Skip to main content
sharethis
ชีวิตเหยื่อเหตุการณ์ ‘ตากใบ’ 12 ปีผ่านไป บ้างเสียลูกชาย บางคนพิการ เปิดใจเหยื่อบนรถบรรทุกทหารในวันนั้น รอดมาได้ แต่ต้องตัดขาซ้าย เหยื่อต้องการให้ศาลระบุว่าขาดอากาศหายใจเพราะอะไร แม้ได้รับเงินเยียวยา แต่ความยุติธรรมยังไม่ปรากฏ

 

ในช่วงเดือนรอมฎอนของทุกปี บริเวณใกล้ด่านข้ามแดน อำเภอตากใบจะเป็นจุดหนึ่งที่ผู้คนผ่านไปผ่านมาอย่างคึกคัก มีทั้งชาวบ้านที่มาซื้ออาหารที่ตลาดไว้เตรียมละศีลอดในยามพระอาทิตย์ตกดิน หรือมาที่ด่านตาบา (ด่านตากใบ) เพื่อข้ามด่านไปมาเลเซียเพื่อไปซื้อเสื้อผ้าใหม่สำหรับใส่ในวันฮารีรายอ 

แยน๊ะ สะแลแม หน้าโรงพักตากใบ สถานที่เกิดเหตุ

วันที่ 25 ตุลาคม 2547 เป็นวันที่ 10 ของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน  ชาวบ้านในอำเภอตากใบต่างดำเนินชีวิตไปตามปกติ แต่เช้าวันนั้นไม่เหมือนเดิม เพราะมีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่ถูกจับจำนวน 6 คน ชาวบ้านจำนวนมากที่อยู่ใกล้ด่านต่างไปมุงดู ส่วนชาวบ้านที่อยู่ไกลออกไปเมื่อได้ยินถึงการมารวมตัวกันของผู้คนจึงรวมตัวกันไปดู หลังจากได้ยินว่า มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ชาวบ้านหลายคนต่างขึ้นรถไปกับเพื่อนบ้าน ไปมุงดูเหตุการณ์ พวกเขาไม่รู้หรอกว่า เหตุการณ์นี้จะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล

ทุกวันนี้ แม้ทุกคนจะได้รับเงินเยียวยาแล้ว แต่ทุกบ้าน ทุกครอบครัวยังคงไม่ได้รับความยุติธรรม

 

แยน๊ะ สะแลแม ลูกถูกจับ ถูกตั้งข้อหา สามีถูกยิงตาย 

แยน๊ะ สะแลแม ณ จุดเกิดเหตุการณ์ตากใบ 

แยน๊ะ เป็นชาวหมู่บ้าน หมู่บ้านบาเดาะมาตี ไพรวัลย์ หมู่ 9 อำเภอตากใบ ขณะที่เธอนั่งเย็บผ้าอยู่ที่บ้าน ซึ่งห่างไปจากโรงพักตากใบประมาณ 12 กิโลเมตร ชาวบ้านต่างพูดกันว่ามีการชุมนุมกันแถวด่านตากใบ เธอ และลูกชาย มูฮัมหมัด มารูวาซี มะหลง จึงไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อไปถึงก็พบว่าไม่สามารถออกมาได้

“ตอนนั้นประมาณเก้าโมงเช้า เรากำลังเย็บผ้าที่บ้าน ได้ยินว่ามีการชุมนุม ก็เลยไปดูเฉยๆ ลูกชาย ลูกสาวก็ไป แค่ดูว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ปรากฎว่า กลายเป็นออกมาไม่ได้ หัวหน้าที่ชุมนุมบอกว่า ห้ามออก คนก็เข้ามาเยอะขึ้นๆ เรื่อยๆ ทางเข้าออกก็มีทางเดียว เจ้าหน้าที่ก็มาปิดล้อม เราก็ยิ่งออกไม่ได้”

ในที่ชุมนุม ผู้ชายต่างยืนชุมนุมอยู่ด้านหน้า ส่วนผู้หญิงชุมนุมอยู่ด้านหลังบริเวณสนามเด็กเล่นใกล้แม่น้ำ ทำให้แยน๊ะต้องแยกกันกับลูกชาย

“พอบ่ายสาม เราก็รอว่าเจ้าหน้าที่เขาบอกว่าจะปล่อยกลับบ้าน แต่กลายเป็นว่า พอตีสามเขาก็ยิงเลย และยิงแก๊สน้ำตาด้วย ยิงขึ้นฟ้าบ้าง ยิงขนานถูชาวบ้านบ้าง ชาวบ้านต่างหนีลงแม่น้ำ” แยน๊ะกล่าว

เมื่อผู้ชุมนุมทุกคนหมอบลงและควันของความวุ่นวายจางไป เจ้าหน้าที่แยกผู้หญิงออกมาและพาไปส่งที่บ้าน ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บถูกส่งโรงพยาบาล ส่วนผู้ชุมนุมชายถูกสั่งให้ถอดเสื้อ มัดมือไขว้หลัง และถูกโยนขึ้นรถซ้อนเป็นชั้นๆ

“เรากลับมาบ้าน แต่ลูกไม่กลับ ลูกชายคนโตก็ช่วยประสานกับทนายความ ทนายก็ลงพื้นที่ แล้ว สว.โสภณ สุพาพงษ์ มาช่วยเหลือ ให้โทรศัพท์กับชาวบ้านที่ถูกจับให้โทรกลับมาที่บ้าน ตัวก๊ะเองก็ไปถึงค่ายอิงคยุทธ แต่ไปเยี่ยมไม่ได้ ไปได้แค่หน้าประตู เกิดเหตุวันจันทร์ อังคารก็ยังไม่รู้เป็นรู้ตาย พอพุธ ลูกก็โทรกลับมาบ้าน แล้วเราก็ถามถึงลูกชายของบ้านอื่นๆ ที่เรารู้จัก รวบรวมเป็นรายชื่อผู้รอดชีวิต หลังจากถูกจับอยู่อาทิตย์หนึ่ง ก็ได้ประกันตัวออกมา แต่บางคนถูกคุมตัวอยู่นานถึง 45 วัน พอลูกออกมา เราจึงรู้ว่าเขาถูกซ้อนอยู่ชั้นที่สองของรถ ถูกทหารเหยียบ และถูกทหารซ้อมด้วย เขาก็ไม่ได้กินข้าวต่อเนื่องสองวัน น้ำก็ไม่ให้กิน”

ลูกชายถูกจับมัดมือไขว้หลัง ซ้อนขึ้นรถพาไปค่าย เขาโชคดีที่ไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ แต่ก็โชคร้ายที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นแกนนำในการก่อความวุ่นวายและถูกดำเนินคดีพร้อมกับผู้ชุมนุมอีก 57 คนโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ (เป็นหนึ่งใน 58 คนที่ถูกดำเนินคดี)

เมื่อลูกชายต้องขึ้นศาลทุกอาทิตย์และเพื่อนบ้านต่างได้รับผลกระทบ บางคนลูกตาย บางคนบาดเจ็บ แยน๊ะได้พบกับนักข่าว นักสิทธิมนุษยชน และคนทำงานด้านประชาสังคมหลายๆ คน โดยเฉพาะโซรยา จามจุรี, อังคณา นีละไพจิตร และเพชรดาว โต๊ะมีนา จึงเริ่มมีความรู้เรื่องกระบวนการยุติธรรมและเห็นความจำเป็นที่ต้องเรียกร้องให้เกิดการเยียวยา หลังจากนั้น แยน๊ะไม่เคยหยุดเลยที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง แม้เธอจะเรียนจบแค่ ป.4

“เราลงไปคุยกับชาวบ้านคนอื่นๆ ตอนนั้นทุกคนก็รู้สึกว่า ไม่ยอมๆ มีความเจ็บปวด โกรธแค้น คิดว่าจะต่อสู้ เราก็พยายามอธิบายอย่าให้โกรธแค้น ไม่ให้ไปเอาคืน เราบอกว่าเราก็โดนเอง แต่ก็พยายามทำให้เขาเข้าใจ ก๊ะนะพยายามทำให้ชาวบ้านเข้าใจเจ้าหน้าที่ เราก็บอกว่านี่เป็นบททดสอบของอัลเลาะฮ์ แต่บางคนบอกว่า ทดสอบแบบนี้ไม่ดี ไม่โอเค”

หลังจากสู้คดีในศาลอย่างเหน็ดเหนื่อยเกือบสองปี รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ก็ประกาศขอโทษต่อเหตุการณ์ตากใบและกรือเซะและประกาศว่าจะถอนฟ้อง แต่ก็นั่นคือหลังจากขึ้นศาลไปแล้วสองปี ลูกชายของเธอเช่นเดียวกับผู้ที่ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมอีก 59 คน ได้รับเงินเยียวยาทั้งหมดคนละ 30,000 บาท

“ส่วนคดีไต่สวนการตาย ก็ขาดอากาศหายใจจริงนั่นแหละ แต่ชาวบ้านไม่พอใจ เขาอยากรู้ อยากให้ศาลบอกว่า ขาดอากาศหายใจ ‘เพราะอะไร’” 

แยน๊ะกล่าวว่า เมื่อชาวบ้านได้เงินเยียวยาและได้ทำข้อตกลงว่าจะไม่ฟ้องรัฐ ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างพอใจแล้ว และเหนื่อยเกินไปที่จะสู้คดีต่อ “ก๊ะก็ทำอะไรต่อไม่ได้ เพราะชาวบ้านไม่สู้ต่อแล้ว ชาวบ้านก็รู้สึกสู้ไม่ไหวด้วย เพราะต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาลอีกเป็นปี แล้วก็ไม่อยากมีปัญหากับทหาร”

ด้วยความที่แยน๊ะสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมอย่างไม่หยุดหย่อน เธอจึงถูกต้องสงสัยว่าให้ความช่วยเหลือสนับสนุน ญูแว หรือนักรบเพื่อเอกราชปาตานี และถูกตรวจค้นอยู่เนืองๆ ทั้งยังเคยถูกเชิญตัวไปค่ายทหารตาม พรก.ฉุกเฉินถึงสองครั้ง “แต่เราไม่ไป ญูแวเป็นยังไงเราก็ไม่รู้ เพราะเราก็ไม่ได้เรียนหนังสือ เราจบแค่ป.สี่ ปอเนาะก็ไม่ได้เรียน”

“ตั้งแต่นั่นมา ตำรวจ ทหาร ก็มาปิดล้อมตรวจค้นที่บ้านเป็นประจำ ในสิบปีแรก มารวมๆ กันเกินสิบครั้ง ช่วงใกล้วันครบรอบเหตุการณ์ตากใบทีไรก็มักจะมีทหารมาค้น เหมือนขู่ให้เรากลัวไว้ก่อน เพื่อสกัดการเคลื่อนไหว หรือถ้ามีเหตุใกล้ๆ บ้าน ก็จะมาล้อม มาค้นบ้านเราเหมือนกัน เคยเจอหนักที่สุดคือปี 2557 มีการกล่าวหาว่า มีโจรมาอยู่ที่บ้านก๊ะ ก็มาค้นกันทีเป็นร้อยคน เพิ่งจะเมื่อสองปีนี้เองที่ไม่ได้มา”

แต่นั่นก็ยังไม่ใช่บททดสอบที่เธอเจอหนักที่สุด ในปี 2550 สามีของแยน๊ะ นายมะยูโซ๊ะ มะหลง  ถูกลอบยิงเสียชีวิต ที่ร้านน้ำชาริมถนน โดยพยานหลักฐานและคำบอกเล่าต่างชี้ไปว่า อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) คนหนึ่งเป็นคนทำ โดยมุ่งขู่ให้เธอกลัวและหยุดเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ด้วยความกลัว ทำให้ไม่มีชาวบ้านคนใดกล้าไปเป็นพยานในคดี จึงไม่มีผู้ใดถูกลงโทษ

“อัลเละฮ์ไม่ให้เรากลัว เราก็ช่วยชาวบ้าน ได้บุญหรือเปล่าไม่รู้ แต่เราก็ได้เสียสละชีวิตสามีไปแล้ว ลูกๆ ก็บอกว่า แม่ พอได้แล้ว แต่ก็บอกลูกว่า ถ้าแม่ไม่ทำ แล้วชาวบ้านจะไปพึ่งใคร เราก็ไม่หยุด เราก็ขอพรจากอัลเลาะฮ์ให้อายุเรายืน เพราะเราต้องดูแลลูกแทนสามี ทำให้เราไม่รู้สึกกลัวเจ้าหน้าที่” แยน๊ะกล่าว “พอสามีตาย ทหารก็มาที่บ้าน เราบอกว่า คนที่ยิงแต่งชุดทหารนะ แต่ทหารก็บอกว่าโจรก็แต่งชุดแบบนี้ได้” แม้สามีของแยน๊ะจะไม่เป็นที่่รู้จัก เพราะวันๆ ไม่ได้ไปไหนเท่าไหร่ แต่ชาวบ้านก็แห่กันมาเยี่ยมบ้านแยน๊ะเพื่อแสดงความอาลัยถึงสี่สิบวันต่อเนื่อง

 

หะยีดิง มัยเซ็ง ถูกยิงจากข้างหลัง ทะลุด้านหน้า 

หะยีดิง มัยเซ็ง บอกว่า เขาถูกทหารมา “เยี่ยม” บ้าน จนชิน

หะยีดิง มัยเซ็ง อายุ 60 ปี ตอนที่เกิดเหตุการณ์เขาอายุ 47 ปี เช้าวันนั้น เขาไม่ได้สนใจหรือคิดจะไปชุมนุมแต่อย่างใด แต่ได้แวะไปย่านนั้นเพราะจะไปซื้ออาหารเพื่อ ‘เปิดบวช’ หรือการละศีลอดในตอนเย็น

“ผมไม่ได้จะไปชุมนุม แต่จะไปที่อื่น จะไปตาบาแค่เดินผ่าน เป็นทางผ่าน วันนั้นมีเงินหนึ่งร้อยบาท จะไปซื้อของกินแก้บวช ก็สงสัยว่าทำไมคนเยอะแบบนี้ ก็เลยไปมุงดูว่าเกิดอะไรขึ้น ไปถึงประมาณ 11 โมง แต่พอเข้าไปแล้ว เข้าก็ไม่ได้ ออกก็ไม่ได้ มีการตั้งด่านสกัดทางแยกทางเข้า พอประมาณ 15.15 น. ก็มีการยิงไปทางผู้ชุมนุม คนก็หมอบราบ แต่ผมวิ่งจะไปหลบหลังบล็อกที่ไว้ปลูกต้นไม้ ก็ถูกยิงเลย กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็วันรุ่งขึ้นที่โรงพยาบาลปัตตานี

“ไม่รู้ทำไม ส่งไปไกลถึงโรงพยาบาลปัตตานี เขาคงคิดว่า จะให้ตาย เลยส่งไปโรงพยาบาลปัตตานี แต่ว่าไม่ตาย ก็เจอคนเจ็บอยู่ที่โรงพยาบาลเดียวกันอีกเจ็ดคน ซึ่งถูกยิงทั้งหมด ญาติพี่น้องจะไปเยี่ยม เขาก็ไม่ให้เยี่ยม ตั้งประมาณสามวันก็ไม่ให้ แล้วทหารก็ไม่ให้ไปไหน หลังจากนั้นก็โดนสอบสวนเรื่อยๆ พอมีคนมาเยี่ยม ถึงได้รู้ว่า ที่อยู่หมู่บ้านเดียวกันก็ตายไปหลายคน”

รอยแผลถูกยิงจากด้านหลัง ทะลุหน้าอก ของ หะยีดิง มัยเซ็ง

หลังจากที่หะยีดิงหายดีแล้ว เขาเดินทางไปทำงานมาเลเซีย ระหว่างนั้นยังมีทหารมาเยี่ยมบ้านอยู่บ่อยครั้ง เรียกได้ว่า ‘แทบทุกวัน’ ทำงานได้สามเดือนก็กลับมาบ้าน ทหารก็มาเยี่ยมอีกทันที มากับรถหุ้มเกราะถึงสามคันรถ “พอทหารมา เราก็เอาน้ำมะพร้าว น้ำเย็นมาให้กิน เป็นวิธีสร้างมิตรกับทหาร ก็มาบ่อยมากจนไม่กลัวแล้ว”

แม้หะยีดิงจะได้เงินเยียวยาจำนวนทั้งหมด 500,000 บาท ซึ่งก็ค่อนข้างเป็นที่พอใจแล้ว แต่ความยุติธรรมนั้นก็ยังไม่มาถึง “เมื่อก่อนก็คิดว่า อยากให้ทหารถูกลงโทษ แต่ตอนนี้ก็ไม่รู้จะทำไง”

 

มือแย โซะ หัวอกแม่ที่รู้ว่าลูกชายตายอย่างทรมาน

มือแย โซะ เล่าว่า เธอจะคิดถึงลูกชายทุกครั้งที่เดือนรอมฎอนเวียนมาถึง 

มือแย โซะ เป็นแม่บ้าน อายุ 56 ปี เหตุการณ์ตากใบทำให้เธอสูญเสียลูกคนโต ซึ่งกำลังอยู่ในวัยหนุ่มแน่นไป 

ตั้งแต่เช้า ชาวบ้านที่ผ่านไปแถวด่านตากใบต่างกลับมาเล่าให้ชาวบ้านคนอื่นๆ ฟังว่า มีคนเยอะมากไปทำอะไรไม่รู้อยู่ที่ด่าน เธอจึงปลุกลูกชายให้ไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น สักพักเธอก็ตามเพื่อนบ้านไปดูเช่นกัน แต่ปรากฏว่า เมื่อเข้าไปในที่ชุมนุมแล้ว กลับออกไปไหนไม่ได้ เมื่อถึงเวลาบ่ายสามโมงก็เกิดการสลายการชุมนุม โดยการฉีดน้ำ เช่นเดียวกับแยน๊ะ มือแยรวมกับกลุ่มผู้หญิงซึ่งอยู่ด้านหลัง เธอต้องลงไปในแม่น้ำเพื่อหมอบหลบกระสุนและเปียกปอนไปทั้งตัว

พอเจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ก็เรียกกลุ่มผู้หญิงขึ้นมาจากน้ำ และให้กลุ่มผู้หญิงไปนั่งหน้าโรงพัก ด้วยความที่เป็นห่วงลูกชาย เธอจึงพยายามมองหาลูก แต่มองหาเท่าไหรน่ก็ไม่เจอ จนเมื่อเวลาค่ำ ทหารก็พาเธอมาส่งที่บ้าน

“ตอนนั้นคิดว่าลูกถูกจับ แม้ว่าลูกถูกจับก็น่าจะปลอดภัย เพราะคิดว่าเมื่อเจ้าหน้าที่คุมตัวแล้วก็น่าจะดูแลดี ก็ไม่ได้กังวลอะไร แต่พอวันรุ่งขึ้น ชาวบ้านจึงคุยๆ กันไปว่า มีคนตายในค่ายทหาร แต่ก็ไม่รู้ว่าลูกเราจะตาย พ่อและคนแทบทั้งหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ไปตามหา แต่ไม่เจอ ก็กลับบ้าน พอวันที่สามไปดูที่สามแยก ที่ประกาศชื่อคนเสียชีวิต มีคนเห็นชื่อลูกชาย ก็เข้าไปดูศพที่ค่าย แต่ไม่รู้ว่าศพไหน มันดำไปหมด แต่ก็เจอศพลูก ที่มีสัญลักษณ์ที่ข้อมือและผ้าขนหนูสีแดงของลูกชาย ในหมู่บ้านก็ไปเจอพร้อมกัน สามศพ ก็พาศพกลับมาพร้อมกัน ตอนนั้นไม่รู้ว่าตายเพราะไร แต่ไม่มีแผลถูกยิง แต่ตามตัวนี่เขียว ดำ บวม

“ตอนนั้นไม่รู้จะอธิบายยังไง รู้อย่างเดียวว่า รัฐทำและกลัวว่า ครอบครัวเรา ลูกชายอีกสองคนจะถูกทำร้าย จะถูกฆ่าตายอีก รู้สึกโกรธแค้นมากด้วย และกังวลว่าเราจะอยู่กันยังไงในเมื่อรัฐเป็นอย่างนี้”

เธอเล่า หลังเหตการณ์มีทหารมาที่บ้านนับครั้งไม่ถ้วน มีทั้งมาถามข้อมูล เช่น อยู่กี่คน มีใครบ้าง และมักถามด้วยว่ามีคนอื่นมาอยู่ด้วยหรือเปล่า ราวกับว่าเธอซ่อนใครไว้ในบ้าน หลายครั้งแค่ทหารเดินผ่านหน้าบ้านเธอก็รู้สึกกลัวแล้ว และมองว่าเป็นการตั้งใจมาเดินขู่ให้กลัว

แม้ว่าครอบครัวจะได้เงินเยียวยาจำนวน 7.5 ล้านแล้ว แต่เธอก็ยังรู้สึกว่ามันไม่จบ ความตายของลูกชายคนโตยังคงติดค้างคาอยู่ในใจตลอดมา “ก็เข้าใจว่า ตายก็ตายแล้ว รื้อฟื้นไม่ได้ แต่สำหรับเรามันยังไม่จบ ศาลก็มาตัดสินว่า ตายเพราะขาดอากาศหายใจ เราไม่โอเค ทำไมถึงขาดอากาศหายใจล่ะ ถ้าไม่เรียงเป็นชั้นๆ แบบนั้น ก็ไม่น่าจะตาย นี่นอกจากเรียงเป็นชั้นๆ แล้วยังผูกมือ มีทหารเหยียบอยู่ข้างบนอีก

“เราก็อยากให้มีการตัดสินใหม่ มีการรื้อฟื้นคดี แต่ก็สู้ไม่ไหว เราเป็นแค่ชาวบ้านธรรมดา ถ้าสู้ไป ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”  

มือแยกล่าวว่า ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา การเวียนมาถึงของเดือนรอมฎอนทำให้เธอทรมานใจทุกครั้ง เพราะอดไม่ได้ที่จะคิดถึงลูก เธอยังหลีกเลี่ยงการดูรูปเหตุการณ์ตากใบในอินเตอร์เน็ตหรือแม้แต่ในข่าว เพราะจะทำให้ระลึกถึงลูกชายที่เสียไปและเสียใจมาก นอกจากนี้ เธอยังเลี่ยงไม่ไปแถวด่าน ไม่เดินผ่านโรงพักตากใบอีกต่อไป แม้จะมีตลาดนัดที่คึกคักแค่ไหนก็ตาม เธอก็จะพยายามเลี่ยงพื้นที่ตรงนั้น

 

ขาข้างซ้ายของมาลีกี ดอเลาะ

แม้เหตุการณ์ตากใบจะทำให้เขากลายเป็นคนพิการ มาลีกี ดอเลาะ ก็ยิ้มตลอดการให้สัมภาษณ์ เพราะเขาเชื่อว่า ชีวิตต้องสู้ต่อไป และเขาต้องอยู่กับมันให้ได้ 

ในเช้าวันที่ 25 ตุลาคม 2547 มาลิกี ดอเลาะ ไม่คาดคิดเลยว่า ร่างกายกำยำในวัยหนุ่มอายุ 28 ปีของเขาจะเปลี่ยนไปเป็นผู้พิการที่ไม่สามารถทำงานและช่วยเหลือตัวเองได้ตลอดกาล

“เช้านั้น ประมาณเก้าโมงเครึ่ง ผมไปที่ด่าน จะไปซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ใส่เพื่อเตรียมใส่ช่วงรายอ เห็นคนอยู่กันเยอะ ก็ไปดู ไม่คิดว่าเหตุการณ์จะเป็นแบบนี้”

“สักพักก็พยายามออกมา แต่ออกไม่ได้ เพราะเขาปิดทางเข้าออกหมดเลย ก็ไม่รู้จะทำอะไร เลยไปรออยู่ริมน้ำ ดูปลาอะไรงี้ พอสลายการชุมนม ก็โดนก้อนหินที่ถูกมัดกับเชือกแล้วเหวี่ยงมาโดยที่คิ้ว คิ้วแตก ก็เลยลงไปที่น้ำเพื่อจะล้างแผล ก็มีระเบิดควันยิงมาอีก ช่วงนั้นก็ลืมตาไม่ได้เลย ก้มอยู่อย่างนั้นนานมาก จะลุกเขาก็ไม่ให้ลุก เพราะทหารบอกว่า ใครลุกขึ้นมาจะยิง ระหว่างนั้นก็มีการยิงกระสุนแนวราบใส่ผู้ชุมนุมตลอด เราหันไปดูก็เห็นคนอยู่ข้างๆ โดนยิงเข้าที่แก้ม แล้วก็นิ่งไป”

พอทหารควบคุมสถานการณ์ได้แล้วจึงสั่งให้ผู้ชุมนุมชายถอดเสื้อและมัดมือไขว้หลัง สั่งให้ทุกคนขึ้นมานอนข้างบนและก้มหน้า

“ทหารสั่งให้เดินขึ้นรถ แต่มือถูกมัดอยู่ ก็เดินขึ้นไปบนรถไม่ได้ ทหารก็จับแต่ละคนโยนขึ้นไป เหมือนก้อนน้ำแข็ง”

ผู้ชุมนุมถูกวางนอนเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นจะไขว้กัน รถจีเอ็มซีของทหารนั้นแคบเกินกว่าผู้ชุมนุมนอนเหยียดได้ มาลีกีบอกว่า เขาต้องงอขาตลอดเวลา จากสถานีตำรวจตากใบ ไปถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร เป็นระยะทางกว่า 150 กิโลเมตร และใช้เวลาประมาณหกชั่วโมงกว่าจะถึงค่าย

“ตอนคว่ำหน้า ผมก็ได้ยินเสียงคนข้างล่างเรา หายใจดัง เหมือนมีน้ำในจมูกอยู่ ก็คิดว่าเป็นเลือดในจมูก ได้ยินตั้งแต่ขึ้นรถช่วงแรกๆ บางคนก็ร้องโหยหวน ทหารซึ่งยืนเหยียบอยู่ข้างบนบอกว่า ถ้าไม่หยุดร้อง ก็จะหยุดรถ ตอนเราหายใจ คนข้างบนก็พยายามเป่าลมมาเป็นทอดๆ เราเองก็พยายามปล่อยลมให้เขา สักพัก เราก็ไม่ได้ยินเสียงหายใจของเขาอีก คนข้างบนก็บอกว่า ไม่ไหวแล้ว แล้วสักพักคนข้างบนก็เงียบไป

“ผมรู้สึกว่า ตอนอยู่บนรถเราก็ร้อน เจ็บ เมื่อย หายใจไม่ออก ถ้าจะร้องไห้เราคงร้องไม่หยุด ผมก็เลยคิดว่า เราจะไม่ร้อง แล้วก็อดทนอย่างเดียว และนึกถึงอัลเลาะฮ์อย่างเดียว”

การถูกซ้อนทับบนรถเป็นเวลานานทำให้ มาลีกี ไม่สามารถยืดนิ้วได้อีก และใช้มือสองข้างได้น้อยมาก แม้แต่จับช้อนกินข้าว เขาเล่าว่า เมื่อใดที่เขาจับช้อนกินข้าวแล้วช้อนหลุดจากมือ นั่นก็ทำให้เขานึกถึงเหตุการณ์ตากใบทุกครั้ง 

“ผมหมดสติไปตอนไหนไม่รู้ มารู้ตัวอีกที คือผ่านไป 21 วัน ที่ โรงพยาบาล มอ.หาดใหญ่ ฟื้นมาพบว่า ถูกตัดขาไปแล้ว”

แพทย์ตัดสินใจตัดขาของมาลีกีเพราะกล้ามเนื้อเปื่อยจากการถูกกดทับเป็นเวลานาน ต่อมาก็ขูดเนื้อที่เน่าที่แขนทั้งสองข้างออก ทำให้เขาไม่สามารถขยับนิ้วมือได้ตามปกติ นอกจากเนื้อที่ตัดออกไป ทุกวันนี้ก็ยังมีกล้ามเนื้อหลายส่วนที่เป็นอัมพาต ได้แก่ หัวเข่าซ้ายของขาซ้ายที่เหลืออยู่ แผ่นหลังที่เอื้อมมือไปเกาก็ไม่รู้สึก ส่วนนิ้วมือก็แทบขยับไม่ได้และไม่มีแรง มือขวาใช้การไม่ได้เลย ส่วนมือซ้ายขยับได้นิดหน่อย 

นอกจากนี้ เขายังป่วยเป็นโรคไต อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ในวันนั้นที่ไม่มีโอกาสได้ละศีลอด ร่างกายที่ขาดน้ำเป็นเวลานานจนเสียสมดุลเกลือในไต ต้องไปฟอกไตอยู่หลายครั้งกว่าจะหายเป็นปกติ มีผู้ชุมนุมอีกหลายคนก็ป่วยเป็นโรคไตด้วยเช่นกัน

เหตุการณ์ในวันนั้น ทำให้เขาต้องลาออกจากโรงเรียนเทคนิคที่เรียนอยู่และหางานทำไม่ได้ ทุกวันนี้เขาก็ช่วยแม่ปลูกผักเล็กๆ น้อยๆ และมีแม่เป็นคนที่คอยดูเขาทุกๆ วัน

เงินเยียวยาที่เขาได้มาประมาณ 2,500,000 บาท ก็ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นบ้าง เขาตัดสินใจนำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อรถมอเตอร์ไซต์บิ๊กไบค์สี่ล้อ ซึ่งเป็นยานพาหนะที่สังขารของเขาพอจะขับไปไหนมาไหนได้

บิ๊กไบท์ของมาลีกี

เมื่อถามว่า คิดว่าได้รับความยุติธรรมหรือยัง? เขายิ้ม และหัวเราะตอบว่า "บอกไม่ถูก แม้เราจะต้องการให้เขาถูกลงโทษ ก็คงทำไม่ได้อยู่ดี”

เขากล่าวว่า เขาไม่มีวันลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขาได้ “จะลืมได้ไง มันเป็นเหตุการณ์ที่หนักที่สุดของชีวิต ทุกวันนี้เวลากินข้าว ถ้าอาหารมัน ช้อนมันแค่นิดเดียว ก็จะจับช้อนไม่ติด”

หลังเหตุการณ์ เขากล่าวว่าไปแถวโรงพักมาอีกแค่ครั้งเดียว เพื่อไปโรงพยาบาลตากใบเพื่อทำเรื่องเยียวยา ถ้านอกจากนั้น ก็พยายามไม่ไป อาจมีนั่งรถผ่านบ้าง

ตลอดเวลาที่เขาคุยกับประชาไท มาลีกียิ้มตลอดเวลา เขาว่า “ต้องยิ้ม เพราะเราก็ต้องอยู่ต่อไป ก็ต้องยิ้มกับมัน ถ้าเศร้า ก็จะเศร้าไปเรื่อยๆ”

 
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบ
 
เหตุการณ์ตากใบเป็นเหตุการณ์รุนแรงครั้งสำคัญที่เป็นบาดแผลของความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
เช้าวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ตรงกับวันที่สิบสองของเดือนรอมฎอน ปี ฮ.ศ.1425  ตั้งแต่ช่วงเช้า ชาวบ้านมาชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจำนวน 6 คนที่ถูกจับที่หน้าสถานีตำรวจตากใบ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตลาดและด่านตาบา ซึ่งชาวบ้านจำนวนมากนิยมมาซื้อสินค้าอย่างคึกคักมากเป็นพิเศษในช่วงเดือนรอมฎอน เมื่อเวลาผ่านไป มีชาวบ้านมาชุมนุมเพิ่มขึ้นเกือบพันคน จำนวนมากในนั้นไม่ได้ตั้งใจมาชุมนุม แต่มาดูว่าเกิดอะไรขึ้น บางคนผ่านไปผ่านมา บางคนไปตลาด แต่เมื่อเข้าไปดูเหตุการณ์แล้วออกมาไม่ได้
 
ประมาณบ่ายสามโมง ทหารเริ่มสลายการชุมนุม แกนนำการชุมนุมก็สลายตัวไปรวมกับผู้ชุมนุม ทหารยิงแนวราบเข้าสู่ผู้ชุมนุม และยิงแก๊สน้ำตา เมื่อทหารควบคุมสถานการณ์ได้  ทหารให้ผู้ชุมนุมชายถอดเสื้อ นอนราบและมัดมือไพล่หลัง ส่วนผู้หญิงก็ส่งกลับบ้าน
 
ผู้ชุมนุมชายที่ถูกกวาดจับกว่า 1,300 คนถูกขนขึ้นรถทหาร 25 คัน รถตำรวจ และรถเช่าอีกจำนวนหนึ่ง โดยการนอนราบ 4-5 ชั้น ในสภาพที่ผู้ชุมนุมต่างอ่อนเพลียเพราะถือศีลอดและตากแดดร้อนเพราะการชุมนุมมาตลอดทั้งวัน
 
รถที่บรรทุกผู้ชุมนุมเดินทางเป็นระยะทางกว่า 150 กิโลเมตรเป็นเวลา 5-6 ชั่วโมง จากสถานีตำรวจตากใบไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี มีรายงานว่า เมื่อรถคันแรกถึงค่ายประมาณหัวค่ำ ก็พบว่ามีคนตาย แต่ก็ไม่มีการแจ้งเตือนไปยังรถคันที่เหลือให้ทราบ รถคันท้ายๆ ถึงค่ายอิงคยุทธบริหารเวลาประมาณ ตี 2 ของวันถัดไป
 
ทั้งเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตไปทั้งหมด 85 คน เสียชีวิตระหว่างการขนส่งบนรถบรรทุกของทหาร 78 คน เสียชีวิตในที่ชุมนุม 6 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน
 
คดีความที่เกี่ยวข้องมีทั้งหมดสามคดี
 
ในปี 2552 ศาลสงขลาตัดสินในคดีไต่สวนการตายว่า ผู้ชุมนุม 78 คนที่ตายระหว่างการขนย้าย ตายเพราะ ‘ขาดอากาศหายใจ’ ระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่
 
ในปี 2548 ผู้ชุมนุม 59 คน ถูกสั่งฟ้องที่ศาลนราธิวาสในข้อหาร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญว่าจะประทุษร้าย ต่อมาอัยการถอนฟ้องในปี 2549 
 
ในปี 2548 ญาติผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตฟ้ององค์กรรัฐ กองทัพบก ให้จ่ายเงินชดเชย ต่อมามีการทำสัญญาให้ประณีประณอมยอมความ โดยมีเงื่อนไขให้ถอนฟ้องจำเลยอื่นๆ ทั้งหมด รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งการ กระทรวงกลาโหมจ่ายค่าสินไหมทดแทน 42 ล้านบาท กับญาติผู้เสียหาย 79 ราย
 
ต่อมาในสมัยที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็น เลขาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ประกาศจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้เสียหายจากกรณีตากใบเพิ่มอีก โดยผู้เสียชีวิตจะได้รับการเยียวยาเพิ่มจากเดิมจนครบรายละ 7.5 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บได้ 500,000 บาท
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net