กรณ์หวั่นระบบฟินเทคไทยถูกผูกขาด หลังซีพีผนึกอาลีบาบา

2 พ.ย. 2559 ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ปเปิดเผยว่า ได้บรรลุข้อตกลงให้ แอนท์ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ในเครืออาลีบาบาเข้าถือหุ้นในบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ ผู้ให้บริการธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน(ฟินเทค) ในไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้ชื่อบริษัท ทรู มันนี่ ในสัดส่วน 20% และในอนาคตจะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 30% เพื่อร่วมกันขยายเครือข่ายชำระเงินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ การเปิดตัวเป็นพันธมิตรจะทำให้เปิดการเชื่อมโยงเครือข่ายชำระเงินระหว่างอาลีเพย์ และทรูมันนี่ในการรับชำระเงิน ซึ่งขณะนี้ลูกค้าอาลีเพย์สามารถชำระเงินผ่านร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นได้แล้ว ต่อไปจุดรับชำระของอาลีเพย์จะรับชำระเงินของทรูมันนี่ได้ด้วย ปัจจุบันในจีนมีจุดชำระเงินอาลีเพย์มากกว่า 1.5 ล้านแห่ง ส่วนในไทยมีจุดรับชำระทรูมันนี่กว่า 2 หมื่นแห่ง 

นอกจากนี้ จะมีความร่วมมือใช้เทคโนโลยีทางการเงิน ซึ่งแอสเซนด์จะใช้แพลตฟอร์มฟินเทคของอาลีเพย์มาพัฒนาระบบชำระเงินและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และร่วมมือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลในการทำธุรกิจระหว่างกัน โดยเฉพาะในเรื่องการตลาดชำระเงินที่แตกต่างกัน

ขณะที่ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา กรณ์  จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Korn Chatikavanij แสดงความกังวลต่อความร่วมมือทางธุรกิจของ 2 เจ้าสัวยักษ์ใหญ่ของเอเชีย และ ของโลก อย่างซีพี และอาลีบาบา 

โดยกรณ์ ระบุว่า ภาพนี้คนไทยเห็นอาจจะนึกถึงทั้งโอกาสและความน่ากลัว

ผมคุยกับน้องในแวดวง Fintech เขามีแนวคิดที่น่าสนใจครับ ว่า การจับมือระหว่าง 2 เจ้าสัวนี้ทำให้ 'เราสามารถจินตนาการเห็นลูกค้า True และลูกค้า Seven Eleven ใช้บริการทางการเงินทั้ง Online และ Offline ผนวกเข้ากับชีวิตประจำวันออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ เช่น ฝากถอนเงินได้ที่เซเว่น, โอนต่อให้ใครก็ได้ทางแอพมือถือ, กู้เงิน Peer to peer ได้ทางมือถือ และจ่ายดอกเบี้ยได้ผ่านเซเว่น, บิลค่าใช้จ่ายไปเก็บรวมกับบิลมือถือทรู, ใช้ระบบ Seven Eleven เพิ่มประสิทธิภาพเรื่องโลจิสติกส์เวลาซื้อขายของผ่าน Lazada ฯลฯ' 
 
นี่คือความสะดวกของผู้ใช้บริการ แต่เมื่อเราแทบนึกไม่ออกว่าจะมีคู่แข่งคู่ไหนที่สามารถให้บริการในระดับเดียวกันได้ เราจึงอดไม่ได้ที่จะนึกเป็นห่วงว่าการครองตลาดในระดับนี้จะมีผลอย่างไรต่อผู้ประกอบการอื่นรวมไปถึงผลต่อการพัฒนา SME และนวัตกรรมโดยทั่วไปที่ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขัน
 
"ดังนั้นสิ่งที่เราอยากขอคือ อย่ากีดกันทางการค้าคนอื่น ให้โอกาสฟินเทคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ในเครือ Alibaba หรือ CP เติบโตบ้าง และเติบโตไปด้วยกัน เช่น ถ้าจะใช้บริการฟินเทคที่สร้างขึ้นใหม่ ก็ให้คนใช้มือถือค่ายอื่นใช้ได้ด้วย จะจ่ายเงินด้วย e-wallet ที่เซเว่นก็ให้โอกาส e-wallet เจ้าอื่นเป็น payment gateway ได้บ้าง แล้วการแข่งขันจะทำให้ประเทศไทยรวมถึงกลุ่ม CP เองพัฒนาได้อีกเยอะครับ"
 
เรื่องแบบนี้ไม่มีประเทศใดที่เพียงแค่ฝากความหวังไว้ว่าผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่จะใจกว้าง ทุกประเทศเขาใช้อำนาจรัฐและกฎหมายกำกับดูแลเพื่อให้การแข่งขันมีจริง รัฐเราต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด อย่าให้ใครมาปิดประตูตีแมวในบ้านเราครับ

 

ที่มา โพสต์ทูเดย์ และเฟซบุ๊ก  Korn Chatikavanij 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท