สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 21-28 ก.ย. 2559

เถ้าแก่ลอยแพ! แรงงานประมงไทยในมาเลเซีย หลังถูกทางการอินโดฯ จับกุมรุกน่านน้ำ/หนุ่มสาวเมินงานหนัก คาดอีก 5 ปีข้างหน้า 'ไทย' ขาดแรงงานภาคเกษตร/ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมรับข้อเสนอ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือ สทน. เพิ่มวันหยุดประจำปีลูกจ้างจาก 6 วัน เป็น 8 วัน/กระทรวงแรงงาน เตรียมเป็นต้นแบบหางานให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่หลังเกษียณอายุราชการให้มีงานทำต่อ/พนักงาน สนง.พัฒนาธุรกิจการค้าฯ กว่า 100 คน ร้องผู้บริหาร หลัง พณ.ใช้นโยบาย One Roof ยุบรวมหน่วยงาน และเหลือสัญญาจ้างเพียง 1 เดือน ส่อถูกลอยแพ ชี้ ถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมเตรียมร้อง “นายกฯ” ช่วยเหลือ

เถ้าแก่ลอยแพ! แรงงานประมงไทยในมาเลเซีย หลังถูกทางการอินโดฯ จับกุมรุกน่านน้ำ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภรรยา และคนในครอบครัวรวม 20 คน ของแรงงานประมงอวนลาก 5 คน ที่เดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.2559 เดินทางมายังที่ว่าการอำเภอเมือง จ.สตูล อีกครั้ง เพื่อขอพบนายอำเภอเมืองสตูล เพื่อร้องให้ช่วยเหลือแรงงานดังกล่าวกลับมาในประเทศไทย หลังขาดการติดต่อไป 2 สัปดาห์ และไม่มีความคืบหน้าในการช่วยเหลือ หลังเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้เข้าร้องขอความช่วยเหลือจากศูนย์ดำรงธรรมสำนักงาน จ.สตูล แต่ก็ไร้วี่แววการให้ความช่วยเหลือ
 
ซึ่งยิ่งสร้างความกังวลใจให้แก่คนในครอบครัว และเป็นห่วงมากยิ่งขึ้น หลังมีข่าวว่าทางการต่างประเทศที่ควบคุม 5 แรงงานประมงไทยไป มีความทุกข์ทรมาน และมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคหอบหืด และโรคตับอักเสบ แถมยังไม่ได้รับยาในการรักษาอีกด้วย
 
นางสมพร เรืองเดช อายุ 30 ปี บ้านเลขที่ 210 ม.2 ต.เจ๊ะบิลัง อ.เมือง จ.สตูล ภรรยาหนึ่งในแรงงานประมงอวนลาก ที่ถูกทางการประเทศอินโดนีเซียควบคุมตัวไป ในข้อหาบุกรุกน่านน้ำเพื่อทำการประมงว่า เป็นห่วง และกังวลหัวหน้าครอบครัวมาก หลังถูกควบคุมตัวในระยะแรกติดต่อสอบถามสารทุกข์ได้ แต่มาระยะหลังขาดการติดต่อมาร่วมสัปดาห์ ยิ่งมีความเป็นห่วง จึงเดินทางมาร้องขอความช่วยเหลือจากนายอำเภอเมืองสตูล ช่วยประสานให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในการรับตัวแรงงานไทย 5 คน ในประเทศอินโดนีเซีย กลับมา เพราะมีหลายคนมีโรคประจำตัว อย่างโรคหอบหืด และโรคตับ เกรงว่าจะได้รับอันตราย
 
นางอุไร สมนึก อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 641 ม.2 ต.เจ๊ะบิลัง อ.เมือง จ.สตูล บอกว่า สามีของตนซึ่งเป็นไต้ก๋งเรือ ตอนนี้ทราบมาว่า ถูกแยกตัวออกไปจากลูกเรือ ซึ่งเป็นพี่น้องกันก็ไม่สามารถติดต่อได้ว่าเป็นอย่างไร เพราะสามีเป็นโรคตับ ต้องรับการรักษา ยาหมดหลายวันแล้ว ทางครอบครัวเป็นห่วง และกังวลมาก เพราะร้องไปที่ศูนย์ดำรงธรรมสำนักงาน จ.สตูล ก็ไม่ทราบความคืบหน้า ยิ่งไม่สบายใจว่าจะเป็นอย่างไร จึงอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยติดตามด้วย
 
ขณะที่ นายศักดา วิทยาศิริกุล นายอำเภอเมืองสตูล กล่าวว่า กรณีนี้ได้ตรวจสอบ และติดตามแล้วพบว่า แรงงานไทยใน จ.สตูล ทั้ง 5 คน เดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย เพื่อทำประมงอวนลาก แต่ไปเดินเรือหาปลาในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซีย โดยไม่มีใบอนุญาตในการประกอบอาชีพแรงงาน โดยใช้พาสปอร์ตไปในฐานะนักท่องเที่ยวลักลอบเข้าเมืองไปแทน พอเกิดเรื่องทำให้การช่วยเหลือมีความอยากลำบาก
 
แต่ถึงอย่างไรขณะนี้จะเร่งทำหนังสือขึ้นไปยังจังหวัด และติดตามต่อไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ในการประสานความช่วยเหลือแรงงานทั้ง 5 คน เบื้องต้น จากการประสานพบว่า สามารถประกันตัวได้ในวงเงินคนละ 430,000 บาท ซึ่งทางครอบครัวไม่สามารถหาวงเงินดังกล่าวได้ เบื้องต้น อย่างไรก็ต้องถูกลงโทษไปตามกระบวนการก่อน และจะเร่งหาแนวทางในการประสานอีกครั้ง และขณะนี้ก็พบว่า เถ้าแก่ในประเทศมาเลเซียที่เป็นผู้ว่าจ้างได้ลอยแพแรงงานไทยทั้ง 5 คนแล้ว
 
นายอำเภอเมืองสตูล กล่าวด้วยว่า ยังมีแรงงานในพื้นที่ จ.สตูล พบนับ 100 ราย ที่ลักลอบเดินทางไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบอาชีพจากจัดหางานจังหวัด หากไม่มีปัญหาไม่เป็นไร แต่หากมีปัญหาเกิดขึ้นการให้ความช่วยเหลือ เมื่อถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือถูกกระทำจากนายจ้างก็ยากที่จะให้ความช่วยเหลือได้
 
สำหรับลูกเรือทั้ง 5 คน ประกอบด้วย นายสาหมาด เรืองเดช อายุ 47 ปี (ไต๋เรือ) ที่อยู่ 614 หมู่ 2 ต.เจ๊ะบิลัง อ.เมือง จ.สตูล พร้อมลูกเรืออีก 4 คน ประกอบด้วย นายสมพร เรืองเดช อายุ 30 ปี นายอดิศร หมัดระหีม อายุ 30 ปี นายภิรุณ บุญกระจ่าง อายุ 36 ปี และนายพิชิต จันทร์แก้ว อายุ 28 ปี โดยทั้งหมดเป็นเครือญาติกัน อยู่ในพื้นที่ ต.เจ๊ะบิลัง อ.เมือง จ.สตูล
 
 
ประกันงัดบำนาญ-สุขภาพโกยเบี้ย อัพเกรดสัญญาเพิ่ม/เจาะลูกค้าพรีเมี่ยมครึ่งปีหลัง
 
นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจนเนอราลี่ ประกันชีวิต (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากร่วมเป็นพันธมิตรกับธนาคารเกียรตินาคินมานานกว่า 1 ปีครึ่ง ล่าสุดบริษัทได้ออกแบบประกันบำนาญชุดใหม่ เพื่อขายผ่านช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ (ขายผ่านธนาคาร) โดยให้ชื่อว่า "ประกันบำนาญ KKGEN Infinite Annuity 88/5" ขายผ่านธนาคารเกียรตินาคิน และเจาะกลุ่มลูกค้าพรีเมี่ยมทั้งในกรุงเทพฯและจังหวัดหัวเมืองใหญ่ที่มีรายได้เดือนละ 50,000 บาทขึ้นไป
 
โดยประกันบำนาญชุดนี้ ลูกค้าสามารถจ่ายเบี้ยประกัน 5 ปี รับความคุ้มครองถึงอายุ 88 ปี ซึ่งจุดเด่นคือ ลูกค้าเริ่มเงินบำนาญตั้งแต่อายุ 55 ปี ซึ่งเร็วกว่าผลิตภัณฑ์บำนาญของบริษัทอื่นๆ ในตลาดที่ให้รับเงินบำนาญเมื่อถึงวัย 60 ปีบริษัทคาดว่าจะมีลูกค้าสนใจซื้อประกันบำนาญชุดนี้เดือนละ 20 รายต่อสาขาธนาคาร
 
นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพเพื่อขายลูกค้าระดับบนอีกชุด ในชื่อ "เฮลท์ ล่ำซำ" ที่ให้ความคุ้มครองแบบเหมาจ่ายในหลักล้านบาท มีเบี้ยประกันเฉลี่ย 35,000-50,000 บาท/กรมธรรม์/ปี ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้านิยมซื้อประกันชุดนี้ผ่านเทเลเซล (ขายผ่านโทรศัพท์) เป็นส่วนใหญ่
 
ด้านนางสาวพัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารการตลาดและสื่อสารองค์กร บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากนโยบายของบริษัทที่เน้นผลิตภัณฑ์ความคุ้มครองและสุขภาพ ในกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบนที่มีรายได้เฉลี่ยมากกว่า 35,000 บาท/เดือน และมีความสามารถชำระเบี้ยประกันภัยเฉลี่ยมากกว่า 25,000 บาท/ปี ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้นำเสนอสัญญาเพิ่มเติม "สุขภาพ ปลดล็อค เอ็กซ์ตร้า" หรือ My Health Plus Extra เริ่มขายมาตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีลูกค้าจำนวน 4,000 กรมธรรม์
 
อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ชุดนี้มีจุดเด่นที่ เพิ่มราคาเบี้ยประกันเพียง 2% แต่มีความคุ้มครองเพิ่มขึ้น 2 เท่า หรือมีความคุ้มครองสูงสุด 2-10 ล้านบาท ดังนั้น บริษัทจึงคาดว่าจะมีลูกค้าที่เคยซื้อสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ "ปลดล็อค" หรือ My Health Plus ประมาณ 10-20% จากลูกค้าปัจจุบันที่มีจำนวน 9,300 กรมธรรม์ที่สนใจอัพเกรดเป็นสัญญาเพิ่มเติมตัวใหม่
 
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนลูกค้าที่ซื้อสัญญาเพิ่มเติม "สุขภาพ ปลดล็อค เอ็กซ์ตร้า" เป็น 10,000 กรมธรรม์ หรือมีเบี้ยประกันประมาณ 244 ล้านบาทภายในสิ้นปี 2559 นี้ นอกจากนี้ ภายในครึ่งปีหลังนี้เตรียมออกผลิตภัณฑ์แบบสัญญาเพิ่มเติมด้านสุขภาพตัวใหม่อีกชุด เพื่อเพิ่มสัดส่วนในกลุ่มผลิตภัณฑ์คุ้มครองของบริษัทให้ขึ้นไปที่ระดับ 35% จากปัจจุบันอยู่ที่ 33% ของผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตรวมของบริษัท
 
นายอามาน คาปัวร์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย "ดิเอ็กซ์คลูซีฟ แคร์" ที่บริษัทนำมาเสนอกับลูกค้านั้น มีจุดเด่นคือ ไม่จำกัดวงเงินสูงสุดของค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ในแต่ละประเภท ไม่จำกัดจำนวนการใช้สิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉินที่เกิดจากอุบัติเหตุ การพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษา ค่าเคมีบำบัด รังสีบำบัด และการผ่าตัดที่ไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
 
โดยผลิตภัณฑ์ชุดนี้มีความคุ้มครองให้เลือก 3 แผน ได้แก่ แบบวงเงินผลประโยชน์ 550,000 บาท, 1,100,000 บาท และ 3,300,000 บาท รับประกันบุคคลชาย-หญิง อายุ 1 เดือน-70 ปี สามารถต่ออายุได้ถึง 84 ปี
 
 
หนุ่มสาวเมินงานหนัก คาดอีก 5 ปีข้างหน้า 'ไทย' ขาดแรงงานภาคเกษตร
 
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวหลังเปิดสัมมนาเหลียวหลังแลหน้าสู่ "Full employment for All Ages 2021" เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมการจัดหางานครบ 23 ปี ว่า การพัฒนาการบริการด้านแรงงาน ต้องทำให้ตรงจุด และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเฉพาะการส่งเสริมการมีงานทำทั้งในและต่างประเทศ การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน โดยในปี 2559 กกจ. ให้บริการจัดหางานทั่วประเทศ มีคนสมัครกว่า 9 แสนคน ได้รับการบรรจุงานกว่า 3 แสนคน สร้างรายได้ 4.7 หมื่นล้านบาท แต่ในอนาคตรูปแบบการจ้างงานจะเปลี่ยนไปจากเดิมใน 5 - 10 ปี รูปแบบการจ้างงาน ภาคการผลิตหลัก 3 ภาค คือ ภาคการเกษตร ภาคการอุตสาหกรรม และภาคการบริการ จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงต้องเตรียมความพร้อมรองรับ
 
นายอารักษ์ กล่าวว่า ปัจจัยด้านอายุของแรงงาน ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ้างงานค่อนข้างมาก มีผลโดยตรงจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ เห็นได้ชัดในกลุ่มแรงงานภาคการเกษตรที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง การจ้างงานจะน้อยลง ใน 5 ปี ปัจจุบันคนทำงานนี้เป็นกลุ่มคนสูงอายุ ขณะที่แรงงานรุ่นใหม่จะไม่เข้ามาแทนที่ เพราะมีทางเลือกอื่นที่ดึงดูดใจมากกว่า
 
ส่วนภาคอุตสาหกรรม ทำงานโรงงาน ควบคุมเครื่องจักร จะเป็นกลุ่มที่มีการจ้างงานลดน้อยลงมากที่สุด จะมีการใช้เทคโนโลยี เครื่องจักร เข้ามาทำงานแทนคน มีการเลิกจ้าง ลดการลงทุน ย้ายฐานการผลิต ขณะที่งานด้านการบริการต่างๆ จะมีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นแทนที่ภาคการเกษตร ในอนาคตอาชีพกลุ่มนี้จะสร้างรายได้ค่อนข้างมาก การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะทำให้การท่องเที่ยว และการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศสมาชิก
 
นายอารักษ์ กล่าวถึง การแก้ไขการขาดแคลนแรงงาน ว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน กกจ.ทำตามลำพังโดดเดี่ยวไม่ได้ ต้องนำโครงสร้างการจ้างงานเข้าไปประกอบกับการกำหนดแผนให้กระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับความเป็นจริง แม้ว่าแรงงานภาคเกษตรจะลดลง แต่ไปเพิ่มในภาคบริการ การส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศยังมีอนาคต และไทยยังมีจุดขายที่เป็นครัวโลก ส่งออกข้าวเลี้ยงดูคนทั่วโลก ส่งออกพ่อครัวแม่ครัว สอดรับกับนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก จึงต้องยกระดับคนกลุ่มนี้ ต้องนำวิทยาการและเทคโนโลยี สร้างมูลค้าสินค้าทางการเกษตรให้มากขึ้น ต้องพัฒนาให้ผู้สูงอายุทำงานต่อเนื่อง มีรายได้ และต้องวางแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งระบบ ตั้งแต่ก่อนเกิดจนเข้าสู่วัยแรงงาน เพื่อให้เป้าหมายการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการวิจัยทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอาชีพ ปี 2558-2562 ที่กองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน ทำการสำรวจและวิเคราะห์จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุความต้องการแรงงานมีเพิ่มทุกปี แต่มีอัตราการขยายตัวต่ำ เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.53 โดยปี 2558 ต้องการแรงงาน 37.99 ล้านคน และปี 2562 ต้องการ 38.80 ล้านคน โดยภาคบริการจะมีแรงงานมากที่สุด อัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.75 ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวมากที่สุด ในปี 2558 มีจำนวน 16.87 ล้านคน และในปี 2562 จะเพิ่มเป็น 18.08 ล้านคน
 
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมรับข้อเสนอ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือ สทน. เพิ่มวันหยุดประจำปีลูกจ้างจาก 6 วัน เป็น 8 วัน
 
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงข้อเสนอสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) ที่ต้องการให้กระทรวงแรงงานแก้ไขกฎหมายเพิ่มวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้กับลูกจ้างแรงงานจาก 6 วัน เป็น 8 วัน ว่า ถ้าหากมีการเสนอเรื่องเข้ามา ก็พร้อมจะนำมาพิจารณา โดยมีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวควรมีการทำประชาพิจารณ์ขอความเห็นชอบจากทุกฝ่ายทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง ว่าเห็นด้วยหรือไม่ และผู้ประกอบการมีความพร้อม เนื่องจากอาจส่งผลต่อแผนการผลิตหากต้องมีการปรับในเรื่องวันหยุดที่มากขึ้น
 
อย่างไรก็ตามการเพิ่มวันหยุดถ้าไม่มีการประกาศตามกฎหมาย ที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน ได้ขอความร่วมมือกับสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกจ้างหยุดงานได้ โดยเฉพาะวันสำคัญต่างๆ ที่ผู้ประกอบการพร้อมให้ความร่วมมือ
 
 
กระทรวงแรงงาน เตรียมเป็นต้นแบบหางานให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่หลังเกษียณอายุราชการให้มีงานทำต่อ
 
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า อีก 20-30 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ฉะนั้นกระทรวงแรงงานจะมีแผนดำเนินนโยบายโมเดลจ้างแรงงานผู้สูงอายุหลังเกษียณ ให้เป็นต้นแบบการหางานให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่หลังเกษียณอายุให้มีงานทำ
 
เบื้องต้นขณะนี้กระทรวงฯได้เริ่มแล้ว โดยมีการจัดศูนย์บริการจัดหางานคนพิการและผู้สูงอายุไปเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ส่วนขั้นตอนต่อไปจะมีการสำรวจข้อมูลต่างๆ เพื่อทำเป็นข้อมูลดำเนินการ เช่น สำรวจตามสถานประกอบว่าปัจจุบันมีผู้สูงอายุทำงานเท่าไหร่ ฯลฯ
 
ขณะนี้อนาคตมองว่าเรื่องนี้ทุกส่วนราชการจะต้องมาหารือร่วมกัน เพื่อดำเนินการจ้างแรงงานผู้สูงอายุหลังเกษียณอย่างจริงจัง โดยกระทรวงแรงงานจะดูในเรื่องของการจ้างงานเป็นหลัก
 
 
กรมส่งเสริมการค้าฯ เร่งผลักดันผู้ประกอบการรับตราสัญลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานการใช้แรงงานที่เป็นธรรม
 
"มาลี โชคล้ำเลิศ" อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า "ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, อภิรดี ตันตราภรณ์ ในการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าและบริการของไทยในตลาดต่างประเทศนั้น การจัดทำตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีในเชิงคุณภาพของสินค้าและบริการ
 
รวมถึงจริยธรรมของผู้ประกอบการไทย เพื่อเสริมสร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าและผู้บริโภคในตลาดโลก ที่ผ่านมาพบว่าผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศไว้วางใจสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark จนทำให้สินค้าอุตสาหกรรมมียอดการส่งออกเป็นที่น่าพอใจ โดยผู้ประกอบการที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark จะต้องผ่านการตรวจประเมิน คือ 1) อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และ 2) มาตรฐานแรงงานที่เป็นธรรม"
 
กรมฯ เปิดรับสมัครให้ผู้ประกอบการส่งออกสามารถสมัครขอรับตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark ได้ถึง 3 ครั้ง ทุกๆ 4 เดือน เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีการพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติครบตามที่กำหนด ปัจจุบันมีผู้ประกอบการส่งออกไทยได้รับตราสัญลักษณ์ TTM แล้วกว่า 685 บริษัท แบ่งเป็นอุตสาหกรรมอาหาร 233 บริษัท อุตสาหกรรมหนัก 177 บริษัท อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ 127 บริษัท อุตสาหกรรมแฟชั่น 49 บริษัท อุตสาหกรรมอื่นๆ 83 บริษัท และธุรกิจบริการ 16 บริษัท (ข้อมูล ณ เดือน มิ.ย.59)
 
สำหรับผู้ประกอบการที่มีความสนใจ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดให้ลงทะเบียนสมัครเพื่อขอรับตราสัญลักษณ์นี้ได้ผ่านเว็บไซต์ www.thailandtrustmark.com สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร.1169
 
 
รบ.ปัดตัดสวัสดิการ ขรก.ให้ศึกษาความเป็นไปได้ประกันเข้ามาดูค่ารักษาแทนรัฐ
 
พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงแนวคิดที่จะให้บริษัทประกันเข้ามาดูแลระบบค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการแทนรัฐ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างให้สมาคมประกันวินาศภัยและสมาคมประกันชีวิตไปศึกษาความเป็นไปได้ระยะเวลา 1 เดือน ว่า สามารถทำได้หรือไม่ โดยยืนยันว่า ทุกอย่างจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และคำนึงถึงประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ
 
“รัฐบาลให้คำมั่นกับพี่น้องข้าราชการ ว่า จะไม่ตัดสิทธิสวัสดิการเดิมที่มีอยู่ เพราะค่ารักษาพยาบาลเป็นสิทธิอันพึงมีพึงได้ของข้าราชการ แต่สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ทุกคนได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ และใช้เงินงบประมาณของแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหลายเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องการวางรากฐานเพื่อการปฏิรูปอย่างยั่งยืนในอนาคต”
 
พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากให้สังคมเปิดใจกว้าง ร่วมกันคิดพิจารณาถึงข้อดีข้อเสีย มากกว่าจะวิพากษ์วิจารณ์จนประเทศไม่สามารถขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าได้ โดยในหลายประเทศก็มีการใช้ระบบนี้เข้ามาดูแลสวัสดิการข้าราชการ ทำให้เกิดความโปร่งใส ป้องกันการใช้สิทธิซ้ำซ้อน การเวียนใช้สิทธิ หรือการเบิกยาเกินควร และช่วยบังคับให้รัฐต้องดูแลส่งเสริมสุขภาพของประชาชนทางอ้อมด้วย
 
“ปัจจุบันข้าราชการส่วนหนึ่งต้องสำรองจ่ายเงินค่ารักษา แล้วนำใบเสร็จไปเบิกต้นสังกัด และบางส่วนใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงกับโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ โดยเข้ารักษาได้เฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น นอกจากนี้ ในแต่ละปีรัฐต้องใช้งบประมาณดูแลค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ 60,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
 
จึงได้กำหนดเงื่อนไขของการศึกษาความเป็นไปได้ว่า ข้าราชการจะต้องได้รับสิทธิสวัสดิการเหมือนเดิม และค่าประกันแต่ละปีต้องไม่มากกว่าที่รัฐบาลจ่ายอยู่ หากไม่ได้ทั้ง 2 เงื่อนไข รัฐบาลก็จะบริหารเองต่อไป
ท่านนายกฯ กำชับให้กระทรวงการคลัง ไปรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องข้าราชการควบคู่กับการศึกษาความเป็นไปได้ของทั้ง 2 สมาคมด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลอาจพิจารณาให้สิทธิประโยชน์บางส่วน เพื่อให้บริษัทประกันสามารถดำเนินการได้ และจะส่งเสริมระบบ e-payment ในภาคประกันภัย ตามนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ”
 
 
สตม.ช่วย 21 สาวไทยถูกหลอกค้ากามที่โอมาน รวบ 3 นายหน้าคนไทยร่วมขบวนการ
 
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 25 ก.ย. ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองทอ.กรุงเทพฯ สนามบินดอนเมือง พล.ต.ท.ณัฐธร เพราะสุนทร ผบช.สตม. แถลงข่าวการช่วยเหลือหญิงไทยที่ถูกหลอกไปบังคับค้าประเวณีที่ตะวันออกกลางว่า ทางเจ้าหน้าที่สามารถช่วยหญิงสาวกลับมายังประเทศไทยได้ จำนวน 21 คน และสามารถจับกุมคนร้ายที่เป็นคนไทย ที่ร่วมกับคนโอมานหลอกหญิงไทยไปขายบริการ จำนวน 3 คน คือ1.น.ส.สุภานัน ยิ่งพิมาย อายุ 29 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลอาญารัชดา ที่ 1781/2559 วันที่ 15 ก.ย.59 2.น.ส.ณัฎฐณิชา คงประเสริฐ อายุ 36 ปี ผู้ต้องหาตามหมายตามหมายจับที่ 1785/2559 วันที่ 15 ก.ย.59 และ 3.น.ส.ปาลิดา กลีบบัว อายุ 27 ปี ซึ่งถูกจับกุมก่อนหน้านี้ ในข้อหาสมคบกันในการตกลงกันตั้งแต่ 3 คน ขึ้นไปเพื่อการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ร่วมกันเป็นธุระจัดหาเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น และเป็นธรุจัดหาเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี
 
พล.ต.ท.ณัฐธร กล่าวว่า เนื่องจากพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.สั่งการให้ สตม.การคัดกรอง ผู้โดยสารที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองทุกเส้นทางการเดินเข้าออก รวมทั้งซักถามคนไทยที่ถูกส่งกลับ จากต่างประเทศโดยเฉพาะแถบตะวันออกกลางจนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 ได้ข้อมูลว่า มีหญิงไทยจำนวน 3 คนถูกหลอกให้ไปทำงานเป็นหมอนวดแผนโบราณรายได้ดีที่ประเทศโอมาน โดยกลุ่มคนร้ายจะออกอุบายว่า จะออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่พักและอาหารให้ทั้งหมด แต่เมื่อไปถึงกลับถูกหลอกบังคับให้ขายตัว โดยคนร้ายจะยึดพาสปอร์ตแล้วจะบอกกับเหยื่อว่า ต้องทำงานใช้หนี้ทั้งหมดเป็นเงิน 160,000 บาท หากหลบหนีจะถูกทำร้าย จนในที่สุดเหยื่อทั้ง 3 คน ขอให้ชาวอินเดียที่มาใช้บริการช่วยเหลือพาหลบหนีไปพบเจ้าหน้าที่แล้วส่งต่อกลับไทย จนเป็นที่มาของการออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 5 คน เป็นหญิงไทย 3 คน ชายชาวต่างชาติ 2 คน และทราบว่ายังมีคนไทยต้องให้ช่วยอีกเป็นจำนวนมาก ส่วนผู้ต้องหาที่เป็นชาวต่างชาติทางตำรวจโอมานกำลังเร่งติดตามมาดำคดีตามกฎหมาย
 
 
รับเหมารายเล็ก-กลางซึมไตรมาส4งานก่อสร้างใหม่มีน้อย แถมโดนต่อรองราคาลง 3-5%
 
นายกฤษดา จันทร์จำรัสแสง ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท วงศ์จันทร์ เปิดเผยว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะผู้รับเหมาก่อสร้างรายเล็กที่รับงานก่อสร้างที่มีมูลค่างานไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และรายกลางที่รับงานตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป ถึงไม่เกิน 500 ล้านบาท มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง เนื่องจากงานก่อสร้างใหม่นั้นยังออกมาค่อนข้างน้อยสำหรับกลุ่มงานที่ความสามารถของผู้รับเหมารายเล็ก-กลางจะทำได้ และส่วนใหญ่ถูกต่อรองให้ลดราคางานก่อสร้างลงอีก 3-5% เนื่องจากเห็นว่าวัสดุก่อสร้างไม่ได้มีการปรับราคาขึ้นและแรงงานก่อสร้างไม่ได้ขาดแคลน
 
"เวลานี้งานก่อสร้างใหม่ยังมีน้อยมาก โดยเฉพาะงานก่อสร้างอาคารของภาครัฐจึงทำให้เกิดการแข่งขันของผู้รับเหมารายเล็กและรายกลางไปแย่งชิงเพื่อรับงานก่อสร้าง แม้จะมีระบบอี-ออกชั่นประมูลงาน แต่ก็ต้องกดราคาเพื่อแข่งขันกัน ในส่วนของรับเหมารายใหญ่นั้นไม่น่าห่วง เนื่องจากงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ออกมาประมูลค่อนข้างเยอะ บางส่วนอาจจะมีการแบ่งงานให้รับเหมารายกลาง รับไปช่วยดำเนินงาน"
 
นายธัช ธงภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส (พีพีเอส) กล่าวว่า ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะต้องเร่งปรับตัว โดยจะต้องมุ่งหาสิ่งที่ตนเองมีความชานาญ อย่างบริษัท พีพีเอส จะมีความชานาญด้านการบริหารงานและควบคุมงานก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างในช่วงครึ่งปี
 
หลังปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากการที่ภาครัฐเร่งลงทุน โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ขณะเดียวกันสภาพเศรษฐกิจ มีสัญญาณการฟื้นตัว ส่งผลให้ธุรกิจภาคเอกชนเริ่มมีความมั่นใจในการลงทุนโครงการใหม่
 
ด้าน นางวันเพ็ญ ธนธรรมสิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวลธ์ ดีเวลลอปเปอร์ กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างประเภทศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ ในชื่อบริษัท เอสพีซี หรือสแตนดาร์ด เพอร์ฟอร์มานซ์ ได้ก่อตั้งบริษัท เวลธ์ ดีเวลลอปเปอร์ มาเพื่อพัฒนาธุรกิจอสังหาฯ เนื่องจากมองเห็นโอกาสการเติบโตทางด้านอสังหาริมทรัพย์ ล่าสุดบริษัทได้นำที่ดินมาพัฒนาโครงการเดอะซี (The ZEA) เป็นคอนโดมิเนียมสูง 39 ชั้น จำนวน 585 ยูนิต มูลค่าโครงการ 2,700 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
 
"ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างต้องปรับตัว เช่น บริษัทยังมีงานก่อสร้างไฮเปอร์มาร์เก็ต รวมไปถึงคอมมูนิตี้มอลล์หลายแห่ง แต่ก็มองเห็นโอกาสในการพัฒนาโครงการ อสังหาฯ เอง เนื่องจากสามารถบริหารจัดการต้นทุนก่อสร้างได้ดีกว่า แต่สิ่งที่ขาดคือแบรนด์สินค้า" นางวันเพ็ญ
 
 
15 จว.เฮ ขึ้นค่าแรง 304-360 บาท บอร์ดค่าจ้างไฟเขียวเริ่ม 1 ม.ค.60
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง และนายจ้าง อยู่ระหว่างพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำซึ่งจะนำมาใช้ในปี 2560 หลังจากก่อนหน้านี้เคยพิจารณาข้อเสนอขอปรับค่าแรงขั้นต่ำที่อนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดรวม 6 จังหวัด แต่ชะลอดำเนินการออกไปเนื่องจากมองว่าสถานการณ์ยังไม่เหมาะสม และให้อนุกรรมการทั้ง 6 จังหวัด นำกลับไปทบทวนแล้วเสนอมาใหม่ ล่าสุดจากข้อมูลผลสรุปของอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด 77 จังหวัดทั่วประเทศพบว่า มี 13 จังหวัดเสนอขอปรับค่าแรงขั้นต่ำ ขณะนี้อยู่ระหว่างให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณา ภายใน 1 เดือนจากนี้ไปจะได้ข้อสรุปชัดเจนว่าจะประกาศปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในจังหวัดใดบ้าง
 
ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่เหลือ หากจังหวัดใดต้องการให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเติม คณะอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดต้องจัดทำข้อมูลรายละเอียดเสนอมายังกระทรวงแรงงาน ภายในวันที่ 30 กันยายนนี้ จะได้นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามขั้นตอน โดยจะเร่งดำเนินการให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด
 
สำหรับ 13 จังหวัดที่อนุกรรมการค่าจ้างขอให้ปรับขึ้นค่าจ้าง ประกอบด้วย 1.เพชรบูรณ์ 2.สกลนคร 3.พระนครศรีอยุธยา 4.ฉะเชิงเทรา 5.ปราจีนบุรี 6.ชลบุรี 7.กระบี่ 8.ภูเก็ต 9.นราธิวาส 10.อ่างทอง 11.สระบุรี 12.ปทุมธานี และ 13.สมุทรสาคร ส่วนอีก 64 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.) อนุกรรมการระดับจังหวัดไม่ได้เสนอขอปรับขึ้นค่าจ้าง ทั้งนี้ในส่วนของ 11 จังหวัดแรกเสนอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 2 อัตรา โดยฝ่ายนายจ้างเสนอปรับค่าจ้างขึ้นวันละ 15 บาท ขณะที่ลูกจ้างเสนอปรับขึ้นค่าจ้างวันละ 60 บาท ขณะที่ภาพรวมการขอปรับค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 4-60 บาท
 
ม.ล.ปุณฑริกกล่าวว่า การพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้นอกจากจะมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานร่วมพิจารณา ในรูปของอนุกรรมการเฉพาะกิจ อาทิ ผู้แทนกระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงพาณิชย์ นักวิชาการ รวมทั้งตัวแทนลูกจ้างและนายจ้างแล้ว สูตรที่นำมาใช้ประกอบการพิจารณายังเป็นสูตรใหม่ โดยนำปัจจัยต่าง ๆ รวม 10 ปัจจัย มาชั่งน้ำหนัก ได้แก่ 1.ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ 2.ข้อเท็จจริงอื่นโดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ 3.อัตราเงินเฟ้อ 4.มาตรฐานการครองชีพ 5.ต้นทุนการผลิต 6.ราคาสินค้าและบริการ 7.ความสามารถของธุรกิจ 8.ผลิตภาพแรงงาน 9.ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และ 10.สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม
 
ดังนั้นนอกจาก 13 จังหวัดที่อนุกรรมการระดับจังหวัดเสนอขอปรับขึ้นค่าแรงแล้ว หากอนุกรรมการเฉพาะกิจเห็นว่ามีจังหวัดอื่น ๆ ที่เห็นควรให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำด้วย โดยนำ 10 ปัจจัยดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าข่าย อนุกรรมการเฉพาะกิจอาจเสนอให้ปรับขึ้นค่าแรงพร้อม 13 จังหวัดแรกด้วยก็ได้ ทั้งนี้ เบื้องต้นอาจประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 300 บาทต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดิมรวมทั้งหมด 15 จังหวัด โดยจะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ขณะที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมประกาศใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา
 
ส่วนแต่ละจังหวัดจะปรับขึ้นเท่าใดนั้นพิจารณาตามสภาพพื้นที่ สภาพข้อเท็จจริงของข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ความสามารถของนายจ้าง ฯลฯ อาจปรับขึ้นแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน เนื่องจากองค์ประกอบหลาย ๆ ปัจจัยแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ เพราะโดยหลักการเมื่อนำปัจจัยต่าง ๆ มาพิจารณาตามสูตรตัวเลขจะออกมาว่าควรปรับขึ้นมากน้อยแค่ไหน เป็นหลักวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ อนุกรรมการเฉพาะกิจจึงต้องพิจารณาด้วยว่า ทั้ง 15 จังหวัดที่มีแนวโน้มว่าจะให้ปรับขึ้นค่าแรงควรปรับขึ้นในอัตราเท่า ๆ กันจาก 300 บาทต่อวัน เป็น 360 บาทต่อวันทั้งหมด หรือปรับขึ้นมากน้อยตามความเหมาะสมและสภาพความเป็นจริงแต่ละจังหวัด
 
สำหรับข้อเสนอของฝ่ายลูกจ้างก่อนหน้านี้ที่ขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก60 บาท เป็น 360 บาทต่อวัน โดยหยิบยกเหตุผลสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาก อยู่ที่อนุกรรมการเฉพาะกิจจะพิจารณาว่าเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอหรือไม่ จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดไตรภาคี) พิจารณาก่อนนำไปออกประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ต่อไป
 
 
กรมการจัดหางาน เผยมีตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศกว่า 2 แสนอัตรา แนะคนหางานใช้แอฟพิเคชั่น Smart Job Center เพื่อความสะดวก
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน บอกว่า สถานการณ์การจ้่างงานล่่าสุดมีสถานประกอบการจำนวน 7,310 แห่ง แจ้งความต้องการจ้างพนักงาน รวม 206,053 คน แบ่งเป็นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 127,309 ภาคเหนือ 9,826 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21,383 คน ภาคกลาง 12,482 คน ภาคตะวันออก 17,391 คน ภาคตะวันตก 1,786 คน และภาคใต้ 15,876 คน ตำแหน่งที่เปิดรับมากสุด
 
ได้แก่ ช่างไฟฟ้าทั่วไป ,พนักงานบริการลูกค้า, เจ้าหน้าที่คลังสินค้า,พนักงานขายสินค้า ,แรงงานในด้านการผลิตต่างๆ การตลาด ,พนักงานขับรถ, พนักงานบัญชี ,เสมียน และพนักงานธุรการ ขณะที่จำนวนคนหางานรวมทั่วประเทศ จำนวน 287,134 คน
 
ส่วนใหญ่สนใจสมัครในตำแหน่งพนักงานบันทึกข้อมูล พนักงานบริการลูกค้า สำหรับประชาชนที่สนใจ สมัครงานผ่านแอฟพิเคชั่น Smart Job Center หรือ เว็ปไซด์ของกรมการจัดหางานได้
 
 
ชงร่างค่าตอบแทน ผู้รับงานทำที่บ้าน
 
น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่ า เมื่อเร็วๆนี้ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้านได้เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้านเรื่องอัตราค่าตอบแทนในงานที่รับไปทำที่บ้าน เพื่อให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม สร้างแรงจูงใจให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านมีการพัฒนาทักษะฝีมือเทียบกับแรงงานในระบบโดยร่างประกาศมีเนื้อหาสรุปว่า อัตราค่าตอบแทนของผู้รับงานไปทำที่บ้านต้องไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดซึ่งปัจจุบันอยู่ที่วันละ 300 บาท โดยแยกเป็น 2 กรณีคือ กรณีที่มีการจ้างงานกันในสถานประกอบการอัตราค่าตอบแทนต้องไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างในสถานประกอบการ เมื่อคำนวณต่อหน่วยตามลักษณะงาน คุณภาพอย่างเดียวกันและปริมาณเท่ากัน เช่น ผู้ว่าจ้างมีโรงงานผลิตกระเป๋าสานพลาสติกจ่ายค่าจ้างวันละ 300 บาทโดยลูกจ้างในโรงงานผลิตชิ้นงานได้ 10 ใบ เมื่อเทียบเคียงกันผู้รับงานไปทำที่บ้านก็ต้องผลิตชิ้นออกมาให้ได้เท่ากันอธิบดีกสร กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ไม่มีการจ้างงานกันในสถานประกอบการนั้นก็ต้องได้รับค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเช่นกันโดยให้เป็นไปตามที่ผู้จ้างงานและผู้รับงานไปทำที่บ้านทำความตกลงกันว่าจะต้องผลิตชิ้นงานได้กี่ชิ้น แต่หากทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ให้แจ้งต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้ช่วยวินิจฉัยให้ได้ข้อตกลงร่วมกัน ทั้งนี้ หากผู้ว่าจ้างผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่ปฏิบัติตามประกาศมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท จำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะนี้ร่างประกาศฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาของฝ่ายกฎหมายของกระทรวงแรงงานแล้วและได้เสนอต่อม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้านเพื่อพิจารณาลงนามคาดว่าประกาศจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายนนี้
 
 
ผู้ประกันตนทวงถาม สปส. ชดเชย จ่ายค่าส่วนต่าง “ทำฟัน” ก่อนยกเลิกประกาศแนบท้ายไม่เกิน 900 บาท
 
นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า แม้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะยกเลิกการกำหนดอัตราค่าบริการทันตกรรมแนบท้าย และให้ผู้ประกันตนรับบริการทันตกรรมได้ 900 บาทต่อปี โดยไม่มีเงื่อนไขแล้ว แต่ก่อนหน้านั้น ที่มีการออกบัญชีแนบท้ายมา และส่งผลให้ผู้ประกันตนต้องจ่ายเพิ่ม เช่น ตามบัญชีแนบท้าย ค่าอุดฟันกำหนดไม่เกิน 300 บาทต่อซี่ แต่เมื่อไปอุดฟันตามคลินิกต้องจ่าย 400 บาท ผู้ประกันตนต้องจ่ายเองอีก 100 บาท ทาง สปส. จะมีการจ่ายชดเชยย้อนหลังให้หรือไม่
 
นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการการแพทย์ สปส. กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการพูดในที่ประชุมกรรมการการแพทย์ แต่หากมีข้อร้องเรียน หรือข้อร้องทุกข์ใด ๆ สามารถเสนอเรื่องเข้ามาได้ ก็จะมีการพิจารณาอีกครั้ง แต่โดยหลักทาง สปส. มุ่งประโยชน์ผู้ประกันตนเป็นหลัก โดยให้รับบริการทันตกรรมได้ 900 บาทต่อปี โดยไม่มีการกำหนดอัตราค่าบริการรายกรณี เช่น อุดฟัน ขูดหินปูน หรือ ถอนฟัน แต่หากไปรับบริการคลินิกเอกชน หรือสถานพยาบาลเอกชน ก็ต้องเข้าใจว่าหากค่าบริการเกินกว่า 900 บาทที่กำหนด ผู้ประกันตนจะต้องออกส่วนต่างเอง
 
 
กระทรวงแรงงาน แจงต่างด้าวกัมพูชาถูกกฎหมายกลับไปลงทะเบียนเลือกตั้งได้ พร้อมช่วยเชิญชวนให้นายจ้างอนุญาตยันยกเลิกค่าธรรมเนียมให้ไม่ได้
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กรณีที่ นางมู ซก ฮัว อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสตรี กัมพูชา ในฐานะ ส.ส.เมืองพระตะบอง เรียกร้องขอให้รัฐบาลไทยออกประกาศอนุญาตให้แรงงานกัมพูชาที่อยู่ในไทยทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายประมาณ 1.1 ล้านคนได้สิทธิกลับกัมพูชาเพื่อไปลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งระหว่างวันที่ 1ก.ย.-29 พ.ย.นี้ โดยไม่เสียสิทธิการกลับเข้ามา รวมถึงไม่ต้องจ่ายเงินค่าขาดงานให้นายจ้าง ว่า ถ้าเป็นแรงงานกัมพูชาที่ถูกกฎหมายในกลุ่มที่ถือพาสปอร์ตสามารถไปได้ แต่จะต้องตกลงกับนายจ้างว่าจะให้ไปได้หรือไม่ ส่วนแรงานกัมพูชาที่ถือบัตรอนุญาตทำงานชั่วคราว (บัตรสีชมพู) กลุ่มนี้ไม่สามารถเดินทางไปได้ รวมถึงขอเรียกร้องการยกเว้นค่าธรรมเนียมก็ไม่สามารถทำได้เพราะต้องปฏิบัติหลักของตามกฎหมาย
 
แต่ถึงอย่างไรถ้ากัมพูชาขอความร่วมมือเข้ามา กระทรวงแรงงานก็จะต้องปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกันกับการเลือกตั้งที่มีเมียนมาครั้งที่แล้ว คือ ขอความร่วมมือเชิญชวนให้นายจ้าง อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวกัมพูชาที่ถูกกฎหมาย ลางานไปเลือกตั้งโดยที่สามารถกลับเข้ามาทำงานต่อได้ เพราะถ้าเป็นเรื่องทางการเมืองกระทรวงแรงงานคงต้องดำเนินการให้อยู่ในความเป็นกลาง ม.ล.ปุณฑริก กล่าว
 
ขณะที่ นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ตามหลักการถ้าเป็นต่างด้าวที่ถือพาสปอร์ตก็สามารถไปได้ แต่ต้องขออนุญาตลางานกับนายจ้างก่อน แต่ถ้าเป็นกลุ่มต่างด้าวที่ถือบัตรชมพู ซึ่งยังไม่มีเอกสารประจำตัว การเดินทางไปไม่น่าที่จะทำได้ เพราะถือว่าเข้าเมืองมาโดยไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้ต้องดำเนินการตามระเบียนของกฎหมายพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
 
การที่จะขอแรงงานต่างด้าวกัมพูชาทั้งในส่วนที่ถูกและไม่ถูกกฎหมาย เดินทางไปนั้นในส่วนนี้ต้องเป็นนโยบายทางรัฐบาล เป็นผู้พิจารณา ซึ่งทางกระทรวงแรงงานไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงได้ คนที่ไปได้ก็จะต้องปฏิบัติตามระเบียบของสถานประกอบการที่จะตกลงกัน เพราะการลาไปเลือกตั้งไม่ใช่วันหยุดตามประเพณีปกติ นายอารักษ์ ระบุ
 
 
พนักงาน สนง.พัฒนาธุรกิจการค้าฯ กว่า 100 คน ร้องผู้บริหาร หลัง พณ.ใช้นโยบาย One Roof ยุบรวมหน่วยงาน และเหลือสัญญาจ้างเพียง 1 เดือน ส่อถูกลอยแพ ชี้ ถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมเตรียมร้อง “นายกฯ” ช่วยเหลือ
 
เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 28 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานราชการ สังกัดสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ประมาณ 100 คน เดินทางมาเรียกร้องต่อผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ กรณีได้รับผลกระทบจากการปรับนโยบาย One Roof ที่จะมีการยุบรวมหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ที่อยู่ในส่วนภูมิภาคให้ไปสังกัดสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เพราะขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในการต่อสัญญาจ้างอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร
 
ทั้งนี้ หลังจากที่มีคำสั่งให้โอนย้ายพนักงานราชการของสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด ไปสังกัดสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ จะมีการต่อสัญญาจ้างพนักงานราชการให้เพียง 1 เดือน คือ เดือน ต.ค.59 และไม่มีหลักประกันว่าต่อไปจะได้รับการต่อสัญญาจ้างหรือไม่ จากปกติสัญญาจ้างจะมีระยะเวลา 4 ปี และยังมีข่าวอีกว่า จะมีการปรับตำแหน่งพนักงานราชการลง หรือเลิกจ้าง แล้วหันไปใช้ระบบการจ้างเหมาบริการแทน ซึ่งจะทำให้พนักงานราชการ ถูกลดเงินเดือน โดยมีอัตราจ้างตั้งแต่ 9,000 - 13,000 บาทเท่านั้น
 
ด้านตัวแทนพนักงานราชการที่เดินทางมายื่นหนังสือเรียกร้องในครั้งนี้ ชี้แจงว่า ถ้ายังไม่มีความชัดเจน พนักงานราชการของสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดทั่วประเทศ 262 คน จะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะปกติพนักงานราชการของทุกหน่วยงานรัฐ จะได้รับการต่ออายุสัญญาจ้าง 4 ปี แต่ตอนนี้ได้รับการต่อสัญญาจ้างเพียง 1 เดือน จึงไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร จะมีงานทำต่อหรือไม่ แล้วถ้าถูกปรับไปเป็นพนักงานจ้างเหมาบริการ จะกระทบต่อครอบครัวแน่นอน เพราะรายได้จะลดลง บางคนลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ปัจจุบัน
 
นอกจากนี้ ยังจะกระทบต่องานให้บริการที่อยู่ในความดูแลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เช่น การรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท การขอหนังสือรับรองนิติบุคคล การส่งงบการเงินผ่านระบบ e-Filing เป็นต้น
 
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับใช้นโยบาย One Roof และปรับตำแหน่งพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดเป็นระดับอำนวยการสูง และได้เพิ่มเงินประจำตำแหน่งอีกเป็น 20,000 บาท โดยมีการตัดตำแหน่งลูกจ้างเหมาบริการออก ปรับลดเงินเดือนแม่บ้าน และพนักงานขับรถ เพื่อนำเงินไปเพิ่มให้กับพาณิชย์จังหวัด ซึ่งทำให้ลูกจ้างเหมาบริการ และพนักงานราชการได้รับผลกระทบอย่างมาก
 
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนายวิชัย โภชนกิจ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ได้เชิญตัวแทนพนักงานราชการเข้าไปหารือ เพื่อชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งหากการหารือไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน พนักงานราชการจะเดินทางไปยังศูนย์ดำรงธรรม ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ให้เข้ามาช่วยเหลือต่อไป
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท