Skip to main content
sharethis

28 ก.ย. 2559 รายงานข่าวจาก มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2559 ศาลจังหวัดปราจีนบุรีออกนั่งพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องนัดที่ 6 คดีอาญา หมายเลขดำที่ อ.925/2558 กรณี ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ยื่นฟ้องเจ้าพนักงานตำรวจ 7 นาย ได้แก่ พนักงานตำรวจสภ.เมืองปราจีนบุรี 2 นาย และพนักงานตำรวจกองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี 5 นาย โดย ฤทธิรงค์ กล่าวหาว่า ถูกเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมตัวโดยมิชอบและนำตัวไปทำร้ายร่างกายเพื่อบังคับให้รับสารภาพในคดีซึ่งตนไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด เหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2552

ฤทธิรงค์ โจทก์ ได้เบิกความตอบคำถามติงของทนายความโจทก์ ได้ความว่าในวันเกิดเหตุขณะที่อยู่ในห้องซึ่งเป็นที่เกิดเหตุและถูกทำร้ายร่างกายอยู่นั้น ไม่มีผู้ใดอยู่ในที่เกิดเหตุนอกจากตนกับเจ้าพนักงานตำรวจที่เป็นผู้ทำร้ายร่างกายตน โดยตนถูกรุมทำร้ายอยู่ภายในห้องที่ปิดประตูหน้าต่าง บานประตูติดฟิล์มดำ หน้าต่างมีผ้าม่านกั้น ซึ่งคำให้การดังกล่าวได้ขัดแย้งกับคำให้การของพยานบุคคลอื่น ๆ ของฝ่ายเจ้าพนักงานตำรวจ ที่ได้ให้การไว้ในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ท. โดยแต่ละคนอ้างว่าได้อยู่ในที่ห้องที่เกิดเหตุด้วยและไม่พบเห็นเหตุการณ์เจ้าพนักงานตำรวจร่วมกันทำร้ายร่างกายนายฤทธิรงค์  ซึ่งนายฤทธิรงค์เชื่อว่าบุคคลที่ไปเป็นพยานให้การต่อ ป.ป.ท. เหล่านั้น ถูกอุปโลกน์และสร้างเรื่องขึ้น แล้วให้การเป็นเท็จต่อ ป.ป.ท. เพื่อช่วยเหลือเจ้าพนักงานตำรวจ

หลังจาก ฤทธิรงค์ ได้เบิกความเสร็จสิ้นแล้ว ทนายความโจทก์ได้นำพยานอีก 1 ปากขึ้นเบิกความ คือ สมศักดิ์ ชื่นจิตร ซึ่งเป็นบิดาของฤทธิรงค์  โดย สมศักดิ์ เบิกความตอบทนายความโจทก์ สรุปได้ว่า ในวันเกิดเหตุ ตนทราบเรื่องลูกชายถูกตำรวจจับไปในตอนเย็น จึงได้ตามไปที่สถานีตำรวจ หลังลูกถูกนำตัวไปตรวจหาสารเสพติดและไม่พบว่ามีการเสพสารเสพติด จนกระทั่งนำตัวกลับไป สภ.เมืองปราจีนบุรี แล้วทำการปล่อยตัว โดยลูกไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาใด ๆ ทั้งๆ ที่ตนท้าให้ผู้หญิงที่อ้างว่าเป็นผู้เสียหายมาชี้ตัวลูกของตนว่าเป็นคนวิ่งราวทรัพย์ ว่าให้ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ ตนจะได้ประกันตัวลูกไปสู้คดี เพราะขณะนั้นเป็นเวลาค่ามืดมากแล้ว แต่หญิงดังกล่าวกลับเรียกร้องจะเอาเงินห้าหมื่นบาทเท่านั้น ตนปฏิเสธ ก็ยังไม่ยอมแจ้งความร้องทุกข์  ตนจึงขับรถยนต์ประคองเส้นทางพาลูกชายซึ่งขี่จักรยานยนต์กลับ ถึงบ้านในเวลาประมาณ 3 ทุ่ม   ตอนแรกตนและภรรยายังไม่ทราบว่าลูกถูกทำร้ายร่างกาย จนกระทั่งสังเกตเห็นรอยช้ำที่รอบข้อมือทั้งสองข้างและลูกมีอาการสั่นในลักษณะหวาดกลัวมาก สอบถามลูกว่าเกิดเหตุการอะไรขึ้น แต่ลูกยังคงบ่ายเบี่ยงที่จะตอบคำถาม จีงได้ปลอมใจอยู่เป็นเวลานานให้หายจากอาการสั่นกลัวและเกลี้ยกล่อมให้เล่าความจริง ปลอบลูกอยู่กับพ่อแม่ปลอดภัยไม่มีใครทำอะไรได้แล้ว ลูกจึงได้เล่าเหตุการณ์ให้ทราบว่าพนักงานตำรวจร่วมกันทำร้ายร่างกายบังคับให้รับสารภาพว่าเป็นผู้วิ่งราวทรัพย์ ที่ไม่ยอมเล่าให้พ่อแม่ฟังแต่แรกเนื่องจากหวาดกลัวเพราะเจ้าพนักงานตำรวจที่ร่วมกันทำร้ายร่างกาย ได้พูดข่มขู่ว่าหากนำเรื่องดังกล่าวไปแจ้งให้ใครทราบจะอุ้มไปฆ่าทิ้งที่ภูเขา  เมื่อตนได้ตรวจดูตามร่างกายของลูก พบรอยช้ำที่ข้อมือ ต้นคอด้านหลัง สีข้าง และบริเวณท้อง จึงได้ถ่ายภาพบาดแผลนั้นไว้   วันรุ่งขึ้น (29 มกราคม 2552) ตนได้พาลูกชายไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลบ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี และได้แจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.บ้านสร้าง เรื่องเหตุการณ์ที่ลูกชายถูกทำร้ายร่างกายยังไม่จบคำซักถามปากนายสมศักดิ์

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานด้วยว่า เนื่องจากใกล้หมดเวลาราชการแต่ทนายความโจทก์ยังมีคำซักถามอีกมาก ศาลจึงมีคำสั่งให้เลื่อนไปสืบพยานปากนี้ต่อ ในวันที่ 3 ต.ค.นี้ เวลา 13.30 น. 

ติดตามเรื่องราวที่ผ่านมาได้ที่เว็บไซต์ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม https://voicefromthais.wordpress.com/2016/09/25/ศาลจังหวัดปราจีนบุรี-ได/

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net