Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

ใครๆ ก็รู้ว่าฝ่ายหนุนร่างมีชัยชูประเด็น “รัฐธรรมนูญปราบโกง” และปฏิบัติการจิตวิทยาว่าร่างฯ นี้ประหารคนโกง ห้าม ส.ส. บินฟรี ฯลฯ ก็ประสบผลในการทำให้คนอ่านลดตัวเองเป็นเด็กแจกใบปลิวออนไลน์อย่างกว้างขวาง

วาทกรรมว่านักการเมืองค้านร่างมีชัยเพราะร่างนี้ปราบโกงเกิดในเงื่อนไขแบบนี้

และเมื่อถึงวันที่ 7 สิงหาคม วาทกรรมนี้ก็แสดงพลานุภาพของมันออกมา

ไม่มีใครรู้ว่าร่างมีชัยจะปราบโกงได้อย่างที่พูดหรือไม่

คนที่ศึกษาเรื่องโกงซึ่งบอกว่าร่างนี้ไม่ได้ปราบโกงจริงก็มี แต่การที่ฝ่ายโหวตรับชนะก็หมายความว่าประเด็น “ปราบโกง” เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสำคัญสูงมาก

และการทำให้ร่างรัฐธรรมนูญเกาะเกี่ยวกับ “ปราบโกง” ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ได้ผลจริงๆ

สวนทางกับฝ่าย “โหวตรับ” ที่ชูประเด็นปราบโกง ฝ่ายรณรงค์ไม่รับกลับให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก

ส่วนที่พอจะพูดถึงเรื่องนี้มีแค่การผลิตซ้ำวาทกรรมประเภท “ประชาธิปไตยป้องกันการโกงได้ดีที่สุด”

หรือไม่อย่างนั้นก็คือ “ทั่วโลกปราบโกงด้วยกระบวนการประชาธิปไตย” ซึ่งไม่ได้บอกอะไรมากกว่าการไม่ตอบว่าอย่างไรหรือที่ประชาธิปไตยป้องกันการโกง?

ในบรรดาฝ่าย “ไม่รับ” ที่มีหลากหลาย พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นฝ่ายที่เข้าใจความสำคัญของประเด็นปราบโกงมากที่สุด

หัวหน้าพรรค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้ประสบการณ์สมัยเป็นนายกฯ อ่านร่างมีชัยจนสรุปว่าร่างนี้ไม่ได้ปราบโกง ซ้ำยังเอื้อให้ฝ่ายบริหารคุม ป.ป.ช. และเอื้อโกงมากขึ้น

ส่วนรองหัวหน้าพรรค นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ถึงกับบอกว่าร่างนี้เปิดทางให้รัฐมนตรีและอธิบดีโกงหนักขึ้นแน่นอน

อย่างไรก็ดี ประชาธิปัตย์พูดเรื่องนี้ช้าและไม่ได้ทำอะไรเกินไปกว่าการตั้งโต๊ะแถลงข่าวเฉยๆ จึงไม่มีผลอะไรในสถานการณ์คุมการเผยแพร่ความเห็นต่างนัก

ขณะที่ฝ่าย “ไม่รับ” ก็โจมตีว่าประชาธิปัตย์ “ไม่รับ” ด้วยเหตุผลที่ไม่เข้าท่า เพราะพูดเรื่องปราบโกง แต่ไม่พูดเรื่องประชาธิปไตย ผลก็คือสารเรื่อง “ปราบโกง” จากฝ่าย “ไม่รับ” แทบไม่มีที่ยืนในพื้นที่สาธารณะของสังคม

แน่นอนว่า “ปราบโกง” มีด้านที่เป็นวาทกรรมเพื่อให้ร้ายนักการเมือง

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือเฉดของคำว่า “นักการเมือง” ที่เป็นเป้าหมายของการ “ปราบโกง” ก็วนเวียนกับนักการเมืองบางกลุ่มและพรรคการเมืองบางพรรค แต่ปัญหาคือการมอง “ปราบโกง” เป็นวาทกรรมมีแนวโน้มจะดูถูกว่ามันเป็นเรื่องลวงโลกจนไม่ต้องสนใจอะไร แค่แฉให้โลกรู้ว่าเป็นวาทกรรมก็เพียงพอ

ก่อนมองข้ามความสำคัญของประเด็น “ปราบโกง” มีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันสามข้อ

ข้อแรก แม้ “ปราบโกง” จะเป็นวาทกรรม แต่มันไม่ใช่วาทกรรมที่เพิ่งสร้างในช่วงล้มประชาธิปไตยปี 2548-2549 ในเชิงประวัติศาสตร์ ความคิด วาทกรรมนี้มีรากฐานย้อนไปถึงทศวรรษ 2520 ที่กองทัพเริ่มพูดเรื่องกลุ่มผลประโยชน์, พรรคของนายทุน, ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นเป็นสมาชิกสภาผู้แทน ฯลฯ ทั้งที่ผ่านโครงสร้างหลักของกองทัพ รวมทั้งผ่านกลุ่มย่อยอย่างกลุ่มทหารประชาธิปไตยซึ่งเชื่อมต่อกับกลุ่มยังเติร์กที่มีบทบาทสนับสนุน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

“ปราบโกง” ไม่ใช่วาทกรรมเฉพาะกิจเพื่อไล่ล่าฝ่ายนายกฯ ทักษิณอย่างที่หลายคนเข้าใจ วาทกรรมนี้เคยไล่ล่า ชาติชาย ชุณหะวัณ ไล่ล่า บรรหาร ศิลปอาชา ไล่ล่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มากบ้างน้อยบ้างตามแต่สถานการณ์และปัจจัยพื้นฐานของแต่ละกรณี

ข้อสอง นอกจากกองทัพยุค 2520 จะเป็นตาน้ำของวาทกรรม “ปราบโกง” กองทัพยังให้กำเนิด “นักวิชาการสายทหาร” ซึ่งมีบทบาทผลิตคำและแนวคิดอย่างวงจรอุบาทว์, ธุรกิจการเมือง, บุฟเฟ่ต์คาบิเนต, ประชาธิปไตยนายทุน ฯลฯ อันทรงอิทธิพลทางสังคมและเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อการปูทางสู่การรัฐประหาร หรือไม่ก็เปิดไฟเขียวให้ทหารแทรกแซงการเมือง

หากนึกไม่ออกว่างานกลุ่มนี้พูดอะไร ก็ลองเข้าห้องสมุดไปเปิดงานเขียนของ สมชัย รักวิจิตร, อมร รักษาสัตย์, สุจิต บุญบงการ, กระมล ทองธรรมชาติ, อมร จันทรสมบูรณ์ ฯลฯ ซึ่งจะอธิบายการเมืองไทยด้วยคำและแนวคิดแบบนี้วนเวียนไปมาตลอดเวลา

ถ้าถือว่าคำและแนวคิดเหล่านี้เป็นอุดมการณ์ในความหมายของอัลธูแซร์ สถานีวิทยุในเครือข่ายของกองทัพระหว่าง พ.ศ.2520-2540 ก็คือกลไกทางอุดมการณ์ที่เผยแพร่คำและแนวคิดนี้สู่ผู้ฟังอย่างต่อเนื่อง คำและแนวคิดนี้จึงไม่ได้จำกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือผู้สมาทานคำสอนของนักวิชาการกลุ่มดังกล่าว แต่คำและแนวคิดนี้แทรกตัวสู่สังคมแทบจะทันทีที่กำเนิดขึ้นมา

ข้อสาม เมื่อวาทกรรม “ปราบโกง” มีบรรพบุรุษทางปัญญาย้อนไปถึงทศวรรษ 2520 ก็เท่ากับวาทกรรมนี้อยู่มาเกือบสี่สิบปีและครอบคลุมคนอย่างน้อยสองรุ่น รุ่นแรกคือรุ่นที่วาทกรรมนี้ก่อตัวขึ้นอย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, พล.อ.สายหยุด เกิดผล และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งอายุ 90 ขึ้นไป ส่วนรุ่นที่สองคือคนอายุ 60++ อย่าง คำนูณ สิทธิสมาน หรือ สำเริง คำพะอุ ซึ่งเป็นลูกค้ารุ่นแรกของวาทกรรม

อย่างไรก็ดี ถ้ารวม “คนรุ่นใหม่” ที่ติดตามการเมืองในยุคเฟื่องฟูของ ASTV/พันธมิตร และมีแรงเฉื่อยตกค้างมาถึงยุค กปปส. ก็อาจพูดได้ว่าวาทกรรม “ปราบโกง” มีอิทธิพลกับคนสามรุ่นแล้วจนปัจจุบัน

ถึงจุดนี้ แม้ “ปราบโกง” จะเป็นวาทกรรม แต่ก็ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่จะอธิบายด้วยพล็อตสำเร็จรูปประเภท “วาทกรรมที่เพิ่งสร้าง” หรือ “การโกงไม่มีอยู่จริง” เหมือนกระบวนท่าวิพากษ์ชาติหรือวัฒนธรรมที่ทำกันในยุคนี้ เพราะ “ปราบโกง” มีรากฐานทางประวัติศาสตร์ครอบคลุมคนสองรุ่นจนแทรกตัวสู่สังคมเกือบครึ่งศตวรรษ ซ้ำยังถูกผลิตซ้ำไม่หยุดโดยกลไกรัฐและสังคม

พูดอีกแบบ ปราบโกงมีฐานะเป็นข้อเท็จจริงในสังคม (Social Fact) ในความหมายของ Durkheim ที่สังคมกลายเป็นชุมชนซึ่งหล่อหลอมเรื่องนี้สู่สมาชิกในสังคมตลอดเวลา ผลก็คือคนมีความพร้อมจะปฏิบัติเรื่องต่างๆ ภายใต้กรอบที่ “ปราบโกง” กำหนด เพราะถ้าไม่ทำตามก็รู้สึกประหลาด, สังคมบอกว่าต้องทำแบบนั้น รวมทั้งรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ควรทำด้วย เพราะใครๆ เขาก็ทำกัน

ตรงข้ามกับความคิดว่าวาทกรรมต้านโกงถูกขบวนการต้านประชาธิปไตยสร้างเพื่อล้มระบบประชาธิปไตยตั้งแต่ช่วงปี 2549 ขบวนการต้านประชาธิปไตยรอบนี้ต่างหากที่เกาะใบบุญวาทกรรม “ปราบโกง” แล้วปรุงแต่งให้ทันสมัย โยนประเด็นประเภทผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นทิ้งไป ขยายพรมแดนสู่ประเด็นเรื่องนโยบายสาธารณะ/ผลประโยชน์ทับซ้อน/การคอร์รัปชั่นทางนโยบาย

กระบวนการที่ฝ่ายต้านประชาธิปไตยใช้วาทกรรมต้านโกงทำให้ “ปราบโกง” เกิดนวัตกรรมสองเรื่อง

เรื่องแรกคือการใช้สื่อสมัยใหม่เป็นพื้นที่ให้นักปลุกระดมแบบเก่าสร้างขบวนการมวลชนบนอุดมการนี้

และเรื่องที่สองคือการเกิดภาคประชาสังคมเพื่อขับเคลื่อนวาทกรรมนี้โดยมีหน่วยงานรัฐและรัฐบาลจัดงบประมาณสาธารณะสนับสนุนอย่างจริงจัง

สนธิ ลิ้มทองกุล กับ สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการใช้สื่อใหม่ปั่นวาทกรรมเก่าเพื่อสร้างขบวนการมวลชน สนธิผสมผสานเว็บไซต์, ทีวีดาวเทียม, SMS ฯลฯ เพื่อถ่ายทอดวาทกรรมเก่าในภาษาใหม่จนสร้างม็อบพันธมิตรฯ ปูทางให้อำนาจนอกระบบ

ขณะที่สุเทพลอกสนธิ เพิ่มการใช้โซเชียลมีเดีย แล้วใส่การปราศรัยแบบป้ายสีให้เป็นดิจิตอลสำหรับเชิญชวนให้เกิดการยึดอำนาจตรงๆ

แม้สุเทพจะสร้างมวลชนโดยวิธีที่สนธิเริ่มต้น แต่ทีมสุเทพทำให้มวลชนสุดโต่งขึ้น กลายเป็นกองกำลังคุกคามคนฝ่ายอื่นมากขึ้น และจัดตั้งมวลชนไล่ล่าผู้ไม่เข้าร่วมม็อบ กปปส. ระดับใกล้เคียงการประทุษร้าย สิบปีหลังกระบวนการที่สนธิริเริ่ม วาทกรรมปราบโกงได้เกิดเนื้อในใหม่ที่เอื้อให้นักการเมืองเก่าเอาไปใช้แบบผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นได้อย่างสมบูรณ์กลางศูนย์กลางมหานคร

พูดเปรียบเทียบง่ายๆ สนธิมีด้านที่ทำให้เรื่องซับซ้อนอย่างการคอร์รัปชั่นทางนโยบายและผลประโยชน์ทับซ้อนกลายเป็นเครื่องมือปลุกระดมมวลชน ส่วนสุเทพสร้างมวลชนสุดโต่งแนวลูกเสือชาวบ้านและนวพลบนพื้นฐานของการปั่นวาทกรรมจนเกิดม็อบพระสุวิทย์ การยึดศูนย์ราชการ และการยิงทิ้งลุงอะเกว

อย่าลืมว่าแม้แต่ คุณกรณ์ จาติกวณิช ที่เคยอยู่ประชาธิปัตย์ด้วยกันยังถูกสุเทพจาบจ้วงอย่างสาดเสียเทเสีย แค่เพราะกรณ์บอกว่าไม่สบายใจที่ กปปส. ยึดกระทรวงการคลัง ส่วน สรยุทธ สุทัศนะจินดา ถูกทีมสุเทพบุกไปถึงช่องสามแล้วบังคับให้เป่านกหวีดต่อหน้าม็อบที่คลั่งเต็มที

เราจะทบทวนพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวาทกรรมต้านโกงในตอนต่อไป

 

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 กันยายน 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net