Skip to main content
sharethis

‘จักรกริช’ ผู้แปลหนังสือ ‘ชาวนาการเมือง’ ระบุจะแก้ปัญหาชาวนาต้องแยกชาวนาออกจากเรื่องข้าว เพราะเกี่ยวข้อง แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน รัฐ-สังคมไทยพยายามแช่แข็งชาวนาให้เป็น ‘กระดูกสันหลังของชาติ’ ความเป็น ‘ชาวนา’ กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของทุกฝ่ายการเมือง แม้แต่ตัวชาวนาเอง

จักรกริช สังขมณี

หลังจากกระแสข่าว ‘ข้าว-การเมือง’ เริ่มสร่างซา ไม่มีใครออกไปเกี่ยวข้าว-ซื้อข้าว-ขายข่าวออกสื่อ ก็น่าจะได้เวลามองกันอย่างจริงจังว่า อนาคตชาวนาในประเทศไทยจะไปทางไหนหรืออย่างน้อยเราควรจะทำเข้าใจชาวนาอย่างไร

ประชาไทนำเสนอมุมมองว่าด้วยชาวนาผ่านสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ( กนข.) และจักรกริช สังขมณี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แปลหนังสือ ‘ชาวนาการเมือง’

ฝ่ายแรกเชื่อมั่นในกลไกตลาดและเห็นว่ารัฐควรแทรกแซงให้น้อยที่สุด และอนาคตการปลูกข้าวต้องมุ่งไปสู่เกษตรแปลงใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชาวนาจะมีจำนวนลดลง แต่นั่นจะทำให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ ขณะที่ฝ่ายหลังมองความสัมพันธ์ระหว่างชาวนาและอำนาจต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะการเมืองที่ข้องเกี่ยวกับชาวนามาโดยตลอด และการจะช่วยให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ต้องคิดสมการการเมืองเข้าไปด้วย

ฟังดูเหมือนอยู่กันละขั้วความคิด แต่อาจไม่ใช่อย่างนั้นเสียทีเดียว ไม่ปฏิเสธว่าบางส่วนแตกต่าง ทว่า บางส่วนก็เหมือนจะเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม นี่อาจช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ ‘ชาวนา’ ไทยมากขึ้น ผ่านมุมมองของ ‘ชาวนาตลาด’ และ ‘ชาวนาการเมือง’

...................

จักรกริชเริ่มต้นด้วยการตอบคำถามที่ดูเหมือนจะง่าย แต่จริงๆ แล้วตอบยากว่า ‘ชาวนาคือใคร?’ จะนิยามให้ง่ายก็ได้ว่า คือ คนที่ทำนา แต่เรารู้อยู่แล้วว่า การดำรงชีพของคนหนึ่งคน มันอยู่ท่ามกลางภาคส่วนทางเศรษฐกิจและสังคมการเมืองที่แตกต่างหลากหลายมาก ถ้าเราใช้นิยามแบบแคบให้ชาวนา หมายถึงคนที่ทำนา มันเป็นการมองแค่ส่วนเสี้ยวเดียวของชีวิตชาวนา

ชาวนาคือใคร?

ถึงตอนนี้ ผมคิดว่าไนบางแง่การอภิปรายเรื่องชาวนา ต้องแยกกันระหว่างเรื่องชาวนากับเรื่องข้าว ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ? เพราะเนื่องจากเรื่องข้าวมีระบอบ กลไก ปัญหา และวิธีคิดในเรื่องพวกนี้ของตัวมันเอง แต่เรื่องชาวนานั้นไปไกลกว่านั้น นั่นเพราะชีวิตชาวนาเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภาคส่วนอื่นๆ ด้วย ข้าวก็เป็นส่วนหนึ่งที่ชาวนาเลือกในการแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจเหล่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของความเป็นชาวนา

การมองเรื่องชาวนาโยงกับเรื่องข้าวแบบแยกกันไม่ออกนี้ ไม่แน่ใจว่าจะเป็นส่วนหนึ่งจากวาทกรรมชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ ซึ่งชาติไทยคือชาติผลิตข้าวเป็นหลัก ได้หรือเปล่า คือสร้างสมการง่ายๆ ว่า ชาวนาเท่ากับข้าว และข้าวเท่ากับระบบการผลิตและวัฒนธรรมหลักของชาติ ซึ่งจริงๆ แล้ว การมองว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติเป็นแนวคิดที่บิดเบือนมาตั้งแต่ต้น ในแง่ที่ว่าถ้าเรามองการพัฒนาการทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจของรัฐหนึ่งรัฐ มันเกิดขึ้นจากการเติบโตทางการผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายรูปแบบมาก และการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันมาจากอุตสาหกรรมเป็นหลัก แต่การใช้อุดมการณ์ว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติทำให้คนรู้สึกว่าชาวนามีความสำคัญอยู่ในกระบวนการผลิตและการสร้างชาติ

ผมคิดว่าหากมองให้ดี ไม่รู้ว่าชาวนานั้นเป็นผู้สร้างชาติ หรือในทางกลับกัน ชาติเป็นผู้สร้างและรักษาความเป็นชาวนาเอาไว้กันแน่? ผมว่าประการหลังน่าจะมีน้ำหนักกว่าในการอธิบายและทำความเข้าใจว่าชาวนาคือใครในปัจจุบัน คือตั้งแต่ต้น การเรียกชาวนาว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ก็เป็นการสร้างโยงอัตลักษณ์กับชาติให้กับชาวนาโดยรัฐ มันมาพร้อมๆ กับกระบวนการที่เลือกปฏิบัติที่รัฐกระทำกับคนเหล่านี้ด้วยในเวลาเดียวกัน นั่นคือ เวลาที่คุณถูกเลือกปฏิบัติ รัฐจะทำอย่างไรให้คุณไม่รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ รัฐก็ต้องชื่นชมยกย่องคนเหล่านั้น ให้ชาวนารู้สึกดีมีเกียรติไม่ได้ถูกเลือกปฏิบัติในเชิงลบ การบอกว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติจึงเหมือนการปลอบใจ ให้พวกเขามีชีวิตอยู่ไปได้ท่ามกลางความยากลำบากที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติของนโยบายรัฐในช่วงแรกๆ ของการสร้างรัฐสมัยใหม่

ชาวนาในปัจจุบันหน้าตาเป็นอย่างไร? เมื่อพูดถึงชาวนาอาจจะเห็นภาพของคนที่สิ้นไร้ไม้ตอก มีชีวิตที่ยากลำบากขึ้นอยู่กับฟ้าและฝน ไม่ปฏิเสธว่าภาพแบบนั้นก็ยังมีอยู่ ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีชาวนาจำนวนมากที่เผชิญกับภาวะความเสี่ยงและไม่มีทางเลือกมากนักในการย้ายแรงงานหรือย้ายการผลิตไปสู่รูปแบบอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกัน ในหนังสือ ‘ชาวนาการเมือง’ ของ Andrew walker นี้ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า ชาวนาจำนวนมาก ได้ขยับฐานะทางเศรษฐกิจของตนขึ้นมาเป็นชาวนารายได้ปานกลาง และชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์แบบใหม่ของชาวนากับระบอบอำนาจและการผลิตอำนาจและรายได้แบบอื่นๆ ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องการผลิตข้าว แต่เชื่อมโยงถึงปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการผลิตของชาวนามากขึ้นด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้เข้าไปทลายระบบความสัมพันธ์แบบเดิมในชนบทและระหว่างชาวนากับรัฐ รวมถึงการที่ชาวนาเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจทางการเมืองมากขึ้น กว้างขวางขึ้น และละมุนหรือที่อาจารย์นิธิใช้คำว่า ‘เนียน’ มากขึ้นนั่นเอง

“ในยุคหลังๆ มา การตัดสินใจในระบบการเมืองเลือกตั้งของชาวนามีการคิดคำนวนมากขึ้น ความสัมพันธ์แบบต่างตอบแทนเชิงอุปถัมภ์หรือที่อาจเรียกได้ว่าการซื้อเสียงจึงถูกลดทอนลงไปมาก เพราะในแง่หนึ่ง ถ้าคุณลงไปดูชุมชน คุณจะพบว่าคนส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลา ทั้งในแง่ของการเคลื่อนย้ายรูปแบบและปัจจัยการผลิต การย้ายถิ่น ไปจนถึงการย้ายพวก พวกเขาจึงมีความจำเป็นน้อยมากที่จะยึดติดกับบุคคลหรือกลุ่มทางอำนาจหนึ่งใดในท้องถิ่นของเขา”

ข้าวกับชาวนา

จักรกริชชวนคุยถึงข้อมูลบางประการที่หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นที่ไม่ค่อยมีคนพูดมากนัก นั่นคือ เวลาเราพูดถึงข้าวกับชาวนา ต้องตระหนักก่อนว่าเป็นคนละเรื่องที่เหลื่อมซ้อนกัน มันอาจเกี่ยวโยงกัน แต่ไม่ใช่เรื่องที่ทับซ้อนกันสนิท ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีนักวิชาการจำนวนมาก ทั้งนักเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ออกมาพูดเรื่องชาวนาหลายคน แต่ข้อเสนอของหนังสือเล่มนี้มีบางประเด็นที่แตกต่างจากนักวิชาการเหล่านั้น นั่นคือ การมองว่าการแก้ไข ‘ปัญหาชาวนา’ โดยการยึดติดกับเรื่อง ‘ปัญหาข้าว’ แต่เพียงอย่างเดียวเป็นการสร้างกรอบหรือสร้างข้อจำกัดให้กับการทำความเข้าใจชีวิตและปัญหาชาวนามากพอสมควร การแก้ปัญหาเรื่องข้าวก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่ในขณะเดียวกัน ต้องมองไปให้ไกลกว่าเรื่องข้าว มิเช่นนั้น เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงรักษาไว้ซึ่งความเป็นชาวนาที่ยึดติดตายตัวอยู่กับการผลิตข้าว ซึ่งในบางครั้งอาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ควรจะรักษาไว้อีกต่อไปก็ได้

“เราต้องหยุดตั้งกรอบหรือข้ออ้างได้แล้วว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ทำนาเป็นหลัก เพราะมันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรกับชาวนาเลย แต่ถ้าเราสร้างระบบที่เอื้อให้คนเหล่านี้เคลื่อนย้ายและเลือกไปทำงานอย่างอื่นได้ มันจะเหมาะสมกว่า การมองสภาวะความเป็นจริงของการดำรงชีพและการตัดสินใจทางเศรษฐกิจของชาวนาที่กว้างกว่าเรื่องข้าวอย่างเดียวนั้นสำคัญมาก เพราะมันมีผลต่อมโนทัศน์ของชนชั้นกลาง รัฐบาล และผู้ตัดสินใจเชิงนโยบาย ที่จะทำให้เราข้ามพ้นความพยายามที่ว่าเราจะต้องไปรักษาเขาไว้ในฐานะผู้ผลิตข้าว ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ผมว่าเราไม่ควรจะต้องรู้สึกแปลกใจหรือเสียใจ หากวันหนึ่งเราจะมีกลุ่มชาวนาที่เล็กลงเรื่อยๆ ชาวนาควรเป็นแค่หนึ่งในอาชีพในบรรดาทางเลือกของอาชีพที่มีความมั่นคง และคนเลือกที่จะกระโดดเข้าไปประกอบอาชีพดังกล่าว ทำให้มันเป็นทางเลือก ไม่ใช่เป็นกระดูกสันหลัง อุดมการณ์ชาติ หรือเศรษฐกิจฐานรากที่ต้องคอยรับความช่วยเหลือแบบไร้ทิศทางอีกต่อไป”

ไม่รู้ว่าชาวนานั้นเป็นผู้สร้างชาติ หรือในทางกลับกัน ชาติเป็นผู้สร้างและรักษาความเป็นชาวนาเอาไว้กันแน่? ผมว่าประการหลังน่าจะมีน้ำหนักกว่าในการอธิบายและทำความเข้าใจว่าชาวนาคือใครในปัจจุบัน คือตั้งแต่ต้น การเรียกชาวนาว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ก็เป็นการสร้างโยงอัตลักษณ์กับชาติให้กับชาวนาโดยรัฐ มันมาพร้อมๆ กับกระบวนการที่เลือกปฏิบัติ

เราจะเห็นอะไรบ้าง หากมอง ‘ปัญหาชาวนา’ กว้างไปกว่า ‘ปัญหาข้าว’ ผมขอยกตัวอย่างข้อมูลที่หนังสือเล่มนี้พูดถึงคือ ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ภาคการเกษตรของไทยมีความหลากหลายมากขึ้น เพราะชาวนาปัจจุบันไม่ได้แค่เป็นชาวนาอีกต่อไป แต่เป็นเกษตรกร เป็นแรงงาน เป็นผู้ประกอบการ และเป็นนักลงทุน ซึ่งเรื่องนี้มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวางกันอยู่แล้ว แต่อีกสิ่งที่คนยังไม่ค่อยพูดถึงนักคือ เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือผลิตภาพ (Productivity) แน่นอนเราพูดได้ว่า เศรษฐกิจในชนบทในปัจจุบันนั้นดีขึ้นมากจากการสร้าง ‘ความหลากหลาย’ ทางการผลิต แต่เศรษฐกิจชนบทก็ยังอยู่ในสภาวะที่ไปไม่ถึงฝั่ง ไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับคนชนบทและผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรได้ เพราะผลิตภาพยังต่ำอยู่ ซึ่งรวมถึงข้าวด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ช่วงกลางทศวรรษ 2500 ผลผลิตข้าวคิดเป็นร้อยละ 43 ของการส่งออกด้านการเกษตรของไทย หมายความว่าสินค้าส่งออกด้านการเกษตรเกือบครึ่งหนึ่งของไทยมาจากข้าว และมีสินค้าการเกษตรอื่นๆ รวมแค่ 7 ชนิดเท่านั้นที่มีมูลค่าการส่งออกมากกว่าร้อยละ 1 แต่ในปี 2550 ข้าวมีสัดส่วนการส่งออกลดลงมาเหลือแค่ร้อยละ 20 และมีสินค้าส่งออกด้านการเกษตรจาก 7 ชนิดเพิ่มเป็น 15 ชนิด หมายความว่าเกษตรกรปลูกพืชที่หลากหลายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความหลากหลายของการผลิตที่มากขึ้นนี้ ข้อมูลอีกชุดหนึ่งชี้ให้เห็นว่า ถึงวันนี้ข้าวไทยมีปริมาณผลผลิตต่อไร่อยู่ในระดับต่ำที่สุดในโลก มองย้อนกลับไป ในช่วงปี 2500 หรือเกือบ 60 ปีก่อน ประเทศไทยมีผลผลิตข้าวต่อไร่เท่ากับอินโดนีเซียและเวียดนาม แต่พอในปี 2533 ผลผลิตของ 2 ประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้นสูงกว่าของไทยถึงร้อยละ 60-70 นั่นแปลว่าประเทศไทยไม่พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเลย ผลผลิตของประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศลาวก็ขยับสูงขึ้นกว่าผลผลิตของไทยในปลายทศวรรษ 2520 และในปัจจุบันก็ยังคงสูงกว่าของไทย แปลว่าถ้าคุณยังทำนาแบบเดิมต่อไป คุณมีแต่จะจนลง เพราะศักยภาพของคุณสู้ประเทศอื่นไม่ได้ แต่ก็นั่นแหละ ทางเลือกที่ดีที่ควรจะเป็นคือการย้ายไปสู่การผลิตอื่นๆ ที่ความหลากหลายได้เปิดรับคุณ แต่กระนั้นคุณก็เคลื่อนย้ายไม่ได้ ติดกับอยู่กับรายได้ปานกลางที่รัฐอุ้มมาตลอด เพราะว่าการย้ายรูปแบบและฐานการผลิตนั้นไม่ได้อยู่ในนโยบายอย่างต่อเนื่องยั่งยืน นโยบายรัฐที่ผ่านมามันเป็นการรักษาชาวนาที่รัฐเคยสร้างเอาไว้เมื่อหลายทศวรรษก่อน และรักษาไว้เหมือนเดิมแทบไม่เปลี่ยนแปลงในแง่ของประสิทธิภาพและผลิตภาพเลย

เก็บรักษาสังคมชาวนา

มีข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้ คือ ที่ผ่านมาไม่ใช่รัฐไม่ช่วยชาวนา งบประมาณที่รัฐให้กับชนบทโดยกว้างนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถึงแม้รัฐจะเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรในชนบทเป็นจำนวนมาก งบประมาณเหล่านั้นกลับไม่ได้ทำหน้าที่ในการเพิ่มศักยภาพการผลิตเมื่อเทียบกับงบที่รัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมในเรื่องของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและการใช้เทคโนโลยี

แล้วงบประมาณเหล่านั้นลงไปทำอะไร? คำตอบที่เราได้จากหนังสือเล่มนี้คือ เงินเหล่านั้นทำหน้าที่ในการดำรงรักษาสังคมชาวนามากกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาระบบการผลิตของชาวนา ข้อสังเกตง่ายๆ คือ หากรัฐสนใจจะพัฒนาเรื่องประสิทธิภาพและยกระดับผลิตภาพการผลิตจริงๆ รัฐจ้องมีการเก็บข้อมูล สร้างองค์ความรู้เรื่องปริมาณข้าวและการไหลเวียนของข้าวและสินค้าเกษตรอื่นๆ พอสมควร จึงสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาคิดต่อว่าจะปรับเปลี่ยนแก้ไขเงื่อนไขการผลิตอย่างไรได้บ้าง แต่วันนี้เราพบว่าไม่เพียงแต่รัฐ แต่ตัวแสดงทั้งหมดในระบบการผลิตและค้าข้าวไม่มีใครมีข้อมูลที่ครอบคลุมต่อเนื่องเลย ปัญหาที่ว่านี้สอดคล้องกับที่นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอกล่าว คือ ข้อมูลว่าการผลิตต่อไร่ของเรามีเท่าไหร่ และในแต่ละปีจะผลิตข้าวได้เท่าไหร่จากพื้นที่ไหน ปัญหาของราคาข้าวตกต่ำในปีนี้ส่วนหนึ่งมาจากการที่เราไม่รู้ว่าปีนี้จะผลิตข้าวได้เท่าไหร่ เราไม่มีข้อมูลตรงนี้เลย โรงสีและพ่อค้าคนกลางจึงต้องเก็งราคา ราคาข้าวที่เกิดขึ้นเกิดจากการคาดเดา ซึ่งในปีนี้เกิดการคาดเดาว่าข้าวน่าจะออกมามากทำให้ราคาข้าวที่ประเมินไว้ล่วหน้าต่ำนั้น นั่นหมายความว่าเราไม่มีความรู้และไม่สามารถวัดได้เลยว่าในจำนวนการผลิตและพื้นที่เพาะปลูกในปัจจุบันควรจะให้ข้าวเท่าไหร่ในแต่ละปี สมการตรงนี้เราไม่เคยรู้ เราจึงไม่รู้ว่าจะเพิ่มผลิตภาพอย่างไร นั่นเพราะรัฐไม่เคยเป็นผู้นำในการสร้างความรู้ในเรื่องการการพัฒนาและควบคุมการผลิตอย่างจริงจังเลย

“ในแง่ของราคาข้าว มันเป็นปัจจัยผันผวน มันไม่ต่างจากราคาหุ้น ทุกอย่างมันเกิดจากการคาดคะเนเพราะเราไม่มีข้อมูลเรื่องข้าวมากนัก รัฐควรต้องเข้าไปสร้างความมั่นคงให้กับชาวนา มันต้องมีการจัดการทั้งระบบ ไม่ใช่เรื่องของราคาและกลไก แต่รวมถึงในเชิงกายภาพด้วย คือในบางพื้นที่มันไม่เหมาะกับการปลูกข้าวจริงๆ แต่ว่าด้วยการที่เกษตรกรไม่มีทางเลือกอื่นๆ ทำให้คนในชนบทจำต้องปลูกข้าวต่อไป ซึ่งยิ่งปลูกก็ยิ่งกินเนื้อตัวเอง คนเหล่านี้ก็ต้องพึ่งพานโยบายอุ้มราคาข้าวของรัฐมากยิ่งขึ้น รัฐจึงต้องเข้าไปจัดการในเชิงพื้นที่ด้วยว่าพื้นที่ไหน เป็นพื้นที่เหมาะกับการปลูกข้าว ผลิตภาพมันจะได้สูงขึ้น พื้นที่ไม่เหมาะกับการปลูกข้าว ก็ควรจะเอาไปทำอย่างอื่นแทน แต่ทำอย่างไรมันถึงจะทำได้อย่างเป็นระบบและมีมาตรการรองรับที่ชัดเจน”

มันต้องเกิดจากการมีระบบฐานข้อมูลที่ชัดเจนและรัฐสามารบริหารได้ว่าควรดึงชาวนาออกจากการปลูกข้าวมากน้อยขนาดไหนในแต่ละช่วงเวลาของปี เราต้องเพิ่มผลิตภาพโดยใช้แรงงานให้น้อยลงเพื่อให้ชาวนาเหล่านั้นสามารถไปหารายได้จากการช่องทางอื่นๆ ซึ่งมันจะไปสอดคล้องกับเรื่องความหลากหลาย (แต่ยังคงมีความเสี่ยงมากอยู่) ที่มีอยู่ในภาคชนบท

นั่นหมายความว่าแนวนโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นจำนำข้าว ประกันราคาข้าว จำนำยุ้งฉาง ในเชิงหลักการจึงเป็นการมองอย่างแคบ เพราะสุดท้ายแล้วมันคือกระบวนการรักษาสังคมชาวนาให้คงอยู่ต่อไป อย่างที่รัฐทำมาตลอด 50-60 ปี ไม่ใช่การสร้างอำนาจหรือทางเลือกที่ยั่งยืนให้กับชาวนา โครงการของรัฐที่ลงไปต้องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ของรูปแบบการผลิตจริงๆ ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยและนำไปปฏิบัติได้จริง อย่าตั้งโจทย์ไว้ตอนแรกว่าจะต้องรักษากลุ่มสังคมชาวนา ตอนนี้เรามองว่าการที่ชาวนาต้องย้ายฐานการผลิตไปประกอบอาชีพอื่นเป็นสิ่งที่แย่ ซึ่งในความเป็นจริงมันก็แย่จริงๆ เพราะเป็นความหลากหลายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากแรงกดดัน คือทำนาไม่ประสบผลสำเร็จหรือไม่ได้ราคาจึงต้องไปทำอย่างอื่น มันไม่ใช่ความหลากหลายที่เกิดขึ้นจริงในโลกของการผลิตที่มีโครงข่ายรองรับ ดังนั้น รัฐควรจะเข้าไปสร้างช่องทางการเคลื่อนย้ายไปสู่รูปแบบการผลิตรูปแบบอื่นๆ ให้กับชาวนา ในช่วงที่ทำนาแล้วไม่ได้กำไรมากนัก รัฐต้องมองให้กว้างออกไป ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่การอุ้มราคาอย่างเดียว แต่ต้องมองว่าเมื่อมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจแบบนี้จะสามารถสร้างช่องทางการหารายได้หรือการกระจายแรงงานอย่างไรให้ยั่งยืน และเมื่อชาวนาออกไปสู่การผลิตในภาคอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เขาก็อาจจะไม่กลับมาเป็นชาวนาแล้วก็ได้ ซึ่งกระบวนการสร้างโครงข่ายรองรับการเคลื่อนย้ายทางเศรษฐกิจที่ว่าจะไปหาที่ไหน ก็อยู่ในสังคมการเมืองแบบต่างๆ รวมถึงนโยบายของพรรคการเมืองและการเลือกตั้งด้วยนั่นเอง

เปลี่ยนชาวนาเป็นผู้ประกอบการ

คนจะเป็นผู้ประกอบการต้องมีทุน มีโครงสร้างทางนโยบายบางอย่างที่เอื้อให้สามารถเคลื่อนย้ายไปสู่เศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นๆ ได้ ทุกวันนี้เวลาชาวนาเลือกที่จะลงทุนหรือเคลื่อนย้าย มีความเสี่ยงมาก ดังนั้นชาวนาจำนวนมากจึงต้องจำนนกับการผลิตสิ่งเดิม รูปแบบเดิม แม้ว่ามันจะกลืนกินพวกเขาที่ละน้อยก็ตาม การวางนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อจะช่วยเหลือการผลิตและการเคลื่อนย้ายการผลิตของชาวนาในระยะยาวมีน้อยมาก

แต่ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าแนวทางการจ้างชาวนาให้เลิกปลูกข้าวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะสุดท้ายแล้วนโยบายเหล่านี้เป็นแค่ระยะสั้น และนโยบายแบบนี้ก็ไม่ได้เพิ่งเกิดในยุค คสช. สมัยทักษิณเองก็มีการจ้างเลิกปลูกกระเทียมเหมือนกัน

ความเป็น ‘ชาวนา’ เป็นเครื่องมือทางการเมืองของทุกฝ่ายการเมือง รวมถึงชาวนาเองซึ่งเป็นตัวแสดงทางการเมืองด้วย ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวทางนโยบายหรือการเมืองมักจะมีการอ้างว่าฝ่ายของตนมีเป้าหมายเพื่อช่วยชาวนาหรือได้รับแรงสนับสนุนจากชาวนา แม้กระทั่งชาวนาก็เองมักอ้างความเป็นชาวนาเพื่อเป้าหมายทางการเมือง

กระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนการเกิดตามฤดูกาลและมีความเฉพาะหน้า ไม่ใช่กระบวนการระยะยาวที่มุ่งแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เมื่อเราไม่มีนโยบายระยะยาว จะมีคนจำนวนหนึ่งซึ่งเคลื่อนย้ายอยู่นั่นเพราะถูกบังคับโดยทางเศรษฐกิจให้เคลื่อนย้าย เช่น ยอมไปเป็นแรงงาน ยอมไปอยู่ในเกษตรพันธะสัญญา ในระบบการเกษตรซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำ ถึงแม้ว่าคนเหล่านี้จะมีรายได้ที่ดีขึ้นตามมาตรฐานของประเทศรายได้ปานกลาง แต่ตอนนี้เรากำลังติดอยู่ใน Middle Income Trap เป็นสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ถ้าจะทำให้ระบบเศรษฐกิจไปไกลกว่านี้ต้องมีการเคลื่อนย้ายแรงงานที่อิสระและมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตมากกว่านี้

แต่แนวทางดังกล่าวก็มีต้นทุนที่สูงเช่นกัน เพราะข้าวจะกลายเป็นสินค้าที่มีจำนวนจำกัด (Limited Resource) นั่นหมายความว่าคนในเมืองจะต้องบริโภคข้าวในราคาที่สูงขึ้น แต่ปัญหาดังกล่าวถือเป็นการรับผิดชอบร่วมกันของคนทั้งสังคม มิใช่การมุ่งแต่ผลักภาระให้ชาวนาเพียงฝ่ายเดียว

“ทุกวันนี้ ในภาพรวม คนเมืองไม่ต้องกระทบอะไรเลย เวลามีอาหารล้น คนเมืองก็กินเท่าเดิม จ่ายในราคาเท่าเดิม หรืออาจจะถูกลงด้วยซ้ำ ชาวนาก็รับผลไป แต่เมื่อไหร่ที่ปริมาณอาหารมีน้อย รัฐก็ไปกระตุ้นให้เกษตรกรผลิตเพิ่ม และไม่ยอมเพิ่มราคาสินค้าเกษตรง่ายๆ คนเมืองไม่ต้องได้รับผลกระทบอะไรเลย คนที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางอาหารมีแต่ชาวนา”

ชาวนากับการเมือง

อย่างไรก็ตาม จักรกริชชี้ว่าการลบภาพสังคมชาวนาและเปลี่ยนให้พวกเขากลายเป็นผู้ประกอบการนั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเลย ความเป็น ‘ชาวนา’ เป็นเครื่องมือทางการเมืองของทุกฝ่ายการเมือง รวมถึงชาวนาเองซึ่งเป็นตัวแสดงทางการเมืองด้วย ทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวทางนโยบายหรือการเมืองมักจะมีการอ้างว่าฝ่ายของตนมีเป้าหมายเพื่อช่วยชาวนาหรือได้รับแรงสนับสนุนจากชาวนา แม้กระทั่งชาวนาก็เองมักอ้างความเป็นชาวนาเพื่อเป้าหมายทางการเมือง ความเป็นชาวนาจึงถูกใช้เป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองแบบหนึ่ง แม้ทุกวันนี้เราจะรู้ดีว่าชาวนาเหล่านี้ไม่ได้ทำนาอย่างเดียวอีกต่อไป การดึงมิติชาวนาขึ้นมาเป็นประเด็นล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลและยุทธศาสตร์ทางการเมืองไม่มากก็น้อย การคุยเรื่องข้าวเรื่องชาวนาจึงต้องแยกออกจากกัน เพราะคำว่าชาวนามีหลายมิติที่ซ้อนทับกันอยู่ การแก้ไขปัญหาราคาข้าวก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่เรื่องของชาวนามีการเมืองเชิงวัฒนธรรมที่ซับซ้อนมากกว่าเรื่องข้าว

จักรกริชทิ้งท้ายว่า คุณูปการสำคัญของหนังสือ ‘ชาวนาการเมือง’ คือมันบอกเราว่าการศึกษาเรื่องชาวนาการเมืองไปไกลกว่าการศึกษาเรื่องของชาวนาผู้ผลิตข้าว งานชิ้นนี้ใช้ชาวนาเป็นตัวเปรียบเปรยหรือกรณีศึกษา เพื่อทำให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในหลายๆ แง่ที่กว้างไปกว่าเรื่องสังคมไร่นา จริงๆ แล้ว หัวใจของหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เรื่องของความเป็นชาวนา แต่เป็นเรื่องของอำนาจที่ตัวแสดงที่เราเรียกว่าชาวนาเป็นตัวปฏิบัติการและผูกสร้างอำนาจใหม่ๆ ขึ้นในสังคมไทยสมัยใหม่ ถ้าเราศึกษามอร์เตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับแท็กซี่ หรือนายกรัฐมนตรีด้วยวิธีการแบบในหนังสือเล่มนี้ เราก็จะเห็นอำนาจหลากหลายที่ทับซ้อนกันอยู่ไม่ต่างจากที่ชาวนาเห็นและใช้ประโยชน์จากอำนาจเหล่านั้น

“เวลาเราพูดถึงอำนาจ เรามักจะเอาแนวคิดของต่างประเทศเข้ามาอธิบาย แต่หนังสือเล่มนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า เวลาเราศึกษาจากกรณีศึกษาในประเทศไทย มันให้ภาพอำนาจที่มีความลื่นไหล ล้ำลึก แยบคาย และสนองต่อบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยสมัยใหม่อย่างไร อันนี้ต้องไปอ่านเองว่าเขาพูดถึงเรื่องอำนาจอย่างไร แต่มันแตกต่างจากนิยามทั่วไปแบบง่ายๆ ทื่อๆ ที่มองว่าอำนาจคือความสามารถในการบังคับ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net