พยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายชี้ผู้ต้องหาคดี ‘พูดเพื่อเสรีภาพ’ ไม่ได้กระทำผิด

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนเข้าให้การเป็นพยานคดี ‘พูดเพื่อเสรีภาพ’ชี้ ในทางวิชาการ การกระทำของผู้ต้องหาไม่เป็นการต่อต้านการออกเสียงประชามติ และไม่เป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.
 
 
ที่มาภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน และทำหน้าที่หัวหน้าหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางเข้าให้การต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ ตามที่ผู้ต้องหาในคดี ‘พูดเพื่อเสรีภาพ’อ้างเป็นพยานเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ ที่ปฏิเสธข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แต่เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ
 
ผศ.ดร.จันทจิรา ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน” ที่จัดขึ้นที่ศาลาจตุรมุข มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 ก.ค.59 เพียงแต่รับทราบข่าวในหน้าสื่อมวลชน ส่วนความเห็นในฐานะนักวิชาการต่อการจัดกิจกรรมดังกล่าว ขอยื่นคำให้การเป็นเอกสาร จำนวน 11 แผ่น พร้อมเอกสารแนบ 2 ฉบับ ได้แก่ สำเนาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12/2555 และสำเนาคำแปลภาษาไทยความเห็นทั่วไปหมายเลข 34 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนองค์การสหประชาชาติ
 
พ.ต.ท.สุพรรณ จิตรโท รอง ผกก. (สอบสวน) ทำหน้าที่หัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีนี้ เปิดเผยว่า ผู้ต้องหายังอ้างพยานอีก 1 ปาก ซึ่งนัดหมายเดินทางมาให้การในวันที่ 6 ธ.ค.59 นี้ หลังจากนั้น จึงจะสรุปสำนวนให้คณะกรรมการสอบสวนระดับจังหวัดพิจารณามีความเห็นสั่งฟ้อง/ไม่ฟ้อง
 
ผู้ต้องหาในคดีนี้ ถูกออกหมายเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหา หลังการจัดกิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน” ทั้ง 11 คนประกอบด้วย ผู้จัดงาน ผู้เข้าร่วม วิทยากร และนักสิทธิมนุษยชนที่เข้าสังเกตการณ์การละเมิดสิทธิ ก่อนหน้านี้มีการจัดกิจกรรมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติในลักษณะเดียวกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และที่อื่น ๆ ต่างก็ไม่มีใครถูกดำเนินคดี
 
นอกจากนี้ ในช่วงการรณรงค์ก่อนการลงประชามติมีประชาชนถูกดำเนินคดีอันเนื่องจากการแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวไม่น้อยกว่า 208 ราย ทั้งในความผิดฐานฝ่าผืน พ.ร.บ.ประชามติ,  คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และความผิดอื่น ๆ ซึ่ง อ.จันทจิรา ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในประเด็นนี้ว่า “ในบรรยากาศที่ต้องการความสามัคคี ปรองดอง และผลการทำประชามติก็เป็นไปตามความต้องการของรัฐบาลแล้วนั้น แต่มีคนที่ออกมาพูด รณรงค์ หรือเคลื่อนไหวในช่วงก่อนประชามติ ถูกดำเนินคดีมากมาย คนเหล่านี้ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการแสดงออก และตอบคำถามในสิ่งที่รัฐบาลถามด้วย อาจารย์เห็นว่า ถ้าไม่ใช่การกระทำที่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 ชัดเจน ซึ่งในการทำประชามติครั้งนี้ก็ไม่มีใครกระทำความผิดตามมาตรานี้ที่ชัดเจน ก็อยากเสนอว่า รัฐบาลควรมีนโยบายต่อพนักงานสอบสวนหรืออัยการที่จะพิจารณาสั่งไม่ฟ้อง หรือถ้าคดีอยู่ในชั้นศาลแล้ว แต่ยังไม่มีคำพิพากษา ก็ให้อัยการพิจารณาถอนฟ้อง คือถือว่าไม่มีความผิดไป ถ้ารัฐบาลเปิดบรรยากาศปรองดอง สามัคคี ตามที่เรียกร้องประชาชน คดีเหล่านี้ก็ควรให้จบลงที่อัยการหรือพนักงานสอบสวน”
 
เนื้อหาโดยสรุปของคำให้การ
 
ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ให้ความเห็นทางวิชาการต่อการมีส่วนร่วมในการรณรงค์ออกเสียงประชามติของประชาชนใน 2 ประเด็นประเด็นแรก อธิบายความหมายและวัตถุประสงค์ของการออกเสียงประชามติว่า เป็นมาตรการทางกฎหมายรูปแบบหนึ่งของการปกครองตามหลักประชาธิปไตยทางตรง ที่เปิดให้ประชาชนแสดงความประสงค์หรือตัดสินใจในเรื่องใดๆ ให้รัฐบาลรับทราบโดยตรงโดยไม่ผ่านตัวกลาง ซึ่งตามหลักสากล เมื่อรัฐประสงค์จะให้ประชาชนออกเสียงประชามติในเรื่องใดคราวใด รัฐมีหน้าที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้แสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ข้อมูลเหตุผลอย่างอิสระและเท่าเทียมกันทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่เห็นต่าง รัฐต้องประกันมิให้มีสถานการณ์ที่บีบบังคับให้มีการออกเสียงไปในทางหนึ่งทางใดโดยมิใช่เกิดจากการตัดสินใจอิสระที่แท้จริงของบุคคล รัฐต้องอำนวยความสะดวกให้แต่ละฝ่ายได้เข้าถึงสื่อมวลชนของรัฐและท้องถิ่นอย่างเสมอภาคกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐจะต้องให้ระยะเวลาแก่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่ยาวนานเพียงพอที่จะสามารถศึกษาทำความเข้าใจข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ได้ครบถ้วนสมบูรณ์  การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น หรือมีสถานการณ์ที่กดดันบีบบังคับย่อมทำให้การออกเสียงประชามตินั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ สูญเปล่าทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายของประชาชนและเงินงบประมาณแผ่นดิน ทั้งรัฐบาลก็ไม่อาจรับรู้ถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนได้ ซึ่งประการหลังนี้คือจุดมุ่งหมายสูงสุดของระบอบประชาธิปไตย
 
ในประเด็นที่ 2 หัวหน้าหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชนอธิบายถึงความสำคัญของการรณรงค์ในการออกเสียงประชามติเพื่อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงท้ายประชามติว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับที่ผ่านมามีความสำคัญต่อประชาชนทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากเป็นกฎหมายพื้นฐานที่มีบทบัญญัติให้ประกันและคุ้มครองแก่สิทธิเสรีภาพของประชาชนบัญญัติขอบเขตการใช้อำนาจของสถาบันการเมืองและบรรดาองค์กรของรัฐเหนือประชาชน และเป็นกฎกติกาที่จะบ่งบอกว่าประชาชนจะสามารถเลือกผู้แทนของตนเข้าไปรักษาประโยชน์ให้แก่ประชาชนแต่ละกลุ่มได้มากน้อยเพียงใดดังนั้น จึงเป็นการถูกต้องชอบธรรมที่ประชาชนปรารถนาที่จะมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นของตนเกี่ยวกับเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงท้ายซึ่งจัดให้มีการออกเสียงลงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค.59 และเป็นการถูกต้องชอบธรรมที่จะมีบุคคลฝ่ายต่างๆ จัดรณรงค์เคลื่อนไหวเรียกร้องต่อสาธารณชนให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฯ และคำถามพ่วงท้ายดังกล่าว
 
นอกจากนี้ ในเอกสารคำให้การ ผศ.ดร.จันทจิรา ยังให้ความเห็นต่อการกระทำของผู้ต้องหาคดีนี้ ที่จัดกิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพฯ” อันเป็นการรณรงค์เรื่องการออกเสียงประชามติเพื่อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฯว่า ไม่ได้เป็นการกระทำที่ต่อต้านการออกเสียงประชามติ หากแต่เป็นการใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญฯ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ มาตรา 7 มุ่งคุ้มครองเนื่องจากเป็นการแสดงความคิดเห็นอันเกิดจากการอ่านข้อความในบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญฯ และอภิปรายไปโดยความเข้าใจโดยสุจริต มิได้มีการจงใจบิดเบือนให้ผิดไปจากข้อเท็จจริงในตัวบท
 
อีกทั้ง ยังเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ได้กระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด ด้วยเหตุผลทางวิชาการดังนี้
 
ประการแรก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับได้รับรองและให้ความคุ้มครองแก่สิทธิเสรีภาพของประชาชนมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ทั้งโดยบัญญัติไว้โดยตรงในรัฐธรรมนูญ และโดยปริยายตามพันธะกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยลงนามผูกพันแล้ว
 
ประการที่สอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับมีบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ซึ่งมีที่มาจากหลักสิทธิมนุษยชน ดังปรากฏอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UDHR) ข้อ 19ที่ว่า “ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใด และโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน”ทั้งยังปรากฏอยู่ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ในข้อบทที่ 19 เช่นเดียวกัน ซึ่งประเทศไทยไม่เคยตั้งข้อสงวนไว้ และไม่อาจหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามพันธะกรณีดังกล่าวได้แม้ในยามที่ประเทศตกอยู่ในภาวะฉุกเฉินสาธารณะซึ่งคุกคามความอยู่รอดของชาติ ดังที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ได้มีความเห็นทั่วไปหมายเลข 34 ว่าไม่เคยมีความจำเป็นใดที่จะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือถอดสิทธิเสรีภาพนั้นแม้ขณะอยู่ในภาวะฉุกเฉิน
 
ประการที่สาม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศรับรองและคุ้มครองนี้ย่อมมีผลบังคับผูกพันสถาบันของรัฐโดยตรงทุกองค์กร
 
ประการที่สี่ ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยพิจารณานำเอาหลักการในพันธกรณีระหว่างประเทศมาพิจารณาประกอบกับตัวบทรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยคดีโดยตรง ดังปรากฏในคำวินิจฉัยที่ 12/2555 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2555 เป็นการยืนยันว่าหน่วยงานและองค์กรของรัฐไทยทั้งปวงจะต้องเคารพและปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนอกเหนือไปจากการเคารพและปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
 
ประการที่ห้า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติตระหนักในความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในฐานะที่เป็นหนทางในการพัฒนาความคิดเห็นของบุคคลให้เจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป และเป็นเงื่อนไขอันจำเป็นที่ทำให้หลักความโปร่งใสและหลักความรับผิดชอบของรัฐเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงจึงมีความเห็นว่ารัฐภาคีไม่อาจพรากหรือทำลายเสรีภาพชนิดนี้ไปจากประชาชนได้โดยชอบด้วยกฎหมาย การที่รัฐจัดทำข้อยกเว้นสำหรับเสรีภาพในการแสดงออกหรือเผยแพร่ความคิดเห็นของบุคคลถือว่าเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของ ICCPR อย่างชัดแจ้ง ซึ่งคณะกรรมการฯ มีสิทธิที่จะจัดทำรายงานความเห็นดังกล่าวนี้เสนอต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่ขององค์การสหประชาชาติต่อไปได้ และประเทศไทยอาจได้รับผลร้ายจากการละเมิดเสรีภาพตามมาตราดังกล่าวในทางระหว่างประเทศ
 
ประการที่หก คําสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ (ICCPR)  ข้อบทที่ 19 เนื่องจากว่า แม้รัฐธรรมนูญและ ICCPR จะมีบทอนุญาตให้รัฐจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ แต่การจำกัดเสรีภาพฯ ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข คือ 1) โดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งตราขึ้นโดยรัฐสภาเท่านั้น ในแง่นี้ คำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ได้ตราขึ้นโดยรัฐสภา,  2) ต้องกระทำภายใต้วัตถุประสงค์ที่รัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศให้อำนาจเท่านั้น คือ เพื่อการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น หรือเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเพื่อการสาธารณสุขหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งต้องระบุอย่างชัดเจนใน และ 3) ต้องกระทําเท่าที่จําเป็นตามหลักความได้สัดส่วนและต้องมีความเชื่อมโยงอย่างมีเหตุผลกับวัตถุประสงค์ที่กล่าวมา ในแง่นี้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 กำหนดลักษณะการกระทำผิดมีลักษณะทั้ง “กว้างเกินไป”เพราะไม่มีความหมายที่แน่นอนชัดเจนและ “เป็นการทั่วไปเกินไป” เพราะตามข้อเท็จจริงมีผู้คนชุมนุมเกินกว่า 5 คนเสมอๆ  ซึ่งถือว่าขัดต่อหลักความจำเป็นตามหลักความได้สัดส่วนอีกทั้งไม่มีความเชื่อมโยงอย่างมีเหตุผลกับวัตถุประสงค์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน
 
ประการสุดท้าย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ  มีมติให้ถือว่าแม้ประเทศจะอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินหรือใช้กฎหมายเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ก็ไม่เป็นเหตุให้รัฐได้รับยกเว้น ที่จะไม่ปฏิบัติตาม ICCPR ด้วยการออกกฎหมายที่อนุญาตให้ระงับหรือห้ามเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่การเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวมีขึ้นเพื่อประโยชน์มหาชน ถูกต้องตามกฎหมาย และที่ไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงปลอดภัยแห่งชาติ หรือกฎหมายที่ให้ดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าว นักวิชาการ นักวิจัย นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม นักสิทธิมนุษยชน หรืออื่น ๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท