Skip to main content
sharethis

 

 
ร้องช่วย 21 หญิงชราถูกหลอกขายแรงงานมาเลย์
 
ครอบครัวของหญิงสูงอายุหลายรายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เข้าร้องทุกข์กับทีมล่าความจริงว่า มารดาและภรรยาของพวกเขาถูกส่งไปขายแรงงานในประเทศมาเลเซีย แล้วขาดการติดต่อ ขณะนี้ไม่ทราบชะตากรรม คาดว่าอาจถูกจับกุมเพราะไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือไม่ก็ถูกลวงไปขอทาน
 
นายมามะกาดี สุหลง ชาวอำเภอยะหา จังหวัดยะลา เปิดเผยกับทีมล่าความจริงบว่า มารดาของตน คือ นางฮามิด๊ะ สาและ วัย 57 ปี ได้รับการชักชวนจากนายหน้าค้าแรงงานในพื้นที่ โดยอ้างว่าจะพาไปทำงานขายของที่รัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย เดินทางไปพร้อมกับคนอื่นๆ อีกรวม 21 คน ข้ามแดนทางรถยนต์ที่ด่านนอก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา จากนั้นก็ขาดการติดต่อไป คาดว่ามารดาและคนอื่นๆ อาจถูกตำรวจมาเลเซียจับกุม เพราะไม่มีใบอนุญาตทำงาน จึงวิงวอนขอให้หน่วงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือด้วย
 
นายมามะกาดี บอกด้วยว่า นายหน้าค้าแรงงานอ้างว่าต้องการหาหญิงชราไปขายของในมาเลเซีย โดยให้เตรียมเสื้อผ้าเก่าๆ ไป คนจะได้สงสารและซื้อของ แต่เมื่อเดินทางไปแล้วกลับติดต่อไม่ได้อีกเลย ทราบข่าวเพียงว่ามารดาไปขายของได้ 2 วันก็ถูกจับกุมที่รัฐยะโฮร์ ก็ได้พยายามหาทางช่วยเหลือ โดยนายหน้าค้าแรงงานรับปากว่าจะติดต่อประสานงานให้ ปรากฏว่าเสียเงินไปอีกหลายหมื่นบาท แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า จากเรื่องที่เกิดขึ้นทำให้บิดาล้มเจ็บ และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา เพิ่งทำพิธีฝังไปเมื่อวานนี้
 
สำหรับหญิงสูงอายุรายอื่นๆ ที่คาดว่าเดินทางไปด้วยกัน เท่าที่ทราบชื่อได้แก่ นางลิเยาะ สุหลง อายุประมาณ 80 ปี เป็นชาวจังหวัดปัตตานี นางสาวสะละมา บาโล อายุ 51 ปี เป็นชาวอำเภอกาบัง จังหวัดยะลา นางลีหม๊ะ เจะโด อายุ 65 ปี เป็นชาวอำเภอกาบังเช่นกัน และ นางกอรีเยาะ สาแม อายุ 53 ปี เป็นชาวอำเภอรามัน จังหวัดยะลา
 
นายบอรอเฮง ดาแม ชาวปัตตานี บอกว่า มารดาของตนชื่อ นางกอยะห์ กาเจมูซอ อายุ 50 ปี เป็นอีกคนหนึ่งที่เดินทางไปพร้อมกับหญิงสูงอายุคนอื่นๆ ที่ผ่านมาได้พยายามขอให้นายหน้าที่มาติดต่อช่วยติดตาม แต่ถูกนายหน้าเรียกเงิน 2 หมื่นบาท ซึ่งตนไม่มีให้ จึงไม่รู้จะทำอย่างไร
 
นายฮารง มะยิ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านเจาะกลาดี อำเภอยะหา จังหวัดยะลา กล่าวว่า มีชาวบ้านมาร้องเรียนเรื่องนี้ จึงขับรถข้ามไปตามหาที่เมืองยะโฮร์บารู อยู่ในรัฐยะโฮร์ประมาณ 4 วัน แต่ไม่เจอกลุ่มหญิงสูงอายุที่ข้ามไปทำงาน ทราบแต่เพียงคำบอกเล่าของคนที่นั่นว่าถูกจับกุมดำเนินคดี และส่งไปบ้านพักคนชรา จึงอยากให้หน่วยงานรัฐ เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ให้ความช่วยเหลือด้วย
 
ด้านนายดำรงค์ ใคร่ครวญ เอกอัครราชทูตไทยประจำกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย กล่าวกับทีมพิกัดข่าวฯว่า ได้รับทราบเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว และได้ประสานทางกงสุลไทยที่รับผิดชอบพื้นที่เร่งตรวจสอบเป็นการด่วน
 
มีรายงานจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ว่า หญิงชราทั้งหมดอาจถูกหลอกไปขายแรงงาน หรือไปเป็นขอทาน และถูกจับกุมโดยตำรวจมาเลเซีย
 
 
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เรียกร้องให้ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินงานกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย
 
นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินงานของนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย (THAI) เนื่องจากแม้จะใช้มาตรการลดค่าใช้จ่าย ลดจำนวนบุคลากรตามแผนฟื้นฟูปฎิรูปองค์กร แต่กลับไม่เป็นไปตามแผนและการคาดการณ์ว่าบริษัทจะกลับมามีกำไร เป็นสายการบินชั้นนำ และดำรงอยู่อย่างยั่งยืน
 
"มาตรการต่าง ๆ ที่นำมาใช้ ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ปรากฎผลชัดเจนว่าประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย และการลดค่าใข้จ่ายพนักงานระดับล่างแต่ฝ่ายเดียวได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประสิทธิภาพของงาน ขวัญกำลังใจและความภักดีต่อองค์กรมากขึ้น ๆ เป็นลำดับ"สหภาพฯ ระบุ
 
ทั้งนี้ สหภาพฯ ระบุในหนังสือร้องเรียนว่า นโยบายการหารายได้ตามแผนฟื้นฟูฯ นั้นปรากฎรายงานทางบัญชีในช่วงเวลาเดียวกันตั้งแต่ปี 57-59 มีอัตราที่ลดต่ำลง ทั้งที่ในปี 59 ไม่มีปัญหาทางการเมือง ประกอบกับราคาน้ำมันลดต่ำลง แม้จะมีการยกเลิกเส้นทางการบินที่ขาดทุน แต่กลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงตัวบุคคลหรือวิธีการขายใหม่
 
อีกประการอาจเกิดจากนโยบายลงทุนที่มุ่งเน้นผู้โดยสารที่มีเงินมาก แต่เป็นกลุ่มน้อยโดยละเลยผู้โดยสารที่มีฐานะด้อยกว่าแต่เป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ ทำให้สูญเสียลูกค้ากลุ่มใหญ่
 
สำหรับปัญหาขาดทุนตั้งแต่ปี 57-58 หากพิจารณาตามบัญชี พบว่าสาเหตุใหญ่น่าจะมาจากการคำนวณการด้อยค่าสินทรัพย์และการด้อยค่าเครื่องบินที่สูงผิดปกติ เนื่องจากมีความเร่งรีบในการปลดระวางเครื่องบินทั้งที่ยังมีอายุการใช้งานเหลืออยู่ ไม่ใช่ขาดทุนจากการดำเนินการ แต่สำคัญคือบริษัทฯมีเงินเหลือตามมูลค่าของการด้อยค่า
 
โดยการด้อยค่าสินทรัพย์ เชื่อว่าใช้เป็นเหตุอ้างความต้องการขายสินทรัพย์ให้กับบุคคลใกล้ชิดเช่น อาคารสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั้งที่สามรถลงทุนบริการให้เกิดประโยชน์ระยะยาวได้ ส่วนการด้อค่าเครื่องบิน ข้อเท็จจริงหรือเร่งปลดระวางเครื่องบินทั้งที่ยังมีอายุใช้งานนั้น น่าเชื่อว่าใช้เป็นเหตุอ้างความต้อวการซื้อเครื่องบินใหม่
 
ในด้านการลงทุน บริษัทฯมุ่งเน้นลงทุนเพื่อการบริหารผู้โดยสารเท่านั้น แต่หน่วยงานที่สร้างรายได้ เช่น ฝ่ายคลังสินค้า ฝ่ายครัวการบิน ฝ่ายช่าง ฝ่ายบริการภาคพื้นดิน ไม่มีการลงทุนเพิ่มเพื่อให้สามารถหารายได้เพิ่มแต่อย่างใด
 
ส่วนการปรับลดกำลังคน มุ่งเน้นแต่การลดจำนวนพนักงานให้ได้ตามเป้าหมาย โดยไม่มีการพิจารณาให้รอบคอบถึงผลกระทบต่อการบริการและประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย มีผลให้บริษัทฯ รับภาระเรื่องค่าล่วงเวลามากขึ้น นอกจากนี้ การว่าจ้างที่ปรึกษาจำนวนมากในราคาสูง ปรากฎผลให้บริษัทฯมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ไม่สร้างผลกำไรที่คุ้มค่า และกลับสร้างความขัดแย้งในองค์กร
 
นอกจากนั้น ยังละเลยไม่สนใจดูแลพนักงานผู้น้อย เช่น พนักงานเดือดร้อนจากการถูกหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ในฐานะผู้ค้ำประกันผู้กู้ที่ได้ลาออกจากบริษัท หนีหรือตาย ซึ่งพนักงานดิ้นรถด้วยการลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อดำรงชีพทำให้เสียโอกาสรับเงินในส่วนที่บริษัทออกให้ นอกจากนั้น เงิน Incentive ของพนักงานที่นายจรัมพรได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ต.ค.จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการ และการขึ้นเดือน 2% ตามมติครม.ก็ยังไม่นำเข้าสู่การพิจารณา
 
"สหภาพฯ เห็นว่า การบริหารงานตามนโยบายภายใต้การนำของนายจรัมพร โชติกเสถียร นั้นไม่สามารถสร้างรายได้ให้มีประสิทธิภาพตามนโยบายและน่าเชื่อว่ามีการคำนวณค่าใช้จ่ายการด้อยค่าสินทรัพย์และเครื่องบินเกินความจริง โดยมีเจตนาแอบแฝงอื่น ผลการขาดทุนจึงไม่ใช่การขาดทุนจากการดำเนินการโดยแท้จริง"สหภาพฯ ระบุ
 
 
กระทรวงแรงงานเผยสถานการณ์แรงงานเดือน ต.ค. ปกติ โดยมียอดผู้ว่างงานอยู่ที่ 3.3 แสนคน หรือ 0.9%
 
นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยผลการประชุมกระทรวงแรงงาน ว่าที่ประชุมได้มีการรายงานสถานการณ์ด้านแรงงาน ซึ่งสถานการณ์แรงงานในเดือนตุลาคม ยังอยู่ในระดับปกติเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยมีจำนวนคนว่างงานอยู่ที่ 330,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.9 จากผู้อยู่ในกำลังแรงงานที่ 38.28 ล้านคน ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาสานต่อและปรับใช้กับกระทรวงแรงงาน
 
รวมถึงการเตรียมการจัดอุปสมบทหมู่เพื่อถวายเป็นพระราชจัดให้มีพิธีอุปสมบท จำนวน 89 รูป เพื่ออุทิศพระราชกุศล น้อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ ที่วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก จากนั้นจะไปปฏิบัติธรรมและจำวัด เป็นเวลา 18 วัน ณ ศาลาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี จะครบกำหนดลาสิกขา ในวันที่ 20 ธันวาคม 2559 ซึ่งจะมีข้าราชการ นายจ้าง ลูกจ้าง เครือข่ายภาคแรงงาน ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมอุปสมบทเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในครั้งนี้
 
 
เปิดเฟสบุ๊คป้องกันหลอกแรงงานไปนอก
 
นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ในฐานะรองโฆษกกระทรวงแรงงานฯ เปิดเผยว่า ภายหลังปรากฏข่าวการหลอกหลวงคนหางานไทยไปต่างประเทศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆเช่น เฟสบุ๊ค ไลน์ และอินสตาแกรม ทางกรมการจัดหางาน จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ปคม., ปอท., ดีเอสไอ, กระทรวงไอซีที ,กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันเฝ้าระวัง ตรวจสอบและสืบหาเบาะแสบนสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาคนหางานถูกหลอกลวง โดยเพิ่มช่องสื่อสารผ่านเฟสบุ๊ค ชื่อว่า เพื่อนคู่คิด มิตรแรงงานไทย ควบคู่กับเว็บไซด์กรมการจัดหางาน เพื่อสอบถามข้อมูลการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ การร้องทุกข์ และสอบถามข้อมูลต่างๆ ด้วย
 
 
'จรัมพร' เคลียร์สหภาพ คลี่ปมขัดแย้งในบินไทย
 
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงกรณีที่ สหภาพแรงงานแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ได้ไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2559 ว่า ที่ผ่านมา ตนได้มีการพบปะพูดคุยกับตัวแทนสหภาพมาโดยตลอด
 
ทั้งนี้ ประเด็นข้อร้องเรียนต่างๆ บริษัท ได้มีการพูดคุยกับตัวแทนสหภาพ ไปแล้วเมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา และบริษัท ได้มีการพิจารณาข้อร้องเรียนต่างๆ และดำเนินการแก้ไขปัญหา ได้แก่ กรณีความเดือดร้อนของพนักงานที่เกิดจากภาระหนี้สินของผู้ค้ำประกันสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานการบินไทย นั้น ทราบว่าทางสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ได้พิจารณามาตรการเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้กับพนักงานแล้ว
 
นอกจากนี้ บริษัท ยังได้เร่งดำเนินการเรื่องการจ่ายเงินตอบแทนผลการปฏิบัติงาน (Incentive) การแก้ปัญหาการปรับขึ้นเงินเดือนที่ล่าช้า โดยในปี 2560 ให้มีการกำหนดการบริหารจัดการเรื่องการประเมินผลการปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 เพื่อให้การพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีของพนักงานรวดเร็วขึ้นอีกด้วย
 
ส่วนกรณีที่กล่าวว่ามีการด้อยค่าแล้วจำหน่ายสินทรัพย์ให้กับคนใกล้ชิด ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากสินทรัพย์ที่ด้อยค่าส่วนใหญ่เป็นเครื่องบิน
 
 
ม.44 สั่งแก้ไข พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ปลดล็อกบังคับ รปภ.จบ ม.3
 
ราชกิจจาฯ เผย หน.คสช.ใช้ ม.44 สั่งแก้ไข พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ปลดล็อกบังคับ รปภ.จบ ม.3 เหตุเรื่องความพร้อม-การรับรู้ หวั่นกระทบ ก.ม.-ความสงบเรียบร้อย มีผลต่อสาธารณะ
 
เมื่อวันที่ 10 พ.ย.59 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 67/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธุรกิจรักษาความปลอดภัย มีรายละเอียดระบุว่า ตามที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 ในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนด หนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป ด้วยเหตุที่ต้องเตรียมการต่างๆ อันพึงต้องกระทําเพื่อให้การใช้บังคับกฎหมาย แก่พนักงานรักษาความปลอดภัยจํานวนหลายแสนคน และบริษัทรักษาความปลอดภัยจํานวนหลายพันแห่ง เป็นไปด้วยความเรียบร้อยนั้น เนื่องจากการตราอนุบัญญัติและการกําหนดมาตรการรองรับตามที่กฎหมายบัญญัติยังคงมีปัญหาขัดข้อง ทําให้มีผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นจํานวนมาก เพราะเหตุแห่งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของพนักงานรักษาความปลอดภัย ทั้งที่ประกอบอาชีพนี้อยู่แต่เดิมและที่จะเข้าสู่อาชีพนี้ในอนาคต แม้มีบทเฉพาะกาลยกเว้นหรือผ่อนผันไว้ให้แล้วในบางเรื่อง และหน่วยงานราชการต่างๆ ก็ให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขข้อขัดข้องต่างๆ แต่ผลกระทบต่อความรับรู้ความเข้าใจและการปรับตัวให้เข้ากับกฎเกณฑ์ใหม่ยังคงมีอยู่
 
นอกจากนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินยังได้ให้ข้อสังเกตและคําแนะนํามาหลายประการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลจึงได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาหารือแล้วมีความเห็นร่วมกันว่า แม้เจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมุ่งจัดระเบียบธุรกิจรักษาความปลอดภัยให้ผู้ประกอบอาชีพนี้มีความพร้อมทั้งทางสมรรถนะ วุฒิภาวะ และทัศนคติ จะเป็นเรื่องที่ดีเพื่อให้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจให้ดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้อื่น แต่จากเหตุขัดข้องในด้านความพร้อม การรับรู้ และความเข้าใจของผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย และพนักงานรักษาความปลอดภัย รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาจมีผลให้การใช้ บังคับกฎหมายกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและประโยชน์สาธารณะได้ จึงจําเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 ในบางประการ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้
 
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (3) ให้เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศกําหนดให้ผู้บัญชาการตํารวจนครบาลเป็นกรรมการและเลขานุการ และข้าราชการตํารวจยศพันตํารวจตรีขึ้นไปในกองบัญชาการตํารวจนครบาล ซึ่งผู้บัญชาการตํารวจนครบาลแต่งตั้งจํานวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ"
 
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (3) ของ ก. ของมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจ รักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "(3) สําเร็จการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับที่ใช้อยู่ในขณะที่สําเร็จการศึกษา"
 
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 73 ผู้ใดประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากประสงค์จะประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยต่อไป ให้ยื่นคําขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง ภายในสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคําขอแล้ว ให้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคําสั่งไม่อนุญาตจากนายทะเบียน"
 
ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 74 ผู้ใดเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในสังกัดของผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคําขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง ภายในสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อยื่นคําขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้ประกอบอาชีพต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคําสั่งไม่อนุญาตจากนายทะเบียน ทั้งนี้ มิให้นํามาตรา 34 ก. (3) และมาตรา 34 ข. (3) มาใช้บังคับกับบุคคลดังกล่าว"
 
ข้อ 5 ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้
 
ข้อ 6 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
สั่ง ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2559 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
 
 
คลังสนับสนุนกระทรวงแรงงานฯแก้ไขกฎหมายประกันสังคม เพื่อให้เงินกองทุนประกันสังคมมีเพียงพอรองรับการจ่ายสวัสดิการให้สมาชิกได้ถึง 100 ปีข้างหน้า
 
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเห็นด้วยและต้องการเร่งรัดให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคมภายใต้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เพื่อยืดอายุกองทุนประกันสังคมให้อยู่ถึง 100 ปีนับจากนี้ โดยสาระของการแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคม คือ การยืดอายุการเกษียณของสมาชิก การเพิ่มเงินนำส่งเข้ากองทุน และการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง
 
“เราสนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมในประเด็นดังกล่าว เพื่อให้กองทุนประกันสังคม เป็นอีกขาหนึ่งที่สำคัญในระบบการออมเพื่อเกษียณอายุของแรงงานในระบบ หลังจากที่กระทรวงการคลัง ได้ผลักดันกฎหมายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติที่เพิ่งผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีผลให้เกิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ จากปัจจุบันที่กฎหมายให้เป็นภาคสมัครใจ”
 
ทั้งนี้ International Labour Organization ( ILO)หรือองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ได้เคยศึกษาว่า หากรัฐบาลไทยไม่ดำเนินการแก้ไขสถานะของกองทุน ภายในปี 2597 เงินกองทุนประกันสังคม จะไม่เพียงพอต่อการจ่ายให้แก่สมาชิก แต่หากแก้ไขในประเด็นใหญ่ดังกล่าว จะทำให้สถานะเงินกองทุน สามารถยืนอยู่ได้จนถึงปี 2697
 
“สาเหตุหลักของเงินกองทุนที่จะหมดไป ก็เหมือนกันกับในต่างประเทศ ที่เงินเข้ากองทุนน้อย แต่เงินที่จะออกจากกองทุนมาก กรณีประกันสังคมของไทย มีเงินเข้าเพียง 6% ของค่าจ้าง แต่มีเงินออกประมาณ 20% ของค่าจ้าง ฉะนั้น ก็เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข”
 
สำหรับแนวทางของการแก้ไขปัญหาสถานะของเงินกองทุนประกันสังคม ใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.แก้ไขอายุการเกษียณของสมาชิก จากปัจจุบันที่กองทุนประกันสังคม กำหนดอายุเกษียณ ที่จะทำให้สมาชิกได้รับเงินบำนาญรายเดือนไว้ที่อายุ 55 ปี จะต้องปรับเพิ่มขึ้นเป็น 60 ปี โดยเป็นการทยอยปรับขึ้น กล่าวคือ จะปรับอายุเกษียณ เพิ่มขึ้น 1 ปี ในทุกๆ 5 ปี จนกระทั่งครบ 60 ปี
 
2.การเพิ่มเงินนำส่งเข้ากองทุน จากปัจจุบันที่สมาชิกกองทุนประกันสังคม ฝ่ายลูกจ้าง และนายจ้าง จ่ายเข้ากองทุน ฝ่ายละ 5 % ของเงินเดือนลูกจ้าง แต่กำหนดเพดานเงินเดือนสูงสุดไว้ไม่เกิน 15,000บาท/เดือน ส่วนภาครัฐ สมทบให้เงินกองทุนอีก 2.75%การปรับแก้ไขโดยการเพิ่มเงินนำส่ง ฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง เพิ่มขึ้นเป็นฝ่ายละ 9 % ของเงินเดือนสุดสุดไม่เกิน 2 หมื่นบาท ส่วนเงินสมทบภาครัฐ อาจจะไม่ปรับเพิ่ม
 
3.การแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ในประเด็นเรื่องการลงทุนของกองทุน ในปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้กองทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ไม่ต่ำกว่า 60 % ส่วนสินทรัพย์เสี่ยง ไม่เกิน 40 % แต่ในปัจจุบันกองทุนประกันสังคมได้ออกกฎกระทรวง กำหนดให้ลงทุนในสินทรัพย์มั่นคงสูงถึง 80 % และสินทรัพย์เสี่ยง 20 % ซึ่งการแก้ไขเงื่อนไขของการลงทุนนั้น ไม่ได้ปรับสัดส่วนของการลงทุนระหว่างสินทรัพย์มั่นคงสูง กับสินทรัพย์เสี่ยง แต่เป็นการเพิ่มประเภทของสินทรัพย์เสี่ยงที่จะสามารถลงทุนได้ ให้มีขอบเขตที่กว้างขึ้น เช่น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
 
ในปัจจุบัน กองทุนประกันสังคม มีเงินในกองทุนรวมกันราว 1.4 ล้านล้านบาท และมีสมาชิกรวมกันราว 12 ล้านคน โดย 90 %ของเงินกองทุน เป็นเงินกองทุนเพื่อชราภาพ
 
 
เตือนแรงงานถูกตุ๋นทำงานลิเบีย
 
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน นายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับร้องทุกข์จากสำนักงานแรงงานกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ว่ามีแรงงานไทย 6 คน ถูกหลอกลวงไปทำงานที่ประเทศลิเบีย โดยได้รับการแนะนำจากนายหน้าที่ไม่ได้แจ้งด่านตรวจ เมื่อพาเดินไปแล้วกลับถูกกักบริเวณ และไม่มีงานให้ทำตามที่ตกลง ไม่มีค่าจ้าง และยังขาดแคลนอาหาร และได้เร่งให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังได้รับรายงานเพิ่มเติมว่าจะมีคนงานจาก จ.ขอนแก่น จ.นครพนม และพื้นที่ใกล้เคียง เดินทางไปเพิ่มอีก 20 คน จึงได้ประกาศเตือน เนื่องจากทางประเทศลิเบีย มีเหตุการณ์สงครามกลางเมือง การก่อจลาจล ไม่มีความปลอดภัย
 
 
อ้างขาดทุนปิดโรงงานแปรงสีฟันลอยแพลูกจ้าง-นัดเจรจาอีกรอบ
 
นายจ้างนัดเจรจาเคลียร์เงินชดเชยค่าเลิกจ้างล่วงหน้ากว่า 6 ล้านกับ 12 ตัวแทนอดีตพนักงานโรงงานผลิตแปรงสีฟันรายใหญ่ หลังถูกสั่งปิดกิจการ ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า คนงานถูกลอยแพ 92 คน นายจ้างอ้างรายได้ไม่ดีจึงปิดโรงงาน นัดเจรจาอีกครั้ง 23 พ.ย. พนักงานโรงงานสุดเซ็ง
 
หลังจากเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อดีตพนักงานจำนวน 92 คนของบริษัทผลิตแปรง สีฟัน บริษัท สยาม อินเตอร์ บรัช จำกัด ในเขต อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี พากันรวมตัวประท้วงหลังถูกลอยแพจากโรงงานปิดกิจการหนี โดยไม่ยอมแจ้งให้กับทางพนักงานทราบล่วงหน้า ไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยและค่าบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้ากว่า 6 ล้านบาท ตามกฎหมายแรงงาน ทำให้พนักงานทั้งหมดถูกลอยแพ ไม่มีงานทำและไม่มีเงินที่จะมีบริโภคใช้จ่ายในครอบครัว เดือดร้อนอย่างมาก
 
ล่าสุด นายพิสิษฐ สิริสวัสดินุกูล นายอำเภอหนองใหญ่ จ.ชลบุรี พร้อมนายกมล เวทย์ประเสริฐกุล นายกเทศมนตรีตำบลหนองใหญ่ และนางสุวรรณ ขันทิวิดิษฐ์ เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชลบุรี ได้ทำการติดตามนายวิมล เหล่าหะกิจวิฑูรณ์ อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท สยาม อินเตอร์บรัช จำกัด ซึ่งลาออกไปพร้อมกับกรรมการอื่นๆ รวม 6 คน ก่อนปิดโรงงาน เพื่อจะนัดเจรจาไกล่เกลี่ยจ่ายเงินชดเชย 6 ล้านบาทให้แก่พนักงานทั้งหมด
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายวิมล อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท สยามฯ เดินทางมาเพื่อเจรจากับ 12 ตัวแทนของพนักงานทั้งหมด 92 คนที่ถูกลอยแพ โดยมีนายกมล นายกเทศมนตรีตำบลหนองใหญ่ ร่วมประชุมเจรจาด้วย โดยตัวแทนพนักงานได้นำเอกสารเงินชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามระยะเวลาของคนที่ทำงานรวมแล้วเป็นเงินกว่า 6 ล้านบาท ให้นายวิมลรับทราบ
 
แต่นายวิมลบอกว่า เนื่องจากโรงงานมีรายได้ไม่ดี ผู้บริหารขัดแย้งกัน ในที่สุดจึงต้องปิดโรงงานโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า แต่โรงงานจ่ายเงินค่าจ้างเป็นรายวันให้กับพนักงานทุกคนอยู่แล้ว จึงอยากจะขอให้ลดราคาลงไปอีก และจะไปเจรจากับอดีตกรรมการที่ลาออกทั้งหมดอีก 6 คน ว่าจะจ่ายเงินให้อย่างไร โดยจะนัดมาเจรจาอีกครั้งในวันที่ 23 พ.ย.ที่จะถึงนี้ แต่ตัวแทนพนักงานไม่เห็นด้วยที่จะให้ลดค่าชดเชย เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาทางโรงงานมีรายได้ดี เพราะมีการจ้างทำโอทีกันแทบทุกวัน และที่สำคัญพวกตนถูกลอยแพ บางคนก็อายุมากแล้ว ไม่รู้โรงงานไหนจะรับเข้าไปทำงาน จึงทำให้ไม่มีรายได้มาประทังชีวิต แถมบางคนต้องไปยืมเงินเป็นหนี้เป็นสินอีกด้วย ดังนั้นวันที่ 23 พ.ย.จะมาฟังคำตอบ หากตกลงกันไม่รู้เรื่องก็ต้องให้ สนง.สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชลบุรี แจ้งความคดีอาญาและศาลแรงงานต่อไป
 
 
'ประวิตร' ตั้งเป้าไทยลดอันดับค้ามนุษย์เหลือ 'เทียร์ 2' จี้แก้แรงงานประมง เพิ่มพนักงานตรวจแรงงาน
 
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมกระทรวงแรงงาน และมอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูง ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง โดยมี พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงานให้การต้อนรับ
 
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า การมาตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ เพื่อมาติดตามการทำงานของกระทรวงแรงงานในการพัฒนาฝีมือแรงงาน และกำลังคนเพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหารกระทรวงแรงงานในการขับเคลื่อนภารกิจให้ประสบความสำเร็จ 4 เรื่อง คือ 1. การพิจารณาให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ ( ILO ) ที่สำคัญอย่างน้อย 3 ฉบับ คือ อนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรอง อนุสัญญาฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง และพิธีสารภายใต้อนุสัญญาฉบับที่ 29 ว่าด้วย แรงงานบังคับ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทย ที่จะยกระดับการดูแลแรงงาน ตามมาตรฐานสากล 2. การประสานงานกับสำนักงาน ก.พ. อย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มจำนวนพนักงานตรวจแรงงานให้เพียงพอที่จะดูแลแรงงานให้ได้รับสิทธิตามกฎหมาย สามารถแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน
 
3. แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ เพื่อให้การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวและแรงงานในภาคประมงได้รับสิทธิประโยชน์ตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียม รวมทั้งได้รับสิทธิแรงงาน และสิทธิทางสังคมด้วย และ 4. การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในจังหวัดนำร่องนั้นให้ยึดตามกรอบใน 3 ประเด็น คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง
 
“ขอให้กระทรวงแรงงานเป็นศูนย์กลางบูรณาการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานต่อไป เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายปีหน้าต้องได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการมาตลอด เห็นได้จากการจัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ (ทิปรีพอร์ต) หรือกลุ่มประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐฯ โดยเดิมไทยอยู่ในอันดับ “เทียร์ 3” ขณะนี้เป็น “เทียร์ 2 วอทช์ ลิสต์” หรือเทียร์ 2.5 หมายถึงกลุ่มประเทศที่มีความพยายามแก้ปัญหาการค้ามนุษย์แต่ยังต้องถูกจับตามอง ซึ่งมอบให้กระทรวงแรงงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่างๆให้ไทยอยู่ในอันดับดีขึ้นเรื่อยๆ โดยตั้งเป้าว่าจะอยู่อันดับ “เทียร์ 2” ให้ได้ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องแรงงานประมงที่จะต้องดูแลเรื่องความปลอดภัย สวัสดิภาพการทำงาน ต้องมีเวลาพักผ่อน และมีความปลอดภัย” พล.อ.ประวิตร กล่าว
 
ด้าน นายสมคิด กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 12 นับว่าแผนฯ ดังกล่าว มีทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาว โดยในระยะแรกที่ได้วางรากฐานการพัฒนา โดยมีวาระปฏิรูปเร่งด่วน อาทิ ความปลอดภัยแรงงาน แก้ปัญหาค้ามนุษย์ ส่งเสริมการมีงานทำของผู้พิการและผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานจะประสบความสำเร็จบรรลุผลตามแผนได้ กระทรวงแรงงานต้องเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการกับหน่วยต่างๆ อย่างเข้มข้น และต่อเนื่อง
 
เมื่อถามถึงกรณีมีการสำรวจความคิดเห็น (โพล) ของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ผลโพลออกมาก็ยังชัดเจนว่า ประชาชนยังเชื่อมั่นในรัฐบาล อย่างไรก็ตาม อยากให้สื่อมวลชนมีความคิดเหมือนประชาชน คือ เชื่อมั่นในรัฐบาล อะไรที่ไม่จริงก็อย่าไปโยง หรือเขียนให้เป็นประเด็น ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ อะไรดีก็ว่าดี อะไรไม่ดีก็ว่าไม่ดี แต่ขอให้เป็นเรื่องจริง
 
 
วิกฤตสินค้าเกษตรตกตํ่าลามหลายกลุ่ม ยันกระทบเลิกจ้างแรงงานต่างด้าว ขณะที่ภาครัฐระดมมาตรการช่วยเหลือ
 
นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ติดตามสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ด้วยการตรวจเยี่ยมกระบวนการรับซื้อที่จุดรับซื้อขนาดใหญ่ อาทิ โรงงาน บริษัท ซีพีเอฟฯ สาขาลำพูน และบริษัท เบทาโกรฯ ภาคเหนือ สาขาลำพูน นอกจากนี้ยังติดตามข้าวเปลือกบริเวณโรงสีอินเตอร์ไรซ์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านราคาอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งยกระดับการทำงานเชื่อมโยงการค้าภูมิภาค “พาณิชย์ภาค : Mini MOC” ร่วมกับพาณิชย์จังหวัด ลงพื้นที่ตรวจสอบราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนสินค้า หลังจากก่อนหน้านี้ได้ลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
 
ขณะที่แนวทางช่วยเหลือข้าวเปลือกภาคอีสาน นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ระบุว่า คาดว่าจะมีข้าวประมาณ 8 ตันเศษ เป็นข้าวหอมมะลิประมาณ 3 แสนตัน และข้าวเหนียวประมาณ 5 แสนตัน ซึ่งกลางเดือนพฤศจิกายนนี้เริ่มเก็บเกี่ยวได้ ส่วนราคาจะลดลงจากปีที่แล้วเล็กน้อย คือ ข้าวเจ้าหอมมะลิราคาประมาณ ตันละ 11,000 บาท ข้าวเหนียวที่มีผลผลิตออกมามากกว่าปีที่แล้ว จะมีราคาที่ 10,000 บาท/ตัน
 
สำหรับทางออกจังหวัดช่วยเปิดขายข้าวสารประชารัฐอุดรธานี ทุกวันศุกร์-เสาร์ ที่ตลาดร่มเขียวบริเวณหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัด รวมถึงห้างบิ๊กซี และเซ็นทรัลพลาซา สาขาอุดรธานี นอกจากนี้ได้เชิญชวนให้หน่วยราชการ สถานศึกษา บริษัทห้างร้าน สถานประกอบการโรงงานขนาดใหญ่ สั่งซื้อข้าวสารจาก สหกรณ์การเกษตร หรือซื้อโดยตรงจากเกษตรกรล่าสุดมีสั่งซื้อข้าวสารจำนวนมาก มทบ.ที่ 24 (ค่ายประจักษ์ศิลปาคม)เดือนละ 10 ตัน กองบินที่ 23 เดือนละ 500 กิโลกรัม โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี เดือนละ 12 ตัน และติดต่อให้เอกชน บริษัทร้านค้าสั่งซื้อข้าวสารพรีเมียมเพื่อจัดกระเช้าของขวัญวันปีใหม่ อาทิ บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนฯ ธนาคารกรุงเทพ ฯลฯ
 
นายวิเชียร ชาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ได้ตั้งงบประมาณ 20 ล้านบาท จัดทำโครงการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา เพื่อสีแปรรูปและบรรจุถุงขนาด 1 กิโลกรัม ขนาด 5 กิโลกรัมขายให้ประชาชน คาดว่าตลอดฤดูกาลผลิตปี 2559/2560 จะสามารถซื้อข้าวสารได้ไม่น้อยกว่า 6,000 ตัน ส่วนการควบคุมราคารถเกี่ยวข้าวจังหวัดได้สำรวจ พบว่ามีจำนวน 348 คัน ราคาที่เหมาะสม อยู่ที่ 600-800 บาท/วัน
 
ส่วนภาคใต้นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง ที่ปรึกษาคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่าผลผลิตตกต่ำส่งผลกระทบทำให้เกษตรกรชาวสวนทั้งชาวสวนยาง ,ชาวสวนผลไม้,ปาล์มน้ำมัน รวมทั้งอื่นๆ กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรง หลังพบว่าลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมได้รายได้ลดลง และไม่มีความมั่นคงในภาคเกษตรต่างทยอยเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม และบริการมากขึ้น
 
นางสุดาพร ยอดพินิจ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่าราคาสินค้าทางการเกษตรที่ตกตํ่าทำให้แรงงานเริ่มมองว่าไม่มีความมั่นคงในอนาคตการทำงาน หรือการปรับลดอัตราค่าจ้างที่ลดน้อยลงเป็นเหตุให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคการเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะยิ่งซํ้าเติมปัญหาการขาดแคลนแรงงานให้ยิ่งวิกฤติขึ้นอีก ดังนั้นทางรัฐบาลควรจะเร่งหาทางแก้ไขที่ต้นเหตุคือ การหาแนวทางรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาให้กับสินค้าเกษตรให้ได้
 
 
ปลัดแรงงานเผยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ยังไม่ได้เสนอ ครม. สัปดาห์นี้ เหตุติดปัญหาด้านเอกสาร ยืนยันทันใช้ปีใหม่แน่นอน
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า วันนี้กระทรวงแรงงาน ยังไม่ได้มีการนำเสนอมติการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2560 ตามที่ได้มีการแถลงข่าวไปเมื่อวานนี้ เนื่องจากขณะนี้ ยังติดขั้นตอนปัญหาเรื่องเอกสารที่จะนำเสนอ แต่คาดว่าจะสามารถนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้ภายในสัปดาห์หน้านี้ พร้อมยืนยันว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำประจำปี 2560 ในอัตรา 5-10 บาทต่อวัน ในแต่ละพื้นที่นั้น จะบังคับใช้ทันวันที่ 1 ม.ค. ปีหน้า อย่างแน่นอน
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ครั้งที่ 9/2559 ให้มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใน 69 จังหวัด และไม่ปรับขึ้น 8 จังหวัด จากเดิมที่ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน เป็น 305 , 307, 310 บาทต่อวัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ะ 1 มกราคม 2560
 
 
เปิด 6 มาตรการลดจำนวน “บุตรแรงงานต่างด้าว” ลั่นปี 2563 ต้องหมดจากประเทศไทย
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อหารือกรณีบุตรของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ว่า จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าว 4 กลุ่ม คือ 1. แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามที่หลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และ กัมพูชา ที่ได้รับการผ่อนผัน 1,367,647 คน 2. แรงงานต่างด้าวที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ 965,832 คน 3. แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และ กัมพูชา ที่นำเข้ามาอย่างถูกกฎหมายตามระบบ MOU โดยไม่อนุญาตให้นำผู้ติดตามเข้ามา 365,785 คน และ 4. แรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนามที่มีวีซ่าและใบ
 
อนุญาตทำงาน 1,569 คน ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย พบว่า ตัวเลขสะสมตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบันมีบุตรของแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และ กัมพูชา ซึ่งได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศได้ตามพ่อแม่ จำนวน 118,671 คน ขณะที่ข้อมูลปี 2558 ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่า มีบุตรแรงงานต่างด้าวทุกสัญชาติที่เข้ามาเรียนในประเทศไทยกว่า 70,000 คน
 
นายวรานนท์ กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหา คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดูแลให้ความคุ้มครองบุตรที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งผู้ติดตามและผู้ที่เกิดใหม่ในประเทศไทย โดยการกำหนดสถานะ พิสูจน์ตัวบุคคล จัดเก็บข้อมูลและให้การดูแลตามหลักสากล ส่วนมาตรการป้องกันมิให้จำนวนบุตรของแรงงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1. ไม่เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 2. ส่งเสริม สนับสนุน การเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายตามระบบ MOU ซึ่งไม่อนุญาตให้นำบุตรติดตามเข้ามาด้วย 3. บิดา - มารดา ครบกำหนดการจ้างงานต้องเดินทางกลับประเทศพร้อมบุตร 4. ถ้าบุตรของแรงงานอายุถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดและประสงค์จะทำงาน อนุญาตให้ทำงานได้ และต้องเดินทางกลับประเทศเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการจ้างงาน 5. รณรงค์ให้แรงงานต่างด้าวคุมกำเนิด 6. ป้องกัน สกัดกั้น มิให้แรงงานต่างด้าวรายใหม่ รวมทั้งบุตรของแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายสุดท้าย คือ บุตรของแรงงานต่างด้าวลดลงภายในปี 2561 และหมดไปภายในปี 2563
 
 
วอน สปส.ช่วยผู้ประกันตนชราภาพเข้าสิทธิรักษาตามเดิม
 
ตามที่สำนักงานประกันสังคม(สปส.)เตรียมช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ลาออกจากสถานประกอบการ แต่ต้องการคงสิทธิประกันสังคมไว้ จึงจ่ายเงินสมทบเพื่อคงสภาพสิทธิประโยชน์ต่างๆ ประสบปัญหาหลุดจากระบบ เนื่องจากลืมจ่ายเงินสมทบเป็นหลัก โดยพบประมาณ 930,000 คน ซึ่งล่าสุดสปส.เตรียมดึงเข้าสู่ระบบอีกครั้งด้วยการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย คาดแล้วเสร็จภายใน 3-6 เดือนนั้น
 
นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ สปส.เห็นความสำคัญของผู้ประกันตนในทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ภายในสัปดาห์นี้จะมีการพูดคุยกับเครือข่ายผู้ประกันตน และจะทำข้อเสนอสรุปเพื่อขอเข้าพบกับเลขาธิการประกันสังคม ในการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน อาทิ กรณีผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งจ่ายเงินสมทบตามปกติจนกระทั่งครบอายุ 55 ปี เข้าสู่กรณีรับเงินบำนาญชราภาพนั้น โดยปกติจะถูกโอนสิทธิรักษาพยาบาลเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) แต่จากการหารือผู้ประกันตนหลายคนต้องการรับสิทธิรักษาพยาบาลของกองทุนประกันสังคมตามเดิม จึงอยากเรียกร้องให้สปส.ให้สิทธิรักษาพยาบาลกับผู้ประกันตนที่รับเงินบำนาญชราภาพด้วย
 
“นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 39 มีความต้องการได้รับสิทธิเหมือนผู้ประกันตนมาตรา 33 อย่างกรณีบำนาญชราภาพ เป็นไปได้หรือไม่ที่การจ่ายเงินบำนาญชราภาพ จะคำนวณฐานจากเงินเดือนเดิม เพื่อนำมาคำนวณเป็นเงินบำนาญชราภาพได้หรือไม่ ซึ่งตรงนี้ก็จะขอหารือร่วมกับเลขาธิการสปส.ต่อไป” นายมนัส กล่าว
 
ด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า จากการประชุมกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้พิจารณาปัญหาการสิ้นสภาพความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งขณะนี้มีอยู่จำนวนประมาณ 930,000 คน และมีมติให้ สปส.แก้ไขปัญหาเร่งด่วนในระยะสั้น โดยดำเนินการคืนความเป็นผู้ประกันตนให้กับผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สิ้นสภาพด้วยความละเอียดรอบคอบ และต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย ขณะเดียวกันสำนักงานฯ จะแก้ไขปัญหาการขาดส่งเงินสมทบโดยเพิ่มช่องทางการเตือนผ่านระบบข้อความทางโทรศัพท์ (SMS) ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาวจะได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับปรุงเงื่อนไข หลักเกณฑ์การจัดเก็บเงินสมทบและการจ่ายประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตนมาตรา 39 อย่างยั่งยืนต่อไป
 
นพ.สุรเดช กล่าวว่า เพื่อความสะดวกในการจ่ายเงินสมทบนั้น ผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถชำระเงินสมทบผ่านทางเคาน์เตอร์ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือชำระเงินโดยวิธีหักบัญชีเงินฝากธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะหักเงินในบัญชีทุกวันที่ 15 ของเดือน หรือชำระผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส/เคาน์เตอร์ที่ทำการไปรษณีย์ ทั้งนี้ขอให้ผู้ประกันตนตรวจสอบใบเสร็จและเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐานด้วย และผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถตรวจสอบเงินสมทบได้ทางแอพพลิเคชั่น My SSO
 
 
เตือนแรงงานหญิงไทยระวังถูกหลอกไปทำงานนวดสปาในมาเลเซีย
 
นางเยาวภา พิบูลย์ผล จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากกรมการจัดหางาน สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แจ้งเรื่องว่า แรงงานไทยถูกหลอกลวงไปทำงานนวดสปาที่ประเทศมาเลเซีย โดยนายจ้างที่ชักชวนไปทำงานไม่ได้ขออนุญาตทำงานให้และไม่ให้สวัสดิการตามที่แจ้งไว้ในครั้งแรก อีกทั้ง ยังมีการยึดหนังสือเดินทางไว้แรงงานไทยจึงได้หลบหนีออกมาจากสถานที่ทำงานและขอความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่จึงขอแจ้งเตือนประชาชนและคนหางาน ที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียตรวจสอบนายจ้างก่อนตัดสินใจสมัครและจ่ายเงินให้แก่นายจ้างและขออนุญาตเดินทาง ไปทำงานต่างประเทศกับกรมจัดหางานให้เรียบร้อยก่อนที่จะเดินทางไปทำงาน และเพิ่มความระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้นกับการทำสัญญาจ้างกับนายจ้าง โดยสัญญาจ้างต้องเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งศึกษารายละเอียดของสัญญาจ้างให้เข้าใจชัดเจน รวมทั้งทำความเข้าใจสภาพสังคม สภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ค่าครองชีพ วัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้สามารถปรับตัวให้กับดำรงชีวิตประจำวันได้ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาวิธีการเดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียตามคู่มือแรงงานไทยในประเทศมาเลเซียได้ที่เว็บไซต์ http://malaysia.mol.go.th/node/529 หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ สาขาย่อย ศูนย์สินค้าเกษตรภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 0-5311-2911-4 ในวันและเวลาราชการ หรือด่านตรวจคนหางานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ หมายโทรศัพท์ 0-5327-4032 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการตั้งแต่เวลา 06.00 ถึง 24.00 น.
 
 
ร่างกฎหมายใหม่เพิ่ม3โทษหนัก คุ้มครอง ‘แรงงานเด็ก’
 
กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่....) พ.ศ.... แทนฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2541 ด้วยเหตุผลว่าเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับมานาน ทำให้บทบัญญัติบางประการนั้นไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอัตราโทษในความผิดเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็ก
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังเป็นนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล จึงทำให้ต้องมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
กระทรวงแรงงาน ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ได้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในวาระที่ 2 โดยมีสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องอัตราโทษความผิดที่กระทำต่อแรงงานเด็ก 3 ฐานความผิด ดังนี้
 
กรณีงานอันตรายสำหรับเด็ก โดยที่นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานอันตรายตามที่มาตรา 49 กำหนดไว้ เช่น งานหลอม เป่า หล่อ หรือรีดโลหะ งานปั๊มโลหะ งานเกี่ยวกับความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน เสียง และแสงที่มีระดับแตกต่างจากปกติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเด็ก เป็นต้น
 
โดยมีอัตราโทษตามพ.ร.บ.(ปัจจุบัน) คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าเป็นเหตุให้ลูกจ้างเด็กได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่ตามร่าง พ.ร.บ.(ใหม่) คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่า 400,000 บาท แต่ไม่เกิน 800,000 บาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าเป็นเหตุให้ลูกจ้างเด็กได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 800,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
กรณีสถานที่ห้ามทำงานสำหรับเด็ก โดยที่นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในสถานที่ตามที่มาตรา 50 กำหนดไว้ เช่น โรงฆ่าสัตว์ สถานที่เล่นการพนัน สถานบริการ เป็นต้น โดยมีอัตราโทษตามพ.ร.บ.(ปัจจุบัน) คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าเป็นเหตุให้ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
ขณะที่ตามร่างพ.ร.บ.(ใหม่) คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่า 400,000 บาท แต่ไม่เกิน 800,000 บาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าเป็นเหตุให้ลูกจ้างเด็กได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 800,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
กรณีอายุขั้นต่ำของเด็ก โดยที่นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในงานทั่วไป และงานตามที่กฎกระทรวงกำหนดในงานเกษตรกรรมและงานประมงทะเล โดยมีอัตราโทษตามพ.ร.บ.(ปัจจุบัน) คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่ตามร่างพ.ร.บ. (ใหม่) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่า 400,000 บาท แต่ไม่เกิน 800,000 บาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
นางสาวอรุณี ศรีโต ในฐานะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้ กมธ. ได้มีการพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งจะเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในวันที่ 18 พ.ย.นี้ โดยเป็นการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ มีการแก้ไขเพียงกี่มาตราเป็นการเพิ่มโทษในการใช้แรงงานเด็กให้สูงขึ้นเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานเด็ก ส่วนประเด็นอื่นๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรืออะไรใหม่ ในฐานะที่ตนก็เป็น กมธ.พิจารณาในร่างพ.ร.บ.นี้ ก็เคยบอกว่า น่าจะมีการพิจารณากฎหมายทั้งฉบับ
 
“ในชั้น กมธ. ก็มีการถกเถียงว่า หากใช้ลูกหลานในบ้านทำงาน กฎหมายก็ไม่ได้กีดกั้นอะไร เพราะเป็นการทำงานในครอบครัว แต่ถ้ามีการทำงานแบบมีสัญญาจ้าง แล้วใช้แรงงานเด็ก ก็จะถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย”
 
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา ตนก็ได้เคยถามอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) ซึ่งเป็น กมธ. ด้วย ว่า กระทรวงแรงงาน หรือ กสร. เคยดำเนินคดีกับนายจ้างหรือไม่ เพราะบางทีเห็นว่าการกฎหมายถูกเขียนขึ้นมาสวยๆ อยู่เล่ม แต่เวลาภาคปฏิบัติไม่ค่อยเห็นดำเนินคดี อย่างเช่น เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงาน เมื่อปี 2536 คนตายเพราะไฟไหม้ 188 คน แต่คนติดคุกกลับเป็นคนที่สูบบุหรี่แล้วเกิดไฟไหม้ แต่นายจ้างไม่เห็นติดคุกสักคน แต่อธิบดี กสร. ก็ได้ชี้แจงมาว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินคดีกับนายจ้างกว่า 400 ราย
 
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะเพิ่มโทษ แต่ตนก็เป็นห่วงว่า เหมือนกฎหมายจะเป็นแค่เป็นการป้องปรามมากกว่าีว่า มีโทษเยอะ แต่เอาเข้าใจจริง ยังไม่แน่ใจว่าจะบังคับใช้ได้หรือไม่ ดังนั้นจึงอยู่ที่ภาคบังคับที่จะต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายให้มาก
 
 
สั่งทุกวิทยาลัยทำความเข้าใจผู้ปกครองคำสั่ง ม.44 เล็งดึงเด็ก ปวช.เรียน รด.
 
เมื่อวันที่ 15 พ.ย.59 ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมรวมกับสถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐและเอกชน จำนวน 51 แห่ง ซึ่งเป็นสถานศึกษากลุ่มเสี่ยงในเขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ประชุมได้ทบทวนมาตรการแก้ไขปัญหาความรุนแรงและเหตุทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ประจำภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 ซึ่งที่ประชุมได้รายงานสภาพปัญหาในปฏิบัติงานที่ผ่านมา รวมทั้งได้เพิ่มมาตรการเร่งด่วน เพื่อปรับระบบการดูแลนักเรียน นักศึกษา ระบบการแนะแนว รวมถึงระบบครูที่ปรึกษาให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยเพิ่มการติดต่อสื่อสารระหว่างสถานศึกษากับผู้ปกครองให้มากขึ้น และเพิ่มมาตรการในการกวดขันวินัยของนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งให้ปรับการเรียนการสอนในเชิงให้เด็กคิดวิเคราะห์ เพราะว่าเด็กไม่คิด ถึงทำผิด จึงต้องเพิ่มระบบการคิดมากขึ้น
 
ดร.สุเทพ กล่าวต่อไปว่า ส่วนระบบการบริหารในวิทยาลัยให้ดำเนินการเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.ให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน 2.ให้ทุกวิทยาลัยรักษาความต่อเนื่อง ในกิจกรรมทุกกิจกรรมโดยเคร่งครัด และ 3.ให้วิทยาลัยสร้างเครือข่าย เกี่ยวกับการป้องปราม เช่น สร้างเครือข่ายไปยังทหาร ตำรวจ ประกันสังคม ศาลภายในพื้นที่ ในส่วนผู้ปกครองให้ประชาสัมพันธ์ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยบิดา มารดาหรือผู้ปกครอง ต้องยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็กและเยาวชนให้ได้ เพราะหากเด็กทำความผิด ผู้ปกครองก็ต้องมีความผิดตามกฎหมายด้วย
 
“ขณะนี้ยังมีผู้ปกครองบางส่วนไม่เข้าใจคำสั่ง คสช.และไม่รู้ด้วยว่าคำสั่งนี้มีผลทางกฎหมายถึงพ่อแม่ด้วย ซึ่งหลังจากมีคำสั่ง คสช.ออกมามีเด็ก 6 รายที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทและถูกดำเนินคดีทางกฎหมายแล้ว ขณะเดียวกัน ทุกวิทยาลัยจะมีตัวชี้วัดในการประเมินและกำกับการแก้ไขปัญหา และหากพบว่าพบว่าสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชนแห่งใด ปล่อยปละละเลยให้เกิดเหตุซ้ำซากจนเกิดความเสียหายสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะใช้มาตรการการทางการบริหารเข้ามาดูแล รวมทั้งขอให้แต่ละวิทยาลัยไปคิดโครงการที่สื่อถึงการแก้ปัญหาทะเลาะวิวาท และทำปรับปรุงแผนแก้ไขข้อบกพร่องให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์เสนอมายัง สอศ.พิจารณาต่อไป”ดร.สุเทพ กล่าวและว่า ทั้งนี้ จะมีการคัดกรองนักศึกษาเพื่อจัดกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ ปรับหลักสูตร โดยเน้นสร้างทักษะชีวิต การควบคุมตนเอง สร้างคุณธรรม จริยธรรม เป็นพลเมืองดี เคารพสิทธิผู้อื่น แก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี และจัดให้มีการเรียนรักษาดินแดน(รด.) ให้แก่นักเรียนอาชีวะตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)1 โดยรวมถึงนักศึกษาระบบทวิภาคีด้วย
 
 
แรงงานก่อสร้าง จ.บุรีรัมย์ เชื่อปรับค่าแรงขั้นต่ำมีผลกระทบทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้น
 
จากที่มติที่ประชุมของคณะกรรมการค่าจ้าง ที่มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 เป็นรายจังหวัด 69 จังหวัดทั่วประเทศโดยปรับเพิ่มจากอัตราค่าจ้างเดิมตั้งแต่ 5 - 10 บาท มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2560 นั้น จังหวัดบุรีรัมย์จะได้ปรับขึ้นจากอัตราค่าจ้างเดิม 5 บาทกลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานก่อสร้าง จ.บุรีรัมย์ ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าจ้าง เพราะมองว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพียง 5 บาทไม่ได้ส่งผลดีกับแรงงาน แต่กลับจะส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้นมากกว่า เพราะเพียงมีข่าวว่าจะประกาศปรับขึ้นค่าจ้างผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้า เตรียมจะขยับขึ้นราคาสินค้าไว้แล้ว จึงอยากให้รัฐบาลได้ทบทวนมติดังกล่าว และอยากเรียกร้องให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหามาตรการควบคุมราคาสินค้าเพื่อแก้ไขปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากกว่า
 
นายพวง กาละสีรัมย์ อายุ 53 ปี ซึ่งทำอาชีพรับเหมางานก่อสร้าง บอกว่าการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกเพียง 5 บาท ไม่ได้ส่งผลดีอะไรกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเลย หากรัฐบาลไม่ควบคุมราคาสินค้า เพราะปัจจุบันผู้ใช้แรงงานได้ค่าแรงขั้นต่ำเพียงวันละ 300 บาทแต่ค่าครองชีพต่อวันละไม่ต่ำกว่า 200 บาทแล้วจึงอยากให้รัฐบาลได้หาแนวทางแก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นให้ปรับลดลงมากกว่า จะขึ้นค่าจ้างเพราะปกติกลุ่มผู้ใช้แรงงานก็ไม่ได้มีงานทำทุกวัน เหมือนกับพนักงานบริษัทหรือลูกจ้างประจำ และหากเป็นไปได้ก็อยากดูแลเรื่องสวัสดิการให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานเหมือนกับอาชีพอื่น ๆ ด้วย
 
 
เตือนสมัครงานผ่านเน็ต!! พบหญิงไทยถูกหลอกไปค้ากาม “โอมาน” 21 ราย
 
นายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวว่า กรมการจัดหางานได้รับแจ้งจากฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ว่า ได้ให้ความช่วยเหลือหญิงไทยที่ถูกหลอกไปค้าประเวณีในประเทศโอมาน โดยการสมัครงานผ่านทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 21 คน และได้มีการจับกุมหญิงไทย จำนวน 3 คน ในข้อหาเป็นธุระจัดหาหญิงไทยค้าประเวณี ทั้งนี้ แรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ควรศึกษาธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม สภาพอากาศ และวัฒนธรรมการทำงาน ก่อนเดินทางเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงาน และต้องศึกษาสัญญาจ้างอย่างละเอียดรอบคอบ เช่น อัตราค่าจ้าง การจ่ายค่าจ้าง เงินค่าล่วงเวลา เงินโบนัส และเงินสิ้นสุดการทำงานเมื่อครบสัญญา และกรณีที่จะต้องถูกปรับหากทำงานไม่ครบสัญญาจ้าง ศึกษาช่องทางการติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูต หรือฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูตในต่างประเทศ เพื่อรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และรับฟังคำแนะนำการใช้ชีวิตในต่างประเทศ รวมทั้งจัดส่งเอกสารการรายงานตัวกับสถานเอกอัครราชทูต เพื่อให้ส่วนราชการไทยสามารถติดต่อให้ความช่วยเหลือได้ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
       
“กรมการจัดหางาน จึงขอแจ้งเตือนคนหางานให้ระมัดระวังการสมัครงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยขอให้ตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อนทุกครั้ง ว่า มีตำแหน่งงานจริงหรือไม่ โดยสอบถามรายละเอียด ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทรศัพท์ 0-2245-6708 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694” อธิบดี กกจ. กล่าว 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net