เวเนซุเอลาวิกฤตอาหารจริงหรือ? นักวิจัยเกษตรสำรวจปัญหาและทางออกวิกฤตด้วยพลังรากหญ้า

ในขณะที่สื่อตะวันตกนำเสนอวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหารและทรัพยากรต่างๆ รวมถึงการแพทย์ในเวเนซุเอลาตามหน้าสื่อกระแสหลักจำนวนมาก แต่นักวิจัยด้านเกษตรกรรมและนักจัดรายการวิทยุชาวเวเนซุเอลาก็ชวนทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ลึกไปกว่าปรากฏการณ์บนพาดหัวข่าว ทำให้พบว่าจริงๆ แล้วเวเนซุเอลาไม่ได้ขาดแคลนอาหารโดยรวม แต่เป็นระบบการกระจายทรัพยากรที่ย่ำแย่ กระนั้นเวเนซุเอลาก็มีการรวมตัวกันแก้ไขปัญหาโดยผู้คนระดับรากหญ้าที่ประสบความสำเร็จ

20 พ.ย. 2559 บทความโดยคริสตินา ชิอาโวนี นักวิจัยเรื่องเกษตรกรรมจากสถาบันสังคมศึกษานานาชาติ (ISS) ในเนเธอร์แลนด์ และวิลเลียม คามาคาโร ศิลปินและนักจัดรายการวิทยุจากเวเนซุเอลาที่อาศัยในสหรัฐฯ ผู้จัดตั้งกลุ่มเครือข่ายอัลแบร์โต โลเวรา โบลิวาเรียน แห่งนิวยอร์กนำเสนอเกี่ยวกับวิกฤตอาหารของเวเนซุเอลาในมุมมองที่ลึกกว่าเดิม

พวกเขาตั้งคำถามต่อการนำเสนอของสื่อกระแสหลักว่า ในขณะที่เวเนซุเอลาเพิ่งได้รับการยอมรับจากองค์การด้านอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (FAO) เมื่อปี 2558 ว่าเป็นประเทศที่เกือบจะขจัดความอดอยากให้หมดไปได้ และเป็นประเทศเดียวกับที่เคยพยายามทดลอง 'อธิปไตยทางอาหาร' อย่างการปฏิรูปเกษตรกรรม โครงการแจกจ่ายอาหาร และการให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงกับระบบอาหาร แต่เกิดอะไรขึ้นถึงมีข่าวความยากลำบากในการเข้าถึงอาหารในกลุ่มชนชั้นแรงงานชาวเวเนซุเอลาปรากฏผ่านหน้าสื่อ มีอะไรมากกว่าที่เห็นในสื่อหรือไม่หรือมีจุดไหนที่บิดเบือน

การเน้นค้าน้ำมันกับปัญหาอธิปไตยทางอาหาร

บทความชวนทำความเข้าใจก่อนว่าในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาเน้นเรื่องการค้าน้ำมันกับต่างชาติโดยรายได้จากการส่งออกน้ำมันคิดเป็นร้อยละ 95 รวมถึงเป็นงบประมาณของประเทศ แต่การที่ประเทศหันมาพึ่งพาการส่งออกน้ำมันก็ทำให้ต้องหันเหจากภาคการเกษตรจนชาวนาและคนทำงานในชนบทรายได้น้อยลงไม่พอกินจึงต้องเข้าไปหางานทำในเมือง คนจำนวนมากจึงไปกระจุกตัวอยู่ที่กรุงการากัสและแถบใจกลางเมืองอื่นๆ เพื่อหางานทำ จนทำให้เวเนซุเอลากลายเป็นประเทศที่ถูกทำให้กลายเป็นเมืองมากที่สุดในละตินอเมริกาโดยมีประชากรอาศัยอยู่ในเมืองร้อยละ 90 และยังกลายเป็นประเทศที่เน้นนำเข้าอาหารเพราะเมื่อส่งออกปิโตรเลียมแลกด้วยแล้วถือว่าถูกกว่าเพาะปลูกเอง สภาพเช่นนี้ทำให้การพัฒนาและการนำเข้าและจัดจำหน่ายอาหารทั้งหลายถูกควบคุมโดยกลุ่มบรรษัททั้งในประเทศและต่างประเทศ

การที่เวเนซุเอลาเอาตัวเองเข้าไปสู่เศรษฐกิจระดับโลกเช่นนี้ทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อเรื่องความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันและราคาอาหารโลกรวมถึงภาวะเงินเฟ้อในประเทศของตัวเอง แต่พวกบรรษัทที่นำเข้าและจำหน่ายอาหารพวกนี้ก็นำสภาพแบบนี้มาหาผลประโยชน์ใส่ตัวเอง เช่นในช่วงปี 2526 ที่ค่าเงินโบลิวาร์ถูกลดค่าเงินลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เกิดเงินเฟ้อจนมีการเทียบราคาสินค้ากับค่าเงินตลาดมืดแทนค่าเงินทางการที่มีการกำกับจึงยิ่งทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อหนักขึ้นกว่าเดิม

บทความระบุต่อไปว่า แม้ในอดีตเวเนซุเอลาจะนำเข้าอาหารจากรายได้การขายน้ำมันก็ไม่ได้หมายความว่าประชากรจะกินดีอยู่ดี แม้ว่าจะส่งออกด้วยดีแต่คนในประเทศส่วนใหญ่ก็ยังยากจน และในปี 2532 ภายใต้การนำของประธานาธิบดี อังเดรส เปเรซ ที่ปฏิรูปโครงสร้างตามข้อตกลงของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ทำให้ราคาอาหารและเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นกะทันหัน ราคาขนมปังเพิ่มขึ้น 6 เท่า ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศที่ยากจนอยู่แล้วทนไม่ไหวออกมาประท้วงและรื้อขโมยของจากร้านค้า รัฐบาลตอบโต้ด้วยการสั่งทหารยิงประชาชนจนมีผู้เสียชีวิต 276 รายตามตัวเลขทางการแต่จำนวนผู้เสียชีวิตจริงๆ น่าจะมีสูงกว่านี้มาก

ความพยายามเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมเกษตรรายย่อยและขนาดกลาง

ในช่วงเริ่มต้นปฏิวัติโบลิวาร์ในปี 2542 ผู้คนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศยังคงอยู่ในภาวะยากจนทั้งประชาชนและรัฐบาลต่างก็เน้นเรื่องการผลิตและการจัดหาอาหารมาก่อน ฝ่ายรัฐเริ่มมีการลงทุนในภาคเกษตรกรรมอีกครั้งโดยมีการจัดสรรที่ดินใหม่โดยส่งเสริมเกษตรและการประมงรายเล็กและขนาดกลาง มาตรการกระจายที่ดินทำกินเช่นนี้ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงอาหารได้ในราคาที่เป็นธรรมโดยมีรัฐบาลคอยสงเคราะห์ รวมถึงมีโครงการอาหารฟรีในโรงเรียนและในที่ทำงาน อีกทั้งยังมีโครงการแจกจ่ายอาหารในระดับชุมชนด้วย

บทความของชิอาโวนีและคามาคาโรระบุว่าความพยายามเช่นนี้ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นประวัติการณ์ในแง่ความมั่นคงทางอาหารและทางองค์การอาหารของยูเอ็นก็ยอมรับในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามความพยายามของเวเนซุเอลาในช่วงนั้นยังเป็นโครงการแยกส่วนกันแทนที่จะเปลี่ยนระบบทั้งระบบ วิธีการนำเข้าและจัดจำหน่ายส่วนใหญ่ยังคงเป็นแบบเดิม จนกระทั่งทุกวันนี้การจัดหาอาหารและยาถูกควบคุมโดยบริษัท 12 แห่งเป็นส่วนใหญ่ โดยบริษัทที่ชื่อโพลาร์ครอบครองภาคส่วนการผลิตแผ่นแป้งข้าวโพดปรุงสำเร็จ 'อารีปัส' ซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวเวเนซุเอลาไว้ถึงร้อยละ 62

ถึงแม้ว่าจะมีข่าวคราวเรื่องความอดอยากในเวเนซุเอลาปรากฏขึ้นในช่วงปีที่แล้วถึงปีนี้แต่บทความของชิอาโวนีและคามาคาโรระบุว่าเวเนซุเอลามีปัญหาคนเข้าไม่ถึงอาหารและผลิตภัณฑ์ด้านสุขอนามัยมานานมากกว่าสามปีแล้ว แต่สิ่งที่ถูกบิดเบือนในหน้าสื่อคือเรื่องที่ว่าการขาดแคลนเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วเวเนซุเอลาและเกิดขึ้นกับสินค้าทุกประเภท ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ มีแค่บางประเภทเท่านั้นที่ขาดหายไปในรูปแบบของวัตถุดิบพื้นฐานแต่กลายเป็นสินค้าแปรรูปแทน เช่น แม้ว่าจะมีการขาดนม แต่ก็มีสินค้าทำจากนมอย่างชีสหรือโยเกิร์ตอยู่เหลือเฟือ แม้ว่าจะไม่มีกาแฟขายในห้างสรรพสินค้าแต่ก็มีร้านกาแฟขายกาแฟได้อยู่ในทุกมุมเมือง ยังคงมีร้านค้าอารีปัสสอดไส้ต่างๆ อยู่ทุกหนทุกแห่ง

ปาสกัวลินา คัวร์ซิโอ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิมอง โบลิวาร์ เคยค้นคว้าในเรื่องนี้พบว่าสินค้าที่ขาดตลาดจำนวนมากนั้นเป็นสินค้าที่ไม่ได้มีการกำกับดูแลมาตั้งแต่ปี 2553 และในส่วนที่มีการกำกับดูแลนั้นทางรัฐบาลได้ขึ้นราคาสินค้าเพื่อเอาใจผู้จำหน่ายหลายครั้งซึ่งไม่ได้ทำให้สินค้ามีจำนวนมากขึ้น คัวร์ซิโอศึกษาพบอีกว่าภาวะขาดแคลนสินค้าทวีความรุนแรงขึ้นในช่วง 2556 ที่ราคาน้ำมันตกต่ำ โดยรัฐบาลก็ยังคงเน้นใช้เงินดอลลาร์ในการนำเข้าอาหารแม้ในช่วงที่เงินดอลลาร์หายากขึ้นและรัฐบาลเองก็อ้างว่าการผลิตอาหารภายในประเทศยังคงที่หรือเพิ่มขึ้น

ปรากฏการณ์นี้ยังโยงได้กับช่วงใกล้เลือกตั้งทำให้คัวร์ซิโอสงสัยว่าการทำให้อาหารขาดแคลนจะเป็นสิ่งที่ถูกจัดฉากให้เกิดขึ้นหรือไม่ ฝ่ายนักกิจกรรมด้านอธิปไตยทางอาหารมองว่าไม่น่าจะใช่เรื่องบังเอิญเพราะบริษัทอาหารโพลาร์ที่ทำให้สินค้าขาดตลาดไปหลายรายการมีเจ้าของเป็นฝ่ายค้านทางการเมือง ที่แน่ๆ คือการทำเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อผู้คน ทำให้ผู้คนโดยเฉพาะผู้หญิงต้องเดือดร้อนไปต่อแถวยาวๆ เพื่อเข้าถึงผลิตภัณฑ์ปัจจัยพื้นฐานของชีวิต ไม่เช่นนั้นก็ต้องลอบซื้อสินค้าเถื่อนด้วยราคาสูงขึ้น

ในบทความยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าสินค้าจำพวกผลไม้ ผัก และพืชหัว ที่ปลูกโดยเกษตรกรระดับล่างและระดับกลางยังคงจัดจำหน่ายผ่านช่องทางที่ไม่ได้ผ่านศูนย์กลางทำให้ส่วนมากไม่เกิดภาวะขาดแคลนและยังคงมีอยู่ทั่วท้องถนนในเวเนซุเอลา อย่างไรก็ตามพอผู้คนหันไปใช้ของเหล่านี้แทนของอื่น (เช่นพืชหัวเพื่อสารอาหารคาร์โบไฮเดรตแทนสิ่งที่ขาดอย่างแป้งข้าวโพดหรือพาสตา) ก็ทำให้เกิดความต้องการสินค้ามากขึ้นจนเกิดการโก่งราคาและเก็งกำไร เกิดเป็นปัญหาความเครียดในชีวิตประจำวันของครอบครัวประชาชนเวเนซุเอลาที่ต้องเลี้ยงชีพตัวเอง

ไม่ได้เลวร้ายถึงขั้น "วิกฤตมนุษยธรรม"

ในแง่ผลกระทบในระดับสถิติ FAO ระบุว่าชาวเวเนซุเอลาบริโภคอาหารจำนวนแคลอรีต่อวัน 3,092 แคลอรี ในการวัดปลายปี 2558 ลดลงจากปี 2554 ที่บริโภคโดยเฉลี่ยวันละ 3,221 แคลอรี ซึ่งยังคงสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานด้านความมั่นคงทางอาหารคือ 2,720 แคลอรี

แต่ในบทความของนักวิจัยเกษตรกรรมก็ระบุว่ายังไม่มีข้อมูลแน่ชัดในเรื่องผลกระทบต่อประชากรกลุ่มเปราะบาง ซึ่งต้องคำนึงว่าในเวเนซุเอลายังมีโครงการรัฐที่ช่วยเหลือคนระดับล่างสุดอยู่ทำให้ตัวเลขการบริโภคแคลอรียังดูสูง แต่ก็ต้องคำนึงว่าการขาดแคลนสินค้าอาหารทำให้เกิดผลไปในทางใดกันแน่ บ้างก็บอกว่าผู้คนขาดสินค้าจึงบริโภคอาหารที่คุณภาพต่ำลง แต่ในอีกมุมมองหนึ่งก็บอกว่าพอสินค้าอาหารสำเร็จรูปขาดตลาดทำให้ผู้คนหันไปหาสินค้าอาหารสดแทน

บทความระบุต่อไปว่าชาวเวเนซุเอลากำลังประสบปัญหาความยากลำบากในการเข้าถึงอาหารอยู่จริงแต่ก็ไม่ถึงขั้นเลวร้ายในระดับวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมทั้งจากข้อมูลของ FAO และจากการสำรวจผู้คนชาวเวเนซุเอลาโดยชิอาโวนีกับคามาคาโร พวกเขาพูดคุยกับผู้คนทั่วไปพบว่าผู้คนยังไม่ถึงขั้นอดอยากปากแห้งอย่างหนักและเหตุการณ์ประท้วงระดับจลาจลก็เกิดขึ้นเพียงแค่บางส่วนโดยเฉพาะในพื้นที่ที่นำโดยฝ่ายค้าน ที่น่าแปลกใจสำหรับชิอาโวนีกับคามาคาโรคือทำไมสื่อหลายสำนักถึงนำเสนอภาพเวเนซุเอลาดูสิ้นหวังเกินจริง

ชิอาโวนีกับคามาคาโรระบุว่าในเวเนซุเอลามีฝ่ายค้านเป็นฝ่ายควบคุมรัฐสภาที่เรียกร้องให้ขับไล่ประธานาธิบดี นิโคลา มาดูโร ออกจากตำแหน่งรวมถึงเรียกร้องให้สหรัฐฯ ขยายการคว่ำบาตรโดยต้องการอ้างความชอบธรรมคือ "วิกฤตด้านมนุษยธรรม" และสื่อต่างๆ แค่สะท้อนเรื่องนี้ออกไปโดยไม่ได้ดูว่าสภาพความเป็นจริงมีความซับซ้อนกว่านั้น

การแก้ปัญหาด้วยพลังประชาชนเอง

นั่นไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลและประชาชนชาวเวเนซุเอลาจะนิ่งนอนใจ ในทางตรงกันข้ามพวกเขามองปัญหานี้อย่างจริงจังและพยายามเพิ่มโครงการคุ้มครองสวัสดิการสังคมรวมถึงหาวิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆ เช่นการร่วมมือกับภาคประชาชนอย่าง CLAPs ในการหาช่องทางทางเลือกในการจำหน่ายอาหารให้กับรัฐทั้ง 24 รัฐ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะสามารถทำได้ดีกว่านี้ถ้าหากมีการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

CLAPs ทำงานสองทางในเชิงเร่งด่วน พวกเขาทำงานกู้วิกฤตการขาดแคลนและการเก็งราคาโดยการให้รัฐซื้อสินค้าแล้วส่งสินค้าให้ประชาชนโดยตรง ในเชิงการแก้ปัญหาระยะยาวพวกเขาต้องการร่วมมือกับผู้ผลิตอาหารภายในท้องถิ่นและจัดการแปรรูปโดยมีกระทรวงการเกษตรในเมือง (urban agriculture) ที่เพิ่งจัดตั้งไม่นานมานี้คอยดูแล โดยมีโครงการเพาะปลูกร้อยวันในพื้นที่เพาะปลูกในเมือง 29,000 แห่ง ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตอย่างอาหารสด ไข่ ปลา และโปรตีนสัตว์ได้ในระดับท้องถิ่นถือเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ด้านเกษตรกรรมในเมือง

วิกฤตเช่นนี้ยังทำให้ขบวนการทางสังคมเติบโตจากการที่ผู้คนมีส่วนร่วมในการเกษตรมากขึ้น ตั้งแต่การทำฟาร์มชุมชนหลังบ้าน การแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ การแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยสินค้า และการสร้างวิสาหกิจชุมชนแบบใหม่ๆ การลดความต้องการการเกษตรในระดับอุตสาหกรรมยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่เกษตรออร์แกนิก และเกษตรเชิงนิเวศ (agroecology) แบบเดียวกับช่วงยุคหนึ่งของคิวบา การเปลี่ยนแปลงระบบอาหารแบบใหม่เช่นนี้เป็นสิ่งที่นักกิจกรรมต้องการให้เกิดมานานแล้ว

การที่เวเนซุเอลาออกกฎหมายเมล็ดพันธุ์ใหม่ก็ถือเป็นการสะท้อนวิสัยทัศน์การเปลี่ยนแปลงที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดขึ้นโดยมีการสั่งห้ามการดัดแปลงพันธุกรรมในขณะเดียวกันก็คุ้มครองเมล็ดพันธุ์ของชาวนาชาวเวเนซุเอลา กลุ่มชนพื้นเมือง และกลุ่มชุมชนที่มีพื้นเพแอฟริกัน ชุมชนรากหญ้าพากันผลิตอาหารและเครื่องใช้ที่ขาดหายไปในซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยตนเอง ตั้งแต่ไส้อารีปัสจากพืชหัว สบู่ น้ำหอม และผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันอื่นๆ และมีการเชื่อมต่อชุมชนเมืองและชนบทผ่านโครงการ Plan Pueblo a Pueblo ที่สามารถทำให้ครอบครัวมากกว่า 40,000 ครัวเรือนทั้งในเมืองและชนบทเข้าถึงอาหารสดในราคาเหมาะสมและพยายามสร้างระบบอาหารใหม่ผ่านการทำงานของสถาบันทางสังคมที่นำโดยประชาชนที่เรียกว่า "กมมูนาส" (comunas)

"วิกฤตการณ์ในครั้งนี้ผลักดันให้พวกเราต้องจัดระบบกันและกมมูนาสก็เป็นสื่อกลางสำคัญในการจัดระบบเช่นนี้" กาเบรียล กิล นักกิจกรรมด้านอาหารกล่าว

ชิอาโวนี และคามาคาโรสรุปว่าถึงแม้สื่อจะนำเสนอเรื่องปัญหาจากมุมมองที่เน้นเรื่องความทุกข์ยากแต่ก็ไม่ได้นำเสนอในระดับภาคพื้นดินที่มีการพยายามใช้นวัตกรรมแก้ไขปัญหาจนสำเร็จโดยมีการขับเคลื่อนกันเองในระดับของพลเมืองเกี่ยวกับสินค้าและเสบียงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน พวกเขาจึงเรียกร้องให้สื่อมองปัญหานี้โดยคำนึงถึงความซับซ้อน การเล่าและการตีความจากหลายมุมมองและส่งเสริมให้ผู้คนหาข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้นด้วย

 

เรียบเรียงจาก

Hunger in Venezuela? A Look Beyond the Headlines, Christina Schiavoni and William Camacaro, nacla, 03-11-2016
https://nacla.org/news/2016/11/03/hunger-venezuela-look-beyond-headlines

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท