สุรพศ ทวีศักดิ์: โลกียธรรมไม่ใช่ secular morality

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

การใช้คำว่า “โลกียธรรม” หมายถึง “ศีลธรรมทางโลก” (หรือบางทีก็แปลว่า “ศีลธรรมโลกวิสัย”) ทำให้สับสนกับคำว่า secular morality ซึ่งแปลกันว่าศีลธรรมทางโลก, ศีลธรรมแบบโลกวิสัยเหมือนกัน แต่ “ความหมาย” ต่างกันโดยสิ้นเชิง

โลกียธรรมก็คือ “ศีลธรรมทางศาสนา” (religious morality) เพราะเป็นศีลธรรมที่มาจากคำสอนพุทธศาสนา ซึ่งเกิดจากการแยกระหว่าง “โลกุตตรธรรม” ที่หมายถึงธรรมเหนือโลก พ้นการยึดติดในเรื่องโลกย์ๆ คือมรรคผลนิพพานที่นิยามกันว่าเป็นธรรมขั้นสูงสำหรับผู้มุ่งความหลุดพ้น ส่วนโลกียธรรมเป็นธรรมขั้นต่ำ หรือข้อปฏิบัติสำหรับฆราวาส หรือคนที่ยังแสวงหาความสุขทางโลก

การแบ่งระหว่างโลกุตตรธรรมกับโลกียธรรมดังกล่าว น่าจะมีในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา เริ่มเน้นมากตั้งแต่สมัย ร.4 เป็นต้นมาที่สยามเริ่มปรับตัวอยู่ความเป็นสมัยใหม่ และยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ซึ่งเป็นยุคพัฒนา หรือยุค “น้ำไหล ไฟสว่าง” ก็เลยต้องเน้นการสอนโลกียธรรม หรือ “คิหิปฏิบัติ” อันได้แก่ข้อปฏิบัติเพื่อการมีชีวิตที่ดีของฆราวาส เช่น การละเว้นอบายมุข คบเพื่อนดี ขยัน ประหยัด และหลักทิศ 6 ที่พูดถึงความสัมพันธ์เชิงเกื้อกูลกันระหว่างสามี ภรรยา พ่อแม่ ลูก ครูกับศิษย์ นายกับบ่าว พระกับโยมเป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการมีชีวิตที่ดีส่วนบุคคล และการปฏิบัติที่ดีต่อกันภายในความสัมพันธ์ตามสถานภาพสูง ต่ำทางสังคม ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ secular morality

เวลาเราแปล secular ว่า ทางโลก, ทางฆราวาส แล้วนำมาใช้ในสังคมศาสนาบ้านเรา ย่อมทำให้เข้าใจไปว่าหมายถึงโลกียธรรมได้ง่ายๆ แต่อันที่จริงศีลธรรมแบบ secular หรือ secular morality มีกรอบคิดต่างจากโลกียธรรมอย่างสิ้นเชิง

ความคิดเรื่องศีลธรรมแบบโลกวิสัยหรือ secular morality เกิดขึ้นในยุคสว่างและมีพัฒนาการก้าวหน้ามากขึ้นในยุคสมัยใหม่ของยุโรป ศีลธรรมแบบโลกวิสัยได้กลายเป็นพลังที่ทำให้เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมือง ซึ่งคลี่คลายมาเป็นเสรีประชาธิปไตยและสังคมนิยมประชาธิปไตย

เริ่มจากการแยกระว่างศีลธรรมแบบศาสนา หรือ religious morality กับศีลธรรมแบบโลกวิสัย หรือ secular morality โดยถือว่าศีลธรรมแบบศาสนาคือ “ความดีเฉพาะ” ตามความเชื่อของบุคคล หรือของสังคมและวัฒนธรรมหนึ่งๆ ส่วนศีลธรรมโลกวิสัยเป็นเรื่องของ “ความดีสากล” ที่ดีกับทุกคน เป็นความดีที่เป็นอิสระจากเงื่อนไขของบริบททางสังคมและวัฒนธรรมหนึ่งๆ

จะว่าไปศาสนาต่างๆ ล้วนอ้างว่าหลักคำสอนของตนเองเป็นสัจธรรมและความดีสากลทั้งนั้น แต่ทุกศาสนาล้วนมีคำสอนที่แสดงอคติทางเพศ การยอมรับลำดับชั้นสูงต่ำทางสังคมตามลำดับชั้นสูงต่ำของความดีที่ทำมาต่างกัน หรือสถานะภาพและอำนาจสูง ต่ำทางสังคมถูกกำหนดมาโดยพระเจ้า พระพรหม กฎแห่งกรรมเป็นต้น

นักปรัชญาที่เสนอศีลธรรมแบบ secular จึงเสนอความหมายของความดีสากลใหม่ คือเสนอว่าความดีสากลต้องอยู่บนฐานของนิยามความเป็นมนุษย์สากล คือมนุษย์ที่เป็น “ปัจเจกบุคคลที่มีเจตจำนงอิสระในการกำหนดตนเอง” (autonomous will) กล่าวคือ เราไม่ได้กำลังพูดถึงความดีบนการนึกถึงตัวเองว่าเราเป็นใครโดยอาศัยนิยามว่าเรามาจากครอบครัวแบบไหน ตระกูลอะไร ชนชั้นไหน มีเพศ ภาษา ศาสนา เชื่อชาติ ฯลฯ อะไร แต่หมายถึง ความดีบนการนึกถึงตัวเองและคนอื่นในฐานะ “มนุษย์นามธรรม” ที่มีเจตจำนงอิสระในการกำหนดตนเอง มนุษย์นามธรรมที่เป็นสากลนี้จึงต้องมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีในตัวเอง ดังนั้น การกระทำที่ “ถูกต้อง” ใดๆ ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพความเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีในตัวเอง ศีลธรรมแบบโลกวิสัยจึงเป็นเรื่องของความถูกต้องตาม “หลักการสากล” ที่ปกป้องความเป็นมนุษย์สากล ได้แก่หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์

หลักสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ก็เกิดจากแนวคิดปรัชญาศีลธรรมแบบโลกวิสัยที่นิยามมนุษย์นามธรรมว่าเราทุกคนคือปัจเจกบุคคลที่มีเจตจำนงอิสระในการกำหนดตัวเอง กฎบัตรระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองจึงกำหนดให้ “เจตจำนงกำหนดตนเอง” เป็น “สิทธิ”  สำคัญอย่างหนึ่งที่รัฐต้องให้การคุ้มครอง การบังคับให้ปัจเจกบุคคลเป็นอื่นจากเจตจำนงของเขา (เช่นการบังคับให้อาหารแก่ผู้ที่ตั้งใจอดอาหารประท้วง เป็นต้น) ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิดังกล่าว

ในมุมมองของนักปรัชญาอย่างเช่นฮาเบอร์มาส (Jurgen Habermas) ถือว่าสิทธิมนุษยชนเป็นศีลธรรมสมัยใหม่ แต่ไม่ใช่ศีลธรรมที่เป็นเรื่องความดี ความชั่ว หรือเรื่องเกี่ยวกับคนดีคนเลวแบบศีลธรรมทางศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องความเชื่อเฉพาะบุคคล หรือความเชื่อที่ขึ้นกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมหนึ่งๆ หากแต่เป็นศีลธรรมที่เป็นเรื่องของ “ความถูกต้อง” ของ “หลักการ” ที่สามารถอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ว่า เป็นหลักการสากลเพราะเป็นหลักการที่ยุติธรรมกับทุกคนเสมอกัน

ถ้ามองจากทฤษฎีพัฒนาการสำนึกทางศีลธรรมของโคห์ลเบิร์ก (Lawrence Kohlberg,1927-1987) จะเห็นว่าศีลธรรมระดับก่อนกฎเกณฑ์สังคมและระดับกฎเกณฑ์สังคม คือศีลธรรมแบบศาสนาและศีลธรรมที่อิงความเชื่อ ค่านิยมของสังคมหรือวัฒนธรรมหนึ่งๆ

ส่วนศีลธรรมแบบ secular คือศีลธรรมระดับเหนือกฎเกณฑ์สังคม หมายถึง ศีลธรรมระดับที่เป็น “หลักการสากล” ซึ่งในทฤษฎีของโคห์ลเบิร์ก หมายถึง หลักการสากลที่ยึดประโยชน์ส่วนรวมหรือมนุษยชาติเป็นเป้าหมายตามแนวคิดปรัชญาศีลธรรมอรรถประโยชน์นิยม ผู้ที่มีสำนึกทางศีลธรรมระดับนี้ย่อมกระทำสิ่งที่ถูกต้องบนการตระหนักถึงผลประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์สุขของมนุษยชาติสำคัญ เหนือกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว หรือกลุ่มพวกตนที่ผูกติดกับชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรมเป็นต้น และหลักการสากลตามแนวคิดปรัชญาศีลธรรมแบบค้านท์ที่ถือว่า การกระทำที่ถูกต้องคือการกระทำบนหลักการสากลที่ยุติธรรมแก่ทุกคนเสมอกันและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่ากัน ผู้มีจิตสำนึกทางศีลธรรมระดับนี้คือผู้ที่สามารถกระทำตามเจตจำนงอิสระกำหนดตนเองในการตัดสินถูก ผิดด้วยเหตุผลของตนเอง(ไม่ใช่สักว่าทำตามอิทธิพลทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม อำนาจรัฐฯลฯ) และมีสำนึกเคารพความเป็นมนุษย์ของตนเองและคนอื่นเสมอกัน

ในเชิงปรัชญา ศีลธรรมแบบโลกวิสัยพัฒนาไปจากแนวคิดอรรถประโยชน์และแบบค้านท์อีกมาก เพราะนักปรัชญานิยามความเป็นมนุษย์ เสรีภาพ ความเสมอภาค เหตุผล อารมณ์ และมีจิตนาการถึงสังคมที่ยุติธรรมเป็นต้นซับซ้อนต่างกัน แต่โดยพื้นฐานแล้วศีลธรรมแบบโลกวิสัยเป็นเรื่องของความถูกต้องบนพื้นฐานของ “หลักการ” ที่สามารถอธิบายได้ว่ามันยุติธรรมหรือเป็นธรรมแก่ทุกคนเสมอกัน จะเรียกว่าเป็น “หลักการสากล” หรือจะเรียกอะไรก็ช่าง แต่อะไรที่จะบอกว่าถูกต้องได้มันต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์ทั้งของตัวเราเองและคนอื่นเท่าเทียมกัน

หลักการสากลดังกล่าว ย่อมเป็นหลักการที่เปิดกว้างสำหรับปัจเจกบุคคลที่จะกำหนดความหมายของการกระทำที่ถูก ผิดด้วยตนเองได้เต็มที่ สิ่งที่นาย ก บอกว่าถูก เช่นดื่มเหล้าแล้วนอนอยู่ที่บ้านมันถูกหรือดีสำหรับเขา ต่อให้ศาสนาหรือคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย หรือไม่มีใครเห็นด้วยเลย ความคิดแบบนั้นหรือการเลือกใช้ชีวิตแบบนั้นของนาย ก ก็ไม่ผิด เพราะมันไม่ได้ไปละเมิดเสรีภาพใคร (ไม่ขัดหลักการสากล)

ในทางตรงข้าม อาจมีคนจำนวนมากเชื่อเรื่องพระเจ้า สวรรค์ นิพพาน เคร่งศาสนา แล้วออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐออกกฎหมายห้ามทำแท้ง ห้ามการแต่งงานของคนเพศเดียวกับ ให้บังคับเรียนปลูกฝังศีลธรรมศาสนาในโรงเรียน ฯลฯ ด้วยเจตนาดี เพราะเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าถ้ารัฐออกกฎหมายบังคับประชาชนไม่ให้ทำสิ่งที่ขัดหลักศีลธรรมศาสนา และปลูกฝังประชาชนให้มีศีลธรรมศาสนาแล้วคนจะมีความสุข สังคมจะสงบสุข แต่การกระทำดังกล่าวย่อมไม่ถูกต้องหรือผิดหลักศีลธรรมโลกวิสัย เพราะคุณกำลังยัดเยียดความดีเฉพาะตามความเชื่อส่วนตัวของคุณ หรือกลุ่มพวกคุณให้กับสังคมเสมือนว่านั่นเป็นความดีสากลหรือความดีสาธารณะ

ปัญหาของบ้านเราคือ การยกความดีแบบศาสนา แบบตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน หรือความดีที่ผูกกับความจงรักภักดีที่มีลำดับสูงต่ำตามสถานภาพทางสังคม ซึ่งเป็นศีลธรรมระดับกฎเกณฑ์สังคม หรือเป็นความดีเฉพาะตามความเชื่อทางศาสนาและบริบททางสังคมวัฒนธรรมให้เหนือความดีสากล

พูดอีกอย่างคือเอาความดีเฉพาะมาเป็นความดีสาธารณะ กติกาสังคมตั้งแต่กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายอื่นๆ และระบบโครงสร้างอำนาจ บทบาทหน้าที่ของสถาบันการเมือง กองทัพ ศาล ระบบการศึกษา ระบบราชการและอื่นๆ จึงต้องเป็นกลไกตอบสนองความดีเฉพาะ หรือไม่ขัดแย้งกับสาระหลักของความดีเฉพาะซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ความจงรักภักดีต่ออำนาจของชนชั้นปกครอง จึงทำให้สังคมเราไม่สามารถสร้างกฎหมายรัฐธรรมนูญและอื่นๆทั้งหมดขึ้นบนหลักการสากลคือ หลักเสรีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนได้จริงๆเสียที

กล่าวโดยสรุป ศีลธรรมแบบ secular กินความกว้างตั้งแต่ปรัชญาความคิด จิตสำนึก ความรู้สึกของปัจเจกบุคคล ไปจนถึงกติกา ระบบสังคมการเมืองที่ยึดโยงกับหลักการสากลคือหลักสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ ไม่ใช่การปฏิเสธศาสนาหรือศีลธรรมแบบศาสนาสิ้นเชิง แต่ศีลธรรมแบบ secular ส่วนที่เป็นหลักสิทธิมนุษยชนให้หลักประกันเรื่องสิทธิ เสรีภาพของปัจเจกบุคคล และสิทธิทางวัฒนธรรมของศาสนาหรือสังคมใดๆ ที่จะเชื่อหรือปกป้องความเชื่อในเรื่องความดีเฉพาะของตนเองหรือกลุ่มตัวเอง

เพราะให้หลักประกันดังกล่าว ศีลธรรมแบบ secular จึงปฏิเสธการนำความเชื่อเฉพาะทางศาสนาใดๆ มาบัญญัติกฎหมายหรือใช้อำนาจรัฐบังคับให้คนทั้งหมดในสังคมที่มีความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรมต้องปฏิบัติแบบเดียวกัน

0000

         

     

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท