Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ตัวตุ่น Krtek ตัวละครจากอนิเมชั่นชื่อเดียวกัน
โดย Zdeněk Miler 
นักวาดการ์ตูนชาวเช็ก 

เป็นครั้งแรกที่ตัวตุ่นจากเช็กได้มาสร้างความบันเทิงที่สถาบันฝรั่งเศสในย่างกุ้ง ตัวตุ่นอันเป็นตัวละครเด่นของอนิเมชั่นจากเช็กที่โด่งดังไปทั่วโลกมารับบทเป็นนกต่อเพื่อหลอกล่อหน่วยข่าวกรองในพม่า ซึ่งกองกำลังทหารเรืองอำนาจอยู่ ตอนนั้นคือปี 2005 ซึ่งรัฐบาลทหารทรงพลังมากเสียจนดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรจะใช้ต่อกรกับพวกเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นการคว่ำบาตรจากทางตะวันตกหรือแรงกดดันจากสหประชาชาติ เราเคยคิดว่าพม่าได้มาถึงจุดตกต่ำที่สุดแล้ว แต่ก็ยิ่งต้องประหลาดใจเมื่อพบว่ายังมีจุดที่ตกต่ำลึกลงเข้าไปได้อีก 

ฉันได้เริ่มสอนภาพยนตร์ให้คนท้องถิ่นในพม่าก่อนหน้านั้นเป็นเวลาสองปี แต่เนื่องจากมีปัญหามากมายกับตำรวจของกองทัพที่มาห้ามกิจกรรมฉายหนัง จนกระทั่งผู้ที่มาเข้าร่วมงานต้องวิ่งหนีเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกสอบสวน ฉันจึงตัดสินใจจะให้มีสถาบันต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพื่อที่ผู้มาร่วมงานจะได้รู้สึกปลอดภัยขึ้น ฉันโทรหาเพื่อนร่วมงานเก่าแก่จากสถาบันภาพยนตร์แห่งชาติของเช็ก (Czech national film school: FAMU) เพื่อขอความช่วยเหลือให้โปรแกรมของเราในพม่า ชาวเช็กผู้เคยผ่านช่วงเวลาที่ถูกรัฐบาลทหารปกครองมาก่อนได้ตอบตกลงทันที สถานทูตเช็กและท่านทูตก็สนับสนุนความคิดนี้ทันทีเช่นกัน และท่านทูตจะมาร่วมงานด้วย ตอนแรกคณบดีจาก FAMU จะมาฉายหนังเกี่ยวกับการต่อสู้ของผู้คนธรรมดาต่อเผด็จการ ซึ่งเช็กมีหนังกลุ่มนี้หลายเรื่อง และแบ่งปันประสบการณ์ ว่าพวกเขาจะช่วยอะไรได้อีกบ้าง แต่เราจะทำอย่างนั้นได้ยังไงกัน? ฉันขอใช้สถาบันฝรั่งเศสในย่างกุ้งเป็นสถานที่จัดงานฉายหนัง และผู้อำนวยการที่กล้าหาญก็อนุญาต แม้ว่าพวกเขาจะไม่เคยจัดงานอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับฝรั่งเศสมาก่อนเลยก็ตาม ดังนั้นงานนี้จึงกลายเป็นความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงานที่เชื่อว่าศิลปวัฒนธรรมจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ก่อนงานฉายหนังไม่นาน วาคลาฟ ฮาเวล (Vaclav Havel) นักต่อสู้ที่กลายมาเป็นประธานาธิบดีเช็ก ผู้ซึ่งเคยเสนอให้นางอองซานซูจีเป็นผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแทนตนเองเมื่อเขาเกือบจะได้รับรางวัลนั้น และได้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตยของพม่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ได้เรียกร้องให้สหประชาชาติแก้ไขปัญหาในพม่าร่วมกันกับเดสมอนต์ ตูตู (Desmond Tutu) มิตรสหายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยจากอาฟริกาใต้ ผู้เคยได้รับรางวัลโนเบล และด้วยการเคลื่อนไหวนี้ ฮาเวลและตูตูจึงถูกนับเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งระดมนักเขียนและศิลปินซึ่งเป็นกระบอกเสียงทั้งหมดของตนผลิตงานเพื่อประณามทั้งสองคนนี้ ดังนั้น สื่อมวลชนจึงเต็มไปด้วยบทความ บทกวี (แม้กระทั่งไฮกุ!)และการ์ตูนซึ่งกล่าวถึงชายสองคนนี้ว่า “พยายามก่อกวนความสงบเรียบร้อยของพม่า แต่จะไม่มีทางสำเร็จ เพราะพม่าไม่ได้เป็นพวกน้ำตื้น” และท่านทูตเช็กก็เคยเป็นที่ปรึกษาด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศให้กับฮาเวล เราจึงต้องคิดวิธีการถึงสองสามชั้นเพื่อให้แน่ใจว่าผู้เข้าร่วมงานจะได้รื่นรมย์กับภาพยนตร์โดยไม่ถูกข่มขู่แต่อย่างใด เราจึงตัดสินใจเน้นภาพยนตร์อนิเมชั่น และสันนิษฐานว่าทหารจะมองว่าอนิเมชั่นเป็นเรื่องเด็กๆ และเพื่อเพิ่มความปลอดภัยขึ้นอีก เราจึงจัดโปรแกรมให้เริ่มจากการ์ตูนสำหรับเด็ก และเชิญเด็กๆ มาร่วมกิจกรรมในช่วงเช้าด้วย

ในวันจัดงาน ความพยายามทั้งหลายก็ได้บรรลุเป้าหมาย หน่วยข่าวกรองทหารมาร่วมโปรแกรมเช้า มองเด็กๆ วิ่งเล่นกับตัวตุ่นที่น่ารักที่ฉายบนจอ ดูเหมือนว่าพวกเขาไม่อยากเสียเวลาอีกต่อไปกับเรื่องพวกนี้และจากไปในที่สุด หลังจากทหารไปแล้ว กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เด่นๆ ก็เริ่มมาถึงงาน รวมถึงมินโกนาย (Min Ko Naing) ที่เพิ่งจะพ้นโทษจากเรือนจำหลังจากถูกขังเดี่ยวมาถึง 15 ปี พวกเขาต่างมาเพื่อสื่อสารถึงฮาเวลผ่านท่านทูต เพื่อขอบคุณการสนับสนุนเส้นทางสู่ประชาธิปไตยในพม่า และอภิปรายว่าชาวเช็กจะช่วยสนับสนุนอะไรต่อได้อีกบ้าง ดังนั้นเราจึงได้สร้างจุดเล็กๆ ในงานเพื่อใช้พูดคุยทางการเมืองอย่างลับๆ 

เป็นสถานที่ที่ไม่ธรรมดาจริงๆ บนจอมีหุ่นกระบอกที่น่ารักและตัวละครวิ่งเล่นไปโดยรอบ แต่หลังการฉายเป็นการพูดคุยอย่างจริงจังที่ต่อมาได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่า

แต่อนิเมชั่นจากเช็กก็ไม่ได้เป็นแค่เรื่องเด็กๆ ที่มีแต่น่ารักหรือสวยงาม หรือเป็นแค่ผลผลิตจากความเพ้อฝันและจินตนาการ หากแต่เป็นไปในทางตรงกันข้าม ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่เกือบทั้งหมดเคยทำงานภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารที่เกรี้ยวกราด ไม่ว่าจะเป็นพวกนาซีหรือคอมมิวนิสต์ การเคลื่อนไหวและการเดินทางของพวกเขาเคยถูกจำกัดอย่างเข้มงวด ศิลปินจำนวนมากไม่สามารถแสดงงานของตนเองในที่สาธารณะได้ และบางคนต้องอพยพไปทำงานต่างประเทศ ตัวละครที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการของอนิเมชั่นจากเช็กจึงอาจเป็นผลมาจากข้อจำกัดที่บีบบังคับผู้สร้างงานเอาไว้ หนังหลายเรื่องมีการวิพากษ์และเสียดสีการเมืองอย่างรุนแรง ตัวละครหลายตัวของอนิเมชั่นจากเช็กไม่ใช่พวกมองโลกในแง่ดีแบบซื่อๆ แต่เป็นผู้สังเกตการณ์โลกอย่างระแวงสงสัยยิ่ง ภายใต้ภาพที่สวยงามและมีท่วงทำนองราวกับบทกวี มีเงาสะท้อนของศิลปินผู้เคยทุกข์ทนและเป็นประจักษ์พยานถึงความโหดร้ายของเผด็จการทหาร ภาพยนตร์เรื่อง “The Hand” (1968) ซึ่งเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของศิลปินหุ่นกระบอก  Jiří Trnka เป็นภาพเหมือนที่เศร้าสร้อยของศิลปินผู้ถูกรัฐบาลทหารบังคับให้สร้างอนุสรณ์ให้ ผลงาน “The Emperor's Nightingale” (1949) นั้นเกี่ยวกับจักรพรรดิที่รู้สึกทรงอำนาจมากจนสามารถจะได้ทุกสิ่งที่ต้องการ งานของ Jan Švankmajer เรื่อง “The Pendulum, the Pit and Hope” (1983) เป็นภาพฝันร้ายของการถูกทรมานและฆาตกรรม บางภาพอาจสวยงามเสียจนคุณปรารถนาให้โลกเป็นเช่นนั้น แต่อนิเมชั่นจากเช็กจะเป็นสิ่งเตือนที่เจ็บปวดว่าโลกไม่ได้เป็นเช่นนั้น น่าขันที่ว่าผลงานชั้นเลิศเหล่านี้คงไม่ถูกผลิตขึ้นมาถ้าปราศจากการดำรงอยู่ของเผด็จการ กล่าวได้อีกอย่างคือผลงานเหล่านี้คือสิ่งที่สวยงามที่สุดที่เกิดขึ้นจากเผด็จการ 

หนึ่งในนักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้มาพบกับท่านทูตเช็กถึงกับหยุดนิ่งหน้าจอโดยไม่ละสายตา “นี่มันอะไรกัน” เขาถาม “ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน” เขาอยู่ดูจนจบ

ไม่นานมานี้ฉันได้พบกับบางคนที่มาร่วมงานวันนั้นด้วย โชคดีที่พม่าในวันนี้ทำให้เราสามารถหัวเราะถึงช่วงเวลาที่ตึงเครียดในอดีตได้แล้ว ฉันบอกพวกเขาว่า ฉันจะจัดงานเทศกาลอนิเมชั่นเช็กที่ไทยในเร็วๆ นี้ พวกเขาหัวเราะออกมาเลย “แน่สิ คุณจัดเพราะตอนนี้เมืองไทยก็มีรัฐบาลทหาร”

บางทีก็อาจจะเป็นอย่างนั้น บางทีอาจจะเป็นเหมือนเดจาวูจากเรื่องเมื่อกว่าทศวรรษที่แล้ว แต่มีอย่างหนึ่งที่ต่างไป คือไม่มีวาคลาฟ ฮาเวล ตอนนี้ไม่มีนักการเมืองคนใดในโลกที่จะเสียสละเกียรติยศของตนเองเพื่อพยายามปกป้องประชาธิปไตยในประเทศอื่นที่เขาไม่เคยแม้แต่จะไปเยือน ไม่มีนักการเมืองที่เป็นปากเสียงแทนบางคนหรือบางประเทศโดยไม่มีผลประโยชน์ทางการเงินหรือทางการเมือง ไม่มีแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว และเผด็จการทหารที่ยังคงอยู่ในทุกวันนี้ก็ได้รับประโยชน์จากการหายไปของสิ่งเหล่านั้น มีเพียงหนึ่งในไม่กี่อย่างที่ยังเหลือให้เราทำได้ คือเรียนรู้จากการผลิตงานทางวัฒนธรรม

เทศกาลอนิเมชั่นจากเช็กจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 กันยายน (เริ่มเวลาบ่ายโมงตรงทุกวัน) ที่รีดดิ้งรูม 
คลิกเพื่อดูรายละเอียด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net