TCIJ โต้สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ยันหลักฐานธุรกิจจ่ายเงินสื่อ-ของจริง

ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนสิทธิพลเมือง หรือ TCIJ ออกแถลงการณ์ ตอบโต้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดย TCIJ ยืนยันว่าหลักฐานธุรกิจจ่ายเงินสื่อเป็นของจริง 

 

22 พ.ย. 2559 ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนสิทธิพลเมือง (TCIJ) ได้ออกแถลงการณ์  ตอบโต้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดย TCIJ ยืนยันว่าหลักฐานธุรกิจจ่ายเงินสื่อเป็นของจริง โดยระบุว่า ตามที่ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้รายงานใน เว็บไซต์สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 22  พ.ย. 2559  ว่า “ที่ประชุมคณะ กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ วันนี้ ได้เห็นชอบคำวินิจฉัยกรณีข้อกล่าวหาสื่อมวลชนรับเงินบริษัทเอกชน ระบุ ยังไม่มีพยานหลักฐานชี้ชัดและสื่อบางส่วนไม่มาให้ถ้อยคำ จึง ยังไม่สามารถมีข้อยุติว่า มีการรับผลประโยชน์หรือไม่ ดังนั้นจึงมีมติให้ยุติเรื่อง"  โดยในรายงานยังได้กล่าว ถึงการสอบสวนว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลทางโทรศัพท์ 1 รายและผู้แทน TCIJ 1 ราย ทั้งนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 2 ราย ปฏิเสธที่จะมาให้ข้อมูลโดยประกาศต่อสาธารณะ ส่วนที่เหลือไม่สามารถติดต่อได้    (เน้นโดย TCIJ ) (อ่าน 'สภาการ นสพ. ประกาศคำวินิจฉัย ข้อกล่าวหาสื่อมวลชนรับเงินบริษัทเอกชน')

TCIJ ขอชี้แจงว่า รายงานของสภาการหนังสือพิมพ์ ดังกล่าวนี้ บิดเบือนและให้ข้อมูลเท็จแก่สาธารณะหลายประการ จะโดยไม่มีเจตนาหรือไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถ่องแท้ก็ตาม  TCIJ ขอยืนยันว่า สุชาดา จักรพิสุทธิ์  ในฐานะผู้อำนวยการและผู้เขียนข่าวชิ้นนี้  ได้เข้าพบคณะกรรมการชุดที่มีนายสัก กอแสงเรือง เป็นประธานฯ ด้วยตนเองหลายชั่วโมง  ซึ่งก่อนหน้านี้ นายเจษฎ์ โทณะวณิก  กรรมการท่านหนึ่งได้เดินทางมาพบนางสุชาดาที่สำนักงาน TCIJ  และขอดูหลักฐานข้อมูลซึ่งเป็น Digital File ต้นฉบับ  โดยนายเจษฎ์ ได้ขอให้ทำการอัดสำเนา และขอให้นางสุชาดาเดินทางเข้าพบคณะกรรมการทั้งชุด ณ ที่ทำการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์  ดังนั้น  รายงานของสภาการหนังสือพิมพ์ที่กล่าวว่า ผู้แทน TCIJ ให้ข้อมูลทางโทรศัพท์  จึงเป็นความเท็จ

ความเท็จประการต่อมาคือ  ในรายงานสภาการหนังสือพิมพ์ที่ระบุว่า “ เนื่องจากผู้แทน TCIJ และผู้แทนของบริษัท เอกชนที่ถูกพาดพิงต่างไม่ยืนยันในความถูกต้องของข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในรูปแบบของดิจิทัลไฟล์ (Digital File) ว่าเป็นเอกสารจริง จึงไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงหรือวิเคราะห์เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินธุรกิจของบริษัทเอกชนนั้นได้” 

ในความเป็นจริงคือ  ผู้อำนวยการ TCIJ ยืนยันมาโดยตลอดทั้งผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และที่ได้แสดงหลักฐานเป็น thump drive ที่บรรจุไฟล์ย่อยหลายร้อยไฟล์ ให้นายเจษฎ์ โทณะวณิก  ในวันที่นาย    เจษฎ์มาพบที่สำนักงาน  ทั้งนี้ ในการให้สัมภาษณ์ของ ผอ.TCIJ แก่สื่อต่างกรรมต่างวาระ  ก็ได้เล่าข้อเท็จ จริงถึงการได้มาซึ่งข้อมูลหลายร้อยไฟล์พันกว่าหน้านี้ทุกครั้ง ว่า มีแหล่งข่าวเก็บ thump drive นี้ได้จากเวทีเสวนาและรอเจ้าของมาตามหานานเกือบครึ่งปี  เมื่อเปิดดูข้อมูลภายในก็รู้ถึงปัญหาความไม่โปร่งใสบางประการ  แหล่งข่าวที่มอบ thump drive นี้ให้  ยังได้ให้เหตุผลว่า ไม่ส่งให้สื่อมวลชนเพราะรู้ดีว่า สื่อกระแสหลักจะไม่แตะต้องเรื่องนี้  อนึ่ง เมื่อ TCIJ นำเสนอข่าวนี้ในช่วงคืนวันที่ 14 กรกฎาคม นั้น  ผ่านไปชั่วโมง กว่า  TCIJ ก็ได้รับโทรศัทพ์จากเจ้าของ thump drive อ้อนวอนขอร้องให้ถอดรายงานข่าวชิ้นนี้ ออก แต่ทาง TCIJ ยืนยันว่า  ขอทำหน้าที่สื่อ  ไม่สามารถเมินเฉยกับข้อมูลเหล่านี้ได้   

ดังนั้น  ที่สภาการหนังสือพิมพ์รายงานว่า  TCIJ ไม่ยืนยันในความถูกต้องของข้อมูล จึงเป็นความเท็จ  

อีกอย่างหนึ่ง ที่สภาการหนังสือพิมพ์รายงานว่า “ได้เชิญพยานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง” โดยบอกว่ามีคนที่ไม่มาให้ข้อมูลนั้น  เป็นที่น่าฉงนว่า วิธีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงขององค์กรสื่อมืออาชีพ เหตุใดจึงใช้วิธีเรียกตัว  ไฉนไม่ใช้วิธีการทำข่าวเชิงลึก Investigative ที่สามารถสังเกต สัมภาษณ์ สืบสวน หรือประมวลหลัก ฐานข้อเท็จจริงจากบริบทแวดล้อมต่างๆ

นอกจากนี้  ในรายงานสภาการหนังสือพิมพ์ที่บอกว่า  ไม่สามารถติดต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อบางคนได้  ก็ นับเป็นเรื่องประหลาด  เนื่องจากสื่อมวลชนเหล่านี้มีสังกัดองค์กรทั้งสิ้น บางคนเป็นระดับอาวุโสมีโทรศัพท์หลายเครื่องและมีเลขาฯ อีกด้วย ส่วนใหญ่ก็เป็นสมาชิกทั้งสภาการหนังสือพิมพ์และสมาชิกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์  ที่ประหลาดเหลือเชื่อมากยิ่งขึ้นอีกก็คือ  ในรายงานข่าวชิ้นนี้ของTCIJ  ได้ทำการป้ายหมึก ดำที่รายชื่อสื่อมวลชนผู้รับเงินทุกๆ รายชื่อ  เหตุใด สภาการหนังสือพิมพ์จึงรู้ว่า จะต้องเรียกตัวสื่อมวลชนคนใดมาสอบสวน ?

แถลงการณ์ ระบุอีกว่า TCIJ สำนึกดีว่า เป็นที่รังเกียจของสื่อมวลชนกระแสหลักจำนวนหนึ่ง  ทั้งจากผลกระทบของรายงานข่าวชิ้น  นี้  และทั้งจากอคติของสื่อกระแสหลักที่มีต่อสื่อทางเลือก  แต่สื่อทางเลือกอย่าง TCIJ เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้  ก็เพราะความเสื่อมศรัทธาที่ประชาชนมีต่อสื่อกระแสหลักนี่เอง 

"ตราบเท่าที่องค์กรสื่อและผู้ประกอบอาชีพสื่อ  ยังยึดมั่นถือมั่นว่ามีแต่ตนเท่านั้นที่เป็น’สื่อ’  และมีฐานันดร อันตรวจสอบมิได้  ในขณะที่คนไทยและสังคมไทย เปลี่ยนแปลงไปถึงไหนๆ  จึงวันนี้ สื่อทางเลือกและสื่อสังคมออนไลน์  เติบใหญ่เป็นกระแสสูงและเป็นสื่อกลางที่ทำหน้าที่ให้ข่าวสารข้อมูล ถ่วงดุล และเป็นธรรม  ได้มากกว่าสื่อกระแสหลักในโลกใบเก่า  ตราบนั้น  ความจริงย่อมปรากฎ" แถลงการณ์ TCIJ ระบุตอนท้าย

นอกจากนี้แถลงการณ์ยังได้หมายเหตุ ไว้ด้วยว่า สืบเนื่องมาจาก  www.tcijthai.com ได้เปิดเผยเอกสารภายในของฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทธุรกิจเกษตรใหญ่ จ่ายเงินรายเดือนให้แก่สื่อมวลชน โดยระบุว่าเป็น ‘งบพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน’ ที่ ‘สนิทสนม(คุมได้)’ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2557 รายงานข่าวของ www.tcijthai.com ชิ้นดังกล่าว ทำให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อสอบสวนกรณีดังกล่าว                                                                        

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท