Skip to main content
sharethis

คลิปการนำเสนอหัวข้อ "ความขัดแย้งทางชนชั้นกับการเมืองมวลชนรอยัลลิสต์: ความย้อนแย้งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับพระราชอำนาจนำในสังคมไทย" ของเกษียร เตชะพีระ นำเสนอแทนโดย เอกสิทธิ์ หนุนภักดี 

8 ต.ค. 2559 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีการจัดเสวนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 ในหัวข้อ ความขัดแย้งและวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด (impunity) ในสังคมไทย จัดโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการจัดงาน 40 ปี 6 ตุลาคม 2519

ในงานดังกล่าวมีการนำเสนองานวิชาการหลายเรื่อง ในช่วงเช้าแบ่งเป็น 1.ความขัดแย้งทางชนชั้นกับการเมืองมวลชนรอยัลลิสต์: ความย้อนแย้งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับพระราชอำนาจนำในสังคมไทย โดย เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. 2.การลดทอนความเป็นมนุษย์ พื้นที่ทางศีลธรรม และความรุนแรง: จาก “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ถึง “กำจัดเสี้ยนหนามแผ่นดิน” โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. 3. การละเมิดแบบเดิมแต่การปิดกั้นแบบใหม่: รัฐและสิทธิมนุษยชนหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม โดย ไทเรล ฮาร์เบอร์คอร์น อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งชาติอสเตรเลีย

ประชาไทสรุปเวทีเสวนาแยกตามหัวข้อ สำหรับตอนนี้ เตรียมพบกับคลิปวิดีโอเร็วๆ นี้

สำรวจ ‘ช่วงเปลี่ยนย้ายอำนาจ’ หลายระลอกในเมืองไทย

เอกสิทธิ์ หนุนภักดี นำเสนอแทนเกษียร เตชะพีระ โดยระบุว่าจะเป็นการสรุปและตีความงานของเกษียร ส่วนต้นฉบับนั้นตีพิมพ์ในวารสารฟ้าเดียวกันฉบับล่าสุด คือ ฉบับ 40 ปี 6 ตุลา ความขัดแย้งและวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย 

เอกสิทธิ์กล่าวว่า ประเด็นใจกลางของเกษียรในงานชิ้นนี้คือ ความขัดแย้งในการเมืองไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่ยืดเยื้อยาวนานซึ่งบ่อนเซาะสังคมไทยอย่างมาก และทุกท่านล้วนเป็นประจักษ์พยาน สภาพการณ์ดังกล่าวเป็นดัชนีบอกเหตุหรือปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเกษียรใช้คำว่า 'ช่วงเปลี่ยนย้ายอำนาจ' ใหญ่ของสังคมไทย ซึ่งในอดีตเคยเกิดขึ้นมาแล้วซ้ำแล้วซ้ำเล่า

การเปลี่ยนย้ายอำนาจใหญ่ของไทยนั้นมีเหตุจากการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจต่อโลกภายนอกซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ เกิดการเลื่อนฐานะและการปรากฏตัวของชนชั้นใหม่ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในฐานสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นและเกิดการประชันขันแข่งทางการเมือง นั่นคือ ชนชั้นนำเก่าและพันธมิตร กับ ชนชั้นใหม่ที่รุ่งเรืองขึ้นมา ในระหว่างทางของการประชันขันแข่งอาจมีการผลัดกันแพ้ชนะ แต่ถึงที่สุดจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไม่ช้าก็เร็ว

เริ่มต้นพิจารณาได้จากในช่วงก่อนปี 2475เราก็มีการเปิดประเทศทางเศรษฐกิจ รับการค้าที่เสรีมากขึ้น ในช่วงพุทธศตวรรษ 2500 มีการเปิดกว้างการลงทุนต่างประเทศจนกระทั่งถึงสงครามเย็น หลังปี 2540 เป็นช่วงยุคหลังสงครามเย็น มีโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจและการเปิดเสรีการเงิน ผลที่เกิดขึ้นคือ จากการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจก่อนปี 2475 ทำให้เกิดกระฎุมพีจีน จากที่เป็นแรงงานก็สะสมทุนแล้วกลายเป็นนายทุน มีข้าราชการที่รับการศึกษาแบบตะวันตก เช่น ทหารที่จบต่างประเทศ ช่วงพุทธศวรรษ 2500 มีชนชั้นกลางในเมืองและนายทุนหัวเมืองต่างจังหวัดซึ่งมีความต้องการปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจบางอย่างที่จะได้มาก็ต้องเข้าถึงอำนาจทางการเมืองด้วย ในช่วงหลังปี 2540 เป็นต้นมามีผู้ประกอบการนอกระบบและคนต่างจังหวัดที่มีบทบาทมากขึ้น หากดูการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาต่างๆ จะพบว่า ปี 2475 เกิดการอภิวัฒน์ นำประเทศออกจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ ช่วงพุทธศตวรรษ 2500 เกิดการลุกฮือประชาชนครั้งใหญ่ทั้ง 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาคม 2535 นำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา หลัง 2540 มีทักษิณและพรรคไทยรักไทยเกิดขึ้น เข้าสู่อำนาจโดยใช้ฐานการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

“มันเป็นการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจแล้วคลี่คลายตัวไปสู่การปกครองแบบใหม่ ครั้งหลังสุดจะเปลี่ยนจากประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไปสู่ระบอบใด ยังคงเป็นคำถามอยู่” เอกสิทธิ์กล่าว

เขากล่าวด้วยว่า หากดูในประวัติศาสตร์ กลุ่มชนชั้นใหม่ที่อยากมีส่วนทางการเมือง มีวิธีการต่อสู้ทางการเมืองไม่เหมือนกัน และต่างใช้ยุทธวิธี ปัจจัยและทรัพยากรที่ตัวเองได้เปรียบและสามารถหาได้ในสภาพความเป็นจริงในขณะนั้นมาต่อสู้

ย้อนไปปี 2475 ถ้าข้าราชการและคณะราษฎรฝันถึงประเทศที่ไม่เหมือนชนชั้นนำเก่า พวกเขามีเครื่องมืออะไรที่จะใช้ได้เพราะการเลือกตั้งไม่มี เสรีภาพในการแสดงออกก็มีจำกัด หนทางที่ใช้คือการรัฐประหารยึดอำนาจ หากมองดูเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นักศึกษาและกระฎุมพีชาวเมืองต่อต้านเผด็จการ วิธีอื่นที่จะใช้ก็ไม่มี ไม่มีการเลือกตั้งเสรี หนทางที่จะถ่างพื้นที่ทางการเมืองสำหรับกลุ่มชนชั้นใหม่คือการลุกฮือต่อต้าน สำหรับหลังปี 2540 ทักษิณและเครือข่ายก้าวเข้ามามีอำนาจทางการเมือง เพราะระบอบการเมืองเอื้อให้กลุ่มทุนเข้าสู่อำนาจทางการเมืองได้ผ่านการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่าตลอดทางที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นจากบริบทภายนอก ปัจจัยอันกำจัดภายในประเทศ การใช้ประโยชน์จากสภาพความจริงรอบตัวของกลุ่มที่ต่อสู้กันขณะนั้น

แล้วเราจะสรุปความขัดแย้งในรอบทศวรรษอย่างไร เอกสิทธิ์ระบุว่า เกษียรหยิบยกแนวคิดของนิธิ เอียวศรีวงษ์ ขึ้นมา โดยนิธิเคยอธิบายไว้ว่า “ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาจากความเห็นต่ออนาคตทางการเมืองที่แตกต่างอย่างสุดขั้ว ฝ่ายหนึ่งใฝ่ฝันจะเห็นบ้านเมืองพัฒนาไปในทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เสียงประชาชนคือคำตัดสินเด็ดขาดผ่านระบบรัฐสภา ผ่านกระบวนการที่ไม่มีอำนาจนอกระบบแทรกแซง และเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ จำเป็นต้องทำให้สังคมเสมอภาคกันยิ่งขึ้น ไม่เฉพาะแต่ทางการเมืองแต่ทางอื่นๆ ด้วย ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งใฝ่ฝันถึงอนาคตของประเทศที่ปราศจากฉ้อราษฎ์บังหลวงโดยสิ้นเชิง รัฐบาลผู้มีความรู้ความสามารถและซื่อสัตย์ เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความไพบูลย์ในทุกด้าน ความเสมอภาคไม่ใช่เรื่องใหญ่โดยเฉพาะในทางการเมือง ซึ่งจะขัดขวางไม่ให้คนดีเข้ามาบริหารได้”

คนชั้นกลางเก่า vs. คนชั้นกลางใหม่ / วัฒนธรรมราชูปถัมภ์ vs. ประชานิยม

เกษียรนำเสนอว่าความขัดแย้งทางชนชั้นนั้นคือ คนชั้นกลางเก่าปะทะต่อรองกับชนชั้นกลางใหม่ และยังมีการเมืองวัฒนธรรมที่เป็นการปะทะกันระหว่างราชูปถัมภ์และประชานิยม

คนชั้นกลางเก่า คือ ชาวเมืองที่มีฐานะมั่นคงแล้ว สังเกตได้จากหลังพฤษภาทมิฬมีการร่างรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่าผู้เป็นส.ส.ได้ต้องจบปริญญาตี นั่นทำให้กวาดคนจำนวนมากออกจากอำนาจทางการเมืองและประทับรับรองคนชั้นกลางที่มีการศึกษาเข้ามามีอำนาจทางการเมือง รูปร่างหน้าตาของคนกลุ่มนี้ คือ มวลชนของ พธม. และ กปปส. ที่อยู่ของเขา คือ กรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างจังหวัดในพื้นที่เมือง วิธีที่ใช้คือการอ้างถึงประชาสังคม อ้างประชาชน แต่เป็นประชาชนที่อยู่ในเครือข่ายประชาสังคมของเขา ยุทธศาสตร์และเครื่องมือคือการเมืองบนท้องถนนแบบรุนแรง ให้มวลชนยึดครองศูนย์อำนาจหลายจุด บังคับแบบอนาธิปไตย กรวยคือมีม (Meme) ของคนชั้นกลางเก่า เมื่อกรวยตั้งปุ๊บเป็นอัมพาตทางเศรษฐกิจปั๊บ เกิดสภาวะรัฐเกือบล้มเหลว เป้าหมายคือการสร้างเงื่อนไขสภาพการณ์ที่ทำให้ปกครองไม่ได้ ฉวยใช้อำนาจนำของสถาบันกษัตริย์ซึ่งมีความกำกวมหยั่งรากลึกในเรื่องอำนาจอธิปไตย เรียกร้องให้มีการแทรกแซงทางการเมืองจากเบื้องบน ใครก็ได้ที่เป็นคนดีส่งมาจากข้างบน อุดมการณ์และเป้าหมายคือ government for the people หรือการปกครองเพื่อประชาชน แต่ไม่ต้องมี “ของประชาชน” “โดยประชาชน” เรียกได้ว่า ประชาชนอยู่เฉยๆ เดี๋ยวเราจัดให้ประชาชนทุกคนเอง ต้องการนิติรัฐในความหมายว่ารัฐที่สามารถสอดส่องตรวจตราและควบคุมได้ พิทักษ์สิทธิของคนกลุ่มน้อย อาจเป็นคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจมาก ขณะเดียวกันก็ลุกล้ำสิทธิอันมีน้อยของคนส่วนมาก พยายามต้านทุนสามานย์และนักการเมือง คนโกงในประเทศไทยเกิดได้เฉพาะกับนักการเมือง ถ้าเป็นทหารทำนั้นนับเป็น ‘การบริจาค’ หรือเป็น ‘การกระทำที่ใครๆ ก็ทำกัน’ เป็นพันธมิตรกับเผด็จการทหารและพระราชอำนาจนำ โดยรวมแล้วคล้ายกับ ‘เอ็นจีโอ+ผู้พิพากษา’ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็น non-majoritarian บวกกับคนดี

ถามว่าประชาธิปไตยแบบนี้เป็นที่ยอมรับและอยู่กับสังคมไทยได้อย่างไร เกษียรชี้ว่า มันเกิดจากความกำกวมอันลุ่มลึก-เรื้อรัง ดูได้จากรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” ดูเหมือนอำนาจอยู่ที่คนหนึ่งและใช้โดยอีกคน บวรศักดิ์ อุวรรณโน ได้ตอบเรื่องนี้ไว้ว่า จริงๆ แล้วเป็นการถืออำนาจร่วมกันระหว่างประชานกับพระมหากษัตริย์ เราไม่ค่อยรู้สึกว่าเราถืออำนาจร่วมด้วย จะรู้สึกต่อเมื่ออำนาจถูกพรากไปจากมือของประชาชน โดยหลักการทุกครั้งที่มีการรัฐประหารอำนาจดังกล่าวย่อมหวนกลับไปสู่พระมหากษัตริย์ที่ถืออำนาจนั้นตั้งแต่ก่อน 2475 สิ่งนี้ทำให้ระบอบประชาธิปไตยแบบชนชั้นกลางเก่าเป็นไปได้ในประเทศไทย และประชาธิปไตยแบบอื่นดูผิดที่ผิดทาง มันเกิดได้เพราะมีอำนาจนำ Hegemony ซึ่งเป็นการยินยอมพร้อมใจของผู้ตาม ปฏิบัติตามการนำโดยไม่ต้องใช้อำนาจบังคับ ประชาธิปไตยแบบชนชั้นกลางเก่าอยู่ได้โดยคนดีที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยมีการประทับตราจากอำนาจนำว่าดีแน่ๆ ซึ่งเกิดจากการยินยอมพร้อมใจ อย่างไรก็ตามมันก็มีความย้อนแย้ง เพราะการยินยอมพร้อมใจต้องมีเสรีภาพแต่สภาพการณ์นั้นกลับเป็นการบังคับ 

ถามว่า พระราชอำนาจนำเกิดได้อย่างไร ในหลวงทรงสร้างกระบวนนี้โดยใช้เวลายาวนานและยากลำบาก มันถูกผลิตผ่านอุดมการณ์ราชาชาตินิยมผนวกกับชุมชนชาติไทยในจิตนนากรรม ที่มั่นของสถาบันกษัตริย์ไม่สามารถแยกออกได้จาก 1.จินตนาการร่วมกันของคนไทย 2.โครงการพระราชดำริหลายพันโครงการที่พระองค์ริเริ่มสร้างสรรค์อย่างไม่รู้เหนื่อยหน่าย เพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ของพสกนิกรในชนบทให้ได้ส่วนที่เขาไม่ได้จากการเมืองปกติ 3.เครือข่ายผู้รักสถาบันทุกสาขาอาชีพอย่างไม่เป็นทางการ ดึงคนแตกต่างหลากหลายมากกว่าจะกีดกันคนออกไป

หากดูประสิทธิผลของพระราชอำนาจนำ เราจะพบว่ามันบันดาลให้สิ่งที่เคยเป็นภัยคุกคามต่อสถาบันกษัตริย์ไม่เป็นภัยคุกคามอีกต่อไป ภัยคุกคามของสถาบันกษัตริย์ในประเทศต่างๆ ที่มีร่วมกัน คือ 1.กองทัพ 2.กองกำลังติดอาวุธของขบวนคอมมิวนิสต์ 3.ชนชั้นกลางที่มีฐานะมั่นคง โดยปกติ 3 ปัจจัยนี้คุกคามสถาบันกษัตริย์มากที่สุด แต่พระราชอำนาจนำของในหลวงบันดาลให้ภัยคุกคาม 3 ประการนี้สงบลง เหตุที่สงบลงและใช้ได้ต่อเนื่องยาวนาน ไม่ใช่เพราะสถาบันสัมพันธ์กับการเมืองตลอดเวลา แต่การจำกัดการสัมพันธ์กับการเมืองต่างหากที่กลายเป็นพลัง ทุกคนยอมรับน้อมนำโดยไม่ต้องนำอำนาจมาใช้ และถ้าต้องใช้ ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่เคยบันทึกไว้ว่า หากเกิดสุญญากาศทางการเมือง สถาบันอาจเข้ามาจัดการทางการเมืองได้ แล้วต้องรีบถอนตัวไปอยู่เหนือการเมืองเร็วที่สุด จึงเป็นการใช้อำนาจนำอย่างมีประสิทธิผล

คนชั้นกลางใหม่ จะขอกล่าวโดยรวบรัดว่าคือ คนชั้นกลางระดับล่าง ต้องการสังคมการเมืองอยากให้ดีเบทกันได้ เครื่องมือสำคัญคือรัฐบาลโดยประชาชน พวกเขานิยมการเลือกตั้งและประชานิยม เป้าหมายคือรัฐบาลโดยประชาชน ความเท่าเทียม อำนาจนำตามแนวทางของคนกลุ่มนี้คือ อำนาจนำตามแนวทางทุนนิยม ปรากฏชัดเจนในช่วงทักษิณและพรรคไทยรักไทย  

ผลการต่อสู้ทำให้สิ่งที่ควรจะอยู่ร่วมกันแตกออกจากกัน คือ เสรีนิยม กับ ประชาธิปไตย มันเกี่ยวกับพระราชอำนาจนำตรงที่ว่า ชนชั้นกลางเก่าใช้อุดมการณ์พระราชอำนาจนำเป็นเครื่องมือต่อสู้กับเสรีนิยม เช่น การใช้มาตรา 112 อย่างพร่ำเพรื่อส่งผลสะเทือนต่อพระราชอำนาจนำ เครือข่ายที่เคยเรียกร้องประชาธิปไตยมาก่อนปริแยกออกจากประชาธิปไตยมากขึ้น แล้วเข้าไปหารัฐบาลทหาร ผู้เสนอตัวครั้งล่าสุดในการหาทางออกคือ คสช. ซึ่งใช้แนวทางรัฐนิยมราชการ กอบกู้ความเป็นปึกแผ่น ทำให้การเมืองสงบราบเรียบ โดยมีความมุ่งหวังอยากได้ประชาธิปไตยที่มั่นคงและสถาบันกษัตริย์ที่มั่นคง คำถามคือ แล้วมันเกิดเป็นจริงได้ไหม ดูเหมือสิ่งที่เกิดขึ้นมันย้อนแย้งในทางการเมืองวัฒนธรรม

มวลชนรอยัลลิสต์จับมือกับรัฐบาลคสช. ใช้ม.112 ม.44 สร้างสภาวะยกเว้นของเขตปลอดการเมืองถาวร ติดตั้งประชาธิปไตยย้อนยุค สร้างอำนาจรัฐให้เข้มแข็งเหนือสังคมทั่วไป พึ่งพาอาศัยรัฐราชการ มีความทะเยอทะยานควบคุมอำนาจอาญาสิทธิ์ที่ไม่ต้องรับผิดต่อใคร มีวิธีคิดตกค้างจากสงครามเย็น คณะทหารมีลักษณะอนุรักษ์นิยมพ่อขุนอุปถัมภ์สืบทอดจากสมัยสฤษดิ์โดยไม่ถูกปฏิรูป คำถามก็คือ เครื่องมือเช่นนี้หรือที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยมั่นคงสถาบันกษัตริย์มั่นคง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net