Skip to main content
sharethis

ในงาน “6 ตุลาฯ ชาวจุฬามองอนาคต” ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมชั้น 13 อาคารเกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดย กลุ่ม 6 ตุลาฯ ชาวจุฬามองอนาคต ร่วมกับ สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น

ช่วงหนึ่งมีการเสวนาหัวข้อ ตุลาฯ ทอล์ก "คนรุ่นใหม่กับ 6 ตุลาฯ" โดย วริษา สุขกำเนิด เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนเจ้าของนามปากกา “นิ้วกลม” โตมร ศุขปรีชา คอลัมนิสต์และคนทำนิตยสาร วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล พิธีกรรายการสารคดีเชิงท่องเที่ยว วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ หรือจอห์น วิญญู พิธีกรรายการ “เจาะข่าวตื้น” และเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

000

วริษา สุขกำเนิด หรือ กระติ๊บ กล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาอาจไม่มีโอกาสเกิดขึ้น หากเราคนไทยปรับเปลี่ยนทัศนคติ รับรู้ความเป็นมนุษย์ของคนอื่นมากขึ้น รับฟังและอดทนกับผู้มีความคิดเห็นต่างมากขึ้น การศึกษาไทยเน้นการให้ข้อมูลฝ่ายเดียว แต่ไม่เน้นให้เด็กถกเถียงใช้เหตุผลโต้แย้งกัน มันทำให้กระบวนการรับฟังไม่มี คนไม่มีพื้นฐานเรื่องนี้

โตมร ศุขปรีชา พูดถึงความเกลียดว่า เราเกลียดและกลัวเพราะเรา simplify หรือทำสิ่งสิ่งนั้นให้มันง่าย เหตุการณ์มันไม่ได้จู่เกิดในวันนั้นวันที่ 6 ตุลา แต่มันย้อนกลับไปไม่รู้เท่าไร แต่มันสะสมมาจนกระทั่งเกิดเป็นเรื่องโหดร้ยขนาดนี้ ความเกลียดไม่ได้เกิดขึ้นมาแค่เราเห็นหน้าแล้วสารเคมีในสมองหลั่งให้เกลียด แต่เกิดกจากการจงใจที่จะมองข้ามความซับซ้อน และมองไม่เห็นหรือพยายามทำความเข้าใจคนที่อยู่ตรงข้ามเรา ผลักคนตรงข้ามออกไป แล้วเกาะกับกลุ่มเดียวกันเพื่อสร้างอำนาจที่จะไปตีรันฟันแทงกับอีกกลุ่ม มันเป็นกระบวนการสร้างความเป็นอื่น ลดความเป็นความมนุษย์ มองคนอื่นเป็นผี เป็นความชั่ว ฝั่งเราเป็นความดี

ปัจจัยสำคัญคือเรื่องสื่อ สมัยก่อนมีลักษณะเป็นองค์กร แต่วันนี้ทุกคนเป็นสื่อได้คนตามเป็นแสนเป็นล้าน สื่อสมัยนี้ไม่มีความเป็นสถาบันแต่เป็นปัจเจกมาก จึงมีโอกาสสร้างความเกลียดได้ง่ายขึ้น สมัย 6 ตุลาการเล่าเรื่องยังต้องผ่านสถาบันหนังสือพิมพ์เล่มนู้นเล่มนี้ กว่าจะสร้างความเกลียดได้ขนาดนั้นต้องใช้เวลา แต่ทุกวันนี้เปราะบางกว่านั้น ง่ายกว่านั้น

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เชื่อว่าการออกมามีส่วนร่วมทางการเมืองมีทั้งในทางเนื้อหาที่เป็นเหตุเป็นผล กับ เรื่องจริยธรรมส่วนบุคคล อันที่จริงจริยธรรมเข้าสู่ทุกมิติของชีวิต การเมืองเป็นหนึ่งในซับเซทของมัน การเมืองก็เป็นมิติในเชิงจริยธรรมได้ อะไรผิด อะไรถูก ผู้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเข้าไปร่วมด้วยมิติของความรู้สึกว่าอะไรผิดอะไรถูก ส่วนแบบที่การเมืองกระทบเขาจริงก็มี เช่น ชาวบ้านที่ออกมาประท้วงการสร้างเขื่อน แต่โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องความรู้สึกว่าอะไรผิดหรือถูก

โอกาสที่ได้อยู่กับพ่อแม่คือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ จิรนันท์ พิตรปรีชา ทำให้เรื่องการเมือง ปรัชญา ศาสนากระจายอยู่ในวงสนทนาของบ้านตลอดเวลา แต่สิ่งที่ได้เห็นในฐานะลูกชายคนเล็ก ไม่ใช่เนื้อหาตรงนั้น แต่คือการได้เห็นความเป็นคนที่อยู่ในประวัติศาสตร์อีกทีหนึ่ง เวลาเรียนหนังสือเราจะเรียนเนื้อหาของฝักฝ่ายต่างๆ แต่วิธีเรียนรู้ของเขาคือ ทุกครั้งที่มีกินเลี้ยงปีใหม่ที่บ้านจะมีอดีตสหายมากินเหล้า ร้องเพลงและพูดคุยถึงบาดแผลในอดีต ใครเสียชีวิตไปบ้าง รู้สึกอย่างไรที่ทุ่มทั้งชีวิตหลายปีไม่เกิดอะไรขึ้น สิ่งเหล่านี้มีมิติของความเป็นมนุษย์เยอะมาก คนที่ทุ่มเททั้งชีวิตแล้วล้มเหลวมันคือบาดแผลใหญ่ เมื่ออยู่ตรงนั้นเยอะๆ ตอนเด็กๆ ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ในเบื้องหลังของประวัติศาสตร์ มีความเป็นมนุษย์ซ่อนอยู่เสมอ และทุกคนมีเหตุผลธรรมดามากๆ อยู่เบื้องหลังการเมืองอีกที ฉันเกลียด ฉันโกรธ ฉันหิว จึงรู้สึกสนใจด้านความเป็นคน โตขึ้นก็มีโอกาสได้อยู่ในสังคมต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ได้คุยกับคนที่เหมือนจะต่างกับเราสุดขั้ว ชนเผ่าในแอฟริกา อดีตผู้ก่อการร้ายในตะวันออกกลาง ทุกคนมีเหตุผลตั้งต้นที่มีความเป็นคนคล้ายกันหมด

มันเกี่ยวกับความคิดทางการเมืองของเขาอย่างไร คือ รู้ตัวอีกเขาแทบไม่สนใจเนื้อหา แต่สนใจว่าทำไมผู้ถึงเขาถึงรู้สึกแบบนั้น อะไรเป็นแรงผลักดัน เพราะเป็นคนทำสื่อคนหนึ่ง บางทีสิ่งที่ขาดในสื่อ ไม่ใช่เรื่องเนื้อหา แต่การดูเหตุผลของความเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ มันจะทำให้เราเข้าใจความเป็นคน และป้องกันไม่ให้มันเกิดอีกได้ก็ได้

สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือ นิ้วกลม ย้อนระลึกถึงวัยเด็ก ว่าเราเรียนในตำรา แต่ไม่ได้รับรู้เหตุการณ์การเมืองเท่าไร ส่วนมากจะย้อนไปสมัยอยุธยาแบบนั้นเลย แต่ใกล้ๆ ไม่ค่อยรู้ และเรายังเข้าใจการเมืองว่าคือผู้คนในสภา แต่พอเริ่มโตขึ้น จึงค่อยๆ เข้าใจว่าจริงๆ การเมืองมันอยู่บนตัวเรา สิ่งของที่เราซื้อ แต่ก่อนที่เราต่อสู้กับครูฝ่ายปกครองที่ไม่ยอมให้เราไว้ผมยาว ม้วนถุงเท้าไม่ได้ ก็เป็นเรื่องการเมือง

ถ้าถามถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ครั้งแรกที่ได้รู้จักมากขึ้นคือ ตอนเรียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้าห้องสมุดแล้วอ่านหนังสือมากขึ้น เล่มแรกที่เปิดประตู คือ สารคดีฉบับพิเศษเล่ม 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ แต่เราไม่สามารถปะติดปะต่ออะไรได้เลย เราไม่ได้เข้าใจในภาพรวม แต่มีสิ่งนี้อยู่ในใจ จากนั้นก็ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ไม่ได้เรียนสังคมศาสตร์เข้มข้น

จนกระทั่งได้มีโอกาสร่วมชุมนมที่สวนลุมเมื่อไม่กี่ปีก่อน ฟังสนธิ ลิ้มทองกุล พูดตลอดเพราะทำงานแถวนั้น จากนั้นจึงเริ่มสนใจการเมืองมากขึ้น มันมีเรื่องที่เราไม่เคยได้ยินเยอะมาก ตอนนั้นไม่รู้ว่าอะไรจริงไม่จริง ถูกผิด เราไปบ่อยขึ้นและรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า เราก็เป็นคนดีคนหนึ่งนะ เหตุการดำเนินไปเรื่อย เรียนรู้จากการเข้าไปในนั้น ในหนึ่งกลุ่มคนก็มีเสียงที่แตกต่างหลากหลาย จนถึงจุดที่เรียกร้องนายกรัฐมนตรี มาตรา 7 ผมไม่มีความรู้ด้านการเมืองแบบนั้น แต่พอหัวเลี้ยวหัวต่อมันก็มีการเถียงกัน ดียังไง ไม่ดียังไง เราก็ค่อยๆ ฟังแล้วค่อยๆ เริ่มรู้ตัวว่า จริงๆ แล้วกระทั่งเส้นทางของคนดีก็มีทางแยก แล้วเราไปทางไหนดี เริ่มหยุดแล้วทบทวน หลังจากนั้นเหตุการณ์การเมืองบ้านเราเคลื่อนไปเรื่อย มีม็อบเกิดขึ้น ด้วยความที่คบกับผู้คนในวงการเขียนหนังสือ อาจารย์ เรารู้สึกว่าเราอยากฟังข้อมูลที่หลากหลาย หลายด้าน วงจรทางการเมืองหลายคนอาจคล้ายกัน คือ ไม่สนใจ สนใจ แล้วจากนั้นจะมีแรงดึงดูดให้เราไปหาอ่าน เรียนรู้ต่อ ไม่รีบเชื่อไม่รีบตัดสินง่ายๆ

พอเราเริ่มสนใจก็จะพบว่าในหนึ่งเหตุการณ์มเสียงที่บางอันจะดังเป็นพิเศษ คิดว่าไม่ควรมีเสียงใดเสียงหนึ่งดังอยู่เสียงเดียว การมีพื้นที่เปิดให้เสียงหลายๆ แบบ คนที่มีความคิดก็จำเป็นต้องพูดออกมา มันจะได้สร้างสมดุลกัน เป็นการบอกคนอื่นที่คิดคล้ายๆ กันว่าคุณยังมีเพื่อน คุณแสดงความคิดเห็นได้ การเมืองเป็นเรื่องแปลกตอนเราไม่สนใจมันเลย เราจะคิดว่าไม่มีอิทธิพลกับเราและเราไม่มีอำนาจ แต่พอเริ่มสนใจ เราจะเริ่มรู้สึกว่าเรามีอำนาจบางอย่างที่จะพูด จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ บ้านเมืองต้องการคำถาม เพราะมันจะช่วยคานไม่ให้อำนาจใดดังอยู่อำนาจเดียวและถ้ามันผิดมันจะพังไปทั้งหมด

วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ หรือจอห์น วิญญู เล่าว่า ถูกด่าสารพัดจากการแสดงความเห็นทางการเมือง “โดนโคตรเยอะ ทุกสี” ที่ผ่านมาพูดเสมอว่า เวลาจะเป็นสิ่งพิสูจน์ว่าเราเป็นคนอย่างไร อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าไม่จำเป็นว่าเป็นคนบันเทิง ทำหน้าที่สื่อเท่านั้นที่จะต้องกล้าออกมาพูด แต่ทุกคนควรมีสิทธิพูด ถ้ารู้สึกว่ามันผิดปกติตอนนี้ มันมั่ว มันเละเทะ มันเอาแต่ใจ ก็ต้องออกมาพูดรึป่าว แต่ก็พอเข้าใจว่าตอนนี้คนไม่กล้าพูด กลัวโดนนินทา กลัวโดนบอยคอต บางคนอาจกลัวถึงขั้นจะต้องเข้าค่ายไหม ทุกคนกลัว ไม่แปลก แต่คำถามคือ เราอยู่ในสังคมที่เราต้องกลัวหรือ เราไม่สามารถตั้งคำถาม แชร์ความคิดเห็นได้เลยหรือ ต้องให้สื่อเท่านั้นเหรอที่จะแสดงความเห็น การรับฟังความเห็นกันก็ควรเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ว่า “จอห์น วิญญู แรงอะ กล้าพูดอะ แชร์ก่อนปลิวๆ” ผมไม่อยากให้เราอยู่สังคมที่ต้องมีคนหนึ่งกล้าพูด มันควรเป็นเรื่องปกติที่จะวิจารณ์ ร่วมแสดงให้เห็น และคุยกันได้

เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ตอนแรกจะไม่มางานนี้เพราะมีกิจกรรมเกมต่างๆ ซึ่งเห็นว่าไม่เหมาะสม แต่มีการเชิญจากคณะรัฐศาสตร์โดยตรงและเนติวิทย์ก็ชวน จึงมา ผมอาจจะเป็นคนเดียวที่ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพราะเกิด 2515 และผมอาจจะเรียกได้ว่าเป็นรุ่นพฤษภาทมิฬ ขณะนั้นอยู่ปี 3 และร่วมในการเดินขบวน

พื้นฐานในครอบครัว คุณพ่อสอนวิศวกรรมศาสตร์ ที่จุฬาฯ ก็พูดให้ฟังบ้างเรื่อง 6 ตุลา19 ตอนขวบหนึ่งพ่อแม่ก็อุ้มเข้าไปตามหาอาซึ่งเป็นนักเรียนอาชีวะ แต่ไม่มีภาพชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น แม้โดยส่วนตัวจะชอบวิทยาศาสตร์แต่ชอบการเมืองไม่แพ้กัน เห็นหลายเหตุการณ์ปฏิวัติ ความพยายามปฏิวัติ แต่ในตำราเรียนรุ่นของเขาจบที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองแค่นั้น แม้สนใจเรื่อง 6 ตุลาแต่ก็หาข้อมูลยากมาก อย่างไรก็ตาม 40 ปีผ่านไป ไม่คิดว่ามันเป็นมรดกใดๆ เลย เราอาจต้งอรออีก 40 ปี ถึงจะได้เห็นว่ามันเป็นบทเรียนจริงๆ สำหรับทั้งสังคม เหมือนที่เหตุการณ์สังหารที่นานกิงก็กลายเป็นบทเรียนยิ่งใหญ่สำหรับชาวญี่ปุ่น

ตอนพฤษภา 35 ได้ดูสารคดีย้อนหลังที่เผยแพร่ในโอกาส 12 ปี พฤษภา 35 จนทำให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นเกม ประชาชนเป็นแค่เบี้ยตัวหนึ่ง จริงๆ ปัจจุบันมันก็ยังเป็นเกม และเป็นเกมที่ซ้ำกับ 6 ตุลาด้วย และมันไม่ใช่มรดกใดๆ เลย แต่ถ้าเราเรียนรู้กันเต็มที่มันจะเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net