กลุ่มสิทธิเมียนมาร์ในอังกฤษแจง ทำไมต้องกดดันให้ 'อองซานซูจี' คุ้มครองชาวโรฮิงญา

บทความในสื่อดีวีบีโดย มาร์ค ฟาร์มาเนอร์ ผู้อำนวยการองค์กรเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในเมียนมาร์ที่มีสำนักงานในอังกฤษ "เบอร์มา แคมเปญ ยูเค" (Burma Campaign UK) เขียนบทความถึงสาเหตุที่ว่าทำไมฝ่ายประชาธิปไตยในเมียนมาร์ต้องชักจูงให้อองซานซูจีผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ต้องหันมาช่วยคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา


ที่มา: สำนักงานประชาสัมพันธ์ จังหวัดนครปฐม/สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์

29 พ.ย. 2559 ในบทความฟาร์มาเนอร์เคยระบุถึงการที่เขาเคยพูดคุยกับนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยรุ่นอาวุโสที่อยู่นอกประเทศเมื่อ 10 ปีที่แล้ว นักกิจกรรมผู้นั้นเตือนฟาร์มาเนอร์ไม่ให้ทำงานช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา แต่เขาก็ตอบกลับว่าองค์กรเบอร์มา แคมเปญ ยูเค ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทุกคนในเมียนมาร์รวมถึงชาวโรฮิงญา นักกิจกรรมชาวเมียนมาร์บอกว่าเรื่องโรฮิงญามีความยากลำบากและอ่อนไหว แต่ฟาร์มาเนอร์ก็บอกว่าต่อให้พรรคเอ็นแอลดีขึ้นมาเป็นรัฐบาลแล้วแต่ชาวโรฮิงญายังถูกละเมิดสิทธิฯ พวกเขาก็จะรณรงค์เรียกร้องกับพรรคเอ็นแอลดี

และในปัจจุบันพวกเขาก็ได้รณรงค์กันจริงๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพวกเขายื่นหนังสือร้องเรียนกับสถานทูตเมียนมาร์ในลอนดอนเรียกร้องให้รัฐบาลนำโดยพรรคเอ็นแอลดีคุ้มครองสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญาโดยมีการส่งเรื่องนี้ไปถึงอองซานซูจีให้รับทราบ หลังการประท้วงพวกเขาเดินผ่านทางเท้าเดียวกับที่กลุ่มชนชาติพันธุ์หลายชนชาติในพม่าแม้กระทั่งชาวโรฮิงญา ยืนเคียงข้างกันเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวอองซานซูจี ในช่วงที่เธอถูกสั่งคุมขังในบ้านตัวเอง

เขามองว่า ข้อเรียกร้องของพวกเขาไม่ใช่เรื่องยากสำหรับรัฐบาลที่ต้องการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน นั่นคือการทำอะไรบางอย่างกับข้อความที่ยุยงให้เกิดความเกลียดชังกับกลุ่มคนหรือเฮทสปีช ยกเลิกการจำกัดความช่วยเหลือ ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายความเป็นพลเมืองปี 2525 ที่กีดกันชาวโรฮิงญาและไม่เป็นไปตามหลักการกฎหมายสากล รวมถึงสนับสนุนให้สหประชาชาติสืบสวนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสถานการณ์ในรัฐยะไข่

สำหรับฟาร์มาเนอร์แล้วการบอกว่าเรื่องนี้มันยุ่งยากและอ่อนไหวจึงกลายเป็นข้ออ้างในการไม่ดำเนินการใดๆ แต่พวกเขาตั้งข้อสังเกตว่าสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญาเลวร้ายลงแม้ว่าจะอยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคเอ็นแอลดี แสดงให้เห็นว่าแนวทางของเอ็นแอลดีและประชาคมโลกล้มเหลวจนทำให้มีผู้คนเจ็บปวดสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน แน่นอนว่าเรื่องนี้มีความซับซ้อนอาจจะต้องใช้เวลาชั่วรุ่นถึงจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่มันก็ต้องเริ่มต้นเพื่อสร้างการแก้ไขปัญหาในระยะยาวและในขณะเดียวกันก็ต้องมีการรับมืออย่างทันท่วงทีเพื่อให้เกิดผลในเชิงบวกในระยะสั้นด้วย เช่น การยกเลิกการจำกัดความช่วยเหลือ ทั้งที่ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการอ้างจำกัดความช่วยเหลือเลย

ฟาร์มาเนอร์ระบุว่าการยกเลิกจำกัดความช่วยเหลือไม่ใช่แค่การยกเลิกการห้ามใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลอองซานซูจีเท่านั้นแต่รวมถึงข้อจำกัดตั้งแต่ก่อนหน้าการเกิดวิกฤตในครั้งนี้ด้วยซึ่งเป็นการจำกัดที่ส่งผลให้เกิดคนทุกข์ทรมานและสูญเสียชีวิตรวมถึงมีเด็กหลายพันคนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ฟาร์มาเนอร์วิจารณ์ต่อไปว่าขณะที่อองซานซูจีพูดถึงหลักนิติธรรมแต่กฎหมายความเป็นพลเมืองปี 2525 ก็ไม่เป็นไปตามหลักการกฎหมายนานาชาติ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้

บทความของฟาร์มาเนอร์ระบุว่าอองซานซูจีมีอำนาจควบคุมรัฐบาลและพรรคการเมืองของเธออย่างเคร่งครัด การเปลี่ยนแปลงในเรื่องเหล่านี้อาจจะไม่เป็นที่นิยมสำรับผู้คน แต่ถ้าไม่แก้ไขมันก็จะเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตใหม่ๆ ซึ่งจะทำลายรัฐบาลในระยะยาว อาจจะเริ่มมีคนมองว่าอองซานซูจีไม่ได้เป็นผู้นำที่มีจริยธรรมอย่างแท้จริงและแทนที่จะท้าทายปัญหาอคติต่อชาวโรฮิงญาและชาวมุสลิมกลับมีการปล่อยให้ความเกลียดชังดำเนินต่อไปอย่างบ้าคลั่งกว่าเดิม

ฟาร์มาเนอร์ระบุต่อไปถึงเรื่องเฮทสปีชที่ถึงแม้ว่าจะมีการจับกุมนักข่าวและนักกิจกรรมที่เขียนบทความที่รัฐบาลไม่ชอบ แต่กลับปล่อยกลุ่มที่ยุยงให้เกิดความเกลียดชังและก่อความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญากับมุสลิมคนอื่นๆ เกิดขึ้นต่อไป ถึงแม้ว่ารัฐบาลเอ็นแอลดีอาจจะไม่มีอำนาจทางรัฐธรรมนูญในการควบคุมกองทัพหรือหน่วยงานความมั่นคงได้ แต่พวกเขาก็มีอำนาจเชิงจริยธรรมในการพูดต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้แทนที่จะปล่อยให้ตัวเองถูกมองว่าเป็นคนคอยปกป้องการกระทำของทหาร ทำเหมือนไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นต่อไป

มีผู้พยายามประเมินว่าเหตุใดอองซานซูจีถึงไม่ใส่ใจการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ทั้งๆ ที่มีหลักฐานหลายอย่างชี้ว่าซูจีไม่ได้เชื่อในการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเมียนมาร์ บ้างก็ว่าเธอคงเกรงใจกลัวทำให้ผู้นำกองทัพไม่พอใจ แต่ก็มีการบ่งชี้ให้เห็นว่าเธอกล้าล้ำเส้นอย่างการแต่งตั้งตัวเองเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐซึ่งเปรียบเสมืองประธานาธิบดีในเมียนมาร์ ดังนั้นจึงมีโอกาสจะกลับมาใช้อำนาจโดยตรงเมื่อไหร่ก็ได้ อีกข้อถกเถียงหนึ่งที่อ้างว่าการเสริมสิทธิให้กับโรฮิงญาอาจจะทำให้เกิดความไม่สงบและเกิดความรุนแรงถือเป็นข้ออ้างที่ไม่มีมูลใดๆ

ทั้งหมดนี้ทำให้ฟาร์มาเนอร์มองว่าอองซานซูจีมีอำนาจที่จะแก้ปัญหาการะละเมิดสิทธิได้แต่ไม่ทำ ฟาร์มาเนอร์จึงมองว่าซูจีเป็นคนที่เย็นชาและชอบวางแผนเน้นแค่ให้ตัวเองชนะการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าการพยายามปกป้องไม่ให้คนกลุ่มน้อยถูกกระทำรุนแรง แต่ผลการเลือกตั้งก็แสดงให้เห็นว่าแม้ซูจีไม่จำเป็นต้องกลัวเสียคะแนนเพียงเพราะรักษาสิทธิคนกลุ่มน้อยเหล่านี้ และการปล่อยปละละเลยก็ไม่ได้หยุดยั้งให้พรรคพวกรัฐบาลของเต็งเส่งกับกลุ่มพุทธหัวรุนแรงอย่างมะบ๊ะต๊ะกล่าวหาว่าพรรคเอ็นแอลดีเข้าข้างชาวมุสลิมต่อไป ถ้าซูจียอมแก้ไขปัญหาแม้จะเสียคะแนนเสียงไปบ้างแต่ก็จะยังสามารถชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นได้ต่อไป

มีอีกกลุ่มหนึ่งมองว่าอองซานซูจีเองก็มีอคติต่อโรฮิงญาและชาวมุสลิมเช่นกัน หรือไม่เช่นนั้นก็อ่อนไหวกับเรื่องอคติในสังคมมาก แต่ฟาร์มาเนอร์ก็ตั้งคำถามว่าเธอจะยอมปล่อยให้มีการประทำโหดร้ายทารุณต่อไปในระดับที่ถึงขั้นชื่นชมคนก่อเหตุทั้งๆ ที่มีเด็กโรฮิงญาถูกฆ่าตายและมีผู้หญิงหลายสิบคนถูกข่มขืนแล้วยอมรับว่าเป็นไปเพื่อ "ความดีงาม" ได้จริงหรือ

"อองซานซูจีเคยอ้างถึงมหาตมะ คานธีว่าเป็นแรงบันดาลใจของเธอ เขาเป็นผู้มีชื่อเสียงจากการต่อสู้กับการปกครองของอาณานิคมอังกฤษและการอดอาหารประท้วง ในความจริงแล้วเขาอดอาหารประท้วงต่อต้านการกระทำของผู้ที่สนับสนุนเขาบ่อยกว่าต่อต้านการปกครองของอังกฤษเสียอีก เขาเป็นคนที่พร้อมจะท้าทายการกระทำและอคติของผู้สนับสนุนตัวเขาเองแม้ว่าจะทำให้พวกเขาไม่พอใจก็ตาม แต่จนถึงตอนนี้อองซานซูจีดูไม่มีใจจะทำอะไรแบบเดียวกันเลย" ฟาร์มาเนอร์ระบุในบทความ

ฟาร์มาเนอร์ระบุว่าไม่เพียงประเด็นชาวโรฮิงญาเท่านั้น ประเด็นอื่นๆ อย่างการโจมตีชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อื่นๆ รวมถึงการปล่อยให้นักโทษการเมืองยังคงอยู่ในคุกไม่มีประโยชน์ทางการเมืองและทางจริยธรรมเลย โดยที่ฟาร์มาเนอร์ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมซูจีถึงไม่ทำอะไร เขายังตั้งข้อสังเกตอีกว่าตั้งแต่ปี 2555 ซูจีไม่เคยให้สัมภาษณ์สื่อเลยมีแต่ให้สัมภาษณ์นักข่าวที่ไม่มีความรู้เรื่องเมียนมาร์ในช่วงที่ไปเยือนต่างประเทศเท่านั้น และมักจะเป็นการสัมภาษณ์สั้นๆ ที่ต้องขออนุญาตล่วงหน้า ในที่ประชุมแถลงข่าวเธอก็ดูหลบเลี่ยงจะตอบคำถาม

จากการที่เบอร์มา แคมเปญ ยูเค ไม่คิดจะปล่อยให้หลอกตัวเองกันว่าซูจียังคงทำในสิ่งที่ถูกต่อไปจึงต้องเคลื่อนไหว พวกเขาต้องรักษาสิทธิมนุษยชนไว้ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ตาม แม้ว่าจะต้องทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่พอใจ ทำให้ผู้คนไม่นิยมพวกเขาก็ตาม พวกเขาจะพยายามโน้มน้าวให้ซูจีเปลี่ยนใจเพราะเธอมีความสามารถในการที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้จากที่ชาวเมียนมาร์เคารพเธอและตัวเธอเองก็มีอำนาจ เธอจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคมและท้าทายอคติ รวมถึงผลักดันการเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้นอกจากเธอ แต่ในตอนนี้เองซูจีก็ยังถูกวิจารณ์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

 

เรียบเรียงจาก

Why must we lobby Suu Kyi to respect human rights?, Mark Farmaner, DVB, 28-11-2016
http://www.dvb.no/news/must-lobby-suu-kyi-respect-human-rights/72822

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท