Skip to main content
sharethis

ปลัดกระทรวงมหาดไทย สั่งการทุกจังหวัดเตรียมแผนดูแลความปลอดภัยประชาชนช่วงเทศกาลลอยกระทง สั่งงดการจัดมหรสพ หรือกิจกรรมบันเทิง ในห้วงของการถวายพระเกียรติยศและความอาลัย

กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ภาพจาก เว็บไซต์รัฐบาลไทย

7 พ.ย. 2559 กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ช่วงเทศกาลลอยกระทง วันที่ 14 พ.ย. นี้ ขอให้ทุกจังหวัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลความปลอดภัยของประชาชน และขอให้ทุกองค์กรใช้ดุลพินิจในจัดงานให้เหมาะสม ในช่วงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยขอให้งดส่วนที่เป็นการจัดมหรสพ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิง เช่น การแสดงดนตรี การละเล่น เป็นต้น

กฤษฎา กล่าวว่า ขอให้ผู้อำนวยการหรือเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ตรวจตราอาคารสถานที่ โป๊ะ ท่าเทียบเรือโดยสาร หากพบสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง หรืออาจเกิดเป็นอันตราย ให้รีบแจ้งหน่วยงานตามกฎหมาย เพื่อตรวจสอบและซ่อมแซม รวมถึง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันอุบัติเหตุ ผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร และควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในการห้ามจำหน่ายสุราโดยเคร่งครัด

กฤษฎา ยังกำชับนายอำเภอ ให้ป้องกันเรื่องการจุดและปล่อย บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควันหรือ วัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึง ตามคำสั่ง คสช. ที่ 27/2559 รวมถึง การกำหนดระยะเวลาจุดและปล่อย ซึ่งต้องสอดคล้องกับระยะเวลาจัดงานประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย

ปลัดกระทรวงมหาดไทย จึงได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมในการดูแลความปลอดภัยของประชาชนในช่วงการจัดงานวันลอยกระทงให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดความเหมาะสมในช่วงพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช โดยให้ทุกจังหวัดดำเนินการ ดังนี้

1. แจ้งองค์กรทุกภาคส่วนใช้ดุลพินิจในการจัดงานวันลอยกระทง ในห้วงของการถวายพระเกียรติยศและความอาลัยขอให้งดส่วนที่เป็นการจัดมหรสพ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิง เช่น การแสดงดนตรี การละเล่น เป็นต้น โดยให้ถือเอาความเหมาะสม และความรู้สึกของประชาชนเป็นหลัก

2. ให้ผู้อำนวยการหรือเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ตรวจตราอาคารสถานที่ โป๊ะ ท่าเทียบเรือโดยสาร หากพบสภาพไม่มั่นคงแข็งแรงหรืออาจเกิดเป็นอันตรายให้รีบแจ้งหน่วยงานตามกฎหมายเพื่อตรวจสอบและซ่อมแซมตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

3. ให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน ที่จัดงานวันลอยกระทงเตรียมการป้องกันระมัดระวังทุกด้าน เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติภัย โดยตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างภายในงานให้มีความแข็งแรงจัดอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำในบริเวณใกล้เคียงหรือสถานที่ที่จัดงานให้พร้อม และดำเนินการตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการห้ามจำหน่ายสุราโดยเคร่งครัด

4. กำชับนายอำเภอ ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควันหรือ วัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ   ที่ 27/2559ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2559 ซึ่งได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใด เพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อากาศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายอำเภอ หรือ ผู้อำนวยการเขต ซึ่งหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตต้องเป็นไปตามประกาศจังหวัด หรือข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร รวมถึงการกำหนดระยะเวลาจุดและปล่อย ซึ่งต้องสอดคล้องกับระยะเวลาจัดงานประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย

5. ให้นายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมายควบคุมดอกไม้เพลิง เข้มงวด กวดขัน การพิจารณาออกใบอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาตให้ทำ สั่ง นำเข้า หรือค้า ซึ่งดอกไม้เพลิง รวมทั้งตรวจสอบสถานที่เก็บ ทำ หรือค้าดอกไม้เพลิงที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

6. ให้ทุกพื้นที่เตรียมความพร้อมทั้งบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที

7. ให้เข้มงวด กวดขันการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน โดยเน้นหนักในเรื่องความปลอดภัย 10 มาตรการ เช่น การไม่สวมหมวกนิรภัย การเมาสุรา ไม่คาดเข็มขัด ไม่มีใบขับขี่และการใช้ความเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น

8. ให้จังหวัดจัดชุดเจ้าหน้าที่ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.)  และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ปฏิบัติงาน ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายทหาร และเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวังสถานที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย อุบัติภัย โดยเฉพาะอุบัติภัยทางน้ำ จัดระเบียบและอำนวยการจราจร รักษาความสงบเรียบร้อย เฝ้าระวังความปลอดภัยบริเวณที่มีประชาชนหนาแน่น ตรวจสอบความปลอดภัยบริเวณโป๊ะ ท่าเทียบเรือ สถานที่ริมน้ำสำหรับประชาชนใช้ลอยกระทง และเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่จะเป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย โดยประสานการปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าเพื่อบูรณาการการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด รวมไปถึงจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์ช่วยเหลือ กู้ภัยต่างๆ เตรียมพร้อมประจำจุดที่มีประชาชนหนาแน่นเพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันทีเมื่อเกิดอุบัติเหตุโดยประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด รวมทั้ง หน่วยงานสาธารณสุข โรงพยาบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมในการดูแลปัญหาสุขภาพของประชาชน

เรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย, เว็บไซต์รัฐบาลไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net