Skip to main content
sharethis

สำนักหนังสือ 20 พฤษภา และ ชมรมอาสาพัฒนา มศว ร่วมกับ สถาบันปรีดี พนมยงค์ พร้อมจัดงาน“รอยเท้าเราอยู่ที่นี่ : เสวนา บทกวี ดนตรี แสดงสด” ในวันเสาร์ 8 ตุลาคมนี้ ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ เพื่อรำลึกถึงบิลลี่ที่หายไป และชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ถูกเจ้าหน้าที่เผาบ้านและยุ้งข้าว

เมื่อพูดถึง “บิลลี่ - พอละจี รักจงเจริญ” หลายคนคงรู้จักผ่านสังคม ผ่านสื่อหลายแขนง ว่าเขาคือนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อีกทั้งยังเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เขาเป็นพยานสำคัญต่อคดีฟ้องร้อง “กรมอุทยานแห่งชาติ” และ“หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน” ในข้อหา รื้อ เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านกะเหรี่ยงห้วยแม่เพรียงนับร้อยหลังคาเรือน แต่เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 บิลลี่ถูกทำให้หายไป

บิลลี่หายไปไหน? นี่คือคำถามที่คนจำนวนไม่น้อยพยายามเสาะหาคำตอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามนี้เกิดจากคนในสังคมจำนวนหนึ่งที่มีทั้งนักคิด นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม วัฒนธรรม นักเขียน นักดนตรี ศิลปิน ตลอดจนคนทั่วไปที่สนใจติดตามข่าวคราวการต่อสู้ในภาคประชาสังคม มาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด,สำนักหนังสือ 20 พฤษภา และ ชมรมอาสาพัฒนา มศว ร่วมกับ สถาบันปรีดี พนมยงค์ พร้อมใจกันจัดงาน“รอยเท้าเราอยู่ที่นี่ : เสวนา บทกวี ดนตรี แสดงสด” ในวันเสาร์ 8 ตุลาคม 2559 เวลา 13.00 – 21.00 น. ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยสุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) เพื่อรำลึกถึงบิลลี่ -พอละจี รักจงเจริญ” แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่หายไป โดยภายในงาน จะมีทั้งกิจกรรมการเสวนา ‘กรณีบิลลี่และชนเผ่าพื้นเมือง : ในมิติทางสังคม ภูมิวัฒนธรรมและสิทธิในการอยู่กับป่า’ นำเสวนาโดย สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์

นอกจากนั้น ยังมีการเปิดตัวหนังสือ ‘รอยเท้าเราอยู่ที่นี่’ รวม 33 บทกวี แด่ บิลลี่และเรื่องราวแห่งวิถีพื้นเมืองและการอ่านบทกวี การแสดงดนตรี และศิลปะสื่อแสดงสด โดยศิลปิน กวี มากมายที่ได้ร่วมใจกันเขียนบทกวีในหนังสือเล่มนี้

ธนวัฏ ปรีชาจารย์, สิทธิธรรม โรหิตะสุข และ ชิ-สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ คณะบรรณาธิการร่วม ในหนังสือรวมบทกวีเล่มนี้ ได้บอกเล่าผ่านคำนำไว้ว่า การจัดงานในครั้งนี้ นั้นสืบเนื่องมาจาก การจัด “เทศกาลศิลปะนานาพันธุ์ ประจำปี 2557” ซึ่งเป็นกิจกรรมศิลปกับสังคมที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในครั้งนั้น มีกิจกรรมย่อยที่พวกเราจัดขึ้นในเทศกาลครั้งนั้นชื่อ “นานาภราดรภาพ” จัดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2557 เราได้เชิญชวนเพื่อนพ้องน้องพี่ศิลปิน กวี นักดนตรี มาแสดงออกทางศิลปะสร้างสรรค์หลายประเภท อาทิ การอ่านบทกวี ศิลปะสื่อแสดงสด การแสดงดนตรี ฯลฯ อีกหนึ่งในกิจกรรมนานาภราดรภาพ เป็นการเปิดตัวหนังสือของ ชิ-สุวิชาน ชื่อ “เพลงต้องห้ามของปกาเกอะญอ” รวมถึงมีการเสวนา ทั้งที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในหนังสือ และว่าด้วยเรื่องราวการถูกละเมิดสิทธิของชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย

แน่นอนว่า คำถามและความพยายามในการอธิบายว่า บิลลี่หายไปไหน? ยังคงเป็นหัวข้อสำคัญที่หลายคนพูดถึงในกิจกรรมครั้งนั้น หลังจากกิจกรรมนานาภราดรภาพเสร็จสิ้นไป เราสามคนยังได้มีโอกาสพบเจอกันอยู่บ่อยครั้ง เรื่องของบิลลี่และบ้านบางกลอยยังคงเป็นหนึ่งในหัวข้อสนทนาของพวกเรา

ในขณะที่ ชิ-สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินปกาเกอะญอ หนึ่งในบรรณาธิการร่วม ก็ได้บอกเล่าไว้ว่า ทุกครั้งที่บิลลี่ได้เจอปู่ของเขา ปู่มักมีคำถามหนึ่งเสมอ “เมื่อไหร่เราจะกลับขึ้นไปอยู่ที่ขุนห้วยได้” ขุนห้วยซึ่งเป็นที่ที่ปู่ของเขาเรียกว่าบ้าน บ้านที่เขากำเนิด เติบโต หากิน มีเมีย มีลูกและมีหลานอยู่ที่นั่น...

แต่ดูเหมือนเหตุการณ์ที่หลายคนเอาใจช่วยจะส่อเค้าย่ำแย่ลง เพราะเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559 ศาลปกครองกลางได้พิพากษาว่า การเผาและทำลายทรัพย์สินของพือคออิ้ และชาวบ้าน ซึ่งกระทำโดย “คนของรัฐ” เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากชาวบ้านได้บุกรุกพื้นที่ป่า และชาวบ้านไม่สามารถกลับไปอยู่ที่บ้านเกิดได้ ให้อยู่ใน “พื้นที่อื่น” ที่ได้จัดสรรไว้ให้แล้ว ซึ่งคำพิพากษานี้ไม่เพียงแต่สร้างรอยแผลลึกไว้ในใจของชาวบ้านบางกลอยเท่านั้น แต่ยังสั่นสะเทือนไปถึงกระบวนการยุติธรรมของชาติ หลายภาคส่วนได้แสดงความเป็นห่วงว่าการตัดสินคดีเช่นนี้อาจกลายเป็นบรรทัดฐานที่ไม่เป็นธรรมให้กับคดีอื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการตัดสินครั้งใดที่บอกว่าการเผาบ้านคนอื่นเป็นการกระทำที่ถูกกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม "พือคออิ้" ปู่ของบิลลี่ บอกกับลูกหลานให้เคารพการตัดสินดังกล่าว แต่ปู่ยังคงมีความหวังที่จะเดินหน้าต่อสู้เพื่อยืนยันว่า “รอยเท้าของบรรพบุรุษ” อยู่ที่ “ใจแผ่นดิน” เราไม่ได้เป็นผู้บุกรุก เราไม่ได้มาจากแผ่นดินอื่น คนที่มาจากแผ่นดินอื่นต่างหากที่บุกรุกเรา

“ฉันลืมตาครั้งแรกของชีวิตก็เห็นป่าตรงนั้น น้ำนมหยดแรกที่ฉันดื่มจากอกแม่ก็อยู่ตรงนั้น”

ประโยคนี้ของพือคออิ้ คงเป็นที่จดจำไปอีกนาน สำหรับกรณีการใช้อำนาจของรัฐเพื่อขับไล่ชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมในประเทศไทย มันช่างไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวอินเดียนแดง ชนเผ่าดั้งเดิมในแผ่นดินอเมริกา เมื่อรัฐมาพร้อมกับอำนาจแล้วอ้างผลประโยชน์ของชาติ โดยไม่ใส่ใจภูมินิเวศ วัฒนธรรมที่มีมนุษย์ส่วนหนึ่งอยู่ในนั้น ไม่เว้นแม้แต่สังคมเมือง หากพิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับชุมชนป้อมมหากาฬซึ่งจะถูกถอนรากของชุมชนวัฒนธรรมออกไป ก็ดูจะไม่ต่างกันนัก

“ในช่วงที่ผ่านมาเพียงไม่กี่ปีนี้ นอกจากเรื่องราวอันเจ็บช้ำของบิลลี่ พือคออิ้ และชาวบ้านบางกลอยแล้ว เรายังได้รับรู้ข่าวสะเทือนใจเกี่ยวกับชนพื้นเมืองอีกมากมาย ทั้งการถูกหลอกลวงจากเจ้าหน้าที่ ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกละเมิดสิทธิ์ ถูกบังคับขู่ฆ่า ถูกทำร้ายอย่างป่าเถื่อน ซึ่งปัญหาทั้งมวลล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องวิถีชีวิต วัฒนธรรม ที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน คงปฏิเสธได้ยากว่า ต้นตอของปัญหาส่วนมากเกิดจากรัฐและนายทุน ที่มาในนาม “ผู้ทรงอิทธิพล” ซึ่งพยายามฉุดกระชากชนพื้นเมืองให้เดินออกจากรอยทางที่พวกเขาเคยย่ำเดิน” ชิ สุวิชาน หนึ่งในคณะบรรณาธิการ บอกเล่า

จากประเด็นทั้งหลายที่ได้กล่าวมานั้น จึงได้จัดทำหนังสือรวมบทกวี “รอยเท้าเราอยู่ที่นี่” เล่มนี้ขึ้นมา หลังจากที่ได้เชิญชวนและได้รับความร่วมมือจากเพื่อนพ้องน้องพี่นักเขียน กวี ศิลปิน ซึ่งร่วมกันสร้างสรรค์บทกวีจำนวน 33 บท จาก 33 ชีวิต เพื่อร่วมกันสื่อสะท้อนตอกย้ำถึงเรื่องราวของบิลลี่ – พอละจี รักจงเจริญ และความเป็นไปในวิถีของชนเผ่าพื้นเมือง ไม่ว่าจะในป่าลึก บนภูสูงหรือทะเลกว้าง บทกวีเหล่านี้ เป็นเสมือนถ้อยคำแห่งการพรรณนาถึงรอยเท้าดั้งเดิมที่กำลังถูกผู้หิวโหยอำนาจและเงินตราลบเลือนให้สูญหาย แต่ทุกคนเชื่อกันว่า รอยเท้าที่เคยย่ำไปในวิถี จะไม่ลบเลือนไปจากใจของผู้ที่รักความเป็นธรรมอย่างแน่นอน

ซึ่งจะมีการเปิดตัวหนังสือ และจัดกิจกรรม “รอยเท้าเราอยู่ที่นี่” ขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคม 2559 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยสุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) ซึ่งมีรายการที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่ การกล่าวนำกิจกรรม โดย นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การเสวนา “กรณีบิลลี่และชนเผ่าพื้นเมือง : ในมิติทางสังคม ภูมิวัฒนธรรมและสิทธิในการอยู่กับป่า” นำเสวนาโดย ชิ-สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ การอ่านบทกวี แสดงดนตรีและศิลปะสื่อแสดงสด จากศิลปินหลากหลายที่มีหัวใจเพื่อชนพื้นเมืองและเพื่อความยุติธรรม

ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งได้ร่วมเขียนคำนิยม ในหนังสือรวมบทกวีเล่มนี้ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ในประเทศไทย บิลลี่ไม่ใช่ผู้ถูกบังคับสูญหาย(Enforced Disappearance) คนแรก ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ ในขณะที่ความจริงยังถูกทำให้ความคลุมเครือ และความยุติธรรมไม่เคยปรากฏ การบังคับบุคคลให้สูญหายจึงเป็นการกระทำนอกเหนือหลักนิติธรรม เป็นการใช้ความรุนแรงของรัฐเพื่อปราบปรามผู้ที่เห็นต่าง หรือเพื่อกำจัดผู้ต้องสงสัย หรือผู้ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบางคนเชื่อว่าจะเป็นภัยต่อพวกเขา

“วันนี้ ญาติผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย รวมถึงมื่อนอ และตัวฉันเอง เรากำลังร่วมสร้างประวัติศาสตร์ของการไม่ยอมจำนนต่อความอยุติธรรม การกดขี่ข่มแหง เราต่อสู้และเรียกร้องความเป็นธรรมด้วยสันติและอหิงสาธรรม และเราหวังว่าจะมีผู้คนมากมายที่ร่วมกับเราเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ของคนเล็กๆ ... คนสามัญที่กล้าหาญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงต่ออนาคต ไม่ใช่เพื่อตัวฉัน ไม่ใช่เพื่อมื่อนอ ไม่ใช่เพื่อสมชาย หรือบิลลี่ แต่เพื่ออนาคตที่งดงาม เป็นธรรมและอารยะ .. และเพื่อลูกหลานของเราสืบไป”

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรม เข้าชมฟรี โดยภายในงานมีวรรณกรรมอิสระ ร่วมวางจำหน่ายในราคาพิเศษด้วย (คลิกเพื่ออ่านรายละเอียดของกิจกรรม)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net