หนี้เสียพุ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี เอสเอ็มอีตึงตัวมาก เริ่มชักดาบ-ฟ้องร้องหลายคดีแล้ว

ธปท.รายงานเอ็นพีแอล ภาคธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 สูงสุดในรอบ 5 ปี รองประธานสภาองค์การนายจ้างฯ เผย สภาพคล่องเอสเอ็มอีตึงตัวมาก เหตุส่งออกติดลบหรืออาจโตร้อยละ 0 แรงซื้อภายในซึมยาวด้วยหลายปัจจัย บางส่วนเริ่มไม่ชำระหนี้ และเริ่มมีการฟ้องร้องกันหลายคดีแล้ว

ที่มาเว็บ ธปท.

14 พ.ย. 2559 จากเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงผลการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ของไทยในไตรมาส 3 ของปี 2559 ระบุว่า คุณภาพสินเชื่อด้อยลงอย่างต่อเนื่องทั้งในสินเชื่อธรุกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อ SME และสินเชื่ออุปโภคบริโภค  สัดส่วน NPL หรือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.89 จากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 2.72 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

วันนี้ (14 พ.ย.59) มติชนออนไลน์และไทยรัฐออนไลน์รายงานด้วยว่า ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในภาคธุรกิจยังคงขยายตัวต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2560 โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เนื่องจากขณะนี้สภาพคล่องเอสเอ็มอีตึงตัวมาก เพราะการส่งออกปี 2559 ติดลบหรืออาจโตร้อยละ 0 ขณะที่แรงซื้อภายในประเทศยังคงซึมยาวด้วยหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยราคาข้าวที่ตกต่ำจนกระทบเป็นห่วงโซ่ไปยังภาคการผลิตอื่น

ธนิต กล่าวด้วยว่า ธปท. รายงานเอ็นพีแอล ภาคธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 สูงสุดในรอบ 5 ปี และมองว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ถือว่ามีความระมัดระวังปล่อยกู้อย่างเข้มงวด ก็ยังทำให้เอ็นพีแอลอยู่ในอัตราที่สูง แต่ไม่มีใครพูดถึงเอ็นพีแอลในภาคธุรกิจที่กำลังเป็นปัญหาโดยเฉพาะเอสเอ็มอี และเมื่อถึงสิ้นปีนี้ธนาคารพาณิชย์ก็จะมาดูสินเชื่อต่างๆโดยเฉพาะเงินกู้เบิกเกินบัญชี ที่คาดว่าเอ็นพีแอลของภาคธุรกิจจะขยายตัวถึงต้นปี 2560 เพราะมีสัญญาณค่อนข้างชัดเจน ในวงการค้ามีการขยายเครดิตจาก 30-90 วันเป็น 90-120 วัน และบางส่วนเริ่มไม่ชำระหนี้ และเริ่มมีการฟ้องร้องกันหลายคดีแล้ว
 
ทั้งนี้ ในปัจจุบันธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากภาวะส่งออกของไทยปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาในปีนี้ ทำให้คาดว่าในไตรมาสแรกของปี 2560 ตนก็คาดว่าจะยังทรงตัวต่อเนื่อง เพราะปัญหาหลักจากรายได้เกษตรกรที่เป็นกำลังซื้อขนาดใหญ่ ยังไม่ฟื้นตัวและอาจตกต่ำลงโดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ขณะที่สินค้าเกษตรอื่นๆทั้งยางพารา มันสำปะหลัง ราคาก็ทรงตัว มีเพียงอ้อยที่คาดว่าจะมีราคามากที่สุด
 
ธนิต กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนของภาคเอกชนคาดว่าจะยังทรงตัวไปจนถึงกลางปี 2560 เนื่องจากอัตรากำลังการผลิตภายในประเทศยังคงมีเหลืออยู่เฉลี่ย้อยละ 30 ขณะเดียวกันกำลังซื้อในประเทศคาดว่าจะยังซึมและทรงตัวไปอีกระยะหนึ่ง และเอกชนบางส่วนรอทิศทางชัดเจนการเลือกตั้งของไทย แต่อาจมีเอกชนที่วางแผนและลงทุนไปแล้วล่วงหน้า ส่วนการส่งออกต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกใกล้ชิดโดยเฉพาะหลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ว่าจะดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงมากน้อยเพียงใด
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท