ผ่านร่างแผนขับเคลื่อนดิจิทัล 5 ปี ตั้งเป้ามีการพัฒนาสูงสุด 25 อันดับแรกของโลก

2 พ.ย. 2559 เมื่อเวลา 13.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 2/2559 โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

ภายหลังการประชุม พล.อ.อ.ประจิน พร้อมด้วย ทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญว่า คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนารายยุทธศาสตร์ ตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ของประเทศระดับกลาง ที่แปลงแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระยะยาว 20 ปี ไปสู่การปฏิบัติในระยะ 5 ปี และจะใช้เป็นแผนอ้างอิงสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ในการจัดทำแผนปฏิบัติการดิจิทัลของหน่วยงานและจัดทำคำของบประมาณประจำปีต่อไป โดยแผนฉบับนี้จะทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า แผนดังกล่าวจะยึดโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติด้วย เพื่อให้นำประเทศเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 โดยกรอบระยะเวลาร่างของแผนฯ จะมี 3 ส่วน คือ ส่วนแรกนับตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 ธ.ค.59 ส่วนที่สองคือจากนี้จนถึง 1 ปี 6 เดือนคือช่วงปลายปี 2560 ถึงต้นปี 2561 และส่วนที่สามคือจากนี้ไปจนถึง 5 ปีคือสิ้นปี 2564 ซึ่งได้มีการกำหนดว่าในช่วงที่เหลือจากนี้ต้องเร่งดำเนินการในเรื่องใดบ้าง ทั้งเรื่องกฎหมาย เรื่องการบูรณาการงบประมาณสำหรับงบประมาณปี 2561 การเร่งวางโครงข่ายพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนด้านเศรษฐกิจ การค้าการบริการต่าง ๆ และต่อเนื่องไปถึงส่วนที่จะอยู่ในแผน 1 ปี 6 เดือน กับแผน 5 ปี ซึ่งจะดำเนินอย่างต่อเนื่องกัน โดยเมื่อครบ 5 ปีแล้วจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในความพร้อมด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่จะรองรับได้ทุกภาคส่วน ทั้งในเรื่องการศึกษา สาธารณสุข การท่องเที่ยว แรงงาน อุตสาหกรรมการผลิต เกษตร ธุรกิจทุกสาขา การสร้างคนให้พร้อมต่อการทำงานทุกระดับ รวมถึงรองรับระบบการลงทุนในสมาร์ท ซิตี้ ที่ได้เริ่มขึ้นแล้วที่ภูเก็ต ซึ่งในแผนแผนปฏิบัติการฯ ระยะ 5 ปี ได้กำหนดไว้ว่าจะมีสมาร์ท ซิตี้ อย่างน้อย 6 เมือง และเมื่อเดินหน้าต่อไปประมาณ 10 ปีจะมีสมาร์ท ซิตี้ เพิ่มเป็นสองเท่า และจะได้เห็นภาพของการดำเนินการโครงข่าย การพัฒนาศูนย์ข้อมูล การให้บริการ และแนวทางการทำงานของภาครัฐ ที่จะเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบการจัดทำแผนพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านทั่วประเทศทั้งหมด 40,424 หมู่บ้าน เพื่อให้หมู่บ้านต่าง ๆ ได้ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม มี Wi Fi หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จปี 2560

“รัฐบาลยืนยันว่ามีนโยบายชัดเจนในการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงของประชาชนในทุกพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยยืนยันว่าจะไม่มีการทับซ้อนกันแน่นอน ได้มีการตรวจทานหลายรอบ ทั้งนี้ จะทำทั้งส่วนที่กระทรวงดิจิทัลฯ ได้รับงบประมาณ กับส่วนของ กสทช. ที่มีงบ USO รองรับ โดยจะแบ่งพื้นที่กันดำเนินการ” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

สำหรับเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนปฏิบัติการฯ กำหนดไว้ 4 ประการ คือ 1. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ก้าวทันเวทีโลก โดยให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาสูงสุด 25 อันดับแรก มีการพัฒนาด้าน Technological Infrastructure ให้ดีขึ้นเป็น 35 อันดับแรก และสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 18.2 2. สร้างโอกาสและความเท่าเทียมทางสังคม โดยตั้งเป้าว่าหมู่บ้านในประเทศไทยเข้าถึงการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไม่น้อยกว่าร้อยละ 93 3. มีการพัฒนาทุนมนุษย์สู่ยุคดิจิทัล โดยประชาชนร้อยละ 50 มีความตระหนัก มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์และสร้างสรรค์ สัดส่วนการจ้างงานบุคลากรด้านดิจิทัลต่อการจ้างงานทั้งหมดเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 และ 4. มีการปฏิรูปภาครัฐ โดยตั้งเป้าว่ามีการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐดีขึ้น 10 อันดับ และคะแนนการให้บริการออนไลน์ จากการจัดอันดับของ UN e-Government ranking ดีขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ซึ่งจากเป้าหมายดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การเป็นดิจิทัลไทยแลนด์ และไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างเต็มรูปแบบ

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2559 พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงฯ เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนารายยุทธศาสตร์และ/หรือรายวาระ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี พร้อมกับรับทราบสถานการณ์ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนพัฒนาทั้ง 2 ฉบับ โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยดำเนินการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับสำนักงาน กสทช. เพื่อพิจารณาคัดเลือกหมู่บ้านเป้าหมายไม่ให้ซ้ำซ้อนกับโครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม หรือ USO ของสำนักงาน กสทช. ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการจัดทำข้อตกลง และกรอบการดำเนินงานโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อศึกษาวางแผน และกำหนดแนวทางการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ทั้งในส่วนของการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ

 

ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท