ว่าด้วยชาวนากับราคาข้าว: จะเอายังไงดี (1)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วันหนึ่งขี่รถไปแวะซื้อขนมที่ร้านค้าริมทางแถวๆทางไปนา เห็นคนนั่งคุยกัน ก็เลยถามว่า คุยอะไรกัน คนนึงในนั้นบอกว่า คุยเรื่องไม่มีจะแดกกันแล้ว เราก็อึ้งไปชั่วขณะ ซื้อขนมเสร็จเลยรีบกลับ

วันก่อนไปเจอน้องคนนึง ทำนาเก่งมาก ทั้งรับจ้างไถนา ฉีดยา หว่านปุ๋ย อายุเพิ่งจะย่าง 30 เขามีครอบครัว มีลูกกำลังเล็ก 2 คน เขาเรียนหนังสือจบแค่ ม.3 แล้วก็ออกมาช่วยครอบครัวทำนา ทั้งนาของที่บ้านและนาเช่า เมียก็ขยันมาก วันไหนผัวไม่ว่างก็ขับรถไถ มาไถนาเอง ส่วนลูกนั้นเขาก็เลี้ยงแบบบ้านๆ ปล่อยให้ดูแลตัวเอง ตอนเช้าตื่นมาก็ให้คอยเก็บขี้วัวในคอกมาตาก (เป็นวัวของพ่อกับแม่เขา มี 30 กว่าตัว) เขาบอกว่าไม่ได้คิดว่าลูกจะต้องเรียนจบสูงอะไร ได้แค่ไหนแค่นั้น ถ้ามันไม่เรียนก็ให้มาช่วยทำนา จริงๆ คนกลุ่มนี้ไม่น่าห่วงเพราะเขาเอาตัวรอดได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็ห่วง เพราะถ้าเขาคิดว่าจะให้ลูกมาช่วยทำเกษตร มันก็ควรจะเป็นเกษตรที่มีอนาคตด้วย

ต่อมาก็มีเพื่อนบอกว่าให้เขียนอะไรหน่อย เรื่องชาวนา ก็รับปาก แต่ก็คิดไม่ออกว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี พอเห็นข่าวข้าวราคาตก ก็คอยโทรไปถามแม่กับพี่สาวว่าเกี่ยวรึยังๆ พอรู้ว่าแม่เกี่ยวขายราคา 6 พันนิดๆ ก็ดีใจกับแม่ด้วย แม่บอกว่าทำนา 10 ไร่ ได้ข้าว 12 เกวียน เยอะกว่าปีก่อน

วันนี้ก็มานึกๆ ลองเขียน ไม่ได้มีความรู้อะไรใหม่ และข้อเสนอใหม่เลย ทั้งๆที่ #คิดจนหัวแทบจะระเบิดแล้ว เห็นด้วยกับมิตรสหายท่านหนึ่งที่พยายามให้มองปัญหาชาวนา ออกไปจากอะไรแบบ ลูกหลานชาวนาน้ำตานองหน้า กระดูกสันหลังของชาติ จิตวิญญาณชาวนา อุดมการณ์ชาวนา อะไรเทือกนี้ ที่สุดท้ายแล้ว ก็จะมีคนบอกว่า ไม่ว่ามันจะมีอยู่จริงหรือไม่มีอยู่จริง มันก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาเป็นข้ออ้างอะไรในการแก้ปัญหาของชาวนาทั้งสิ้น ไปจนถึงว่ายิ่งนำเสนออะไรแบบนี้จะยิ่งสร้างปัญหาต่อไปไม่จบสิ้น (เรื่องนี้อาจจะต้องไปช่วยกันบอกบรรดาเอ็นจีโอขาใหญ่และปราชญ์ๆ ทั้งหลาย ให้เพลาๆ ลงหน่อย)

ดังนั้นก็เลยพยายามเปลี่ยนมุมมอง มามองการทำนา ในฐานะพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคกลาง ที่ทำนาปรัง ปลูกข้าวไม่ไวแสงได้ตลอดทั้งปี เราผลิตได้มากเกินจนเหลือส่งออก (บางคนเรียกว่าข้าวคุณภาพต่ำ คืออาจจะมองในเรื่องของคุณภาพแป้ง คุณภาพการหุงต้ม เป็นหลัก แต่ก็สงสัยว่า การเรียกแบบนี้ไม่ค่อยเป็นธรรมนัก เพราะข้าวเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นข้าวที่นำไปแปรรูปเป็นแป้ง และผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากแป้งต่างๆ ซึ่งก็มีความสำคัญต่อการบริโภคไม่น้อยไปกว่าข้าวหอมมะลิ) สำหรับข้าวนาปีนั้น ยิ่งมีข้อจำกัดเยอะกว่า เช่น การที่อายุเก็บเกี่ยวออกพร้อมๆ กัน ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่า แต่ข้อดีก็มีคือคุณภาพการหุงต้มดีกว่า เก็บไว้สีกินหรือสีขายเองก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มีผู้รู้บอกแล้วว่า การแปรรูปสินค้าเกษตรก็ยังไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาสินค้าเกษตร

หลายวันก่อน ได้คุยกับคนดูแลนาเช่า เธอบอกว่า เจ้าของนาเช่า (ซึ่งเติบโตไปจากลูกชาวบ้าน แต่ปัจจุบันมีธุรกิจส่งออกอาหารปีละหลายร้อยล้าน) เธอฝากมาถามชาวนาด้วยความเป็นห่วงว่า ราคาข้าวน่าจะไม่ดีไปอีกหลายปี แล้วชาวนาจะปลูกอะไรกันดี ก็คิดไม่ค่อยออกหรอกนะว่าจะปลูกอะไรดี เลยบอกว่า ข้าวมันเป็นพืชเงินสดอายุสั้นไง ปลูกแค่ 4 เดือน ก็เห็นเงินแล้ว ถ้าจะต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่น มันก็ต้องมีวิธีการที่จะช่วยในการลดความเสี่ยงของการผลิต เพราะพืชเกษตรอะไรก็ตาม พอปลูกก็มีความเสี่ยงทั้งนั้น ยิ่งเป็นพืชที่คนปลูกกำหนดราคาเองไม่ได้นี่ยิ่งเสี่ยงไปใหญ่ ข้าวนี่ถือว่าได้เปรียบพืชอื่นอยู่สักหน่อย ถ้าเทียบในพื้นที่ชลประทานภาคกลาง เพราะชาวนามีทักษะแน่นอนแล้วในการผลิต มีตลาดรับซื้อแน่นอน อันนี้ต้องยอมรับว่า ในภาคกลาง มีโรงสีกระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ มากมาย และอาจจะมีการเข่งขันด้านราคากันอยู่บ้างนิดหน่อย เมื่อขนไปลานนึงแล้วตีราคา ถ้าไม่พอใจก็ยังสามารถขนไปขายลานอื่นได้ วันก่อน แม่เพิ่งเกี่ยวข้าวนาปรังไป ขายได้ ตันละ 6,250 บาท แม่บอกว่าต้องขนไปขายอีกตำบลนึง เพราะตีราคาให้ดีกว่า เทียบกับในพื้นที่นาน้ำฝน จำนวนลานรับซื้อน้อยกว่ากันมาก อันนี้ยิ่งเพิ่มโอกาสในการกดราคาข้าวให้ถูกลงไปอีก

แต่ก็ไม่ใช่ว่าชาวนาจะเปลี่ยนไปปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอื่นไม่ได้ แต่ทั้งนี้เขาก็ต้องมีตัวช่วยในการที่จะลดความเสี่ยงให้มากที่สุด เช่น อาจจะเปลี่ยนไปปลูกไม้ผลยกร่องก็ได้ แต่เขาก็ต้องมั่นใจว่ามีตลาดรับซื้อ รวมทั้งมีความรู้ในการจัดการสวนไม้ผล ที่สำคัญก็ต้องมีทุนกินยาวๆ เพราะไม้ผลใช้เวลานานกว่า และก็ต้องคุยกับเจ้าของนาว่าจะจัดการค่าเช่ากันยังไง จะเปลี่ยนไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็ได้ ถ้ามีความแน่นอนว่ารับซื้อชัวร์ในราคาที่เป็นธรรม (แต่ที่เป็นข่าวๆ กันอยู่นี่น่ากลัวฉิบ) ปลูกผักส่งตลาดไทก็ได้ แต่เขาก็ต้องมีหลักประกันเรื่องตลาดว่าจะมีคนมารับซื้อในราคาที่สมเหตุสมผล อะไรแบบนี้ เกษตรแปลงใหญ่ชาวนาก็ทำได้ แต่รัฐจะสร้างหลักประกันอะไรในการลดความเสี่ยงให้ชาวนาได้บ้าง ตรงนี้สิสำคัญ ด้วยเหตุนี้สำหรับชาวนาส่วนใหญ่ ในเขตชลประทาน ข้าวก็เลยยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่าอยู่ดี เรื่องนาแปลงใหญ่นี้ พูดกันจริงๆ แล้ว ชาวนาเก่งกว่าเจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรของภาครัฐแน่นอน อันนี้ออกตัวว่าไม่ได้โม้นะ

แต่เราก็เชื่อว่า ความสามารถและทักษะการทำเกษตรของเกษตรกรไทยนั้น สามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ และก็เชื่อว่าอาชีพเกษตรยังเป็นอาชีพที่รวยได้ หากเราสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ ไม่อย่างนั้นคงไม่มี #ฉันจะเป็นชาวนากันหรอกน่า แต่ทั้งนี้ต้องมีเงื่อนไขที่จะลดความเสี่ยงให้พวกเขาด้วย ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐทำตรงนี้น้อยมาก หรือไม่ทำเลย เช่น มีการทำเรื่องประกันภัยพืชผล แต่ก็ไม่แน่ใจว่ามีชาวนาเข้าร่วมมากน้อยแค่ไหน เห็นว่าใครที่เป็นลูกหนี้ ธกส. จะต้องทำประกันภัยอันนี้ เราไม่ได้เป็นหนี้ ธกส.เพราะไม่มีเครดิต เลยไม่รู้ว่าเป็นยังไงบ้าง

เห็นด้วยว่า ถ้าจะให้อยู่ได้ ก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และควบคุมต้นทุน (มิตรสหายท่านหนึ่งว่า ไม่ต้องมาบอกให้ชาวนาลดต้นทุน เพราะพวกเขาก็พยายามลดกันจนไม่รู้จะลดยังไงแล้ว) ซึ่งตรงนี้หลักๆ มันต้องผลักดันผ่านกลไกรัฐพวกหน่วยงานด้านการเกษตรทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง อันนี้ยาก และยังคิดไม่ออกว่าจะยังไง เคยเห็นเอากรณีของเวียดนามมาพูดถึงกัน แต่เราก็ไม่มีข้อมูลจริงๆ ว่าจริงๆ แล้วข้าวของเวียดนามเป็นยังไง เพราะโดยเทคนิคการผลิตของการทำนาปรังภาคกลางมันก็ค่อนข้างเป็นระบบที่ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูงในตัวมันเอง เมื่อเทียบกับการทำนาปี เช่น ต้องเตรียมดินถึง 2 ครั้ง ฉีดยาคุมหญ้า 2 ครั้งเพื่อควบคุมวัชพืช ใช้ปริมาณข้าวปลูกเยอะกว่านาปี การเก็บข้าวปลูกไว้ใช้เองทำได้ยากเพราะต้องมีระยะเวลาพักตัวของข้าว ในขณะที่รอบการทำนาขึ้นกับรอบของการปล่อยน้ำ ทำให้การซื้อข้าวปลูกสะดวกกว่า ไม่รวมถึงว่าต้องตากให้ได้คุณภาพ มีแรงงานจัดการ ฯลฯ การปลูกข้าวแบบหนาแน่นทำให้โอกาสของการระบาดโรคแมลงเยอะกว่า ต้องฉีดยามากกว่าพวกที่ทำนาปี ดังนี้เป็นต้น ยังไม่รวมถึงว่าค่าเช่านานั้นยังเป็นเรื่องที่ชาวนาต่อรองได้ยาก เพราะไม่ว่ายังไงก็ตาม เชื่อว่า มีแต่คนที่อยากจะเช่านากันทั้งนั้น ใครที่ว่าชาวนาไม่แย่งนากันทำนี่ช่วยบอกด้วย ถ้ามีสัก 50-100 ไร่ จะไปเช่าทำ (แต่ค่าเช่าจ่ายทีหลังนะ)

แค่คิดว่าจะปรับเทคนิคการผลิตยังไง และส่งเสริมให้เป็นผลสำเร็จไปถึงมือชาวนา อันนี้เป็นโจทย์จนจบดอกเตอร์ได้สบายๆ วันก่อนเคยมีเพื่อนชาวอินเดียบอกว่าเขาทำเทคนิคทำนาใช้น้ำน้อย ก็ไม่รู้ว่าเป็นยังไง จริงรึเปล่า น่าจะมีคนพาไปดูงาน แม้แต่เทคนิคของเวียดนาม ก็น่าไปดู แต่มีมิตรสหายบางท่านบอกว่าของเวียดนามต้นทุนในเรื่องค่าเช่าที่ดินเขาได้เปรียบกว่าบ้านเราเพราะเป็นที่รัฐจัดสรร ในขณะที่บ้านเราต้นทุนในเรื่องค่าเช่าที่ดินสูงกว่ามาก และก็ยังสงสัยว่าในระบบที่ดินจัดสรรแบบเวียดนาม ชาวนาเวียดนามต้องทำการผลิตแบบเข้มข้นขนาดไหนถึงจะอยู่รอดได้

เรื่องของเทคนิคการทำนาปรังนี่ ถึงแม้จะดูว่าเราก้าวหน้า แต่ก็ยังเห็นว่าข้อจำกัดของมันมีอยู่เยอะเหมือนกัน นี่ยังไม่รวมบรรดาเทคนิคต่างๆ ของเกจิชาวนาทั้งหลายที่มีสตอรี่กันมากมาย เห็นแล้ว #ฉันจะเป็นชาวนา ขึ้นมาทันที แต่ถ้าคิดง่ายๆ แบบที่ทำกันอยู่ ก็ให้ทำนาแค่ปีละครั้ง แค่นี้ก็ลดปริมาณข้าวในตลาดลงไปแล้ว ไม่เห็นจะยาก (ส่วนชาวนาจะไม่มีอะไรรับประทานก็ช่างมัน)

มีคนเสนอว่า ชาวนาต้องรวมกลุ่มกัน อันนี้น่าสนใจว่าจะรวมกลุ่มกันทำอะไรได้บ้าง คิดในเขตชลประทานนาปรังกับเขตนาปี ที่เห็นทำกันคือ เป็นผู้ประกอบการขายข้าวและทำโรงสี ถ้าใครคิดออกมากกว่านี้ก็ช่วยกัน (ถ้าคิดให้รวมกันไปกู้ ก็บอก จะได้ไปด้วย 555) ก็ลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าดูจากต้นทุน การผลิต ต้นทุน ในส่วนของการเตรียมดินและการเก็บเกี่ยวซึ่งต้องอาศัยเครื่องจักร เพราะสะดวกและจัดการง่ายกว่า ส่วนนี้น่าจะคิดเป็นต้นทุนอยู่ที่ 20-25% ของการผลิต ทำให้นึกถึงบางชุมชนที่มีการซื้อรถไถและรถเกี่ยวไว้ใช้ภายในชุมชน ถ้ามีการจัดการที่ดี ก็น่าจะช่วยลดต้นทุนให้ชาวนาลงได้ (อันนี้น่าจะเป็นไปได้สำหรับพื้นที่นาปีนอกเขตชลประทานภาคกลาง ที่ทุกปี ต้องอาศัยรถเกี่ยวข้าวจากภาคกลางขึ้นไปเกี่ยว ทำให้ราคาค่าเกี่ยวต่อไร่สูงขึ้นมาก)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สงสัยตลอดมาคือกลไกราคาของสินค้าเกษตรนั้นเป็นอย่างไรแน่ นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่เอ็นจีโอก็บอกว่าต้องทำ fair trade สรุปคือ กลไกที่เป็นไปตามตลาดนั้นมันไม่ fair ใช่มั้ย หรือว่าอะไรยังไง ก็งงๆ อยู่นะ แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็บอกชัดเจนแล้วว่าการอุดหนุนภาคเกษตรต้องทำอย่างจำกัดและรอบคอบมาก แล้วปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเอง

ที่จริงก็เข้าใจนะว่าสินค้าเกษตรเกือบทุกอย่างไม่ใช่สินค้าที่เรากำหนดราคาเองได้ และไม่ต้องเอ่ยปากบอกว่าเราอยากได้ราคาเท่านั้นเท่านี้ เดี๋ยวจะไปเข้าทางนักการเมือง (อ้าวไม่มีแล้วนี่นา มีแต่ท่านผู้นำที่เราไว้ใจและศรัทธาเท่านั้น) อย่างราคาข้าวในปีนี้ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยวที่ข่าวว่าราคาตกลงในหลายพื้นที่ เช่น กรณีของข้าว กข. 15 ซึ่งเป็นข้าวที่ปรับปรุงพันธุ์มาจากข้าวหอมมะลิ 105 เอามาฉายแสง ทำให้มีอายุเก็บเกี่ยวที่เร็วขึ้น ผลผลิตสูงกว่าหอมมะลิ 105 คุณภาพการหุงต้มเหมือนข้าวหอมมะลิ 105 เดิม ราคาตกเหลือเท่ากับหรืออาจจะน้อยกว่าราคาข้าวนาปรังแล้ว 5 พันกว่า-6 พันกว่าบาท ซึ่งน่าสนใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ โรงสีให้เหตุผลว่าอย่างไร นักเศรษฐศาสตร์ว่ายังไง เพราะไม่เคยเห็นตกมากขนาดนี้มาก่อน รวมไปถึงข่าวที่ว่า ออเดอร์ข้าวปลายปีนี้ยังไม่มีเข้ามา ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ก็ยังไม่แน่ชัด คนเขียน บ้านอยู่ใกล้โรงสีข้าวส่งออก ช่วงนี้เสียงเครื่องสีข้าวโรงสีทำงานทั้งกลางวันกลางคืน ก็แอบคิดเล่นๆ เหมือนกันว่า มันสีไปขายที่ไหนกัน ดาวอังคาร?

มีมิตรสหายท่านนึงบอกว่า ขอกำไรจากการทำนาที่ 20-30 % ของต้นทุน เรามาคำนวณดู ตอนนี้ถ้าราคาข้าวนาปรังที่ 6 พันกว่าบาทก็ยังพอมีกำไรแบบฉิวเฉียด ก็พอไปได้ แต่ถ้าต่ำกว่านี้ก็หืดขึ้นคอ ในเงื่อนไขที่ว่าไม่มีโรคแมลงหรือน้ำท่วมข้าวนะ ส่วนโครงการอะไรต่างๆ ที่จะช่วยชาวนานั้น ใครทำก็ดีทั้งนั้น อันนี้ไม่มีติติง มีแต่ความห่วงใยให้ด้วยใจจริง ยกเว้นพวกไม่ชอบลงเลือกตั้งแต่อยากได้ความนิยมชมชอบจากชาวนา อันนี้ต้องติเตียนมากๆ

หากอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว ใครที่คิดว่าให้เลิกทำนา ก็ให้กลับไปอ่านย่อหน้าที่ 7 และช่วยคิดต่อด้วยว่าจะเปลี่ยนไปทำอะไรได้บ้าง เราก็คิดจนหัวจะระเบิดแล้ว แต่ทุนที่เป็นเงินก็ไม่มี สตอรี่ก็ไม่มี เครือข่ายทางสังคมก็ไม่มี เพราะเราไม่ใช่คนดีอะไร สรุป อะไรๆ ก็ไม่มี เหลือแต่หมอยกับรอยยิ้มเท่านั้น

ปล. ผู้เขียน มีพี่เขยที่เลิกทำนาไปทำงานเมืองนอก ส่งหลานเรียนมหาลัย มีญาติๆ อีกหลายคนที่ทำนา แต่กำลังต้องการเงินเดือนสัก 15,000-20,000 บาทต่อเดือน สำหรับส่งลูกเรียนมหาลัย และเอาไว้กินไว้ใช้ พวกเขามีทักษะในการทำเกษตรดีเยี่ยม ขับรถไถก็ได้ แข็งแรง อึด ทน พวกเขาไม่ได้คิดว่าจะต้องทำนาไปตลอดปีตลอดชาติ นาแค่ทำเอาข้าวไว้กิน หรือให้คนอื่นเช่าก็ทำได้ ถ้ามีรายได้นอกภาคเกษตรที่ดีกว่าและมั่นคงกว่า ก็ยินดีออกจากภาคเกษตร มีบางคนเล่าว่าไปทำงานเกษตรที่ญี่ปุ่นเดือนละหลายหมื่น ถ้าใครมีญาติเป็นนายหน้า หางานไปทำที่ญี่ปุ่นได้ ค่านายหน้าไม่สูงนัก พวกเขาก็ยินดีไป อีกเช่นกัน บางคนบอกว่า งานตากพริกในเกาหลีเดือนละ 6 หมื่น พวกเขาก็สนใจ แต่ไม่รู้จะไปยังไง ใครรู้บอกด้วย อยากไปมั่ง ถ้าร่ำรวยกลับมาจะได้มีเงินมาซื้อนาเพิ่ม เปล่าไม่ได้อยากทำนา ซื้อเก็บไว้เฉยๆ อันนี้จริงจัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท