Skip to main content
sharethis

ในปี 2016 นี้มีปรากฏการณ์ที่เกื้อหนุนฝ่ายขวาหรือกลุ่มอนุรักษ์นิยมแบบคนขาวในชาติตะวันตกหลายรูปแบบ บทความของอแมนดา เทาบ์ ที่เผยแพร่ในนิวยอร์กไทม์อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า กลุ่มคนขาวส่วนหนึ่งยังคงยึดกุมอภิสิทธิ์แบบเดิมไว้บวกกับการที่ชนชั้นล่างรุ่นใหม่ต้องแก่งแย่งกันมากกว่าเดิม และไม่ได้ไต่เต้ามากเท่ากับคนรุ่นก่อน ทำให้พวกเขาหันมาชูอัตลักษณ์คนขาวที่มีอยู่เดิม

ผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน เมื่อ 18 มิถุนายน 2016 (ที่มาของภาพประกอบ: Gage Skidmore/Wikipedia)

อแมนดา เทาบ์ นักข่าวและนักเขียนเรื่องเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศและสิทธิมนุษยชนเขียนบทความในนิวยอร์กไทม์ในชื่อบทความว่า "ความวุ่นวายของปี 2016 วิกฤตอัตลักษณ์ของคนขาว" เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ของกลุ่มฝ่ายขวาชาตินิยมในหลายๆ ประเทศ เช่น ในนอร์เวย์, ฮังการี, ออสเตรีย และกรีซ กรณีการโหวตให้สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกภาพอียู และกรณีที่นักการเมืองตัวแทนพรรครีพับลิกันอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับความนิยมเกินคาดในสหรัฐฯ

เทาบ์ระบุว่านิยามของ 'คนขาว' ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องสีผิว แต่เป็นกลุ่มคนที่มีอภิสิทธิ์หรือความได้เปรียบ (privilege) ในการที่จะไม่ถูกนิยามว่าเป็น 'คนอื่น' ความเป็น 'คนขาว' หมายถึงการที่ได้เป็นส่วนนึ่งของกลุ่มคนที่มีรูปลักษณ์ภายนอก มีประเพณี ศาสนา และแม้กระทั่งอาหารการกินในแบบเดียวกับบรรทัดฐานทางสังคม (norm) ทำให้มีการแบ่งแยกโดยที่คนขาวผุได้เปรียบและอยู่กับบรรทัดฐานของสังคมเหล่านี้จัดตัวเองไว้ในส่วนของ "พวกเรา" และไม่ใช่ "พวกนั้น"

แล้ววิกฤตอัตลักษณ์ของคนขาวคืออะไร เทาบ์อธิบายว่าอัตลักษณ์ตัวตนทางสัญชาติและเชื้อชาติของคนเหล่านี้มักจะผูกติดกับความเป็นคนขาวหมู่มากที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเสาหลักที่สำคัญที่สุดในการค้ำจุนโลกในแบบของพวกเขาเองแต่ความรู้สึกว่าตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดกำลังถูกสั่นคลอน

อย่างไรก็ตามเทาบ์ระบุว่าปรากฏการณ์ในปี 2016 ก็มีความซับซ้อนบางอย่างที่ไม่ใช่เรื่องของคนขาวเพียงอย่างเดียว เช่นกลุ่มผู้อพยพจากเอเชียใต้จำนวนมาก็โหวตสนับสนุนให้อังกฤษออกจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป เพราะหวังว่าการที่ชาวอังกฤษสูญเสียเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในยุโรปจะเปิดทางให้กับผู้คนจากเอเชียมากขึ้น หรือมีการอธิบายว่าเหตุที่คนสนับสนุนทรัมป์ในสหรัฐฯ เป็นเพราะพวกเขารู้สึกแปลกแยกจากการเมืองแบบที่รักษาสถานะแบบเดิมไว้ นอกจากนี้ยังมีความเลื่อนไหลทางความหมายของ "ความเป็นคนขาว" เช่นก่อนหน้านี้ชาวอิตาลีและชาวไอริชในสหรัฐฯ หรือชาวยิวในอังกฤษเคยถูกแยกจาก "ความเป็นคนขาว" มาก่อนแต่ในตอนนี้ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของคนขาว แต่ชาวยิวในสหรัฐฯ ก็ยังถูกมองว่าเป็นคนนอกในสายตาของผู้สนับสนุนทรัมป์

อิริค คัฟแมนน์ ศาตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากวิทยาลัยเบิร์กเบคมหาวิทยาลัยแห่งลอนดอนกล่าวถึงวิกฤตอัตลักษณ์คนขาวว่ามันเป็นเรื่องของคำถามที่ว่าพวกเขาคือใครกันแน่ พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอยู่หรือไม่ มันยังใช้ 'ประเทศของพวกเรา' อยู่หรือไม่ 'พวกเรา' ที่ว่านี้หมายถึงคนหมู่มากทางเชื้อชาติ คำถามเหล่านี้มีส่วนสำคัญถึงแม้ว่าจะไม่ได้ถูกเปล่งออกมาเป็นคำพูด แต่ก็เป็นคำถามที่ทำให้เกิดภาวะถดถอยกระทันหันหลังจากที่มีมีการเบ่งบานของพหุวัฒนธรรม

ในเรื่องนี้อลิซาเบธ อิวาร์สฟลาเทน ศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเบอร์เกนแห่งนอร์เวย์ผู้ศึกษาเรื่องพรรคขวาจัดในยุโรปกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังจากการเปิดรับพหุวัฒนธรรมทำให้พวกเขายึดมั่นในความเป็นคนขาวของตัวเองหนักขึ้นในขณะที่ความเป็นคนขาวเองก็สูญเสียมูลค่าเดิมของมันไป อิวาร์สฟลาเทนบอกอีกว่าเมื่อพิจารณาจากข้อมูลแล้วเรื่องพวกนี้มันย้อนกลับมาสู่การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ จนกลายเป็นสิ่งที่ใช้ประเมินการสนับสนุนนักประชานิยมได้

 

มีได้มีเสียในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ในบทความของเทาบ์ มีการแยกอัตลักษณ์เป็นอัตลักษณ์ที่ "ได้มาด้วยตนเอง" ซึ่งหมายถึงการกลายเป็นอัตลักษณ์หนึ่งๆ ด้วยความพยายามของตัวเอง และอัตลักษณ์ที่ "ถูกจัดไว้" ซึ่งหมายถึงอัตลักษณ์ที่มาจากลักษณะที่มีอยู่ตั้งแต่แรกในตัวคนนั้นๆ ซึ่งทุกคนมีอัตลักษณ์ทั้งสองแบบอยู่ในตัวแต่พวกเขามักจะยึดติดกับอัตลักษณ์ที่คิดว่า "ดีที่สุด" ในตัวเองหมายถึงอัตลักษณ์ที่ทำให้พวกเขาดูมีสถานะทางสังคมหรือความได้เปรียบ ซึ่งคนขาวที่เป็นชนชั้นแรงงานได้รับความได้เปรียบทางด้านเชื้อชาติและได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจมาหลายรุ่น แต่ในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 สถานะความมีอภิสิทธิ์ของคนขาวก็เริ่มหายไปแต่พวกเขาก็ยังอยากคงอัตลักษณ์ที่ทำให้พวกเขาได้อภิสิทธิ์มากกว่าคนอื่นไว้ให้ลูกหลานตัวเอง

แต่ทว่าอุตสาหกรรมและการผลิตในตะวันตกเริ่มลดลง ทำให้ชนชั้นแรงานได้รับผลกระทบไปด้วยพวกพ่อแม่ปู่ย่าตายายเห็นว่าโอกาสที่เคยมีในอดีตไม่ได้มีมากเท่าเดิมให้กับคนรุ่นต่อไปจนเกิดเป็น "ช่องว่างทางอัตลักษณ์" ให้หาอะไรมาเติมเต็ม

คัฟแมนน์ กล่าวว่า สำหรับคนที่มีรายได้น้อยหรืออยู่ในชนชั้นล่างพวกเขาจะสร้างความเคารพนับถือตัวเอง (self-esteem) ขึ้นมาจากอัตลักษณ์รวมหมู่อย่างเช่นเชื้อชาติหรือประเทศชาติมากกว่าจะมาจากตัวตนที่ "ได้มาด้วยตนเอง"

เทาบ์ระบุว่าการที่คนถึงเน้นเรื่องสูญเสียอัตลักษณ์ของตนเองมากกว่าเน้นเรื่องสูญเสียสภาพชีวิตความเป็นอยู่จึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่าปัญหาเศรษฐกิจกับการผุดขึ้นของการเมืองชาตินิยม และทำไมมันถึงหลั่งไหลมาจากชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานแต่ไม่ได้เกิดกับคนที่จนมากๆ

ในขณะที่โลกาภิวัตน์และการค้าเสรีทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจมากข้นและซ้ำเติมชนชั้นแรงงานจำนวนมาก แต่ข้อมูลก็แสดงให้เห็นว่าความวุ่นวายทางการเมืองในปีนี้ไม่ได้มาจากผลสะท้อนของความเจ็บปวดที่แม้จริงแต่อย่างเดียว เช่นในกรณีประชามติเบร็กซิทนักวิเคราะห์ข้อมูลจากทีมวิจัยบรูเกลระบุว่าการศึกษาต่ำเป็นปัจจัยในการโหวตออกจากอียูมากกว่าเรื่องรายได้ต่ำ และการศึกษาของแกลลัพก็พบว่าผู้สนับสนนทรัมป์มักจะเป็นคนที่มีรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในชุมชนของพวกเขาและมักจะเป้นกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีคนขาวเป็นส่วนใหญ่โดยที่ลูกหลานของพวกเขามักจะมีสภาพที่แย่กว่าพ่อแม่ การศึกษาของอาร์ลี รัสเซลล์ อ็อชไชลด์ ในสังคมชนบทของรัฐหลุยส์เซียนาก็ระบุว่ากลุ่มคนขาวที่เป็นกรณีศึกษาของเธอมักจะรู้สึกว่าตัวเองต้องใช้เวลาไปสู่จุดสูงสุดของ "ความฝันแบบอเมริกัน" มากกว่าแต่รู้สึกว่าคนดำ ผู้อพยพ และ "คนนอก" อื่นๆ มาลัดคิวของพวกเขา คนขาวจำนวนมากก็รู้สึกว่าพวกเขาไม่สามารถไปสู่จุดสูงสุดที่เป็นอัตลักษณ์ที่ "ได้มาด้วยตนเอง" ได้ เลยรู้สึกว่าอัตลักษณ์ที่ "ถูกจัดไว้" แต่เดิมคือความเป็นคนขาวมีความสำคัญมากกว่าแต่ก่อน

 

คุณค่าของความเป็นคนขาว

ไมเคิล อิกนาเตียฟฟ์ นักประวัติศาสตร์และอดีตหัวหน้าพรรคเสรีนิยมในแคนาดากล่าวว่าในสังคมตะวันตกความเป็นคนขาวถูกรวมอยู่ในนิยามความเป็นชาติมาเป็นเวลานาน เมื่อนสังคมเหล่านั้นเริ่มไม่ให้มีการกีดกันทางเชื้อชาติก็ทำให้เกิดความหมายใหม่ในอัตลักษณ์ความเป็นชาติ เช่นกรณีที่สหรัฐฯ มีประธานาธิบดีเป็นคนดำ ลอนดอนมีนายกเทศมนตรีที่เป็นชาวมุสลิมพื้นเพปากีสถาน ทำให้มีการใช้ประโยคอย่าง "เราต้องการประเทศของเรากลับคืนมา" ในการเรียกคะแนนคนกลุ่มนี้มันไม่ใช่ประโยคที่มีแค่การมีทิฐิไม่ยอมรับความต่างแต่อย่างเดียว แต่ยังเป็นการออกแบบวัฒนธรรมที่ย้ำให้คนขาวรู้สึกมั่นคงในตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งในชุมชน

การที่คนขาวรู้สึกมั่นคงทางจิตใจน้อยลงเป็นปรากฏการณ์ที่โรบิน ดิแองเจโล อาจารย์และนักเขียนเรียกว่าเป็น "ความเปราะบางของคนขาว" เป็นสิ่งที่ทำให้คนขาวต้องเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่าพวกเขาไม่วิเศษวิโสหรือเป็นมาตรฐานหลัก คนขาวก็เป็นเชื้อชาติสีผิวชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับเชื้อชาติสีผิวอื่นๆ ความเปราะบางเช่นนี้เองที่นำไปสู่ความรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ การพยายามปกป้องบ่ายเบี่ยง หรือแม้กระทั่งการคุกคามซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อคนที่ถูกมองว่าเป็นคนนอก แม้กระทั่งนักวิเคราะห์สายอนุรักษ์นิยมบางคนที่สนับสนุนเรื่องการหลอมรวมคนหลายเชื้อชาติเพื่อเป็นอัตลักษณ์ขอประเทศกังวลว่าผู้อพยพที่ไม่ยอมถูกหลอมรวมจะกระทบต่อคุณค่าหลักๆ ในความเป็นชาติและความสอดประสานทางวัฒนธรรม

จากข้อมูลต่างๆ แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่จำนวนของความหลากหลายทางเชื้อชาติในชุมชนที่ทำให้เกิดกระแสต่อต้านของคนขาวและการสนับสนุนนโยบายต่อต้านผู้ลี้ภัย แต่เป็นความเร็วในการเปลี่ยนแปลง เช่นในเดนมาร์กมีคนขาวเป็นประชากรร้อยละ 88 ที่ดูเหมือนจะไม่ได้ทำให้เสียงข้างมากของพวกเขาสูญเสียไปแต่เมื่อเทียบกับคนรุ่นที่แล้ว (ราว 30-40 ปีที่แล้ว) พบว่ามีคนขาวถึงร้อยละ 97 การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เองทำให้พรรคสายต่อต้านผู้อพยพนำมาใช้อ้างให้ผู้คนวิตกกังวล นอกจากหลายประเทศในยุโรปแล้วคนขาวในหลายรัฐของสหรัฐฯ ก็สะท้อนความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงแบบเดียวกัน นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่บ่งบอกว่าทำไมคนขาวจำนวนมากถึงสนับสนุนทรัมป์ที่เน้นการจำกัดผู้อพยพ

 

ภาษาที่ถูกห้ามในความเป็นคนขาว

บทความของเทาบ์ยังระบุอีกว่าเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้วที่ภาษาที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของคนขาวมีอยู่ในบริบทของความที่คนขาวมีอำนาจสูงสุด เมื่อภาษาแบบนี้กลายเป็นสิ่งต้องห้ามก็ทำให้การเมืองแบบอัตลักษณ์ของคนขาวไม่มีคำที่จะเอาไว้ใช้ได้ ทำให้คนขาวที่หวาดกลัวว่าโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายจะทำลายหรือลดทอนอัตลักษณ์ความเป็นคนขาวของตัวเองไม่มีคำที่จะใช้แสดงออกถึงความรู้สึกกลัวอะไรแบบนี้แบบที่วัฒนธรรมยอมรับได้ นั่นทำให้ผู้คนเหล่านี้หันไปหาประเด็นอื่นที่ดูใกล้เคียงกับความกังวลของพวกเขาแทนอย่างการค้า อาชญากรรม สงครามยาเสพติด การควบคุมเขตแดน ความกลัวการก่อการร้ายจากอิสลาม ซึ่งกลายเป็นจุดขายของพวกฝ่ายขวาที่ต้องการซื้อใจคนขาว

เทาบ์ระบุต่อไปว่าบางครั้งวิธีการแบบนี้ไม่ได้อยู่แต่ในวกขวาตกขอบแต่อย่างเดียวแม้แต่พวกขวากลางๆ อย่างนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษ เทเรซา เมย์ ก็แสดงท่าทีเอนเอียงเอาใจคนขาวในทางการเมืองอย่างการออกกฎให้มีการประณามนายจ้างที่จ้างคนต่างชาติและในสุนทรพจน์ของเธอก็ต่อต้านพหุวัฒนธรรมอย่างตรงไปตรงมา

แต่การดิ้นรนเพื่ออัตลักษณ์ของคนขาวก็ไม่ได้เป็นแค่ปัญหาทางการเมืองแต่เป็นความรู้สึกติดขัดอยู่กับที่ในขณะที่คนอื่นๆ เคลื่อนที่ไปข้างหน้าแล้ว แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ความเป็นคนขาวจะกลับมาเป็นกลุ่มนำของสังคมหรือเป็นอัตลักษณ์ของชาติหนึ่งเดียวอีก การยับยั้งการอพยพก็จะส่งผลทางเศรษฐกิจต่อชาติตะวันตก อีกทั้งถ้าส่งตัวผู้อพยพออกจากประเทศทีละมากๆ ก็อาจจะส่งผลเสียหายทางสังคมและภาพลักษณ์จริยธรรม เพราะกลุ่มที่ถูกหาว่า "ลัดคิว" พวกนี้เขารอโอกาสที่จะได้ก้าวหน้ามานานแล้วแต่ที่ผ่านมาถูกปฏิเสธมาโดยตลอด

เทาบ์ระบุว่ามีทางออกคือคนขาวต้องยอมรับนิยามใหม่ของความเป็นชาติที่แบบที่กว้างขวางขึ้นให้ได้เท่านั้น

 

เรียบเรียงจาก

Behind 2016’s Turmoil, a Crisis of White Identity, Amanda Taub, 01-11-2016 http://www.nytimes.com/2016/11/02/world/americas/brexit-donald-trump-whites.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net