Skip to main content
sharethis

วงเสวนาประจำปีของศูนย์การศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย “ว่าด้วยคนรุ่นใหม่” กนกรัตน์ เลิศชูสกุล เสนอ 3 ปัจจัยทางเศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง ทำให้ยุคหลัง 2519 ขบวนการนักศึกษาเปลี่ยนแปลง ด้าน รังสิมันต์ โรม ชี้ปัจจุบันเป็นยุคสมัยที่ไม่มี “ขบวนการ” ของนักศึกษา ไร้จัดตั้ง แต่ละกลุ่มมีจุดร่วมคือแนวทางเสรีนิยม ขณะที่นลินี ตันธุวนิตย์ เชื่อว่าขบวนต่อสู้ในปัจจุบันแค่เปลี่ยนรูป แต่ยังสู้กับระบอบการเมืองเดิม

เวทีเสวนา "#3 “เปลี่ยนแปลง”: ว่าด้วย “คนรุ่นใหม่” กับการเคลื่อนไหวทางสังคม" ในสัมมนาวิชาการประจำปี 2559 ของศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย “35|53 หนุ่มสาวในห้วงของการเปลี่ยนผ่าน” จัดที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 25 กันยายนที่ผ่านมา (จากซ้ายไปขวา) กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นลินี ตันธุวนิตย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รังสิมันต์ โรม ขบวนการประชาธิปไตยใหม่, กรรณิกา วงสีสา นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ดำเนินรายการ

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่หน้าสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เมื่อ 24 มิถุนายน 2558 (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

ที่ห้องเอนกประสงค์ริมน้ำ ชั้น 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีวงเสวนาสัมมนาวิชาการประจำปี 2559 ของศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย “35|53 หนุ่มสาวในห้วงของการเปลี่ยนผ่าน” โดยในช่วงบ่าย มีเวทีเสวนา #3 “เปลี่ยนแปลง”: ว่าด้วย “คนรุ่นใหม่” กับการเคลื่อนไหวทางสังคม วิทยากรประกอบด้วย กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรณิกา วงสีสา นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิมันต์ โรม ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และ นลินี ตันธุวนิตย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

000

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล เริ่มต้นนำเสนอว่า อยากชวนตั้งคำถามที่เป็นคำถามยุคสมัย ที่ใครๆ ก็ชอบถามว่า นักศึกษาหายไปไหน? ทำไมขบวนการนักศึกษาปัจจุบันจึงดูไม่มีพลัง ทำไมคนจำนวนน้อยเหลือเกินที่ทำกิจกรรมนักศึกษาในปัจจุบัน ทำไมยุทธศาสตร์จึงไม่สามารถนำพวกเขาไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมขนาดใหญ่ แบบที่เราเคยเห็นภาพของนักศึกษาเคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกภาพและมีพลัง ทำไมวันนี้เราเห็นคนอย่างรังสิมันต์ โรม หรือขบวนการนักศึกษาที่มีคนจำนวนน้อยมาก ทำงานเคลื่อนไหวแบบดาวกระจาย แต่ยังไม่เห็นภาพแบบที่เกิดในยุค 1970

โดยจะพยายามตอบคำถามต่อเรื่องนี้ว่า ทำไมขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจึงเติบโตและประสบความสำเร็จ และทำไมในระยะหลังจึงไม่เห็นภาพของนิสิตนักศึกษาในฐานะพลังที่สำคัญต่อขบวนการต่อสู้ทางการเมืองและประชาธิปไตย และทำไมขบวนการนักศึกษาจึงเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปแบบที่เป็นขบวนที่มีคนทำงานน้อย ค่อนข้างทำงานยุทธศาสตร์หลากหลายและย้อนแย้งขัดแย้งกัน แต่ทำไมพวกเขายังเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่ทุกกลุ่มต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง ขบวนการทางสังคมทุกปีก ที่คิดว่านักศึกษาคือ “พันธมิตรทางยุทธศาสตร์” ที่สำคัญ ทุกปีกต้องมีขบวนการนักศึกษาหรือองค์กรที่มีชื่อว่าเป็นนักศึกษาในขบวนการแบบนี้

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าขบวนการนักศึกษาในยุค 1970 เป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นในเงื่อนไขเฉพาะ ที่เติบโตผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองทางสังคมที่เฉพาะ ก่อนหน้ายุค 1970 ก็ไม่ใช่ขบวนการที่มีพลัง พวกเขาเป็นขบวนการที่มีขนาดเล็กมาก และบ่อยครั้งเป็นเครื่องมือทางการเมืองทั้งฝ่ายซ้ายและขวา หรือเป็นเครื่องมือของรัฐด้วยซ้ำ

เหตุผลก็คือในยุคก่อน 1970 นักศึกษาเป็นคนกลุ่มน้อยของสังคม พวกเขาถูกสร้างขึ้นมาในฐานะเป็นกลไกของการสร้างรัฐไทยสมัยใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเริ่มแรกไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนรุ่นใหม่มีจิตใจรักเสรี หรือต้องลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับสังคมและรัฐ แต่พวกเขาเป็นกลไกหนึ่งของการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ เพื่อป้อนคนเข้าสู่กลไกระบบราชการต่างๆ ก่อนยุค 1970 เราจึงไม่เห็นพลังของปัญญาชนที่มีพลังจากการจัดตั้งอย่างเข้มแข็งแบบยุค 1970 โดยเฉพาะช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 ถึงก่อน 6 ตุลาคม 2519 และเราปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขบวนการนิสิตเป็นพลังที่ทำให้ขบวนการฝ่ายซ้ายในป่าเติบโตขึ้นอย่างมาก

กนกรัตน์ ยังกล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้ขบวนการนักศึกษาในปี 1970 เริ่มเติบโตขึ้นมาว่า หากอ่านงานเขียนของ เบเนดิก แอนเดอร์สัน (บ้านเมืองของเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม) และงานของประจักษ์ ก้องกีรติ (และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ:การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา) เราจะเห็นว่าในช่วง 1970 จะเห็นการเติบโตของ “mass education” ผ่านการอัดฉีดงบประมาณในช่วงสงครามเย็นในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนถึงยุคต้น 2510 มีการเติบโตของมหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาจำนวนมาก และมีการผลิตมวลชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษา (mass educated middle class) ขึ้นเป็นครั้งแรก และคนกลุ่มนี้มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นมาก นอกจากนั้นเงื่อนไขโครงสร้างทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขข้อจำกัดทางการเมืองภายใต้ระบอบเผด็จการ และเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้คนพวกนี้เป็นพลังที่ต้องการยุติโครงสร้างและข้อจำกัดทางการเมืองเหล่านั้น และภายใต้การเมืองที่เริ่มเปิด เริ่มมีตัวแสดงทางการเมืองเข้ามามากขึ้น ขบวนการนักศึกษาก็เข้ามาเป็นกลไกสำคัญ ที่ช่วยในการผลักดัน ทั้งต่อพรรคการเมืองและภาครัฐ เราจะเห็นภาพของขบวนการนักศึกษาเข้าไปรณรงค์กับพรรคการเมืองที่เป็นพรรคฝ่ายก้าวหน้า โดยมีพลังถึงขั้นที่ธีรยุทธ บุญมีเอง ยกหูโทรศัพท์เพื่อโทรศัพท์หานายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนเสริมในเรื่องการเข้ามาสนับสนุนของพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และกระแสเติบโตของขบวนการนักศึกษาทั่วโลกด้วย ซึ่งถ้าเราลองคิดว่านี่คือปัจจัยที่ทำให้ขบวนการนักศึกษาเติบโตในยุค 1970 เรามาดูกันว่าหลัง 1970 โดยเฉพาะหลังป่าแตก (หมายถึงการล่มสลายของ พคท.) เงื่อนไขเหล่านี้ในการเมืองไทยเปลี่ยนไปมากแค่ไหน

หลังป่าแตก นักศึกษาที่เข้าป่ากลับมาพร้อมกับความผิดหวังต่อเงื่อนไขทางการเมือง พวกเขารู้สึกเป็น loss generation เป็นรุ่นที่สูญเสีย ไม่มีพื้นที่สำหรับความคิดก้าวหน้าและพรรคฝ่ายซ้าย รวมทั้งไม่ได้เตรียมพร้อมสร้างองค์กรทางการเมืองหลังยุค พคท. เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ขบวนการนักศึกษาที่เคยเป็นกลไกสำคัญยุค 1970 ต่อมาจึงค่อนข้างอ่อนแอ แตกแยก และทะเลาะกันอย่างลึกไปถึงฐานรากของอุดมการณ์ด้วย

นอกจากนักศึกษายุค 1970 แล้ว คนที่เป็นนักศึกษารุ่นต่อมา ในเชิงปรากฏการณ์ขบวนการนักศึกษาก็ค่อนข้างจะมีขนาดเล็กลง และอ่อนแอเมื่อเทียบกับคนในยุค 1970 และหลังจากนั้นไม่ว่าจะเป็นในช่วงพฤษภาทมิฬ หรือการเติบโตของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในยุค 1990 หรือในช่วงปฏิรูปการเมือง ขบวนการนิสิตนักศึกษา กลายเป็นขบวนการที่ค่อนข้างมีขนาดเล็ก เป็นกลุ่มย่อยของขบวนการเคลื่อนไหวอื่น แต่ยังคงเป็น “พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์” ที่ทุกขบวนการต้องการ

หากถามว่าทำไม ขอทิ้งประเด็นเอาไว้ให้คุยกันต่อ ก็คือในแง่หนึ่งมรดกจากยุค 1970 สร้างpolitical perception (ภาพการรับรู้ทางการเมือง) ของสังคมไทย ให้เชื่อว่าขบวนการนักศึกษาเป็นพลังที่จำเป็น และสำคัญในการผลักดันการเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นหลังยุค 1970 เป็นต้นมา ในทุกการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นพฤษภาคม 2535กลุ่มเอ็นจีโอ และการปฏิรูปการเมือง เราจะเห็นการเติบโตขึ้นและเข้าไปมีส่วนร่วมของนักศึกษาในฐานะที่เป็นพันธมิตรทางการเมือง หรือแม้แต่ในช่วงเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเองก็ตาม เราจะเห็นการเติบโตขึ้นของขบวนการนักศึกษา แต่ในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางการเมือง และเป็นกลไกทางการเมืองที่ไม่ได้เป็นตัวแสดงที่มีบทบาทนำในขบวนการเหล่านี้

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบแบบทั่วๆ ไป ที่หลายคนอาจจะรู้สึกอึดอัด แบบที่คุณรังสิมันต์ โรม เคยพูดที่จุฬาลงกรณ์เมื่อครั้งก่อน หรือบางคนรู้สึกเหมือนคับข้องใจที่ว่า ทำไมขบวนการที่พวกเขาเคลื่อนไหวจึงไม่มีพลัง ไม่สามารถจะระดมมวลชนได้เหมือนในอดีต บางคนอาจจะเสนอว่าไม่มีผู้นำนักศึกษาแบบยุค 1970 หรือขบวนการนักศึกษาไม่มีแล้วเพราะคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง

โดยกนกรัตน์เสนอ 3 ปัจจัย ผ่านการเชื่อมโยงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ นำมาซึ่งการลดลงของความตึงเครียดทางการเมืองในหมู่คนรุ่นใหม่

สอง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม-การเมือง ทำให้เกิดการเติบโตขึ้นของตัวแสดงใหม่ๆ จำนวนมากที่มีศักยภาพมากกว่านักศึกษา ในการเข้าไปมีบทบาทในขบวนการทางเมืองที่ซับซ้อนมากขึ้น

สาม มีการเติบโตขึ้นของขบวนการทางการเคลื่อนไหวใหม่ๆ ที่ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา มีความจำเป็นในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป

ปัจจัยแรก เรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วงยุค 1980 ถึง 1990 การเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดูดซับความตึงเครียดที่เกิดจากการเติบโตขึ้นของ “มวลชนชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษา” ซึ่งแรงกดดันต่างจากยุค 1970 ที่โครงสร้างเศรษฐกิจ และปัญหาทางการเมืองค่อนข้างแข็ง

ปัจจัยที่สอง มีการเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง เมื่อปัญหาทางการเมืองซับซ้อนมากขึ้น ภายใต้การเมืองที่เปิดเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นตั้งแต่ปลาย 1980 เข้าสู่ 1990 ทำให้เกิดตัวแสดงใหม่ๆ ชนชั้นกลางมีฐานทางการเมืองที่กว้างขวางมากขึ้น มีตัวแสดงอื่นๆ ที่มีบทบาทแทนที่นักศึกษา ที่ันักศึกษาเคยทำในปี 1970 ไม่ว่าจะเป็นบทบาทเอ็นจีโอแบบเป็น “แอ็กทิวิสต์” อาชีพเต็มเวลา แบบที่นักศึกษาก็ทำไม่ได้ เอ็นจีโอมีทรัพยากรจำนวนมาก ที่นักศึกษาไม่สามารถทำได้ต่อเนื่องแบบเอ็นจีโอ การเติบโตขึ้นของสื่อสารมวลชนยุค 1990 ทำให้การทำงานทางความคิดของนักศึกษาไม่สามารถสื่อสารได้อย่างประสิทธิภาพเท่าสื่อสารมวลชนยุค 1990 นอกจากนี้เรายังเห็นบทบาทของอาจารย์มหาวิทยาลัย นักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มทุนการเมือง ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองแบบที่นักศึกษาเคยทำในยุค 1970

นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างทางการเมืองที่เปิดกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังปฏิรูปการเมืองในปี 1997 ที่มีกลไกทางการเมืองใหม่ๆ ที่ทำให้ชนชั้นกลางเข้ามาต่อสู้ทางการเมืองที่เป็นโครงสร้างการเมืองที่เป็นทางการมากขึ้น

ปัจจัยสุดท้ายเป็นเรื่องกรอบคิดของขบวนการเคลื่อนไหวใหม่ๆ ในยุคปลาย 1990 ทั้ง New Social Movement หรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ และชุมชนนิยม ซึ่งการเคลื่อนไหวมีความต้องการที่จะระดมการสนับสนุนเครือข่ายจากหลากหลายชนชั้น และภายใต้การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างสังคม-การเมืองเช่นนี้ จึงไม่ใช่นักศึกษาที่เป็นแกนกลางต่อไป

เพราะฉะนั้น ทำไมเราจึงไม่เห็นภาพของขบวนการนักศึกษาที่เป็น “ขบวนการมวลชนที่เป็นเอกภาพ” แบบที่เคยเกิดขึ้นในปี 1970 จึงเป็นไปอย่างที่เสนอ 3 ปัจจัยดังกล่าว

แต่จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นหลังจากเกิดรัฐประหาร 2 รอบที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ชนชั้นกลาง ฝ่ายค้านทางการเมืองกลุ่มอื่นๆ ถูกกดไว้ทางการเมือง ไม่มีพื้นที่ ขณะที่นักศึกษามีสิ่งเฉพาะตัวที่ตัวแสดงทางการเมืองอื่นๆ ไม่มี ไม่ว่าจะเป็นมรดกที่เขาได้มาจากยุค 1970 คือแรงบันดาลใจ ภาพความรับรู้ที่สังคมและชนชั้นนำไทยมีต่อนักศึกษา ในขณะที่พวกเขามีขนาดเล็กมาก และจริงๆ พวกเขาไม่มีแรงกดดันทางการเมืองมากเท่ากับภาพความรับรู้ที่สังคมและชนชั้นนำไทยมีต่อพวกเขา

นอกจากนั้นพวกเขายังมีสิ่งเฉพาะตัวอีกอย่างคือ กลุ่มนักศึกษามีความต่อเนื่องในการเคลื่อนไหว ในขณะที่กลุ่มฝ่ายค้านทางการเมืองอื่นๆ หากถูกรัฐปรามปราม หรือทำให้เงียบเสียง แต่นักศึกษามีธรรมชาติของการ re-generate (เกิดขึ้นใหม่) ตลอดเวลา คือผลิตคนรุ่นใหม่ขึ้นมาทุกปี เพราะฉะนั้นแม้ขบวนการนักศึกษาจะมีข้อจำกัดทางการเมืองในด้านทักษะ หรือประเด็นปัญหาเพื่อขับเคลื่อนขบวนมวลชน แต่จากคุณสมบัติเฉพาะที่เขามี ทำให้ขบวนการนักศึกษายังเป็นตัวแสดงที่ยังคงมีพื้นที่ทางการเมืองในปัจจุบัน

000

กรรณิกา วงสีสา นำเสนอเรื่อง “นักเคลื่อนไหวไร้สังกัดในการประกอบสร้าง Subject” โดยมุ่งศึกษาในเรื่องที่ว่าตัวนักกิจกรรมว่าประกอบสร้างตัวเองอย่างไร หล่อหลอมวิธีคิดอย่างไร และนำไปสู่ปฏิบัติการของนักศึกษาอย่างไร โดยเน้นศึกษาผ่านการลงสนาม และสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมกับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม

ในเรื่องของการเก็บข้อมูล กรรณิกา กล่าวว่า จะเห็นว่าในการลงไปทำงานด้วย เวลาลงไปภาคสนาม ต้องร่วมทำกิจกรรมด้วยเพื่อให้ใกล้ชิดแหล่งข้อมูลมากขึ้น กว่าจะพูดคุยแต่ละเรื่อง หรือพูดคุยเรื่องเนื้อหาวิธีการทำกิจกรรม บางเรื่องก็มีเรื่องความละเอียดอ่อนด้านข้อมูล เพราะมีการทำงานทางความคิดของกลุ่มนักศึกษา บางทีเมื่อลงพื้นที่ก็ไม่สามารถเข้าถึงบางข้อมูลได้ในช่วงวงประชุม แต่ก็อาศัยการเก็บข้อมูลผ่านกิจกรรมที่นักศึกษาทำงาน พอถึงช่วงประชุม ผู้ศึกษาก็ถอยออกมา โดยอาศัยรับรู้ข้อมูลผ่านการพูดคุยกับผู้ทำกิจกรรมที่เข้าถึงข้อมูลอีกครั้งหนึ่งแทน

ต่อคำถามจากผู้ดำเนินรายการที่ว่า นักวิจัยต้องวางตัวเป็นกลางกับสิ่งที่ศึกษา และสิ่งนี้เป็นความท้าทายต่อผู้วิจัยแค่ไหน และเมื่อถึงจุดนั้นมีวิธีจัดการต่อสถานการณ์อย่างไร กรรณิกา ตอบว่า ในเรื่องของการวางตัวของผู้ศึกษา กับเรื่องราวหรือกลุ่มที่กำลังศึกษานั้น มีอาจารย์ หรือนักกิจกรรมรุ่นพี่แนะนำว่า ถ้าเราเชื่อเรื่องการต่อสู้หรือการเปลี่ยนแปลง เราควรมีวิธีคิดที่ชัดเจน หรือเมื่อเราทำงานก็บอกไปว่าเราเชื่อแบบนี้ คิดแบบนี้ แล้วสิ่งนี้จะนำไปสู่อะไร สำหรับตัวเอง มีความเชื่อเรื่องการเคลื่อนไหว เรื่องการเรียกร้องความเป็นธรรม มีกรณีศึกษาบางกลุ่มที่ลงไปเรียนรู้กับชาวบ้านในพื้นที่ เช่น กรณีเหมืองแร่ จ.เลย นักศึกษาก็พูดเลยว่า ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม สภาพแวดล้อมทำให้เขาอยู่ไม่ได้ จึงต้องออกมาเคลื่อนไหว โดยในงานของผู้ศึกษาก็จะย้ำชัดเจนว่าผู้ศึกษาเชื่อเรื่องการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลง และให้พื้นที่ของนักกิจกรรมที่เชื่อแบบนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ทางสังคมในปัจจุบันนี้ด้วย

ต่อเรื่องลักษณะเด่นของนักกิจกรรมในปัจจุบัน กรรณิกา กล่าวว่า นักกิจกรรมกลุ่มที่เขาได้ทำการศึกษา ไม่ได้ขับเคลื่อนประเด็นใดประเด็นหนึ่ง แต่ทำกิจกรรมตามสถานการณ์ นักศึกษาในพื้นที่ภาคอีสานอย่างกลุ่มดาวดิน จะเกาะติดพื้นที่เมืองเลย และเคลื่อนไหวกับกลุ่มชาวบ้านที่ จ.เลย ซึ่งทำกิจกรรมในพื้นที่มากว่า 10 ปี นักกิจกรรมในภาคอีสานอีกกลุ่มเช่น ปลูกฮัก จะเน้นทำงานทางความคิดกับนักศึกษา

ต่อคำถามว่า แนวทางแบบไหนส่งอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของนักศึกษาปัจจุบันมากที่สุด กรรณิกา เสนอว่า นักกิจกรรมในปัจจุบันไม่ได้มีวงถกเถียง หรือแลกเปลี่ยนที่ชัดเจน หรืออ่านหนังสืออย่างหนักเพื่อเข้าใจทฤษฎีการเมือง แต่ทั้งหมดถูกย่อยผ่านเวทีเสวนา หรือพื้นที่โซเชียลมีเดีย ที่มีการสรุปข้อมูลแนวคิดสั้นๆ พร้อมไปกับการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวตลอดเวลา

000

รังสิมันต์ โรม กล่าวว่า สิ่งที่ศึกษามาหลักๆ ในเรื่องความคิดชี้นำของนักศึกษา ซึ่งความคิดชี้นำนี้เหมือนรากของขบวนการนักศึกษา ที่จะใช้อธิบายขบวนการนักศึกษาในแต่ละรุ่น

โดยก่อนหน้านี้ ได้อ่านสิ่งที่กนกรัตน์อภิปรายเกี่ยวกับคนเดือนตุลาก่อนหน้านี้ ทำให้ผมนึกถึงคนรุ่นผมว่าได้รับแรงบันดาลใจอย่างไรจากคนรุ่นเดือนตุลา ก่อนหน้านี้สมัยปีหนึ่ง ผมเคยนึกอยากเห็นภาพคนเต็มอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอีกครั้ง คงเหมือนเราคิดว่าซานตาคลอสมีจริง และพอเราอยู่ไปเรื่อยๆ เราก็พบว่าซานตาคลอสไม่มีอยู่จริง เป็นไปไม่ได้ที่จะมีภาพนั้นเกิดขึ้น

ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ จริงๆ แล้วเรามักคิดถึงภาพเหตุการณ์เดือนตุลาเกิดขึ้นในเมืองไทย ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แต่เราอาจไม่รู้ตัว ผมคิดถึงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นัยยะหนึ่งของการเคลื่อนไหวในช่วง 14 ตุลา คือการเป็นรอยัลลิสต์ ซึ่งทั้งพันธมิตรฯ และกลุ่มอื่นๆ แม้บอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย แต่ก็มีนัยยะแอบแฝงเรื่องอื่นเสมอ การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมให้กับความเคลื่อนไหว แต่ขณะเดียวกันมีการสอดแทรกเรื่องอื่น และเรื่องนี้ก็เข้มข้นขึ้นเมื่อเห็น กปปส. เช่นเดียวกับเสื้อแดง การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ทั้งหมด แต่มีนัยยะอื่นๆ ตามมาเหมือนกัน ซึ่งนัยยะเช่นนี้เป็นเครื่องชี้นำขบวนการต่อสู้ของแต่ละฝั่งด้วยซ้ำไป

สำหรับคนรุ่นผมเกิดมาพร้อมกับการล่มสลายทางเศรษฐกิจในปี 2540 เราเกิดมาโดยการเห็นความแตกแยกทางการเมืองในแบบที่ไม่สามารถผสานรอยร้าวได้ต่อไป ถ้าพูดแบบ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ก็คือคนเดือนตุลาที่มีบทบาทเคลื่อนไหวไม่สามารถผสานรอยร้าวได้อีก และได้ส่งต่อความขัดแย้งนี้มายังคนรุ่นปัจจุบัน จากรุ่นสู่รุ่น

ในแง่นี้คนรุ่นพวกเราถูกบังคับให้เกลียดชังคนอีกฝั่งโดยที่เราไม่รู้จักพวกเขา เช่น เกลียดทักษิณ โดยในปี 2549 ผมแทบไม่มีพื้นฐานการเมืองขณะนั้น แต่เราต้องเกลียดทักษิณ เพราะว่าคือทักษิณ โดยที่เราไม่ได้เข้าใจอะไร ในแง่นี้อุดมการณ์ที่เป็นนัยยะของการเคลื่อนไหวแบบพันธมิตร หรือแบบไทยรักไทยหรือเสื้อแดง ก็ได้ส่งต่อความแยกที่เกิดขึ้น ซึ่งยิ่งทำให้ขบวนการนักศึกษาในช่วงต้นก่อนถึงรัฐประหารปี 2557 แทบไม่มีที่ยืน เพราะมีผู้เล่นอื่นๆ อยู่แล้ว

สิ่งนี้ทำให้ขบวนการนักศึกษาไม่ได้มีความสำคัญอีกต่อไป เพราะถูกแทนที่โดยขบวนการของพันธมิตรฯ กปปส. หรือเสื้อแดง

ซึ่งเป็นเรื่องดีตรงที่ว่าขบวนการนักศึกษา เติบโตไปอีกแบบหนึ่ง แทนที่เรื่องขบวนการ หรือการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ ที่ค่อยๆ หายไป เพราะไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่ความคิดเสรีนิยมและปัจเจกชน เกิดขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่ตามมหาวิทยาลัย และคนรุ่นใหม่เหล่านี้เอียนกับนัยยะที่เกิดขึ้น เวลาคนรุ่นใหม่พูดถึงประชาธิปไตยอย่างเดียว ไม่มีเรื่องอื่นแอบแฝง ข้อดีสำคัญของการแตกแยกทางการเมือง 10 ปีมานี้ก็คือทำให้ขบวนการนักศึกษาเกิดรูปแบบใหม่ คือเล็ก และไม่เป็นขบวน และพัฒนาการทางความคิดของเสรีนิยมก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทีนี้ก่อนเกิดรัฐประหารตอนที่ผมยังอยู่ปี 1 ปี 2 ก็มักมีคำถามจากคนรุ่นเดือนตุลา หรือพฤษภา 35 ว่าตกลงขบวนการนักศึกษาหายไปไหน

จริงๆ แล้ว ขบวนการนักศึกษาไม่เคยหายไปไหน มีกิจกรรมนักศึกษาอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าบทบาทที่นักศึกษาสนใจทางการเมืองแล้วแพร่หลายไปยังสื่อต่างๆ มันไม่มีเท่านั้นเอง หากแต่มันอยู่อยู่ที่เดิมตลอดเวลา นอกจากนี้อย่างที่อาจารย์กนกรัตน์นำเสนอ ยังมีขบวนการอื่นๆ มาแทนที่นักศึกษา ทำให้บทบาทของนักศึกษาไม่มีความสำคัญ

แต่ความไม่มีความสำคัญนี้ ทำให้นักศึกษากลับมาอีกครั้งเมื่อเกิดรัฐประหารในปี 2557 นักศึกษาสำคัญขึ้นมา เพราะว่าทุกคนถอยหลังหมด นักศึกษาก็อยู่จุดเดิมนี่แหละ แต่พอทุกคนถอยหลัง นักศึกษาก็กลับมาตระหนักว่าพวกเขาอยู่แนวหน้าแล้วนี่ โดยที่อาจจะไม่รู้ตัว ในแง่นี้ทำให้นักศึกษา อยู่ๆ ก็มีบทบาทโดยที่ตัวเองไม่ได้เตรียมความพร้อม เมื่อทุกคนถอยหลัง นักศึกษาที่ไม่ได้จัดตั้งแบบใหญ่มาก่อน ก็จึงเห็นขบวนนักศึกษากลุ่มเล็กๆ เล่นกับสื่อ และนักศึกษาก็ไม่ได้ถูกจัดตั้งมาก่อน เพราะพวกเขาไม่ได้เชื่อเรื่องการจัดตั้งเป็นขบวน ไม่มีการจัดตั้งระหว่างนักศึกษาในกรุงเทพฯ และต่างจังหัด เมื่อเกิดรัฐประหาร นักศึกษาจึงเริ่มตระหนักว่ามีบทบาท และเริ่มก่อรูปก่อร่างขบวนขึ้นหลังจากรัฐประหาร

ความน่าสนใจของขบวนนักศึกษาในก่อนรัฐประหาร หนึ่ง นักศึกษายุคนั้นสนใจประเด็นของตัวเอง ถ้าเราพิจารณาความคิดชี้นำสำคัญของนักศึกษาก่อนรัฐประหาร คือ เรื่องเสรีภาพเนื้อตัวร่างกาย เราเห็นกลุ่มต้านโซตัส กลุ่มที่สนใจเรื่องชุดนักศึกษา มีการเรียกร้องสิ่งเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ผมเข้าใจว่าในอดีตก็มี เพียงแต่ว่าแต่ไม่สามารถขจัดความคิดแบบอำนาจนิยมออกไปจากการเคลื่อนไหวช่วงเดือนตุลาคมได้ ผมเข้าใจการเคลื่อนไหวในเดือนตุลาทศวรรษ 1970 อาจจะสนใจปากท้องของชาวบ้าน มากกว่าสนใจเรื่องของตัวเอง

ขณะที่ความคิดชี้นำของนักศึกษาปัจจุบันจะสนใจประเด็นตัวเองค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม นักศึกษาต่างจังหวัด เช่น ดาวดิน เขายังเกาะติดพื้นที่ เขาสนใจประเด็นชาวบ้านต่อไป นี่เป็นจุดสำคัญมากที่สะท้อนให้เห็นว่าขบวนของนักศึกษามีความแตกต่างกัน นักศึกษาต่างจังหวัดอาจจะเป็นแนวชุมชนนิยม เน้นการลงพื้นที่ ในกรุงเทพฯ อาจไม่เน้นลงพื้นที่แบบนั้น อาจมีลงพื้นที่บ้าง นักศึกษาหลายกลุ่มก็สนใจประเด็นของตัวเองมากๆ ข้อพิสูจน์ของผมคือดูได้จากชื่อกลุ่ม มีกลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่มีนามสกุล “เสรี” สะท้อนให้เห็นว่า ความคิดที่เป็นตัวกำกับคืออะไร เราจะเห็น ธรรมศาสตร์เสรี เสรีเกษตร เสรีนนทรี ฯลฯ

ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เราต้องศึกษา นอกจากความคิดชี้นำที่เป็นเครื่องสะท้อน ผมอยากให้ศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของ ขบวนการนักศึกษาก่อนรัฐประหาร 2557 นั้นขาดการจัดตั้ง จุดเริ่มต้นการสร้างคนแตกต่างกัน พูดกันอย่างถึงที่สุดนักศึกษามีความขัดแย้งกัน และถึงขนาดที่การจัดรวมตัวเป็นขบวนการเดียวกันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

มากไปกว่านั้น อาจถึงขนาดที่ว่าความคิดของนักศึกษาบางกลุ่มที่อาจจะเป็นฝ่ายเสรีนิยม แทบจะปฏิเสธการเคลื่อนไหวแบบขบวนการนักศึกษาที่มีหลายกลุ่มต่อไป พวกเขาเชื่อเรื่อง normalize ทางสังคม คือเมื่อทุกคนเชื่อในเสรีภาพเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องปฏิสัมพันธ์อย่างไรเสียการเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็ต้องเกิดขึ้น

ซึ่งถ้าเป็นนักศึกษาในอดีตซึ่งได้รับอิทธิพลจากการเคลื่อนไหวของคนเดือนตุลาคม เดือนพฤษภาคม ที่ส่งต่อมาเรื่อยๆ และมีความคิดชี้นำในลักษณะสังคมนิยม เขาเชื่อเรื่องของขบวน ว่าจะเคลื่อนไหวอะไรได้ คุณจำเป็นต้องจัดตั้งขบวนตรงนี้ขึ้นมา ในแง่นี้ความคิดชี้นำที่แตกต่างกัน ในรูปแบบต่างๆ เลยทำให้นักศึกษาช่วงก่อนรัฐประหารไม่สามารถต่อกันได้ และกว่าจะเริ่มต่อได้ก็สายเสียแล้ว

ส่วนในอนาคต ระลอกการเคลื่อนไหวของนักศึกษานั้น ปัจจุบันนี้ปัญหาของประเทศไทยแม้จะมีในลักษณะที่ไม่ฟังเสียงประชาชน แต่ด้วยความเจริญเติบโตเศรษฐกิจที่โตขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนไม่ได้พึ่งพิงหรืออยู่รอดกับทรัพยากรชุมชนต่อไป มีปัจจัยอื่นๆ เข้ามา ทำให้ประชาชนไม่น้อยถีบตัวเองมาเป็นชนชั้นกลาง ในแง่นี้เอง ปัญหาต่างๆ ถ้าเราเทียบปัญหาในปัจจุบันเรื่องปัญหาทรัพยากรในปัจจุบันกับอดีต ปัญหาในอดีตรุนแรงกว่าในปัจจุบัน ขบวนการที่จะเกาะติดพื้นที่สู้ร่วมกับชาวบ้าน ณ วันนี้จึงมีขนาดลดลง ขณะที่ความคิดนักศึกษาในเมือง ความคิดแบบเสรีนิยม ผ่านนักวิชาการต่างๆ ทำให้ความคิดของนักศึกษาในเมืองยุคปัจจุบันเติบโตขึ้นมา และเชื่อว่าเทรนด์ในอนาคตจะเป็นเสรีนิยมทั้งหมด คือจะเป็นขบวนการหรือเปล่าไม่สนใจ ข้าพเจ้ามีเฟซบุ๊ค มีคนติดตามสองสามหมื่นคน ข้าพเจ้าก็จะเคลื่อนไหวบางอย่างได้ ซึ่งจะทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวแบบ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา ยากที่จะได้เห็นในปัจจุบัน

รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามองในสายตาอำนาจรัฐ ถ้าเชื่อว่าการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาจะมีประสิทธิภาพได้ต้องเป็นขบวน จัดคนมาเยอะๆ ซึ่งจากประสบการณ์ในการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐ เขากลัวเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวจริงๆ เพียงแต่ว่าระยะหลังเขาเริ่มประมาท เขาคงเชื่อแล้วว่าเราคงไม่สามารถกลับไปสู่จุดนั้นได้ แต่การก่อรูปของนักศึกษาที่ไม่ได้เป็นขบวน เป็นการเคลื่อนไหวเป็นหน่วยย่อยๆ แบบนี้ มันกลับส่งผลสะเทือนทางความคิด ไปยังนักศึกษารุ่นใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ วันนี้เราอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนสังคมทันที แต่ทำให้ภาพความคิดความเชื่อคนรุ่นปัจจุบัน การส่งต่อความคิด มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เคยเห็นกลุ่มหนึ่งในธรรมศาสตร์ เขาจัดมีตติ้งมีคนมาเป็นร้อย คนที่มาเป็นแกนแต่ละคณะ ถามว่าคนเหล่านี้จะมาทำงานหลังมีตติ้งกี่คน อาจจะไม่มีเลยนะ เขาอาจจะคุยกันแค่เพียงไม่นาน หลังจากนั้นเขากลับไปทำงานของเขาเอง และภายใต้ตัวชี้นำทางความคิด ที่เป็นลักษณะนามธรรม ทำให้คนเหล่านี้ทำงานไปได้เรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องทำงานในลักษณะขบวนต่อไป

การที่เพจเฟซบุ๊ค เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าสังคม ผมเชื่อว่าขบวนการนักศึกษาจะเปลี่ยนสังคมในแบบที่เรานึกไม่ถึง เพจเฟซบุ๊คหลายเพจถูกบริหารหรือดูแลโดยคนรุ่นใหม่ คนรุ่นไม่ห่างจากพวกเรา ในขณะที่คนรุ่นพฤษภาคม หรือคนเดือนตุลา ไม่สามารถทำงานผ่านเฟซบุ๊คได้

ในช่วงท้าย รังสิมันต์ยังฝากบททดลองถาม 3 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง ขบวนการนักศึกษาช่วงเดือนตุลา หรือช่วงเดือนพฤษภา 35 สิ่งชี้นำทางความคิดของเขาคืออะไร และเครื่องชี้นำทางความคิด ในเชิงขบวนการมีความเชื่อมั่นขนาดไหน สอง เรื่องความคิดชี้นำทางความคิด มีทั้งเรื่องของการปฏิเสธขบวน และการเชื่อมั่นในขบวน เรื่องนี้เกิดขึ้นกับช่วงเดือนตุลา และพฤษภา 35 หรือไม่ และสาม เป็นคำถามที่ผมคิดว่า ถ้าเสร็จสิ้นภารกิจต้าน คสช. แล้วจะทำงานวิจัยเรื่องนี้ ก็คือผมเชื่อว่า ปัจจัยการล่มสลายทางเศรษฐกิจปี 2540 น่าจะส่งผลต่อความคิดความเชื่อของคนรุ่นเราค่อนข้างมาก อย่างคนรุ่นผมเราผ่านอะไรมาเยอะจริงๆ นะโดยที่เราไม่รู้ตัว ยังจำได้ ตอนผมเป็นเด็กเล็กๆ จูงมือแม่ เห็นคนตกงานที่ จ.ภูเก็ต จำนวนมากมหาศาล ผมได้เห็นเห็นความขัดแย้งที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมสนใจตอนนี้คือ การล่มสลายของเศรษฐกิจในปี 2540 ส่งผลอะไร หรือกำกับความคิดบางอย่างของคนรุ่นผมมากแค่ไหน

สิ่งหนึ่งที่ผมพูดอาจจะพูดถึง อาจจะเป็นตัวแทนความคิดแบบที่ผมเชื่อ คนรุ่นผมอาจจะได้รับแรงบันดาลใจจากคนเดือนตุลา จากการต่อสู้ของคนเดือนตุลา แต่วันนี้เราไม่ได้คอสเพลย์เป็นคนเดือนตุลา เราเป็นตัวของเราเอง เราไม่ใช่มรดกคนเดือนตุลา เราสร้างเจเนอเรชั่นของเราใหม่ เพื่อที่ 10 ปีข้างหน้า คนรุ่นเราจะได้มีที่ยืนของเราเอง ไม่ได้อยู่ภายใต้เงาคนเดือนตุลา

000

นลินี ตันธุวนิตย์ เริ่มต้นกล่าวว่า เราไม่ได้พูดว่าเดือนตุลาไม่มีอะไรนะ หรือคนเดือนตุลาไม่มีอะไร ไม่ใช่อย่างนั้น ก็ให้บังเอิญว่าเกิดในยุคนั้น เข้าธรรมศาสตร์ปี 2517 ไม่รู้ว่าจะเรียกคนเดือนตุลาหรือเปล่านะ แต่ก็อยู่แถวนั้นแหละ ประเด็นคือตัวเองก็รู้สึกก็ดีใจ เวลามีคนพูดถึง อ้อ ฉันก็อยู่ตรงนั้น ที่ไปเดินก็เดินนะ แต่ไม่ได้ขึ้นเวที ไม่ได้ถือ รูปถือธงทั้งนั้น เดินก็เดินอยู่หางแถว

เห็นด้วยกับคุณรังสิมันต์ว่า คนรุ่นหลังไม่ได้เป็นวัดรอยเท้า ไม่ได้เป็นมรดก หรือเป็นความสืบเนื่อง แล้วเราก็เห็นว่าคนที่เคลื่อนไหวในยุคนั้นก็เปลี่ยนค่ายเปลี่ยนสี ทำไมเดี๋ยวนี้พูดแบบนี้ ก็คิดว่าเขาอาจจะคิดแบบนี้ตั้งนานแล้วมั้ง เพราะฉะนั้นเราจึงหันมาสนใจ 2 เรื่องต่อไปนี้

หนึ่ง เวลาเราศึกษาขบวนการทางสังคม เราจะเน้นศึกษาเรื่องรูปแบบของการเมือง เช่น โครงสร้างเป็นแบบนี้ เงื่อนไขเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นจึงเคลื่อนไหวแบบนี้

สอง เริ่มมีการหันมาให้ความสนใจกับเรื่องรูปแบบ ซึ่งเดิมคนเห็นว่าเป็นเรื่องเชย แต่ว่าแนวคิดนี้กลับมาใหม่ แนวคิดเรื่องการศึกษาผ่านรูปแบบมีความน่าสนใจ เริ่มจากการเคลื่อนไหวในงานวรรณกรรมศิลปะ แล้วก็สถาปัตยกรรม ที่เริ่มหันมาสนใจกับฟอร์ม แต่ฟอร์มในที่นี้ไม่ได้มองโดดๆ ออกมาจากโครงสร้าง

นลินียังเสนอว่า การแบ่งยุคทางการเมืองก็เป็นการเมืองโดยตัวของมันเอง แกนที่ใช้ในการแบ่ง ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของประชาชน แต่ยังคงใช้การแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์ เราก็แบ่งตามรัชกาล หรือแบ่งตามเมืองหลวง แนวคิดทางสังคมศาสตร์ เวลาพูดถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมก็ยังมีอคติทางโครงสร้าง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราพูดเรื่องการเมืองเรื่องชนชั้น หรือแนวคิดการระดมทรัพยากร การจัดวางทฤษฎีแบบนี้ ก็เป็นการใช้อคติในเชิงโครงสร้าง

หรือกรณีที่การศึกษาสนใจเรื่องการเคลื่อนไหว ก็มักกระโดดไปเป็นการวิเคราะห์จิตวิทยา สนใจพฤติกรรมร่วมหมู่ของผู้คับข้องใจ โกรธแค้น จิตวิทยาฝูงชน จึงเห็นว่ารูปแบบการศึกษามันกระโดดไป โดยทั้งหมดนี้เป็นการศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยเน้น “รูปแบบทางการเมือง” ข้อจำกัดของมันคือมองไม่เห็นคน

เวลาเราพูดถึง 6 ตุลาคม เรามักมีข้อสันนิษฐานว่าขบวนการที่เคลื่อนไหวในเวลานั้นมีเอกภาพ แต่ที่จริงเหมือนเรามองสามี-ภรรยา เขาตักข้าวตักปลาให้กินกัน แต่ที่จริงเราก็จะเห็นว่าเขาเองก็มีความขัดกัน

เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เราจะมองอย่างเป็นเอกภาพไม่ได้ เอกภาพไม่ได้เป็นเหตุของการเคลื่อนไหวแต่มันเป็นผล วัฒนธรรมก็เป็นผลของการเคลื่อนไหว เกิดจากการปะทะ ประสานกันของการเคลื่อนไหว ถ้าเราจะมองว่าต้องสร้างขบวนก่อนและเคลื่อนไหว ดิฉันว่าก็น่าจะยังไม่ใช่

นอกจากนี้มีการศึกษาอีกแบบหนึ่ง หากการศึกษาแนวแรกเป็นอคติเชิงโครงสร้าง การศึกษาอีกแบบก็เป็นอคติเชิงรูปแบบ คือการวิเคราะห์ว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมปัจจุบันเป็น New Social Movement หรือ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ ไม่ต่อสู้เรื่องการเมืองในระบบ ไม่อิงชนชั้น ไม่มีเป้าหมายเรื่องการปลดปล่อยแต่หันมาต่อสู้เพื่อให้ยุติการเลือกปฏิบัติ และตัวแสดงหลักคือชนชั้นกลางใหม่ การศึกษานี้เน้นเรื่องรูปแบบ ประเด็นคือไม่เห็นโครงสร้างที่กดทับ นี่ก็เป็นจุดอ่อนทางสังคมศาสตร์ ถ้าเอียงไปทางโครงสร้าง ก็เอียงไปทางรูปแบบ

มีงานของนักเขียนที่ระบุว่าไม่มีอะไรในงานศึกษาแนว ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ เพราะเรายังอยู่ใน regime (ระบอบ) เดิม และมีเงื่อนไขทางชนชั้น อย่างเช่น ถ้าเราพูดเรื่องผู้หญิงท้องไม่พร้อม นี่เป็นเรื่องเพศภาวะ หรือชนชั้น เรายังอยู่ในระบอบของชนชั้นและทุนนิยมโดยไม่เลิกราเสียที ถ้าคุณท้องไม่พร้อมหรือท้องในวัยเรียนในมหาวิทยาลัย แล้วคุณเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อาจารย์มหาวิทยาลัยก็ท้องในวัยเรียนทั้งนั้นกว่าจะเรียนจบอายุ 35 ถ้าไม่ท้องตอนนั้นแล้วจะท้องกันตอนไหน แต่ท้องวัยเรียนแบบนี้ไม่เป็นไร เพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยเขาจัดการเรื่องนี้ได้ หรือคนที่มีเงินก็แก้เรื่องนี้ได้ เพราะฉะนั้นประเด็นต่างๆ ก็ยังเกี่ยวข้องกับระบอบของยุคสมัย ก็คือทุนนิยม และการเคลื่อนไหวก็เปลี่ยนรูปแบบ แต่สำหรับเนื้อหาและสาระสำคัญนั้น ถ้าแนวการวิเคราะห์ติดอยู่ที่รูปแบบ ก็จะมองไม่เห็นในเรื่องชนชั้น หรือโครงสร้างที่กดทับ ไม่เห็นการเชื่อมต่อระหว่างการต่อสู้แบบเก่าและใหม่ เพราะอยู่ๆ การต่อสู้ไม่ได้สวิตซ์จากเก่ามาเป็นใหม่

ที่รังสิมันต์นำเสนอก็น่าสนใจ ถ้าเรากำหนดตัวเองว่าที่จริงเราไม่ได้อยู่ข้างหน้า แต่คนอื่นถอยหลังต่างหาก เพราะฉะนั้นจึงต้องแสวงหาแนวร่วมในแนวระนาบไปก่อนช่วงคราว ดิฉันคิดว่า สมมติเราเอาการเมืองหรือการเคลื่อนไหวมาวางไว้ แล้วดูว่านักกิจกรรมอยู่ตำแหน่งไหน เพราะจะทำให้เขาเลือกวิธีการได้

การเคลื่อนไหวตอนนี้ เขาเป็นผู้บริโภค และเขาก็เป็นวัยรุ่น ถ้าใช้แนวศึกษาแบบนี้เราจะเห็นอะไรในการเคลื่อนไหว ก็คือ เราจะเห็นว่ารูปแบบการเคลื่อนไหวอาจจะไม่สะท้อนโครงสร้างการเมือง ซึ่งโครงสร้างการเมืองอาจจะไม่เปลี่ยน แต่รูปแบบทางการเมืองเปลี่ยน คือการกดทับ การเลือกปฏิบัติ ยังเหมือนเดิม แต่รูปแบบใช้อำนาจเปลี่ยน และการเคลื่อนไหวก็คือต่อต้านการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม การไม่ยอมจำนนต่อการเลือกปฏิบัติและการใช้อำนาจ ดิฉันคือว่าในแง่นี้สำนึกแบบนี้ไม่เปลี่ยน แต่รูปแบบเปลี่ยน ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจรูปแบบของการเคลื่อนไหว จะช่วยให้เราเข้าใจคนได้มากขึ้น และที่รังสิมันต์บอกว่าทำไมคนที่อยู่ต่างจังหวัดเกาะติดชุมชน ก็ต้องให้เครดิตขบวนการชาวนาชาวไร่ เพราะการเคลื่อนไหวที่เข้มแข็งของเขา อย่าคิดว่าอุดมการณ์มาจากเดือนตุลา หรือมาจากนักคิดที่ใหญ่โต แต่มาจากพ่อใหญ่แม่ใหญ่ที่สู้หมดหน้าตักนี่แหละ คือขบวนการต่อสู้ไม่ได้เรียนรู้จากพวกชื่อดังเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net