Skip to main content
sharethis

ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาให้กองทัพบกที่ 1 จ่ายค่าชดเชยแก่ 2 น.ศ ยะลา กรณีควบคุมตัวเกินกำหนดกฎหมายและซ้อมทรมาน ทนายชี้อยากให้เป็นบรรทัดฐานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบ

19 ต.ค. 2559 เวลา 14.30 น. ศาลปกครองสงขลาอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.55-56/2555 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.1309-1310/2559ระหว่าง นายอิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องที่1 กับนายอามีซี มานาก ผู้ฟ้องที่ 2 กับ กองทัพบกที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดี ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย  จากกรณีที่นายอิสมาแอ เตะ และนายอามีซี มานาก อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฏยะลาถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมและซ้อมทรมานในระหว่างถูกควบคุมตัวเพื่อให้รับสารภาพอันจะนำไปสู่การถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคง อีกทั้งถูกควบคุมตัวเกินกำหนดตามอำนาจพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457

ศาลพิพากษาให้กองทัพบก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมชดเชยความเสียหายให้แก่อิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดีที่ 1จำนวน 305,000 บาท และอามีซี มานาก ผู้ฟ้องคดีที่2 จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องคดี ( 14 มกราคม 2552 )  เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ  โดยมีรายละเอียดดังนี้

-     การควบคุมตัวเกินกำหนดตามอำนาจพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกพ.ศ. 2457 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ไม่เกินกว่า 7 วัน แต่เนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 9 วัน ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่1 ใช้อำนาจโดยมีพฤติการณ์ที่ไม่นำพาต่อกฎหมายและละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ศาลจึงเห็นควรให้มีการชดเชยต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นจำนวน 50,000 บาท

-     ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 มาตรา 32 ระบุไว้ ห้ามมิให้ปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวเหมือนเป็นผู้กระทำผิดโดยที่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากทั้งสองคนนี้ยังไม่ถูกดำเนินคดีหรือแจ้งข้อหา การควบคุมตัวดังกล่าวได้มีการปฏิบัติต่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 และ 2 อย่างไม่ถูกต้อง และเกินความจำเป็นระหว่างการควบคุมตัวถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่นำพาต่อกฎหมาย มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้อง ศาลจึงเห็นควรให้มีการชดเชยต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นจำนวน 100,000 บาท

-     ค่าเสียหายจากสำหรับค่าเสียหายจากการเสื่อมเสียศักดิ์ศรี ถูกดูหมิ่นจากเพื่อนบ้านและเพื่อนนักศึกษา ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ได้มีการร้องขอให้มีการจัดการประกาศลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างน้อยสองฉบับ ฉบับละสามวันติดต่อกัน หรือหนังสือชี้แจง-หนังสือเวียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกองทัพบกที่ 1 ศาลพิจารณาว่าการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ก็เป็นการปฏิบัติงานและใช้อำนาจทางกฎหมาย หากแต่เป็นการกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเช่นกัน ศาลจึงเห็นควรให้มีการชดเชยต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นตำนวนเงิน 50,000 บาท และยกคำขอให้มีการประกาศในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและจดหมายเวียน

-     กรณีส่วนต่างของค่าชดเชยของผู้ฟ้องคดีที่หนึ่งและผู้ฟ้องคดีที่สอง จำนวน 105,000 บาท เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฎว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ทหารของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จับกุม และในขณะควบคุมตัวมีการทำร้ายร่างกายนายอิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดีที่1 โดยมีหลักฐานว่าถูกทำร้ายร่างกายตามสำเนาเวชระเบียน ส่วนนี้ศาลเห็นควรให้มีการจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลจำนวน 5,000 บาท ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 2 ไม่ปรากฎหลักฐานใดๆ ว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายในขณะถูกควบคุมตัว จึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ได้

ผรัณดา ปานแก้ว ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า สิ่งที่ตนคาดหวังคือการพิจารณาในประเด็นมาตรา 32 ตามรัฐธรรมนูญ ของกรณีนี้ ให้กลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมในการเรียกร้องความยุติธรรมจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อมีกรณีการลงโทษ ทรมาน หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถึงแม้ค่าชดเชยที่ได้จะไม่ใช่จำนวนที่สูงนัก แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้เสียหายด้วยเช่นกัน

อิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กล่าวว่า ผลการพิพากษาแสดงให้เห็นว่ามีการทำร้ายร่างกายจริงและผู้กระทำก็ต้องรับผิดชอบ ถึงแม้ว่าตนจะยังไม่พอใจกรณีที่มีการยกคำขอให้มีการประกาศลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ แม้จะมีการชดเชยเงินค่าเสียหายก็ตาม

“ตอนที่เขาจับกุมเราเขาได้เอาไปออกสื่อว่าเขาได้จับกุมกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบ แต่เมื่อเราขอให้ประกาศในหนังสือพิมพ์เมื่อพบว่าเราเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่ได้เกี่ยวข้องขบวนการเขากลับไม่ทำ เขาชดเชยเป็นเงินอย่างเดียว เมื่อไม่มีการประกาศไม่มีจดหมายเวียนก็ยังแน่ใจไม่ได้ว่ายังมีรายชื่ออยู่ในระบบของฝ่ายความมั่นคงของรัฐหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ก็ยังมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจตราแถวที่ทำงาน หรือไปที่บ้านพ่อแม่ที่ต่างจังหวัด”

“โดยรวมแล้วก็ค่อนข้างพอใจกับคำพิพากษา แม้ความรู้สึกตอนนั้นจะรู้สึกเหมือนเขาทำกับเราแบบไม่มีศักดิ์ศรี เหมือนสัตว์ ทำเหมือนเราไม่ใช่มนุษย์ไม่มีความรู้สึก ทุกวันนี้ผมยังมีแผลเป็นที่เท้าจากวันนั้น  เงินชดเชยที่ได้ในวันนี้ผมไม่ยึดติด แต่อย่างน้อยเขาก็รับผิดชอบกับสิ่งที่เขาทำ เขายอมรับว่าเขาทำกับเราจริงๆ อย่างน้อยก็ยังได้รับความยุติธรรม” อิสมาแอ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net