เวทีแรกเปิดรับฟังร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง-เลือกตั้งส.ส.

กรธ.จัดรับฟังความเห็นก่อนปรับแก้ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับแรก พรรคการเมือง-ส.ส. หลัง กกต.ยกร่างเรียบร้อย ชาติไทยพัฒนาโวยบีบจนพรรคการเมืองทำนโยบายไม่ได้จะทำวงจรขายเสียงเฟื่องฟู ด้านพรรคเล็กโวยหนักเก็บค่าสมาชิกพรรค 200 จัดเวทีเล็กเกิน กกต.ไม่ศึกษาปัญหาจริง 

28 ก.ย.2559 ที่รัฐสภา คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดรับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนุญว่าด้วยพรรคการเมือ พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.....” โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานของรัฐ พรรคการเมือง และประชาชนทั่วไปสนใจเข้าร่วมฟังจนล้นห้องประชุม

“ท่านที่ร่างล้วนเป็นปราชญ์ราชบัณฑิต พวกท่านเหมือนเป็ด ไข่แล้วก็หนี ส่วนพวกผมเหมือนไก่ไข่แล้วต้องฟูมฟัก”

“เรานักการเมืองไม่ใช่ผีไม่มีศาล ท่านต้องมาตั้งศาลให้พวกเราอยู่ แต่เมื่อท่านทำแล้วเราก็ต้องไปอยู่”

“พวกท่านอยากให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง จริงๆ เราเข้มแข็งอยู่แล้ว แต่พวกท่านที่ยกร่างทำให้มันอ่อนแอ ออกกฎระเบียบมาเยอะแยะ ถามว่า กกต.เคยไปสอบถามพรรคต่างๆ ไหมว่าเจอปัญหาอะไรบ้าง เรื่องนี้ไม่ใช่แค่คิดกัน 4-5 คนแล้วร่างออกมา”

“ขนาดท่านไม่ประชาสัมพันธ์เรายังมากันล้น ถ้าท่านจะสร้างประชาธิปไตยมันต้องจัดให้ใหญ่กว่านี้”

เหล่านี้คือเสียงสะท้อนเรื่องการจัดงานและการยกร่างฯ จากตัวแทนพรรคการเมืองขนาดเล็กหลายพรรคที่เข้ารับฟังเวทีวันนี้

ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับนับเป็น 2 ฉบับแรกที่ สปท.นำเสนอจากนั้น กกต. เป็นผู้ยกร่างเค้าโครง แล้ว กรธ.นำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนดำเนินการคัดสรรปรับแก้หรือเพิ่มเติมก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.

สำหรับรายละเอียดเนื้อหากฎหมายพรรคการเมือง ประวิช รัตนเพียร และ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ตัวแทนจาก กกต. ผู้ยกร่างเค้าโครงเป็นผู้สรุปประเด็นเบื้องต้นดังนี้

“กกต.ทำงานมา 18 ปี มีคณะกรรมการมาแล้ว 4 ชุด จึงนำเอาประสบการณ์ทั้งหมดมาใส่ให้ กรธ.พิจารณา”

1.       กำหนดให้ กกต. จัดการเลือกตั้งให้สำเร็จให้จงได้ เพื่อไม่ให้เกิดการโมฆะอย่างที่ผ่านมา จึงให้การกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของ กกต.

2.       การลงโทษคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งคณะนั้นไม่เหมาะสม ร่างนี้จึงเสนอว่า ความผิดใครก็ควรลงโทษคนนั้น ไม่ใช่ของทุกคน

3.       กำหนดให้การยุบพรรคทำได้เฉพาะมีเหตุร้ายแรง คือ 1.การล้มล้างระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการซึ่งไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2.กระทำการอันอาจเป็นปรปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเมื่อนายทะเบียนโดยความเห็นชอบของ กกต.แจ้งต่ออัยการสูงสุดพร้อมด้วยหลักฐาน อัยการสูงสุดพิจารณาเรื่องภายใน 30 วันเพื่อยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค หากอัยการไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้นายทะเบียนตั้งคณะทำงานขึ้นโดยมีผู้แทนจากนายทะเบียนและสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการรวบรวมหลักฐานอีกครั้งส่งอัยการสูงสุดเพื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ หากไม่สามารถหาข้อยุติได้ภายใน 30 วัน ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของ กกต.ยื่นคำร้องได้เอง

4.       การจดทะเบียนพรรคให้มีผู้ริเริ่ม 15 คนให้เวลา 2 ปีหาสมาชิกพรรคให้ได้อย่างน้อย 5,000 คน การประชุมจัดตั้งพรรคต้องมีสมาชิกเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 200 คน และสมาชิกพรรคต้องจ่ายค่าสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 บาทต่อปี

5.       เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม พรรคเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง จึงเปิดช่องให้มี primary election แต่ปรับให้เข้ากับระบบของไทย โดยการให้สมาชิกในสาขาพรรคมีบทบาทมากขึ้นด้วยการเสนอรายชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แล้วส่งให้คณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครเป็นผู้คัดเลือก หากคณะกรรมการไม่เลือกในรายชื่อดังกล่าวและต้องการเสนอรายชื่อใหม่ ต้องใช้เสียง 4 ใน 5 จากนั้นจึงนำเสนอไปยังคณะกรรมการบริหารพรรค หากคณะกรรมการบริหารพรรคไม่เลือกจากรายชื่อดังกล่าวและต้องการเสนอรายชื่อใหม่ต้องใช้มติ 4 ใน 5 ทั้งนี้ ให้เริ่มใช้โมเดลนี้หลังจากประกาศใช้กฎหมายแล้ว 2 ปีเพื่อให้พรรคการเมืองมีเวลาปรับตัว

6.       กำหนดให้การออกนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ก่อนการประกาศนโยบายจะต้องดำเนินการ ดังนี้ 1.ระบุที่มางบประมาณ 2.ระบุระยะเวลาดำเนินการ 3.ศึกษาและนำเสนอความคุ้มค่าและประโยชน์ 4.ศึกษาและนำเสนอผลกระทบและความเสี่ยง ทั้งนี้ พรรคไม่สามารถประกาศนโยบายทันทีแต่ต้องต้องส่งเรื่องให้ กกต.ก่อนเพื่อให้กกต.ประกาศต่อสาธารณะ

7.       การบริจาคให้พรรคการเมือง เพื่อจูงใจให้บุคคลหรือนิติบุคคลบริจาคมากขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้พรรคการเมืองแทนที่กลุ่มทุนการเมือง จึงให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลนำจำนวนเงินที่บริจาคไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกิน 50,000บาทกรณีบุคคลธรรมดา และไม่เกิน 200,000 บาทกรณีนิติบุคคล

นายนิกร จำนง ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา แสดงความคิดเห็นว่า ไม่เห็นด้วยที่กำหนดกรอบให้พรรคการเมืองต้องลงรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายพรรคมากถึงเพียงนั้น พรรคการเมืองควรมีอิสระในการกำหนดนโยบายเพื่อสนองตอบต่อความต้องการประชาชนจริงๆ และอธิบายเพียงสังเขป หากกำหนดกรอบมากมายจะกลายเป็นว่าทำอะไรไม่ได้ในทางนโยบาย และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไปสู่วงจรการทุจริตซื้อสิทธิขายเสียงอีกเนื่องจากไม่มีความหวังในทางนโยบาย

“ในร่างกฎหมายนี้ระบุเยอะ เขียนไว้ลึกเกินไป ระหว่างเลือกตั้งมันต้องเร็ว นี่ให้เราต้องสอบถาม กกต.ก่อนใช่ไหม บางเรื่องที่พรรคการเมืองเสนอ เขามีคณะกรรมการที่ศึกษามาลึกซึ้งพอสมควร ถามว่า กกต.มีความเชี่ยวชาญเท่าเขาหรือ” นิกรกล่าว

นิกรกล่าวด้วยว่า ในส่วนของความผิดกรรมการบริหารพรรคที่เปลี่ยนมาจัดการกับบุคคลที่กระทำความผิดเพียงคนเดียวนั้นเห็นด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีบทของการยุบพรรคซึ่งกำหนดเหตุร้ายแรงไว้สองประการ ปัญหาคือ ใครเป็นผู้ตีความ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง

ขณะที่ตัวแทนพรรคการเมืองขนาดเล็กอื่นๆ ได้แสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยน โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการระบุให้ต้องเก็บเงินสมาชิกพรรคซึ่งเป็นประชาชนธรรมดาปีละ 200 บาท เพราะเพียงเชิญชวนให้เป็นสมาชิกพรรคก็ยากมากแล้ว เงิน 200 บาทถือว่ามากสำหรับชาวบ้าน

ในส่วนกฎหมายเลือกตั้งส.ส.นั้น ประวิช กล่าวว่า กรอบความคิดสำคัญคือ 1. การเลือกตั้งต้องเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมาใช้สิทธิ 2.ต้องลดต้นทุนการหาเสียงเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมสำหรับพรรคเล็กหรือพรรคที่มีทุนน้อย ดังนั้น ต่อไปจะไม่อนุญาตให้มีการติดป้ายหาเสียงเอง แต่ กกต.ในพื้นที่จะจัดทำบอร์ดรวมรายชื่อและเบอร์ผู้สมัคร โดยผู้สมัครแต่ละคนต้องปริ๊นท์ภาพหาเสียงขนาด 60x60 เซนติเมตรไปติดยังบอร์ดดังกล่าวที่กกต.จัดเตรียมไว้ นอกจากนี้ยังจะมีการรวมรายชื่อและเบอร์ผู้สมัคร รวมถึงนโยบายของพรรคส่งไปยังบ้านประชาชนด้วย 3.ขยายเวลาลงคะแนนในวันลงคะแนนเป็น 8.00-16.00 น.จากเดิมที่กำหนดที่ 15.00 น. ส่วนการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าไม่ว่าในเขตหรือนอกเขต ขยายเวลาเป็น 8.00-18.00 น. 4. จะประกาศผลครั้งเดียวเมื่อนับคะแนนได้ 95% เช่นเดียวกับการทำประชามติครั้งที่ผ่านมา 5.ผู้สมัครหรือสมาชิกที่ทุจริต เดิมศาลฎีกาจะชี้ว่าถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่เพียงอย่างเดียว แต่คราวนี้จะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ด้วย นอกจากนี้ยังต้องบวกเพิ่มอีก 2% ของค่าใช้จ่ายนั้น เพื่อนำเข้ากองทุนการปราบปรามการทุจริตการเลือกตั้ง โดยเงินกองทุนนั้นจะจัดสรรให้กกต.นำไปมอบให้ประชาชนผู้ส่งหลักฐานสำคัญในการทุจริตรายละ 100,000 บาท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท