พิษสวาท: การปรับตัวของละครไทยแนวชาตินิยมสุดโต่ง [spoil alert]

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เพิ่งจะจบกันไปสดๆ ร้อนๆ กับละครดังเรื่อง “พิษสวาท” แห่งช่อง GMM One ที่เรียกเสียงชื่นชมจากคนดูได้อย่างถล่มทลาย ทั้งเนื้อเรื่องที่เข้มข้นตามแบบฉบับ “ละครไทย หัวใจรักชาติ” ผนวกกับความสวยและความสามารถในการแสดงของ นุ่น วรนุช จึงไม่น่าแปลกใจที่ละครเรื่องนี้จะกลายเป็นละครแนะนำของท่านผู้นำประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกทั้งยังฝากบอกไปถึงเหล่าผู้จัดทั้งหลายให้ควรหันมาทำละครแนวนี้แทนละครตบตี ริษยาอาฆาต

หากดูผิวเผิน ละครเรื่องนี้ก็ไม่ต่างจากละครไทยทั่วไปที่มุ่งส่งเสริมแนวคิดเรื่องเวรกรรม และชาตินิยมอย่างล้นเกินจนแทบจะอาเจียนออกมา ยิ่งเป็นฝีมือการประพันธ์ของทมยันตีด้วยแล้ว กลิ่นอายของแนวคิดชาตินิยมยิ่งทวีเข้มข้น เส้นเรื่องหลักของละครเรื่องนี้ก็ไม่มีอะไรแปลกใหม่ กล่าวคือมีความขัดแย้งระหว่าง “นักการเมืองดี-นักการเมืองเลว” “ความรักในชาติ-ความรักในเชิงชู้สาว” “การให้อภัย-ความริษยา” แต่เหตุที่ละครเรื่องนี้มีความน่าสนใจคือ มันมีคู่ขัดแย้งใหม่ที่ไม่ค่อยปรากฏมากนักในละครไทยแนวชาตินิยมเรื่องอื่นๆ นั่นคือ “ความเป็นไทย-ความเป็นสมัยใหม่” ซึ่งแสดงออกมาอย่างชัดเจนผ่านตัวละคร “เชษฐา”

ก่อนจะกล่าวถึงเชษฐา เราควรจะต้องเข้าใจเนื้อเรื่องของละครเรื่องนี้เสียก่อน หากท่านผู้อ่านติดตามชมละครเรื่องนี้อยู่แล้วก็สามารถข้าม 2 ย่อหน้าจากนี้ไปได้ ละครเรื่องพิษสวาทเป็นเรื่องราวของ “อุบล” นางรำหลวงสมัยปลายอยุธยาผู้เป็นเมียพระราชทานของ “พระอรรค” ขุนพลเอกผู้รักในแผ่นดินเกิด อุบลถูกพระอรรคล่อลวงให้ไปยังกรุสมบัติแผ่นดินและสาบานว่าจะปกป้องรักษาสมบัติเหล่านั้นด้วยชีวิตและวิญญาณ ก่อนจะถูกพระอรรคบั่นคอให้กลายเป็น “โสมเฝ้าทรัพย์แผ่นดิน” คอยเข่นฆ่าเหล่าโจรผู้ร้ายผู้มุ่งหมายจะขโมยกรุสมบัติ อุบลทำหน้าที่นี้อยู่ 249 ปี จนกระทั่งพระอรรคกลับชาติมาเกิดเป็น “อัคนี” อาจารย์สอนวิชาโบราณคดีผู้หลงใหลในประวัติศาสตร์อยุธยา อุบลจึงอุทธรณ์ต่อพระยายมบาล ขอให้นางได้พาอัคนีกลับมาใช้กรรมที่ทำกับเธอไว้เมื่อชาติปางก่อน โดยในระหว่างเรื่อง อุบลก็ต้องทำหน้าที่เข่นฆ่า (เธอใช้คำว่า “พิพากษา”) เหล่าโจรผู้ร้าย และนักการเมืองโกงกินชาติที่หวังครอบครองสมบัติไปด้วยพร้อมๆ กัน

เชษฐา คือเพื่อนของอัคนีในชาติภพปัจจุบัน เขาเป็นนักนิติเวชผู้เชื่อในเหตุผลและวิทยาศาสตร์ เชษฐาต้องเข้าไปพัวพันกับคดีฆาตกรรมหลายคดีที่อุบลได้กระทำการพิพากษา อุบลถือเป็นผีที่มีความสร้างสรรค์ในการฆ่าสูงมาก วิธีการฆ่าของเธอไม่เคยซ้ำกันแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งจับรัดคอด้วยโซ่ตรวน จับตัดแขนขาด้วยเลื่อยไฟฟ้า จับยัดใส่เตาอบจนอวัยวะภายในสุกหมด รุมฉกด้วยงูพิษ รุมต่อยด้วยแมลงมีพิษ หรือบทจะหมดมุกก็เสกให้หัวใจวายตายเสียดื้อๆ ซึ่งเชษฐาเชื่อว่าอุบลคือฆาตกร แม้เขาจะไม่รู้ว่าเธอฆ่าคนเหล่านั้นได้อย่างไรเพราะมันขัดกับหลักวิทยาศาสตร์อย่างสิ้นเชิง แต่เชษฐาก็ไม่เคยลดละความพยายาม เขาพยายามติดตามอุบลเพื่อหาหลักฐานมามัดตัวเธอ ในระหว่างการติดตามนั้นเขาก็ต้องพบเจอเรื่องเหนือธรรมชาติอยู่หลายครั้ง อย่างเช่น เมื่อเขาพูดถึงอุบลเธอจะก็จะมาปรากฏตัวอยู่หลังเขา รูปภาพของอุบลที่เขาถ่ายด้วยตนเองกลับเสียหมด หรือรถของอุบลที่เขาขับตามมาติดๆ อยู่ดีๆ ก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย เป็นต้น ฝ่ายอัคนีที่รู้ว่าอุบลเป็นผีเฝ้าทรัพย์ก็คอยเตือนเชษฐาว่าให้อยู่ห่างจากเธอโดยบอกว่าเธอเป็นผี แต่ด้วยความเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์ เชษฐาจึงไม่เคยฟัง และพาลหาว่าอัคนีพูดจาเพ้อเจ้อ จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้เห็นอุบลสำแดงอิทธิฤทธิ์ในชุดนางรำกระทำการ “พิพากษา” เหล่าโจรผู้ร้ายอย่างเหี้ยมโหด เขาถึงจะยอมรับว่าอุบลเป็นผีจริงๆ 

อันที่จริงแล้ว เชษฐาเป็นตัวละครที่สามารถตัดออกไปจากละครเรื่องนี้ได้เลย โดยแทบไม่กระทบเนื้อเรื่องหลักแม้แต่น้อย การดำรงอยู่ของเชษฐามีลักษณะหลักลอย คือไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับตัวละครหลักหรืออุบลเลย ในขณะที่ตัวละครตัวอื่นมักมีบทบาทอยู่ในทั้งสองชาติภพ คือมีชีวิตอยู่ในสมัยอยุธยา และกลับชาติมาเกิดใหม่ในยุคปัจจุบัน แต่เชษฐากลับไม่มีตัวตนใดๆ ในสมัยอยุธยาเลย บทบาทหลักของเชษฐาคือเป็นตัว “อุปสรรค” ในความรักของอัคนีกับอุบล เพราะในขณะที่อัคนีเกิดความหลงใหลและสงสัยในตัวอุบล ฝ่ายเชษฐาก็มักจะคอยห้ามปรามให้เขาอยู่ห่างๆ จากอุบลโดยบอกว่าเธอคือฆาตกร แม้ในวันที่อุบลประกาศว่าจะมารับวิญญาณอัคนีไปพิพากษา เขาก็ยังพยายามทุกวิถีทางที่จะพาอัคนีหนีจากน้ำมือของผีนางอุบล จึงไม่แปลกที่บรรดาแฟนละครเรื่องนี้จะมีทัศนคติแง่ลบต่อเชษฐา โดยมองว่าว่าเขาเป็น “ตัวน่ารำคาญ” “คนขี้เสือก” หรือแม้กระทั่ง “เด็กเพิ่งเกิด” (โดยนัยยะว่าตัวละครอื่นเคยเกิดในสมัยอยุธยาแทบทุกคน) แต่ตัวละครขี้เสือกนี่เองที่เป็นตัวส่งข้อความที่สำคัญที่สุดของละครเรื่องนี้ เพราะเขาคือตัวแทนของ “ความเป็นสมัยใหม่” ที่ปะทะกับ “ความเป็นไทย” ที่สุดท้ายก็ต้องพ่ายต่อความไม่มีเหตุผลของประเทศนี้อยู่ดี

ความเป็นไทยที่สะท้อนออกมาในละครเรื่องพิษสวาทไม่ใช่ความเป็นไทยที่คับแคบ ตายด้านดั่งที่มักปรากฏในละครชาตินิยมทั่วไป ละครเรื่องนี้เสนอว่าเราสามารถเห็นต่างจากขนบดั้งเดิมได้ โต้เถียงได้ ใช้เหตุผลได้ เชื่อในหลักสากลได้ แต่สุดท้ายเราจะไปชนกับเพดานบางอย่างที่บอกเราว่า การใช้เหตุผลของเราต้องสิ้นสุดแค่นี้ ต่อจากนี้ไปหากเราอยากจะบรรลุในสิ่งที่เรามุ่งหมาย เราต้องยอมเล่นตามกติกาที่รัฐไทยเป็นคนกำหนด ฉากหนึ่งที่ข้าพเจ้าประทับใจเชษฐาอย่างยิ่ง คือในช่วงใกล้ถึงวันที่อุบลจะมารับตัวอัคนีไปพิพากษา เชษฐารู้ความจริงแล้วว่าอุบลนั้นเป็นผีซึ่งดำรงอยู่เหนือวิทยาศาสตร์และเหตุผลใด แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังยืนยันที่จะใช้เหตุผล กับผีที่ไม่มีเหตุผลทั้งในเชิงการดำรงอยู่และวิธีคิด โดยได้กล่าวกับผีอุบลว่า

“ผมเข้าใจนะ ว่าพระอรรคเขาทำโหดร้ายกับคุณมาก แต่มันเป็นเรื่องของชาติที่แล้วนะครับ มันควรจะจบไปแล้ว พี่อัคนีไม่ควรจะต้องไปเกี่ยวข้องอะไรอีก”

ประโยคดังกล่าวอาจจะถือว่าเป็นประโยคที่มีเหตุผลที่สุดของเรื่องนี้เลยก็ว่าได้ เพราะเหตุผลที่อัคนีมักใช้อ้อนวอนให้อุบลอภัยแก่เขามักวนเวียนอยู่กับคำว่า “พระอรรคเขารักคุณ ผมรู้สึกได้” ซึ่งเป็นเหตุผลที่สิ้นคิดสิ้นดี เพราะคนรักกันที่ไหนจะบั่นคอคนที่ตัวเองรักได้ แต่ถึงกระนั้น เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็น “ผีละครไทย” อีกทั้งยังเป็นผีที่มีแรงแค้นริษยาข้ามภพภูมิ เหตุผลของเชษฐาก็ไม่สามารถทำอะไรอุบลได้ เธอยืนยันจะมารับวิญญาณของอัคนีในวันเดียวกับที่เธอถูกพระอรรคบั่นคอเมื่อ 249 ปีที่แล้ว

ถึงแม้อัคนีเองจะยอมรับชะตาของตัวเองที่จะต้องชดใช้กรรมให้กับผีนางอุบลแล้ว แต่เชษฐาก็ยังไม่ยอมอ่อนข้อให้ผีที่ไร้เหตุผลตนนี้ และไม่ยอมทนเห็นเพื่อนรักของเขาต้องชดใช้กรรมในสิ่งที่ตนไม่ได้ก่อ เขาพยายามลักพาตัวอัคนี แต่ก็ถูกผีนางอุบลเข้าขัดขวางจนเกิดอุบัติเหตุ ทำให้วิญญาณของเชษฐาและอัคนีลงไปพบกับพระยายมบาลผู้ที่ทำการพิพากษาคดีความระหว่างอัคนีและอุบล ในระหว่างทาง เชษฐาต้องพบกับทุกสิ่งทุกอย่างที่วิทยาศาสตร์และเหตุผลไม่สามารถอธิบายได้ ทั้งนรกภูมิต่างๆ ดวงวิญญาณมากมาย รวมไปถึงตัวพระยายมบาล แต่ถึงกระนั้นความเชื่อมั่นในเหตุผลของเขาก็ไม่มีท่าทีว่าจะลดละลงแต่อย่างใด

เมื่อการไต่สวนเริ่มขึ้น นางอุบลก็เริ่มให้การแก่พระยายมบาล นางเริ่มจากการเล่าถึงความทุกข์ทรมานที่นางต้องเจอ และความเลวของพระอรรค โดยนางอ้างว่าเขาหลอกใช้ความรักที่นางมีมาล่อลวงนางให้ลงไปยังกรุสมบัติและบั่นคอนางให้กลายเป็นผีเฝ้าสมบัติ ส่วนตัวพระอรรคกลับหนีไปเสพย์สุขกับหญิงอื่น ในขณะนั้นเอง “คนเสือกทะลุนรก”หรือ เชษฐา ก็ได้พูดแทรกขึ้นมาจนกลายเป็นบทสนทนาที่ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินจากละครไทยเรื่องอื่นๆ มาก่อน

เชษฐา: ข้าแต่ผู้ทรงความยุติธรรม เรื่องนี้พี่อัคไม่ผิด มีใครบ้างเล่าที่จดจำเรื่องราวในชาติที่แล้วของตัวเองได้พระเจ้าข้า
พระยายมบาล: เจ้าไม่มีสิทธิ์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดี
เชษฐา: กระหม่อมแค่ต้องการซักค้าน เพื่อให้เกิดความกระจ่างแก่คดีพระเจ้าข้า
พระยายมบาล: เจ้าคิดว่าความฉลาดของเจ้าจะช่วยเหลือเพื่อนได้อย่างนั้นรึ?
เชษฐา: แต่เราควรทำตามกฎแห่งกระบวนการยุติธรรม

คนบ้าประเภทไหนกันมาเรียกหากฎแห่งกระบวนการยุติธรรมจากพระยายมบาล? แต่แทนที่พระยายมจะเรียก รปภ. มาลากตัวเชษฐาออกและพิจารณาคดีต่อ เขากลับรับฟังและแต่งตั้งให้เชษฐาเป็นทนายในการพิจารณาคดี เรียกได้ว่าพระยายมบาลผู้ซึ่งควบคุมกฎแห่งกรรม ยังต้องยอมรับกับกฎแห่งกระบวนการยุติธรรม และเชษฐาก็ทำหน้าที่เป็นทนายที่ดีทีเดียวดังเช่นบทการซักค้านต่อไปนี้

เชษฐา: ข้าแต่พระองค์ พี่อัคจำอดีตไม่ได้ พยานที่จะยืนยันก็ไม่มี การพิจารณาคดีจะทำได้อย่างไรพระเจ้าข้า
อุบล:  เรานี่ไงพยาน เรายืนยันด้วยตัวของเราเอง
เชษฐา: ผู้กล่าวหาจะอ้างตัวเป็นพยานไม่ได้
อุบล: ด้วยสัจจะวาจาแห่งเรา…
เชษฐา: ไม่ได้! คำให้การจากความพยาบาทของคุณ จะน่าเชื่อถือได้อย่างไร
อุบล: เรา ผู้ถูกลวงไปแต่เพียงผู้เดียว จะหาวิญญาณอื่นใดรับรู้ไม่
เชษฐา: งั้นเราจะรอจนกว่าคุณจะหาพยานได้

เชษฐาในฉากว่าความต่อหน้าพระยายมบาล

แต่จุดนี้นี่เองที่เชษฐาจำต้องละทิ้งวิทยาศาสตร์และเหตุผลที่เขาเชิดชู และยอมรับในตรรกะของ “กฎแห่งกรรม” เพราะตลอดการพิจารณาคดี แทนที่เชษฐาจะโต้แย้งให้อัคนีไม่ต้องรับผิดใดๆ เพราะเป็นเรื่องของชาติที่แล้ว เขากลับพยายามโต้เถียงว่าจริงๆ แล้ว พระอรรครักอุบล และไม่ได้หนีไปกับหญิงอื่นตามที่ถูกกล่าวหา เมื่อการพิจารณาคดีผ่านไปได้ซักพัก พระยายมบาลก็แนะนำให้อุบลพาอัคนีไปยังกรุสมบัติที่เขาบั่นคอเธอจนเป็นเหตุให้อัคนีจดจำเหตุการณ์ทั้งหมดในอดีตชาติได้อย่างแม่นยำ และเชษฐาก็หายออกไปจากบทสนทนาโดยสิ้นเชิง คำถามก็คือ หากพระยายมบาลรู้วิธีการฟื้นความทรงจำให้อัคนี เหตุใดจึงไม่ใช้เสียแต่แรก เหตุใดจึงต้องให้เชษฐาออกมาพร่ำบ่นอยู่ได้นานสองนาน หรืออาจเพราะละครเรื่องนี้ต้องการนำเสนอภาพว่าวิธีคิดแบบไทยไม่ได้คร่ำครึหรือปิดกั้นแนวคิดสมัยใหม่เสมอไป หากแต่เปิดโอกาสให้เราสามารถใช้เหตุผลโต้เถียงได้ แต่ก็ต้องยอมรับกติกาบางประการณ์ที่รัฐไทยเป็นคนกำหนด

เราสามารถตีความฉากที่ยกมาข้างต้นได้ว่าการที่เชษฐาสามารถบรรลุเป้าหมายของเขาได้ (คือการช่วยอัคนี) เพราะเขายอมปล่อยวางในหลักการที่เขายึดมั่น และเล่นตามกติกาที่ “กฎแห่งกรรม” เป็นผู้กำหนด เชษฐาต้องยอมรับการมีอยู่ในสิ่งที่เขาปฏิเสธมาโดยตลอด (คือผี วิญญาณ และเวรกรรม) และต้องยอมเล่นตามกติกาบ้าบอที่เขาไม่ได้เป็นผู้กำหนด ไม่ต่างอะไรจากเหล่าผู้ที่สู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศสารขันธ์แห่งนี้ ละครพิษสวาทกำลังสนทนากับเราว่า “หากอยากจะบรรลุตามเป้าหมาย พวกคุณต้องยอมรับการดำรงอยู่ของความไม่สมเหตุสมผลบางอย่างของรัฐไทย” ซึ่งรวมถึงระบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยม จารีตประเพณี คุณค่าเรื่องความดีงาม และอื่นๆ อีกมากมายที่เรามองว่าเป็น “ผี” หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยและการใช้เหตุผลทั้งปวง แต่ผีตนนี้ก็เป็นผีที่ใจกว้างพร้อมรับฟังเราเสมอ ในทางกลับกัน หากเราไม่เชื่อว่าผีมีจริง หรือบังอาจล่วงละเมิดผี เราก็อาจจะถูกผี “พิพากษา” ได้เอาง่ายๆ ซึ่งวิธีการที่ผีในชีวิตจริงใช้พิพากษานั้นก็มีความหลากหลายพอๆ กับวิธีการฆ่าของผีนางอุบล ทั้งมาตรา 44 คำสั่ง คสช. ที่ 3/2558, 13/2559, พรบ. คอมพิวเตอร์, มาตรา 112 และอื่นๆ อีกมากมาย

พิษสวาทจึงไม่ใช่ละครที่ปลูกฝังแนวคิดชาตินิยมแบบดาษๆ ไร้ชั้นเชิง ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าฉากต่างๆ ที่ยกมามีการแต่งเติมจากบทต้นฉบับหรือไม่ แต่การนำเสนอออกมารูปลักษณะดังกล่าวก็แสดงให้เห็นถึงถึงการปรับตัวของละครไทยเพื่อรับมือกับแนวคิดสมัยใหม่ที่กำลังท้าทายความคิดแบบเก่าได้เป็นอย่างดี ละครเรื่องนี้จึงไม่ได้แค่ส่งข้อความไปสู่เหล่าคนไทยหัวใจรักชาติทั้งหลาย แต่ยังสนทนากับบรรดาแอคทิวิสต์ ฝ่ายซ้าย ฝ่ายประชาธิปไตย และผู้เชิดชูในคุณค่าสากลทั้งหลาย (ที่รัฐไทยไม่เคยเชิดชู) ว่ารัฐไทยพร้อมจะเปิดโอกาสให้กับคุณค่าใหม่ๆ เสมอ แต่มันก็ต้องดำรงควบคู่ไปกับคุณค่าแบบเก่าด้วย

0000

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท