พิพากษาคดีอานดี้ ฮอลล์ พรุ่งนี้-แอมเนสตี้ฯ เรียกร้องไทยคุ้มครองนักสิทธิ

16 ก.ย. 2559 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ กรณีอานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิแรงงานชาวอังกฤษ ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้จะมีคำพิพากษาในคดีที่เขาถูกฟ้องหมิ่นประมาท พรุ่งนี้ (20 ก.ย.) โดยแสดงความกังวลอย่างมากในการใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาและข้อหาอาญาอื่นๆ เพื่อคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องทางการไทยรับประกันว่า จะไม่ใช้ข้อหาเช่นนี้เพื่อจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก

แถลงการณ์ให้ข้อมูลว่า การฟ้องคดีต่ออานดี้ ฮอลล์ พลเมืองชาวอังกฤษ เป็นผลมาจากการมีส่วนร่วมของเขาในการจัดทำรายงานเมื่อเดือนมกราคม 2556 ของกลุ่มฟินน์วอชต์ (Finnwatch) ซึ่งเป็นเอ็นจีโอจากฟินแลนด์ รายงาน “สินค้าถูกมีราคาสูง”(Cheap Has a High Price)บรรยายถึงการละเมิดสิทธิแรงงานนานัปการของบริษัทสามแห่งในไทย รวมทั้งบริษัทเนเชอรัลฟรุต จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปผลไม้ในฐานะที่ปรึกษาด้านงานวิจัยให้กับฟินน์วอชต์อานดี้ ฮอลล์ได้สัมภาษณ์คนงานในโรงงานเนเชอรัลฟรุต ประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ของไทย ซึ่งได้บรรยายถึงสภาพการทำงานที่เสี่ยงอันตราย ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด บังคับให้ทำงานล่วงเวลา มีการยึดหนังสือเดินทาง และมีการเลือกปฏิบัติโดยใช้เหตุผลด้านชาติพันธุ์ รวมทั้งการละเมิดสิทธิแรงงานแบบอื่น

คำพิพากษาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีกำหนดอ่าน เป็นผลมาจากคดีอาญาที่ฟ้องร้องโดยบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด ไม่นานหลังมีการตีพิมพ์เผยแพร่รายงานของฟินน์วอชต์บริษัทเนเชอรัลฟรุตกล่าวหาว่าอานดี้ ฮอลล์จงใจทำให้ภาพลักษณ์ของบริษัทเสียหาย และระบุว่ารายงานให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสภาพการทำงานในโรงงาน อานดี้ ฮอลล์ถูกฟ้องตามมาตรา 328 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญา และมาตรา 14(1) ของพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งห้ามการเผยแพร่ “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ…ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” ทั้งสองข้อหาอาจทำให้เขาได้รับโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินเจ็ดปี และอาจถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก

ในเดือนตุลาคม 2557 มีการตัดสินคดีอีกหนึ่งคดี ศาลยกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาต่ออานดี้ ฮอลล์ เป็นการฟ้องคดีของบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด โดยเป็นผลมาจากการให้สัมภาษณ์ของเขากับสำนักข่าวอัลจาซีรา (Al Jazeera) คดียังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ บริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัดยังฟ้องคดีแพ่งอีกสองคดีต่ออานดี้ ฮอลล์ เรียกค่าเสียหายถึง 400 ล้านบาท โดยมีการสั่งเลื่อนการพิจารณาคดีแพ่งออกไปเพื่อรอผลการพิจารณาคดีอาญา

"การใช้ข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาเพื่อคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นการละเมิดพันธกรณีของไทยที่จะคุ้มครองและเคารพสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งข้อ 19 ของกติกา ICCPR ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี กฎหมายควรอนุญาตให้ผู้เสียหายฟ้องเฉพาะความผิดหมิ่นประมาทที่เป็นคดีแพ่งเท่านั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เคยแถลงว่า กฎหมายต้อง “ร่างขึ้นด้วยความระมัดระวังเพื่อประกันว่า...กฎหมายนั้นจะไม่ส่งผลในทางปฏิบัติให้เกิดการคุกคามเสรีภาพของการแสดงออก” คณะกรรมการยังกระตุ้นให้รัฐบาลต่างๆ พิจารณาลดการเอาผิดทางอาญากับความผิดหมิ่นประมาทโดยสิ้นเชิง คณะกรรมการยังระบุด้วยว่า หากจำเป็นต้องมีกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา ให้ใช้เฉพาะกับคดีร้ายแรงสุดเท่านั้น ทั้งนี้ในการพิจารณาคดีให้ศาลรับฟังข้อต่อสู้ของจำเลยในแง่ความจริงและประโยชน์ต่อสาธารณะของข้อมูลด้วย และไม่ควรอนุญาตให้ใช้บทลงโทษที่รุนแรงเกินไป" แอมเนสตี้ฯ ระบุ

แอมเนสตี้ฯ ระบุว่า อานดี้ ฮอลล์เป็นหนึ่งในนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนในประเทศไทยที่ถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาททางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา ตัวอย่างเช่น มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามคนรวมทั้งอดีตและประธานคนปัจจุบันของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย ซึ่งถูกแจ้งความในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาโดยหน่วยงานของทหาร เป็นผลสืบเนื่องมาจากการตีพิมพ์เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ ของเจ้าหน้าที่ทหาร บริษัทเหมืองทองคำก็ได้ฟ้องคดีในลักษณะเดียวกันอีกสิบกว่าคดีเพื่อเอาผิดกับนักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว และชาวบ้าน รวมทั้งเด็กผู้หญิงอายุ 15 ปี อันเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวต่อต้านการทำเหมืองแร่ในภาคเหนือของไทย

"แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอกระตุ้นรัฐบาลไทยให้ดำเนินมาตรการทุกประการที่จำเป็น เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้บุคคลและกลุ่มสามารถแสดงความเห็นได้อย่างสงบ และทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยไม่ต้องหวาดกลัวกับการคุกคาม การข่มขู่หรือการตอบโต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ไม่ให้ถูกดำเนินคดีและถูกจำคุก โดยการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา และให้ตัดความผิดทางอาญาของการหมิ่นประมาทออกไป"

 

ข้อมูลพื้นฐาน
ข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี คุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งสิทธิที่จะเผยแพร่ข้อมูล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกครอบคลุมการแสดงออกในทุกรูปแบบ รวมทั้งสิทธิที่จะสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชน การจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกใดๆ ต้องรองรับด้วยกฎหมาย และให้ทำเท่าที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น เพื่อปกป้องความมั่นคงของรัฐ หรือความเป็นระเบียบเรียบร้อย การสาธารณสุขหรือศีลธรรมอันดี และต้องเป็นมาตรการจำกัดสิทธิในขั้นต่ำและมีสัดส่วนเหมาะสมต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวเท่านั้น

ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (UN Declaration on Human Rights Defenders)เน้นย้ำพันธกรณีของรัฐที่จะต้องคุ้มครองบุคคลและกลุ่มซึ่งปกป้องสิทธิมนุษยชนให้ปลอดพ้นจาก “ความรุนแรง การคุกคาม การตอบโต้ การเลือกปฏิบัติทั้งในทางนิตินัยหรือพฤตินัย แรงกดดันหรือการกระทำโดยพลการใดๆ” ในปี 2558 ประเทศไทยลงมติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่เรียกร้องให้รัฐต่างๆ “ใช้มาตรการทั้งปวงที่จำเป็นเพื่อประกันสิทธิและความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านความเห็น การแสดงออก การชุมนุมและการสมาคมอย่างสงบ”

ในเดือนพฤษภาคม 2559 หน่วยงานสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานระดับชุมชน 12 แห่งเผยแพร่แถลงการณ์ แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับจำนวนคดีหมิ่นประมาททางอาญาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเรียกร้องให้เพิ่มการคุ้มครองให้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท