Skip to main content
sharethis

ช่วงต้นสัปดาห์นี้เกิดเหตุโจมตีป้อมตำรวจ 3 แห่งในรัฐยะไข่ โดยผู้ก่อเหตุโจมตีใช้มีด และอาวุธที่ทำขึ้นเอง แถมหลังก่อเหตุมีการยึดปืนและอาวุธจากตำรวจพม่าหลายรายการ ขณะที่ ผบ.ตร.พม่าอ้างว่าผู้ก่อเหตุพูดเบงกาลี แต่ยังไม่สามารถระบุชื่อกลุ่มที่ลงมือได้ ต้องรอข้อมูลชุดอื่น

12 ต.ค. 2559 เหตุโจมตีป้อมตำรวจ 3 แห่งที่รัฐยะไข่ ชายแดนบังกลาเทศ-พม่า ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 9 ต.ค. ทำให้ตำรวจพม่าเสียชีวิต 9 นาย บาดเจ็บ 5 ราย ขณะที่ผู้โจมตี 8 รายเสียชีวิต ขณะที่ล่าสุดยังไม่แน่ชัดว่าเป็นฝีมือกลุ่มใด

การแถลงข่าวโดยรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่กรณีการโจมตีที่ป้อมตำรวจรัฐยะไข่ จัดในช่วงเย็นวันที่ 9 ตุลาคม (ที่มา: The New Light of Myanmar, 10 October 2016 หน้า 1)

รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสำคัญ ระหว่างการแถลงข่าวเมื่อ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา (ที่มา: The New Light of Myanmar, 10 October 2016 หน้า 3)

ทั้งนี้หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ของทางการพม่าฉบับวันที่ 10 ต.ค. นำเสนอข่าว การแถลงของเจ้าหน้าที่พม่าที่เนปิดอว์เมื่อช่วงเย็นวันที่ 9 ต.ค. ด้วย โดย "เป มิ้นท์" รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารระบุว่าการแถลงข่าวเกิดขึ้นภายหลังการหารือระหว่างเจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาแห่งรัฐ ออง ซาน ซูจี ในเรื่องที่ว่าการแถลงข่าวจะต้องไม่ก่อให้เกิดความกังวลและตื่นกลัวในหมู่ประชาชน

จากการแถลงข่าว เจ้าหน้าที่ของทางการพม่าระบุว่า มีปืน 62 กระบอก กระสุน 10,130 นัด ดาบปลายปืน และปลอกกระสุนปืนจำนวนหนึ่งถูกกลุ่มผู้ก่อเหตุโจมตียึดไปด้วย นอกจากนี้เมื่อเจ้าหน้าที่เคลียร์พื้นที่ก็พบอาวุธ 13 ชิ้นทิ้งไว้โดยผู้ก่อเหตุโจมตีด้วย

ในการแถลงข่าวที่เนปิดอว์ เจ้าหน้าที่พม่าระบุว่า เหตุโจมตีครั้งที่ 1 กิดขึ้นที่ป้อมในตำบลจีคันปินใกล้อำเภอเมาก์ด่อ บริเวณชายแดนพม่า-บังกลาเทศ เหตุเกิดเมื่อเวลา 01.00 น. มีผู้ก่อเหตุ 10 ราย แต่ตำรวจตอบโต้กลับและยึดปืนพกทำเองได้ รวมทั้งกระสุน 2 นัด และปลอกกระสุน 1 นัด

หลังจากนั้น ในเวลา 01.50 น. มีการโจมตีป้อมในตำแหน่งกลางค่าย ตำรวจได้ต่อสู้กับผู้ก่อเหตุที่มีประมาณ 90 ราย เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง แต่ผู้ก่อเหตุโจมตีอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า ทำให้ตำรวจต้องเคลื่อนกำลังไปยังเนินเขาใกล้กับค่าย โดยผู้ก่อเหตุล่าถอยไปในเวลา 04.00 น.

เมื่อตำรวจเคลียร์พื้นที่ก็พบตำรวจเสียชีวิต 6 ราย และอาวุธของตำรวจก็ถูกยึดไปด้วย มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย รายการอาวุธถูกยึดประกอบด้วย ปืน 51 กระบอก กระสุน 10,140 นัด ดาบปลายปืน 1 เล่ม และปลอกกระสุน 28 นัดถูกผู้ก่อเหตุยึดไป

เหตุโจมตีที่ 2 เกิดขึ้นที่ป้อมในตำบลโกทันกอก ใกล้กับอำเภอระเตเดาง์ เหตุเกิดเวลา 03.00 น. มีผู้ก่อเหตุประมาณ 30 ราย ใช้มีดและหอกโจมตีตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจ 10 นายตอบโต้กลับ และฆ่าผู้ก่อเหตุโจมตีได้ 1 ราย จับได้ 2 ราย โดยผู้ก้อเหตุล่าถอยไปในเวลา 03.45 น. ตำรวจเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 2 ราย มีอาวุธถูกผู้ก่อเหตุยึดไป 2 รายการ

เหตุโจมตีที่ 3 เจ้าหน้าที่จากสถานีตำรวจงาคูยะ ถูกระดมพลไปที่ป้อมตำรวจที่จีคันปิน ซึ่งถูกโจมตีไปก่อนหน้านี้ ต่อมามีผู้ก่อเหตุโจมตีประมาณ 50 ราย เข้ามาโจมตีสถานีตำรวจงาคูยะ โดยใช้มีด หอก และอาวุธที่ทำขึ้นมาเอง ทำให้ตำรวจที่เหลืออยู่ที่งาคยะต้องตอบโต้ ก่อนที่ถูกก่อเหตุจะล่าถอยไปในเวลาประมาณ 05.45 น.

หลังเกิดเหตุ ตำรวจเคลียร์พื้นที่พบศพผู้ก่อเหตุ 7 ราย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 1 ราย มีตำรวจสูญหายไป 1 ราย ก่อนที่จะพบตัวในเวลาต่อมาโดยถูกพบตัวห่างจากที่เกิดเหตุเกือบ 3 กม.

ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามชื่อกลุ่มที่ก่อเหตุ ผู้บัญชาการตำรวจพม่า พล.ต.ซอ วิน กล่าวว่า ได้ควบคุมตัวผู้ก่อเหตุ 2 ราย และอยู่ระหว่างสืบสวน โดยการระบุชื่อกลุ่มที่ก่อเหตุจะเปิดเผยในเวลาที่เหมาะสม เขาระบุว่ากองทัพพม่าจะร่วมมือกับตำรวจเพื่อทำให้ประชาชนหายกังวล จะมีการลาดตระเวน รวมทั้งใช้เฮลิคอปเตอร์เพื่อปิดกั้นและจับกุมผู้ก่อเหตุ

อย่างไรก็ตามในรายงานของนิวยอร์กไทมส์ มีการระบุคำพูดของผู้บัญชาการตำรวจพม่าที่กล่าวว่า กลุ่มที่ก่อเหตุตะโกนว่า "โรฮิงญา โรฮิงญา" และกลุ่มที่ก่อเหตุ "พูดเบงกาลี"

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศพม่า จ่อทิน ระบุว่าหากพบว่ามีบุคคลจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเกี่ยวข้อง จะติดต่อสถานทูตบังกลาเทศเพื่อหาความร่วมมือต่อไป ทั้งนี้เขายังย้ำทุกฝ่ายให้ปฏิบัติตามกฎหมายและยึดหลักสิทธิมนุษยชน

ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารพม่า เป มิ้นท์ ระบุว่าที่ต้องแถลงข่าวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่ก่อตัวขึ้นจากข่าวลือ

ทั้งนี้นายอำเภอเมืองเมาก์ด่อ "เย หน่าย" ระบุว่าทั่วอำเภอมีการประกาศเคอร์ฟิวส์ห้ามออกนอกเคหะสถานในยามวิกาลแล้ว

โดยการเคอร์ฟิวส์ กินพื้นที่ 4 อำเภอในรัฐยะไข่ รวมทั้งอำเภอเมาก์ด่อ กินเวลาตั้งแต่ 19.00 น. จนถึง 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น

โดยในรายงานของนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ในการแถลงข่าว เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพม่ายังไม่ระบุชื่อองค์กรหรือกลุ่มติดอาวุธที่มีส่วนในการก่อเหตุโจมตี

ทั้งนี้ในรายงานข่าวของนิวยอร์กไทมส์ รัฐยะไข่มีประชากรชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ราว 1 ล้านคน และถูกปฏิเสธสัญชาติ ขณะที่เจ้าหน้าที่พม่ามักจะเรียนขานพวกเขาว่า "เบงกาลี" มาจากบังกลาเทศ

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวของฟรอนเทียร์เมียนมา ยังให้ข้อมูลเมื่อวันจันทร์ (10 ต.ค.) ด้วยว่าในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของพม่ายังมีการสังหารผู้ต้องสงสัยในรัฐยะไข่ไปอีก 3 ราย

โดยนับเป็นเหตุความรุนแรงด้านเชื้อชาติศาสนาครั้งเลวร้ายที่สุดของรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยประธานาธิบดีถิ่นจ่อ และที่ปรึกษาแห่งรัฐ ออง ซาน ซูจี ที่บริหารประเทศมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ขณะที่เดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการตั้งคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาในกิจการรัฐยะไข่ ที่มีอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ โคฟี อันนัน เป็นประธาน

ทั้งนี้นักวิจัยอาวุโสของฮิวแมนไรต์ วอทช์ เดวิด มาธีสัน ( David S. Mathieson) ยังเตือนให้กองทัพพม่าและตำรวจยึดหลักวินัยอย่างเคร่งครัดในระหว่างที่ปฏิบัติการ เพราะมีรายงานหลายหนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าละเมิดประชากรชาวโรฮิงญา เขาระบุด้วยว่า การค้นหาลาดตระเวนเพื่อหาตัวผู้ก่อเหตุโจมตี ไม่ควรมาลงเอยด้วยการละเมิดประชาชนท้องถิ่น ที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจ้างมาตรการเข้มงวดต่อเสรีภาพในการเดินทาง การทำงาน และการเข้าถึงการบริการ"

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Dozens Believed Killed as Violence Erupts in Myanmar, By WAI MOE, The New York Times, OCT. 10, 2016

Security tightened Nine policemen killed, five injured, one missing in border attacks, The Global New Light of Myanmar, OCT 10, 2016

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net