'ฟอร์ติฟายไรท์' จี้เลิกเอาผิดอาญาคดีหมิ่นประมาท คุ้มครองนักสิทธิ-สื่อ

องค์กรสิทธิ "ฟอร์ติฟายไรท์" เรียกร้องยกเลิกการเอาผิดทางอาญาในคดีหมิ่นประมาท คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชน หลังศาลอาญายกฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและผู้สื่อข่าว

17 พ.ย. 2559 องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีกับคำพิพากษาของศาลอาญาที่กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้ ซึ่งยกฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท) (สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสี่รายที่ทำงานให้กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จำเลยทั้งสี่รายถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาทและข้อหาอื่นๆ เนื่องจากการรายงานข่าวซึ่งกล่าวหาว่าเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงเนื่องจากการทำเหมืองแร่ทองคำที่เป็นประเด็นของความขัดแย้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
           
“การยกฟ้องคดีนี้ของศาลทำให้ประเทศไทยอยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อประกันเสรีภาพของสื่อมวลชนและคุ้มครองผู้สื่อข่าวจากการฟ้องคดีที่ไม่สมเหตุผล” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ติฟายไรท์กล่าว “ประเทศไทยยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อประกันเสรีภาพในการแสดงออก”
           
ฟอร์ติฟายไรท์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกการเอาผิดทางอาญาในคดีหมิ่นประมาทโดยทันที และประกันว่าผู้สื่อข่าวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะสามารถทำงานที่ชอบธรรมของตนต่อไปได้
           
บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการเหมืองทองคำ ได้ฟ้องคดีต่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวหาว่าสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสสร้างความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของบริษัท โดยมีรายงานข่าวกล่าวหาว่าเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงเนื่องจากการทำเหมืองแร่ทองคำที่เป็นประเด็นของความขัดแย้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
           
ฟอร์ติฟายไรท์และสมาชิกของโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งเป็นเครือข่ายเยาวชนที่ทำงานเพื่อความยุติธรรมทางสังคมในประเทศไทย ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีเมื่อวานนี้
           
ศาลอาญาที่กรุงเทพฯ ได้อ่านคำพิพากษาระบุว่า คดีนี้ไม่มีมูลฟ้อง เนื่องจากทั้งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและผู้สื่อข่าวของตนปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นมืออาชีพ และใช้ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ซึ่งรวมถึงผลการตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐและการสอบถามชาวบ้านในท้องถิ่น ศาลยังได้อ้างตามมาตรา 329(3) ของประมวลกฎหมายอาญาว่า การให้ความเห็นหรือการพูดที่กระทำโดยสุจริตและการติชมด้วยความเป็นธรรม ย่อมไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ศาลมีข้อสังเกตว่า ประเด็นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสาธารณะ โดยเฉพาะในแง่ของผลกระทบที่มีต่อคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพของประชาชน
           
“เราต้องไม่ปล่อยให้มีการใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ หรือจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก” ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความสิทธิมนุษยชนจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนซึ่งเป็นทนายความให้กับพนักงานของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสกล่าว “คำพิพากษาของศาลเป็นการรับรองการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อในการรายงานข้อมูลที่สำคัญต่อสาธารณะ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”
           
ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนยังว่าความให้กับนักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมอีกหลายราย ซึ่งในปัจจุบันถูกฟ้องดำเนินคดีโดยบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

แถลงการณ์ระบุว่า บริษัท ทุ่งคำ จำกัดได้ฟ้องคดีอาญาและแพ่งอย่างน้อย 19 คดีต่อชาวบ้าน 33 คน รวมทั้งสมาชิกของ “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านจากหกหมู่บ้านรอบบริเวณเหมือง และมีความตั้งใจปกป้องสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นให้ปลอดพ้นจากผลกระทบด้านลบจากเหมืองแร่ทองคำ ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมาทางบริษัทได้ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายรวมกันทั้งหมด 320 ล้านบาทจากชาวบ้านในจังหวัดเลย และในปัจจุบันทางบริษัทยังมีดำเนินคดีทั้งคดีแพ่งและอาญาอีกหกคดีต่อชาวบ้านอีก 25 คน
           
ทางบริษัทมีเวลาหนึ่งเดือนที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีต่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสต่อศาล

“บริษัท ทุ่งคำ จำกัดควรถอนฟ้องคดีทั้งหมดที่มีต่อนักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและควรเคารพสิทธิมนุษยชน” เอมี สมิธกล่าว “ประเทศไทยและหน่วยงานธุรกิจจะได้รับประโยชน์จากการคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก”

ข้อมูลพื้นฐาน
            ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งจดทะเบียนทำกิจการเหมืองแร่ทองคำฟ้องคดีต่อนางสาววิรดา แซ่ลิ่ม ผู้สื่อข่าว นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในขณะนั้น นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นายโยธิน สิทธิบดีกุล ผู้อำนวยการฝ่ายโทรทัศน์และวิทยุ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเองด้วย โดยกล่าวหาว่า เนื้อหาในคลิปวิดีโอรายงานข่าวรายการนักข่าวพลเมืองทำลายชื่อเสียงของบริษัท คลิปวิดีโอที่เป็นข้อพิพาทกล่าวหาว่าได้เกิดผลกระทบร้ายแรงด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการทำเหมืองทองคำแบบเปิดของบริษัทในจังหวัดเลย ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและผู้สื่อข่าวของตนอาจถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 รวมทั้งข้อหาอื่น ๆ ทางบริษัทเรียกค่าเสียหายจำนวน 50 ล้านบาท รวมทั้งร้องขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นเวลาห้าปี  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท