สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 3-9 พ.ย. 2559

กระทรวงแรงงานตั้งเป้าปี 60 คนพิการมีงานทำอีกหมื่นคน
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามงานแรงงานนอกระบบ แรงงานคนพิการ และแรงงานสูงอายุ ณ ห้องประชุมปลัดกระทรวงแรงงาน ชั้น 7 ว่า การประชุมวันนี้ (3 พ.ย.59) เพื่อติดตามผลในปีที่แล้ว และแผนปฏิบัติการในปี 2560 ว่าการจ้างงานคนพิการเมื่อปีที่ผ่านมาได้ผลสรุปเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการในปี 2560 ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้อีก 10,000 คนต่อไปได้
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า ส่วนการจ้างงานผู้สูงอายุเมื่อปีที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้ขับเคลื่อนโดยการจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานเพื่อผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลทะเบียน สำหรับปีนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม กำลังแก้ไขกฎหมายโดยคณะกรรมการร่างกฎหมายเพื่อพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ อาทิ การกำหนดอายุเกษียณ การกำหนดค่าจ้างสำหรับผู้สูงอายุ กฎหมายบำนาญชราภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้มีความเป็นระบบในการส่งเสริมอาชีพให้มากขึ้น ทั้งในระบบราชการโดยการเพิ่มพนักงานราชการเชี่ยวชาญ กรรมการที่ปรึกษา การจ้างงานต่อเนื่องในสถานประกอบการ ส่วนแนวโน้มอาชีพอิสระของผู้สูงอายุนั้น จะเน้นการทำการเกษตรด้วยนวัตกรรม โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้งานให้มากขึ้น
 
“การจัดทำแผนปฏิบัติการการจ้างงานแรงงานนอกระบบนั้น จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และธนาคารออมสิน เพื่อรวบรวมแผนการจ้างงานในกลุ่มแรงงานนอกระบบร่วมกันด้วย โดยมองถึงการวางแผนในการส่งเสริมการประกอบอาชีพให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบอย่างครบวงจร ซึ่งจะเห็นความชัดเจนได้ภายใน 3 เดือน” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในตอนท้าย
 
 
ต.ค. 59 คนไทยผ่านด่านสุวรรณภูมิเดินทางไปทำงานต่างแดนถึง 7.2 พันคน ไปทำงาน “ไต้หวัน” มากสุด ถูกระงับการเดินทางไป “เกาหลีใต้” มากสุด
 
นายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถิติคนหางานเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิประจำเดือนตุลาคม 2559 พบว่า มีคนไทยไปทำงานและฝึกงานในต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 7,276 คน โดยนิยมเดินทางไปทำงานในประเทศไต้หวัน มากที่สุด 2,873 คน รองลงมา เป็นเกาหลีใต้ 1,207 คน และญี่ปุ่น 759 คน ซึ่งจะเป็นการเดินทางโดยบริษัทจัดหางานจัดส่งมากที่สุด รองลงมาเป็นการแจ้งการเดินทางด้วยตนเอง และ กกจ. จัดส่งตามลำดับ แต่ยังมีผู้ที่ถูกระงับการเดินทาง เนื่องจากเป็นผู้ที่มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานต่างประเทศ และให้การยอมรับว่าจะไปทำงานในต่างประเทศอีกจำนวน 201 คน โดยจะเดินทางไปประเทศเกาหลีใต้ จำนวน 143 คน รองลงมาเป็น บาห์เรน จำนวน 45 คน และยังมีประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ รัสเซีย เป็นต้น
 
นายสิงหเดช กล่าวว่า คนหางานที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ควรเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และควรศึกษากฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ เกี่ยวกับการจ้างงานของประเทศที่จะเดินทางไปทำงานให้รอบคอบ เพราะหากเกิดปัญหาจะได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย โดยสามารถสอบถามข้อมูลหรือแจ้งเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 0-2248-4792 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
 
ผู้ประกอบการเร่งลด “ต้นทุน” รองรับขึ้นค่าแรง 5-10 บาท ชี้ค่าจ้างเป็นธรรม หาก “ลูกจ้าง” ใช้เงินพอเพียง
 
นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ในอัตรา 5 - 10 บาท ว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว บอร์ดค่าจ้างได้กำหนดแนวคิดในการพิจารณาซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้แรงงานทั่วไปที่แรกเข้าทำงาน 1 คน ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งความเหมาะสมและความสามารถในการดำเนินธุรกิจในท้องถิ่นด้วย ขณะเดียวกัน ลูกจ้างเองก็ต้องทำงานให้สอดคล้องกับทักษะฝีมือ และพัฒนาตนเองเพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย
 
นายอนุสรณ์ วิมลอนุพงษ์ ผู้อำนวยการส่วนบุคคลและพัฒนาระบบ บริษัท แอล แอนด์ อี แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ผู้ผลิตด้านไฟฟ้าแสงสว่าง กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ มีผลทางอ้อมต่อต้นทุนในการผลิตสินค้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากสินค้าบางประเภทต้องแข่งขันกับแหล่งผลิตในต่างประเทศ สิ่งที่ทำตอนนี้คือ ลดต้นทุนในการผลิต ถึงแม้ว่าต้นทุนทางด้านแรงงานจะปรับขึ้นในต้นปีหน้า แต่สถานประกอบการได้มีมาตรการในการพัฒนาฝีมือให้แก่พนักงานกลุ่มนี้อยู่แล้ว ส่วนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ซึ่งถือว่ามีอัตราส่วนไม่มาก แต่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน พบว่า ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยยังค่อนข้างสูง เมื่อถามว่า การปรับค่าจ้างมีความเป็นธรรมต่อลูกจ้างหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการดำรงชีวิตของพนักงานมากกว่า เนื่องจากปัจจุบันคนไทยดำรงชีวิตเกินกว่าอัตราค่าตอบแทนที่ได้รับ ส่วนใหญ่มีหนี้นอกระบบมากกว่าร้อยละ 50 ของพนักงานทั้งหมด จึงต้องบริหารจัดการในส่วนนี้ ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปรับใช้ในการดำรงชีวิต และการให้ความรู้เรื่องการจัดทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
 
“ส่วนมาตรการที่กำหนดเพื่อรองรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่จะมีผลในต้นปี 2560 นั้น เบื้องต้นสถานประกอบการพยายามให้พนักงานที่ประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและแสงสว่างได้มีโอกาสเข้าไปทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ หรือ License จะส่งผลให้ได้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าที่มีคุณภาพได้รับการรับรองจากภาครัฐ นอกจากนี้ ได้พัฒนาเครื่องมือให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อลดต้นทุนในการผลิตอีกทางหนึ่งด้วย” นายอนุสรณ์ กล่าว
 
 
กสร.สั่งตรวจสอบสถานประกอบกิจการใช้สารเคมีทั่วประเทศ
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่เกิดเหตุสารแอมโมเนียรั่วไหลของโรงงานผลิตอาหารไก่ปรุงสำเร็จแช่แข็งในจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้ลูกจ้างมีอาการระคายเคืองตาและจมูก 51 คน นั้น กสร. เป็นห่วงลูกจ้างในสถานประกอบกิจการอื่น ๆ ที่มีการใช้สารแอมโมเนียในกระบวนผลิต อาทิ กิจการอาหารแช่แข็งการถนอมอาหาร การผลิตน้ำแข็ง การทำไอศกรีม อุตสาหกรรมพลาสติก ผลิตเป็นใยสังเคราะห์ ผลิตปุ๋ย เป็นต้น โดยกิจการในกลุ่มดังกล่าวทั่วประเทศ มีประมาณ 3,000 แห่ง ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดเหตุรั่วไหลของสารได้ หากมีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุเช่นนี้กับสถานประกอบกิจการอื่น ๆ อีก กสร. ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการตรวจสอบ กำกับ ดูแล ให้สถานประกอบกิจการทั้งสามพันแห่งทั่วประเทศปฏิบัติตามกฎกระทรวงข้างต้นอย่างเคร่งครัด โดยมุ่งเน้นให้นายจ้าง ลูกจ้างมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานและควบคุมอย่างจริงจัง ทั้งในภาวะปกติหรือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน อาทิ นายจ้างต้องแจ้งข้อมูลเคมีภัณฑ์ภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่มีการครอบครอง และแจ้งให้ลูกจ้างทราบและเข้าใจข้อมูลสารเคมี และมีมาตรการควบคุมให้ลูกจ้างปฏิบัติตาม และอื่น ๆ ตามที่กฎกระทรวงกำหนด
 
สารแอมโมเนีย เป็นสารเคมีอันตรายตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการและการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อตา ผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ และหากสัมผัสในปริมาณที่มากทำให้หายใจติดขัด เจ็บหน้าอก ตาบอด ปอดบวม ขาดอากาศหายใจและตายได้ ทั้งนี้ค่าความเข้มข้นในบรรยากาศการทำงาน ตลอดการทำงาน 8 ชั่วโมง ไม่เกิน 25 ส่วนในหนึ่งล้านส่วนของอากาศ (ppm.) หากมีปริมาณความเข้มข้นสูงถึง moc ppm. อาจทำให้ตายได้ ในกรณีสารแอมโมเนียเกิดการรั่วไหล ให้พยายามหยุดรอยรั่วโดยต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล ระบายอากาศบริเวณนั้นและฉีดน้ำเป็นฝอยเพื่อลดการแพร่กระจาย ถ้ารั่วปริมาณมากให้อพยพลูกจ้างออกนอกพื้นที่ ภายใน 30 นาที และห้ามบุคคลที่ไม่ได้สวมอุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจเข้าในบริเวณเกิดเหตุโดยเด็ดขาด
 
 
เอ็มจี สร้างโรงงานแห่งใหม่ที่ชลบุรี หวังเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศสร้าง โรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ จังหวัด ชลบุรี เพื่อการผลิตและจำหน่าย ในประเทศไทย และต่างประเทศ โดยจะตั้งให้เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ เอ็มจี ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
นายซื่อ กั๋วย่งกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์- ซีพี จำกัด กล่าวว่า "เอ็มจีได้ก่อตั้ง มาแล้ว 3 ปี โดยมุ่งเน้นการผลิตรถยนต์ ที่มีคุณภาพ เพื่อตลาดประเทศไทยมาโดยตลอด สำหรับโรงงานใหม่แห่งนี้ เราได้นำเทคโนโลยีการผลิตอันทันสมัย เพื่อให้ได้รถยนต์ที่ดีและ มีคุณภาพยิ่งขึ้น อันเป็นการเปิดหน้า ประวัติศาสตร์ รวมไปถึงการส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์และเศรษฐกิจของไทยอีกด้วย"
 
นายธนากร เสรีบุรี ประธาน กรรมการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์- ซีพี จำกัด กล่าว นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ร่วมลงทุนกับ เอสเอไอซี มอเตอร์ ในการผลิต และจำหน่ายรถยนต์ จนถึงปัจจุบันรถยนต์เอ็มจี ได้พิสูจน์ถึงการเป็นที่ยอมรับของลูกค้า และมียอดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ
 
"ผมมีความมั่นใจที่จะเพิ่มศักยภาพของการผลิตรถยนต์ เพื่อรองรับตลาดรถยนต์ของอาเซียน ที่น่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วนับจากนี้ โดยการสร้างโรงงานใหม่แห่งนี้ จะเป็น การตอกย้ำให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ อันเป็นการเสริมภาพลักษณ์ ด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทยอีกด้วย"
 
สำหรับโรงงานผลิตรถยนต์ เอ็มจี แห่งใหม่ จะก่อสร้างบนที่ดินจำนวน 437.5 ไร่ ภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 จังหวัดชลบุรี เพื่อทดแทนโรงงานในปัจจุบัน ที่ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งเริ่มเดินสายการผลิต ครั้งแรก เมื่อต้นปี พ.ศ. 2557
 
 
ก.แรงงานขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายต่อเนื่อง
 
กระทรวงแรงงานผนึกทุกภาคส่วน ขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย แต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์การใช้แรงงานเด็ก 2 คณะ สำรวจสถานการณ์เด็กทำงานในสถานประกอบการกลุ่มเสี่ยง ไร่อ้อย ประมง แปรรูปสัตว์น้ำ และสิ่งทอ พร้อมเสนอข้อมูลทุกๆ ๒ เดือน ต่อคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย
 
นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงแรงงาน แถลงผลการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ครั้งที่ 1/2559 โดยมี พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุมได้รายงานผลการสำรวจแรงงานเด็ก ที่กระทรวงแรงงาน ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งมีอายุระหว่าง 5-17 ปี พบว่า ประเทศไทยมีเด็ก จำนวน 10 ล้านคน เป็นเด็กทำงานอยู่ 6 แสนคนของจำนวนเด็กทั้งหมด รวมถึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์การใช้แรงงานเด็ก จำนวน 2 คณะ เพื่อกลั่นกรองผลการสำรวจสถานการณ์เด็กทำงานในประเทศไทย พร้อมทั้งกำหนดกรอบ แนวทาง วิธีการดำเนินงานการสำรวจข้อมูลและสถานการณ์เด็กทำงานในประเทศไทย ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงาน ในสถานประกอบการกลุ่มเสี่ยง คือ ไร่อ้อย ประมง แปรรูปสัตว์น้ำ และสิ่งทอ พร้อมนำเสนอผลการสำรวจข้อมูลรายงานต่อคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายทุกๆ 2 เดือน
 
อีกทั้ง กระทรวงแรงงาน จะเป็นเจ้าภาพหลักในการประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งรายงานผลปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมาย การคุ้มครองแรงงานเด็กอย่างเข้มข้น พร้อมสร้างการรับรู้ให้แก่สาธารณชน ตลอดจนองค์การแรงงานระหว่างประเทศและนานาชาติว่า ประเทศไทยได้ทำงานเรื่องนี้อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยมีการทำงานที่เป็นไปตามระดับมาตรฐานสากล และเป็นไปตามอนุสัญญาฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก
 
หากตรวจพบว่ามีการกระทำความผิดในการใช้แรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่ากฎหมายกำหนด ให้ดำเนินการเอาผิดด้วยโทษสูงสุด คือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยไม่มีข้อยกเว้น เพื่อแสดงให้นานาประเทศรับทราบว่าประเทศไทยจริงจังกับการป้องกันและแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก
 
 
ตั้งโรงงานใหม่ยอด 10 เดือนวูบ! ทำมูลค่าลงทุนลดเหลือ 3.8 แสนล้าน จาก 5 แสนล้าน
 
(5 พ.ย.) นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ (ร.ง.4) และขยายกิจการช่วง 10 เดือน ปี 2559 (มกราคม-ตุลาคม) มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 4,287 โรงงาน ลดลง 5.71% จากช่วงเดียวกันปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 4,547 โรงงาน และมูลค่าการลงทุนลดลงเหลือ 3.80 แสนล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน 5.01 แสนล้านบาท หรือลดลง 24.15% ทั้งเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการลดลงทั้งสองขา ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีจำนวนเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการมีมูลค่ามากที่สุดในช่วง 10 เดือนนี้ ได้แก่ การผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ มูลค่าการลงทุน 5.99 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมอาหาร 4.74 หมื่นล้านบาท เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 2.80 หมื่นล้านบาท เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 2.21 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์อโลหะ 1.72 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ
 
“กรอ.กำลังติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบยอดตั้งโรงงานอย่างใกล้ชิด คาดว่ามาจากหลายปัจจัย โดยยอดสะสมตลอดปีนี้น่าจะน้อยกว่าปี 2558 ที่มีมูลค่า 6 แสนล้านบาท แต่จะไม่มากนักเพราะยังมีโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการอยู่ระหว่างการตัดสินใจ” นายมงคลกล่าว
 
 
วิจัยชี้อีก 20 ปีวัยแรงงานหด-คนแก่เพิ่มกระทบ ศก.รายจังหวัด
 
นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์การศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า ตลาดแรงงานในจังหวัดใหญ่ๆ จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในอีก 20 ปีข้างหน้า จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจังหวัด และถือเป็นปัจจัยสำคัญที่บีบรัดให้เด็กที่เข้าเรียนอนุบาลในปีนี้ จำเป็นต้องมีความสามารถหรือเก่งขึ้นอีก 2-3 เท่าของเด็กที่จบการศึกษาขั้นสูงในวันนี้ซึ่งหากไม่เป็นเช่นนั้น เศรษฐกิจของจังหวัดดังกล่าวจะเสี่ยงที่จะจนลงทันที เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากขึ้น แต่ประชากรวัยแรงงานมีน้อยลง
 
นายเกียรติอนันต์กล่าวว่า การวางแผนการศึกษาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จังหวัดใหญ่ๆ จะต้องเริ่มคิดเรื่องการเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กและเยาวชน ในอีก 20 ปีข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
ทั้งนี้ พบว่า แนวโน้มดังกล่าวเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับ จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวสูง อาทิ เชียงใหม่ ตราด ภูเก็ต สงขลา และอำนาจเจริญ ที่ต้องเริ่มต้นศึกษาโครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัดว่าเหมาะสมกับการประกอบอาชีพอะไร คล้ายการตรวจเช็คสุขภาพเศรษฐกิจของจังหวัดตัวเอง กรณีดังกล่าว หลายประเทศชั้นนำ อาทิ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และมาเลเซียก็มีการออกแบบแผนการจัดการศึกษาเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจในระดับรัฐหรือจังหวัด จัดทำแผนจัดการศึกษาควบคู่ไปกับแผนเศรษฐกิจ ให้ตลาดการจ้างงานสอดคล้องกับการผลิตคนในแต่ละพื้นที่
 
ศ.สุมาลี ตั้งประดับกุล ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่า เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว สสค.ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ แผนจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบจัดการศึกษาเพื่ออาชีพระดับจังหวัด ที่มีเป้าหมายเพื่อให้จังหวัดยกระดับขีดความสามารถในการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพได้ ในพื้นที่ 10 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ สุรินทร์ กาญจนบุรี ชลบุรี ตราด ภูเก็ต และสุราษฏร์ธานี
 
ศ.สุมาลีกล่าวว่า โครงการดังกล่าว ได้มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมทักษะอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชน ทั้งในกลุ่มที่ต้องการเรียนต่อ และกลุ่มที่จำเป็นต้องออกไปประกอบอาชีพหลังออกจากระบบการศึกษา ซึ่งตรงกับโจทย์ที่รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ และสพฐ.ให้ความสำคัญ จังหวัดต้องสร้างกลไกความร่วมมือจากภาคีฝ่ายต่างๆ อาทิ ภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคแรงงาน ภาคข้อมูลสถิติจังหวัด รวมถึงภาคเอกชน โดยเฉพาะนายจ้างสามารถสะท้อนข้อมูลและความต้องการทักษะแรงงานได้ตรงตามบริบทจริงในพื้นที่ เมื่อประกอบกับยุทธศาสตร์ของสสค.ซึ่งใช้พื้นที่ระดับจังหวัดเป็นฐานในการทำงานไปพร้อมๆกับการศึกษาวิจัยการเรียนรู้ด้านอาชีพในนักเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาในโรงเรียน 20 แห่งใน 10 จังหวัด ก็จะสามารถนำไปเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นสามารถเลือกใช้ข้อมูลในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
 
ก.แรงงานร่วมมือสภากาชาดไทยกำหนดแนวทางการจ้างงานคนพิการ
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน และ นายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย นายอภิชาต การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ได้หารือแนวทางและหลักเกณฑ์ในการจ้างงานคนพิการให้ทำงานในเหล่ากาชาด และกิ่งกาชาดอำเภอทุกจังหวัด โดยขณะนี้ธนาคารต่างๆ ได้มีนโยบายที่จะจ้างคนพิการให้ทำงานในเหล่ากาชาด และกิ่งกาชาดอำเภอทุกจังหวัด โดยมีมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมเป็นผู้ประสานงาน
 
ขณะนี้ เหล่ากาชาดจังหวัดได้เปิดรับสมัคร และได้รายชื่อคนพิการแล้ว จำนวน 604 คน จากเป้าหมาย 630 คน โดยมีการตั้งคณะกรรมการ สำหรับการสอบสัมภาษณ์ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีนายกเหล่ากาชาด ปลัดจังหวัด นายอำเภอ รวมทั้งนักจิตวิทยา เป็นคณะกรรมการ เพื่อเป็นการป้องกันการถูกสวมสิทธิ์ของคนพิการ
 
สำหรับการจ้างงานลักษณะดังกล่าว เป็นการจ้างตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ในลักษณะของการจ้างเหมาบริการ สัญญาจ้างปีต่อปี (มกราคม – ธันวาคม) และเพื่อให้สามารถจ้างงานคนพิการได้ทันภายในวันที่ 1 มกราคม 2560 กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน จะทำหนังสือแจ้งสำนักงานจัดหางานจังหวัดและสำนักงานจัดงานเขตพื้นที่ เร่งดำเนินการตรวจสอบเอกสาร และการอนุมัติให้ดำเนินการได้ทันตามกำหนดเวลาดังกล่าว
 
ทั้งนี้ เหล่ากาชาด สภากาชาดไทย กำหนดจัดปฐมนิเทศ เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ และรายละเอียดในการจ้างงานแก่คนพิการ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และผู้แทนสมาคมธนาคารไทยเข้าร่วมด้วย
 
 
ครม.เห็นชอบ 4 มาตรการ จ้างงาน-ที่อยู่อาศัย-รายได้-การออม รองรับสังคมผู้สูงอายุ
 
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้ผู้สูงอายุมีงานทำ มีที่อยู่อาศัย และมีรายได้พอเลี้ยงชีพ ซึ่งหากไม่เตรียมมาตรการรองรับไว้อาจสร้างปัญหาต่อครอบครัว และอาจสร้างภาระให้ประเทศในเชิงงบประมาณ
 
"ปัจจุบัน รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อบำเหน็จบำนาญ เบี้ยยังชีพ เงินสมทบ กอช. รวมกันแล้วเป็นเงินกว่า 287,000 ล้านบาท แต่ในปี 2567 จะต้องมีการจัดสรรงบประมาณมากถึง 698,000 ล้านบาท หรืออีกสองเท่าตัว" นายกอบศักดิ์ กล่าว
 
โดยเมื่อปี 2551 ประเทศไทยมีสัดส่วนของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปอยู่ราว 10% ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าในปี 2568 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 20% หรือราว 13-14 ล้านคน
 
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ครม.มีมติให้ดำเนินการใน 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1.มาตรการจ้างงานผู้สูงอายุ ด้วยการให้นายจ้างนำเงินค่าจ้างผู้สูงอายุเกิน 60 ปี แต่ไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท มาหักลดหย่อนภาษีได้สองเท่า แต่ต้องใช้สิทธิ์ไม่เกิน 10% ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีลูกจ้างที่เป็นผู้สูงอายุราว 9.4 หมื่นคน อย่างไรก็ดี มาตรการนี้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ราว 3,300 ล้านบาท
 
2.มาตรการสร้างที่พักสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex) ซึ่งจะจัดที่อยู่อาศัย สถานพยาบาล สิ่งอำนวยความสะดวก สถานที่จัดสันทนาการ โดยจะมีทั้งรูปแบบการเช่าที่ราชพัสดุ 4 แห่ง คือ ชลบุรี 50 ไร่, นครนายก 14 ไร่, เชียงราย 64 ไร่ ในอัตราตารางวาละ 1 บาท/เดือน และเชียงใหม่ 7.5 ไร่ ในอัตราตามระเบียบของระเบียบของกระทรวงการคลัง เนื่องจากเป็นพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ สัญญาเช่า 30 ปี ต่ออายุได้อีก 30 ปี เพื่อส่งเสริมให้บุตรที่เลี้ยงดูบิดามารดาได้จองสิทธิ์เป็นลำดับแรก
 
นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างในพื้นที่อื่นนอกเหนือจากที่ราชพัสดุ ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ (กคช.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), องค์กรชุมชน ในรูปแบบของบ้านประชารัฐ ซึ่งให้บุตรที่เลี้ยงดูบิดามารดาได้จองสิทธิ์เป็นลำดับแรกเช่นกัน โดยให้ธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์จัดสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน วงเงิน 4,000 ล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ และผู้สนใจจองสิทธิ์
 
3.มาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) มีที่อยู่อาศัยของตนเองซึ่งปลอดภาระหนี้แล้ว สามารถยื่นขอสินเชื่อเพื่อเป็นรายได้นำมาเลี้ยงชีพได้จนเสียชีวิต หรืออายุสัญญาที่กำหนดเป็นช่วงเวลา โดยครอบคลุมถึงคู่ชีวิต ซึ่งรูปแบบนี้มีใช้ในฮ่องกงและเกาหลีใต้
 
4.มาตรการออมภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ที่มีอยู่จำนวน 11.7 ล้านคน เพื่อช่วยให้มีรายได้ 50% ก่อนเกษียณ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานระดับกลาง โดยกำหนดให้กิจการขนาดใหญ่ที่มีแรงงาน 100 คนขึ้นไป, กิจการที่ได้รับสัมปทานของรัฐ, กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน, กิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ, องค์กรมหาชน, หน่วยงานของรัฐที่ไม่ได้บังคับว่าด้วยกองทุน กบข. ให้เข้าเป็นสมาชิกของ กบช. หลังจากนั้นในปีที่ 4 จะขยายให้ครอบคลุมกิจการที่มี 10 คนขึ้นไป และปีที่ 6 จะขยายให้ครอบคลุมกิจการที่มี 1 คนขึ้นไป ซึ่งจะทำให้ครอบคลุมการดูแลแรงงานเพิ่มจาก 3 ล้านคน เป็น 12 ล้านคน
 
โดยกำหนดเงื่อนไขให้นายจ้างและลูกจ้าง ส่งเงินตั้งแต่ 3% ของค่าจ้าง หรือไม่เกิน 1,800 บาท หรือนายจ้างและลูกจ้างส่งเงินเพิ่มได้ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง แต่กรณีลูกจ้างมีรายได้ไม่เกิน 1 หมื่นบาทที่มีอยู่ราว 50% จะให้นายจ้างเป็นคนส่งเงินฝ่ายเดียว
 
 
กสร.ถกผู้แทนสถานฑูตอเมริกา หาแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) หารือร่วมกับ Ms. Erin L Castro หัวหน้าฝ่ายงานวิจัยและนโยบาย (Chief of Research and Policy Division) และนางสาวชื่นชม ทองเย็น ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ณ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อหารือเรื่องการจัดทำข้อมูลการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ตามข้อคำถามของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการประเมินผลการดำเนินงานของไทยในปีถัดไป ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับประเด็นการเพิ่มพนักงานตรวจแรงงานให้มีจำนวนเพียงพอเหมาะสมกับสัดส่วนของสถานประกอบกิจการในประเทศ การพัฒนาระบบตรวจแรงงานและศักยภาพพนักงานตรวจแรงงาน การมีล่ามสื่อภาษาสำหรับแรงงานต่างด้าว รวมถึงการตรวจแรงงานกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ทั้งแรงงานนอกระบบและผู้รับงานไปทำที่บ้าน เป็นต้น
 
นายสุเมธ กล่าวเพิ่มเติมว่ารัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ได้มีการบูรณาการความร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในฐานะที่กสร.เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลในเรื่องของการจ้างแรงงานเด็กให้มีสภาพการจ้าง สภาพการทำงานที่เป็นธรรม แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องของบุคลากร คือ จำนวนพนักงานตรวจแรงงาน แต่ก็ได้กำชับให้หน่วยปฏิบัติของกสร. ได้แก่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครเขตทั้ง 10 เขต ตรวจสภาพการจ้างการทำงานของลูกจ้างเด็กอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในสถานประกอบกิจการที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น งานแปรรูปอาหารทะเล งานฟาร์มเลี้ยงไก่ งานเกษตรกรรม งานตัดเย็บเสื้อผ้า ร้านอาหาร บริการ และปั๊มน้ำมัน เป็นต้น เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กอย่างไม่ถูกต้อง และขจัดการแสวงหาประโยชน์จากการใช้แรงงานเด็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หากตรวจพบว่านายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้ดำเนินคดีทันที โดยมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในปีงบประมาณที่ผ่านมาได้ดำเนินคดีนายจ้างไปแล้ว 24 คดี เป็นเงิน 1,246,000 บาท ทั้งนี้กสร.กำลังดำเนินการพิจารณาแก้ไขโทษทางกฎหมายกรณีใช้แรงงานเด็กให้สูงขึ้นด้วย
 
 
นอภ.หนองใหญ่ จี้บริษัทผลิตแปรงสีฟันรับผิดชอบพนักงานกว่า 100 คน หลังถูกลอยแพ
 
จากกรณีพนักงานบริษัทสยาม อินเตอร์ บรัช จำกัด ผลิตแปรงสีฟัน ในเขตอำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี กว่า 100 คน พากันรวมตัวประท้วงหลังถูกลอยแพ จากโรงงานปิดกิจการหนีโดยไม่ยอมแจ้งให้แก่ทางพนักงานทราบล่วงหน้า และไม่ยอมจ่ายเงินค่าทดแทนกว่า 6 ล้านบาท ตามกฎหมายแรงงาน
 
ความคืบหน้าล่าสุด วันนี้ (8 พ.ย.) นายพิสิษฐ สิริสวัสดินุกูล นายอำเภอหนองใหญ่ จ.ชลบุรี กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า ตน พร้อมด้วย นายกมล นายกเทศมนตรีตำบลหนองใหญ่ และเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชลบุรี ได้เข้าไปสอบสวนต่อผู้บริหาร บริษัทสยาม อินเตอร์บรัช จำกัด ทราบว่า บริษัทฯ แห่งนี้ได้เช่าพื้นที่ตั้งโรงงานเพื่อผลิตแปรงสีฟันมานานกว่า 20 ปี ซึ่งระยะหลังมักจะมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งในกลุ่มผู้บริหาร จนกระทั่งมาปิดตัวลงโดยไม่ได้แจ้งพนักงานล่วงหน้ากว่า 100 คน ทำให้ถูกลอยแพ แต่ค่าจ้างแรงงานนั้นไม่ได้ติดค้างเพราะโรงงานจ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน และจ่ายให้ทุกวัน แต่ตามข้อกฎหมายแรงงาน เมื่อโรงงานปิดตัวต้องแจ้งล่วงหน้า และต้องจ่ายค่าเลิกจ้าง และค่าโบนัสของแต่ละคนที่ทำงานมานาน ซึ่งบางคนทำมานานกว่า 20 ปี บางคนนานกว่า 10 ปี รวมแล้วต้องจ่ายเงินค่าทดแทนกว่า 6 ล้านบาท ซึ่งโรงงานต้องรับผิดชอบจ่ายดังกล่าว
 
โดยจากการตรวจสอบพบว่า ก่อนโรงงานปิดตัว กรรมการผู้จัดการบริษัทสยาม อินเตอร์บรัช จำกัด ได้ลาออกยกชุด ทำให้เกิดความวุ่นวายเพราะต้องหาคนที่มารับผิดชอบจ่ายเงินตรงนี้
 
ด้านเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชลบุรี กล่าวว่า หากไม่มีใครออกมารับผิดชอบ ทางสำนักงานฯ จะเป็นธุระเข้าไปแจ้งความต่อศาลแรงงานต่อไป โดยเบื้องต้น ต้องหาเงินก้อนแรกออกมาเยียวยาพนักงานเหล่านี้ไปก่อน จนกระทั่งเมื่อศาลแรงงานพิพากษาจนได้เงินจากโรงงาน ก็จะนำมาคืน โดยจะต้องแจ้งพนักงานให้ทราบต่อไป
 
 
สมาคมรวมไทยในฮ่องกง กลุ่มปกป้องสิทธิแรงงานผู้ช่วยแม่บ้าน แถลงข่าว ให้กรมแรงงานฮ่องกงแสดงความชัดเจนลงในสัญญาจ้างให้ใส่อุปกรณ์ที่ปลอดภัย การกำหนดระยะเวลาการทำงาน การย้ายนายจ้าง
 
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน 2559 สมาคมรวมไทยในฮ่องกง ร่วมกับกลุ่มปกป้องสิทธิแรงงานผู้ช่วยแม่บ้าน ชื่อ Asian Migrant Coordinating Body (AMCB) แถลงข่าวสื่อฮ่องกงเพื่อเรียกร้องสิทธิของแรงงานผู้ช่วยแม่บ้านต่างชาติฮ่องกง ดังนี้
 
1. เรื่องการทำความสะอาดหน้าต่าง หลายชีวิตของแรงงานผู้ช่วยแม่บ้านหญิงข้ามชาติได้เสียชีวิตจากการพลัดตกจากการทำความสะอาดหน้าต่าง เราจึงได้เรียกร้องให้กรมแรงงานฮ่องกงแสดงความชัดเจนลงในสัญญาจ้างถึงบริเวณการเช็ดหน้าต่างตามที่กรมแรงงานฮ่องกงจะกำหนดขึ้นใหม่ คือ ทำชั้นล่างสุด ชั้นอื่นต้องมีระเบียงและการใส่อุปกรณ์ที่ปลอดภัย และต้องมีคนอยู่ด้วย กรมแรงงานฮ่องกงจะเพิ่มเติมลงในสัญญาจ้าง แต่จะมีผลเฉพาะคนทำสัญญาจ้างใหม่ ไม่ครอบคลุมถึงลูกจ้างที่ทำงานอยู่แล้วซึ่งมีถึงกว่า 350,000 คน จึงเรียกร้องให้สัญญาจ้างต้องครอบคลุมลูกจ้างทั้งหมด
 
2. เรื่อง กำหนดระยะเวลาชั่วโมงการทำงานให้ชัดเจน จากการสำรวจพบว่า ลูกจ้างทำงานวันละ 16-19 ชั่วโมง และถูกเรียกใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน และสุขภาพของแรงงานอ่อนแอลง จนถึงขั้นล้มป่วยจนทำงานไม่ได้
 
3. เรื่อง การไม่ออกวีซ่าให้แรงงานที่เปลี่ยนนายจ้างบ่อย เรียกว่า ขึ้นบัญชีดำ ซึ่งถือว่า ไม่ได้เป็นความผิดของลูกจ้าง แต่เกิดจากลูกจ้างถูกยกเลิกสัญญาจ้าง หรือถูกนายจ้างปฏิบัติผิดสัญญาจ้างจึงต้องลาออก เพื่อหานายจ้างใหม่
 
ขณะนี้เราได้ขอรับการสนับสนุนลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลฮ่องกงได้มีการกำหนดกฎหมายให้ชัดเจน และจะยื่นอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 18 ธันวาคม 2559 ซึ่งเป็นวันแรงงานข้ามชาติสากล
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท