โต้วาทกรรม “Blame the Victim” กรณี 6 ตุลา 2519

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 อนุสนธิจากบทความเรื่องหนึ่งที่เขียนวิจารณ์ว่า กรณีนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 นั้นเป็นเพราะขบวนการ นักศึกษา “ซ้ายจัด” เกินไปโดยเฉพาะในหมู่แกนนำ นักศึกษายุคนั้นที่ไม่ยอมรับฟังคำท้วงติงของบางฝ่าย

ในฐานะที่ผู้เขียนเคยเป็นอดีตแกนนำนักศึกษาสมัยนั้นคือ ผู้เขียนดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ศนท. ฝ่ายสังคมและการศึกษา ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมกับแกนนำของขบวนการนักศึกษาตลอดระยะเวลาของการเคลื่อนไหวในช่วงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว จึงขอให้ข้อเท็จจริงและความคิดเห็นในประเด็น “ซ้ายจัด” ดังนี้

ข้อเท็จจริงการเคลื่อนไหวของ ศนท.

40 ปี แห่งการรอคอยเพื่อการชำระประวัติศาสตร์บาดแผลหน้านี้  เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นภาพสะท้อนของความรุนแรงในการปะทะกันทางความคิดสองขั้ว ระหว่าง กลุ่มที่มีความกลัวเกิดขึ้นหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายก้าวหน้าที่ต้องการหาทางออกที่ดีกว่าให้กับสังคมไทย

ตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมานักศึกษาและประชาชนเริ่มถูกฝ่ายตรงข้ามใช้ความรุนแรงเข้าทำลาย เช่น การลอบสังหารผู้นำชาวนาชาวไร่กว่า 40 คน ผู้นำแรงงานถูกปราบปรามอย่างรุนแรง การลอบสังหารแกนนำนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงกลางวันแสกๆ

เมื่อล่วงเข้าปี 2519 การสังหารทางการเมืองเป็นไปอย่างปิดเผยมากขึ้น ตั้งแต่การสังหารรอมเรศ ชัยสะอาด อดีตกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย การสังหารดร.บุญสนอง บุญโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ตลอดจนการขว้างระเบิดใส่นักศึกษา ประชาชนที่เดินขบวนต่อต้านฐานทัพอเมริกา

จากการเปิดเผยของหนังสือ “อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง 6 ตุลาคม 2519” กล่าวว่าการคุกคามฝ่ายนักศึกษาเกิดขึ้นอย่างหนักใน พ.ศ. 2519 ตั้งแต่ต้นปีจนกระทั่งแน่ใจว่าขบวนการอ่อนกำลังลงมากแล้ว จึงได้มีการนำตัวจอมพลประภาส จารุเสถียรเข้าสู่ประเทศไทย  แต่ปรากฏว่าเหตุการณ์นี้ชนชั้นนำยังไม่มีความพร้อมเพียงพอที่จะก่อรัฐประหารได้ จึงต้องผลักดันให้จอมพลประภาสออกนอกประเทศไปก่อน

ต่อมาจอมพลถนอม กิติขจร ก็กลับเข้าประเทศไทยจนได้ โดยบวชเป็นสามเณรต่อจากนั้นได้บวชเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศ ซึ่งเป็นวัดหลวง วิทยุยานเกราะออกประกาศตักเตือนมิให้นักศึกษาก่อความวุ่นวายมิฉะนั้นแล้วอาจจะมีการประหารสักสามหมื่นคน เพื่อให้ชาติบ้านเมืองรอดปลอดภัย

ฝ่ายประชาชนสรุปว่า การเข้ามาของจอมพลถนอมส่วนหนึ่งเป็นแผนการที่วางไว้เพื่อจะหาทางก่อรัฐประหาร ศนท.และกลุ่มพลังต่างๆ 165 กลุ่มได้วิเคราะห์ว่ากรณีนี้เป็นเกมที่ละเอียดซับซ้อน เพราะใช้ศาสนาเป็นเครื่องบังหน้า ดังนั้น ศนท.จึงต้องสุขุมรอบคอบ และให้โอกาสแก่รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินในการแก้ปัญหาก่อน

หลังจากรัฐบาลไม่สามารถจัดการปัญหาได้ ศนท.จึงจัดชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวงในวันที่  4 ตุลาคม จนกระทั่งเกิดฝนตก และมีแนวโน้มการคุกคามของกลุ่มฝ่ายขวา กลุ่มนักศึกษาที่นำการชุมนุมจึงมีมติให้ย้ายเวทีเข้ามาชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อความสะดวกในการรักษาความปลอดภัย และการประท้วงก็ข้ามคืนมาจนถึงวันที่ 5 ตุลาคม และเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคมในเวลาต่อมา

โดยกลางดึกของคืนวันที่ 5 ตุลาคม ศนท.ได้มีการเรียกประชุมด่วนและมีมติให้สลายการชุมนุมหลังจากที่ศนท.ได้เห็นภาพโฆษณาชวนเชื่อละครแขนคอที่ตีพิมพ์ โดย น.ส.พ.ดาวสยาม ถูกนำมาแจกจ่ายในรูปเอกสารถ่ายสำเนา การสลายการชุมนุมจะมีขึ้นในเช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม เพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุมทุกคน นอกจากนี้ยังได้ให้นักศึกษามหิดลถอนกำลังออกไป เพื่อทำการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนเกี่ยวกับภาพโฆษณาชวนเชื่อนั้นอีกทางหนึ่งด้วย

ไม่มี “ซ้ายจัด” มีแต่ “ข้อจำกัด”

คำถามคือ การที่ขบวนการนักศึกษาประชาชนยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด  เป็นการกระทำที่ “ซ้ายจัด” และสมควรถูก “ลงโทษ” กระนั้นหรือ??  สิ่งนี้คือ วาทกรรมที่เรียกว่า “Blame the Victim” นั่นเอง

วาทกรรม “Blame the Victim” นี้หมายถึง การที่ฝ่ายถูกกระทำต้องลงโทษและตำหนิตัวเองในอาชญากรรมและเหตุร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น กรณีที่นักศึกษาประชาชนถูกปราบปรามอย่างรุนแรงและโหดเหี้ยมในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519  จึงถือเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายผู้ถูกกระทำเอง ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหารและแผนการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย หรือเพราะ “ซ้ายจัด” นั่นเอง

สิ่งที่เราควรตั้งคำถามคือ ทำไมเมื่อขบวนการนักศึกษาประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านเผด็จการ เขาเหล่านั้นกลับกลายมาเป็นผู้ทำความผิดและต้องถูกลงโทษ

ทำไมเราไม่มองว่าเขาเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีจิตใจกล้าต่อสู้ กล้าเสียสละในการต่อสู้เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยจนถึงที่สุดเล่า……..

ข้อจำกัดของขบวนการนักศึกษาและประชาชนคือ ขบวนการนี้มีพัฒนาการในระยะเวลาที่สั้นมากคือ เพียง 3 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา  ดังนั้นการพัฒนายุทธศาสตร์และยุทธวิธี รวมทั้งรูปแบบการเคลื่อนไหวย่อมมีข้อจำกัดเป็นธรรมดา เมื่อเทียบกับฝ่ายที่กระทำความรุนแรงซึ่งมีประสบการณ์มานับศตวรรษ

จะมีหรือไม่มีการชุมนุม 6 ตุลาฯ รัฐต้องปราบปรามแน่นอน

คำถามต่อมาคือ แม้ว่าจะไม่มีการชุมนุมในวันที่ 6 ตุลาคม เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ารัฐไทยจะไม่ทำการปราบปรามและกวาดล้างขนานใหญ่ นั่นเพราะบทเรียนในอดีตอันขมขื่นสอนให้เรารู้ว่า ไม่ว่าฝ่ายประชาชนจะเคลื่อนไหวชุมนุมหรือไม่ก็ตาม ฝ่ายขวาจัดย่อมลงมือปราบปรามผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างโหดเหี้ยมเสมอ

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่ว่าจะมีการชุมนุมวันที่ 6 ตุลาคมหรือไม่ รัฐก็ต้องลงมือปราบปรามขบวนการนักศึกษาประชาชนอย่างไม่ต้องสงสัย  ดังนั้นจิตใจที่กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละของวีรชนจำนวนมากเพื่อปกป้องประชาธิปไตยในวันนั้นจึงสมควรได้รับการยกย่องและเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง

อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็ยังมีความเห็นว่า สังคมไทยต้องดำเนินการทั้งในแง่ของการเปิดเผยข้อเท็จจริง และการ “จัดการ” กับผู้ก่ออาชญากรรมในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 เพื่อนำไปสู่การยุติความรุนแรงต่อประชาชน และเพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อกรณีการก่ออาชญากรรมโดยรัฐ ดังที่มีการดำเนินการในนานาอารยประเทศ……

0000

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท