Skip to main content
sharethis

<--break- />

มา ธิดา (Ma Thida) เป็นนักเขียนผู้เป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนที่ถูกสั่งจำคุก 6 ปี โทษฐาน "เผยแพร่วรรณกรรมที่ผิดกฎหมาย"และข้อหาอื่นๆ ในช่วงราว 20 ปีที่แล้ว นอกจากนี้เธอยังเป็นบรรณาธิการ ผู้จัดพิมพ์ หมอ ผู้ช่วยทางการเมือง และนักกิจกรรมที่เคยมีส่วนร่วมในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยโดยนักศึกษาในช่วงปี 2531 ระหว่างอยู่ในเรือนจำเธอประสบปัญหาสุขภาพหลายอย่างรวมถึงวัณโรค เธอได้รับการปล่อยตัวด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม ส่วนหนึ่งเพราะการกดดันจากนานาชาติอย่างสมาคมนักเขียนสากล (PEN International) ที่ในตอนนี้เธอเป็นหนึ่งในกรรมการของ PEN ด้วย

มา ธิดา ให้สัมภาษณ์ต่ออิระวดีเกี่ยวกับสภาพสังคมในปัจจุบันของเมียนมาร์ที่เธอมองว่ามีความดุร้ายต่อกันมากขึ้นซึ่งมาจากความหวาดกลัว วิธีการที่จะก้าวข้ามความหวาดกลัวได้ต้องมีการเผชิญหน้ากับ "ผู้กระทำความผิดที่แท้จริง" ในเมียนมาร์ซึ่งเป็นผู้ที่ก่อให้เกิดระบบความรุนแรงทั้งทางกายภาพ ทางโครงสร้าง และทางวัฒนธรรมมาหลายรุ่นแล้ว

พลเมืองธรรมดาก็สามารถทำอะไรบางอย่างได้

ธิดาเริ่มให้สัมภาษณ์ด้วยการพูดถึงบทบาทของเธอในปัจจุบันทั้งในฐานะประธาน PEN เมียนมาร์และกรรมการ PEN สากล ในปัจจุบันเธอยังเป็นบรรณาธิการของอินโฟไดเจสต์เจอนัลซึ่งเป็นสื่อเชิงฐานข้อมูลราย 2 สัปดาห์ ผ่านทางการส่งให้สมาชิก เธอบอกว่าสื่อที่เธอทำงานด้วยไม่สนใจเรื่องในเชิงกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกแต่สนใจแค่การคุ้มครองสิทธิในการได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป เธอรับอาสาสมัครคลินิกในย่างกุ้งมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ธิดามองว่า "สุขภาวะเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ มันเกี่ยวข้องกับทุกสิ่งทุกอย่าง"

อิระวดีสอบถามเรื่องที่ก่อนหน้านี้ธิดาเคยบอกว่าเธออยาก "เป็นพลเมืองที่ดี" ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักทางการเมือง ธิดาบอกว่าทุกวันนี้เธอก็ยังอยากเป็น แต่ตัวเธอในปัจจุบันเน้นบทบาทในสมาคมนักเขียนสากลมากกว่าเพราะมีนักเขียนเมียนมาร์น้อยมากที่จะมีบทบาทร่วมตัดสินใจในสถาบันนานาชาติ เธอจึงอยากเป็น "พลเมืองที่ดี" ในฐานะตัวแทนของประเทศ เธอต้องการแสดงให้เห็นว่าแม้แต่คุณเป็นพลเมืองธรรมดาคุณก็สามารถทำอะไรบางอย่างได้

อิระวดีขอให้เธอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของพรรคเอ็นแอลดีหลังชนะการเลือกตั้ง เนื่องจากเธอเคยเป็นผู้ช่วยอองซานซูจีและเขียนหนังสือเกี่ยวกับอองซานซูจีมาก่อน ธิดาบอกว่าเธอมีคำถามเดียวจะถามอองซานซูจี "คุณเป็นอิสระจากความกลัวแล้วหรือยัง" ในฐานะที่เธอเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐเธอจะต้องเผชิญความกลัวหลายอย่าง อย่างเช่นกลัวจะทำให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งผิดหวังซึ่งเป็นเรื่องที่ธิดารู้สึกเข้าอกเข้าใจ ทำให้เธออยากรู้ว่าในตอนนี้อองซานซูจีต่อสู้กับความกลัวอย่างไร

ปัญหาความรุนแรงทางเชื้อชาติและศาสนาในเมียนมาร์มาจากการที่ประชาชนมีความกลัวแบบหยั่งรากลึกทำให้พวกเขามีความเคียดแค้นสูงมากและพยายามหาที่ระบายกับคนที่ไม่มีทางโต้ตอบ 

ทำไม "ความกลัวทำให้คนดุร้าย"

ความกลัวยังเป็นประเด็นที่ธิดานำมาพูดถึงในการประชุมเสวนามหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นอิลินอยส์ มีคำกล่าวที่ธิดาพูดไว้คือ "ความกลัวทำให้คนดุร้าย" อิระวดีถามว่าจากประโยคข้างต้นธิดานำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในปัจจุบันของเมียนมาร์ได้อย่างไรบ้าง

ธิดาตอบคำถามนี้โดยเล่าถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่มีการพูดถึงในเวทีเสวนาวรรณกรรมที่เธอเข้าร่วมในช่วงที่เมียนมาร์ยังอยู่ภายใต้รัฐบาลเต็งเส่ง และคนที่พูดถึงเรื่องสั้นเรื่องนี้บอกว่ามันจะเป็น "หมัดเน้นๆ" อัดใส่รัฐบาล คือเรื่องราวเกี่ยวกับคุณบีสมาชิกระดับต่ำสุดของบริษัท ทำงานให้กับผู้จัดการบริษัทที่เย่อหยิ่งและเป็นคนไม่ค่อยดี คือคุณเอ พนักงานจำนวนมากซุบซิบนินทาคุณเอแต่คุณบีก็ไม่เคยเข้าร่วมซุบซิบนินทาด้วยเลย คุณบีเอาแต่ก้มหน้ายอมรับมารยาทแย่ๆ ของคุณเอ แต่หลังจากเลิกงานแล้วคุณบีมักจะไปที่ร้านดูแลเท้า ในวัฒนธรรมเมียนมาร์การดูแลเท้าที่เป็นของต่ำทำให้คุณบีรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นเจ้านาย หลังจากคุณบีให้เงินคนดูแลเท้าเสร็จแล้วเขาก็พูดกับคนดูแลเท้าว่า "ลาก่อน คุณเอ" นั่นเป็นเสมือนการแก้แค้น

ธิดาอธิบายต่อไปว่าการแก้แค้นในแบบนี้เองที่ทำให้เธอมองว่า มันเป็นอะไรร้ายๆ คุณบียังทำตัวสุภาพนอบน้อมกับคุณเอตัวจริงเพราะกลัว แต่ก็มีความอยากแก้แค้น แล้วก็ทำอะไรคุณเอตัวจริงไม่ได้เพราะคุณบีเองจะอันตราย เขาเลยหันไปพาลแก้แค้นใส่ "คุณเออีกคนหนึ่ง" ที่ไม่สามารถโต้ตอบเขาได้ ขณะที่บางคนอาจจะมองเรื่องสั้นนี้ว่าเป็นการอัดใส่ระบบพวกพ้องของรัฐบาลแต่สำหรับธิดาแล้วเธอรู้สึกว่ามันคือความกลัวที่ทำให้ผู้คนโหดร้ายต่อกัน

"พวกเขาไม่ใช้สติปัญญาหรือใช้สำนึกด้วยเหตุด้วยผล พวกเขาจะปลดปล่อยความแค้นอย่างไร มันสะท้อนให้เห็นว่าสังคมควบคุมจัดการความกลัวอย่างไร เรื่องสั้นนี้ทำให้ฉันเรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาผู้คนมากขึ้น" ธิดากล่าว

ถึงแม้คำขอโทษอาจจะไม่เพียงพอที่จะชดเชยได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นการเข้าถึงหัวใจของผู้คนและลดความตึงเครียดกับความอาฆาตแค้นในจิตใจลง จากนั้นค่อยเป็นเรื่องของความเป็นธรรมและเรื่องทางกฎหมาย การขอโทษถือเป็นก้าวแรก

อิระวดีถามธิดาต่อว่าชาวเมียนมาร์เอาความแค้นของตัวเองไปลงที่ใคร ธิดาตอบว่าปัญหาความรุนแรงทางเชื้อชาติและศาสนาในเมียนมาร์มาจากการที่ประชาชนมีความกลัวแบบหยั่งรากลึกทำให้พวกเขามีความเคียดแค้นสูงมากและพยายามหาที่ระบายกับคนที่ไม่มีทางโต้ตอบ พวกเขาเลยระบายความแค้นใส่ชนกลุ่มน้อย นี่คือสาเหตุที่ทำไมธิดาถึงบอกว่าความกลัวทำให้คนดุร้าย

แล้วผู้คนควรจะจัดการกับความกลัวของตัวเองอย่างไร ธิดาพูดถึงสถานการณ์ในพม่าที่ผู้คนอ้างว่าพวกเขามีปัญหามากขึ้นแต่จริงๆ แล้วปัญหาก็มีเท่าในอดีตเพียงแต่พวกเขาไม่เคยกล้าเผชิญปัญหาและแสร้งทำตัวให้ดูดีเหมือนคุณบี แต่แทนที่จะทำตัวเสแสร้ง ทำไมพวกเขาถึงไม่กล้าหาญเผชิญหน้ากับคนทำผิดที่แท้จริง

ธิดาเล่าว่าเธอเคยเรียกร้องให้ทางการเมียนมาร์ขอโทษอย่างเป็นทางการต่ออดีตนักโทษการเมือง เธออยากให้ทางการเมียนมาร์หลุดพ้นจากความผิดในจิตใจของตัวเองด้วยการขอโทษ มันจึงไม่ใช่เป็นเรื่องดีต่อนักโทษการเมืองอย่างเดียวแต่ยังดีกับพวกเขาเองด้วย ธิดาไม่เชื่อว่าคนของทางการเมียนมาร์จะใสซื่อจนไม่เห็นว่าตัวเองทำผิด นอกจากนักโทษการเมืองแล้ว ประชาชนทั่วไปหลายๆ รุ่นก็สมควรได้รับคำขอโทษจากทางการด้วย นอกจากบางคนที่ต้องสูญเสียครอบครัวหรือถูกจับกุมแล้วยังมีประชาชนอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้ความรุนแรงเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรม

ธิดาให้สัมภาษณ์อิระวดีต่อไปว่าถึงแม้คำขอโทษอาจจะไม่เพียงพอที่จะชดเชยได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นการเข้าถึงหัวใจของผู้คนและลดความตึงเครียดกับความอาฆาตแค้นในจิตใจลง จากนั้นค่อยเป็นเรื่องของความเป็นธรรมและเรื่องทางกฎหมาย การขอโทษถือเป็นก้าวแรก

ในเมียนมาร์ยังมีการพูดถึง "การปรองดองในชาติ" กันมาก ธิดาบอกว่าถ้าหากไม่มีการยอมรับว่ากระทำความผิดลงไป การหารือเพื่อความปรองดองในชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็ไม่ถือเป็นสันติภาพที่คงทนสมบูรณ์

ผู้คนต้องเห็นว่าตัวเองสำคัญและมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแแปลง

ในบทสัมภาษณ์ยังถามถึงการที่ธิดามาเป็นนักเขียนเพราะอยากเล่าถึงมุมมองต่อความยากจนของตัวเองในตอนนี้ คำถามคือเธออยากพูดถึงความยากจนในแง่มุมไหน ธิดาบอกว่าปัญหาใหญ่ในตอนนี้คือเรื่อง "ความยากจนทางปัญญา" ทำให้เธอเน้นเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นกิจกรรมที่เธอรณรงค์เป็นอันดับแรก ธิดาบอกว่าแม้ว่าคนจะร่ำรวยเงินทองหรือมีตำแหน่งหน้าที่ทางสังคมที่ดี แต่ถ้าไม่มีความรู้มากพอก็ไม่มีอำนาจ เธอจึงต้องการส่งเสริมให้ผู้คนมีความรู้เป็นพลังให้กับตัวเอง ถ้าไม่มีพลังอำนาจก็ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง

ธิดาขยายความว่าผู้คนควรมีความรู้เรื่องระบบมากขึ้น มีความรู้เรื่องศักยภาพหรือความสามารถของตนเอง

"ตราบใดที่คนรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ พวกเขาก็ยังจะรู้สึกไร้พลัง" ธิดากล่าว

ธิดากล่าวว่าเธอมักจะถามอยู่เสมอว่าใครเป็นคนที่สำคัญที่สุดต่อเมียนมาร์ อองซานซูจีใช่หรือไม่ เธอจะตอบว่าให้มองไปในกระจกตัวคุณนั่นแหละคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าคนเราเห็นว่าตัวเองมีความสำคัญก็จะมีความพยายาม ไม่งั้นแล้วคุณก็จะรอให้คนอื่นมาทำอะไรให้คุณ

"ฉันต้องการให้พวกเขาคิดว่าพวกเขาล้วนแต่เป็นคนที่สำคัญที่สุดในประเทศของพวกเรา สำคัญหมดทุกๆ คนเลย" ธิดากล่าว

มองไปในกระจกตัวคุณนั่นแหละคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าคนเราเห็นว่าตัวเองมีความสำคัญก็จะมีความพยายาม ไม่งั้นแล้วคุณก็จะรอให้คนอื่นมาทำอะไรให้คุณ

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น 4 ระดับ

ในเรื่องที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงในเมียนมาร์ ธิดาบอกว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิเฉพาะส่วนบุคคลเท่านั้นมันยังเป็นสิทธิในระดับส่วนรวมด้วย ถ้าเราไม่ปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของคนอื่นๆ นั่นแสดงว่าเราก็ยังไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เวลาพูดถึงเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเราต้องพูดถึงใน 4 ระดับ คือระดับรัฐธรรมนูญ ระดับกฎหมาย ระดับสถาบันทางสังคม และระดับบุคคล

ธิดายกตัวอย่างว่าแม้ในระดับบุคคลคุณอาจจะเชื่อว่ามีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแต่ในระดับรัฐธรรมนูญคุณมีความเสี่ยงและในทางกฎหมายจะทำให้คุณกลายเป็น "ผู้กระทำความผิด" และในเชิงสังคมก็อาจจะขับไสคุณออกไปเพียงเพราะคุณแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีเป็นตัวของตัวเอง ธิดายังกล่าวอีกว่าถ้าหากจะมองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในระดับปัจเจกบุคคลก็ควรจะคำนึงถึงสิทธิทางภาษาของชนกลุ่มน้อยด้วย ถึงจะมีคนบอกว่าตอนนี้มีสื่อวารสารของชนกลุ่มน้อยมากขึ้นแต่ชนกลุ่มน้อยก็ยังไม่มีเสรีภาพสื่อ

นอกจากเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้วธิดายังเน้นย้ำเรื่องการรู้เท่าทันสื่อในหมู่ประชาชนด้วย ธิดาบอกว่าประชาชนในเมียนมาร์จำนวนมากยังคงไม่สามารถแยกแยะระหว่างข้อมูลที่ถูกดัดแปลงกับข้อมูลขั้นปฐมภูมิได้ ทำให้ผู้คนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าข้อมูลใดที่เชื่อถือได้และข้อมูลใดที่ดัดแปลงหรือมีอคติ เจ้าของสื่อก็มีอิทธิพลในการเซ็นเซอร์มาก นั่นคือการเซ็นเซอร์ตัวเอง การเซ็นเซอร์คนในวิชาชีพเดียวกัน ผู้คนแยกแยะไม่ค่อยได้ว่าสื่อไหนเป็นตัวแทนของอะไร

ธิดายังคุยส่งท้ายกับอิระวดีถึงเรื่องชีวิตส่วนตัวที่อยากเขียนนิยายให้เสร็จแต่ไม่มีเวลามากพอจะหาข้อมูลและลงมือเขียนเนื้อเรื่องเกี่ยวกับ "ตัวเอก" ที่เป็น "เมืองๆ หนึ่ง" ก่อนหน้านี้เธอออกหนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์นักกิจกรรมและนักโทษการเมืองของเธอเองในชื่อ "นักโทษทางความคิด ก้าวของฉันผ่านเรือนจำอินเส่ง" (Prisoner of Conscience: My Steps Through Insein)

 

 

เรียบเรียงจาก

Ma Thida: ‘Fear Makes People Fierce’, Sally Kantar, 18-10-2016

http://www.irrawaddy.com/in-person/ma-thida-fear-makes-people-fierce.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net