บท บก.สื่ออินโดฯ วิจารณ์การใช้โทษประหารของ 'วิโดโด' ขัดภาพลักษณ์สิทธิมนุษยชน

17 ก.ย. 2559 เดอะ จาการ์ตา โพสต์ นำเสนอบทบรรณาธิการเกี่ยวกับกรณีของมารี เจน เวโลโซ หญิงอายุ 31 ปี ชาวฟิลิปปินส์ ผู้ต้องหาข้อหาลักลอบนำเฮโรอีนเข้าประเทศอินโดนีเซียถูกตัดสินให้ได้รับโทษประหารชีวิตตามคำกล่าวอ้างของประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ที่อ้างว่า โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์สั่งให้ประหารชีวิตเวโลโซได้ ถึงแม้ว่าเลขาธิการกระทรวงการเกษตรของฟิลิปปินส์จะให้สัมภาษณ์ต่อสื่อฟิลิปปินส์ว่าดูเตอร์เตพยายามขอให้รัฐบาลอินโดนีเซียปราณีต่อเวโลโซ แต่เป็นวิโดโดเองที่ยืนยันจะใช้วิธีการประหารชีวิตในการปราบปรามยาเสพติดต่อไป

ประเด็นนี้ชวนให้เกิดความย้อนแย้งไม่เพียงแค่เรื่องที่จอมโหดผู้เมินเฉยต่อสิทธิในมนุษยชนอย่างดูเตอร์เตจะเป็นคนขอความปราณีให้กับคนสัญชาติเดียวกันเท่านั้น แต่อินโดนีเซียในฐานะของประเทศที่มีการอ้างว่าตัวเองเป็นผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนกลับเป็นประเทศที่นำโทษประหารมาใช้ ท่ามกลางกระแสการยกเลิกโทษประหารชีวิตในแนวทางสิทธิมนุษยชนสากล

วิโดโดประกาศตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.ว่าจะมีการเตรียมพร้อมประหารชีวิตเวโลโซ จากเดิมที่เวโลโซเคยรอดพ้นโทษประหารชีวิตมาได้แล้ว 2 ครั้ง หลังจากที่วิโดโดประกาศเมื่อปีที่แล้วว่าเขาจะแก้ไขปัญหาสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น "สถานการณ์ฉุกเฉินของปัญหายาเสพติดในชาติ" โดยอ้างสถิติว่ายาเสพติดกำลังทำให้มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 50 คนต่อวัน

เวโลโซได้รับการยกเลิกการประหารชีวิตในนาทีสุดท้ายเมื่อเดือน เม.ย.ปีที่แล้ว หลังจากที่ฟิลิปปินส์อาศัยความพยายามทางการทูตซึ่งในยุคนั้นยังเป็นยุคของประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนที่ 3 เข้าหาตัววิโดโดโดยตรง และบอกว่าเวโลโซควรได้รับความเป็นธรรมหลังจากที่คริสตินา "ตินติน" เซอร์จิโอ ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสั่งและล่อลวงให้เวโลโซขนยาไปอินโดนีเซียยอมมอบตัวกับทางการฟิลิปปินส์ ในพิธีการประหารชีวิตครั้งล่าสุดเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เวโลโซก็ยังไม่ถูกนำสู่ลานประหาร

บทบรรณาธิการเดอะ จากาตาร์ โพสต์ ระบุว่า คนจำนวนมากไม่เข้าใจว่าทำไมวิโดโดถึงคิดว่าจะใช้โทษประหารมาแก้ไขปัญหาการใช้ยาเสพติดและปัญหาการค้ายาที่ประเทศต้องเผชิญมาตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมาได้ แม้ว่าจะมีแรงกดดันต่อต้านโทษประหารทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ แต่ก็ไม่ทำให้ผู้นำอินโดนีเซียเปลี่ยนใจ นอกจากนี้ผู้นำอินโดนีเซียยังเรียกร้องให้ต่างชาติเคารพกฎหมายของอินโดนีเซียซึ่งกฎหมายของพวกเขาเองก็เป็นสิ่งที่ตกทอดมาจากรัฐบาลอาณานิคมเนเธอร์แลนด์ แต่บทบก. เดอะ จากาตาร์ โพสต์ ก็ระบุว่าการอ้างรักษาโทษประหารชีวิตเอาไว้เพียงเพื่อจะรักษากฎหมายก็ทำให้วิโดโดลดทอนประเด็นนี้ให้เป็นเรื่องกระบวนการทางเทคนิคเท่านั้น

บทบก. เดอะ จากาตาร์ โพสต์ระบุอีกว่า ปัญหาจริงๆ ที่อินโดนีเซียกำลังเผชิญคือปัญหาการที่คนขาดความเชื่อถือผู้บังคับใช้กฎหมาย ส่วนหนึ่งมาจากการคอร์รัปชันในระบอบยุติธรรม ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานบ่งบอกว่ามีการติดสินบนในกรณีการสั่งลงโทษประหารคดียาเสพติดเช่นกรณีของเวโลโซ แต่กระบวนการยุติธรรมก็มีกระบวนการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรม โดยอ้างกรณีนักโทษประหาร 2 คนเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาไม่มีโอกาสได้ใช้สิทธิในการร้องขอความปราณีเลย ส่วนในกรณีของเวโลโซผู้ที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้มากแต่ต้องขึ้นศาลในต่างประเทศนั้น เธอก็ได้รับสิทธิเพียงแค่มีล่ามผู้ไม่มีใบอนุญาตในการดำเนินคดีกับเธอเท่านั้น

บทบก. เดอะ จากาตาร์ โพสต์ ตั้งข้อสังเกตว่าการใช้โทษประหารต่อไปเรื่อยๆ ของวิโดโดท่ามกลางความน่าสงสัยของกระบวนการยุติธรรมเช่นนี้ทำให้คนตั้งข้อสังเกตว่าวิโดโดแค่กำลังกระหายภาพลักษณ์ว่าได้ทำอะไร "ประสบความสำเร็จ" เพื่อแก้เก้อให้กับการทำโครงการสำคัญได้อืดอาด

"คาดว่าเขาคงอยากทำให้ประชาชนร้อง 'ว้าว!' ถ้าเช่นนั้นก็ควรจะยกเลิกโทษประหารซึ่งจะกลายเป็นมรดกที่สำคัญของเขาที่จะได้รับการยกย่อง" บทบก.ดังกล่าวระบุ

 

เรียบเรียงจาก

EDITORIAL: Jokowi’s license to kill, The Jakarta Post, 14-09-2016

http://www.thejakartapost.com/academia/2016/09/14/editorial-jokowis-license-to-kill.html

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Mary_Jane_Veloso

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท