รายงานพิเศษ: ‘หญิงพิการ(1)’ ชีวิตที่ถูกกระทำซ้ำซ้อน ข่มขืน-ทำหมัน

ทำไมเราถึงนึกไม่ค่อยออกว่า คนพิการมีชีวิตคู่กันอย่างไร เขาจะมีลูกกันไหมนะ หรือเขาจะเคยมีแฟนกันบ้างหรือเปล่า ฯลฯ นี่อาจสะท้อนถึงคำพูดที่ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ‘เพศและความพิการ’ มักถูกแยกขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิง คนพิการหลายคนไม่เคยเรียนรู้เรื่องเพศ บ้างก็โดนกีดกันให้อยู่ห่าง บ้างก็หวาดกลัวเพราะความไม่รู้ จนทำให้คนพิการและครอบครัวจำนวนมาก เลือกที่จะปกปิดและขุดหลุมฝังเรื่องเหล่านี้ให้ลึกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และมีจำนวนไม่น้อยที่หลีกหนีปัญหาด้วยการ ‘ทำหมัน’

แล้วการทำหมันร้ายแรงอย่างไรหรือ? ผู้หญิงพิการหลายคนทำหมันโดยไม่รู้ตัวว่าถูกทำหมัน หลายคนทำไปเพราะรู้ข้อมูลเพียงด้านเดียว รวมทั้งมีอีกหลายคนที่ทำไปเพราะครอบครัวชักจูง และมีอีกหลายคนเช่นกัน ที่อาจต้องการมีลูกหลังจากทำหมันไปแล้ว แต่กลับพบว่าการแนะนำวัยรุ่นหญิงพิการให้ทำหมันยังคงมีอยู่อย่างกว้างขวาง หลายคนทำหมันทันทีหลังจากเริ่มมีประจำเดือนได้ไม่กี่เดือน เพราะเชื่อว่าการทำหมันจะช่วยให้ผู้หญิงเหล่านั้นไม่ผลิตซ้ำความพิการด้วยการให้กำเนิดบุตรที่พิการเช่นตัวเอง

อย่างไรก็ดี การทำหมันไม่ได้ป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างที่หลายคนเข้าใจ ซ้ำยังอาจทำให้การล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นอย่างซ้ำๆ โดยไม่มีใครรับรู้ ทั้งที่จริงแล้ว การล่วงละเมิดเป็นความผิด ที่ไม่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่ต้น

คนพิการบางคนเลือกที่จะออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเอง แต่ก็ยังต้องคอยหวาดระแวงกลัวถูกล่วงละเมิดทางเพศ ดังเช่นข่าวที่เห็นในโทรทัศน์

เราเดินทางลัดเลาะในพื้นที่นครปฐมอยู่หลายวันด้วยความเชื่อที่ว่า คนทุกคนเป็นคนเท่ากันและทุกคนควรมีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตนเอง เราเดินทางผ่านตัวเมืองที่พลุกพล่าน เข้าสู่เขตเงียบสงบในพื้นที่บางเลน คลองโยง และบางระกำ เพื่อสำรวจให้ลึก เข้าใจแง่มุม และอารมณ์ของความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกแบ่งแยกด้วยความพิการ

ที่ที่จะช่วยให้คำถามยอดฮิตเหล่านี้หมดไป ‘ทำไมพิการแล้วยังจะท้องอีก’ ‘พิการแล้วจะเลี้ยงลูกได้อย่างไร’ ฯลฯ

อ่านตอนที่ 2

‘ท้อ’

วันนี้เป็นช่วงสายของวันทำงาน เราเดินทางไปตามถนนคดเคี้ยว ผ่านตัวเมืองนครปฐม มุ่งสู่อำเภอบางเลน พื้นที่ละแวกนั้นเป็นป่าเสียส่วนมาก นานๆ ทีจะเห็นบ้านสักหลังสองหลัง บ้านของนุสรา นุ่มเอื่อม เป้าหมายของเราอยู่กลางทุ่งนา หญ้าเตี้ยๆ ปกคลุมพื้นที่รอบด้านจนเป็นสีเขียวโพลน ตัดกับถนนดินสีแดงที่แตกระแหงเพราะอากาศที่ร้อนอบอ้าว เราไปนั่งคุยกันที่ม้าหินข้างๆ บ้าน ที่ที่ยังมีร่องรอยบ่อปลาและเล้าหมูที่เคยเป็นเสมือนอาชีพหลักของบ้าน

20 ปีที่แล้ว พ่อแม่ของนุสราหัวใจพองโตกับการเกิดของทารกเพศชายสุขภาพดีในขณะที่ฐานะทางบ้านค่อนข้างมั่นคง หลังมีความสุขได้ไม่นานก็พบความผิดปกติเมื่อลูกชายของพวกเขาไม่สบตา ไม่เดิน ไม่พูด และไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าใดๆ แต่ถึงกระนั้นแพทย์เองก็แนะนำให้พวกเขามีลูกอีกคน โดยหวังว่าลูกคนที่สองจะไม่มีความพิการ และสามารถเป็นที่พึ่งให้แก่พ่อแม่และพี่ชายของเขาได้

นุสราและครอบครัว
นุสรา นุ่มเอื่อมและครอบครัว

นุสรา ลูกสาวที่ถูกคาดหวัง ปัจจุบันอายุ 24 ปี อาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่เป็นเบาหวาน และพี่ชายที่พิการทางสมอง เธอมีความผิดปกติทางการเรียนรู้ พูดช้าได้เพียงคำสั้นๆ ไม่กี่คำ ไพรวัลย์ นุ่มเอื่อม แม่ของนุสราเล่าให้ประชาไทฟังว่า ลูกชายและลูกสาวของเธอนั้นแตกต่างกัน ลูกชายไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย แม้แต่การกินข้าว เขาจะใช้เวลาทั้งวันในการนั่งเหม่อและเคลื่อนไหวร่างกายโดยคลานเข่า กลับกัน นุสราคนน้องเป็นเด็กหัวช้า แต่เรียนหนังสือได้ หากไม่เกิดอาการชักเมื่อตอนอายุ 9 ขวบ นุสราก็คงไม่มีอาการคล้ายเด็กดังเช่นปัจจุบัน

“ตอนรู้ว่าคนแรกพิการ ฉันก็บอกหมอให้ทำหมันฉันไปเถอะ ฉันไม่อยากมีลูกพิการอีก แต่หมอก็บอกว่าทำไม่ได้ ให้มีอีกคนอาจจะได้ดูแลป้าวันแก่ แต่มันก็พิการอีก ถ้ารู้ว่าจะเป็นแบบนี้ก็น่าจะปล่อยฉันทำหมันไปตั้งแต่แรก” แม่กล่าว

นุสราสามารถพูดจาสื่อสารได้เล็กน้อย เธอเป็นหญิงสาวที่รักสวยรักงาม ชอบแต่งตัว แต่งหน้า สะสมกระเป๋าและรองเท้า เธอมักเปลี่ยนเสื้อผ้าวันละหลายชุด โดยทดลองใส่ชิ้นนั้น ผสมชิ้นนี้ และบางครั้งก็เปลี่ยนเสื้อผ้าในที่ที่เปิดโล่ง ซึ่งสร้างความกังวลใจอย่างมากต่อพ่อแม่ ที่ทั้งกลัวการถูกซุบซิบนิทาจากเพื่อนบ้าน และร้ายที่สุดคือถูกล่วงละเมิดทางเพศจากความไม่ประสีประสาของนุสรา

“ฉันเป็นแม่บางครั้งก็ท้อใจ แต่เขาเกิดมาแล้วก็ต้องเลี้ยงไป อยากให้ลูกได้ดีสักคนก็ไม่ได้ดีสักคน จะไปไหนก็ไปไม่ได้เพราะปล่อยเขาอยู่บ้านไม่ได้ นุสราคนผู้หญิงชอบแก้ผ้า เปลี่ยนเสื้อผ้าอยู่เรื่อย ปัญหาก็เคยเกิดแล้ว เราก็ได้แต่ทำบ้านรอบนอกให้มันดี

“เคยมีคนถามว่า ทำใจได้เหรอลูกเป็นแบบนี้ แก้ผ้าบ้าง โป๊บ้าง ฉันคิดมาก ไม่มีทางเลือกเลยเอาลูกไปทำหมันที่ตัวเมืองนครปฐม เสียใจก็เสียใจ แต่จะให้ทำยังไง ลำพังพ่อแม่เองก็ไม่มีปัญญาดูแลหรอก” แม่กล่าว

ด้วยวุฒิภาวะที่เหมือนเด็กของนุสรา เธอไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เธอทำนั้นสุ่มเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เธอมักอ้อนแม่และใครต่อใครที่ผ่านไปมาหน้าบ้านให้ซื้อของให้ จนทำให้เคยเกิดเหตุการณ์ล่วงละเมิดมาแล้ว แม่ของเธอกล่าวทั้งน้ำตาว่าไม่อยากพูดถึงเหตุการณ์เหล่านั้น เพราะการหวนคิดทำให้บาดแผลซ้ำลึกในใจทุกครั้ง

นุสราถูกจับทำหมันในปี 2548 ตอนอายุ 13 ปี โดยที่ตัวนุสราเองก็ไม่รู้ว่าสิ่งนี้คือการทำหมัน การทำหมันจึงเป็นการตกลงกันระหว่างแม่และหมอเท่านั้น

“เคยมีคนถามว่า ทำใจได้เหรอลูกเป็นแบบนี้ แก้ผ้าบ้าง โป๊บ้าง ฉันคิดมาก ไม่มีทางเลือกเลยเอาลูกไปทำหมันที่ตัวเมืองนครปฐม เสียใจก็เสียใจ แต่จะให้ทำยังไง ลำพังพ่อแม่เองก็ไม่มีปัญญาดูแลหรอก”

“หมอคุยกับแม่ เขาบอกว่า ไม่แนะนำให้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ให้ทำแบบนี้เถอะเผื่อพ่อแม่ไม่อยู่แล้วมีคนไม่ดีมาทำร้ายเขาล่ะ ซึ่งก็เคยมีมาแล้วถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล จนบางทีนุสราเองก็คลุ้มคลั่ง คว้ามีดคว้าอะไรก็มี บางทีเขาเห็นเราร้องไห้ เขาก็มาพูดว่า แม่อย่าร้องไห้นะ รักแม่ บางทีตัวเขา (นุสรา) เองก็นั่งร้องไห้” เธอกล่าว

เมื่อภาระเลี้ยงดูลูกพิการทั้งสองคนมากขึ้น บ่อยครั้งพ่อและแม่จึงมีปากเสียงกัน พ่อพูดเรื่อง ‘จะย้ายหนี’ ตลอดเวลาเพราะความกดดันที่มี จนทำให้บางครั้งแม่ก็อดคิดไม่ได้ว่า สถานสงเคราะห์อาจเป็นที่พึ่งที่ช่วยให้พวกเขาได้ตั้งหลักชีวิตกันอีกครั้ง ซึ่งแน่นอน การอยู่สถานสงเคราะห์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ โดยเฉพาะหากไม่มีเงินส่งเสียทุกเดือน และยิ่งยากมากขึ้น เมื่อนุสราเองก็ไม่ได้มีความคุ้นชินกับการใช้ชีวิตที่ไม่มีพ่อแม่

“แฟนบอกว่าจะหนี ฉันก็บอก ‘ถ้าจะหนีก็บอกก่อนนะจะได้ตั้งหลักถูก’ แต่จะไปอยู่ไหน ทำอะไรไม่ต้องบอก เขาไปฉันก็ผูกคอตาย หมดปัญหา

“ฉันเคยพูดกับผู้ใหญ่ฯ ว่า ถ้าฉันตายแล้วลูกยังอยู่ ฉันก็ยกทั้งลูกทั้งที่ดินให้ประชาสงเคราะห์ เอาไปทำอะไรก็แล้วแต่ กระดูกก็ไม่ต้องมาสวดรีบๆ เผาให้ป่นไปไม่ต้องมาเป็นภาระคนอื่นเขา ห่วงก็แต่สองคนนี้วันข้างหน้าจะกินอะไร คิดว่าจะไปกู้หนี้ยืมสินเขามาก็ไม่มีปัญญาจะใช้ แค่นี้ก็ไปไม่รอดแล้ว ต้องลำบากเลี้ยงสองคนนี้ด้วยงานก็ไม่ได้ทำ อยู่แต่ในบ้านเฝ้าเขาแบบนี้ เราก็เครียด อยากออกจากบ้านไปหางานทำ ได้ออกไปเจอเพื่อนฝูง สนุกสนานมีสังคมบ้างก็ยังดี” แม่กล่าว

นั่งคุยกันไม่นานนัก นุสราที่เพิ่งตื่นก็เดินออกมาจากบ้าน เธอเป็นหญิงสาวที่ดูเด็กกว่าอายุจริง ผมสั้น ตัวผอม เธอสื่อสารได้เป็นคำสั้นๆ แต่ฟังคำถามได้อย่างเข้าใจ เมื่อแม่ของเธอถามว่า ‘นุชรักแม่ไหม’ เธอก็รีบพยักหน้าทันที และตอบว่า ‘ไป ไป ไม่ร้อง’ เมื่อแม่เธอยื่นข้อเสนอให้ไปอยู่ที่สถานสงเคราะห์กับพี่สาวที่กำลังคุยด้วยตรงหน้า

กลัว

“กลัวค่ะ เห็นข่าวเยอะ เรื่องคนพิการโดนล่วงละเมิดทางเพศ ก่อนเข้า-ออกห้องต้องล้อกประตู 2 ชั้น ลงกลอนและมัดไว้อีกทีหนึ่ง กลัวแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องออกไปขายของกลับบ้านกลางคืนแทบทุกวัน” อรณี มงคลพันธ์ กล่าว

อรณี หญิงสาววัย 35 สะท้อนความกังวลของตัวเองเมื่อต้องอาศัยอยู่ในห้องเช่าเพียงลำพังหลังออกจากสถานสงเคราะห์ เธอพิการด้วยโรคทางพันธุกรรมอย่างซีรีบรัล พัลซี่หรือซีพี (Cerebral Palsy: CP) ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายนั้นบิดเกร็ง นอกจากโรคนี้จะกระทบต่อการเคลื่อนไหวของแขนและขาแล้ว กล้ามเนื้อใบหน้าก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน อรณีสามารถพูดสื่อสารได้สั้นๆ คล้ายคนติดอ่างและอาศัยการคลานไปกับพื้นเพื่อเคลื่อนที่

แม้ฟังแล้วช่างยุ่งยาก แต่อรณีสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ทุกอย่าง ทั้งทำกับข้าว อาบน้ำ ปัดกวาดเช็ดถูห้อง รวมทั้งแต่งตัว เตรียมแผงหวยออกจากบ้านเพื่อขายในโลตัสใกล้บ้านอย่างกระชับกระเฉง

หน้าห้องเช่าของอรณี
บริเวณหน้าห้องเช่าของอรณี

อรณีเล่าว่า ตั้งแต่จำความได้ เธอก็มีตายายเป็นคนเลี้ยงดู แต่เมื่อตายายเสียตอนเธออายุได้ 14 ปี ชีวิตของเธอก็หมุนเคว้ง สถานสงเคราะห์จึงเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองและแม้เธอจะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นในขณะนั้น การเรียนการสอนที่สถานสงเคราะห์กลับไม่มีการพูดถึงเรื่องเพศและการดูแลตัวเองเลยแม้แต่นิดเดียว

“ไม่มีการสอนเรื่องเพศ แต่มีข้อห้ามว่า ‘ห้ามมีเพศสัมพันธ์’ เด็กๆ มักเรียนรู้จากข้างนอก บางคนก็เปิดหาในหนังสือเรียน ที่นี่มีปัญหาล่วงละเมิดทางเพศบ่อยๆ อย่าง ‘คนหัวดี’ ข่มขืน ‘คนหัวไม่ดี’ (คนหัวดีและหัวไม่ดี ในความหมายของอรณีคือคนไม่พิการทางสติปัญญาและพิการทางสติปัญญา), การข่มขืนคนหูหนวก หรือคนหูหนวกข่มขืนคนพิการทางสมอง ส่วนหนึ่งมาจากเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอ” เธอกล่าว

แม้เท่าที่อรณีรู้ สถานสงเคราะห์แห่งนี้ไม่มีการบังคับหรือแนะนำให้เด็กนักเรียนพิการทำหมันเนื่องจากผิดจรรยาบรรณ แต่ก็ยังเห็นการทำหมันในเด็กพิการทางสติปัญญาเพื่อป้องกันการท้องหากถูกล่วงละเมิดทางเพศและการฉีดยาคุมกำเนิดสำหรับคนพิการประเภทอื่นๆ

“กลัวค่ะ เห็นข่าวเยอะ เรื่องคนพิการโดนล่วงละเมิดทางเพศ ก่อนเข้า-ออกห้องต้องล้อกประตู 2 ชั้น ลงกลอนและมัดไว้อีกทีหนึ่ง กลัวแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องออกไปขายของกลับบ้านกลางคืนแทบทุกวัน”

ในวัย 14-15 เช่นอรณี แรงขับเคลื่อนทางเพศ คำถามและข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องเพศมักเกิดขึ้นเสมอ ไม่เว้นแม้แต่ในสถานสงเคราะห์ แต่ด้วยความรู้สึกกระดากอายเมื่อต้องเอ่ยคำถามเหล่านั้นกับเจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์ เด็กหลายคนจึงทำได้เพียงเก็บความสงสัยเหล่านั้นไว้ ซึ่งนับเป็นโชคของเจ้าหน้าที่เพราะตัวพวกเขาเองก็ไม่ได้มีความรู้ ความเข้าใจที่จะให้คำตอบและแนะนำในเรื่องเพศให้กับคนพิการได้ดีพอ

มองแบบคนนอก เราอาจคิดว่า สถานสงเคราะห์จะเป็นที่ที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบและชุดยูนิฟอร์มเหมือนๆ กัน แท้จริงแล้วสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่อย่างลับๆ คือมุมมองในเรื่องความสัมพันธ์ ความขาดและความต้องการที่ไม่เคยบรรจบกันได้อย่างพอดี อรณีกล่าวว่า นักเรียนที่นี่ส่วนมากคาดหวังจะมีครอบครัวที่สมบูรณ์นอกรั้วสถานสงเคราะห์ เราจะเห็นคู่รักเพศเดียวกันอยู่บ้างประปราย และเห็นคู่รักต่างเพศแอบรักกันอย่างหลบๆ ซ่อนๆ เนื่องจากกิจกรรมทุกอย่างในสถานสงเคราะห์ถูกแบ่งแยกหญิงชาย กระนั้นเองถึงแม้เรื่องเหล่านี้จะพบเห็นได้อย่างกว้างขวาง แต่เจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์ก็ไม่เคยให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศและการใช้ชีวิตคู่สำหรับคนพิการเลยแม้แต่น้อย

“พออายุครบ 18 ปี เด็กก็จะถูกส่งออกจากสถานสงเคราะห์ จำนวนหนึ่งมีผู้ปกครองมารับ อีกส่วนถูกส่งต่อไปยังสถานสงเคราะห์อื่นและมีจำนวนไม่น้อยที่เลือกออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองแบบเรา การใช้ชีวิตข้างนอกค่อนข้างลำบาก ต้องคอยระมัดระวังตัวเองตลอดเวลา เราขายหวยที่โลตัสแถวบ้าน ตั้งแต่เที่ยงถึงสองทุ่มทุกวัน เคยโดนรถสิบล้อเฉี่ยววีลแชร์จนหมุนกลางอากาศ แต่ก็ต้องสู้ เพราะไม่มีทางอื่นให้เลือกมากนัก” อรณีกล่าว

ทุกวันนี้ อรณีดูแลตัวเองอย่างดี ระแวดระวังสิ่งรอบกาย และส่งเงินให้ทางบ้านใช้อย่างสม่ำเสมอ แม้ตอนนี้เธอยังไม่นึกถึงเรื่องรักๆ ใคร่ๆ นัก แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นตัวเอง แถมยังมีมนุษยสัมพันธ์ดีอีกด้วย

รอ

ธิติมา เลี้ยงรักษา อายุ 42 ปี พิการด้วยโรคเดียวกับอรณี เธอมีพี่น้องสามคนและมีน้องคนเล็กพิการทางสมอง บ้านของเธอเป็นบ้านไม้เตี้ยๆ ชั้นเดียว ที่แวดล้อมไปด้วยพื้นปูน หิน และกรวดทรายที่ที่ธิติมาต้องคลานเข่าผ่านไปมาตลอดเวลา จนเข่าของเธอถลอกปอกเปิก หนังสือและโรงเรียนเป็นสิ่งที่เธอแทบไม่รู้จัก พ่อและแม่จะออกไปทำงาน โดยทิ้งเธอและน้องสาวที่พิการทางสมองที่ห้องตามลำพัง มีเพียงวิทยุเท่านั้นที่เป็นเหมือนเพื่อนในทุกวัน

ธิติมาถูกล่วงละเมิดทางเพศพร้อมกับน้องสาว ขณะอยู่ที่บ้านเพียงลำพัง แม้จะรู้ตัวคนที่ล่วงละเมิด แต่ก็เอาผิดไม่ได้เพราะไม่มีหลักฐานและเธอเองก็ไม่สามารถสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้มากพอเนื่องจากอาการของโรคที่เป็นอยู่ ที่ทำให้เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อใบหน้าจนพูดไม่ชัด เธอและน้องสาวตั้งครรภ์และคลอดทารกเพศหญิงที่แข็งแรงสมบูรณ์ดี ซึ่งปัจจุบันอายุ 19  ปี

ในวันคลอด แพทย์ที่ทำคลอดได้ทำหมันให้เธอและน้องสาวทันที โดยไม่ได้ให้ข้อมูลและถามความสมัครใจจากเธอหรือครอบครัวก่อน

แม้โดยทั่วไปการทำหมัน จะต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าตัว ตามคำประกาศสิทธิของสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ ในข้อที่ 3 ที่ว่าด้วย สิทธิในการทราบข้อมูลของผู้ป่วยที่ครบถ้วนและชัดเจนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ เพื่อให้สามารถเลือกตัดสินใจยินยอมหรือไม่ยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติต่อตน เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือรีบด่วนหรือจำเป็นแต่ในบางกรณีหากเจ้าตัวเป็นบุคคลที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ ญาติหรือผู้ดูแลก็มีสิทธิตัดสินใจแทนได้ อย่างไรก็ดี โรคที่ธิติมาเป็นไม่ได้ทำให้สติหรือการตัดสินใจของเธอนั้นถูกทำลาย สมองของเธอนั้นปกติ มีเพียงการพูดไม่ชัดที่อาจทำให้หลายคนมองว่า เธอมีอาการทางประสาท นี่จึงอาจถือเป็นการทำเกินหน้าที่แพทย์ เพราะธิติมาและครอบครัวไม่แม้แต่จะถูกแจ้งให้ทราบในเรื่องการทำหมันเลย

ขณะที่ธิติมาท้อง ถึงแม้ไม่ได้เป็นความลับ แต่เธอไม่เคยไปโรงพยาบาล ฝากท้อง หรือตรวจครรภ์เลย มีเพียงยาบำรุงเลือดที่ญาตินำมาให้จากโรงพยาบาลพุทธมณฑลเท่านั้นที่พอมีความเกี่ยวข้อง เธอไม่รู้ว่าเด็กในท้องเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย จนกระทั่งลูกคลอด คำถามแรกที่เธอถามกับหมอคือ “หญิงหรือชาย” และได้ยินเสียงตอบกลับมาว่า ‘หญิง’

สำหรับแม่มือใหม่อย่างธิติมา เธอกลับไม่เคยถูกสอนในฐานะ ‘แม่’ ไม่มีสอนอุ้มลูก ไม่มีสอนให้นมและไม่ให้เธอเห็นหรือสัมผัสตัวลูกหลังจากลูกเกิด เธอไม่เคยแม้แต่จะอุ้มลูกของเธอด้วยตัวเธอเอง เพราะทันทีหลังจากคลอด ลูกก็ถูกแยกออกไปและส่งให้กับน้องสาวของเธอเป็นผู้ดูแลนับตั้งแต่นั้นมา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับธิติมา สะท้อนถึงระบบสาธารณสุขของไทยที่มีต่อคนพิการได้เป็นอย่างดี โดยทั่วไปแล้วเมื่อมีหญิงไม่พิการคลอดลูก พยาบาลผดุงครรภ์จะต้องทำหน้าที่ให้คำแนะนำและสอนทักษะในการเลี้ยงลูกให้แก่แม่มือใหม่ทุกคน ซึ่งอาจรวมถึงคำแนะนำในการมีลูกคนต่อไป หรือภาวะความเสี่ยงต่างๆ ทั้งนี้ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แพทย์เลือกที่จะไม่สื่อสารกับธิติมาเพราะนึกว่าเธอพิการทางสมอง เนื่องจากอาการพูดช้า ไม่ชัด และติดขัด ทั้งที่จริงๆ แล้วธิติมามีเพียงความพิการด้านการเคลื่อนไหวเท่านั้น

จากที่เล่ามา หลายคนอาจนึกว่าตอนนี้ธิติมาคงอยู่อย่างอมทุกข์เพราะปมหลังในอดีต แม้แน่นอนว่าเรื่องในอดีตเหล่านั้นไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ธิติมาในวันนี้ กลายเป็นแม่ที่เข้มแข็งและเป็นยายที่น่ารักของหลานสาวอายุ 3 ขวบ

ธิติมา เลี้ยงรักษา
ธิติมา เลี้ยงรักษา

“ถ้าถึงวันแม่จะไม่ไปไหน รออยู่บ้าน ลูกสาวและหลานจะมาหา” เธอกล่าว “เขาน่ารัก ผมยาว คุยเก่งและฉลาดมาก” เธอพูดซ้ำไปซ้ำมา เมื่อเธอเล่าถึงความรู้สึกที่มีต่อหลานด้วยสีหน้ายิ้มแย้มและความสุขที่ออกมาจากนัยน์ตา

ธิติมามีกิจวัตรประจำวันอยู่ไม่กี่อย่างเนื่องจากข้อจำกัดทางร่างกาย นอกจากการกิน นอน เข้าห้องน้ำแล้ว สิ่งหนึ่งที่เธอทำได้ดี จนทุกคนในบ้านยกให้เธอเป็นมือวางอันดับหนึ่ง ได้แก่ การถูพื้น อันพิถีพิถัน เธอใช้เวลาเกือบทั้งวัน ในการปัดกวาดเช็ดถู พร้อมกับฟังวิทยุคลื่นลูกทุ่งไปด้วยอย่างสบายใจ

เธอมีนักร้องในดวงใจสองคนคือ จินตหรา พูนลาภ และจ่าหรอย เฮนรี่ เพลง ‘วานเพื่อนเขียนจดหมาย’ เพลงดังของจินตหรา พูนลาภนั้นเป็นเพลในดวงใจของเธอ เนื้อเพลงบางส่วนร้องว่า

“นอนคิดถึงเขา แต่เราไม่มีโอกาส
จึงหยิบกระดาษ มาเขียนจดหมายสักใบ
ก็เขียนไม่เป็น แล้วเราจะทำเช่นไร
วานพวกเขียนให้ ก็อายแสนอาย เพื่อนตน”

“หนังสือหนังหา เกิดมาไม่เคยได้อ่าน
ชีวิตซมซาน ต่างบ้านต่างเมืองเหลือทน
พ่อแม่ อาภัพ ขาดทรัพย์ ขาดสินดิ้นรน
เป็นเพราะความจน จึงไม่ได้เข้าโรงเรียน”

“เนื้อเพลงมันตรงกับชีวิต เราฟังแล้วนึกถึงชีวิตเรา” เธอกล่าว

‘บ้า’

ภายในรั้วบ้านที่ร่มรื่นไปด้วยเงาต้นไม้ที่ทอดยาวตั้งแต่ทางเข้า เป็ดแม่ลูกวิ่งเล่นกันอยากสนุกสนานข้างๆ บ่อน้ำใหญ่ด้านขวาของตัวบ้านหลังใหญ่อยู่ข้างๆ กับบ้านหลังเล็กสีฟ้าชั้นเดียว ที่ที่เพลิน (นามสมมติ) อาศัยอยู่กับน้องชายพิการทางสมองและการมองเห็น

เพลิน หญิงวัยกลางคนท่าทางเหมือนเด็ก มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน 4 ใน 8 คนรวมทั้งเพลินมีความพิการทางสายตา การได้ยิน และสติปัญญา ซึ่งแพทย์ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นโรคอะไร คำว่า ‘โรคทางพันธุกรรม’ จึงเสมือนเป็นชื่อโรคที่ทุกคนเรียกอาการของเพลิน

เพลินและน้องชาย
เพลินและน้องชาย

ทุกวันนี้ตาของเพลินมองเห็นได้น้อยมากเพราะเป็นต้อหิน ถ้าเทียบกับ 3 ปีที่แล้วซึ่งยังมองเห็นได้ลางๆ และมีแนวโน้มจะแย่ลงเรื่อยๆ เพราะผลข้างเคียงของโรคเบาหวานและยาระงับประสาท เธอสามารถดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่งแต่ไม่สามารถทำงานหรือสื่อสารกับคนรอบข้างได้ เธอมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่สนใจ ใช้การสัมผัสตัวเพื่อบ่งบอกว่าคนคนนี้คือใครและมีภาษาพิเศษ ‘อ๋อ แอ๋’ ที่ใช้คุยกับน้องชายเพียงคนเดียว

สายทอง นัดสูงวงศ์ น้องสาวเล่าว่า เพลินถูกล่วงละเมิดทางเพศเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วโดยน้องชาย ในตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศ จนกระทั่งคืนหนึ่งเพลินร้องไห้โวยวาย อาละวาดอย่างหนักผิดปกติ เธอเห็นขาทารกโผล่ออกมาจากผ้าถุง แม้จะรีบไปโรงพยาบาลแต่ด้วยระยะทางที่ไกลมาก ทารกจึงคลอดออกมาบนท้ายรถกระบะเกือบทั้งตัว เหลือเพียงบริเวณคางที่ยังติดกับปากช่องคลอดไม่สามารถหลุดออกมาได้ จนในที่สุดทารกเพศหญิงก็ลืมตาดูโลกที่โรงพยาบาล

“เราสงสารเขาเพราะเขาพิการ พูดไม่ได้ ไม่รู้จะสื่อสารยังไง เขาคงเจ็บท้องเลยร้องไห้โวยวาย ทั้งที่รู้ตัวคนล่วงละเมิดว่าเป็นน้องชาย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะน้องชายก็ทำไปโดยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ตอนนี้เพลินฉีดยาคุมและกำลังจะเลิกฉีดเพราะใกล้อายุ 50 แล้ว

“เราคิดว่าเพลินไม่รู้ว่าตัวเองมีลูก สติเขาไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว ยิ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่เขาร้อง อาละวาดหนัก ถ้าห่างยาระงับประสาท ก็จะแสดงท่าทางหวาดกลัวคนจะมาข่มขืน เราก็ไม่รู้จะเอาผิดกับใคร น้ำท่วมปากเพราะคนทำก็อยู่ในครอบครัวเราเอง” สายทองกล่าว

ลูกของเพลินพิการเหมือนกับเธอ เพลินไม่เคยได้อุ้มหรือใกล้ชิดลูกเหมือนกับแม่คนอื่นเพราะแพทย์คิดว่าเธอไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้ ภาระการเลี้ยงดูทั้งหมดจึงไปตกอยู่ที่น้องสาวของเพลินซึ่งต้องทำงานหนักเป็นสองเท่าเพื่อเลี้ยงพี่สาวและหลานที่ถึงแม้จะสามารถเดินได้ ตักข้าวกินเองได้ แต่ไม่สามารถดูแลตัวเองและสื่อสารได้ กระทั่งปี 2554 ลูกสาวของเธอในวัย 13 ปี ก็เสียชีวิตเพราะจมน้ำในบ่อน้ำใหญ่ข้างบ้าน

“เราสงสารเขาเพราะเขาพิการ พูดไม่ได้ ไม่รู้จะสื่อสารยังไง เขาคงเจ็บท้องเลยร้องไห้โวยวาย ทั้งที่รู้ตัวคนล่วงละเมิดว่าเป็นน้องชาย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะน้องชายก็ทำไปโดยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ตอนนี้เพลินฉีดยาคุมและกำลังจะเลิกฉีดเพราะใกล้อายุ 50 แล้ว”

“เราผูกพันธ์กับหลานเพราะเลี้ยงเขามาตั้งแต่เล็กๆ เคยส่งเขาไปอยู่ที่ศูนย์เด็กพิการ แต่ก็ทนดูไม่ได้ที่หลานโดนเด็กคนอื่นแกล้ง ตบตี กัดหู จนหน้าตาบวมช้ำไปหมดเพราะพูดสื่อสารไม่ได้ ตอนที่หลานเสียเพราะจมน้ำ เราเสียใจแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เขาคงทรมาน ดิ้น แต่ก็ขึ้นมาไม่ได้ กล้ามเนื้อเขาไม่แข็งแรง” สายทองกล่าว

ในกรณีของเพลิน เธอไม่เคยได้รับคำแนะนำจากแพทย์ในเรื่องการทำหมันและไม่เคยเข้าสู่ระบบสาธารณสุขแม้แต่ในขณะท้อง เนื่องจากฐานะทางบ้านที่ยากจนและห่างไกลจากโรงพยาบาลในตัวเมือง เมื่อครั้งยังมีประจำเดือน เพลินสามารถดูแลตัวเองได้ทุกอย่าง เธอใช้ผ้าเตี่ยวม้วนเป็นเส้น เพื่อนุ่งแทนผ้าอนามัยโดยไม่มีใครสอน นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่า ความพิการไม่ได้ทำให้การเรียนรู้ในเรื่องเพศของเพลินถูกลดทอนไปแบบที่หลายคนเข้าใจ การสอนเรื่องเพศศึกษาที่เหมาะสมโดยปรับให้เข้ากับความพิการ น่าจะช่วยให้เพลินได้เรียนรู้ที่จะเป็น ‘แม่’ และช่วยให้เธอมีภูมิคุ้มกันในเรื่องเพศมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท