อ่าน 3 ประเด็นร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ที่กรรมการสิทธิฯ เสนอแก้

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกรายงานผลการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับที่อยู่ในการพิจารณาวาระสองของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ 25 ต.ค. 2559 โดยแสดงความเห็นในประเด็นการกำหนดฐานความผิดและองค์ประกอบฐานความผิด ดังนี้
 

"ร่างมาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน

(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
 

- ร่างมาตรา 14 (1) แม้จะเพิ่มเติมองค์ประกอบฐานความผิดว่าผู้กระทำต้องมีเจตนา "โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง" แต่ยังเปิดช่องให้เกิดการตีความไปใช้กับการหมิ่นประมาทได้ ทั้งนี้เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้เพื่ออุดช่องว่างของกฎหมายอาญาเดิมในความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร ที่ยังไม่รวมการปลอมแปลงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ อย่างการส่งอีเมลหลอกลวงว่ามาจากธนาคาร (ฟิชชิ่ง) หรือสร้างเว็บปลอมหลอกให้กรอกข้อมูล

- ร่างมาตรา 14 (2) มีการเพิ่มข้อความขึ้นมาเพื่อกำหนดความผิดสำหรับการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ แต่ยังเป็นถ้อยคำที่มีความหมายกว้างขวาง ไม่มีนิยามชัดเจน ซึ่งอาจก่อให้เกิดการตีความเกินเลย และใช้อำนาจแทรกแซงการแสดงความเห็นและโอกาสในการรับทราบข้อมูลข่าวสารในระบบคอมพิวเตอร์เกินความจำเป็น

ร่างมาตรา 20 ในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังต่อไปนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นอาจจากระบบคอมพิวเตอร์ได้

(4) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายอื่น แต่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวตามที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้มีคำสั่งระงับการแพร่หลายหรือลบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้

คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง (4) ให้มีจำนวนห้าคนซึ่งสองในห้าคนต้องมาจากผู้แทนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง  
 

- ร่างมาตรา 20 มีการเพิ่มเติมให้ระงับหรือลบเนื้อหาที่ไม่ผิดกฎหมายแต่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน - การใช้ถ้อยคำลักษณะนี้กว้างขวางคลุมเครือ ไม่ชัดเจนว่าเนื้อหาประเภทใดที่อาจถูกพิจารณาระงับและลบการทำให้แพร่หลาย และการกำหนดให้คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ สองจากห้าคน เป็นตัวแทนภาคเอกชน ขาดหลักประกันด้านที่มาและคุณสมบัติบุคคลที่ไม่ได้คำนึงถึงผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านกฎหมาย รวมถึงด้านสิทธิเสรีภาพ อาจส่งผลต่อความโปร่งใส ประสิทธิผลการทำงาน และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพบุคคล

คลิกเพื่ออ่านรายงานและข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่นี่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท