Skip to main content
sharethis

10 เรื่องแรงบันดาลใจจากลุงนวมทอง บทสัมภาษณ์แรกและสุดท้ายจากความตายที่ไม่สูญเปล่า บทเพลงประทีปแห่งสมัย หนังประชาธิปไตยไทยอยู่ตรงไหน ห้องประชุมท่ามกลางการสอดส่อง ประติมากรรมเลือดประชาทิพย์พิทักษ์ไทย ข้อเสนอปฏิรูปกองทัพ สดมภ์ต้านเผด็จการ แท็กซี่สัญลักษณ์ต้านรัฐประหาร เดินค้านพลเมืองขึ้นศาลทหาร ถึงรอยสัก "นวมทอง" บนแขนหม่อมเต่านา

31 ต.ค. 2559 ครบรอบ 10 ปี ที่ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ คนขับแท็กซี่ วัย 60 ปี ผูกคอกับราวสะพานลอยจนเสียชีวิต บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยในจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกของคณะรัฐประหารในขณะนั้น ที่ว่า "ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้" เนื่องจากก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 49 นวมทอง ได้ขับแท็กซี่โตโยต้า โคโรลล่า สีม่วง เครื่องมือทำมาหากินของเขาพุ่งชนรถถังของ คมช. เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.49 ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จนได้รับบาดเจ็บสาหัส

ภายหลังมีการเผยแพร่จดหมายที่เขียนด้วยลายมือ ลงชื่อ นวมทอง วันที่ 29 ต.ค.49 หรือ 2 วันก่อนที่เขาจะผูกคอเสียชีวิต โดยจดหมายดังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า

"สุดท้ายขอให้ลูกๆ และภรรยาจงภูมิใจในตัวพ่อ ไม่ต้องเสียใจ ชาติหน้าเกิดมาคงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก

ลาก่อน พบกันชาติหน้า

ปล. ขอแก้ข่าว ขวดยาที่พบในรถภายหลังเกิดเหตุคืออาหารเสริมแคปซูลใบแปะก๊วยไม่ใช่ยาแก้เครียดตามที่ลงข่าว นสพ. ผมไม่เครียดแต่ประท้วงจอมเผด็จการ"

การกระทำของนวมทอง ได้ส่งผลต่อความคิด ความรู้สึกของผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่สนับสนุนประชาธิปไตย จนกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการต่อต้านเผด็จการและการทำรัฐประหาร ในโอกาสครบรอบ 10 ปีความตายของนวมทองนี้ ประชาไท ได้รวบรวม 10 ตัวอย่างการกระทำที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนวมทอง ดังนี้

จอม เพชรประดับ: บทสัมภาษณ์แรกและสุดท้าย ความตายที่ไม่สูญเปล่า

"สามัญชนผู้ยิ่งใหญ่ นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย" จอม กล่าวถึง ลุงนวมทอง

จอม เพชรประดับ ผู้สื่อข่าว ITV ขณะนั้น ได้สัมภาษณ์นวมทองหลังจากที่นวมทองขับรถชนรถถังของคณะรัฐประหาร โดยเขาเล่าว่า เป็นนักข่าวคนแรกและคนสุดท้ายที่ได้สัมภาษณ์ ลุงนวมทอง เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2549

จอม เล่าเมื่อครั้งครบรอบ 9 ปี การเสียชีวิตของนวมทองว่า เทปการสัมภาษณ์ในครั้งนั้นยังไม่ทันได้ออกอากาศ ลุงนวมทองตัดสินใจปลิดชีพตัวเองจนเป็นผลสำเร็จ เหตุผลที่ลุงนวมทองตัดสินใจปลิดชีพตัวเองอีกครั้งเพื่อยืนยันในอุดมการณ์อันบริสุทธิ์ของตัวเองว่าเป็นไปเพื่อการเรียกร้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ได้ถูกว่าจ้างจากใคร หรือไม่ได้เป็นคนวิกลจริต เหมือนอย่างที่นายทหารบางท่านได้สบประมาทไว้

คลิปรำลึก 9 ปี ลุงนวมทอง โดย จอม เพชรประดับ

"ความคิดและการกระทำของคุณลุงนวมทองนั้นถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสังคมไทย ในการที่คนเล็กๆ คนหนึ่งหาเช้ากินค่ำ และถูกมองอย่างด้อยค่าไร้การศึกษาในสังคมนั้น แต่สามารถที่จะสละชีวิตตัวเองเพื่อประชาธิปไตยได้ และนี่จุดเริ่มต้นของการต่สู้กับระบอบอำมาตยาธิปไตยในสังคมไทย" จอม กล่าว

จอม ยังกล่าวด้วยว่า ตนมีความเชื่ออย่างสนิทใจว่าดวงวิญญาณของลุงนวมทองได้มาสิงสถิตอยู่ที่อนุสรณ์สถานการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในบริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แล้ว ถึงแม้ว่าตนจะไม่มีความกล้าหาญหรือเสียสละมากพอเมื่อเทียบกับลุงนวมทอง แต่ตนก็มีความภูมิใจที่ได้มีโอกาสนำเสนอ ความกล้าหาญและเผยแพร่จิตวิญญาณของการต่อสู้ของสามัญชนผู้ยิ่งใหญ่อย่างลุงนวมทอง ตนอยากจะบอกกับดวงวิญญาณของลุงนวมทองด้วยว่า ความตายของคุณลุงนั้นไม่สูญเปล่า

จิ้น กรรมาชน: บทเพลงนวมทอง ประทีปแห่งสมัย

จิ้น กรรมาชน (กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ) เจ้าของบทเพลง "เพื่อมวลชน" หนึ่งในคนเดือนตุลา เล่าว่า คืนวันที่ 31 ต.ค.49 เขากำลังบันทึกเสียงบทเพลง "วันของเรา" โดยไม่รู้เลยว่าเป็นคืนเดียวกับที่นวมทองได้ตัดสินใจพลีชีพเพื่อประกาศให้สังคมและคนที่สบประมาทได้รู้ว่า คนที่ยอมตายเพื่อประชาธิปไตยมีอยู่จริง จากนั้น จิ้น จึงส่งผ่านบทเพลง "วันของเรา" ให้ประชาไท เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมอุดมการณ์ประชาธิปไตยกับนวมทอง พร้อมกันนี้เขาได้เขียนบทกวี "เขาชื่อ..นวมทอง" เพื่อคารวะต่ออีกหนึ่งชีวิตที่หายไป ด้วยหวังให้ประชาธิปไตยกลับคืนมา

เขาชื่อ..นวมทอง             

นวมทองขอพลีชีพ      จุดประทีปแห่งสมัย

เกิดมาเพื่อรับใช้        พิทักษ์ไว้อุดมการณ์

เชื่อมั่นต่อจุดยืน        เขาลุกขึ้นอย่างกล้าหาญ

คัดค้านเผด็จการ        รัฐประหารน่าชิงชัง

เป็นเพียงสามัญชน      พุ่งรถยนต์ชนรถถัง

หนึ่งคนมิอาจยั้ง        เกินกำลังจะประลอง

วีรชนไม่ตายเปล่า       หากปลุกเร้าเราทั้งผอง

คนซื่อชื่อนวมทอง      จักเรียกร้องความเป็นธรรม

ด้วยจิตคารวะ

จิ้น กรรมาชน

2 พ.ย. 2549

ภายหลังมีการแต่งเพลงถึงนวมทองอีกหลายเพลง ปีต่อมาวาระครบรอบหนึ่งปีที่นวมทองจากไป จิ้น ได้แต่งบทเพลง "ยืนหยัด" (คลิกเพื่อดาวน์โหลดเพลงยืนหยัด) จึงถูกนำเสนอเพื่อใช้ประกาศยืนหยัดต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยด้วย นอกจากนี้ยังมีเพลง "นวมทอง ไพรวัลย์" ที่ศิลปินอิสระชาวเชียงใหม่ได้แต่งไว้ เพลง "วีรชนนวมทอง" โดย วงไฟเย็น เนื้อร้องและทำนอง โดย วัฒน์ วรรลยางกูร เรียบเรียงโดย ขุนทอง และเพลง นวมทอง ไพรวัลย์ โดย บ่าวแนว เมืองอุดร ศิลปินอิสระที่เผยแพร่งานผ่านยูทูบ

หนังนวมทอง: 10 ปีหลังความตายคนขับแท็กซี่ ประชาธิปไตยไทยอยู่ตรงไหน?

Democracy After Death อาจเรียกได้ว่าเป็นหนังนวมทอง ไพรวัลย์ เรื่องแรกที่ออกมาในวาระที่ครบรอบการเสียชีวิตของเขาครบ 10 ปีพอดี กำกับโดย เนติ วิเชียรแสน (Neti Wichiansaen) แม้ว่ามันอาจจะยังไม่สามารถหาดูได้ทั่วไป แต่คาดว่าไม่นานผู้สนใจจะสามารถเข้าถึงได้ทางออนไลน์ มันเป็นหนังการเมืองที่มีความแปลกและน่าสนใจอยู่หลายประการ เพราะผสานทั้ง CG การ์ตูน การแสดงของนักแสดง ฟุตเทจเหตุการณ์จริงทางการเมือง ผสมเข้ากันได้หน้าตาเฉย ส่วนนักแสดงเรื่องนี้ เอาจริงๆ มีเพียงคนเดียวที่เดินเรื่องทั้งเรื่อง เรียกว่าเป็นหนังที่ต้องนั่งฟัง “ไอ้หมอนี่” บ่นถึงความรู้สึกหดหู่ไร้อนาคตของประเทศทั้งเรื่องโดยไม่เบื่อ หมอนี่ผู้ซึ่งเราไม่เห็นหน้าชัดๆ แต่รู้ได้ว่าเจ็บปวดและซังกะตายกับการเมืองไทยในรอบทศวรรษอย่างยิ่งยวด นั่งดวดเบียร์ สูบบุหรี่ ริมหาดคนเดียวในความมืด เราไม่รู้ที่มาที่ไปของเขา รู้แต่ว่าเขากำลังสนทนากับลุงนวมทอง เขาเล่าความประทับใจความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของคนอย่างลุงไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยหรือไม่กับการฆ่าตัวตายของลุงก็ตาม จากนั้นก็เล่าเรื่องการเมืองไทยทั้งหมดหลังจากลุงเสียชีวิตให้ลุงฟัง

ฟุตเทจเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญๆ มากมายถูกร้อยเรียงอย่างละเอียด บางฟุตเทจ บางภาพ ก็เป็นสิ่งซึ่งหาดูได้ยาก เป็นการเชื่อมร้อยที่ทำให้เห็นภาพการเมืองชัดขึ้นแม้กระทั่งคนที่ติดตามการเมืองก็ยังอาจลืมหลายเหตุการณ์ไปแล้ว ส่วนคนรุ่นใหม่หรือใครที่ไม่ได้ตามการเมืองใกล้ชิดก็น่าจะเข้าใจมันชัดเจนยิ่งขึ้นจากหนังเรื่องนี้ ขณะที่สัญญะต่างๆ ทั้งถ้อยคำ ทั้งฉาก ก็พาให้คนดูต้องขบคิดและ “รู้สึก” ตามไประหว่างทาง อย่างไรก็ตาม อาจต้องกล่าวด้วยว่า มันเป็นหนังที่ไม่พยายามเป็นกลางทางการเมืองในแง่ที่ว่ามันเล่าเรื่องจากจุดยืนของชายผู้มีจุดยืนต่อต้านรัฐประหารเช่นเดียวกับลุงนวมทอง แต่กระนั้นก็ไม่ละเลยที่จะให้ภาพความรุนแรงที่มวลชนได้รับทั้งสองฝ่าย หรือภาพความรุนแรงที่มวลชนทั้งสองฝ่ายกระทำต่อผู้อื่นระหว่างชุมนุม เหมือน “ไอ้หมอนี่” เป็นนักสังเกตการณ์ทางการเมืองตัวเอ้

ถ้าใครจะกังวลว่ามันคงเป็นหนังที่เครียดมากตลอด 1 ชั่วโมง 40 นาทีอาจคิดผิด เพราะมันใส่มุกต่างๆ เป็นระยะ ดังเช่นการเปรียบเทียบการเมืองไทยกับการพัฒนาไอโฟนรุ่นต่างๆ ฯลฯ เป็นรูปธรรมขยายคำให้สัมภาษณ์ของลุงที่ว่า “ประเทศอื่นเขาพัฒนากันไปถึงไหนต่อไหนกันหมดแล้ว”

ในความขัดแย้งเข้มข้นยาวนานนับทศวรรษ หนังการเมืองเรื่องนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องแรกที่เผยแสดงตนออกมาเงียบๆ หากมีโอกาสก็ไม่ควรพลาด ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับจุดยืนของ “นวมทอง” หรือไม่ก็ตาม

ห้องประชุมนวมทอง ท่ามกลางการสอดส่องของ คสช.

วิภา ดาวมณี อดีตผู้จัดการมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย กล่าวถึงห้องประชุมนวมทองที่ตั้งอยู่ที่มูลนิธิวีรชนฯ ว่า เกิดจากการที่มูลนิธิต้องการตั้งชื่อเพื่อให้เป็นเกียรติและเพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรชนผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตามชื่อมูลนิธิ เหตุที่เป็นนวมทอง ไพรวัลย์ ก็เป็นเพราะว่าเหตุการณ์นี้ยังเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ตอนตุลา หรือตอนอื่นๆ

“นวมทองเป็นผู้ต่อสู้กับการรัฐประหารในปี 2549 ตอนที่มูลนิธิพยายามจะเปิดใช้ห้องก็มีเจ้าหน้าที่มาคอยสังเกตการณ์หลายครั้ง เพราะมันตรงกับช่วงที่ คสช. เข้ามา ซึ่งเขาก็เข้ามาจากการรัฐประหารเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงห้องประชุมเล็กๆ ภายในสำนักงาน แต่ทุกครั้งที่จะจัดงานเปิดก็ต้องมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามา มาบอกว่านี่มันเป็นการเมือง ห้องนี้เลยถูกเลื่อนเปิด ตั้งแต่มกราคม ปี 2558 จนได้เปิดใช้จริงตอนครบรอบวันตายนวมทอง วันที่ 31 ต.ค. 2558”

“ข้อสังเกตคือทุกครั้งที่ประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับลุงนวมทองจะยากลำบากมาก ไม่ว่าจะเป็นที่หน้าไทยรัฐ หรือที่อื่นที่มีการเอ่ยถึง เข้าใจว่าชนชั้นปกครองที่ทำรัฐประหารเขาคงกลัวคำนี้ เขากลัวคำว่าลุงนวมทอง เพราะเหตุการณ์นั้นมันค่อนข้างมีผลกับความรู้สึกคนในวงกว้าง อีกอย่างคนที่มาร่วมรื้อฟื้นทางเจ้าหน้าที่เขาก็มองว่าเป็นคนเสื้อแดง นั่นคือเขามองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม ทั้งที่ความเป็นจริงคนทุกคนที่ร่วมกันพูดถึงลุงนวมทองมีความหลากหลาย ขนาดลุงนวมทองเองยังมีความเป็นปัจเจก สู้ด้วยตัวเขาเอง” วิภา กล่าว

ถึงแม้จะเป็นการต่อสู้ที่น่ายกย่อง แต่วิภาก็ยังกล่าวว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีตายเพื่อต่อสู้กับรัฐ ตนไม่มีความตะขิดตะขวงข้องใจในเรื่องอุดมการณ์ ทั้งยังแน่ใจว่าการประท้วงและการเสียสละชีวิตเพื่อเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนไม่ว่าจะเป็นลุงนวมทอง หรือ สืบ นาคะเสถียร จะเป็นการต่อสู้ที่ถูกจดจำและส่งผลต่อคนอื่นในวงกว้าง แต่การต่อสู้ที่ต้องแลกกับเรื่องน่าเศร้า ก็เป็นสิ่งที่ตนอยากเลี่ยง

ผ่านไป 10 ปี จากการต่อสู้ของนวมทอง วิภากล่าวถึงสถานการณ์การเมืองปัจจุบันว่ายังย่ำอยู่ที่เดิม หลายคนต้องเปลี่ยนวิธีการสื่อสารให้อ้อมค้อมมากขึ้น หรือถึงขั้นหลีกเลี่ยงการพูดถึงเหตุการณ์บ้านเมือง เพื่อป้องกันการถูกโยงเข้ากับกลุ่มต่างๆ

“ชนชั้นนำชนชั้นบริหารของเราเขาไม่ได้มองว่าคนเรามีความเป็นปัจเจก อย่างลุงนวมทองเขาก็ทำของเขา ตัดสินใจของเขา ไม่มีใครไปจัดตั้ง ทุกวันนี้ใครคิดเห็นอะไรมันก็เกิดจากความเป็นปัจเจก ไม่ได้ยึดโยงกลุ่มเหมือนสมัยก่อนแล้วแต่คนปกครองเขายังไม่เข้าใจ วันนี้คนที่มีความคิดคนที่อยากแสดงออกเขาก็ทำได้แค่ไหลตามน้ำไป ไม่ออกมาพูดเท่านั้น” วิภากล่าว

ประติมากรรมเลือด ‘นวมทองไพรวัลย์ ประชาทิพย์พิทักษ์ไทย’

อนุธีร์ เดชเทวพร อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) หนึ่งในผู้ร่วมสร้างประติมากรรมที่ผสมเลือดของเหล่าคนเสื้อแดง โดยกลุ่มศิลปินเสื้อแดงร่วมกันสร้างที่มีชื่อว่า "นวมทองไพรวัลย์ ประชาทิพย์พิทักษ์ไทย" อนุธีร์ กล่าวว่าหลังจากการติดตามการชุมนุมในปี 2553 อย่างใกล้ชิด ตนเองได้เดินวนเวียนอยู่บริเวณด้านหลังเวที และได้รับการชักชวนจากไม้หนึ่ง ก.กุนที เพื่อเป็นช่างจำเป็นในการร่วมปั้นดินเหนียวนวมทอง เพื่อใช้เป็นแบบในการหล่อเป็นประติมากรรมเลือดในครั้งนั้น

ภาพการปั้นรูปเหมือนดินเหนียวนวมทอง ไพรวัลย์ (30 มี.ค.53) อนุธีร์ (ซ้ายมือ)

“ในตอนนั้นผมเป็นแค่ผู้ช่วย แต่สาเหตุที่เป็นลุงนวมทองเพราะว่าลุงคือวีรชนคนแรกหลังจากการรัฐประหารปี 49 ที่ออกมาต่อสู้และแลกกับเผด็จการซึ่งๆ หน้า รัฐประหารครั้งแรกในรอบ 15 ปี ที่ใครๆ ก็คิดว่าจะไม่มีการต่อต้าน จะไม่มีใครสูญเสีย แต่อยู่ๆ ลุงก็ขับรถชนรถถัง ในขณะที่คนยังมึนงงตั้งทำถามว่าถูกจ้างหรือเปล่า ลุงแกก็ทนไม่ได้ที่ถูกหยาม การกระทำของลุงนวมทองปลุกคนขึ้นมาอีกเยอะ คนที่ยังสงสัย คนที่ยังงงๆ อยู่ในตอนนั้น พอรู้ข่าวเรื่องนี้ผมคิดว่าใครๆ ก็ต้องมีความรู้สึกกับมัน”

“ลุงพิสูจน์ให้เห็นว่ารัฐประหารไม่ใช่แค่เรื่องของนักกิจกรรม นักประชาธิปไตย ที่จะต้องออกมาต่อต้าน มันยกระดับให้กลายเป็นระดับชาวบ้าน ระดับทุกๆ คน การรัฐประหารในไทยไม่เคยมีการต่อต้านจากระดับชาวบ้านหรือจากคนธรรมดามาก่อน ลุงเป็นสัญลักษณ์และเป็นเครื่องพิสูจน์ด้วยว่าคนไทยที่สนใจการเมืองมีอยู่ทุกที่ ทุกระดับ และลุงก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ความเชื่อและอุดมการณ์ในระดับชาวบ้านนั้นมีอยู่จริง มันเป็นความเชื่อจากจิตใจที่สามารถแลกได้แม้แต่ชีวิต ไม่ใช่เงินทองอย่างที่ใครชอบตั้งข้อสงสัยกัน” อนุธีร์ กล่าว

ผ่านไป 10 ปี จากการต่อสู้ของนวมทอง อนุธีร์กล่าวว่า ลุงยังเป็นวีรชนคนแรกๆ ที่ตนนึกถึง โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงเหตุการณ์รัฐประหารปี 49 และตนยังเชื่อว่า 10 ปีที่ผ่านมา นวมทองเป็นชื่อที่ทำให้ใครหลายคนที่เป็นผู้รักประชาธิปไตยทั่วไปที่ไม่ใช่นักกิจกรรมได้เห็นว่า การต่อสู้และการแสดงออกเป็นเรื่องที่คนทุกระดับต้องทำ

“จากการต่อสู้ของลุงนวมทอง เราก็ยังอยู่ที่เดิม ลุงยังเป็นสัญลักษณ์และตัวแทนของการต่อสู้ เป็นวีรชนที่ไม่จำเป็นต้องเป็นปัญญาชนเหมือนวีรชนสมัยก่อน คนที่ติดตามการเมืองก็ยังนึกถึงกันอยู่เสมอ คนรุ่นใหม่ที่ไม่ทันเหตุการณ์ตอนปี 49 พอได้ฟังเรื่องราวของลุงนี้ก็คงจะไม่มีใครตั้งคำถามต่อแกแล้ว ไม่มีใครตั้งคำถามไปเป็นเรื่องการจ้างอีกต่อไปแล้ว ถ้าพูดเรื่องลุงนวมทองไม่ว่าจะพูดให้ใครฟังก็คงจะเห็นไปในทิศทางเดียวกันคืออุดมการณ์การต่อสู้กับเผด็จการที่แรงกล้า” อนุธีร์ กล่าว

งานรำลึก “ลุงนวมทอง” และข้อเสนอปฏิรูปกองทัพโดยพลเมืองโต้กลับ

ภาพ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน จัดรำลึก 3 ปี ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ เมื่อวันที่ 31 ต.ค.52 ที่บริเวณสะพานลอย หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการอัตวินิบาตกรรมของนวมทอง หนึ่งในนั้นคือการจัดกิจกรรมรำลึก “ลุงนวมทอง” ซึ่งจัดขึ้นในทุกๆ ปี บริเวณสะพานลอยหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นบริเวณที่นวมทองตัดสินใจแขวนคอตัวเอง นำโดยกลุ่ม นปช. และนักกิจกรรมที่รู้จักกันในนามว่า “กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นกลุ่มแรกๆ ที่จัดกิจกรรมรำลึก

บรรยากาศในการรำลึกในแต่ละปีจะแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลานั้น ซึ่งหลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 การจัดกิจกรรมดังกล่าวกลายเป็นสิ่งที่รัฐบาลเฝ้าจับตาเป็นพิเศษ

กิจกรรมของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เมื่อ 31 ต.ค. 2558

โดยเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2558 กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรมรำลึก 9 ปี การอัตวินิบาตกรรมของนวมทอง พร้อมข้อเสนอปฏิรูปกองทัพ โดยมีการเดินเท้าจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มายังบริเวณกองบัญชาการกองทัพบก เพื่ออภิปรายเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพ จากนั้นเดินเท้ากลับมายังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ท่ามกลางการควบคุมสถานการณ์โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร

 

เช่นเดียวกันกับปี 2557 การจัดกิจกรรมรำลึก “ลุงนวมทอง” ซึ่งนำโดยกลุ่ม ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาจากหลายสถาบันที่รวมตัวกันหลังจากการรัฐประหารไม่นานนัก โดยพวกเขามีจุดยืนร่วมกันคือ ไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ กิจกรรมดังกล่าวได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุม สั่งห้ามไม่ให้มีการจัดงานรำลึก โดยอ้างกฎอัยการศึก ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง

สดมภ์ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ สถานที่ต่อต้านเผด็จการ

นอกเหนือไปจากการรวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงนวมทองแล้ว เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 56 มีการสร้างสดมภ์ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ ที่บริเวณดังกล่าว คำว่า ‘สดมภ์’ ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายถึง เสาหรือหลัก ซึ่งธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. ในขณะนั้น กล่าวในวันเปิดสดมภ์ว่า เป็นการคารวะในเจตนารมณ์แรงกล้าในการต่อต้านรัฐประหารของนวมทอง และเป็นหมุดหมายของประชาธิปไตยของสามัญชน นับจาก 2475 อนุสาวรีย์ปราบกบฏ รวมถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

“เราจะสร้างอนุสาวรีย์สามัญชนให้มากขึ้น ที่ต่อไปคือที่ราชประสงค์ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่สามัญชนจะมีพื้นที่แสดงคุณงามความดี วีรกรรมของสามัญชน สามารถมีพื้นที่สาธารณะในประเทศได้” ธิดากล่าวเมื่อครั้งเปิดสดมภ์

การรวมตัวที่สดมภ์ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ เกิดขึ้นอีกครั้งหลังจากการรัฐประหารปี 2557 โดยนักศึกษาที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า ศนปท. 

โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2557 กลุ่มศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) ได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โดยการติดป้ายไว้อาลัย “นายประชาธิปไตย” ของไทย เขียนบนป้ายผ้าสีดำ ติดบริเวณสะพานลอย หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พร้อมถ่วงด้วยแซนด์วิช โดยหลังจากติดป้ายผ้าดังกล่าวได้ประมาณ 20 นาที ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจแกะป้ายผ้าดังกล่าวออก

หนึ่งในตัวแทนกลุ่ม ศนปท. ได้ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่เลือกแขวนป้ายผ้าในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวเป็นจุดที่นวมทองตัดสินใจอัตวินิบาตกรรมตนเอง เพื่อลบล้างคำสบประมาทของรองโฆษก คมช. พลตรีอัคร ทิพโรจน์ ยศในเวลานั้นคือพันเอก ที่ระบุว่า "ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้" หลังจากนวมทองได้ตัดสินใจอัตวินิบาตกรรมครั้งแรกโดยการขับรถแท็กซี่ชนรถถัง เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2549

“ตอนนั้นเราอยากให้สังคมเข้าใจถึงผลกระทบของการรัฐประหาร ซึ่งไม่ใช่ทางออกเสมอไปสำหรับสังคมไทย และที่สำคัญคือการยืนยันว่าประชาชนคนไทยอีกหลายคนไม่ต้องการการทำรัฐประหารอีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ที่จบชีวิตตัวเองลง เพื่อยืนยันถึงความมุ่งมั่นว่า เราไม่ต้องการอำนาจเผด็จการ” หนึ่งในสมาชิก ศนปท. กล่าว 

ภาพกิจกรรมของ ศนปท.เมื่อ 19 ก.ย.2557

แท็กซี่สัญลักษณ์ต้านรัฐประหาร

ภาพ วรรณเกียรติ เมื่อวันที่ 20 พ.ค.57 บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ก่อนเหตุการณ์รัฐประหารโดย คสช. หลังจากเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 20 พ.ค.2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ขณะนั้น ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ พร้อมนำกองกำลังทหารและอาวุธเข้าควบคุมในจุดสำคัญทั่วกรุงเทพฯ และสถานีโทรทัศน์ พร้อมปิดสถานีโทรทัศน์หลายช่อง ในช่วงเย็นวันเดียวกันที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครได้มีกลุ่มประชาชนซึ่งส่วนมากแต่งชุดดำรวมตัวถือป้าย จุดเทียน ประท้วงและเรียกร้องให้เร่งยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยระบุว่านอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหา ยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาความขัดแย้ง และละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน

กิจกรรมในครั้งนั้น วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ คนขับรถแท็กซี่และนักกิจกรรมทางสังคม ได้นำรถแท็กซี่ เครื่องมือประกอบอาชีพของตนเองมาพ่นสเปรย์ประท้วงการประกาศกฎอัยการศึก กล่าวว่า หลังจากประกาศใช้กฎอัยการศึกก็เกิดความระแวงสงสัยของประชาชนในหลายๆ ส่วนว่านี่เป็นการนับหนึ่งของการรัฐประหารหรือไม่ การที่ตนเองเลือกใช้แท็กซี่เพราะเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการต่อต้านรัฐประหาร เนื่องจากเมื่อปี 49 ที่มีการรัฐประหารและมีคนขับแท็กซี่คนหนึ่งคือลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ได้ขับรถชนรถถังประท้วง แต่ถูกกองทัพสบประมาท จึงผูกคอตายและเสียชีวิตในเวลาต่อมา บวกกับตนเองก็ขับรถแท็กซี่เช่นเดียวกับลุงจึงใช้สัญลักษณ์นี้ในการประท้วง

 

“ประชาชนทุกคนมี 1 สิทธิ 1 เสียง ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน วันนี้ผมเชื่อว่าถ้าเราผลักดันหรือ ผบ.ทบ.อยากช่วยแก้ไขให้สถานการณ์สงบสุขเรียบร้อยนั้น ก็ต้องแสดงบทบาทที่ชัดเจนว่าสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งโดยไม่ใช้แนวทางรัฐประหารอย่างที่สังคมกำลังตั้งข้อสงสัยกับท่านอยู่” วรรณเกียรติ กล่าว ก่อนเกิดการรัฐประหารโดย คสช. 2 วัน

เดินค้านพลเมืองขึ้นศาลทหารถึงสดมภ์นวมทอง

14 มี.ค.58 พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. จากการจัดกิจกรรมที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเมื่อ 14 ก.พ. ปีเดียวกัน เดินเท้าจากภายใต้ชื่อกิจกรรม ‘พลเมืองรุกเดิน’ เพื่อเรียกร้องให้ยุติการนำพลเมืองขึ้นดำเนินคดีในศาลทหาร จากหน้าโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนนทบุรี เพื่อมาที่หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐหรือสดมภ์อนุสรณ์นวมทอง ไพรวัลย์ ในวันแรก ตามกำหนดการ 3 วันเพื่อมา สน.ปทุมวัน แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวในระหว่างทางบริเวณแยกบางพลู ขณะเดินมาได้ประมาณ 5 กิโลเมตร โดยนำตัวมาที่ สน.ปทุมวันก่อน และปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหาเพิ่มในเวลาต่อมา (อ่านรายละเอียด)

จากนั้น ณัชปกร นามเมือง หรือ ถา อายุ 23 ปี เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้เดินต่อจากจุดที่พันธ์ศักดิ์ต้องยุติมาถึงสดมภ์อนุสรณ์นวมทอง ซึ่งเขาให้สัมภาษณ์กับประชาไทขณะนั้น ถึงเหตุผลที่รับไม้ต่อจากพันธ์ศักดิ์ด้วยว่า เริ่มแรกตอนรู้ว่าพันธ์ศักดิ์จะเดิน ก็ยังสองจิตสองใจว่าจะเดินดีหรือไม่ แต่พอพันธ์ศักดิ์โดนจับ ก็คิดว่าจะเอาไงต่อ รู้สึกว่าต้องสานต่อเจตนารมณ์ เพื่อพิสูจน์ว่านี่คือการต่อต้านความอยุติธรรมโดยสันติวิธี ถ้าพันธ์ศักดิ์โดนจับแล้วทุกคนหยุด มันก็จบ ในส่วนคนที่หยุดเดินเพื่อไปให้กำลังใจพันธ์ศักดิ์ ตนก็เห็นด้วย แต่มันต้องมีคนเดินต่อ เพราะเรากำลังเรียกร้องความเป็นธรรม การเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน

“อีกใจหนึ่งผมคิดถึงลุงนวมทอง คือลุงนวมทองในความเข้าใจผมเป็นคนที่ไม่ยอมรับการรัฐประหาร โดยการเอาชีวิตพิสูจน์อุดมการณ์ของแก ในขณะที่หลายคนชื่นชมลุงนวมทอง แต่พอมีคนโดนจับ เราหยุด เราไม่แสดงจุดยืนต่อ ซึ่งผมว่าถ้าเราไม่เดินต่อ ลุงคงเสียใจ ผมก็คิดว่าไม่ได้ ต้องไปหาแกให้ได้ ว่ายังมีคนที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอยู่ ปัญหามันคือ รัฐควรต้องเคารพสิทธิพลเมืองให้มากกว่านี้” ณัชปกร กล่าว

รอยสัก "นวมทอง" จากอาการสะอึกและตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูก

เมื่อ ก.ย. 55 ฟ้ารุ่ง ศรีขาว สัมภาษณ์ ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล หรือ หม่อมเต่านา ที่มารอยสัก "นวมทอง" ที่แขนข้างขวา ในวาระครบรอบ 6 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ลงใน “มติชนออนไลน์ 

รอยสัก "นวมทอง" ที่แขนข้างขวา เต่านา

ม.ล.มิ่งมงคล เล่าถึงสาเหตุที่สัก “นวมทอง” ไว้ที่แขนว่า ตอนที่เกิดรัฐประหาร คนรอบๆ ตัวเราทุกคนมีแต่ความดีใจ ยินดี ปลาบปลื้ม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกแปลกแยกมากๆ รู้สึกเหมือนว่าเราเองผิดปรกติอย่างมากที่กลับไม่รู้สึกดีเหมือนคนอื่นๆ ซ้ำร้ายยิ่ง ยิ่งรู้สึกเสียใจ สิ้นหวัง เหมือนโดนกระทืบหัวใจจนแหลกละเอียด ในชีวิตเคยรู้สึกเช่นนี้ 2 ครั้งเท่านั้นคือ ตอนที่คุณแม่ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง กับอีกครั้งคือ เมื่อหลังรัฐประหาร 3 วัน ช่วงนั้นเราไปทำงานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อกลับมาเพื่อนได้เล่าให้ฟังว่ามีแท็กซี่ใช้สีสเปรย์พ่นตัวถังรถว่า "ไม่เอารัฐประหาร" แล้วขับรถพุ่งชนรถถังเพื่อเป็นการแสดงออกถึงการประท้วงคณะปฏิวัติ คนขับแท็กซี่รอดชีวิต แต่อาการหนักมาก ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์ ระหว่างที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต่างส่งคนมาเยี่ยม มาบอกเขาว่ารัฐประหารจะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น เป็นสิ่งที่เขาในฐานะประชาชนควรจะดีใจ ซึ่งเป็นการปลอบที่ขัดกับความเชื่อ เจตนารมณ์และจุดยืนของเขาอย่างสิ้นเชิง

ม.ล.มิ่งมงคล เล่าถึงนวมทองต่อว่า เมื่อออกจากโรงพยาบาล เขาได้ทราบว่า ข่าวการขับรถชนรถถังของเขาถูกนำไปบิดเบือนความจริง โดยเขียนทำนองว่า คนขับแท็กซี่ขับรถพุ่งชนรถถังเพราะสายตาไม่ดีบ้าง สติไม่ดีบ้าง ทหารผู้ใหญ่ในคณะรัฐประหารบางท่านถึงกับพูดว่า "ไม่มีใครเขายอมตายเพื่อความเชื่อของตัวเองหรอก" ซึ่งก็เป็นการพูดถึงจิตใจคนได้แปลกมาก เพราะนัยว่าการทำรัฐประหาร นั้นคือการที่ผู้ทำรัฐประหารบอกกับประชาชนว่าจะขอพลีชีพเพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันและประเทศชาติ เป็นการเอาความเชื่อในความดีงาม และอุดมการณ์มาพุ่งชน แบบยอมตายเพื่อจะทำลาย พ.ต.ท. ทักษิณ และคณะ แต่คนทำรัฐประหารกลับดูถูกน้ำใจประชาชนเอง ดังนั้น พออาการคุณนวมทองดีขึ้นออกจากโรงพยาบาลได้ เขาจึงเขียนจดหมายอธิบายเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ของเขาอีกครั้ง แล้วใส่เสื้อสีดำที่มีข้อความต่อต้านรัฐประหาร แล้วไปผูกคอตายอยู่ใต้สะพานลอย

ม.ล.มิ่งมงคล กล่าวต่อว่า เนื่องจากตัวเราเองพื้นฐานเป็นคนขี้เกียจ รักสบาย ไม่ค่อยสนใจคนอื่นนัก แต่เมื่อได้รับรู้ในความแน่วแน่ในสิ่งที่เขาได้ทำลงไป เรารู้สึก สะอึกและตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูก เรียกได้ว่า ณ จุดนั้นเขาคือ คนไทยคนแรกที่เราได้เห็นจะๆ ว่ายอมฆ่าตัวตายเพื่อยืนยันในความเชื่อของตนเอง เป็นการกระทำที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และทุกครั้งที่เราเล่าเรื่องนี้ให้คนฟัง เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครรู้เรื่องนี้มากนัก เพราะรัฐบาลคณะปฏิวัติเหมือนจะพยายามปิดๆ ข่าว ทุกครั้งที่เราเล่าเรื่องนี้ โดยยังไม่บอกว่าเขาประกอบอาชีพอะไร ทุกคนที่ได้ฟังจะบอกว่า เออ เจ๋งดีว่ะคนนี้

“แต่แล้วพอเราบอกว่าเขาเป็นคนขับแท็กซี่ คนเหล่านั้นก็จะพูดประมาณว่าคนขับแท็กซี่ก็งี้ล่ะแม่งบ้า อาจกินยาบ้า เมา หรือมีคนจ้างวานให้มาทำ คือกลายเป็นพยายามลบล้างสิ่งที่เขายืนยันกระทำลงไปจนสำเร็จด้วยวิธีการดูแคลนในอาชีพสุจริตที่เขาเป็น ซึ่งยิ่งทำให้เราหดหู่มาก ปีนั้นเราอายุสามสิบหก คือครบสามรอบพอดี เราคิดว่าเราแก่และเห็นทุกอย่างมามากแล้ว แต่เราก็กลับไม่สามารถวางความรู้สึกช้ำใจอันนี้ได้ ในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. 49 เราจึงไปสักชื่อของคุณ นวมทอง ไว้ที่แขนขวาของเรา เอาให้ทุกคนเห็นกันจะๆ กันไปเลย เราไม่เคยสักหรือคิดจะสักชื่อใครอะไรมาก่อนเลยในชีวิต แต่เราถือว่าการที่ได้สักชื่อของคนที่มีเกียรติและความกล้า พูดจริงทำได้จริง เช่น คุณนวมทองถือเป็นเกียรติแก่ตัวเรา และคือของขวัญที่ดีที่สุดที่เราจะให้ตัวเองได้ ในปีเกิดครบสามรอบของเราค่ะ”

สำหรับสาเหตุที่ไม่เชื่อว่า คนขับรถแท็กซี่ ถูก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จ้างมาสร้างสถานการณ์อย่างที่หลายคนเชื่อ ในขณะนั้น ม.ล.มิ่งมงคล กล่าวว่า เพราะเขาทำในสิ่งที่เรารู้สึกอยากทำมากๆ แต่ไม่กล้าทำ และต่อให้ พ.ต.ท. ทักษิณ โอนเงินมาให้เราสักหนึ่งพันล้านบาท เราก็ยังไม่กล้าทำสิ่งที่คุณนวมทองทำอยู่ดี หรือต่อให้เราจนมากๆ ไม่มีเงินหรือสิ่งที่คนชอบเรียกมันว่าต้นทุนทางสังคม เราก็ไม่กล้าฆ่าตัวตายเพื่อเงินอยู่ดี หลังจากนั้นเราก็ส่งเลขาให้ไปพบกับครอบครัวของคุณนวมทอง ไปให้กำลังใจ และแสดงความคารวะ ได้พูดคุยกับครอบครัวของคุณนวมทอง เราไม่กล้าแม้แต่จะไปเองเพราะไม่อยากจะรู้สึกสะเทือนใจไปมากกว่านี้ การกระทำของคุณนวมทองได้ใจเพื่อนๆ เราหลายคน

ม.ล.มิ่งมงคล กล่าวด้วยว่า บางคนตอนเกิดปฎิวัติยังมึนๆ เฉยๆ นิ่งๆ เซ็งแต่ก็ไม่อยากรู้สึกเหมือนฝืนกระแสสังคม แต่พอคุณนวมทองฆ่าตัวตายอย่างมุ่งมั่น พร้อมทิ้งจดหมายลาตายที่เขียนได้กินใจมากๆ ไว้ คนหลายๆ คน ที่พยายามเก็บความรู้สึกไว้ก็กล้าพูดความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง ความไม่พอใจกับการทำรัฐประหารออกมา เรียกได้ว่าความตายของคุณนวมทองคือแรงกระแทกอันแรกที่สำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เราและเพื่อนหลายๆ คนรู้สึกกล้าที่จะยอมรับในความโกรธของตัวเองซึ่งความรู้สึกที่รุนแรงและความรู้สึกที่จริงขนาดนั้นไม่สามารถซื้อหรือปลุกได้ด้วยเงินเพียงอย่างเดียวไม่ว่าคุณจะเป็นคนรวยหรือคนจน

ป้าย "นวมทอง ยังไม่ตาย" ในกิจกรรมงานศิลปะในความมืด ครบรอบ 8 ปีการตายของลุงนวมทอง 31 ต.ค.57 ซึ่งในครั้งนั้น แกนนำท่จัดกิจกรรมถูกนำตัวไปสอบปากคำ ผู้ร่วมงาน 3 รายถูกปรับ 100  ข้อหาไม่พกบัตรประชาชน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net