Skip to main content
sharethis

กูเกิลมีแผนการช่วยสะกิดชาวเน็ตตั้งสติก่อนแชร์มากขึ้นโดยการติด "แท็กตรวจสอบข้อเท็จจริง" ใต้ข่าวต่างๆ ที่นำเสนอ โดยนำข้อมูลมาจากเว็บตรวจสอบข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือ เบื้องต้นมีแผนใช้ระบบนี้ในสหรัฐฯ และอังกฤษ<--break- />

16 ต.ค. 2559 กูเกิลประกาศว่าพวกเขาจะมีการติด "แท็กตรวจสอบข้อเท็จจริง" (tag) ในบทความของกูเกิลนิวส์และแอพพลิเคชั่นกูเกิลนิวส์แอนด์เวเธอร์ในระบบปฏิบัติการ iOS เพื่อทำการช่วยเหลือให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงบทความตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับข่าวใหญ่ๆ ได้ โดยจะเริ่มให้มีการใช้งานในประเทศสหรัฐฯ และอังกฤษ

ด้วยการปรับปรุงเพิ่มแท็ก (tag) ตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้เองจะทำให้เมื่อผู้ใช้งานคลิกที่ข้อตวาม "See More" หรือ "ดูเพิ่มเติม" จะเจอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข่าวนั้นๆ ด้วย โดยจะมีการติดป้ายแสดงให้เห็นว่าบทความนั้นๆ เป็น "ความคิดเห็น" หรือเป็น "รายงานแบบเจาะลึก" อีกทั้งยังอาจจะเห็นป้ายการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับบทความติดมาด้วย ทำให้ผู้ใช้สามารถกดแถบเหล่านี้เพื่ออ่านข้อมูลการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้

จากเว็บล็อกของริชาร์ด จิงราส หัวหน้าฝ่ายข่าวของกูเกิลอธิบายว่า "กูเกิลนิวส์จะตัดสินว่าบทความนั้นๆ อาจจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือไม่ ส่วนหนึ่งก็อาศัยการดูจากส่วนการกำกับข้อความของ ClaimReview (การพิจารณาข้ออ้าง) จากเว็บ schema.org พวกเรายังจะคอยตรวจสอบจากเว็บไซต์ที่คนทั่วไปยอมรับว่าตรงตามเกณฑ์เว็บไซต์ตรวจสอบข้อเท็จจริง สำหรับผู้เผยแพร่ที่ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงและต้องการให้ปรากฏในแท็ก 'ตรวจสอบข้อเท็จจริง' ควรจะใช้งานการกำกับข้อความของเว็บไซต์ดังกล่าว สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากศูนย์ช่วยเหลือของกูเกิลได้"

ในศูนย์ช่วยเหลือระบุถึงเกณฑ์กำหนดของเว็บไซต์ที่พวกเขาใช้พิจารณาการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าจะต้องเป็นเว็บที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่ามีการตรวจเช็คข้อเท็จจริงจุดไหนและมีข้อสรุปอย่างไร การวิเคราะห์ต้องมีแหล่งที่มาและวิธีการที่โปร่งใส องค์กรที่ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงต้องไม่มีความลำเอียง มีการรายงานแหล่งทุนและผู้เกี่ยวข้องอย่างโปร่งใส ควรมีการตรวจสอบข้อมูลในประเด็นแต่ละประเด็นอย่างหลากหลายไม่ใช่มุ่งที่บุคคลหรือนิติบุคคลหนึ่งๆ

นอกจากเรื่องการแยกแยะลักษณะแหล่งที่มาของบทความว่าเป็นการแสดงความคิดเห็น เป็นเว็บล็อก หรือเป็นเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้นแล้ว ในส่วนของศูนย์ช่วยเหลือยังระบุอีกว่ามีการแปะป้ายเนื้อหาทีมีลักษณะ "เสียดสี" (Satire) เพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าเป็นบทความในเชิงล้อเลียนเสียดสีหรือประชดประชันในเชิงขบขันด้วย

 

เรียบเรียงจาก

Google Adds Fact Check Tag to Articles in Google News, Adweek, 14-10-2016
http://www.adweek.com/socialtimes/google-adds-fact-check-tag-to-articles-in-google-news/646157

What does each source label (e.g., “blog”) mean?, Google Help Center
https://support.google.com/news/publisher/answer/4582731#fact-checking

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net