Skip to main content
sharethis
พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ค้านรัฐบาลใช้วิธีการออกคำสั่งทางปกครองให้อดีตนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดและชำระค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ชี้ควรสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ดี ยึดมั่นในหลักนิติธรรมและปฏิบัติตามกฎหมายโดยการฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ดังเช่นที่เคยกระทำมาในอดีต
 
12 ต.ค. 2559 พรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง เรียกร้องรัฐบาลยุติการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากโครงการรับจำนำข้าว โดยระบุว่า ตามที่รัฐบาลโดยความเห็นชอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เตรียมการที่จะออกคำสั่งทางปกครองให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชำระค่าเสียหายที่อ้างว่าเกิดจากการดำเนินการ “โครงการรับจำนำข้าว” เป็นจำนวนเงินประมาณ 35,000 ล้านบาท นั้น
 
พรรคเพื่อไทยได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริง หลักกฎหมายและเหตุผลทั้งปวงแล้วเห็นว่า การใช้คำสั่ง  ทางปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายจากการดำเนินนโยบายสาธารณะของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา  ตามรัฐธรรมนูญนั้นไม่อาจกระทำได้ และขัดต่อกฎหมาย หลักนิติธรรม และพันธกรณีระหว่างประเทศ  ด้วยเหตุผล ดังนี้
 
1. โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลจะต้องปฏิบัติ  ให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าวตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ อันถือเป็นการดำเนินนโยบายสาธารณะ เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงไม่อาจใช้เกณฑ์เรื่องกำไรหรือขาดทุนเพื่อกำหนดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินได้ เช่นเดียวกับนโยบายสาธารณะอื่นๆ การดำเนินการดังกล่าวจึงไม่อาจถือว่าเป็นการทำละเมิดที่จะนำมาเป็นเหตุเพื่อเรียกค่าเสียหายจากนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องได้
 
2. รัฐบาลนี้ได้อำนาจมาโดยผลพวงจากการที่ คสช. ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลเดิมที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีได้แสดงความคิดเห็นผ่านสาธารณชนหลายครั้งว่าไม่เห็นด้วยกับ “โครงการรับจำนำข้าว” รัฐบาลจึงขาดความเป็นกลาง และถือเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับอดีตนายกรัฐมนตรี ดังนั้น การที่รัฐบาลจะใช้วิธีการออกคำสั่งทางปกครอง เพื่อเรียกค่าเสียหายและใช้คำสั่งของหัวหน้า คสช. เปลี่ยนแปลงกลไกทางกฎหมายปกติให้อำนาจของหน่วยงานรัฐ ยึด อายัด ทรัพย์สินอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องได้ทันทีโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมทางศาล และศาลยังมิได้มีคำพิพากษา การกระทำดังกล่าวเป็นการทำละเมิดหรือไม่นั้น จึงเป็นการกระทำที่ขาดความชอบธรรมและละเมิดสิทธิของอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรม กรณีดังกล่าวหากรัฐบาลเห็นว่ามีการทำละเมิดและประสงค์จะเรียกค่าเสียหาย ก็ควรใช้ช่องทางฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดว่าได้มีการทำละเมิดจริงหรือไม่
 
3. กระบวนการเรียกให้ชำระค่าเสียหาย โดยใช้วิธีการออกคำสั่งทางปกครองล้วนเกิดจากรัฐบาลและ คสช. ที่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ในการตรวจสอบและกำหนดค่าเสียหายโดยอ้างว่าเกิดความเสียหายต่อหน่วยงานของรัฐ ทั้งๆ ที่การดำเนินโครงการดังกล่าว หน่วยงานของรัฐเท่านั้นเป็นผู้ทำนโยบายไปปฏิบัติมาตั้งแต่ต้น คณะกรรมการดังกล่าวก็อยู่ในการกำกับหรือการบังคับบัญชาของรัฐบาลและ คสช. ที่สามารถจะชี้นำการดำเนินการได้ทุกอย่าง การตรวจสอบและการเรียกค่าเสียหายจึงขาดความเป็นกลางและไม่สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องเที่ยงธรรมได้ จึงขัดต่อหลักนิติธรรม
 
4. พรรคเห็นว่าแทนที่รัฐบาลจะเรียกค่าเสียหายจาก น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยใช้กลไกทางคดีแพ่งปกติ และใช้กฎหมายที่มีอยู่ แต่รัฐบาลและหัวหน้า คสช. กลับเลือกที่จะใช้วิธีออกคำสั่งทางปกครอง และอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ คสช. ร่างขึ้น ออกคำสั่งฉบับที่ 39/2558 และ ฉบับที่ 56/2559 โดยให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งให้ไม่ต้องรับผิด และให้อำนาจกรมบังคับคดีบังคับทางปกครองแทนที่จะเป็นหน่วยงานปกติ จะส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไม่สามารถถูกตรวจสอบตามกฎหมายปกติได้ จึงเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขัดต่อหลักความเสมอภาคที่กำหนดว่าบุคคลย่อมอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน อันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม
 
5. มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มีเนื้อหาขัดหลักการประชาธิปไตย ขัดหลักนิติธรรม และขัดหลักการแบ่งแยกอำนาจ อำนาจตามมาตรานี้มิได้มาจากความยินยอมของประชาชนแต่เป็นสิ่งที่หัวหน้า คสช.เขียนให้อำนาจตนเอง ยิ่งกว่านั้น มาตรา 44 ได้กำหนดเงื่อนไขที่หัวหน้า คสช.จะสามารถใช้อำนาจได้ ซึ่งพรรคเห็นว่าการออกคำสั่งฉบับที่ 39/2558 และ ฉบับที่ 56/2559 มิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่มาตรา 44 กำหนดไว้ ดังนั้นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งดังกล่าวจึงขัดหลักนิติธรรม
 
จากการที่กฎหมายเปิดช่องให้รัฐบาลสามารถดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งโดยการฟ้องต่อศาลแพ่ง ดังเช่นที่เคยยื่นฟ้องอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมาแล้ว รัฐบาลในขณะนั้นมิได้มีที่มาจากการรัฐประหารและมิได้เป็นคู่ขัดแย้งกับจำเลยคนดังกล่าว แต่ก็ยังเลือกใช้วิธีการฟ้องต่อศาลแพ่ง ในทางกลับกัน รัฐบาลปัจจุบันซึ่งมาจากการรัฐประหารซึ่งทำให้รัฐบาลที่ดำเนินนโยบายจำนำข้าวต้องพ้นไป จึงควรต้องดำเนินการด้วยความเป็นกลาง และเป็นธรรมต่อผู้ที่ถูกกล่าวหา เพื่อให้สาธารณชนได้รู้สึกว่ากระบวนการทั้งปวงไม่ใช่การดำเนินการที่มีแรงจูงใจทางการเมือง แต่เป็นการดำเนินการทางกฎหมายที่มีความเป็นกลางทางการเมือง ตามหลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน
 
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า จากเหตุผลข้างต้น พรรคเพื่อไทยจึงไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะใช้วิธีการออกคำสั่งทางปกครองให้อดีตนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดและชำระค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว หากรัฐบาลและ คสช. ประสงค์ที่จะพิสูจน์ว่ามีการทำละเมิดจริงหรือไม่ และใครเป็นผู้ทำละเมิดรวมถึงมีความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไรในโครงการรับจำนำข้าว รัฐบาลและ คสช. ควรสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ดี ยึดมั่นในหลักนิติธรรมและปฏิบัติตามกฎหมายโดยการฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ดังเช่นที่เคยกระทำมาในอดีต เพื่อให้ศาลแพ่งเป็นผู้พิจารณาตัดสินเรื่องความรับผิดทางแพ่งและกำหนดค่าเสียหาย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย อันจะเป็นการผดุงความยุติธรรมที่แท้จริง พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าการเคารพหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน จะนำไปสู่ความยุติธรรม และความสามัคคีปรองดองของคนในชาติต่อไป
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net