วงเสวนา 35|53 (1) ชี้สิทธิการศึกษา สาธารณสุข มีแววถอยกลับไปก่อนยุค 2535

เสวนาประจำปีศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ “กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท” อยากเห็นห้องเรียนเป็นที่แสดงความคิดเห็นมากกว่าที่ลงโทษนักเรียน จนท.สำนักงานปลัด ศธ. สะท้อนโครงสร้างระบบการศึกษากลับไปสู่การรวมศูนย์อำนาจ ขณะที่อาจารย์ทันตะ ม.มหิดล สะท้อนเรื่องสาธารณสุข ปี 45 มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปัจจุบันหมอกลับมาถกเถียงว่าประชาชนต้องร่วมจ่ายหรือไม่?

25 ก.ย.2559 ที่ห้องเอนกประสงค์ริมน้ำ ชั้น 1 คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีวงเสวนาสัมมนาวิชาการประจำปี 2559 ของศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย “35|53 หนุ่มสาวในห้วงของการเปลี่ยนผ่าน” โดยในช่วงเช้าเวลา 09.00 น. เป็นการเสวนาหัวข้อ “เติบโต” ว่าด้วยระบบคุณค่าทางสังคมและสิทธิพลเมือง วิทยากรประกอบด้วย วาทินีย์ วิชัยยาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วริษา สุขกำเนิด กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท, ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ทพ. ธีรวัฒน์ ทัศนภิรมย์ ภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ Openworlds เป็นผู้ดำเนินการสนทนา

 

แม่วัยรุ่น : ภาพตัวแทนผู้หญิงวัยเรียนที่ตั้งครรภ์และการต่อรองเพื่อมีพื้นที่ในสังคม

วาทินีย์ เปิดประเด็นว่าด้วยระบบคุณค่าทางสังคมและสิทธิพลเมืองด้วยการสะท้อนประสบการณ์ของ 'แม่วัยรุ่น' ภายใต้ข้อจำกัดของระบบคุณค่าและสถาบันทางสังคม วาทินีย์ กล่าวว่า การศึกษาเรื่องแม่วัยรุ่น หรือแม่วัยใส หรือที่ผู้คนเข้าใจว่ามีครรภ์ในวัยเรียน ซึ่งกลุ่มศึกษาคืออายุระหว่าง 16-24 ปี โจทย์แรกที่เริ่มต้นนั้นไม่ได้มองว่าแม่วัยรุ่นเป็นปัญหาแต่มองว่าแม่วัยรุ่นเป็นกลุ่มในสังคมและได้รับอิทธิพลหรือโครงสร้างสังคมที่ส่งผลกระทบต่อเขา โดยค่านิยมที่ส่งผลกระทบต่อแม่วัยรุ่นมากที่สุดคือ 'ค่านิยมเรื่องวัยเรียน' เพราะค่านิยมนี้ส่งผลต่อวิธีคิดของคนในสังคมและแม่วัยรุ่นว่าช่วงวัยเรียนหนังสือที่ควรอยู่ในสถาบันการศึกษานั้น ไม่ควรที่จะมีเรื่องเพศ เช่น การห้ามมีแฟน การห้ามมีความสัมพันธ์ทางเพศ ซึ่งแนวคิดนี้สร้างกลไกผ่านสถาบันสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว สาธารณสุข ฯลฯ ดังนั้น การที่วัยรุ่นตั้งครรภ์ในวัยเรียนจึงถูกโครงสร้างสังคมกดทับแม้แต่ตัวแม่วัยรุ่นเองก็ถูกแนวคิดดังกล่าวที่นิยามความเป็นแม่ในวัยเรียนส่งผลต่อทัศนคติในการดำเนินชีวิต

“เมื่อได้สอบถามแม่วัยรุ่นถึงเรื่องปัจจัยที่ทำให้มีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน เขาก็มีมุมมองที่แตกต่างจากรุ่นพ่อแม่เรื่องการคบเพื่อนต่างเพศและการท้องในวัยเรียน เขามองว่าการมีเพศสัมพันธ์เกิดจากการคบกัน มีความรักและความใกล้ชิด ซึ่งการมีอะไรกันนั้นก็เป็นธรรมดาของคนที่เป็นแฟนกันไม่ได้เป็นการเปลี่ยนคู่หรือหลายใจซึ่งสะท้อนวิธีคิดแบบผัวเดียวเมียเดียว หรือ monogamyแต่ในขณะเดียวกันวัยรุ่นกลุ่มนี้ก็มองว่าการมีเพศสัมพันธ์จนเกิดการตั้งครรภ์คือเรื่องผิด” วาทินีย์ กล่าว

วาทินีย์ กล่าวต่อไปว่า แม้สถาบันทางสังคมต่างๆ จะมีอิทธิพลค่านิยมเรื่องวัยเรียนที่ไม่ควรมีเรื่องเพศ แต่แม่วัยรุ่นก็พยายามต่อรองต่อตัวระบบคุณค่าของสังคม เช่น แม้มีลูกแล้วแต่ก็สนใจที่จะศึกษาต่อและเอาลูกไปฝากไว้ให้สถานสงเคราะห์หรือญาติคนใกล้ชิดเลี้ยง โดยมองว่าตนกำลังทำหน้าที่แม่อยู่คือการเรียนและการสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต ซึ่งสะท้อนวิธีคิดความเป็นแม่ที่มีอุดมคติที่สอดคล้องกับสังคม การกลับไปเรียนหรือการไปทำงานคือการทำหน้าที่แม่ที่ดีซึ่งสะท้อนให้เห็นภาคปฏิบัติการต่อวิธีคิดของแม่วัยรุ่น

"ถ้าเราเรียนรู้วิธีคิดของแม่วัยเรียน ที่มีทัศนะเชิงลบว่าวัยรุ่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศเป็นปัญหา วัยเรียนไม่ควรคิดเรื่องเพศ ซึ่งวิธีคิดเหล่านี้เกี่ยวข้องกับหลายสถาบันสังคม ไม่ว่าจะเป็นในด้านวงการสาธารณสุข เช่น เมื่อเด็กวัยเรียนตั้งครรภ์แพทย์ก็จะมีทัศนะไม่ดีต่อเด็ก ในสถาบันการศึกษามีครูที่ไม่ยอมรับทำให้เด็กถูกกันออกจากระบบการศึกษา แม้แต่สถาบันครอบครัว ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กตัดสินใจว่าจะทำแท้งหรือไม่เมื่อเกิดการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะครอบครัวแม่วันรุ่นบางครอบครัวพาไปทำแท้งเองด้วยซ้ำ การตั้งคำถามว่าจะทำให้แม่วัยรุ่นมีคุณภาพอย่างไรในสังคมจึงไม่ใช่สถาบันใดสถาบันหนึ่งแต่ต้องช่วยกันหลายฝ่าย แต่จุดเริ่มควรทำความเข้าใจและการให้ความยอมรับ เพราะมีหลายกรณีที่แม่วัยรุ่นถ้าได้โอกาสในสังคมในช่วงตั้งครรภ์ก็จะทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" วาทินีย์ กล่าว

 

การใช้อำนาจมากกว่าเหตุผลในระบบการศึกษาปมปัญหาของโรงเรียนไทย

ขณะที่ วริษา ร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการศึกษาในอุดมคติ โดยเริ่มต้นกล่าวว่า ความฝันของเขานั้นในเรื่องการศึกษาคือเพื่อความเป็นไท มีอิสรภาพ อัตลักษณ์ ซึ่งระบบการศึกษาต้องสร้างให้นักเรียนแต่ละคนมีความหลากหลายแตกต่างและพัฒนาไปตามศักยภาพ การศึกษาไม่ควรสร้างคนให้คิดเหมือนกันเป็นการกดศักยภาพในตัวเด็ก โดยทั้งหมดนี้ต้องเริ่มจาก 1.การส่งเสริมให้เด็กมีการคิดวิพากษ์วิจารณ์ (Critical thinking) 2.เนื้อหาที่เรียนควรมีความยืดหยุ่นไม่ใช่สอนตมหนังสือแต่ควรเป็นความรู้ที่เกิดการเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน 3.ทำให้นักเรียนมีความสุขที่จะมาโรงเรียน 4.ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เลือกสิ่งที่ชอบไม่ใช่มีเพียงสายวิชาวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ หรือ ศิลปศาสตร์และคณิตศาสตร์ ควรให้เขาได้เลือกวิชาที่อบและถนัดที่อยากจะเรียนรู้

วริษา กล่าวต่อว่า เคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศเดนมาร์ก โดยที่การเรียนนั้นเริ่มจากการตั้งคำถามและให้นักเรียนคิดต่อปัญหาสังคมหรือสถานการณ์ที่ยกขึ้นมาโดยไม่ได้ให้คำตอบสุดท้าย แต่ให้เด็กอธิบายและคิดต่อปัญหาดังกล่าวด้วยเหตุผล เช่น เราควรรับหรือไม่รับผู้ลี้ภัยมาพักพิงในประเทศ โดยในชั้นเรียนจะให้นักเรียนเลือกตอบและให้เหตุผล ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนวิธีคิดอย่างมีเหตุผล การฟังคนอื่น และคิดเรื่องจริยธรรมในเวลาเดียวกัน แต่ปัญหาโรงเรียนไทยในเวลานี้คือนักเรียนไม่มีความสุขกับการมาโรงเรียนเนื่องจากบรรยากาศการสอนที่ไม่กระตุ้นเร้าในนักเรียนมีส่วนร่วมในความเห็น ปัญหาการลงโทษนักเรียน การกลั่นแกล้งในโรงเรียน ซึ่งการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างครูและนักเรียนมีให้เห็นในข่าวเป็นประจำ

"การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง สะท้อนให้เห็นว่าครูมองว่าเด็กนักเรียนเป็นคนที่ไม่มีเหตุผลต้องใช้กำลังในการลงโทษ การลงโทษทำให้เด็กกลัวครู เกิดความเกรง ไม่สร้างบรรยากาศในการตั้งคำถาม คิดด้วยเหตุและผล มีแต่ความระแวงระวัง" วริษา กล่าว

 

นโยบายการศึกษากับรัฐธรรมนูญ : การกลับมารวมศูนย์อำนาจการศึกษารอบใหม่หลังประชามติ 2559

ขณะที่ ภูมิศรัณ กล่าวถึงภาพรวมเกี่ยวกับนโยบายการศึกษาอันเป็นผลสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 โดยกล่าวว่า ตลอดช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างของหน่วยงานด้านการศึกษาภายใต้โครงสร้างทางอำนาจที่เปลี่ยนไปนับจาก พ.ศ. 2557 ทั้งนี้นโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในระยะ 20 ปี ที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีการปฏิรูปการเมืองนำไปสู่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งแนวคิดเรื่องสังคมประชาธิปไตยมีอิทธิพลอย่างสูงจนก่อให้เกิด พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งเริ่มคิดถึงเรื่องการกระจายอำนาจให้เขตพื้นที่ชุมชนและส่งเสริมให้ยอมรับการศึกษาทางเลือกในระบบท้องถิ่น

โดยพระราชบัญญัติดังกล่าว ยังทำให้เกิดการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยโดยแนวคิดที่จะให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระในการคิดตัดสินใจมากขึ้น แต่ทั้งหมดที่ว่ามานี้เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการจัดการของกระทรวงศึกษาธิการมากกว่า การคิดเรื่องคุณภาพการศึกษานั้นกระทรวงทำมาโดยตลอดไม่ว่าจะการแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพครู ด้วยการปรับฐานเงินเดือนครูให้สูงขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2547 เพื่อให้ครูมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น แต่กลับเกิดปัญหาคือครูเอาเวลาไปทำวิทยฐานะเพื่อเงินเดือนมากกว่าจะเอาเวลาไปเพิ่มคุณภาพการเรียนการสอนในห้องเรียน

ภูมิศรัณ กล่าวต่อว่า การเกิดของ2 องค์กรที่เพิ่มภาระให้กับครูและอาจารย์และเป็นปัญหาใหญ่ในระบบการศึกษาคือ 1.สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และ 2.สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สทศ.) ในเรื่องของ สมศ.นั้นจะเห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระทางวิชาการให้ครูอาจารย์ต้องทำเรื่องการประเมินและวัดผลทางด้านการศึกษาทำให้ใช้เวลามากจนทำให้ลดคุณภาพการสอนหนังสือ จนเมื่อรัฐบาลคณะรักษาความสงบและมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้ ม.44 ออกคำสั่งให้การชะลอหรือปลดผุ้อำนวยการ สมศ. ทำให้เกิดการชะลอในการทำเรื่องประเมินของสถาบันการศึกษา ซึ่งการใช้ ม.44 ในการแก้ปัญหาที่ผ่านมาก็ทำให้ดีขึ้นบ้างในเรื่องของโครงสร้างภายในกระทรวงศึกษาธิการ เพราะ คสช.มองว่าการทำงานเรื่องการศึกษาที่ผ่านมาเกิดความผิดพลาดขึ้นในการบริหารเพราะให้อิสระมากเกินไปรัฐบาลจึงจำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษในการจัดการ

"อย่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 ฉบับประชามติที่ผ่านมา มีการวิพากษ์เรื่องการเรียนฟรีที่ระบุในรัฐธรรมนูญ ที่จะให้มีการเรียนฟรีได้ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งหลังจาก ม.3 นักเรียนจะได้สิทธิการศึกษาผ่านกองทุน ซึ่งกองทุนที่ว่านี้ยังไม่มีความชัดเจน แต่แน่นอนว่าในรัฐธรรมนูญดังกล่าวรัฐบาลไม่สนับสนุนให้มีสิทธิเรียนฟรีจนถึง มัธยมปลาย โดยหลักง่ายๆ คือ เรียนฟรีถึงแค่ ม.3" ภูมิศรัณ กล่าว

 

นโยบายสาธารณสุขในสังคมไทย : หมอยังถกเถียงว่าสิทธิการรักษาควรให้ประชาชนทุกคนจริงหรือ?

ด้าน ทพ.ธีรวัฒน์ กล่าวในประเด็นที่ว่า 20 ปีกับนโยบายสาธารณสุขในสังคมไทย บริการสุขภาพนั้นเป็นสิทธิของประชาชนหรือไม่ยังคงถกเถียงกันอยู่ในทุกวันนี้ ทั้งนี้ พ.ศ. 2475 มีการร่าง พ.ร.บ.สาธารณสุข โดยหากแบ่งอย่างง่ายๆ จะเห็นว่าจะมีสิทธิแบ่งออกเป็น 3 แบบ เริ่มจากสิทธิข้าราชการ ปี พ.ศ. 2521 ต่อมามีหลักประกันสังคม ปี พ.ศ. 2533 และหลักสิทธิรักษาพยาบาลแก่ประชาชนคือ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2545

เดิมมีการให้สิทธิรักษาพยาบาลแก่ประชาชนทั่วไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 แต่ในขณะนั้นเป็นรูปแบบสงเคราะห์ ต้องเป็นประชาชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งเวลาต่อมาก็ขยายสิทธิมาถึงผู้สูงอายุและเด็ก สิ่งนี้พัฒนาการจนเป็นสิทธิประกันสุขภาพ ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญคือรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมองว่าสิทธิการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิของประชาชนทุกคน การรักษาพยาบาลฟรีจึงเป็นแนวคิดที่ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ บุกเบิกและผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จนรัฐบาลไทยรับไปเป็นนโยบายใช้จริง โดยพรรคไทยรักไทยได้นำไปใช้เป็นนโยบายที่เรียกว่า "30 บาทรักษาทุกโรค" จึงทำให้เรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชนเป็นจริงขึ้นมา การไปรักษาพยาบาลจึงไม่ใช่เป็นเรื่องการสงเคราะห์หรือเปลี่ยนค่านิยมที่คนจนกลัวหรือไม่กล้าไปหาหมอเพราะไม่มีเงิน

"การรับรู้ของประชาชนเรื่องการรักษาพยาบาลเปลี่ยนแปลงไป คือแต่ก่อนไม่เงินไปโรงพยาบาลต้องไปขอความอนุเคราะห์จากหมอแต่ปัจจุบันประชาชนกล้าไปหาหมอเมื่อเจ็บป่วยเพราะรูว่าตนเองมีสิทธิ แต่แนวคิดเรื่อง 30 บาท ก็มีหมอกังวลว่าถ้าประชาชนมีสิทธิอำนาจต่อรองมากขึ้น ประชาชนก็จะไม่ดูแลตัวเองปล่อยให้เป็นโรคเพราะรู้ว่ามียาฟรีตลอดเวลา ทำให้เถียงกันมาเป็น 10 ปีว่า สวัสดิการรักษาพยาบาลนี้ควรให้สิทธิทุกคนหรือเฉพาะคนจนเท่านั้น" ทพ.ธีรวัฒน์ กล่าว

ทพ.ธีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า เมื่อโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่เป็นสิทธิของประชาชนไปผูกกับเรื่องการเมืองของพรรคที่ถูกวิจารณ์ ทำให้สิทธิสาธารณะสุขของประชาชนถูกมองว่าเป็นประชานิยม และถูกนำมาถกเถียงอย่างไม่สิ้นสุดว่าทุกคนในประเทศควรได้รับบริการสาธารณสุขซึ่งเป็นสิทธิของทุกคนหรือรัฐควรให้สิทธิเฉพาะคนที่รัฐเห็นว่าควรสงเคราะห์ หัวใจสำคัญของการเกิดขึ้นของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค คือ การเปลี่ยนแปลงของกระทรวงสาธารณสุขที่ถูกลดบทยาทลงจากเดิม แต่ก่อนที่จะต้องดูแลและจัดการงบประมาณในด้านสาธารณะสุขแต่ปัจจุบันกลายเป็นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ที่ดูแลงบประมาณ

"สิ่งที่ยังถกเถียงกันในวงการสาธารณะสุข เจ้าหน้าที่มักจะมองว่า ประชาชนควรจะร่วมจ่ายหรือไม่ งบประมาณเพียงพอไหม ซึ่งการรักษาพยาบาลจึงยังไม่เหมือนการที่ประชาชนไปหาตำรวจทหารเมื่อมีปัญหา เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงได้ และต่อมา เจ้าหน้าที่สาธารณะสุขส่วนใหญ่กังวลว่าถ้าประชาชนมีสิทธิรักษาพยาบาลก็จะไม่ดูแลสุขภาพปล่อยให้ตัวเองป่วยเพราะคิดว่ามีสิทธิรักษา และอีกเรื่องคือเมื่อประชาชนมีสิทธิมากขึ้นหมอก็จะมีอำนาจน้อยลง หมอกลัวว่าจะมีการฟ้องร้องเรียกร้องสิทธิการรักษามากขึ้นอีก" ทพ.ธีรวัฒน์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท