HRW เปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียม-หมู่บ้านโรฮิงญาถูกทำลายระลอกล่าสุด

ฮิวแมนไรท์วอทช์ เผยภาพถ่ายจากดาวเทียม ชี้ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สิ่งก่อสร้าง 820 แห่งใน 5 หมู่บ้านชาวโรฮิงญา รัฐยะไข่ ถูกทำลายเพิ่ม หากรวมกับข้อมูลตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ทำให้มีสิ่งก่อสร้างถูกทำลายแล้ว 1,250 แห่ง ซึ่งมีความเสียหายหนักกว่าที่รัฐบาลพม่าอ้าง ทั้งนี้ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังเรียกร้องพม่าเร่งให้ UN เข้าพื้นที่เพื่อสอบสวนสิ่งที่เกิดขึ้น

แผนที่จากภาพถ่ายดาวเทียมรวบรวมโดยฮิวแมนไรท์วอทช์ พบว่ามีสิ่งก่อสร้างถูกทำลายเพิ่มขึ้นอีก 820 แห่ง ในพื้นที่ 5 หมู่บ้านของชาวโรฮิงญา ใกล้เมืองเมาก์ดอว์ ในรัฐยะไข่ (ที่มา: HRW)

21 พ.ย. 2559 ฮิวแมนไรท์วอทช์ เปิดเผยภาพถ่ายจากดาวเทียม แสดงให้เห็นสิ่งก่อสร้างที่ถูกทำลายเพิ่มขึ้นอีก 820 แห่งในพื้นที่ 5 หมู่บ้านของชาวโรฮิงญา ในรัฐยะไข่ ระหว่างวันที่ 10 ถึง 18 พฤศจิกายนนี้ พร้อมเรียกร้องรัฐบาลพม่า ไม่ควรประวิงเวลาที่จะเชิญสหประชาชาติเข้าไปสอบสวนเหตุทำลายหมู่บ้านที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ (ดูรายงานฉบับล่าสุด)

ทั้งนี้เมื่อรวมกับข้อมูลภาพถ่ายผ่านดาวเทียมที่ฮิวแมนไรท์วอช์เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ทำให้ขณะนี้สามารถระบุจำนวนสิ่งก่อสร้างที่ถูกทำลายไปแล้วอย่างน้อย 1,250 แห่ง

ทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ซามันธา พาวเวอร์ กล่าวในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อ 17 พฤศจิกายน เรียกร้องให้ผู้สังเกตการณ์นานาชาติได้รับอนุญาตเข้าไปสืบสวน และให้ทีมช่วยเหลือเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าว

ขณะที่ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ลี ยังฮี กล่าวเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ระบุว่าเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงพม่าไม่ควรมีอำนาจทำตามใจชอบ ในขณะที่ยังมีความคลุมเครือที่จะให้ผู้แทนจากนานาชาติเข้าไปในพื้นที่ มาตรการเร่งด่วนในขณะนี้มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์"

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า ภาพถ่ายจากดาวเทียมชุดใหม่ซึ่งส่งสัญญาณเตือนด้วยว่า การทำลายหมู่บ้านชาวโรฮิงญาเกิดขึ้นขยายวงมากกว่าที่รัฐบาลพม่าเคยยอมรับ"

"การโจมตีเพื่อแก้แค้นในพื้นที่ 5 หมู่บ้านของชาวโรฮิงญาเป็นสิ่งที่น่าห่วงอย่างยิ่งต่อรัฐบาลพม่า ที่มีความจำเป็นต้องสืบสวนและแสดงออกถึงความรับผิดชอบเหล่านี้ การให้สหประชาชาติเข้ามามีส่วนร่วมมีความสำคัญเพื่อให้การสอบสวนมีความน่าเชื่อถือ"

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน รัฐบาลพม่ามีการแถลงข่าวชี้แจงหลังจากฮิวแมนไรท์วอทช์เผยแพร่ภาพถ่ายจากดาวเทียมชุดแรกเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน โดยรัฐบาลพม่าชี้แจงว่าการเผาที่เกิดขึ้น มีสิ่งก่อสร้างที่ถูกทำลายมีจำนวนน้อยกว่าที่รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุ นอกจากนี้รัฐบาลพม่ายังอ้างถึงการนำเฮลิคอปเตอร์เข้าไปในพื้นที่ด้วยเพื่อเข้าถึงที่เกิดเหตุที่ว่า นอกจากนี้ยังประณาม "ผู้ก่อการร้าย" ที่ยังไม่สามารถระบุตัวได้ ว่าเป็นเหตุของการเผา

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุด้วยว่า ภาพจากดาวเทียมชุดล่าสุด แสดงให้เห็นว่าการเผาทำลายหมู่บ้านเกิดขึ้นขนาดใหญ่และมากกว่าที่รัฐบาลพม่าอ้าง

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน กองทัพพม่ารายงานว่า มีบ้านเรือน 60 หลังที่ดาจีซา (Dar Gyi Sar) ถูกเผาโดย "กลุ่มติดอาวุธ" ขณะที่ "คณะกรรมการข้อมูล" ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นโดยสำนักงานที่ปรึกษาแห่งรัฐ หน่วยงานในกำกับของ ออง ซาน ซูจี ได้ออกรายงานเมื่อ 16 พฤศจิกายน ระบุว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีอาคารถูกทำลายเพียง 30 แห่งเท่านั้น อย่างไรก็ตามหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายผ่านดาวเทียมของฮิวแมนไรท์วอทช์แสดงให้เห็นว่า มีอาคาร 265 แห่งในพื้นที่ดังกล่าวถูกทำลาย

กราฟฟิกวิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียมที่ HRW นำเสนอพื้นที่หมู่บ้านวาเปก์ ใกล้กับเมืองเมาก์ดอว์ โดยพื้นที่สีส้มคือสิ่งก่อสร้างที่ถูกทำลายระหว่างต้นเดือนตุลาคม จนถึง 3 พฤศจิกายน ขณะที่พื้นที่สีแดงคือสิ่งก่อสร้างที่ถูกทำลายระหว่าง 10 ถึง 17 พฤศจิกายนนี้ (ที่มา: HRW)

อาคารบ้านเรือนในหมู่บ้านวาเปก์ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก่อนเกิดเหตุโจมตีหมู่บ้านรอบที่ 2 (ที่มา: HRW)

อาคารบ้านเรือนในหมู่บ้านวาเปก์ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นความเสียหาย หลังเหตุโจมตีหมู่บ้านรอบที่ 2 (ที่มา: HRW)

ทั้งนี้ข้อมูลของกองทัพพม่า และ "คณะกรรมการข้อมูล" ระบุว่ามีอาคาร 105 แห่ง ถูกทำลายที่หมู่บ้านวาเปก์ (Wa Peik) ขณะที่ภาพถ่ายจากดาวเทียมของฮิวแมนไรท์วอทช์ที่เก็บข้อมูลระหว่าง 10 ถึง 17 พฤศจิกายนระบุว่ามีอาคารถูกทำลาย 220 แห่ง และเมื่อรวมกับข้อมูลระหว่าง 9 ตุลาคม ถึง 3 พฤศจิกายน ซึ่งมีอาคารประมาณ 100 แห่งถูกทำลาย ทำให้จำนวนอาคารที่ถูกทำลายล่าสุดในพื้นที่ดังกล่าวคือ 320 แห่ง

อนึ่งในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่เมืองหลวงเนปิดอว์ ซึ่งเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซอเท รองผู้อำนวยการของ "คณะกรรมการข้อมูล" อ้างว่าจับตัวผู้ต้องสงสัยก่อเหตุโจมตีได้ 36 ราย เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ชื่อ "โมฮัมหมัด อิสลาม" อายุ 41 ปี อาศัยอยู่หมู่บ้านพวินผิ่วเชาก์ (Pwintphyuchaung) โดยเขาระบุว่าได้ร่วมกับชาวบ้านคนอื่นไปต่อสู้กองกำลังของรัฐบาล โดยซอว์เท ยังแถลงว่า โมฮัมหมัด อิสลามผู้นี้บอกว่า ผู้ก่อเหตุรุนแรงกลับมาจากบังกลาเทศเพื่อมาจุดไฟเผาบ้านเรือน

ขณะที่ พล.ต. ซอหน่ายอู ผู้แทนกองทัพพม่า แถลงว่าเหตุโจมตีป้อมที่บริเวณชายแดนพม่า-บังกลาเทศเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ถือเป็นการละเมิดอธิปไตยของพม่า โดยผลการโจมตีทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 9 รายเสียชีวิต และมีอาวุธปืน 65 กระบอกถูกยึดโดยกลุ่มผู้โจมตี

ทั้งนี้กองทัพของรัฐบาลมีการออกปฏิบัติการโดยยึดตามข้อจำกัดจากรัฐบาล และยึดถือกฎหมายระหว่างประเทศ ผู้แทนกองทัพพม่าอ้างว่าต้องใช้เฮลิคอปเตอร์เนื่องจาก ทหารพม่าถูกโจมตีจาก 3 ทิศทางและมีก่อเหตุโจมตีมีกำลังกว่า 830 คน โดยมี 30 รายที่มีอาวุธปืน และที่เหลือก็มีมีด มีหอก และหนังสติ๊ก เพื่อสลายฝูงชน ตอนแรกกองทัพใช้ปืนกระสุนยาง แต่ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์เสียชีวิตในช่วงแรก

ดังนั้นเพื่อรักษากำลังของเจ้าหน้าที่และมีเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับบาดเจ็บ กองทัพพม่าจึงใช้เฮลิคอปเตอร์ แต่ไม่ได้ใช้จรวดหรือระเบิด โดยยังคงยึดสนธิสัญญาเจนีวา

ต่อคำถามเรื่องการรายงานข่าวในพื้นที่ขัดแย้ง พล.ต.ซอหน่ายอู ระบุว่า ผู้ก่อเหตุโจมตีไม่ได้สวมเครื่องแบบและเจ้าหน้าที่ของกองทัพพม่าก็ไม่สามารถเจาะจงว่าคนกลุ่มนี้สังกัดฝ่ายใด เจ้าหน้าที่พม่ายังถูกซุ่มโจมตีเป็นระยะและพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ ซึ่งยากที่จะรับประกันความปลอดภัย และยังระบุว่าเจ้าหน้าที่พม่าจะยึดหลักปฏิบัติจากรัฐบาลและกติการะหว่างประเทศ

 

เหตุความรุนแรงระลอกล่าสุดในรัฐยะไข่ ท่ามกลางความกังวลวิกฤตด้านมนุษยธรรม

ความรุนแรงรอบล่าสุดในรัฐยะไข่ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 9 ตุลาคม หลังจากมีผู้ก่อเหตุโจมตีป้อมตำรวจที่ชายแดนรัฐยะไข่ โดยหลังเกิดเหตุ กลุ่มผู้ก่อเหตุยึดอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ได้ส่วนหนึ่ง โดยหลังจากนั้นก็มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นติดตามมาหลายระลอกจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งข้อห่วงใยต่อเหตุแก้แค้นจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าอีกด้วย

โดยนับเป็นเหตุความรุนแรงด้านเชื้อชาติศาสนาครั้งเลวร้ายที่สุดของรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยประธานาธิบดีถิ่นจ่อ และที่ปรึกษาแห่งรัฐ ออง ซาน ซูจี ที่บริหารประเทศมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ขณะที่เดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการตั้งคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาในกิจการรัฐยะไข่ ที่มีอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ โคฟี อันนัน เป็นประธาน

ทั้งนี้ รัฐยะไข่มีประชากรชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ราว 1 ล้านคน และถูกปฏิเสธสัญชาติ ขณะที่เจ้าหน้าที่พม่ามักจะเรียกขานพวกเขาว่า "เบงกาลี" และกล่าวหาว่ามาจากบังกลาเทศ

ขณะเดียวกันนับตั้งแต่เกิดเหตุเมื่อต้นเดือนตุลาคม นักวิจัยอาวุโสของฮิวแมนไรต์ วอทช์ เดวิด มาธีสัน ( David S. Mathieson) ก็ยังเตือนให้กองทัพพม่าและตำรวจยึดหลักวินัยอย่างเคร่งครัดในระหว่างที่ปฏิบัติการ เพราะมีรายงานหลายหนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าละเมิดประชากรชาวโรฮิงญา เขาระบุด้วยว่า การค้นหาลาดตระเวนเพื่อหาตัวผู้ก่อเหตุโจมตี ไม่ควรมาลงเอยด้วยการละเมิดประชาชนท้องถิ่น ที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจ้างมาตรการเข้มงวดต่อเสรีภาพในการเดินทาง การทำงาน และการเข้าถึงการบริการ"

 

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Burma: New Wave of Destruction in Rohingya Villages, Humar Rights Watch, NOVEMBER 21, 2016 9:25PM EST

GOVERNMENT REFUTES RIGHTS GROUP REPORT ON RAKHINE, State Counsellor Office, November 17, 2016

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท