พวงทอง ภวัครพันธุ์: ความขัดแย้งและวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (aculture of impunity) หรือการที่ผู้กระทำผิดละเมิดสิทธิของผู้อื่นแล้วไม่ต้องรับผิด (accountability) เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่กับสังคมและการเมืองไทยมายาวนาน เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516, การสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาเลือด 2535, และเมษา-พฤษภามหาโหด 2553 ล้วนจบลงโดยผู้มีอำนาจที่สั่งการใช้ความรุนแรงไม่เคยถูกนำตัวมาดำเนินคดี

การลอยนวลพ้นผิดเป็นโรคร้ายอันเรื้อรังของสังคมไทยที่ด้านหนึ่งเกิดจากการที่คนส่วนใหญ่เฉยชาต่อความอยุติธรรม และบ่อยครั้งยังมีผู้ทรงคุณวุฒิคุณธรรมในสังคมคอยตักเตือนให้ผู้ที่เรียกร้องทวงถามความยุติธรรมต้องรู้จัก “ลืม” “ให้อภัย” “อย่ารื้อฟื้น” “อย่าแก้แค้น” “อย่าทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย” ฯลฯ หากจะมีความพยายามคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อเกิดขึ้นบ้าง ก็จำกัดอยู่แค่การยอมให้มีการเยียวยาในรูปแบบของการจ่ายเงินชดเชยเท่านั้น ใครที่คิดเรียกร้องมากกว่านั้นมักถูกมองว่าเป็นพวกหมกมุ่นกับอดีต เจ้าคิดเจ้าแค้น ไม่รู้จักความพอดี ฯลฯ ภาวะดังกล่าวได้ทำให้คนไทยเคยชินจนไม่รู้สึกว่านี่คือภาวะ “ผิดปกติ” ที่ถูกทำให้เป็นเรื่อง “ปกติ” ของสังคมไทย ภาวะดังกล่าวทำให้ผู้ที่ต้องการเห็นความยุติธรรมต่างรู้สึกหดหู่สิ้นหวังและยอมพ่ายแพ้ไปมากแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง การสืบทอดโรคเรื้อรังนี้ทำให้คนไทยรุ่นต่อๆ มา สุ่มเสี่ยงกับการถูกอำนาจรัฐละเมิดสิทธิในชีวิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะผู้มีอำนาจเชื่อว่าเครือข่ายอำนาจอุปถัมภ์จะสามารถทำให้พวกเขาลอยนวลพ้นผิดได้อย่างง่ายดาย การตัดสินใจใช้ความรุนแรงจึงไม่ใช่เรื่องต้องคิดมาก วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดจึงเป็นภาวะอัปลักษณ์ของสังคมไทยที่ยังมองไม่เห็นอนาคตว่าจะได้รับการแก้ไขได้อย่างไร

ความยากลำบากในการต่อสู้เพื่อแก้ไขวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดนี้ ไม่ได้มีสาเหตุเพียงเพราะคนส่วนใหญ่ให้คุณค่ากับเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมของสมาชิกร่วมสังคมน้อยเกินไป แต่ยังเป็นเพราะองคาพยพต่างๆ ในสังคมนี้ต่างช่วยกันอุปถัมภ์หล่อเลี้ยงไม่ให้ผู้มีอำนาจที่กระทำผิดต้องรับผิด จะเข้าใจความยากของเรื่องนี้ได้ เราจำเป็นต้องเข้าใจลักษณะของความขัดแย้งในสังคมที่ประชาชนไม่ได้มีสถานะที่เท่าเทียมกันภายใต้ “นิติรัฐแบบไทยๆ” การทำงานขององคาพยพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายของกลุ่มอำนาจภายใต้ระบบอุปถัมภ์ทั้งในระดับปัจเจกและสถาบัน กระบวนการยุติธรรม รวมทั้งอุดมการณ์และความเชื่อทางการเมืองแบบไทยๆ ที่มีต่อหลักการสิทธิมนุษยชน-ความยุติธรรม-ประชาธิปไตยที่มีรากเหง้าฝังลึกอยู่ในสังคมไทยมาเนิ่นนานเหล่านี้เป็นประเด็นที่บทความต่างๆ ที่ปรากฏใน ฟ้าเดียวกัน ฉบับ 40 ปี 6 ตุลา 2519 นี้ต้องการนำเสนอ

บทความ “ความขัดแย้งทางชนชั้นกับการเมืองมวลชนรอยัลลิสต์ : ความย้อนแย้งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับพระราชอำนาจนำในสังคมไทย” โดยเกษียร เตชะพีระ ได้อธิบายความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาด้วยมุมมองประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ ที่ในด้านหนึ่งเทียบเคียงได้กับแบบแผนวัฏจักรของการเปลี่ยนย้ายอำนาจนับตั้งแต่การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจไทยในกลางศตวรรษที่ 19 ที่นำไปสู่การก่อตัวและเติบโตของชนชั้นกลางที่กลายเป็นพลังท้าทายต่อระบอบการปกครองของชนชั้นนำเก่า ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาคมเลือด 2535 แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความขัดแย้งในปัจจุบันกลับแตกต่างจากอดีตอย่างยิ่ง เมื่อชนชั้นกลางกลับกลายเป็น “มวลชนรอยัลลิสต์” ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ร่วมมือกับกลุ่มอำนาจเก่าโค่นล้มระบอบประชาธิปไตย กลายเป็นมวลชนที่ว่าง่ายของคณะรัฐประหารในปัจจุบันในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกษียรยังชี้ว่าจุดมุ่งหมายของการรัฐประหารโดย คสช. คือการสถาปนาระเบียบทางสังคมแบบใหม่ขึ้นมาภายใต้การชี้นำกำกับของสถาบันที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ขยายอำนาจของรัฐและกองทัพเพื่อเตรียมรับการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ ตลอดจนเพื่อตอบสนองแผนพัฒนาเศรษฐกิจและกลุ่มทุน โดยไม่ต้องกังวลกับการต่อต้านจากขบวนการคนรากหญ้าในชนบทที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาดังกล่าว

เป็นที่ชัดเจนว่าขบวนการรอยัลลิสต์ กปปส. มีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาวะ “ทางตัน” ทางการเมืองเพื่อปูสู่การรัฐประหาร แต่การใช้ความรุนแรงของ กปปส. ที่ปรากฏอย่างโจ่งแจ้งนี้กลับไม่ได้เป็นปัญหาทางศีลธรรมให้กับเหล่าผู้สนับสนุนมากนัก และนี่เป็นประเด็นที่ประจักษ์ ก้องกีรติ ต้องการชี้ให้เห็นในบทความ “การลดทอนความเป็นมนุษย์ พื้นที่ทางศีลธรรม และความรุนแรง : จาก ‘ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป’ ถึง ‘กำจัดเสี้ยนหนามแผ่นดิน’ ว่าการใช้ความรุนแรงไม่จำเป็นต้องเกิดจากภาวะไร้ศีลธรรมเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม กปปส. ได้สร้างคำอธิบายเชิงศีลธรรมมารองรับ ซึ่งทำให้มวลชนของพวกเขาสนับสนุนหรือเฉยเมยต่อการใช้ความรุนแรงของฝ่ายตน ด้วยเหตุผลว่าเป็นการกระทำเพื่อปกป้องและรื้อฟื้นระบบศีลธรรมอันดีงามที่กำลังถูกคุกคามจากฝ่ายตรงข้ามที่ชั่วร้ายเลวทราม ประจักษ์ชี้ว่า ในยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์ วาทกรรมปกป้องชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์เป็นคำอธิบายหลักของขบวนการมวลชนฝ่ายขวา ทว่าในยุคของ กปปส. เกณฑ์ทางศีลธรรมกลับเน้นย้ำไปที่การต่อสู้ระหว่างฝ่ายอธรรมและธรรมะ โดยฝ่ายที่ถูกต้องสูงส่งกว่ามีสิทธิอำนาจในการปกครอง ส่วนฝ่ายที่ชั่วร้ายก็สมควรถูกขจัดออกไปด้วยวิธีการที่ไม่จำเป็นต้องอิงกับหลักการประชาธิปไตยและเสรีนิยม

ในบทความ “เมื่อความจริงคือจุดเริ่มต้นของความเป็นธรรม : กรณีศึกษาคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในบริบทความขัดแย้งชายแดนใต้” รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัชได้ชี้ว่ารัฐบาลที่กรุงเทพฯ ตระหนักถึงปัญหาความคับแค้นใจของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐ มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นหลายชุดเพื่อค้นหาความจริงในหลายกรณี และแม้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏออกมาจะชี้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดประชาชน การนำตัวเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีทางกฎหมายเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง อีกทั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเองก็ไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องการลงโทษทางกฎหมาย การคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนมีเพียงการเยียวยาด้วยการจ่ายเงินเป็นค่าชดเชยเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถทำให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้รู้สึกว่าพวกเขาได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง ประการสำคัญ ไม่สามารถป้องกันการละเมิดในอนาคตและยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดได้เลย

เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าการออกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นวิธีการมาตรฐานในการล้างผิดให้ผู้ก่ออาชญากรรมของรัฐไทย รวมทั้งในกรณี 6 ตุลาด้วย แต่ในบทความ “การละเมิดแบบเดิม แต่การปิดกั้นความจริงแบบใหม่ : รัฐและสิทธิมนุษยชนหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลา 2519” ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) ชี้ให้เห็นวิธีการใหม่ที่รัฐไทยใช้ปกป้องตนในกรณี 6 ตุลาคือ กรณีกระทรวงการต่างประเทศของไทยเขียนจดหมายตอบไปยังสมาชิกทั่วโลกขององค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International หรือ AI) ที่ส่งจดหมายถึงกระทรวงการต่างประเทศเรียกร้องขอข้อมูลเกี่ยวกับนักโทษการเมือง และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดการละเมิดสิทธิของนักโทษการเมือง ฮาเบอร์คอร์นเห็นว่ากระบวนการตอบจดหมายตามแนวทางระบบราชการนี้ แท้จริงคือการจงใจบันทึกประวัติศาสตร์ว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย และนี่เป็นวิธีการอันแยบยลที่ช่วยโอบอุ้มให้คนผิดไม่ต้องรับผิด และสามารถเดินหน้าละเมิดสิทธิของประชาชนได้ต่อไป

บทความ “ใบอนุญาตให้ลอยนวลพ้นผิด : องค์กรอิสระกับการสลายการชุมนุมเสื้อแดงปี 2553” โดยพวงทอง ภวัครพันธุ์ ชี้ว่าสิ่งที่ช่วยให้ผู้อำนาจที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมให้ลอยนวลพ้นผิดในกรณีนี้แตกต่างจากในอดีตอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะไม่ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับตนเองและพวกพ้องอย่างกรณีอื่นๆ แต่เราได้เห็นบทบาทอันแข็งขันขององค์กรต่างๆ ที่กล่าวอ้างถึง “ความเป็นอิสระ” และ “เป็นกลาง” และ “ดำรงความยุติธรรม” ได้สร้างคำอธิบายที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงของรัฐว่าเป็นเพียงการตอบโต้และป้องกันตนเองจากความรุนแรงของผู้ชุมนุมเท่านั้น “กระบวนการค้นหาความจริง” “ความสมานฉันท์” “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” “การปกป้องสิทธิมนุษยชน” เป็นเพียงถ้อยคำที่หยิบยืมมาใช้เพื่อทำให้พวกเขาดูมีมาตรฐานตามแบบตะวันตกเท่านั้น ประการสำคัญ บทบาทขององค์กรเหล่านี้ทำให้การลอยนวลพ้นผิดของผู้มีอำนาจในกรณีนี้ดูมีความถูกต้องชอบธรรมและสง่างามมากกว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างที่เคยทำในอดีตเสียอีก

แม้ว่าสังคมไทยจะมีความสามารถในการเรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์ทั้งของตนเองและของต่างประเทศไม่มากนัก แต่สิ่งนี้ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการเห็นการฟื้นฟูความยุติธรรมให้กับสังคมไทย ปิยบุตร แสงกนกกุลได้ชี้ให้เห็นในบทความ “การกำจัดเผด็จการทหารในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในกรีซ” ว่าการที่ทำให้กรีซสามารถกำจัดบทบาทและอำนาจของทหารจากการเมืองได้สำเร็จและสถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้ยั่งยืนได้จริง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำผู้กระทำผิดมารับโทษตามกระบวนการยุติธรรมลบล้างผลพวงของระบอบทหาร และยกเลิกสถาบันที่เป็นอุปสรรคขัดขวางระบอบประชาธิปไตย ประการสำคัญ รัฐบาลประชาธิปไตยจะต้องยืนยันหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนเพื่อต่อสู้กับความพยายามหวนคืนสู่อำนาจของฝ่ายเผด็จการอำนาจนิยมอย่างถึงที่สุด

บทความของธงชัย วินิจจะกูล “บททดลองเสนอ : อภิสิทธิ์ปลอดความผิด (impunity) และความเข้าใจสิทธิมนุษยชนในนิติรัฐแบบไทยๆ” เป็นเสมือนบทสรุปที่ใช้มุมมองประวัติศาสตร์พิจารณาความย้อนแย้งของวัฒนธรรมการเมืองไทยที่โอบอุ้มวัฒนธรรมอภิสิทธิ์ปลอดความผิดเอาไว้ กล่าวคือ ในด้านหนึ่งเราได้เห็นความพยายามของชนชั้นนำที่พยายามทำสยามหรือไทยให้ทันสมัยแบบตะวันตกมาอย่างน้อยตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ด้วยการรับเอาระบบกฎหมายแบบตะวันตกมาใช้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนส่วนใหญ่กลับไม่ได้รู้สึกเป็นปัญหากับภาวะซ้ำซากที่ผู้มีอำนาจละเมิดสิทธิของประชาชนโดยไม่ต้องรับผิด ปล่อยให้คนบางกลุ่มมีอภิสิทธิ์ทางกฎหมายมากกว่าคนบางกลุ่ม จนถึงการตีความและบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ขัดกับหลักกฎหมายสากลอย่างชัดเจน เป็นต้น ธงชัยชวนให้เราขุดราก “นิติรัฐแบบไทยๆ” ด้วยการหันกลับไปพิจารณามรดกทางวัฒนธรรมการเมืองไทยก่อนยุคสมัยใหม่ที่ยังคงครอบงำความเข้าใจเรื่องสิทธิของปัจเจกชน อำนาจรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนอย่างเข้มแข็ง บทความนี้จะช่วยทำให้เราเห็นว่าระบบกฎหมายแบบตะวันตกได้ถูกแปลและแปรให้เป็นไทยจนสร้างมาตรฐานความยุติธรรมแบบไทยๆ ในปัจจุบันได้อย่างไร

ในทัศนะของผู้ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของเพื่อนมนุษย์ การปล่อยให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับผิดเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทำให้การลอยนวลพ้นผิด (หรืออภิสิทธิ์ปลอดความผิดตามคำของธงชัย) เติบโตเข้มแข็งเป็นคุณลักษณะสำคัญของวัฒนธรรมการเมืองไทยนั้นเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือ คนส่วนใหญ่ทั้งในแวดวงปัญญาชน วิชาการ และนักสิทธิมนุษยชนและสันติวิธีของไทยดูจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก ทั้งๆ ที่พวกเขาก็ตระหนักดีว่าการเพิกเฉยต่อการลอยนวลพ้นผิดในวันนี้คือการเปิดโอกาสให้อำนาจรัฐใช้อำนาจเกินขอบเขตละเมิดสิทธิของประชาชนในวันรุ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่สังคมไทยอยู่ภายใต้ระบอบทหารในขณะนี้ เราได้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนแบบรายวันและกว้างขวาง ไม่มีอะไรรับประกันว่าการกดปราบและการละเมิดนี้จะไม่ลุกลามกลายเป็นการนองเลือดขนานใหญ่ในอนาคตอันใกล้ และอาจจบลงด้วยการลอยนวลพ้นผิดของผู้มีอำนาจอีกรอบก็เป็นได้ พวกเราเพียงหวังว่าบทความที่ปรากฏใน ฟ้าเดียวกัน ฉบับ 40 ปี 6 ตุลา จะเป็นเสียงเตือนให้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหานี้ได้บ้าง

สุดท้าย ดิฉันและผู้เขียนทุกท่านที่ปรากฏชื่อในที่นี้ ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งต่อกองบรรณาธิการฟ้าเดียวกัน ที่ช่วยรับภาระจัดพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน ฉบับพิเศษนี้ ซึ่งทำให้พวกเราได้มีส่วนร่วมในงานรำลึก 40 ปีของการสังหารหมู่ในเช้าวันพุธที่ 6 ตุลาคม 2519 ตามความสามารถที่พวกเราจะกระทำได้ในฐานะนักวิชาการ

0000

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท