Skip to main content
sharethis

'แรงงานรัฐวิสาหกิจ-คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงาน' ขอปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศวันละ 360 บ. จี้ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจต้องไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ด้านกลุ่มสหภาพแรงงาน ย่านรังสิตและใกล้เคียง ร้องค่าจ้างที่เป็นธรรม รัฐคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว-เจรจาต่อรอง

การชุมนุมที่หน้ายูเอ็น ภาพโดย Nongmai Vijan 

เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องในวันงานที่มีคุณค่า (Decent Work) ซึ่งกำหนดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ได้กำหนดขึ้นและจัดเป็นประจำของทุกปี สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ยื่นข้อเรียกร้องถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่าน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน โดยข้อเรียกร้องมี 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ว่าด้วยคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน อาทิ ขอเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศวันละ 360 บาท พร้อมให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงกรณีนายจ้างเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงการจัดตั้งธนาคารแรงงาน และยกระดับการคุ้มครองคนงานให้มีมาตรฐานเดียวกันในอาเซียน

2.ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของคนงาน ขอให้มีการปฏิรูปกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ใหม่ และให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มแรงงานกรณีประธานและกรรมการสหภาพแรงงาน รัฐวิสาหกิจการบินไทย ถูกผู้บริหารฟ้องเรียกค่าเสียหาย 326 ล้านบาท 3.การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจต้องไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ต้องยึดมั่นในผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนให้เข้าถึงบริการจากรัฐโดยความเท่าเทียมด้วยราคาที่เป็นธรรม และ 4.การมีส่วนร่วมให้รัฐบาลเร่งทบทวนมาตรการต่างๆ ที่ทำให้คนงานสามารถเข้าถึงหลักการงานที่มีคุณค่า มีหลักประกันให้คนงานสามารถเข้าถึงหลักการได้จริง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันสามารถทำได้ทันทีเพราะมีอำนาจเต็ม โดยเฉพาะการเสริมสร้างอำนาจการต่อรองให้กับคนงานสามารถร่วมตัวจัดตั้งองค์กร น่าจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สถานการณ์ละเมิดสิทธิแรงงานในประเทศดีขึ้นและได้รับการยอมรับและหมายถึงบทบาทของไทยในเวทีโลก เพื่อให้คุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานดีขึ้นต่อไป 

คนงานย่านรังสิตฯ ร้องค่าจ้างที่เป็นธรรม

วันเดียวกันที่ ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี กลุ่มสหภาพแรงงาน ย่านรังสิตและใกล้เคียง ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันงานที่มีคุณค่า โดยกลุ่มดังกล่าวแถลงว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อสร้างงานเท่านั้น แต่มุ่งสร้างงานที่มีคุณภาพซึ่งยอมรับได้ เรื่องปริมาณการจ้างงานนั้นมิอาจแยกจากเรื่องคุณภาพของงานได้ ในปัจจุบันมีความจำเป็นต้องใช้ระบบสังคมและเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความปลอดภัยขั้นพื้นฐานและการจ้างงาน และคงความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในระบบการตลาดที่มีการแข่งขันสูงทั่วโลก งานที่มีคุณค่าหมายถึงงานที่มีความสามารถในการผลิต ปกป้องสิทธิต่างๆ สร้างรายได้อย่างเพียงพอ และไม่เป็นภัยต่อสังคม นอกจากนี้ยังหมายถึงงานที่มากพอที่จะให้ทุกคนมีโอกาสทำงานเพื่อสร้างรายได้อย่างเต็มที่

กิจกรรมที่ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี ภาพจากเฟซบุ๊ก กลุ่มสหภาพแรงงาน ย่านรังสิตและใกล้เคียง

กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ จึงมีข้อเรียกร้องดังนี้ 1. ค่าจ้างที่เป็นธรรม 2. ให้รัฐบาลลงนามในอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และอนุสัญญาอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง 3. ความปลอดภัยในการทำงาน และ 4. การละเมิดสิทธิแรงงาน

แถลงการณ์กลุ่มสหภาพแรงงาน ย่านรังสิตและใกล้เคียง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net