Skip to main content
sharethis
'สวนดุสิตโพลล์' ระบุประชาชนหนักใจแทนประยุทธ์มากสุดในการบริหารราชการบ้านเมืองให้พ้นวิกฤต 'ซูเปอร์โพลล์' คนยังเลือกพรรคที่หนุนประยุทธ์นั่งนายกแต่จะไม่มีพรรคใดได้คะแนนเกินครึ่ง ต้องจัดตั้ง รัฐบาลผสม ชี้นักการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงแนวทางแก้ปัญหาบ้านเมืองที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติได้แก่ 'อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์-กรณ์' 'นิด้าโพลล์' คนเห็นด้วยกฎหมายจัดระเบียบ 'หัวคะแนน' ช่วงหาเสียงเลือกตั้งให้โชว์บัญชีทรัพย์สินด้วย 
 
เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2559 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าดุสิตโพล สำรวจความเห็นประชาชนส่วนใหญ่ ระบุ หนักใจแทน “นายกฯ ประยุทธ์” มากสุด ในการบริหารราชการบ้านเมืองให้พ้นวิกฤตต่าง ๆ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางการเมือง
       
ถึงแม้ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ามาบริหารประเทศเป็นเวลานานกว่า 2 ปีแล้ว แต่ยังคงเห็นได้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ยังคงมีปัญหาต่าง ๆ เข้ามารุมเร้า ส่งผลให้อุณหภูมิทางการเมืองของประเทศ ยังคงร้อนแรง สร้างความวิตกกังวลและความหนักใจให้กับประชาชนอย่างมาก เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อ “ความหนักใจแทนนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,245 คน ระหว่างวันที่ 3 - 7 ตุลาคม 2559 สรุปผลได้ ดังนี้
       
“10 ความหนักใจ” ของประชาชนแทนนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันดับ 1 การบริหารบ้านเมืองให้ผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ 86.02% วิธีแก้ผู้นำต้องเข้มแข็ง จริงจัง แก้ปัญหาให้ตรงจุด มีคณะทำงานที่เก่ง มีความรู้ความสามารถ ใช้อำนาจในทางสุจริต ฯลฯ
       
อันดับ 2 การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การส่งออก 84.86% วิธีแก้ไข ภาครัฐต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เชิญชวนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ฯลฯ
       
อันดับ 3 ความขัดแย้งทางการเมือง สร้างกระแส โจมตี 80.24% วิธีแก้ไข ต้องเด็ดขาด เอาจริงเอาจัง รับฟังความคิดเห็นรอบด้าน เมื่อเกิดกระแสต่าง ๆ ควรออกมาชี้แจง แก้ปัญหาทันที ฯลฯ
       
อันดับ 4 ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ค่าครองชีพ สินค้าแพง 77.11% วิธีแก้ไข ควบคุมราคาสินค้า ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค แก้ปัญหาว่างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน ฯลฯ
       
อันดับ 5 การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน และผู้มีอิทธิพล 75.90% วิธีแก้ไข ใช้อำนาจตามมาตรา 44 มีบทลงโทษที่รุนแรง ขุดรากถอนโคน ตั้งกรรมการตรวจสอบทุกกรณี ไม่มีการละเว้น ฯลฯ
       
อันดับ 6 รัฐธรรมนูญ กฎหมาย กำหนดการการจัดการเลือกตั้ง 71.33% วิธีแก้ไข มีการดำเนินงานที่เป็นมาตรฐาน มีความเป็นธรรม เปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนรวม เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ ฯลฯ
       
อันดับ 7 น้ำท่วม ภัยธรรมชาติ 68.67% วิธีแก้ไข การบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบ เตรียมการรับมือป้องกันล่วงหน้า ขุดลอกคูคลอง ฟื้นฟูรักษาธรรมชาติ ฯลฯ
       
อันดับ 8 ความเดือดร้อนของเกษตรกร ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ 64.34% วิธีแก้ไข มีมาตรการช่วยเหลือ เร่งจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร พักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย ดูแลราคาผลผลิตที่เป็นธรรม ฯลฯ
       
อันดับ 9 ปัญหาการจราจร การพัฒนาระบบการคมนาคม 54.22% วิธีแก้ไข พัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีคุณภาพ มีปริมาณเพียงพอรองรับความต้องการ มีการควบคุมการใช้รถใช้ถนน ฯลฯ
       
อันดับ 10 สภาพสังคมเสื่อมโทรม เอารัดเอาเปรียบ เห็นแก่ตัว 48.20% วิธีแก้ไขมีบทลงโทษที่รุนแรง ขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย ปฏิรูปการศึกษา เน้นการปลูกฝังคุณธรรม สร้างจิตสำนึกที่ดี ฯลฯ
 
ซูเปอร์โพลล์ชี้คนยังเลือกพรรคที่หนุนประยุทธ์นั่งนายก แต่จะไม่มีพรรคใดได้คะแนนเกินครึ่งต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม
 
9 ต.ค. 2559 เว็บไซต์ RYT9 รายงานว่านายนพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพลล์ (SUPER POLL) เปิดผลสำรวจ เรื่อง โพลมองข้ามช็อต สู่โหมดเลือกตั้ง วันนี้ชาวบ้านเลือก พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.1 ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์ ในขณะที่ร้อยละ 22.9 ติดตามบางสัปดาห์ ถึงไม่ได้ติดตามเลย
 
เมื่อถามถึง พรรคการเมืองที่เคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์ นำพาบ้านเมืองสงบสุข พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.6 ระบุ พรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่ร้อยละ 42.4 ระบุพรรคเพื่อไทย แต่เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่กังวลว่าเคลื่อนไหวสู่ความขัดแย้งของคนในสังคม พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.8 ระบุ พรรคเพื่อไทย ในขณะที่ร้อยละ 46.2 ระบุ พรรคประชาธิปัตย์
 
และเมื่อถามถึงนักการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงแนวทางแก้ปัญหาบ้านเมืองที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติส่วนรวมมากที่สุด พบว่า อันดับแรก หรือร้อยละ 32.6 ระบุ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รองลงมาคือร้อยละ 20.7 ระบุ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อันดับสามหรือร้อยละ 6.3 ระบุนาย กรณ์ จาติกวณิช อันดับสี่ หรือร้อยละ 5.5 ระบุ นาย จตุพร พรหมพันธุ์ และอันดับ ห้า หรือ ร้อยละ 3.5 ระบุ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองๆ ลงไปคือ นายวัชระ เพชรทอง นายพิชัย นริพทะพันธุ์ นายราเมศ รัตนเชวง นายภูมิธรรม เวชยชัย และอื่นๆ ตามลำดับ
 
ที่น่าสนใจคือ ถ้าวันนี้เลือกตั้ง ประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 40.1 จะเลือกพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะ เป็นประชาธิปไตย ไม่ทุจริต คอรัปชั่นเหมาะกับสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน เป็นคนกลางทางการเมือง ป้องกันความขัดแย้งของคนในชาติได้ มีความเป็นผู้นำที่ได้รับความวางใจสูง กล้าคิดกล้าตัดสินใจ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และ เพราะ กลัวผีทุจริตคอรัปชั่นและพล.อ.ประยุทธ์ ปราบผีเหล่านั้นได้ เป็นต้น รองลงมาคือ ร้อยละ 22.0 จะเลือกพรรคเพื่อไทย เพราะเข้าถึงประชาชน นโยบายเข้าถึงคนจน คนรายได้น้อย แก้ปัญหาได้ตรงใจตรงความต้องการ มีความเป็นประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม และชื่นชอบ ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 17.4 จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเชื่อมั่นนิยมศรัทธานาย อภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรค และคนเก่าแก่ของพรรค ชอบระบบของพรรค จุดยืนของพรรคโดนใจ เป็นประชาธิปไตย พรรคมีสมาชิกเป็นหมอผีประจำพรรค เป็นต้น และร้อยละ 20.5 จะเลือกพรรคอื่นๆ เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ฯลฯ เพราะ เบื่อหน่ายความขัดแย้งไม่ชอบสองพรรคการเมืองใหญ่ ต้องการลองพรรคอื่นเป็นทางเลือกมีสมาชิกพรรคที่ทำงานในพื้นที่ต่อเนื่อง และเป็นพรรคตัวแปรคนกลางร่วมจัดตั้งรัฐบาล เป็นต้น
 
ผอ.ซูเปอร์โพลล์ กล่าวว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง น่าจะฟันธงได้ว่า ไม่มีทางจะได้รัฐบาลพรรคเดียวเพราะไม่มีพรรคการเมืองใดได้คะแนนเกินครึ่งรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งจึงเป็นรัฐบาลผสมอย่างแน่นอน พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จึงต้องร่วมกับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงรองๆ ลงไป ดังนั้น รัฐบาลใหม่อาจจะอ่อนแอและอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของอำนาจที่แตกต่างไปจากอดีต
 
“ดังนั้น การถักทอประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่านที่เป็นเนื้อเดียวกันระหว่างรัฐบาลใหม่กับรัฐบาลปัจจุบันในปลายปีหน้าจึงเป็นก้าวย่างที่สำคัญ ถ้ามีการเร่งทำงานร่วมกันแบบ “ไร้รอยต่อ" ในเชิงสร้างสรรค์ของพรรคการเมืองเองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ชาติและผลประโยชน์ของประชาชนทุกคน ผลที่ตามมาคือ จะทำให้เกิดกลุ่มสนับสนุนฐานเสียงรัฐบาลใหม่เป็นตะกอนนอนก้นสนับสนุนรัฐบาลให้ทำงานได้แม้จะมีข้อจำกัดเชิงอำนาจบริหารและการตัดสินใจควบคุมอยู่ก็ตาม"นายนพดล กล่าว
 
สำนักวิจัยซูเปอร์โพลล์ (SUPER POLL) ทำการสำรวจกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,203 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 7 – 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา
 
'นิด้าโพลล์' ประชาชน 79% เห็นด้วยกฎหมายจัดระเบียบ 'หัวคะแนน' ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ชี้ให้โชว์บัญชีทรัพย์สินด้วย
 
9 ต.ค. 2559 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “กกต. ควรทำหน้าที่อะไร"สรุปได้ดังนี้ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้การเลือกตั้งในทุกระดับ มีความสุจริตและเป็นธรรม 
 
พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.96 ระบุว่า กกต.ควรทำหน้าที่ทั้งจัดการเลือกตั้งและกำกับดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและยุติธรรม รองลงมา ร้อยละ 15.68 ระบุว่า กกต.ควรทำหน้าที่กำกับดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและยุติธรรมเท่านั้น ร้อยละ 8.32 ระบุว่า กกต. ควรทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งเท่านั้น ร้อยละ 0.32 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ให้ทำหน้าที่อย่างที่เคยทำอยู่, พิจารณาการรับสมัครนักการเมืองที่มีความสามารถ, ขณะที่บางส่วนระบุว่าไ ม่ควรมีกกต. และร้อยละ 2.72 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ 
 
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการให้ กกต. มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวน ไต่สวนและวินิจฉัยกรณีสงสัยว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.40 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 20.80 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 0.40 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ขึ้นอยู่กับผู้ควบคุม กกต. และความโปร่งใสของ กกต., ควรมีหน่วยงานอื่นร่วมด้วย, ขณะที่บางส่วนระบุว่า ควรมีหน้าที่ในการสืบสวน ไต่สวน แต่ไม่ควรวินิจฉัย และร้อยละ 2.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ 
 
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการมีคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งระดับจังหวัดที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐผู้แทนองค์กรธุรกิจเอกชน ผู้แทนองค์กรประชาสังคมและชุมชน ทำหน้าที่อำนวยการการจัดการเลือกตั้งให้สุจริตและยุติธรรม ทั้งการเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 85.68 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 11.20 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 0.08 ระบุว่า ควรรับผิดชอบอำนวยการการจัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นก็เพียงพอ และร้อยละ 3.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ 
 
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการให้ส่วนราชการอื่น ๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้จัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ส่วน กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งเฉพาะในระดับชาติ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.56 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 44.64 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยร้อยละ 0.08 ระบุว่า ไม่ควรมี กกต. และร้อยละ 4.72 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ 
 
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้งสามารถมีจำนวนหัวคะแนนได้ไม่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด (เช่น ไม่เกิน 5 คน) และทุกคนต้องจดทะเบียนและแสดงบัญชีทรัพย์สินและรายจ่าย ในการช่วยหาเสียงตามวงเงิน ที่กฎหมายกำหนด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.84 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 16.48 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 0.24 ระบุว่า ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ขณะที่บางส่วนระบุว่าไม่ควรมีหัวคะแนนเลย และร้อยละ 3.44 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ 
 
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการยกเลิก กกต. จังหวัด แต่กำหนดให้มีผู้ตรวจการการเลือกตั้งที่สรรหาจากส่วนกลาง จังหวัดละ 3 – 5 คนไปทำหน้าที่กำกับการเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.56 ระบุว่า เห็นด้วย ขณะที่ ร้อยละ 34.08 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 5.36 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net