ภาพ เสียง และอุดมการณ์: ประวัติเพลงสรรเสริญพระบารมี และการเข้าสู่โรงภาพยนตร์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ย้อนดูต้นกำเนิดและต้นฉบับเพลงสรรเสริญพระบารมี การเข้าสู่โรงภาพยนตร์ พัฒนาการมิวสิควิดีโอประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมี และการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับเพลงสรรเสริญพระบารมี

ภาพจากวิดีโอเพลงสรรเสริญพระบารมี เผยแพร่โดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 (ที่มา: ทรท.)

 

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้ยลโฉมเพลงสรรเสริญพระบารมี ฉบับใหม่ล่าสุด โดยการกำกับของท่านมุ้ย หม่อมเจ้า ชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งเป็นการนำพระสุรเสียงพระราชดำรัสเนื่องในวันขึ้นปีใหม่เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2519 ภาพพระราชกรณียกิจ และภาพกิจกรรมการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา มาประกอบกันเป็นวิดีโอความยาว 9 นาที ซึ่งหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิมได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่าต้องการใช้คลิปดังกล่าวในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศอีกด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็จะนับว่าเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีเวอร์ชั่นสุดท้ายในรัชกาลที่ 9

คนไทยส่วนใหญ่ย่อมคุ้นเคยกับเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์กันเป็นอย่างดี แต่น้อยคนนักที่จะรู้ถึงต้นกำเนิด ที่มา และพัฒนาการ บทความนี้จึงต้องการพาผู้อ่านย้อนเวลาไปหาต้นกำเนิดของเพลงสรรเสริญพระบารมี และพัฒนาการของภาพประกอบที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการประกอบสร้างแนวคิดสถาบันกษัตริย์นิยมในสังคมไทย พร้อมกับรายงานของการเกิดคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการ “ไม่ยืน” เคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี

 

ต้นกำเนิด และต้นฉบับเพลงสรรเสริญพระบารมี

(ซ้าย) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ทรงนิพนธ์คำร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีสมัยใหม่ โดยต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์แก้ไขคำร้อง โดยแก้ไขท่อนสุดท้ายจาก "ดุจถวายชัย ฉะนี้" เป็น "ดุจถวายชัย ชโย" (ขวา) โปสการ์ดโน้ตเพลงสรรเสริญพระบารมี สมัยรัชกาลที่ 5 (ที่มาของภาพประกอบ: วิกิพีเดีย)

 

ต้นกำเนิดเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นไม่มีความชัดเจนว่าใครเป็นผู้แต่งต้นฉบับ หรือดัดแปลงมาจากเพลงอะไร แต่จากหลักฐานลายลักษณ์อักษร ต้นกำเนิดของเพลงสรรเสริญพระบารมีสามารถย้อนไปได้ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 โดยในครั้งที่พระองค์เสด็จเยือนเมืองสิงคโปร์ และปัตตาเวียเมื่อปี พ.ศ. 2413 บันทึกของพระยาอนุมานราชธน ระบุเอาไว้ว่า

“ความแห่งหนึ่งตอนเสด็จฯ ถึงเมืองปัตตาเวียว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม จะเสด็จลงจากรถที่ที่โฮเต็ลเมื่อไหร่ จะยิงปืนใหญ่ที่ป้อมชื่อปริ๊นซ์ฟเรศริก สลุตคำนับ 21 นัด ยิงปืนสลุตแล้ว พวกทหารแตรกลอง เป่าแตร ตีกลอง เป็นเพลงฮอลันดา และเพลงสยาม ทำถวายเป็นคำนับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม” [1]

แสดงให้เห็นว่าประเพณีการใช้เพลงเป็นตัวแทนของสถาบันกษัตริย์ได้มีมาตั้งแต่ในสมัยดังกล่าว ซึ่งอาจจะเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบที่ใช้กันในปัจจุบันหรือไม่นั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด โดนต้นกำเนิดที่แท้จริงนั้นอาจจะอยู่ในปี พ.ศ. 2414 โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้เขียนไว้ในบันทึกตอบข้อสงสัยของพระยาอนุมานราชธนเอาไว้ว่า

“เมื่อ พ.ศ. 2414 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จประภาสเมืองสิงคโปร์ และเมืองชวา ทางเมืองชวาเขาต้องการเพลงคำนับของเรา ไม่ต้องการเพลงสรรเสริญอังกฤษ นั่นแหละเป็นเหตุให้เรากระตือรือร้นหาเพลงคำนับประจำชาติไทยขึ้น” [2]

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดถึงต้นกำเนิดที่ชัดเจน แต่ในแง่ของคำร้องต้นฉบับที่ได้รับการดัดแปลงจนมาสู่รูปแบบปัจจุบันนี้มีต้นกำเนิดมาจากเนื้อร้องต้นฉบับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์โดยแต่งขึ้นจากจากบทละคอนดึกดำบรรพ์ เรื่อง สังข์ทอง ตอน เลือกคู่และตีคลี ซึ่งตามธรรมเนียมของการเล่นละคอนดึกดำบรรพ์นั้น จะลงท้ายจบการแสดงด้วยบทถวายพระพรถวายความจงรักภักดี โดยเนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ใช้รับเสด็จรัชกาลที่ 5 กลับจากการประพาสยุโรปเมื่อปี พ.ศ.2440 มีเนื้อความดังนี้

 

ที่มา: YouTube/พิพิธภัณธ์ธงชาติไทย

ข้าวรพุทธเจ้า เหล่าพิริย์พลผลา
สมสมัยกา- ละปิติกมล
รวมนรจำเรียงพรรค์ สรรพ์ดุริยพล
สฤษดิมลฑล ทำสุดดีแด่นฤบาล
ผลพระคุณะรักษา พละนิกายะสุขศานต์
ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด
จงสิทธิ์ดัง หวังวรหฤทัย
ดุจจะถวายชัย ฉะนี้

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2441 กระทรวงธรรมการ หรือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน ได้แก้ไขคำร้องและประกาศให้นักเรียนชายหญิงทั่วราชอาณาจักรทำการขับร้อง จึงถือเป็นครั้งแรกที่เพลงสรรเสริญพระบารมีเข้ามาสู่วิถีชีวิตขอองประชาชนชาวไทย โดยคำร้องใหม่ที่ได้รับการแก้ไขในปี พ.ศ. 2441 มีดังนี้

ที่มา: YouTube/พิพิธภัณธ์ธงชาติไทย

ข้าวรพุทธเจ้า เหล่ายุพยุพดี
ยอกรชุลี วรบทบงสุ์
ซร้องศัพท์ถวายชัย ในนฤปทรง
พระยศยิ่งยง เย็นศิระเพราะพระบริบาล
ผลพรคุณะรักษา ชนนิกายะสุขศานต์
ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด
จงสิทธิ์ดัง หวังวรหฤทัย
ดุจจะถวายชัย ฉะนี้ [3]

ไม่ใช่แค่กระทรวงธรรมการเท่านั้น เพลงสรรเสริญพระบารมียังได้รับการดัดแปลงไปในหลายรูปแบบเพื่อผู้ขับร้องที่หลากหลาย เช่น บทร้องสำหรับโรงเรียนชายล้วน โรงเรียนหญิงล้วน ทหารบก ทหารเรือ หรือแม้กระทั่งใช้ในบทละคร และในสมัยรัชกาลที่ 6 เพลงสรรเสริญพระบารมีก็ได้รับการดัดแปลงจนกลายมาเป็นรูปแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังถูกใช้เป็นเพลงชาติในช่วงเวลาหนึ่งอีกด้วย ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยเพลงชาติฉบับของคณะราษฎรสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

แต่จะเห็นได้ว่าเพลงสรรเสริญในอดีตนั้นมีเนื้อหาเข้าใจยากใช้คำศัพท์ที่สูง เกิดจากการประดิษฐ์คำทั้งบาลีและสันสกฤต ซึ่งมิได้ใช้ในชีวิตประจำวัน แม้กระทั่งในฉบับปัจจุบัน ก็ยังถือว่าใช้ภาษายากอยู่ ต่างจากเพลงชาติที่ใช้คำที่เรียบง่ายแต่มีพลัง บทบาทของเพลงสรรเสริญพระบารมีโดยตัวเนื้อร้องเองจึงยังมิได้ทำหน้าที่ส่งต่ออุดมการณ์ได้ดีนัก ภาพประกอบในโรงภาพยนตร์จึงต้องเข้ามาทำหน้าที่นี้แทน

 

การเข้าสู่โรงภาพยนตร์

พิธีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์นั้นมีต้นตอมาจากประเทศอังกฤษ โดยเริ่มในช่วงต้นทศวรรษที่ 1910 ในรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 5 โดยจะมีการบรรเลง God save the King หลังจากฉายภาพยนตร์เสร็จ และฉายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการสร้างอุดมการณ์ “ พระเจ้า กษัตริย์ และประเทศ” เนื่องจากประเทศอังกฤษในขณะนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงมีความจำเป็นต้องตอกย้ำอุดมการณ์เหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นของรัชสมัยพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2 หลังสงครามสงบลง เสรีภาพทางการเมืองและการแสดงออกกลับคืนสู่อังกฤษ ทำให้ในช่วงปี ค.ศ. 1950-1960 ได้มีกลุ่มนักศึกษาแคมบริดจ์ และอ๊อกฟอร์ด ออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการนั่ง หรือลุกเดินออกทันทีหลังจากภาพยนตร์จบ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเจ้าของโรงภาพยนตร์จึงแก้ปัญหาด้วยการนำเพลง God Save The Queen มาฉายก่อนเปิดภาพยนตร์ แต่ก็ยังมีการต่อต้านอีกอยู่ดี จนกระทั่งประเพณีดังกล่าวหายไปในที่สุดในช่วงทศวรรษที่ 1970 [4]

สำหรับประเทศไทย เพลงสรรเสริญพระบารมีเข้าสู่โรงภาพยนตร์ครั้งแรกในปี 2478 โดยในสมัยรัฐบาลพลเอกพหลพลพยุหเสนา มีการออกพระราชกิจจานุเบกษา เรื่อง “ประกาศระเบียบการบรรเลงเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี” โดยในข้อ 6 มีการระบุไว้ว่า “ในการมหรสพ สมควรบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบสังเขป ฯลฯ” [5] ต่อมารัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ประกาศใน ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 4 เรื่อง การเคารพธงชาติ, เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ลงวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2482 โดยระบุไว้ในข้อที่ 4 ว่า “เมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในโรงมหรสพหรือในงานสโมสรใดๆ ก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงาน หรือที่อยู่ในวงงาน หรือในโรงมหรสพนั้นแสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม” [6]

 

วิวัฒนาการของภาพประกอบเพลงสรรเสริญในโรงภาพยนตร์

ในส่วนนี้จะเป็นการชี้ให้เห็นถึงพลวัต และการเปลี่ยนแปลงของภาพประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมีที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย ซึ่งก็มีรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไป เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนมีการแสดงออกทางการเมืองที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย

 

ยุคที่ 1 : ภาพนิ่งและพระราชกรณียกิจ

เนื่องจากภาพยนตร์ในช่วงแรกเป็นภาพยนตร์เงียบ เพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์จะเป็นการเล่นสดโดยแตรวง หรือวงเครื่องสายผสม และจะบรรเลงหลังจากภาพยนตร์จบ ต่อมามีผู้ผลิตกระจกใสเป็นรูปพระบรมฉายาลักษณ์ออกมา โรงภาพยนตร์จึงฉายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ประกอบด้วย แม้กระทั่งในยุคแรกของภาพยนตร์เสียง ก็ยังมีการฉายภาพกระจกเหล่านี้ควบคู่ไปกับการเปิดแผ่นเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี ต่อมาในปี 2523 “ร้านเป็ดทอง” ได้ผลิตภาพประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นครั้งแรก โดยฉายที่ “โรงภาพยนตร์ทหารบก” จ.ลพบุรี อีกทั้งยังเปลี่ยนจากการบรรเลงเพลงตอนหลังภาพยนตร์จบ มาเป็นก่อนฉายหนังแทนดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

หลังจากนั้นมาการผลิตเพลงสรรเสริญพระบารมีก็เริ่มมีแพร่หลายขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2523-2537 เนื่องจากในยุคดังกล่าว อุตสาหกรรมภาพยนตร์เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้ผลิตหลายราย โดยแต่ละคนก็จะผลิตภาพประกอบเพลงของตัวเอง [7] แต่ส่วนใหญ่จะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน คือเป็นแบบฉบับจากอังกฤษเกือบทุกประการ คือจะฉายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในท่ายืนตรง ควบคู่ไปกับภาพฉากหลังที่จะสลับผลัดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่นภาพวัด พระราชวัง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่างจากอังกฤษตรงที่ จะมีภาพพระราชกรณียกิจฉายแทรกเข้ามาด้วย เพลงที่ใช้ถูกขับร้องโดยคณะเสียงประสาน ด้วยโทนเสียงที่สูง หรือไม่ก็เป็นเสียงดนตรีบรรเลง แบบไม่มีเสียงขับร้อง ยิ่งเมื่อประกอบกับเนื้อเพลงที่ซับซ้อนอยู่แล้วทำให้ยากแก่การร้องตาม [8]

ภาพยนตร์ประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมียุคแรกเริ่ม (ที่มา: YouTube/ช่องของ tanasakp)

เมื่อผนวกกับบริบทของยุคที่เป็นยุครัฐนิยมที่การย้ำเตือนถึงสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มีความสำคัญด้วยแล้ว จะเห็นได้ว่าเป้าหมายของภาพประกอบเพลงสรรเสริญฯ ในโรงภาพยนตร์ในยุคแรกเริ่มนี้ยังคงมีเป้าหมายเพื่อย้ำเตือนถึงสถานะ และความเป็นสถาบันหลักของชาติเท่านั้นยังมิได้มีความหมาย หรือการแฝงนัยยะลงไปแต่อย่างใด พิธีกรรมที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพียงการรับเอาข้อความจากบทเพลงอยู่ฝ่ายเดียว อีกทั้งภาพประกอบก็ยังมิได้เรียกร้องส่วนร่วม หรือพฤติกรรมของประชาชนแต่อย่างใด ความน่าสนใจอีกประการของภาพประกอบในยุคนี้คือภาพพระราชกรณียกิจของพระองค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีในอังกฤษ แต่เหตุที่ภาพเหล่านี้ถูกแทรกเข้าไปได้ เนื่องจากในยุคนั้น ภาพยนตร์เป็นสิ่งที่แพร่หลายมากในต่างจังหวัดในรูปแบบของหนังกลางแปลง ซึ่งพื้นที่ต่างจังหวัดเหล่านี้ก็เป็นเป้าหมายของกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์ การย้ำภาพให้ประชาชนในต่างจังหวัดตระหนักถึงความเป็นสถาบันหลักของชาติ และการทรงงานหนักของพระองค์จึงเป็นสิ่งที่เข้าไปถ่วงดุลการเผยแพร่อุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ในต่างจังหวัดได้เป็นอย่างดี

 

ยุคที่ 2: จุดเริ่มต้นของข้อความ

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2530 เริ่มมีโรงภาพยนตร์แบบ Cineplex เข้ามาในเมืองไทยและได้รับความนิยมมากกว่าโรงภาพยนตร์แบบเก่าเนื่องจากใช้เทคโนโลยีแบบ Dolby Digital ซึ่งทำให้ได้ภาพและเสียงที่คมชัดกว่าโรงภาพยนตร์ทั่วไป ทำให้บริษัทผลิตภาพยนตร์รายเล็กค่อยๆ ปิดตัวลง เหลือเพียงบริษัทใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า เพลงสรรเสริญพระบารมีจึงเริ่มมีความหลากหลายน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งในแง่หนึ่งก็ทำให้เราเห็นรูปแบบที่มีร่วมกันชัดเจนขึ้น ในยุคนี้เป็นยุคที่เทคโนโลยีการถ่ายทำภาพยนตร์ดีขึ้นกว่าในอดีตมาก จึงเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีกราฟฟิกคอมพิวเตอร์ในการตัดต่อภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในอิริยาบถต่างๆ ขณะทำพระราชกรณียกิจ แต่ภาพทั้งหมดก็ยังเป็นภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกอยู่ดี ภาพประชาชนจะมีประกอบพระราชกรณียกิจของพระองค์อยู่บ้าง เทคโนโลยีการถ่ายทำในชุดนี้ได้ยกระดับจากการฉายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ธรรมดาๆ มาเป็นการใช้เทคโนโลยีการตัดต่อใส่ลูกเล่นเพิ่มเติม ทำให้ผู้ผลิตสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองลงไปในผลงานได้ ทำให้ข้อความที่เกิดขึ้นมิใช่เพียงแค่การทำงานหนัก หรือกษัตริย์นักพัฒนาเท่านั้น แต่ยังมีความหมายที่ซ้อนอยู่ด้วย โดยผลงานที่ถือเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของภาพประกอบเพลงสรรเสริญคือภาพประกอบชุด “ใบโพธิ์” [9] ของร้านเป็ดทองเพราะไม่ใช่เพียงแค่ใช้เทคโนโลยีการตัดต่อด้วยโปแกรมคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ยังมีการนำเสนออย่างสร้างสรรค์และมีนัยยะความหมายว่าพระองค์ทรงเป็นเหมือนร่มโพธิ์ร่มไทรของคนในชาติ อีกชุดหนึ่งที่มีความน่าสนใจคือชุด “หยาดฝน” ที่มีความหมายว่าพระองค์เปรียบเสมือนหยาดฝนที่น้ำพาความชุ่มชื่นและอุดมสมบูรณ์มาให้กับประเทศชาติซึ่งเปิดฉากมาด้วยผืนดินที่แตกและแห้งแล้ง ซึ่งก็สอดคล้องกับพระราชกรณียกิจด้านการชลประทานของพระองค์ท่านด้วย หรือชุด “จิ๊กซอว์” ซึ่งเป็นการนำเอาภาพหลายๆ ภาพของพระองค์จากพระราชกรณียกิจ และอิริยาบถต่างๆ มารวมกัน จนกลายเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ใหญ่ 1 ภาพ ซึ่งสื่อให้เห็นถึงความหลากหลายของพระราชกรณียกิจของพระองค์ ความสามารถที่รอบด้าน และการรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน

ภาพยนตร์ประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมี ชุดหยาดฝน (ที่มา: YouTube/หนองกุงฟิล์ม)

ภาพประกอบเพลงสรรเสริญในยุคนี้จะเน้นที่การทำพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นส่วนใหญ่ ภาพในอิริยาบถที่แข็งกระด้าง แต่มีสง่าตามแบบฉบับพระมหากษัตริย์เริ่มหายไป และถูกแทนที่ด้วยการทำงานหนัก การเข้าถึงประชาชน การแก้ปัญหาความแห้งแล้ง และความยากจนทั่วทุกถิ่นแดนไทย ซึ่งก็สอดคล้องกับช่วงเวลาดังกล่าวที่พระองค์เริ่มเจริญพระชนมพรรษามากขึ้น การออกพระราชกรณียกิจในต่างจังหวัดในพื้นที่ทุรกันดารเริ่มมีความยากลำบาก ภาพการออกพระราชกรณียกิจตามต่างจังหวัดที่เคยปรากฏอยู่ทุกวันตามข่าวในพระราชสำนักเริ่มมีน้อยลง จึงต้องได้รับการเผยแพร่เพิ่มเติมด้วยวิธีการอื่น นั่นคือในโรงภาพยนตร์ ประจวบเหมาะกับยุคสมัยดังกล่าว ที่ภาพยนตร์เป็นสิ่งที่คนทั่วไป แม้กระทั่งวัยรุ่นสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งวัยรุ่นเหล่านี้มิได้เกิดในยุคที่ภาพการประกอบพระราชกรณียกิจสามารถพบเห็นได้ทุกวัน ภาพประกอบเหล่านี้จึงช่วยเติมเต็มช่องว่างระหว่างวัยดังกล่าว ทำให้เรื่องเล่ากษัตริย์นักพัฒนา และพ่อผู้ห่วงใยพสกนิกรทั่วทุกหย่อมหญ้ายังคงดำรงอยู่

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าใน 2 ยุคที่ผ่านมา แม้จะมีพัฒนาการที่ก้าวกระโดดอย่างชัดเจน แต่ในแง่ของอุดมการณ์แล้วก็ยังมิได้มีความแตกต่างกันมากนัก เพราะภาพประกอบในทั้งสองยุคยังคงเกี่ยวข้องอยู่กับสถานะพระมหากษัตริย์ผู้ทรงได้รับความเคารพ ทรงงานหนัก และห่วงใยประชาชน ภาพประกอบเหล่านี้จึงทำงานในฐานะการสร้างเรื่องเล่าเท่านั้น มิได้นำไปสู่การแสดงออกที่เป็นสาธารณะแต่อย่างใด สิ่งที่ภาพประกอบเหล่านี้ส่งเสริมให้ผู้ชมแสดงออกคือความซาบซึ้ง และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาจกระตุ้นให้เกิดความสนใจในพระราชกรณียกิจของพระองค์มากขึ้นบ้าง แต่การแสดงออกเหล่านี้ก็ยังจำกัดอยู่ในวงที่แคบ และเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลเท่านั้น

ในภาพประกอบยุคหลังจากนี้ต่างหากที่เราจะเริ่มเห็นแนวโน้มของการเรียกร้องต่อสำนึกของผู้ชมอย่างชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้มิได้เป็นผลมาจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีการถ่ายทำ แต่เป็นผลมาจากปัจจัยทางการเมือง

 

ยุคที่ 3: จากอุดมการณ์สู่การปฏิบัติ

จะเห็นได้ว่าใน 2 ยุคข้างต้น ภาพประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมียังคงเป็นการใช้ภาพนิ่งหลายๆ ภาพในการนำเสนอ ภาพเคลื่อนไหวอาจจะมีบ้าง แต่ก็เป็นภาพบันทึกในขณะที่พระองค์กำลังทรงงาน ซึ่งทำให้ภาพมีชีวิตชีวาขึ้น ภาพยนตร์เพลงสรรเสริญพระบารมีเหล่านี้ยังไม่ถึงขั้นต้องเดินทางไปถ่ายทำภาพยนตร์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว อาศัยแต่เพียงแฟ้มภาพพระราชกรณียกิจก็เพียงพอแล้ว ภาพที่ออกมาส่วนใหญ่จึงมีแต่ภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นหลัก แต่ในยุคนี้ ภาพประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมีได้ยกระดับไปอีกขั้นหนึ่ง โดยมีการถ่ายทำภาพยนตร์เพื่อใช้สำหรับประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมีโดยเฉพาะ นอกจากนี้ประชาชนทั่วไปก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง จนกระทั่งกลายมาเป็นตัวแสดงหลักของภาพประกอบ ไม่ใช่แค่ภาพ เสียงก็เช่นกัน

ในอดีตเสียงดนตรีที่ใช้หากไม่เป็นเสียงของนักร้องมืออาชีพก็เป็นเสียงของเครื่องดนตรีบรรเลง แต่ในยุคนี้ผู้ที่ขับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีมีความหลากหลายอย่างยิ่ง ตั้งแต่เด็ก นักแสดง และการร้องโดยเสียงของคนจำนวนมาก เพลงสรรเสริญในยุคนี้จึงมีความเรียบง่ายขึ้น และให้ความรู้สึกใกล้ตัวผู้ฟัง หรืออาจจะกล่าวได้ว่านี่เป็นยุคที่เพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ได้รับการสามัญภิวัฒน์แล้วนั่นเอง

ภาพประกอบที่เป็นตัวแทนที่ดีของวิวัฒนาการดังกล่าวคือวิดีโอเพลงสรรเสริญพระบารมีของโรงภาพยนตร์เครือ Major Cineplex ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดทำขึ้นเนื่องในวโรกาส 5 ธันวาคม 2547 [10] ภาพประกอบชุดนี้เริ่มมาด้วยเสียงร้องของเด็กไร้เดียงสา ที่ยังออกเสียงคำว่า “ข้าวรพุทธเจ้า” ไม่ชัดด้วยซ้ำ พร้อมกับภาพกลุ่มเด็กในชุดนักเรียนกำลังถวายความเคารพต่อพระบรมฉายาลักษณ์ ต่อด้วยภาพของเด็กต่างจังหวัดสลับกับภาพพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงห่วงใยเยาวชน ตัดไปเป็นภาพกลุ่มผู้สูงอายุในต่างจังหวัดกำลังตั้งขบวนรอรับเสด็จด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ภาพเกษตรกรยืนอยู่บนพื้นดินที่แห้งแล้ว แต่ต่อมาถูกชโลมชุ่มด้วยหยาดฝน ภาพชนกลุ่มน้อย ชาวไทยมุสลิม แสดงออกถึงความจงรักภักดี สลับไปเรื่อยๆ กับพระราชกรณียกิจ

ภาพยนตร์ประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมีของโรงภาพยนตร์เครือ Major Cineplex
ที่มา: YouTube/Kim Kiratihongsakun

 

แม้ว่าภาพประกอบยังอยู่กับประเด็นเรื่องพระราชกรณียกิจ และความเป็นที่รักของคนทุกวัย ทุกชาติพันธุ์ ศาสนา แต่ความแตกต่างอยู่ตรงที่มุมมอง จากในยุคก่อนที่การส่งผ่านข้อความเหล่านี้จะถูกทำผ่านพระราชกรณียกิจของพระองค์ นั่นหมายความว่าการกระทำของพระองค์นั้นคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระองค์ทรงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย แต่ข้อความที่ผลงานชิ้นนี้นำเสนอคือ ปฏิกิริยาของประชาชนเองก็มีความสำคัญ ประชาชนก็แสดงออก (Perform) ถึงความรัก และจงรักภักดีที่มีต่อท่านด้วย สถานะอันเป็นที่รักของพระองค์จึงจะสมบูรณ์ ซึ่งการแสดงออกที่ผลงานชิ้นนี้นำเสนอก็คือการเข้าร่วมตามรัฐพิธีต่างๆ การเข้าเฝ้ารับเสด็จ และการกราบไหว้ แม้จะเป็นการแสดงออกที่ค่อนข้างจำกัด และไม่มีโอกาสจะแสดงออกได้บ่อยนัก แต่ภาพประกอบชุดนี้ก็ส่งกลิ่นอายของความพยายามในการตั้งมาตรฐานคนไทยในอุดมคติที่เคารพพระมหากษัตริย์และแสดงออกผ่านการเข้าร่วมรัฐพิธีต่างๆ

นอกจากภาพประกอบชุดข้างต้นแล้ว ยังมีภาพประกอบชุดอื่นๆ ที่น่าสนใจอยู่อีกมากมาย ทั้งชุด “รูปที่มีทุกบ้าน” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเพลง “รูปที่มีทุกบ้าน” ที่แสดงให้เห็นถึงรูปพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งประเทศไม่ว่าจะเป็นปฏิทินที่ข้างฝาบ้าน ไปจนถึงบนเรือหาปลากลางทะเล ซึ่งก็ถือเป็นการนำเสนอมาตรฐานและการแสดงออกใหม่ให้กับประชาชนไทยในอุดมคติที่จะต้องมีรูปของพระองค์ท่านติดบ้าน

ภาพประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมีที่น่าจะเป็นตัวแทนที่ดีของประเด็นข้างต้นก็คือชุด “พรของพ่อ” [11] ที่จัดทำโดยโรงภาพยนตร์เครือ SF Cinema ร่วมกับโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ผลงานชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2556 โดยมีการจัดงานเปิดตัวแบบยิ่งใหญ่ที่โรงภาพยนตร์เซ็นทรัลเวิลด์ และมีการเชิญศิลปินชื่อดังมาร่วมบรรเลงเพลงประกอบเช่น เจนนิเฟอร์ คิ้ม และโก้ มิสเตอร์แซกซ์แมน อีกทั้งยังเชิญดาราชื่อดังในยุคนั้นอย่างแพนเค้ก เขมนิจ มาร่วมในงานเปิดตัวดังกล่าวด้วย ความสำคัญของเพลงสรรเสริญจึงนับได้ว่ามาไกลมากจากการมีเพียงฉายกระจกแก้วในยุคแรกเริ่ม โดยตัวภาพประกอบชุดนี้นั้นมีความยาวจากเพลงปกติ เนื่องจากมีทั้งส่วนนำเข้าเพลง (Introduction) และส่วนหลังจบเพลง (Outroduction) ต่างจากภาพประกอบทั่วไปที่จะเริ่มต้นด้วยตัวอักษรว่า “โปรดยืนถวายความเคารพ ฯลฯ” ภาพชุดนี้ขึ้นต้นด้วยประโยคว่า “ประเทศพบวิกฤตต่างๆ นานา ....แต่เรายังเข้มแข็งและมีความหวัง....เรามีสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ.....เพราะเราได้รับกำลังใจอันยิ่งใหญ่.....จากพรของพ่อ” สลับไปกับภาพคนที่กำลังสิ้นหวังกับชีวิตเช่นคนป่วย คนทำงานหนัก แต่ได้กำลังใจจาก สคส. ที่มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์และคำอวยพรปีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 คลอด้วยเสียงแซกโซโฟนในบทเพลงพระราชนิพนธ์พรปีใหม่ หลังจากนั้นจึงขั้นข้อความ “โปรดยืนถวายความเคารพ ฯลฯ” เพลงสรรเสริญพระบารมีจึงจะเริ่มบรรเลงขึ้น โดยภาพประกอบเป็นภาพของ สคส. พระราชทานในปีต่างๆ พร้อมกับคำสอนของพระองค์ในปีนั้น สลับกับภาพการแสดงความเคารพของพสกนิกรในรูปแบบต่างๆ เช่นการกราบไหว้ การรับขบวนเสด็จ การชูพระบรมฉายาลักษณ์ หรือแม้กระทั่งการร้องไห้ระหว่างการรับเสด็จ จากหลากหลายวัยตั้งแต่เด็กจนถึงคนชรา ซึ่งภาพส่วนใหญ่เป็นภาพบันทึกจากการรับเสด็จจริงๆ ฉะนั้นอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในภาพประกอบ ไม่ใช่การแสดงเหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงที่ถูกนำมาผลิตซ้ำและฉายภาพในอุดมคติของคนไทยภายใต้อุดมการณ์สถาบันกษัตริย์นิยม นอกจากนี้หลังจากเพลงสรรเสริญพระบารมีจบลง ก็มีเสียงตะโกน “ทรงพระเจริญ” ของประชาชนดังต่อเนื่องไปอีกเกือบครึ่งนาที ซึ่งในส่วนหลังนี้ ภาพที่ปรากฏเป็นภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์

จะเห็นได้ว่านี่คือเพลงสรรเสริญพระบารมีมีพัฒนาการก้าวกระโดดอย่างยิ่ง เพราะจากการเรียกร้องให้ประชาชนแสดงออกถึงความเคารพในช่วงต้นของยุคนี้ ภาพประกอบชุดนี้กลับเรียกร้องไปถึง ‘อารมณ์ความรู้สึก’ ของคนไทยว่าต้องรู้สึก ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเรียกร้องการแสดงออกที่มากกว่าปกติ ภาพประกอบในลักษณะเช่นนี้ย่อมสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก ในรายที่มีความเห็นกลางๆ ยังสงสัยถึงความจำเป็นในการเปล่งเสียงทรงพระเจริญดังต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบครึ่งนาทีว่าตนสมควรจะนั่งลงตอนไหน และควรจะต้องตะโกนพร้อมไปกับเสียงเหล่านั้นหรือไม่ ซึ่งในภายหลังทางโรงภาพยนตร์ SF Cinema ก็ตัดสินใจตัดส่วนท้ายนี้ออกไป

ที่มา: YouTube/Torkhet Oaka Keeratimas

นอกจากนี้ประโยคเปิดกับเนื้อหาภาพก็มีความขัดแย้งกัน ภาพประกอบเปิดด้วยประโยคที่ว่า “ประเทศไทยพบวิกฤตต่างๆ นานา” แต่ภาพที่ปรากฏออกมาหลังจากนั้นกลับเป็นภาพคนที่กำลังสิ้นหวัง กำลังป่วยไข้ คนพิการ ซึ่งดูห่างไกลจากการเป็นตัวแทนของคำว่า “ประเทศไทย” มากนัก แต่หากผู้สร้างต้องการจะสื่อความหมายให้สอดคล้องกับประโยคเปิด นั่นหมายความว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในสถานะที่สิ้นหวัง ป่วยไข้ และพิการ จากความขัดแย้งทางการเมือง และทางแก้ก็คือการน้อมนำเอาคำอวยพร หรือคำสอนของพระองค์ใน สคส. เหล่านี้มาเป็นหลักการในการดำรงชีวิต หรือถ้าพูดในทางกลับกันปัญหาความป่วยไข้ พิการ ของสังคมไทยที่กำลังดำรงอยู่นี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากคนไทยทุกคนน้อมรับเอาคำสอนของพระองค์ท่านมาปฏิบัติตั้งแต่ต้น ภาพประกอบชุดนี้จึงเป็นการเสนอให้คนไทยกลับไปหาที่พึ่งทางใจของคนในชาติในสภาวะที่ประเทศกำลังประสบวิกฤติ และเสนอว่าคำสอนและแนวทางของพระองค์คือคำตอบที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ประเทศไทยได้

 

ประวัติการดำเนินคดีอันเกิดจากการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญในโรงภาพยนตร์ [12]

การใช้อำนาจเชิงรูปธรรม มีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อส่งเสริมให้อุดมการณ์มีความแข็งแรงและสมบูรณ์ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่ผู้ปกครองใช้เพื่อธำรงไว้ซึ่งอำนาจของอุดมการณ์ ซึ่งการพิจารณารูปแบบของคำพิพากษาในแต่ละกรณีจะทำให้เราเห็นถึงอุดมการณ์และปรากฏการณ์ย้อนแย้งที่เกิดขึ้น

 

พ.ศ. 2521: นายอนุชิต (สงวนนามสกุล)

อนุชิต ถูกฟ้องมาตรา 112 เนื่องจากขณะเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี จำเลยได้กล่าวถ้อยคำว่า “เฮ้ย เปิดเพลงอะไรโว้ย ฟังไม่รู้เรื่อง” และจำเลยมิได้ยืนตรงเช่นประชาชนคนอื่น การกระทำของจำเลยดังกล่าวถือเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม ต้องกล่าวถึงบริบทด้วยว่า คดีนี้โจทก์ คืออัยการฟ้องว่ามีผู้อภิปรายเรื่องเกี่ยวกับการต่อต้านคอมมิวนิสต์และเรื่องการต่อต้านราคาสินค้าที่บริเวณสนามหลวง เมื่อผู้อภิปรายยุติการอภิปรายและเปิดแผ่นเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี ประชาชนยืนตรงแสดงความเคารพพระมหากษัตริย์ จำเลยได้บังอาจกล่าวถ้อยคำดังกล่าวและไม่ยืนตรง เป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และเป็นการแสดงอาการไม่เคารพนอบน้อมต่อพระมหากษัตริย์ต่อหน้าชุมชน ฯลฯ ในคดีดังกล่าวจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ม.112 ให้จำคุก 2 ปี ต่อมานายอนุชิตยื่นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

 

พ.ศ. 2551: โชติศักดิ์ อ่อนสูง

เหตุเกิดที่โรงภาพยนตร์ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ นายโชติศักดิ์ พร้อมเพื่อนอีกหนึ่งคน เข้าไปชมภาพยนตร์ โดยขณะที่เพลงสรรเสริญพระบารมีบรรเลง ทั้งสองคนตัดสินใจนั่งอยู่เฉยๆ ทำให้มีปากเสียงกับนายนวมินทร์ วิทยากุล นายนวมินทร์ขว้างปาสิ่งของใส่นายโชติศักดิ์และเพื่อน ทั้งสองจึงตัดสินใจเดินออกจากโรงภาพยนตร์และไปแจ้งความข้อหาทำร้ายร่างกายและข่มขืนใจต่อนายนวมินทร์ นายนวมินทร์ฟ้องทั้ง 2 กลับด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยในคดีดังกล่าวอัยการไม่สั่งฟ้องโดยให้เหตุผลว่า “เพียงแต่ไม่ได้ลุกขึ้นยืนตรงขณะที่มีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ การแสดงความอาฆาตมาดร้ายจะต้องมีการกระทำแสดงให้เห็นด้วย เมื่อไม่ปรากฏพฤติการณ์อันจะมีลักษณะความผิดในฐานแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์”

 

พ.ศ. 2551: รัชพิณ (สงวนนามสกุล)

กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2551 เวลากลางวัน ที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ฯ รัชโยธิน ขณะเมื่อมีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ จำเลยไม่ลุกขึ้นยืนถวายความเคารพ และได้ยกเท้าทั้งสองข้างพาดเก้าอี้ไปทางจอภาพยนตร์ พอเพลงจบก็ยังมีการตะโกนถ้อยคำหยาบคายออกมา (อย่างไรก็ตาม ศาลมิได้เปิดเผยว่าถ้อยคำหยาบคายดังกล่าวมีเนื้อหาที่แท้จริงว่าอะไร) ปีถัดมา วันที่ 19 ตุลาคม ปีเดียวกัน ศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม มาตรา 112 ให้จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดลงกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน อย่างไรก็ตาม คดีนี้มีการรอลงอาญาไว้ 2 ปีเนื่องจากมีเหตุว่า จำเลยมีประวัติมีอาการทางจิตและเคยผ่านการรักษาจากโรงพยาบาลจิตเวช

ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาระบุว่า “พิเคราะห์จากรายงานการสืบเสาะและพินิจแล้ว เห็นว่ามีแพทย์จากโรงพยาบาลศรีธัญญา และโรงพยาบาลตรัง ซึ่งเป็นจิตแพทย์ผู้รักษาอาการทางจิตของจำเลยมาให้ปากคำต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติสอดคล้องกันว่าจำเลยเป็นผู้ป่วยทางจิตเภทมีอาการวิตกกังวล หวาดระแวงกลัว ว่าจะมีคนมาทำร้าย เป็นโรคจิตอารมณ์แปรปรวนโดยมีอาการมาตั้งแต่ประมาณเดือนเมษายน 2547 ประกอบกับแพทย์หญิงดวงตา ไกรภัสสร์พงษ์ แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ได้ให้ความเห็นไว้ส่วนหนึ่งว่า สาเหตุของอาการกำเริบทางจิตสภาพแวดล้อมไม่ใช่ตัวกระตุ้นที่จะทำให้จำเลยเกิดอาการทางจิต แต่กลับเป็นตัวของจำเลยที่จะเป็นตัวกระตุ้นอาการกำเริบทางจิต โดยจำเลยคิดเอง โรงภาพยนตร์หรือการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี ไม่ใช่สิ่งเร้าที่ทำให้เกิดอาการทางจิต แต่เกิดจากอาการป่วยของจำเลยซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นโรงภาพยนตร์และเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยจะเป็นสถานที่ใดก็ได้ ซึ่งเกิดจากจำเลยไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นสถานที่ใด เห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่อาจยืนยันได้ว่าขณะกระทำผิดจำเลยมีอาการป่วยทางจิต แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้มีอาการบกพร่องทางจิตอยู่บ้าง ซึ่งศาลสามารถนำมาประกอบดุลพินิจในการรอการลงโทษได้และจากคำให้การของจำเลย ต่อพนักงานคุมประพฤติก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยจะมีพฤติกรรมใดที่จะแสดงความไม่จงรักภักดีอีก

ดังนั้นเมื่อศาลได้คำนึงถึงประวัติ สติปัญญา สุขภาพ ภาวะแห่งจิต ของจำเลยแล้ว เห็นสมควรให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติให้จำเลยไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติ 2 เดือนต่อครั้ง เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้เจ้าพนักงานได้สอบถามแนะนำและช่วยเหลือตามที่เห็นควร และให้จำเลยไปรับการบำบัดรักษาความบกพร่องทางจิตใจ ณ สถานพยาบาลของรัฐ เป็นระยะเวลา 1 ปี ตามระยะเวลาที่แพทย์ผู้ทำการรักษาเห็นสมควร โดยกำหนดให้จำเลยนำผลการรักษาไปแสดงต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติเป็นระยะ”

จากรูปแบบการพิจารณาคดี จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการไม่ยืนในโรงภาพยนตร์ในตัวมันเองนั้นไม่มีความผิด แต่การแสดงออกซึ่งพฤติกรรมเช่นการตะโกน หรือการด่าต่างหากที่จะทำให้เกิดความผิดตามมา แม้ข้อความที่ตะโกนออกมาจะไม่ได้แสดงถึงความอาฆาตมาดร้ายเลยก็ตาม เช่นคดีเมื่อ พ.ศ. 2521 ที่นายอนุชิตโกนขึ้นมานั้น มิได้เป็นการหมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายแต่อย่างใด แต่การที่เขาตะโกนต่างหากที่มีความผิด เพราะมันเป็นการทำลาย “พิธีกรรม” ที่กำลังเกิดขึ้น การนั่งอย่างสงบและไม่ขัดความศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นสิ่งที่สามารถยอมความกันได้ ซึ่งโทษของการทำลายพฤติกรรมดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถละเว้นได้เช่นกัน อย่างเช่นกรณีของรัชพิณ แม้ว่าผู้ต้องหาจะมีอาการวิกลจริต ซึ่งศาลเองก็ตระหนักว่านางรัชพิณมีอาการวิกลจริตและมีโอกาสที่จะกำเริบได้ทุกเมื่อ รวมถึงในโรงภาพยนตร์ แต่ศาลก็มองว่าไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างได้ เนื่องจากศาลต้องการหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ว่ารัชพิณเกิดอาการกำเริบ ณ ขณะที่อยู่ในโรงภาพยนตร์ ซึ่งยากต่อการพิสูจน์อย่างยิ่ง เพื่อที่จะรับประกันว่าจะไม่มีข้อหาใดๆ ที่สร้างความชอบธรรมให้กับการทำลายพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นอันขาด ซึ่งพิธีกรรมดังกล่าวจำเป็นต้องมีความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อความและอุดมการณ์ที่อยู่ภายใต้บทเพลงและภาพประกอบนั้นจะได้รับการถ่ายทอดโดยไม่ถูกขัดจังหวะ

 

แหล่งอ้างอิง

[1] อติภพ ภัทรเดชไพศาล (2556), “เสียงเพลง/วัฒนธรรม/อำนาจ”, กทม.: มติชน. หน้า 116.

[2] เพิ่งอ้าง 118.

[3] เพิ่งอ้าง 119.

[4] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (2551), “เพลงสรรเสริญในโรงนั้นมีมาแต่หนใด”, ใน ประชาไท, สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2558, ที่มา: http://prachatai.org/journal/2008/04/16478

[5] “เพลงสรรเสริญพระบารมี และข้อกำหนด กฎ ระเบียบที่ระบุไว้ในราชกิจจานุเบกษา”, เพลงสรรเสริฐพระบารมีและเพลงชาติไทย, สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2558, ที่มา: http://www.t-h-a-i-l-a-n-d.org/RoyalAnthem_rule.html

[6] ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 4 เรื่อง การเคารพธงชาติ, เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ลงวันที่ 8 กันยายน 2482

[7] “เพลงสรรเสริญฯ ในโรงหนัง”, ใน Go to Know, สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2558, ที่มา: https://www.gotoknow.org/posts/368877

[8] “เพลงสรรเสริญพระบารมี 5” (2553), Tanasakp, สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2558, ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=j16Ea6iusj4#t=12

[9] Go To Know, เพิ่งอ้าง.

[10] “Thai Royal Anthem เพลง สรรเสริญ พระบารมี” (2552), MajorCineplexGroup, สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2558, ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=XgzAQLN9LgE

[11] “เพลงสรรเสริญพระบารมี” (2014), Torkhet Oaka Keeratimas, สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2558, ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=sCwOctJ4T2I

[12] ทีมข่าวกระบวนการยุติธรรม (2012), “เปิดแฟ้ม 3 คดี ไม่ยืนเพลงสรรเสริญพระบารมีและอื่นๆ”, ใน ประชาไท, สืบค้นเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2558, ที่มา: http://prachatai.org/journal/2012/07/41690

 

หมายเหตุ: มีผู้ท้วงติงผู้เขียนว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีถูกแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ห้า โดยชาวรัสเซียชื่อชูรอฟสกี้ 

จากรัสเซียสู่ไทย แกะรอย ‘ชูรอฟสกี้’ และ เพลงสรรเสริญพระบารมี https://www.matichon.co.th/prachachuen/prachachuen-scoop/news_602012

(เพิ่มเติมเมื่อ 13 พฤษภาคม 2562)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท