มีชัย ระบุ รธน.ใหม่ กำหนดเรื่องถอดถอน เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม แต่ยังมีโทษตัดสิทธิทางการเมือง

ประธาน กรธ. ระบุ รัฐธรรมนูญใหม่ ไม่มีบทบัญญัติเรื่องการถอดถอน เพราะเห็นว่ากระบวนการไม่มีประสิทธิภาพจริง ให้เป็นเรื่องของกระบวนการทางยุติธรรมแทน ส่วนบุคคลที่ถูกถอดถอนยังถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เช่นเดิม

ภาพจาก: เว็บข่าวรัฐสภา

4 พ.ย. 2559 มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่มีการบัญญัติเกี่ยวกับการถอดถอนไว้แล้ว  เนื่องจากกระบวนการถอดถอนในอดีตไม่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การโหวตเพื่อลงคะแนนเสียง อาจขาดความเป็นธรรมและกลายเป็นเรื่องทางการเมืองมากกว่า กรธ.จึงได้กำหนดให้การกระทำ ความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะมองว่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่ารวมถึงคู่กรณีจะได้มี โอกาสต่อสู้กันด้วยหลักฐานด้วย ส่วนบุคคลที่ถูกถอดถอนและถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี จะยังคงมีผลไปจนครบการรับโทษตามที่กำหนดไว้

“การที่จะชี้ว่าใครทำผิดหรือไม่ มาใช้การโหวตลงคะแนนเสียงนั้น มันไม่น่าจะชอบด้วยเหตุผล เพราะเวลาลงคะแนนเสียงบางทีก็ไม่ได้คิดถึงพยาน หลักฐาน จึงทำให้อาจจะขาดความเป็นธรรม ดังนั้นทางที่ดีคือพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าทำผิดจริงหรือไม่ ตามกระบวนการยุติธรรม ถ้าทำผิดจริงก็ลงโทษและตัดสิทธิ์ไปเลย เพราะการถอดถอนก็เหมือนการลงมติไม่ไว้วางใจ ต่อให้คุณพูดหรือเอาพยาน หลักฐานมาแสดงอย่างไร เวลายกมือก็นับที่จำนวนมือ ไม่ได้พูดถึงเรื่องความผิดหรือไม่ผิด ซึ่งเป็นเรื่องทางการเมืองเสียมากกว่า ทีนี้เมื่อกรธ.เปลี่ยนระบบว่า ถ้าคุณทำความผิดจริงคุณก็ไม่ควรจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอีก ก็ต้องใช้กระบวนการที่ชัดเจนแน่นอน มีโอกาสต่อสู้ มีการนำสืบพยาน หลักฐานจนศาลตัดสินเป็นที่สุดว่าผิดก็ไปเลยไม่ต้องมาโหวต ซึ่งก็ตรงไปตรงมา” มีชัย กล่าว

ต่อคำถามถึงความคืบคาบหน้าเกี่ยวกับการร่างพระราชบัญญัติ (พร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีชัยระบุว่า ในเบื้องต้น กรธ.ได้พิจารณาเสร็จแล้ว เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งในส่วนของ กกต. นั้น ทาง กรธ. มีความคิดว่าในเรื่อง กกต. จังหวัด จะเปลี่ยนไม่ให้เป็นแบบถาวร คือให้มีได้ แต่ไม่ให้ไปประจำอยู่ที่จังหวัด แต่จะให้ไปเฉพาะเวลามีก่อนหรือหลังการเลือกตั้งก่อนนิดหน่อยเพื่อไม่ให้ถูกครอบงำ เพราะ กรธ.ตั้งใจให้เป็นหูเป็นตามากกว่าการเป็นคนตัดสินใจ ถ้าจะตัดสินว่าถูกหรือผิดนั้นจะต้องมาหา กกต. ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวยังไม่ได้คุยจริงจังกับ กกต. ว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะ กรธ. จะเชิญเจ้าหน้าที่ กกต. มานั่งฟังเพื่อที่จะได้รู้เหตุผล และคอยทักท้วงว่าสิ่งที่คิดนั้น ทำได้หรือไม่ได้ ถ้าไม่ได้ก็จะได้เปลี่ยน แต่ที่ผ่านมาส่วนไหนที่กรธ.เปลี่ยนแล้วถามตัวแทน กกต. ก็บอกว่าทำได้ แต่ยังไม่รู้ว่ากรรมการ กกต. จะว่าอย่างไร เมื่อถึงเวลาอาจจะต้องพูดคุยกันอีกที

เรียงเรียบจาก: เว็บข่าวรัฐสภา , มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท