุทธ์ กลับมีคำสั่งให้ถูกเรียกว่า การพูดคุยเพื่อ “สันติสุข” ซึ่งป็นคำที่พยายามตีกรอบความหมายให้เป็นไปตามที่รัฐต้องการ เพราะจากมุมมองของฝ่ายความมั่นคงคำว่า “สันติภาพ” มันเป็นเรื่องระหว่างประเทศและมีความเป็นสากลมากเกินไป การใช้คำนี้ถูกทึกทักเอาว่าอาจไปดึงความสนใจของประชาคมนานาชาติ และทำให้กังวลว่าจะไม่สามารถคุมทิศทางของการพูดคุยเอาไว้ได้ เชื่อกันว่าการเปลี่ยนเป็น “สันติสุข” นั้นทำให้ไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์สู้รบหรือการขัดกันทางอาวุธ วางกรอบให้ให้ดูเป็นประเด็นภายในประเทศมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

สรุปสั้นๆ วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ต้องการยืนยันว่าถ้อยคำที่ดูเหมือนไม่เป็นพิษเป็นภัยอะไร แต่จริงๆ แล้วไม่เลย ถ้อยคำถูกประกอบสร้างขึ้นเพื่อกำหนดความคิดผู้คนต่อความขัดแย้ง และส่งผลต่อทิศทางการคลี่คลายความขัดแย้งนั้นๆ ถ้อยคำยังถูกใช้เพื่อปิดบังบางอย่าง และเลือกจะบอกแค่บางอย่าง การปรากฎหรือหล่นหายไปของบางถ้อยคำนั้นก็แสดงให้เห็นถึงการะปะทะกันระหว่างความพยายามสร้างความชอบธรรมและเหตุผลรองรับของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนั่นเอง 

 

กระบวนการสันติภาพ ส่งผลกระทบต่อการคิดประดิษฐ์ถ้อยคำเหล่านี้อย่างไรบ้าง 

อย่างแรกเลย กระบวนการสันติภาพทำให้ฝ่ายขบวนการเริ่มออกคำแถลงอย่างเป็นทางการให้เราได้ศึกษา และเกิดการปะทะของถ้อยคำจากฝ่ายต่างๆ เกิดเป็นการต่อรองของความหมายที่แตกต่างกัน เราสามารถมองเห็นความขัดแย้งได้จากการพิจารณาถึงสิ่งนี้อย่างชนิดที่ไม่เคยทำได้มาก่อนตลอดเกือบสิบปีก่อนหน้านั้น

ถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการฉบับแรกๆ ของบีอาร์เอ็นก็บอกว่าพวกเขาเป็นใครและพวกเขาไม่ใช่อะไร บีอาร์เอ็นยืนยันว่าพวกเขาเป็นขบวนการปลดปล่อย ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนด้วยซ้ำไป เพราะดินแดนที่ว่านี่เป็นของๆ เขามาแต่เดิม ไม่จำเป็นต้องแบ่งจากใคร ถ้อยคำที่เป็นปัญหาเมื่อลอยข้ามพรมแดนภาษาจากมลายูมาปรากฎในภาษาไทยก็ไม่เคยกลายเป็นประเด็นถกเถียงมากมายอย่างนี้มาก่อน ดูจากถ้อยคำอย่าง Penjajah Siam หรือ นักล่าอาณานิคมสยาม (ตามสำนวนแปลของ ฮารา ชินทาโร) ซึ่งก็ทำให้ผู้คนในสังคมไทยตกใจ เพราะมันท้าทายความเชื่อเดิมที่ว่าสยามไม่เคยไปล่าอาณานิคมใคร จะเป็นเจ้าอาณานิคมได้อย่างไร คำว่าอาณานิคมในคลังคำศัพท์การเมืองเดิมในสังคมไทยนั้นเป็นเรื่องราวของสยามที่เป็นผู้ถูกกระทำจากชาติตะวันตก ความหมายอย่างที่บีอาร์เอ็นเสนอมันไม่มีอยู่ในหัวเลย เพราะมันขัดกับประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ดำรงอยู่ ถ้อยคำๆ นี้สัมพันธ์กับอีกคำสำคัญหนึ่ง นั่นก็คือ  “Hak Pertuanan” หรือที่ถูกแปลว่า “สิทธิความเป็นเจ้าของ” ซึ่งก็ไม่เคยมีที่ทางมาก่อนในภาษาไทย

คราวนี้ บนโต๊ะพูดคุยนั้นจำเป็นต้องมีการร่างข้อตกลงสำหรับการพูดคุย ก็ต้องมีการใช้ถ้อยคำต่าง เพื่อเรียกดินแดน ผู้คน คนที่สู้ด้วยอาวุธ และความขัดแย้ง ซึ่งต่างฝ่ายก็ต่างอยากใช้คำของตัวเอง ซึ่งก็ยากจะหาคำที่ทั้งสองฝ่ายพอใจได้ง่ายนัก ในขณะที่การปะทะของถ้อยคำทำนองนี้ก็เริ่มปรากฎมากขึ้นในพื้นที่สาธารณะ การเดินหน้าหาข้อตกลงที่เป็นเนื้อหาสาระมากขึ้นในขั้นตอนต่อไปของกระบวนการสันติภาพนั้นก็จำเป็นต้องได้ข้อยุติในบางระดับเกี่ยวกับความหมายเหล่านี้ ไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องการลดความรุนแรงหรือสาระเกี่ยวกับการแบ่งสรรอำนาจในอนาคต

 

ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสร่วมสร้างถ้อยคำพวกนี้บ้างไหม

ก่อนปี 2556 ประเด็นถ้อยคำไม่เปนปัญหาขนาดนี้ พอมีการพูดคุยเพื่อสันติภาพเกิดขึ้น ถ้อยคำเหล่านี้กลายเป็นประเด็นทางสังคม เราจะเรียกที่นี่อย่างไร จะสร้างอนาคตของเราอย่างไร ผู้คนรู้สึกว่า ถ้อยคำนั้นเกี่ยวข้องกับอนาคตของเรา เกิดเป็นการถกเถียงในหมู่ชาวบ้าน ไม่แค่บนโต๊ะเท่านั้น ที่เห็นชัดคือกลุ่มเยาวชนบางส่วน ซึ่งพยายามจะรณรงค์เพื่อสร้างตัวตนทางการเมืองใหม่ให้กับผู้คนในพื้นที่ พวกเขาชูแนวคิด Satu Patani หรือ ปาตานีหนึ่งเดียว ซึ่งโดดเด่นอย่างมาก เพราะต้องการสถาปนาให้ความเป็นปาตานีมีที่ทางมากขึ้นในพื้นที่สาธารณะ ปฏิบัติการทางการเมืองของหลายกลุ่มก็น่าสนใจ อย่างคนไทยพุทธ พวกเขาพยายามไปให้ไกลกว่าภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกระหว่างความหมายของคำว่า สันติภาพ กับ สันติสุข ครั้งหนึ่งก็เคยหันไปใช้คำว่า สันติสุขภาพ หรืออย่างกลุ่ม LEMPAR ก็สร้างความหมายและใช้คำใหม่ไปเลยว่า สันติธรรม 

 

คำว่า โจรใต้ ที่สื่อหนังสือพิมพ์ชอบใช้ มีที่มาอย่างไร และมีผลต่อการแก้ปัญหาชายแดนใต้อย่างไร

ในปี 2506 ทางการไทยกำหนดคำเรียกว่า “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” และเปลี่ยนในปี 2515 ไปเป็น “ขบวนการโจรก่อการร้าย” หรือที่คนมีอายุหน่อยจะคุ้นเคยกับชื่อย่อ “ขจก.” หลังจากนั้นปี 2537 ก็เปลี่ยนให้เหลือแค่ "โจรก่อการร้าย" หรือ “จกร.” การตัดคำว่า “ขบวนการ” ออกไปและเพิ่มคำว่า “โจร” ทำให้ลดทอนอำนาจต่อรองในฐานะที่เป็นกลุ่มการเมืองอย่างเห็นได้ชัด ในขณะเดียวกันก็เพิ่มด้านที่ละเมิดกฎหมาย มุ่งหวังประโยชน์เชิงเศรษฐกิจมากกว่าเป้าหมายทางการเมือง และที่สำคัญมีความหมายที่เราจะเห็นแต่ด้านของการใช้ความรุนแรง 

ในเวลานั้น ก็พอเข้าใจได้ที่ฝ่ายทางการไทยจะมองว่า กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงนั้นเป็นโจร และไม่ได้มีลักษณะเป็นขบวนการอะไร เพราะตอนนั้นขบวนการที่ต่อสู้เริ่มหมดศักยภาพ ขีดความสามารถทางการทหารก็เริ่มลดต่ำลง และมีคนมอบตัวต่อทางการไทยจำนวนมาก รัฐประเมินว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้วและเข้าสู่สภาวะปกติ สิ่งที่ต้องจัดการต่อก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผู้คน ในสายตาของรัฐ ขบวนการที่มีแรงจูงใจทางการเมืองเหมือนแต่ก่อนนั้นได้สลายตัวไปเรียบร้อยแล้ว การเรียกขานว่า “โจร” จึงดูฟังขึ้นและกลายเป็นถ้อยคำที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางต่อเนื่องมา

ที่จริงแล้ว การประเมินในแนวทางนี้ค่อนข้างเป็นไปอย่างมีฉันทามติ ไม่ว่าจะเป็นทัศนะจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ ข้าราชการระดับสูงทุกปีกในสังคมไทย จนกระทั่งนายกฯ ทักษิณไปไกลถึงขั้นมีคำสั่งยุบ ศอ.บต. และ พตท.43 หน่วยงานพิเศษที่จัดตั้งในยุคนายกฯ เปรม เพื่อดูแลงานการเมืองและงานการทหารก่อนหน้านั้น เพราะถือว่าชายแดนใต้นั้นเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว การมองไม่เห็นพัฒนาการของบีอาร์เอ็นในช่วงเวลาบ่มเพาะนี่เองที่ทำให้การรับมือในช่วงแรกๆ หลังปี 2547 ออกจะดูสับสนอลหม่าน 

ปัญหาก็คือ “โจรใต้” ทำให้ผู้คนเห็นภาพความขัดแย้งที่บิดเบี้ยว ไม่เห็นนัยยะทางการเมืองของความขัดแย้ง และขาดความสามารถในการคิดหาทางออกทางการเมืองโดยไม่ใช้ความรุนแรง เพราะเมื่อมองว่าพวกเขาเป็นโจร ทางเลือกจะจำกัดอยู่แค่เพียงการบังคับใช้กฎหมายและการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม ทางออกอื่นที่ดูสมเหตุสมผลจะถูกกันออกไป

เช่นกัน หากเราเห็นแต่ “ชายแดนภาคใต้ของไทย” ไม่เห็นว่ามีดินแดนที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น “ปาตานี” และมองเห็นบรรดานักสู้เพื่อ “ปาตานี” เราก็จะมองปัญหาไม่ครบทุกมุม ไม่เห็นความปราราถนาทางการเมืองที่ซ่อนอยู่ในความขัดแย้งนี้ 

เราจึงจำเป็นต้องแบถ้อยคำต่างๆ นี้ออกมา และดูว่าความหมายแต่ละคำที่แต่ละฝ่ายคิดถึงนั้นส่งผลต่อความเข้าใจสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างไร วิทยานิพนธ์เล่มนี้ไม่ได้ต้องการตอบหรือเสนอว่าเราควรใช้ถ้อยคำไหนเพื่อเรียกขานถึงสิ่งต่างๆ เพียงแต่ชี้ชวนให้เห็นการทำงานของถ้อยคำและความหมายว่ามันขับเคลื่อนและแปลงเปลี่ยนตัวความขัดแย้งอย่างไร หากเราเห็นสิ่งนี้ ก็ไม่ยากที่จะรับมือกับความขัดแย้งอย่างซึ่งหน้า ส่วนคำถามที่ว่าเราจะใช้คำไหนดีนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่แค่คนบนโต๊ะพูดคุยเท่านั้นที่จะตกลงและกำหนด ผู้คนที่ต่างมีส่วนในความขัดแย้งครั้งนี้ก็ควรร่วมกันเลือกคำและให้ความหมายด้วยเช่นกัน 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net